fbpx

“ผมจะแก้สิ่งที่เป็นอุปสรรคต่อประชาธิปไตย ..ไม่ก็รื้อทิ้งเสีย” การลงสมัคร สว. ในฐานะ ‘ภารกิจสุดท้าย’ ของ พนัส ทัศนียานนท์

“ผมตระหนักดีว่าระบบการเลือก สว. ในปัจจุบันยังไม่ยึดโยงกับประชาชนเพียงพอ ไม่สามารถได้มาซึ่งตัวแทนของประชาชนที่หลากหลายครบถ้วน แต่การลงสมัครครั้งนี้เป็นหนทางเดียวเท่าที่มีในปัจจุบัน เพื่อนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงตามหลักการประชาธิปไตย” คือข้อความที่ พนัส ทัศนียานนท์ แถลงในวันเปิดตัวลงสมัครเป็น ‘สว.ของประชาชน’ อย่างเป็นทางการ

กกต. ประกาศว่า สว. แต่งตั้งจำนวน 250 คน – มรดกจากคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) – จะหมดวาระตามกฎหมายในวันที่ 10 พฤษภาคม 2567 ซึ่งมีการคาดการณ์กันว่าประเทศไทยจะมี สว. ชุดใหม่ที่มาจากการเลือกกันเองราวกลางเดือนกรกฎาคมที่จะถึงนี้

แม้ สว. ชุดใหม่จะไม่สามารถโหวตเลือกนายกฯ ได้อีกต่อไป แต่สารพัดอำนาจสำคัญของฝ่ายนิติบัญญัติยังคงอยู่ เช่น พิจารณาร่างกฎหมาย ให้ความเห็นชอบเคาะบุคคลดำรงตำแหน่งศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระ และที่สำคัญ พิจารณาแก้ไขรัฐธรรมนูญ ดังนั้น สว. ชุดใหม่จึงยังเป็นตัวแปรสำคัญมากในการเมืองไทย 

การเป็น สว. คือช่องทางเดียวที่จะเข้าไปแก้ไขรัฐธรรมนูญได้ในทัศนะของพนัส จึงเป็นที่มาของการเปิดตัวลงสมัคร สว. สมัยที่สอง หลังจากที่เคยได้รับเลือกตั้งและดำรงตำแหน่ง สว. เมื่อปี 2543 มาก่อน 

พนัสประกาศชัดเจนว่าอยากเข้าไปแก้ไขรัฐธรรมนูญให้อำนาจสูงสุดเป็นของประชาชนอย่างแท้จริง และอยากเข้าไปแก้ไข (หรือยกเลิกถ้าจำเป็น) องค์กรอิสระทั้งหลายแหล่ให้ยึดโยงกับความเป็นประชาธิปไตยมากที่สุด การลงสมัคร สว. สมัยที่สองสำหรับเขาจึงถือเป็น “ภารกิจสุดท้ายของชีวิต”

101 สนทนากับ พนัส ทัศนียานนท์ อดีตคณบดีนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และ อดีตสมาชิกวุฒิสภา ถึงการลงสมัครรับเลือกตั้ง สว. ชุดใหม่ ความฝันที่จะเข้าไปแก้ (และรื้อ) รัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระ พร้อมชวนมองภาพการเมืองใหญ่ผ่านศึกเลือกตั้งที่กำลังจะมาถึง 

พนัส ทัศนียานนท์

ที่อาจารย์ประกาศลง สว. เอาจริงใช่ไหม หรือเป็นส่วนหนึ่งของการรณรงค์ให้คนมาสมัคร 

เอาจริงสิ เอาจริงแน่นอน ผมตั้งใจและอยากหาทางเข้าไปแก้รัฐธรรมนูญ มีช่องทางนี้เพียงช่องทางเดียวที่จะแก้รัฐธรรมนูญได้ เพราะการจะยกเลิกรัฐธรรมนูญเดิมและเขียนขึ้นใหม่ทั้งฉบับคือเรื่องที่ใหญ่โตเกินไป อุปสรรคเยอะ ขณะที่การทำประชามติก็ยังตกลงกันไม่ได้ คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่ตัดสินให้มีการทำประชามติ เราจะต้องทำทั้งหมดกี่ครั้งก็ยังหาคำตอบไม่ได้และยังเถียงกันว่าต้องทำสองหรือสามครั้ง 

ซึ่งหากลองคิดดู การทำประชามติใช้งบประมาณครั้งละราว 6,000 ล้านบาท สามครั้งก็ 18,000 ล้านบาท จะมีประโยชน์อะไร เพราะที่จริงรัฐธรรมนูญสามารถแก้รายมาตราได้ โดยที่เราอยากจะแก้เยอะๆ หรือแก้ให้หมดเลยก็ได้เช่นกัน 


ประเมินว่าเข้าไปแก้ในรัฐสภาง่ายกว่า?

ใช่ เพราะรัฐธรรมนูญกำหนดเงื่อนไขว่าหากจะแก้รัฐธรรมนูญ ต้องมี สว. เห็นด้วยอย่างน้อยหนึ่งในสามของจำนวน สว. ทั้งหมด ซึ่ง สว. รุ่นใหม่มี 200 คน หนึ่งในสามของ 200 คนคือประมาณ 67 คน วุฒิสภาจึงมีบทบาทสำคัญในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ 

ถ้าได้เข้าไปเป็น สว. ผมจะแก้สิ่งที่เป็นอุปสรรคต่อการปกครองระบอบประชาธิปไตย เช่น องค์กรอิสระ ศาลรัฐธรรมนูญ สิ่งเหล่านี้ควรได้รับการเข้าไปแก้ หรือไม่ก็รื้อทิ้งเสีย ซึ่งการแก้ก็ไม่ยากและไม่จำเป็นต้องทำประชามติหลายรอบ อาจต้องทำประชามติเพียงครั้งเดียวตามมาตรา 256 ของรัฐธรรมนูญเพราะเกี่ยวข้องกับองค์กรอิสระ 

เราก็แก้เฉพาะมาตราที่เกี่ยวข้องเท่านั้น สมมติเราอยากยกเลิกศาลรัฐธรรมนูญ ศาลรัฐธรรมนูญอยู่หมวด 11 ในรัฐธรรมนูญและมีอยู่ไม่ถึง 15 มาตรา เราก็แก้โดยยกเลิกให้หมด

โดยส่วนตัวผมอยากให้ยกเลิกศาลรัฐธรรมนูญเพราะสร้างปัญหามาโดยตลอด อย่างการวินิจฉัยล่าสุดเรื่องพรรคก้าวไกลก็ผิดหลักการปกครองระบอบประชาธิปไตย เพราะเท่ากับเขากำลังบอกว่าตุลาการมีอำนาจเหนือฝ่ายนิติบัญญัติและฝ่ายบริหาร หาก สส. เสนอแก้ไขกฎหมายไม่ได้ เช่นนั้นอำนาจนิติบัญญัติก็ไม่มีความหมายอะไรเลย เพราะศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจเหนือกว่า


การ ‘ยุบศาลรัฐธรรมนูญ’ จะเกิดขึ้นได้อย่างไร

ถ้าเราเข้าไปแก้รัฐธรรมนูญได้ก็ต้องยกเลิกได้ และผมเชื่อว่าหากมีการทำประชามติถามประชาชนว่าให้ยกเลิกหรือไม่ คนให้ยกเลิกแน่นอน เราจะมีศาลอะไรเยอะแยะนักหนา มีทั้งศาลปกครอง ศาลยุติธรรม และศาลรัฐธรรมนูญ การมีตั้งสามศาลทำให้เกิดปัญหา ตัดสินออกมาไม่ตรงกันก็เคย นำมาสู่ปัญหาอีกว่าจะใช้ศาลไหนเป็นมาตรฐาน 

ศาลรัฐธรรมนูญไม่จำเป็นต้องมี อย่างสหรัฐอเมริกาก็มีศาลยุติธรรมเป็นศาลสูงสุด ให้ศาลยุติธรรมทำหน้าที่ตีความรัฐธรรมนูญและวินิจฉัยปัญหาที่เกี่ยวกับรัฐธรรมนูญด้วย เขาก็ทำได้ ไม่เห็นมีปัญหาอะไร 


เป้าหมายที่จะเข้าไปแก้รัฐธรรมนูญให้อำนาจเป็นของประชาชนอย่างแท้จริงของอาจารย์ ระบุเลยได้หรือไม่ว่าจะแก้อะไรบ้าง 

อันดับแรก คือเข้าไปแก้ศาลรัฐธรรมนูญและดูว่าองค์กรอิสระควรจะแก้ไขหรือยกเลิกทั้งหมดเลยหรือไม่ เพราะมีความซ้ำซ้อน อย่างคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ หรือ ป.ป.ช. ก็มีอำนาจซ้ำซ้อน รวมถึงมีอำนาจเหนือตำรวจและกระบวนการยุติธรรมทั้งหมด ซึ่งไม่ใช่ว่าองค์กร ป.ป.ช. ในยุคนี้จะสะอาดบริสุทธิ์ด้วย อย่างที่ชูวิทย์ออกมาแฉก็แสดงให้เห็นว่าแม้แต่ใน ป.ป.ช. เองก็อาจทุจริต แล้วเราจะมีไว้เพื่อประโยชน์อะไร

ถ้าอยากให้องค์กรเหล่านี้มีอยู่ต่อไป อำนาจการถอดถอนต้องอยู่ที่ประชาชน เราควรต้องแก้รัฐธรรมนูญเพื่อให้อำนาจประชาชนเข้ามาตรวจสอบ แก้ให้ประชาชนมีสิทธิลงมติถอดถอนไปเลย เหมือนที่ต่างประเทศเขาทำกัน นี่คือวิธีแก้ที่ดีที่สุด ซึ่งผมเคยเสนอตั้งแต่สมัยร่างรัฐธรรมนูญฉบับ 2540 แล้ว แต่เขาไม่เอา

การตรวจสอบโดยตรงหรือ recall โดยส่วนใหญ่จะใช้กับองค์กรที่เกี่ยวกับส่วนกลาง เป็นการเปิดให้ลงมติพร้อมกับการเลือกตั้งใหญ่ว่าจะให้แต่งตั้งหรือถอดถอนใคร ก็ลงมติกันตอนนั้นไปเลย ถ้าอยากให้อำนาจเป็นของประชาชนโดยแท้จริงจะต้องทำอย่างนี้ 

อีกอันหนึ่งคือคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ผมไม่เห็นว่าจะทำประเด็นสิทธิมนุษยชนโดยตรงเลย ทั้งที่สิทธิมนุษยชนสำคัญที่สุดและเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานตามรัฐธรรมนูญ เป็นหัวใจของระบอบประชาธิปไตย ไม่ควรมีข้อจำกัดใดๆ ทั้งสิ้น ซึ่งกรรมการสิทธิฯ ก็ควรทำหน้าที่ดูแลประเด็นนี้ แต่ไม่ทำ ไม่กล้าไง เข้าไปทำงานสุดท้ายก็กลายเป็นขุนนางกันหมด คิดกันแค่ว่าจะแต่งเครื่องแบบอย่างไร ซึ่งถ้าพิทักษ์สิทธิมนุษยชนไม่ได้ก็ไม่ต้องมีเสียดีกว่า 

หรือผู้ตรวจการนี่ก็เหมือนกัน หน้าที่ทำอะไร แค่รับเรื่องแล้วเสนอต่อศาลรัฐธรรมนูญเป็นหลัก ทำหน้าที่อะไรไม่ได้ ถ้าทำได้แค่นั้นจะมีไปทำไม ให้ราษฎรเข้าไปยื่นโดยตรงไม่ดีกว่าหรือ นี่คือการสกัดกั้นไม่ให้ประชาชนมีสิทธิโดยแท้จริงมากกว่า 


องค์กรอิสระคงเสียวสันหลังวาบแล้ว อาจารย์ประกาศเจตนารมณ์แบบนี้ 

ถ้าได้เข้าไปผมรื้อแน่ หรือถ้าจะอยู่ต่อไปต้องให้อำนาจประชาชนในการตรวจสอบและลงมติถอดถอน ไม่อย่างนั้นพวกเขาไม่ทำอะไรให้ประชาชนหรอก เพราะส่วนใหญ่เป็นอดีตข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ที่เกษียณแล้ว เข้าไปก็เป็นขุนนางอย่างเดิม แค่เปลี่ยนจากตำแหน่งข้าราชการไปเป็นฝ่ายการเมืองที่มีอำนาจมากขึ้น แต่ mindset ไม่เปลี่ยน เคยเป็นข้าราชการที่คิดอย่างไรก็จะคิดต่อไปอย่างนั้น ไม่เคยนึกถึงประชาชนหรอก 

ประเทศของเราเป็นรัฐราชการ ส่วนนี้เราก็ต้องหาทางจัดการให้ได้ ไม่ถึงกับต้องกำจัดเพราะมันจำเป็นต้องมีอยู่ แต่ต้องทำให้ข้าราชการรับผิดชอบต่อประชาชนโดยแท้จริงให้ได้ 


สว. ยังจำเป็นต้องมีอยู่หรือไม่ หากได้รับตำแหน่งแล้วมีญัตติโหวตยกเลิก สว. อาจารย์จะโหวตยกเลิกตัวเองหรือเปล่า 

ก็ยกเลิกกันไปเลย ซึ่งส่วนใหญ่ถ้าได้เข้าไปคงไม่มีใครอยากยกเลิกตัวเอง แต่ผมก็ต้องผลักดันต่อไปนั่นแหละ คงต้องมีคนที่เห็นด้วยกับผม อย่างน้อยๆ ก็คนที่ต้องการให้มีประชาธิปไตยทางตรง 

ผมคิดว่า ไม่จำเป็นต้องมี สว. ผมจะเข้าไปเพื่อบอกว่าเราไม่จำเป็นต้องมีวุฒิสภา ประเทศไทยมีสภาเดียวก็เพียงพอแล้ว ตอนร่างรัฐธรรมนูญฉบับปี 2540 ผมเคยเสนอให้มีสภาผู้แทนราษฎรเพียงสภาเดียวเช่นกัน แต่ส่วนใหญ่พวกขุนนางไม่เอา เพราะพวกเขาต้องการเข้าไปมีอำนาจตรงนี้ ตอนผมได้รับเลือกตั้งเป็น สว. เมื่อปี 2543 ก็พบว่าคนจำนวนมากเข้าไปก็เป็นขุนนางกันหมด เข้าไปเพื่อจะเป็นเจ้าคนนายคน เป็นคอนเซ็ปต์นี้ตลอดเวลา 


ด้วยกติกาเลือกตั้ง สว. ที่ให้คนสมัครเข้าไปเลือกกันเอง ประชาชนจึงตั้งข้อสังเกตว่าอาจมีการจัดตั้งเพื่อชิงเก้าอี้ ประเด็นนี้มีอะไรน่ากังวลบ้าง 

ตอนนี้ที่ภาคประชาชนรณรงค์เรื่องเลือกตั้ง สว. กันอยู่ ไม่ว่าจะ iLaw หรือเครือข่ายรณรงค์รัฐธรรมนูญ หลักๆ ก็เพื่อชวนให้ประชาชนมาสมัครเพื่อเข้าไปเลือกตั้งกันเยอะๆ เพราะหากไม่มีการรณรงค์เลย เราอาจสกัดพวก ‘จัดตั้งเป็น’ ไม่อยู่ โดยเฉพาะกลุ่มพรรคการเมืองหรือนักการเมืองท้องถิ่นที่อาจระดมคนไปสมัคร สว. 

แม้ยังไม่มีหลักฐานยืนยันว่าจะมีการระดมจัดตั้งจริง แต่มีการเล่าลือกันแล้วว่าพวกเขาจะทำอย่างไรบ้าง มีหลากหลายวิธีในการจัดตั้ง ไม่ว่าจะ ‘จัดตั้งตั้งแต่ต้นน้ำ’ ซึ่งเป็นการไปจัดตั้งถึงอำเภอ ไปจนถึงการ ‘เด็ดยอด’ ทีหลัง ซึ่งเป็นการปล่อยให้เลือกตั้งเข้ามาก่อนแล้วจึงค่อยจ่ายเงินซื้อ บางพรรคอาจเลือกทางใดทางหนึ่ง แต่ก็มีบางพรรคที่เอาหมดเลยทั้งต้นน้ำยันปลายน้ำ


ในฐานะที่เคยเป็น สว. มาก่อน อาจารย์เห็นความแปลกประหลาดอะไรบ้างในระบบเลือกตั้ง สว. ครั้งนี้

มันพิสดารที่สุด ผมเคยไปสนทนากับกลุ่มเครือข่ายรณรงค์รัฐธรรมนูญ ซึ่งเขาเชิญนักวิชาการจากคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่จบปริญญาเอกโดยศึกษาเรื่อง สว. โดยเฉพาะมาด้วย ซึ่งอาจารย์บอกว่าระบบเลือก สว. จากกลุ่มอาชีพใช้แค่สองประเทศเท่านั้น คือ ไอร์แลนด์และสโลวีเนีย แต่ระบบของเขาไม่ซับซ้อนเหมือนประเทศไทย เขาแบ่งกลุ่มอาชีพแค่ประมาณ 5-6 กลุ่ม ขณะที่ของเรามี 20 กลุ่มและต้องเลือกไขว้ ผมคิดว่าคงไม่มีประเทศไหนที่เลือกเสร็จแล้วต้องเลือกไขว้อีก 

ระบบอ้างว่าการเลือก สว. จากกลุ่มอาชีพ ทำให้เรามี สว. ที่เป็นตัวแทนจากหลากหลายอาชีพเข้ามา แต่ทาง iLaw ที่ศึกษาระบบเลือกตั้งอย่างลึกซึ้งก็ตั้งคำถามว่า สุดท้ายจะได้กี่กลุ่มอาชีพเข้ามา รู้ได้อย่างไรว่าจะได้คนจากหลากหลายอาชีพ เพราะเลือกไขว้ไปมาท้ายที่สุดอาจเหลือแค่ 3-4 กลุ่มเท่านั้นที่ได้เป็น สว. แตกต่างอะไรจากเลือกโดยตรง ซึ่งในความคิดเห็นของผม การเลือกโดยตรงก็ได้หลากหลายกลุ่มอาชีพอยู่แล้ว

ผมอยากรู้เหมือนกันว่ากลุ่มชาวนาชาวไร่จะได้เป็น สว. สักกี่คน ผมวิเคราะห์ว่าอาจเข้ามาได้ไม่กี่คน ส่วนใหญ่จะเป็นกลุ่มที่เป็นหลักๆ เสียมากกว่า แนวคิดที่บอกว่าเลือกตั้งด้วยระบบนี้จะได้ตัวแทนจากทุกกลุ่มอาชีพที่เรามี ผมว่าไม่จริง และผมสันนิษฐานว่าที่ต้องเลือกไขว้เพราะพวกนักร่างรัฐธรรมนูญสมองใสพยายามประดิษฐ์ขึ้นมาเพื่อให้เลือกตั้งยากขึ้น และคงจะต้องการป้องกันไม่ให้ฮั้วกันในกลุ่ม แต่ทุกอย่างก็ไม่เหลือบ่ากว่าแรงพวกนักเลือกตั้งหรอก คนจะฮั้วกันเสียอย่าง 


อาจารย์นิยาม สว. ชุดปัจจุบันอย่างไร 

(นิ่งคิด) เป็น สว. ผู้รับใช้อำนาจ เพราะพวกเขาถูกหยิบเลือกมาเพื่อให้รับใช้ระบอบประยุทธ์โดยแท้ นี่คือคำที่สุภาพที่สุดแล้ว ถ้าเวอร์ชันไม่สุภาพจะเป็น สว. สุนัขรับใช้ ในอดีตสมัยคอมมิวนิสต์จะมีการโฆษณาชวนเชื่อเพื่อโจมตีกัน ฝ่ายคอมมิวนิสต์ก็โจมตีว่าไทยเป็นสุนัขรับใช้ของอเมริกา ผมเห็นว่าคำนี้ชัดเจนที่สุดแล้ว 


ระบบเลือกตั้ง สว. ปัจจุบัน สร้างขึ้นเพื่อหา สว. แบบไหน เป็นการออกแบบการเลือกตั้งเพื่อหา สว. เพื่อสืบทอดอำนาจหรือเปล่า  

ผมเองก็ไม่แน่ใจ ตรรกะมันไม่สมเหตุสมผล อ้างว่าเพื่อความหลากหลายของกลุ่มอาชีพก็อาจไม่จริง อ้างว่าเพื่อป้องกันการฮั้วกันก็อาจป้องกันไม่ได้ทั้งหมด เพราะถ้าจะฮั้วจริงก็ทำได้อยู่ดี สมมติพรรคการเมืองหนึ่งอยากฮั้ว กกต. จะมีปัญญาไปทำอะไรได้ จะไปไล่จับว่าประชาชนคนนี้ลงให้คนโน้น ถ้าเขาบอกว่ามาลงเอง คุณมีหลักฐานอะไรที่บอกว่าผมมาจากพรรคการเมืองใด ก็อาจบอกไม่ได้ 


บางคนมองว่าออกแบบมาเพื่อรักษาระบอบประยุทธ์ต่อ? 

ก็อาจจะไม่เชิง เพราะ สว. ชุดนี้ที่กำลังจะหมดวาระมีหน้าที่รักษาระบอบประยุทธ์อยู่แล้ว ผมคิดว่าต่อจากนี้เขาไม่คิดอะไรแล้ว แม้แต่คนร่างรัฐธรรมนูญเองก็อาจประดิษฐ์อะไรขึ้นมาได้ก็เลยใส่เข้าไป เพื่อทำให้เห็นว่านี่คือนวัตกรรมที่สร้างขึ้นมา ผมว่าคณะร่างรัฐธรรมนูญฉบับ 2560 น่าจะเป็นบุคคลประวัติศาสตร์ของโลกแล้ว 


ประเมินโอกาสชนะไว้มากน้อยแค่ไหน ถ้าไม่ชนะจะมีทางเลือกอื่นๆ ในการขับเคลื่อนสิ่งที่อาจารย์ต้องการต่อไปอย่างไร 

นี่คือภารกิจสุดท้ายของผม หากไม่สำเร็จก็คงช่วยอะไรไม่ได้ เพราะผมอายุ 80 กว่าแล้ว ต้องให้คนรุ่นใหม่เขาหาทางจัดการกันต่อไป เท่านั้นเอง

ถ้าไม่ชนะผมก็คงล้างมือ ไม่ทำอะไรต่อไป เพราะเรามีอายุมากแล้ว แก่แล้ว เราควรปล่อยให้คนรุ่นหลังจัดการปัญหาที่เกิดขึ้นดีกว่า สาเหตุที่ผมอยากเข้าไปจัดการเรื่องนี้แต่แรก เพราะปัญหาที่เกิดขึ้นเป็นปัญหาที่คนรุ่นพวกผมสร้างขึ้นมา หากมีโอกาสผมก็อยากเข้าไปช่วยแก้ คนรุ่นหลังจะได้มีประเทศชาติที่ดีกว่านี้ และมีประเทศชาติที่เป็นประชาธิปไตยจริงๆ สิ่งนี้จึงเป็นภารกิจสุดท้ายของผม ถ้าเข้าไปเป็น สว. ไม่ได้ ก็จบแค่นั้น 

ย้อนกลับไปตอนที่เกิดการเปลี่ยนแปลงการปกครองเมื่อปี 2475 รัฐธรรมนูญฉบับแรกของประเทศไทยประกาศชัดเจนว่าอำนาจสูงสุดเป็นของราษฎรทั้งหลาย ผมต้องการให้เรากลับไปตรงนั้นให้ได้ เพราะหลังจากนั้นมันเกิดการบิดผันเติมแต่งจนกระทั่งสิ่งที่เขียนว่า ‘อำนาจอธิปไตยเป็นของประชาชน’ ไม่มีความหมายอะไรเลย เกิดการเขียนข้อกฎหมายแอบแฝงซ่อนอำนาจต่างๆ ที่ไม่ใช่อำนาจของประชาชน และสิ่งที่ทำให้เกิดปัญหามากที่สุดคือการตีความของศาลทั้งหลาย โดยเฉพาะการตีความของศาลรัฐธรรมนูญซึ่งเป็นสิ่งที่ทำให้เกิดความเสียหายกับหลักการประชาธิปไตยที่อำนาจสูงสุดเป็นของประชาชนมากที่สุด 


อาจารย์นิยามโจทย์การเมืองไทยตอนนี้อย่างไร และการเลือกตั้ง สว. จะอยู่ตรงไหนในเกมการเมืองปัจจุบัน 

เกมการเมืองปัจจุบันยังเป็นไปตามที่ สว. สืบทอดอำนาจชุดนี้กำหนดอยู่ ดังนั้น การที่เพื่อไทยได้เข้าไปเป็นรัฐบาลคือการอาศัยพึ่งใบบุญเขา ทำให้เพื่อไทยต้องมีการปรับเปลี่ยนจุดยืนจากเดิมที่เคยประกาศว่าเป็นพรรคที่ต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยของประชาชน นี่เป็นการยอมของพรรคเพื่อไทย เพราะมิฉะนั้น สว. ชุดปัจจุบันก็อาจไม่โหวตให้ เหมือนกับที่ก้าวไกลโดน 

เพราะฉะนั้น รัฐบาลชุดนี้ก็สืบทอดเจตนารมณ์ของรัฐบาลชุดเดิมต่อไปส่วนหนึ่ง แต่ดีกว่าตรงที่อย่างน้อยที่สุดก็ดูมีความเป็นประชาธิปไตยมากกว่า สาเหตุหนึ่งที่ทำให้ดูเป็นประชาธิปไตยมากกว่าเพราะเรามีก้าวไกลซึ่งได้ชัยชนะในการเลือกตั้งครั้งนี้ ต้องใช้คำว่าชนะเข้ามาเป็นอันดับหนึ่ง ถึงแม้ไม่ชนะเสียงข้างมากในสภาก็ตาม และอย่างน้อยที่สุดก็ยังดีกว่าตอนที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรี เพราะท่าทีต่างๆ ของแกไม่ช่วยทำให้เกิดอารมณ์ร่วมในการเป็นสังคมประชาธิปไตยเลย แต่ถึงอย่างไรเขาก็ยังสืบทอดอำนาจผ่านพรรคการเมืองอย่างรวมไทยสร้างชาติ

การเลือกตั้ง สว. ครั้งนี้จะมีผลกับการเมืองใหญ่หรือไม่ ขึ้นอยู่กับว่าฝ่ายประชาธิปไตยชนะหรือเปล่า สมมติ สว. สายประชาธิปไตยหรือที่บางคนเรียกว่า ‘สว.สีส้ม’ ได้เข้าไปเยอะ ภาพการเมืองใหญ่อาจเปลี่ยนแปลงมาก เพราะ สว. มีอำนาจต่อรองค่อนข้างสูง สส. จะทำอะไรตามใจไม่ได้เพราะถึงอย่างไร สว. ก็ยังมีอำนาจกลั่นกรองกฎหมาย แม้ว่าจะล้มกฎหมายไม่ได้แต่การกลั่นกรองอย่างเข้มข้นก็ทำให้ สส. ฝ่ายรัฐบาลเหนื่อยได้เช่นกัน หรือถ้าหาก สว. เสนอรื้อและแก้กฎหมายให้เป็นประชาธิปไตยทั้งหมด ตอบรับตามความต้องการของประชาชน ประชาชนก็จะสนับสนุนมาก 

การเมืองในภาพใหญ่จึงอาจเปลี่ยนแปลงมาก รัฐบาลอาจต้องระวังตัวมากขึ้น และหากภารกิจที่ผมต้องการแก้รัฐธรรมนูญสำเร็จจะยิ่งทำให้ฝ่ายรัฐบาลกระเทือน ซึ่งผมเชื่อว่ามีคนเอาด้วยเยอะหากฝ่ายประชาธิปไตยชนะเข้าไป


ผลการเลือกตั้ง สว. รอบนี้จะส่งผลกับสนามเลือกตั้งครั้งหน้าหรือไม่ อย่างไร

ส่งผลแน่ ถ้า สว. ฝ่ายประชาธิปไตยชนะจะสร้างแรงผลักดันและทำให้เกิดกระแสที่สะท้อนว่าในที่สุดประชาชนต้องเลือกฝ่ายประชาธิปไตยมากกว่า ซึ่งเป็นแรงผลักดันที่สำคัญมาก แต่ถ้า สว. ฝ่ายประชาธิปไตยเข้าไปไม่มากพอ มันก็จะเหมือนเดิมอย่างตอนนี้ และอาจส่งผลถึงขนาดที่ สส.ก้าวไกลจะได้จำนวนที่นั่งน้อยลงด้วยในการเลือกตั้งครั้งถัดไป ฉะนั้น การเลือกตั้ง สว. ครั้งนี้จึงสำคัญอย่างยิ่ง เพราะเป็นตัวกำหนดว่าทิศทางในอนาคตจะเป็นอย่างไร 

มันไม่ใช่แค่เหมือนเดิมยาวๆ ด้วย หากฝ่ายประชาธิปไตยแพ้ ทุกอย่างก็จะยิ่งแย่ลงไปเรื่อยๆ เพราะฝ่ายตรงข้ามก็ต้องรุมซ้ำและขยี้กันให้ถึงที่สุด ยึดสภาผู้แทนราษฎร ยึดวุฒิสภา ก็เสร็จเขาแล้ว เป็นของเขาหมด เราก็ต้องอยู่กันอย่างนี้ต่อไป


ในฐานะคนที่เคยใกล้ชิดกับเพื่อไทย แต่ตอนนี้ถูกเรียกว่า ‘สว.สีส้ม’ อาจารย์รู้สึกอย่างไร 

สว.สีส้ม ให้ความหมายชัดเจนว่าเป็นฝ่าย สว. ที่อยากจะเห็นประชาธิปไตยที่แท้จริงเกิดขึ้น ไม่ได้หมายความว่าต้องสังกัดพรรคก้าวไกล

ที่คนเรียก ผมไม่รู้สึกอะไรนะ พูดตรงๆ ว่าผมเองก็เชียร์ก้าวไกลเมื่อตอนเลือกตั้งคราวที่แล้ว เพราะผมอยากเห็นเด็กพวกนี้ขึ้นมาเป็นรัฐบาล และพรรคก้าวไกลทำให้เรารู้สึกเหลือเชื่อ เพราะตอนแก้รัฐธรรมนูญให้เปลี่ยนไปใช้บัตรเลือกตั้งสองใบ ทุกคนบอกว่าก้าวไกลสูญพันธุ์แน่ แม้แต่นักการเมืองอาวุโสบางคนที่คิดตั้งพรรคยังล้มเลิกความคิดเพราะกลัวใช้บัตรเลือกตั้งสองใบแล้วจะแพ้พรรคใหญ่ กลัวสู้พรรคใหญ่อย่างเพื่อไทยไม่ได้ แต่ผลออกมากลายเป็นว่าก้าวไกลชนะเพื่อไทย 


การข้ามขั้วของเพื่อไทยเปลี่ยนมุมมองที่ประชาชนบางส่วนมองว่าตนเองกำลังสู้กับ ‘ระบอบประยุทธ์’ ในการเลือกตั้ง สว. ครั้งนี้หรือไม่ อย่างไร 

ก็เท่ากับว่าเรากำลังสู้กับทั้งประยุทธ์และเพื่อไทย เพราะพวกเขาข้ามขั้วกันไปแล้ว ในเมื่อข้ามขั้วไปแล้วก็ต้องพยายามรักษาอำนาจที่ได้มาอย่างยากลำบาก ต้องยอมเสียสละอะไรหลายอย่างมาก รวมถึงคนที่เคยจงรักภักดีกับพรรคเพื่อไทย ขนาดแกนนำคนสำคัญหลายคนยังประกาศถอนตัวเลย อย่าง ‘หมอเหวง’ หรือ ‘อาจารย์ธิดา’ ที่ต่อสู้มาเป็น 10 ปี ฉะนั้นการต่อสู้จึงกลายเป็นการต่อสู้กับระบอบประยุทธ์บวกเพื่อไทย 

ทีนี้ คำถามขึ้นอยู่กับว่ากุญแจสำคัญที่สุดอยู่ที่ใคร ผมว่าอยู่ที่คุณทักษิณ มีข่าวออกมาเรื่อยๆ ทำนองว่าฝ่ายกลุ่มประยุทธ์หรือกลุ่มอำนาจเก่าเขาให้เพื่อไทยเป็นรัฐบาลแค่ชั่วคราวเพื่อแลกเปลี่ยนกัน จากนั้นเขาจะกลับมาเอาคืน รำ่ลือกันถึงขั้นว่าลุงป้อมเตรียมตัวกลับมาเป็นนายกฯ แต่โดยศักยภาพไม่น่าจะเป็นไปได้อยู่แล้ว

เพราะฉะนั้น หากกลุ่มอำนาจเก่าจะทวงอำนาจคืน นั่นหมายความว่าจะต้องมีการเปลี่ยนแปลงรัฐบาลที่เอาเพื่อไทยออกจากนายกฯ และเอาคนของพวกเขาขึ้นมาเป็นนายกฯ แทน ซึ่งไม่จำเป็นต้องเป็นทหาร สายตรงของประยุทธ์อย่างพรรครวมไทยสร้างชาติก็มี พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค หัวหน้าพรรคที่เตรียมพร้อมจะเป็นอยู่แล้ว


ฉากทัศน์นี้จะเกิดขึ้นหรือไม่

อะไรก็เกิดขึ้นได้ทั้งนั้น เขาอาจบอกว่า ก็คุณได้ไปแล้วไง หนึ่ง ได้เป็นรัฐบาล สอง ได้คุณทักษิณกลับมาแล้ว ถึงเวลาที่คุณจะต้องยอมให้ฝ่ายเราได้บ้าง เพราะทุกอย่างเป็นดีลกันหมด ผมเชื่อว่าอย่างนั้น คงไม่มีใครได้อะไรมาเปล่าๆ โดยไม่แลกเปลี่ยน อย่างมากเขาอาจทำในลักษณะเป็นแนวร่วมที่ยังเกาะกลุ่มกันอยู่ แต่ตำแหน่งสำคัญอาจผลัดกันเป็น

เมื่อเพื่อไทยเข้าไปอยู่ในสมการนี้แล้ว ผมคิดว่าโอกาสที่จะออกมาคงยากมาก เพื่อไทยมีแต่จะต้องหาทางทำอย่างไรก็ได้เพื่อให้ประชาชนรู้สึกว่าการตระบัดสัตย์ไม่ผิดอะไร เพราะเขาสามารถทำให้ประชาชนอยู่ดีกินดีขึ้นได้ เพื่อไทยถึงทุ่มไปทางประเด็นเศรษฐกิจมาก โดยหวังว่าเศรษฐกิจจะโตขึ้นเหมือนสมัยไทยรักไทย 


อาจารย์วิเคราะห์ว่าการเคลื่อนไหวของประชาชนขณะนี้มองรัฐบาลเพื่อไทยเป็นมิตรหรือศัตรู 

ประชาชนคนรุ่นใหม่ รวมถึงคนรุ่นเก่าที่เคยเป็นสาวกเพื่อไทยอย่างคนเสื้อแดงแต่รู้สึกผิดหวังมากๆ ต่อการเปลี่ยนจุดยืนของเพื่อไทย คนพวกนี้เขาก็ต้องการเห็นการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้น คือคนบางกลุ่มถึงจะอายุเลย 40 จนลง สว. ได้ แต่ท้ายที่สุดพวกเขาก็แชร์ความคิดกับคนรุ่นใหม่ และผมเชื่อว่าคนรุ่นใหม่จะเป็นพลังผลักดันที่สำคัญ เพราะแม้ว่าพวกเขาจะลง สว. ไม่ได้ แต่พวกเขาก็มีอะไรอย่างอื่นที่จะช่วยกันทำได้อีกต่อไปอยู่ดี 

การต่อสู้จึงเป็นการต่อสู้กันต่อไปเรื่อยๆ ขึ้นอยู่กับว่าใครจะสามารถชนะใจและดึงประชาชนเข้ามาอยู่ข้างตัวเองได้มากที่สุด อย่าลืมว่าก็ยังมีคนกลางๆ ที่ไม่ได้คิดว่าฉันจะต้องเลือกพรรคนั้นหรือพรรคนี้แน่ๆ ซึ่งเมื่อถึงเวลาหนึ่ง คนกลุ่มนี้จะตัดสินใจตอนเลือกตั้งครั้งถัดไปว่าจะเอาอย่างไร โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากเพื่อไทยทำไม่สำเร็จ ทั้งในด้านเศรษฐกิจอย่างนโยบายดิจิทัลวอลเล็ต หรือนโยบายด้านซอฟต์พาวเวอร์ 


คุยกันเชิงหลักการเยอะพอสมควร แล้วในฐานะคนธรรมดา อาจารย์สามารถใช้ชีวิตเกษียณสบายๆ ก็ได้ ไปท่องเที่ยวทั่วโลกอย่างที่ชอบ ทำไมถึงยังเลือกมาลงสมัคร สว. 

อย่างที่บอกว่านี่เป็นภารกิจสุดท้ายของผม ถ้าเราได้ทำก็รู้สึกสุขใจ และนับตั้งแต่การมีรัฐประหารยึดอำนาจโดยประยุทธ์เมื่อปี 2557 ช่วงเวลาสิบปีที่ผ่านมา ผมท่องเที่ยวมาเยอะมากแล้ว เพราะการท่องเที่ยวคือทางออกเดียวของผมในการออกจากความรู้สึกไม่ดีทั้งหลาย 

ผมไปเที่ยวแล้วรู้สึกดี มันเปลี่ยนบรรยากาศชีวิต เพราะสิ่งต่างๆ กดทับเรามากๆ ไม่ว่าจะท่าทีและความอหังการต่างๆ ของพวกเขา การไม่แคร์ประชาชน การไม่เห็นหัวประชาชนด้วยวิธีคิดว่า ‘กูจะทำอย่างนี้เสียอย่าง มึงจะทำไม จะทำอะไรกูได้’ แบบนี้มันทำให้บรรยากาศเสีย และทำให้เรามีชีวิตอยู่ในประเทศนี้โดยรู้สึกว่า ‘เฮ้ย มันมีคนที่เหนือกว่าเรา’ ลักษณะของสังคมแบบนี้ทำให้เรารู้สึกอึดอัด ทำให้เรารู้สึกว่าหลักการคนเสมอกันอย่างเท่าเทียมนั้นไม่มีอยู่จริง 


ในระบบเลือกตั้งที่คนวัยเยาว์แทบมีส่วนร่วมไม่ได้ อาจารย์ว่าคนรุ่นใหม่ยังมีความหวังกับการเลือกตั้งครั้งนี้อยู่ไหม 

เท่าที่ดู ผมเชื่อว่าคนยังมีความหวัง ผมเชื่อว่าคนรุ่นใหม่ไม่ถอดใจหรอก ส่วนคนรุ่นใหม่ที่ยังลงสมัครไม่ได้เพราะอายุไม่ถึง ผมเชื่อว่าพวกคุณยังมีเวลาอีกเยอะ และต้องมีอะไรหลงเหลือให้พวกคุณต้องรับภาระกันต่อไปแน่ๆ เพราะระบบมันลงหลักปักฐานในสังคมมาเนิ่นนาน รากยาวมาก การจะรื้อถอนขึ้นมาจะต้องใช้อะไรหลายอย่าง รวมถึงเวลา 


ว่าด้วยเรื่อง สว. อาจารย์อยากฝากอะไรถึงประชาชน 

ในเมื่อหาเสียงไม่ได้ ฝากอย่างเดียวว่าใครที่มีคุณสมบัติพร้อมก็ขอให้มาลงกันเยอะๆ เพราะนี่เป็นเพียงโอกาสเดียวที่ประเทศชาติอยู่ในกำมือของท่าน และเป็นโอกาสเดียวที่เราจะเอาคืนจากฝ่ายอำนาจนิยมได้ โอกาสครั้งนี้สำคัญมากและเป็นช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อของประเทศชาติบ้านเมือง

หากเราสามารถทำภารกิจนี้สำเร็จได้ เราก็จะสามารถเอาประชาธิปไตยที่แท้จริงกลับคืนให้กับประชาชน

MOST READ

Thai Politics

3 May 2023

แดง เหลือง ส้ม ฟ้า ชมพู: ว่าด้วยสีในงานออกแบบของพรรคการเมืองไทย  

คอลัมน์ ‘สารกันเบื่อ’ เดือนนี้ เอกศาสตร์ สรรพช่าง เขียนถึง การหยิบ ‘สี’ เข้ามาใช้สื่อสาร (หรืออาจจะไม่สื่อสาร?) ของพรรคการเมืองต่างๆ ในสนามการเมือง

เอกศาสตร์ สรรพช่าง

3 May 2023

Politics

23 Feb 2023

จากสู้บนถนน สู่คนในสภา: 4 ปีชีวิตนักการเมืองของอมรัตน์ โชคปมิตต์กุล

101 ชวนอมรัตน์สนทนาว่าด้วยข้อเรียกร้องจากนอกสภาฯ ถึงการถกเถียงในสภาฯ โจทย์การเมืองของก้าวไกลในการเลือกตั้ง บทเรียนในการทำงานการเมืองกว่า 4 ปี คอขวดของการพัฒนาสังคมไทย และบทบาทในอนาคตของเธอในการเมืองไทย

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

23 Feb 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save