fbpx

“สถานการณ์จะคัดกรองจุดยืน” ธิดา ถาวรเศรษฐ กับความหวังทวงความยุติธรรมอันริบหรี่ในรัฐบาลจารีตนิยม

ช่วงเวลาหลังการเลือกตั้ง 2566 จนถึงการจัดตั้งรัฐบาล นับเป็นช่วงที่อัดแน่นไปด้วยเหตุการณ์สำคัญทางการเมือง จากชัยชนะของพรรคก้าวไกล การกลับประเทศไทยของ ทักษิณ ชินวัตร จนถึงการจัดตั้งรัฐบาลข้ามขั้วของพรรคเพื่อไทยที่ไปจับมือกับพรรคของทหารที่เคยทำรัฐประหารพรรคเพื่อไทย

หลากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นย่อมเปลี่ยนภูมิทัศน์การเมืองไทยให้ต่างจากเดิม แน่นอนว่าแม้พรรคเพื่อไทยให้เหตุผลว่าการจัดตั้งรัฐบาลครั้งนี้เป็นการก้าวข้ามความขัดแย้งเพื่อเดินหน้าต่อไป แต่ความขัดแย้งที่มีอยู่ในสังคมยังคงไม่เปลี่ยนแปลงไป ประชาชนยังไม่สูญเสียความทรงจำว่าทหารและเครือข่ายชนชั้นนำเคยทำอะไรมาบ้าง

ท่ามกลางความชุลมุนที่เกิดขึ้นของสถานการณ์การเมืองก็ทำให้มวลชนฝ่ายประชาธิปไตยถูกแบ่งแยก โดยเฉพาะในหมู่คนเสื้อแดงที่เกิดข้อถกเถียงเรื่องจุดยืนทางการเมืองของพรรคเพื่อไทย ซึ่งเป็นพรรคที่คนเสื้อแดงเคยสนับสนุนล้นหลาม

คงไม่ใช่เรื่องง่ายสำหรับคนที่ผ่านเหตุการณ์ล้อมปราบ 2553 แล้วจะให้การสนับสนุนการจัดตั้งรัฐบาลผสมที่มีพรรคเพื่อไทยร่วมกับพรรคของพลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณและพรรคของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้มีส่วนร่วมใน ศอฉ. ที่ใช้อำนาจรัฐฆ่าคนเสื้อแดง

101 จึงสนทนากับ ธิดา ถาวรเศรษฐ อดีตประธานแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) และเลขาธิการกรรมการคณะประชาชนทวงความยุติธรรม 2553 (คปช.53) ถึงโจทย์สำคัญสำหรับคนเสื้อแดงในวันนี้คือการเดินหน้าทวงความยุติธรรมให้คดีปี 2553 หลังคดีถูกต้อนให้ถึงทางตันและถูกแช่แข็งมาตลอดช่วงรัฐบาลคณะรัฐประหาร 2557

แน่นอนว่าไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะกระทั่งในวันที่พรรคเพื่อไทยมีอำนาจเต็มมือในสมัยรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร การเดินหน้าหาความยุติธรรมก็ยังทำได้ไม่เต็มที่ เช่นที่สะท้อนผ่านกรณีการเซ็นรับรองเขตอำนาจศาลอาญาระหว่างประเทศ (ICC) เฉพาะกรณี พรรคเพื่อไทยก็เลือกที่จะเพิกเฉย มาในวันนี้ที่เพื่อไทยจัดตั้งรัฐบาลภายใต้ใบอนุญาตของทหาร การจะเอาผิดทหารที่ยิงประชาชนคงแทบเป็นไปไม่ได้

คำถามสำคัญสำหรับคนเสื้อแดงคือ จะเดินหน้าหาความยุติธรรมอย่างไรในรัฐบาลเพื่อไทยที่สยบยอมต่ออำนาจเก่า

คำถามสำคัญสำหรับพรรคเพื่อไทยคือ ในวันนี้พรรคเพื่อไทยทำงานการเมืองเพื่ออะไร ในวันที่พรรคร่วมเป็นส่วนหนึ่งกับอำนาจที่ประชาชนต่อสู้มาตลอด

ธิดา ถาวรเศรษฐ

เห็นความเป็นไปทางการเมืองตั้งแต่เลือกตั้งจนถึงตอนนี้แล้วรู้สึกอย่างไรและเห็นว่าเรื่องใดสำคัญที่สุด

มองจากจุดยืนของคนที่ต้องการเห็นสังคมไทยเป็นประชาธิปไตยโดยที่อำนาจเป็นของประชาชนจริงๆ ผลการเลือกตั้ง 14 พ.ค. 2566 เป็นความยินดีครั้งยิ่งใหญ่ เป็นเหมือนจุดเปลี่ยนของประวัติศาสตร์ที่เจตนารมณ์ของประชาชนกว่า 70% ไม่สนับสนุนพรรคการเมืองฝั่งเผด็จการจารีตนิยม ตั้งแต่เปลี่ยนแปลงการปกครองมา ครั้งนี้เป็นการเลือกตั้งที่ประชาชนมีความเป็นเอกภาพในเจตนารมณ์สูงมาก เป็นเหมือนหมุดหมายแสดงให้เห็นว่า คนไทยส่วนใหญ่ไม่เอาพรรคที่สืบทอดอำนาจเผด็จการ

ในที่สุดแม้พรรคที่ร่วมประกาศไม่เอาสืบทอดอำนาจทั้งหมดจะไม่สามารถเป็นรัฐบาลได้ แต่ถือว่านี่เป็นชัยชนะของประชาชน เพราะมันเป็นการประกาศความคิดของคน การเลือกตั้งในอดีตบางครั้งผลจะออกมาราว 30-30-30 คือ เสรีนิยม 30% จารีตนิยม 30% และสวิงโหวตเตอร์อีกกว่า 30% อย่างในเลือกตั้ง 2562 ที่ใช้บัตรใบเดียวและมีการยุบพรรคไทยรักษาชาติ เราจึงเห็นคะแนนที่ก้ำกึ่งกันและเขาใช้กลเม็ดของ กกต. ที่ทำให้มีคะแนนพรรคปัดเศษขึ้นมา ซึ่งเป็นเรื่องน่าอับอายมาก เป็นการโกงทางนิติศาสตร์ดื้อๆ เลย นำมาสู่ชัยชนะของการสืบทอดอำนาจ แต่นั่นเหมือนกับว่าเมล็ดพันธุ์ของฝ่ายประชาธิปไตยถูกรดน้ำพรวนดินโดยเผด็จการตลอดเก้าปีของการยึดอำนาจ จนกระทั่งผลออกมาว่าประชาชนเลือกฝ่ายเสรีนิยมกว่า 70%

ผลการเลือกตั้งครั้งนี้ถือว่าเป็นสิ่งยิ่งใหญ่ที่สุด เป็นหมุดหมายสำคัญว่าในอนาคตพื้นที่ฝั่งจารีตและอำนาจนิยมจะถูกจัดการให้น้อยลงทุกทีจนกระทั่งไม่เหลือเลย อย่างน้อยที่สุดเราควรได้ระบอบประชาธิปไตยที่แท้จริงไม่ควรเกิน 100 ปีหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ฉะนั้นต่อให้ครั้งนี้ไม่ได้เป็นรัฐบาล แต่เมื่อความคิดของคนเปลี่ยนก็จะสามารถทำให้ช่วงเวลาการเปลี่ยนผ่านเดินหน้าไปได้

แน่นอนว่ากำลังของฝ่ายประชาธิปไตยอาจจะถูกลดทอน มีการข้ามขั้ว นั่นเป็นยุทธศาสตร์ของฝ่ายจารีต-อำนาจนิยม นอกจากชัยชนะของฝ่ายประชาชนที่รักประชาธิปไตยแล้ว อีกสิ่งที่เห็นคือการไม่ยอมแพ้ของฝั่งจารีต ผลการเลือกตั้งทำให้เขาไม่มีทางเลือก ดังนั้นคนที่เคยเป็นศัตรูอย่างพรรคเพื่อไทยหรือคุณทักษิณ ชินวัตรก็ต้องถูกดึงมาเป็นมิตร คือดึงศัตรูมาเป็นมิตร เพราะมีศัตรูที่น่ากลัวมากกว่า รุนแรงมากกว่า


หากมองว่าผลเลือกตั้งเป็นเรื่องน่ายินดี แล้วการข้ามขั้วจัดตั้งรัฐบาลถือว่าอยู่ในระดับน่าผิดหวังไหม

สำหรับประชาชนแล้วนี่เป็นเรื่องน่าผิดหวังและน่าเสียใจ แต่นี่คือการต่อสู้ ระหว่างการต่อสู้นั้นก็จะเป็นการคัดกรองทั้งประชาชนและพรรคการเมือง ผู้สนับสนุนพรรคเพื่อไทยก็ต้องเลือกว่าจะมีจุดยืนอยู่ที่สนับสนุนพรรคเพื่อไทยอย่างเดียวหรือเปล่า หรือคุณมีจุดยืนหลักอยู่ที่การเป็นนักต่อสู้ประชาธิปไตย ถ้าคุณมีจุดยืนคือเป็นนักต่อสู้ประชาธิปไตยก็ต้องผิดหวังแน่ แต่ถ้ามีจุดยืนอยู่ที่สนับสนุนพรรคเพื่อไทย แล้วพรรคจะข้ามห้วย ลงทะเล ขึ้นภูเขาอย่างไรก็จะยินดีไปด้วย

การต่อสู้ในช่วงก่อนเหมือนกับสิ้นสุดไประดับหนึ่งแล้วเก้าปีของเขาให้ผลตรงข้าม คือไม่เปลี่ยนให้คนหันไปจงรักภักดีนิยมชมชอบฝ่ายจารีต-อำนาจนิยม ทั้งที่พยายามทำเต็มที่ที่สุดแล้วและคิดว่าจะรักษาอำนาจอยู่ได้นาน ปรากฏว่าล้มเหลวทั้งที่เป็นการทำรัฐประหารที่วางแผนมากที่สุด อย่างไรเขาก็ไม่ชนะ เพราะมันไม่ชอบธรรม ความชอบธรรมของโลกสมัยใหม่คือประชาชนต้องเท่าเทียมกัน อำนาจต้องเป็นของประชาชน เขาจะฝืนความเป็นจริงไปไม่ได้ แต่เขาก็ยังหาวิธีให้อยู่ได้ด้วยการดึงให้เกิดพันธมิตรใหม่ จึงเกิดการแบ่งแยกประชาชนออก

ฝ่ายจารีตไม่ยอมแพ้และหันมาใช้กลยุทธ์ที่ไม่คิดว่าจะใช้ คือดึงพรรคเพื่อไทยไป ทีนี้ก็คงสมประโยชน์กัน พรรคเพื่อไทยไม่ได้เป็นรัฐบาลมานาน อย่างไรต้องอยากเป็นรัฐบาลให้ได้ และพรรคเพื่อไทยไม่ใช่พรรคที่เกิดมาเพื่อตอบสนองการต่อสู้ของประชาชน เขาคิดจะเป็นรัฐบาล เขาคิดว่าการเมืองมันก็ดีอยู่แล้ว เขาคิดจะมาแก้ปัญหาเศรษฐกิจ เอาความสำเร็จของพรรคไทยรักไทยในอดีตมาใช้เป็นโมเดล เขาก็หาเสียงด้วยนโยบายเศรษฐกิจ จุดยืนของเขาไม่ใช่จุดยืนที่ต้องการเปลี่ยนโครงสร้างทางการเมือง ไม่ใช่จุดยืนที่คิดว่าทำอย่างไรให้มีการเปลี่ยนแปลงแบบก้าวหน้าจนจะขัดอกขัดใจชนชั้นนำ

พรรคเพื่อไทยต้องการเป็นรัฐบาล เพื่อจะได้มาทำงานและแก้ปัญหาเศรษฐกิจ รวมทั้งตอบสนองความต้องการได้อำนาจรัฐ เพราะเป็นพรรคการเมืองในระบบทุนนิยม นี่ไม่ใช่พรรคการเมืองที่มาจากการต่อสู้ของประชาชน ฉะนั้นเขาก็อยู่บนจุดยืนนี้ ปัญหาคือตอนนี้สถานการณ์เปลี่ยน ความสำคัญไม่ได้อยู่ที่ปัญหาเศรษฐกิจอย่างเดียว แต่การเมืองสำคัญที่สุด เรื่องนี้ทำให้พรรคเพื่อไทยพ่ายแพ้

ในที่สุดเมื่อผลเลือกตั้งออกมาเราก็ดีใจที่ฝ่ายประชาธิปไตยรวมกันได้กว่า 70% เป็นสิ่งที่ในชีวิตยังไม่เคยเห็น เราสู้มาตั้งแต่ 2516 ครั้งนี้แหละที่เป็นชัยชนะแบบเปิดเผยถูกต้องตามกฎหมาย ตามกติกา แต่เสียใจที่เขาข้ามขั้ว สถานการณ์จะคัดกรองและสร้างความเข้มแข็งในหมู่ประชาชน ฝ่ายประชาธิปไตยเองก็ต้องมีการกลั่นกรองคุณภาพด้วย

สำหรับพรรคเพื่อไทย พูดในฐานะเพื่อนเราเข้าใจว่าเขาอยากเป็นรัฐบาลและเขาถูกบีบจากอำนาจทั้งที่มองเห็นและมองไม่เห็นเยอะมาก เราเห็นใจอยากให้เขาทำได้ดี แต่ถ้าพูดในฐานะนักต่อสู้เราไม่พอใจมาก เราไม่เห็นด้วยในสิ่งที่เขาทำ เพราะคุณก้าวข้ามเข้าไปต่ออายุให้ฝ่ายจารีต-อำนาจนิยมดำรงอยู่ได้ ทำให้เวลาการต่อสู้ให้ได้ชัยชนะของประชาชนยาวออกไป ฉะนั้นตอนนี้คนที่เป็นฝ่ายค้านก็ขอให้เป็นฝ่ายค้านอย่างมีคุณภาพ ส่วนรัฐบาลก็ให้เป็นรัฐบาลอย่างมีคุณภาพ

พรรคการเมืองทั้งสองขั้วได้เรียนรู้แล้ว รู้ว่าคนไม่เอาพรรครวมไทยสร้างชาติ-พลังประชารัฐ คะแนนที่ได้มาก็เป็นประเภทบ้านใหญ่ ประชาชนตัดสินแล้ว แต่ฝ่ายจารีตก็พยายามจะยื้ออำนาจไว้อย่างสุดกำลังทุกวิถีทาง ฝ่ายเสรีนิยมก็ต้องพยายามสร้างคุณภาพเพื่อเดินไปข้างหน้าโดยไม่ล้มลุกคลุกคลาน

ส่วนที่อยากเน้นคือฝ่ายประชาชน จะเห็นว่าประชาชนไปออกเสียงกันมาก ประชาชนเขาอดทนนะ คิดว่าการเลือกตั้งสามารถทำให้เอาชนะได้โดยไม่ต้องเสี่ยงลงถนน แต่ต่อไปถ้ามีความพยายามรัฐประหาร เช่น เห็นว่าเลือกตั้งครั้งหน้าจะแพ้ยับเยินแน่แล้วมีรัฐประหารอีกรอบ ถึงตอนนั้นประชาชนคงลงถนน แล้วคนจะมาก ไม่เป็นแบบที่เราเห็นตอนนี้ ประชาชนแสดงออกขนาดนี้ คุณยังจะต้านกระแสอีกหรือ อย่าให้ประชาชนถึงกับทนไม่ได้เลย

ธิดา ถาวรเศรษฐ


ในฐานะคนที่ต่อสู้เรียกร้องความเป็นธรรมให้เหตุการณ์ล้อมปราบ 2553 พอเห็นพรรคการเมืองของคนที่มีส่วนในการล้อมปราบ อย่าง ประวิตร วงษ์สุวรรณ หรือประยุทธ์ จันทร์โอชา มาร่วมรัฐบาลกับพรรคเพื่อไทยแล้วรู้สึกอย่างไร เข้าใจได้ไหมกับเหตุผลความจำเป็น

ตอนแรกเราไม่เชื่อว่าเขาจะกล้าทิ้งฐานเสียงมาเอาสองพรรคนี้ เพราะ 1. ฐานเสียงของเพื่อไทยยังเป็นคนเสื้อแดงที่ต้องการทวงความยุติธรรม และส่วนใหญ่ยังเป็นฐานเสียงฝ่ายเสรีประชาธิปไตย 2. ลูกสาวคุณทักษิณคือคุณแพทองธาร ชินวัตร รวมถึงคุณเศรษฐา ทวีสินเพิ่งก้าวเข้ามาจะให้เขาเสียสัตย์เลยหรือ แล้วอนาคตทางการเมืองเขาจะเป็นอย่างไร เราจึงไม่เชื่อว่าเขาจะข้ามขั้ว

ตามข่าวคือเพื่อไทยบอกว่าเขาพยายามเต็มที่ที่จะไม่ข้ามขั้ว กระทั่งเตรียมเอาประชาธิปัตย์มาร่วมด้วย แต่ต้องขอให้พรรคก้าวไกลยกมือให้ และพรรคก้าวไกลก็บอกทำไมจะต้องยกมือให้ ซึ่งที่จริงเราอยากให้ก้าวไกลยกมือให้ เพราะมองในแง่ประชาชน นอกจากต้องการรัฐบาลที่ไม่เอาสองลุงมาร่วมแล้วเราต้องการรัฐธรรมนูญใหม่ จะได้แก้ปัญหาโครงสร้างการเมือง สามารถปฏิรูปกองทัพ สามารถทวงความยุติธรรมได้ แต่พอเอาสองลุงมาร่วมรัฐบาล เขามีส่วนในขบวนการฆ่า ในการกระชับพื้นที่และขอคืนพื้นที่ แล้วเราจะไปทวงความยุติธรรมกับเขาได้อย่างไร ก็เหมือนสมัยประยุทธ์ จันทร์โอชาที่คดีถูกแช่แข็ง มีการไต่สวนชันสูตรพลิกศพประมาณ 30 คดีเท่านั้น เหลืออีกตั้ง 60 กว่าคดียังอยู่ตามโรงพักต่างๆ ที่ยังไม่ได้ทำ ขณะที่เหลือเวลาอีกเจ็ดปีหมดอายุความ

กระบวนการตั้งแต่ต้นถูกแช่แข็ง ไปจนถึงอัยการก็มีมุมดำ แต่คดีที่ชันสูตรพลิกศพไต่สวนไปแล้ว ศาลมีคำสั่งแล้ว เราก็ฟ้องต่อ คดีส่วนของนักการเมืองก็ถูกเอาไปที่ ป.ป.ช. แต่ ป.ป.ช. ก็สั่งไม่ฟ้อง เหมือนว่า ป.ป.ช. กลายเป็นศาลไป

ส่วนทหาร ศาลก็บอกให้ไปฟ้องศาลทหาร ทั้งๆ ที่ทำความผิดร่วมกันกับพลเรือน กลับบอกให้ไปศาลทหาร ดังนั้นคดีความถูกแช่แข็งและถูกทำให้เดินต่อไม่ได้ตั้งแต่รัฐประหาร บางกรณีมีคนตายที่เดียวกัน-เวลาเดียวกัน ก่อนรัฐประหารคำสั่งไต่สวนบอกว่ากระสุนมาจากฝั่งทหาร พอหลังรัฐประหารบอกว่าไม่รู้มาจากไหน คดีความที่เดินไปแล้วส่วนหนึ่งก็ถูกปัดตกที่ ป.ป.ช. แล้วไปอยู่ที่ศาลทหาร

เราตั้งคณะประชาชนทวงความยุติธรรม 2553 ขึ้นมา ในรัฐบาลที่แล้วก็ไปขอคำมั่นสัญญากับพรรคฝ่ายค้าน เพราะเรารู้ว่าเขาจะต้องได้เป็นรัฐบาลแน่ โดยมีเรื่องปี 2553 อยู่สามข้อ จากทั้งหมดแปดข้อ

ข้อแรก คุณต้องตั้งคณะทำงานขึ้นมาเพื่อฟื้นคดี เราไม่ได้เรียกร้องเกินกว่ากฎหมาย เพราะคุณไม่ได้เดินหน้าทำสำนวนไต่สวนชันสูตรพลิกศพ ไปแช่แข็งอยู่ที่ตำรวจ

ข้อสอง ต้องแก้กฎหมายให้ทหารที่ทำผิดอาญาต่อพลเรือนขึ้นศาลพลเรือน ไม่ใช่ขึ้นศาลทหาร และนักการเมืองที่ทำความผิดทางอาญาต่อประชาชน ก็ไม่ให้ขึ้นศาลฎีกาแผนกคดีอาญานักการเมือง เพราะโทษมันต่างกัน ถ้าประชาชนทั่วไปฆ่าคน โทษคือประหารชีวิตหรือจำคุก 20 ปี แต่พอเป็นนักการเมือง โทษห้าปีเอง เพราะถือว่าเป็นความผิดขณะปฏิบัติหน้าที่ มันถูกบิดเบือนทำให้ไม่ได้รับความเป็นธรรม

ข้อสาม ขอให้ลงนามรับรองเขตอำนาจศาลอาญาระหว่างประเทศ (ICC) เฉพาะกรณีเหตุการณ์ 2553 ทั้งนี้เพื่อให้เป็นไปตามที่อัยการศาล ICC ได้มาแจ้งไว้กับรัฐบาลพรรคเพื่อไทยเมื่อวันที่ 1 พ.ย. 2555

นอกจากนี้สิ่งสำคัญคือเราไม่ต้องการให้การฆ่าคนกลางถนนแล้วไม่ต้องมีความผิดใดๆ เกิดขึ้นอีกในอนาคต กรณีคนเสื้อแดงไม่มีการนิรโทษกรรม แม้คุณทักษิณจะเคยพยายามขอนิรโทษกรรมสุดซอย เลิกแล้วต่อกันทั้งสองฝ่าย แต่เราไม่เห็นด้วย เพราะเราต้องการทวงความยุติธรรม สิ่งที่เกิดขึ้นคือแม้ว่าฝั่งเขาไม่มีนิรโทษกรรม แต่คดีไม่คืบหน้า แล้วฝั่งประชาชนถูกเล่นงานฝ่ายเดียว ถูกจับข้อหาก่อการร้ายโทษประหารชีวิตเลย หลังรัฐประหาร 2557 ก็เที่ยวไปจับใครต่อใครไม่รู้บอกว่าเป็นชายชุดดำ สุดท้ายหลุดคดีทั้งนั้น เราถูกเล่นอยู่ข้างเดียว โดยที่เขาไม่ต้องนิรโทษกรรมเลยเพราะคดี 2553 ไม่ขยับ

น่าสังเกตว่า คุณธาริต เพ็งดิษฐ์ อดีตอธิบดีดีเอสไอบอกว่า ทหารที่เกี่ยวข้องกับการรัฐประหารเคยเรียกเขาไปบอกว่าไม่ให้ดำเนินคดี 99 ศพ ถ้าทำต่อเขาจะปฏิวัติแน่ พอทำรัฐประหารคุณธาริตก็ถูกย้ายเลย ตอนนี้ก็ติดคุกไปแล้ว นี่เป็นการสารภาพแบบเปิดเผยว่าเขากลัวถูกเช็กบิลถึงขนาดขู่ว่าจะปฏิวัติถ้าทำคดีนี้ต่อ

ดังนั้นถามว่าคดีคนเสื้อแดงมีความสำคัญไหม น่าจะมีความสำคัญมากทีเดียว เพราะหลังเขาทำรัฐประหาร นอกจากคดีถูกแช่แข็ง ถูกบิดเบือน ยังพยายามหาคดีชายชุดดำอะไรต่างๆ มาเยอะแยะ แต่สุดท้ายยกฟ้องหมด เป็นการแสดงละครเหมือนกับเพื่อให้เห็นว่าสมควรแล้วที่พวกนี้ต้องตาย ต้องถูกปราบ ทั้งๆ ที่ความจริงการต่อสู้ของคนเสื้อแดงไม่มีกองกำลังอาวุธอยู่จริง ไม่มีเลย ส่วนที่มีปัญหาเป็นรายบุคคลเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นนอกเหนือความรับรู้ของเรา ไม่รู้ว่าฝ่ายไหนเป็นฝ่ายไหน

คดีนี้มีความสำคัญมากสำหรับฝั่งเขาและฝั่งเรา เพราะไม่มีการนิรโทษกรรมทั้งสองฝ่าย คดีความยังไม่จบ แปลว่าสามารถถูกเช็กบิลได้ทั้งสองฝ่าย ทั้งแกนนำ ทั้งทักษิณ, อภิสิทธิ์ (เวชชาชีวะ -อดีตนายกรัฐมนตรี), สุเทพ (เทือกสุบรรณ -รองนายกรัฐมนตรีในรัฐบาลอภิสิทธิ์), ศอฉ. ทั้งหมด หลายคนคิดว่าไม่สำคัญ แต่เรามองว่าเหตุที่เขาไม่ลงจากหลังเสือเพราะคดีของคนเสื้อแดงมีความสำคัญ


มองเรื่องการทวงความเป็นธรรมในรัฐบาลนี้อย่างไร

นี่อาจจะเป็นกลเม็ดหนึ่งที่ทำให้เขาต้องจับมือกัน อาจจะมีความสำคัญในการยับยั้งการขับเคลื่อนเพื่อเช็กบิลกรณีคนเสื้อแดง เหมือนกับที่คุณธาริตติดคุก

เราทำงานต่อสู้เรื่องคดีความ อยู่กับเรื่องการประกันตัว การต่อสู้คดี การหาหลักฐาน เราทำงานเรื่องนี้มาและเรายังพยายามอยู่ นปช. ไปกันคนละทางแล้ว เราก็ตั้งคณะประชาชนทวงความยุติธรรม เพื่อยืนยันว่าอย่างไรเราก็ต้องทำ เราไม่ได้ทำเฉพาะเพื่อคนเสื้อแดง แต่เราทำเพื่อให้ฝั่งจารีต-อำนาจนิยมได้รู้ว่าประชาชนจะไม่ยอม คุณจะฆ่าคนกลางถนนแบบเดิมแล้วลอยชายไม่ต้องรับผิดชอบอะไรอีกไม่ได้ ถ้าเป็นอย่างนั้นคุณจะย่ามใจก็ทำต่อไปเรื่อยๆ เหมือนในช่วงเก้าปีนี้ที่เขาจัดการกับเด็กและเยาวชนอย่างไม่มีเหตุผล โทษเล็กน้อยก็ไม่ได้ประกันตัว

อย่างกรณีการแก้ไขมาตรา 112 กฎหมายมันเขียนด้วยคนแล้วทำไมจะแก้ไม่ได้ 112 ในสมัย ร.5 อัตราโทษต่ำกว่าปัจจุบันคือโทษสูงสุดสามปี โทษต่ำสุดไม่มี-ไม่ลงโทษก็ได้ กฎหมายถูกแก้มาเรื่อยๆ จนปี 2519 ฉะนั้น ม. 112 ฉบับที่ใช้อยู่เป็นผลพวงการทำรัฐประหารเมื่อ 2519 ถามว่าทำไมจะแก้ไม่ได้ ไม่ใช่เทวดาเขียน อันนี้คนทำรัฐประหารเขียน เป็นคนที่ฆ่านักศึกษาในธรรมศาสตร์ในยุคสงครามเย็น

เรื่อง 112 กลายเป็นธงในครั้งนี้ ไม่ว่าจะ ส.ส. หรือ ส.ว. พูดแบบเดียวกันหมด ถามว่าไม่ใช่แผนหรือ ยุทธศาสตร์คือถ้าพรรคเพื่อไทยต้องการเป็นรัฐบาลคุณต้องข้ามขั้วมา ซึ่งเป็นวิธีเดียวที่จะสามารถถีบพรรคก้าวไกลออกไปได้ นี่เป็นขวากหนามในการต่อสู้

ยังไงเราก็ต้องทวงความยุติธรรม แต่กำลังของเราจะอ่อนลงไป เพราะคนเสื้อแดงจำนวนหนึ่งจะสงสารพรรคเพื่อไทย กลัวว่าพรรคเพื่อไทยจะลำบาก ก็อาจจะเงียบในเรื่องนี้ก็ได้ แต่เชื่อว่าคนเสื้อแดงส่วนใหญ่และประชาชนเห็นด้วยในการทวงความยุติธรรม เพราะเราไม่ใช่แค่ทวงให้อดีต แต่เราทำเพื่ออนาคต คุณจะฆ่าคนแล้วไม่ต้องรับผิดชอบอะไรแบบที่ทำมาไม่ได้ นี่คือเหตุผลที่เรายังจำเป็นต้องทำ แม้เรารู้ว่ามันจะยากแล้ว

ก่อนหน้านี้เพื่อไทยกับก้าวไกลให้สัญญากับเรา แต่ตอนนี้ไม่รู้ว่ายังจะเป็นแบบนั้นหรือเปล่า กระทั่งรัฐธรรมนูญที่บอกว่าจะทำใหม่ทั้งฉบับ ก็อาจจะให้ทำแต่ไม่ให้แก้หมวด 1 หมวด 2 หรือแก้เฉพาะบางมาตรา

นอกจากการทวงความยุติธรรม การแก้ผลพวงของการทำรัฐประหารก็คงจะยาก ถามว่าหนักใจไหม แน่นอนหนักใจ ถ้าได้รัฐบาลที่เป็นฝ่ายประชาธิปไตยทั้งหมด โดยไม่มีมือที่เปื้อนเลือดเข้ามาเกี่ยวข้อง เราคงทวงความยุติธรรมได้ง่าย แต่มันก็เป็นเหรียญสองด้านนะ ความยากที่เกิดขึ้นนี้มันจะเปิดให้สายตาประชาชนได้เห็น

ธิดา ถาวรเศรษฐ


ตอนนี้พรรคเพื่อไทยพยายามจะแก้กฎหมายสองฉบับ คือกฎหมาย ป.ป.ช. กับวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง คิดว่าจะเป็นความหวังไหม และถ้าไม่แก้กฎหมายสองฉบับนี้จะยังมีทางอื่นไหม

ไม่มีความหวังเลย ถ้าเขาจะทำก็ทำไป เรารู้ว่าพรรคเพื่อไทยมาทำตรงนี้เพื่ออะไร เขาไม่ทำแบบที่เราเสนอหรอกคือให้ฟื้นคดี เอาคดีที่แช่แข็งไว้ออกมาทำต่อ แก้กฎหมายให้ทหารต้องมาขึ้นศาลพลเรือน นักการเมืองต้องมาขึ้นศาลพลเรือน แต่ที่เขาเสนอคือดำเนินคดีเฉพาะนักการเมือง ในขณะที่เราทวงความยุติธรรม ส่วนหนึ่งที่พรรคเพื่อไทยก็เป็นกำลังสนับสนุนด้วยนั้นคือการฟ้องสุเทพกับอภิสิทธิ์ซึ่งเป็นนักการเมือง เราคิดว่าเขาจะแตะเฉพาะแค่นี้

ทีนี้คุณณัฐวุฒิเสนอให้แก้ที่ ป.ป.ช. เมื่อทางเดิมที่เคยเดินไปติดที่ ป.ป.ช. เขาจึงคิดว่า ถ้า ป.ป.ช. ไม่ส่งฟ้องก็แก้ให้ประชาชนส่งเองได้ คุณก็ทำไป แต่เรามองว่าทางนี้เป็นปลายทางและอาจจะไม่สำเร็จ คุณมีสิทธิ์ฟ้องแต่ผลที่ได้คืออภิสิทธิ์กับสุเทพอาจจะไม่ผิด อย่าลืมว่าองค์กรอิสระต่างๆ ถูกคัดเลือกโดยคนของฝั่งรัฐประหาร ฝั่งของผู้ฆ่าทั้งสิ้น ถามว่าเราจะหวังความยุติธรรมได้ไหม ในที่สุดกฎหมายที่ให้ประชาชนฟ้องได้เองมันเป็นเกมของฝั่งอนุรักษนิยมต่างหาก เห็นไหมศาลรัฐธรรมนูญเปิดช่องให้นักร้องต่างๆ ไปฟ้องเองได้โดยตรง เป็นลูกไม้ฝั่งจารีตเวลาจะเอาผิดกับฝั่งรัฐบาลเสรีนิยม

การให้ประชาชนฟ้องเองได้คือปลายทาง ส่วนต้นทางคือถ้านักการเมืองทำความผิดทางอาญากับประชาชน สมคบกับทหารในการฆ่าประชาชน เขาต้องขึ้นศาลแบบประชาชนทั่วไป ไม่ใช่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญานักการเมือง โทษมันต่างกัน ชั้นความผิดต่างกัน และสามารถทำการสืบสวนสอบสวนอย่างให้ความเป็นธรรมทั้งสองฝ่ายได้ เพราะมีสามศาล

มีเอกสารชิ้นหนึ่งซึ่งอธิบดีศาลอาญาโต้แย้งคำวินิจฉัยของศาลอาญาในกรณีนี้ เพราะเมื่อมีการสืบสวนสอบสวน มีคำสั่งชันสูตรพลิกศพว่าตายเพราะอะไรนั้นศาลต้องวินิจฉัยก่อนจะไปส่งศาลอาญาได้ ในคำสั่งเหล่านั้นอธิบายชัดเจนถึงความผิดทางอาญาที่เกิดขึ้นกับประชาชน ประชาชนไม่มีอาวุธ และเป็นการทำที่ไม่ถูกต้อง ไม่ได้เป็นการปฏิบัติตามหน้าที่ และโทษความผิดก็คนละระดับ เป็นเหตุผลว่าทำไมนักการเมืองหรือทหารที่ทำผิดกรณีนี้จึงควรขึ้นศาลยุติธรรมแบบประชาชนทั่วไป ไม่ใช่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญานักการเมืองหรือศาลทหาร ทำไมคุณต้องมีอภิสิทธิ์พิเศษ เพราะเป็นนักการเมืองจึงรับโทษน้อยกว่าคนอื่นอย่างนั้นหรือ ทั้งที่เรื่องนี้ไม่ใช่ความผิดทุจริตต่อหน้าที่


แนวทางที่คุณเสนอคือให้นักการเมืองและทหารถูกดำเนินคดีในศาลยุติธรรมแบบเดียวกับประชาชนทั่วไป เรื่องนี้ต้องแก้กฎหมายหรือสามารถใช้การตีความกฎหมายที่มีอยู่ได้

กฎหมายเปิดช่องให้ตีความได้ เช่น สำหรับทหาร กฎหมายบอกว่าถ้าคุณทำความผิดกับพลเรือน คุณต้องขึ้นศาลพลเรือน แต่ปรากฏว่าเขาตีความว่าทหารที่อยู่ตรงนั้นมันยิงเอง ไม่มีพลเรือนไปสั่ง นายกฯ ไม่ได้ไปสั่งทหารตามจุดต่างๆ ให้ยิง จึงให้ไปขึ้นศาลทหาร ทั้งๆ ที่ ศอฉ. มีพลเรือนอยู่ในองค์ประกอบ มีทั้งนายกฯ มีอธิบดีต่างๆ นี่คือสิ่งที่เกิดขึ้นในช่วงทำรัฐประหารทั้งสิ้น

นอกจากนี้เราเสนอให้เซ็นยอมรับเขตอำนาจ ICC เฉพาะกรณีปี 2553 ซึ่งเราเคยเดินทางไปที่ ICC แล้ว จนกระทั่งอัยการของ ICC เขายอมรับและเดินทางมาประเทศไทยเพื่อขอให้รัฐบาลเซ็น แต่รัฐบาลเพื่อไทยไม่เซ็น เพราะเขากลัว ตอนนั้นเขาคงเอาใจคุณประยุทธ์ที่มีส่วนเกี่ยวข้องละมั้ง และมาจนถึงตอนนี้เข้าใจว่ามีอีกเรื่องที่เขากลัวคือ เกรงว่าเรื่องนี้จะกระทบกระเทือนรัฐธรรมนูญมาตรา 6 (ผู้ใดจะกล่าวหาหรือฟ้องร้องพระมหากษัตริย์ในทางใดๆ มิได้) ทั้งที่เรื่องนี้ไม่เกี่ยว

ในรัฐบาลที่แล้วเราไปเสนอพรรคก้าวไกลกับพรรคเพื่อไทยทั้งหมดแปดข้อ โดยเป็นเรื่องปี 2553 สามข้อ ซึ่งข้ออื่นๆ เป็นเรื่องการเมือง เช่น เขียนรัฐธรรมนูญใหม่ ยุบ กอ.รมน. เราต้องเสนอเรื่องอื่นด้วยเพราะถ้าไม่ใช่ระบอบประชาธิปไตย คุณก็จะทวงความยุติธรรมไม่ได้ มาสู่ข้อสรุปว่าถ้ารัฐบาลไม่ใช่รัฐบาลประชาธิปไตยจริงที่มองอำนาจประชาชนเป็นสิ่งสำคัญสูงสุด แต่เอาอำนาจอย่างอื่นเป็นอำนาจสูงสุดมากกว่า เราจะไปทวงความยุติธรรมได้อย่างไร

ความยุติธรรมขึ้นอยู่กับระบอบการเมืองการปกครอง นี่เป็นเหตุผลสำคัญที่เขาทำรัฐประหารและทำให้คนขาดความเชื่อมั่นว่ากฎหมายและผู้รักษากฎหมายไม่ได้อยู่ในระบอบที่คิดว่าอำนาจเป็นของประชาชน

คนอื่นที่ไม่ได้ผ่านประสบการณ์แบบเรา อาจมองว่าเรื่องคนเสื้อแดงเป็นเรื่องเล็ก แต่ที่จริงเป็นเรื่องใหญ่ขนาดที่เขาต้องทำรัฐประหารและบิดเบือนกระบวนการยุติธรรม กระทั่งสามารถตั้งรัฐบาลที่ทำให้เราทำงานต่อยาก เมื่อตอนที่เพื่อไทยเป็นรัฐบาลที่มีอำนาจยังไม่ยอมทำเลย ตอนครบรอบสามปีเหตุการณ์ 2553 เราทำวิดีโอเรื่อง ‘ยุทธการยิงนกในกรง’ เขายังไม่ยอมให้ฉายเลย กลัวว่าจะบาดใจทหาร โดนลักไก่กลางงานเอาอย่างอื่นมาสวมแทน ทั้งที่ตอนนั้นเราเป็นประธาน นปช. แต่คนคุมเวทีไม่ได้อยู่ในมือเรา

การทวงความยุติธรรมคงยาก พรรคเพื่อไทยคงอยากจะเป็นรัฐบาลที่ราบรื่น แก้ปัญหาเศรษฐกิจเป็นหลัก ซึ่งไม่รู้จะทำได้หรือเปล่า เขาคงไม่ประสงค์จะแก้ปัญหาโครงสร้างการเมือง แต่ต้องการให้รัฐบาลอยู่ได้ยาวที่สุดและเป็นรัฐบาลไปเรื่อยๆ โดยไม่จำเป็นต้องกระทบอำนาจอื่นๆ แต่ประชาชนเปลี่ยนไปแล้ว ซึ่งเขาก็รู้นะจึงบอกว่าครั้งนี้เทหมดหน้าตัก-ใช้ต้นทุนสูง เขาจะเป็นรัฐบาลที่ไร้เสถียรภาพได้ง่าย จะทำให้การทวงความยุติธรรมคงยาก แต่เราก็ต้องทำ

ธิดา ถาวรเศรษฐ


คุณคิดว่าทำไมพรรคเพื่อไทยไม่เอาแนวทางเรื่อง ICC เลย ต่อให้เป็นการยอมรับเขตอำนาจเฉพาะกรณี เหตุผลคือเรื่องมาตรา 6 ในรัฐธรรมนูญแค่นั้นหรือ

คิดว่าไม่ใช่ ทหารคงสั่งมา เพราะตอนที่เราไป ICC เพื่อไทยก็ไม่ได้ว่าอะไร ตอนนั้นคิดว่าจะไปฟ้องอภิสิทธิ์คนเดียว แต่ ICC บอกว่าอภิสิทธิ์ทำเรื่องนี้คนเดียวไม่ได้ เราจึงจะยื่นฟ้อง ศอฉ. ทั้งหมด

อย่างที่เขากำลังจะแก้กฎหมายอยู่ก็เอาผิดเฉพาะนักการเมือง ทหารไม่เกี่ยว มีพูดตรงไหนว่าเอาทหารเข้าไปเกี่ยวด้วย พรรคเพื่อไทยคงจะเอาผิดเฉพาะนักการเมืองเท่านั้น และที่เขาไม่ยอมเซ็น ICC แต่เดิมเราคิดว่าเขาห่วงเรื่องมาตรา 6 ในรัฐธรรมนูญ ซึ่งเราก็อธิบายไปแล้วว่าไม่เกี่ยว ตอนหลังเราจึงมาเข้าใจว่าที่จริงเขาไม่ได้ห่วงเรื่องมาตรา 6 แต่เขากลัวว่าการเอาผิดจะกินแดนไปถึง ศอฉ. ซึ่งมีทหารเข้าไปเกี่ยวข้องด้วย ตอนนั้นเขาเอาใจพลเอกประยุทธ์มาก แต่เอาใจอย่างไรก็โดนรัฐประหารอยู่ดี

ครั้งนี้เพื่อไทยไปจับมือฝ่ายจารีต ดังนั้นเรื่องต่างๆ คงเป็นไปได้ยาก ไม่ว่าจะเรื่องการร่างรัฐธรรมนูญใหม่ การทวงความยุติธรรมที่จะกระทบกระเทือนการทำรัฐประหารและการฆ่าประชาชนครั้งเก่า รวมทั้งอาจจะกระทบกระเทือนโครงสร้างอำนาจ เขาต้องการแก้ปัญหาเศรษฐกิจและเป็นรัฐบาลให้ยาว เขาไม่ได้ต้องการไปกระทบกระเทือนโครงสร้างอำนาจอื่นๆ ที่ทำให้เกิดความไม่เป็นธรรม เขาพยายามหลีกเลี่ยง แต่ก็ถูกทำรัฐประหารมาตั้งสองรอบ

เราต้องการต่อสู้ให้การเมืองดีขึ้น แต่พรรคเพื่อไทยต่อสู้เพื่อให้ได้มีอำนาจอยู่นาน เราไม่ได้ปฏิเสธว่าเขาทำไม่ดี เขาก็ทำดีเยอะเลย แต่เป้าหมายคนละอย่างกัน เพราะฉะนั้นความระมัดระวังของเขาไม่ได้ช่วยให้เขาเป็นรัฐบาลอยู่ได้ยาว

ดังนั้นเรื่องไม่เซ็น ICC คิดว่าเพราะเพื่อไทยกลัวทหารและกลัวชนชั้นนำ การแก้กฎหมายสองฉบับที่พรรคเพื่อไทยกำลังเสนออยู่นี้เขาจะเอาผิดเฉพาะนักการเมือง เขากล้าเอาเรื่องทหารด้วยไหมล่ะ ไม่มีหรอก เพราะต้องการรักษาสัมพันธภาพ แต่ในความเป็นจริง ฝ่ายจารีต-อำนาจนิยมไม่เคยคิดประนีประนอม มีแต่กลยุทธ์เพื่อจะรักษาอำนาจอย่างเดียว


ภาพการร่วมรัฐบาลของสองฝ่ายที่เคยเป็นคู่ขัดแย้งกันในอดีตเป็นการสะท้อนว่าความขัดแย้งในสังคมไทยเปลี่ยนแปลงไปแล้วหรือเปล่า เป็นการเริ่มความขัดแย้งบทใหม่แล้วหรือไม่ เมื่อเพื่อไทยร่วมกับฝ่ายจารีตได้

ไม่ใช่ ความขัดแย้งยังดำรงอยู่ เพียงแต่ต่างฝ่ายต่างเปลี่ยนกลยุทธ์ ฝ่ายจารีต-อำนาจนิยมใช้กลยุทธ์แบบสามก๊กที่เอาศัตรูที่อันตรายน้อยกว่ามาอยู่กับตัวเอง เพื่อที่จะปฏิเสธพรรคการเมืองใหม่ที่ไปได้แรงและเร็วมาก ฝ่ายจารีตวางแผนเป็นหลักและสมประโยชน์กับพรรคเพื่อไทยที่ต้องการเป็นรัฐบาล ที่ผ่านมาไม่ได้เป็นรัฐบาลตั้งหลายปี ถ้าไม่เป็นรัฐบาลครั้งนี้ ครั้งหน้าเขาก็ไม่ได้เป็น

สำหรับพรรคการเมืองและนักการเมืองพวกที่อยากเป็นรัฐบาลนี้เขาไม่มีอุดมการณ์ที่แตกต่างกันชัดเจน ลองคิดดู เศรษฐกิจเขาก็ทำเหมือนกัน ทุนนิยมเสรีเหมือนกัน การเมืองก็ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขเหมือนกัน แต่สำหรับ นปช. คือต้องห้อยท้ายคำว่า ‘ที่อำนาจเป็นของประชาชนอย่างแท้จริง’ ด้วย เขาไม่แตกต่างกัน ดังนั้นก็สามารถร่วมกันได้

วันเวลาคัดกรองให้เห็นว่าจุดยืนของใครอยู่ที่ไหน ถ้าเทียบกับการเมืองในต่างประเทศที่จะมีพรรคขวาจัด-พรรคขวากลาง สำหรับเพื่อไทยเป็นขวากลาง เขาไม่ใช่ซ้ายนะ ที่ซ้ายกว่าคือก้าวไกล

การต่อสู้สำหรับนักการเมืองไม่มีมิตรแท้ศัตรูถาวร เป็นเรื่องผลประโยชน์ที่ลงตัวกัน เหมือนทฤษฎีเกม Nash equilibrium คือต่างคนต่างถอยมาสักหน่อยหนึ่งและสมประโยชน์ร่วมกัน ไม่มีใครได้สูงสุดเพราะตัวเองอำนาจต่อรองไม่เท่า เขาต้องคำนวณเยอะ เอาทฤษฎีเกมมาจับก็จะสามารถได้จุดสมดุล เช่น คุณทำงานเศรษฐกิจไป คุณประยุทธ์ยังอยู่ คุณประวิตรก็ยังอยู่ เอาน้องชายมานั่งรองนายกฯ เขายังคุมด้านความมั่นคงอยู่ ซึ่งคงตกลงกันได้ ไม่อย่างนั้นคุณประยุทธ์จะย้ายทหารทีเดียวตั้ง 700 กว่าคนทั้งที่เป็นรัฐบาลรักษาการได้อย่างไร ถ้าไม่ใช่ด้วยความสมัครใจของพรรคเพื่อไทย ก่อนหน้านี้คุณภูมิธรรมยังบอกว่าย้ายไม่ได้ แต่หลังจากนั้นไม่มีเสียงสักแอะหนึ่งจากเพื่อไทยเลย

แน่นอนสัดส่วนอำนาจของคุณประยุทธ์ลดลง เพราะหาเสียงได้น้อย แต่เขามีอำนาจอย่างอื่น มีอำนาจกองทัพ มีอำนาจคณะกรรมการยุทธศาสตร์ อำนาจของชนชั้นนำ เขาไม่ได้อยู่ตัวเปล่าเล่าเปลือย ต่อให้ ส.ว. หมดวาระไปก็ตาม เขายังมีอำนาจกลไกรัฐที่วางไว้มายาวนานตั้งแต่ปี 2549 จนถึงปัจจุบัน ดังนั้นเป็นการสมประโยชน์ ดุลอำนาจมาถึงจุดที่ลงตัวตกลงกันได้ ถอยมาระดับหนึ่งเพื่อที่จะสามารถจับมือกันได้

คู่ขัดแย้งในสังคมยังเหมือนเดิม เพียงแต่พรรคเพื่อไทยเขาก้าวข้ามไป ที่จริงตัวตนของพรรคเพื่อไทยแท้ๆ ก็เป็นแบบนี้ แต่สถานการณ์ที่เขาเป็นฝ่ายถูกกระทำนั้นทำให้เขาต้องสู้และประชาชนก็เห็นใจ จากที่เคยมีโอกาสคุยกับคุณทักษิณ ถามเขาว่าคุณคิดว่าประเทศไทยเป็นอย่างไร คุณทักษิณตอบว่าก็คิดว่าเป็นประชาธิปไตย เขาก็มาตั้งพรรค มาทำงาน ลงเลือกตั้งให้ได้เสียงมากที่สุด แล้วก็ทำอย่างไรให้คนชอบ ทำให้คนพอใจมากที่สุด เขาไม่ได้คิดจะเข้ามาปฏิรูป-ปฏิวัติประเทศอะไร เขาคิดว่ารัฐธรรมนูญ 2540 ดีแล้ว ตอนนั้นทุกอย่างดูดี การเมืองดูดี มีแต่เศรษฐกิจเจ๊ง คุณทักษิณเข้ามาถูกที่ถูกเวลาก็เลยเติบโต เขาจึงติดกับดักนี้ และฝั่งจารีตก็ติดกับดักนี้ คือมองว่าคุณทักษิณเป็นศัตรูที่ปล่อยไว้ไม่ได้ ไม่อย่างนั้นจะได้อำนาจความรักความเชื่อของประชาชนไป ต้องจัดการให้สิ้นซาก จึงทำรัฐประหารสองครั้งและครั้งหลังจึงอยู่ยาว

ตัวตนจริงๆ คุณทักษิณก็ยังเป็นแบบนี้ เมื่อก่อนเขาตั้งรัฐบาลพรรคเดียวได้ แต่ตอนนี้เขาต้องยอมรับความเป็นรอง ต้องจับมือกับฝั่งโน้น ธาตุแท้เขาไม่ได้คิดที่จะไปจัดการโครงสร้างที่กระทบกระเทือนชนชั้นนำหรือผู้มีอำนาจ เขาเพียงแต่อยากเป็นรัฐบาลนานๆ เขาอาจจะมองโมเดลแบบ ลี กวนยู (Lee Kuan Yew -อดีตนายกรัฐมนตรีสิงคโปร์) ก็ได้ แต่ถามว่าชนชั้นนำไทยจะยอมให้เป็นแบบลี กวนยูเหรอ ฉะนั้นก็เป็นศัตรูโดยภาวะจำเป็น

เมื่อถึงจุดหนึ่งซึ่งอำนาจค่อยๆ ลดลงไปและมีคนใหม่เข้ามาแทนที่ ก็เกิดการตั้งขั้วใหม่ คนที่พอจะรวมกันได้ก็มารวมกัน ฝั่งจารีตก็เอาพรรคเพื่อไทยไป พรรคเพื่อไทยก็ไม่มีทางเลือกอื่น แต่ถามว่าความขัดแย้งยุติไหม…ไม่ เพราะคนต้องการเปลี่ยนตั้งกว่า 70% เพียงแต่ว่าทำแบบนี้เพื่อไทยจะเสียฐานเสียงแค่ไหน

กลายเป็นว่าคู่แข่งของพรรคเพื่อไทยคือพรรคก้าวไกล เมื่อเพื่อไทยไม่ต้องการกระทบกระเทือนโครงสร้างอำนาจเดิม เขาก็ไปอยู่ในขั้วของโครงสร้างอำนาจเดิม ฉะนั้นความขัดแย้งยังดำรงอยู่ ประชาชนยังเห็นต่าง ประชาชนต้องการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างอำนาจเพื่อทำให้ประชาชนเท่าเทียมกัน

ธิดา ถาวรเศรษฐ


อยากชวนมองในมุมมวลชน ถ้าจะให้นิยามความสัมพันธ์ระหว่างคนเสื้อแดงกับพรรคเพื่อไทยที่ผ่านมาเป็นอย่างไร ช่วงเลือกตั้งก็มีมวลชนโจมตีกันเองว่าคนเสื้อแดงที่ไม่ได้เลือกพรรคเพื่อไทยถือว่าไม่ใช่เสื้อแดง

สีแดงไม่ใช่สีของพรรคเพื่อไทย สีแดงเกิดจากการที่เราใช้เป็นสัญลักษณ์ต่อต้านรัฐประหารกับโหวตโนประชามติรัฐธรรมนูญ 2550 พอแพ้ประชามติ เราจะขับเคลื่อนต่อก็คุยกันว่าจะใช้สีอะไร เห็นว่ามีเสื้อสีแดงอยู่เยอะแล้วไม่ต้องไปซื้อเสื้อใหม่หรอก สีแดงไม่ใช่สัญลักษณ์เพื่อไทย คุณทักษิณเคยบอกให้ถอดเสื้อสีแดงหลายครั้งเวลาเขาอยากจะประนีประนอม อยากจะให้สลายขั้วสลายสี แต่คนเสื้อแดงไม่ยอม โดยเฉพาะปี 2554 เขาใส่เสื้อแดงของเขาเองไปฟังปราศรัยพรรคเพื่อไทย ไม่ได้มีเสื้อครอบครัวเพื่อไทยแจกแบบปีนี้ เลือกตั้งปีนั้นคนเจ็บใจมาจากปี 2553 จึงแก้แค้นด้วยการเลือกเพื่อไทย 15.7 ล้านเสียง ประมาณ 48% ของผู้มาลงคะแนน แต่พอเลือกตั้ง 2566 เพื่อไทยเหลือ 10 ล้านเสียง คือ 27% ของผู้มาลงคะแนน คิดดูว่าผู้สนับสนุนหายไปไหน

หลังเลือกตั้ง 2566 ม.ศรีปทุมทำโพล ปรากฏว่าคะแนนนิยมเพื่อไทยหายไป 62% ในตัวเลขนี้คือไหลไปอยู่ที่ก้าวไกล 51% นี่คือปฏิกิริยาของผู้สนับสนุนเพื่อไทย ในอดีตคนเสื้อแดงทั้งหมดเลือกเพื่อไทย แต่เลือกตั้ง 2566 คะแนนไหลไปอยู่ที่ก้าวไกลเป็นส่วนใหญ่ คนเสื้อแดงที่มีจิตวิญญาณการต่อสู้และอาจจะเสื่อมศรัทธาพรรคเพื่อไทยหรือมองว่าไม่เห็นฝั่งสักที ก็คงหันไปเลือกก้าวไกล

แน่นอนว่ามีคนที่ลงคะแนนให้ทั้งสองพรรค เลือกแบบยุทธศาสตร์ เลือก ส.ส. เขตจากพรรคหนึ่ง เลือก ส.ส. บัญชีรายชื่ออีกพรรคหนึ่ง เพราะเชื่อว่าสองพรรคนี้คือฝ่ายประชาธิปไตย จะได้เป็นรัฐบาลร่วมกัน จะเป็นข้าวต้มมัดนั่นแหละ (หัวเราะ) พรรคเพื่อไทยก็รู้ว่าเจตนารมณ์ประชาชนเป็นอย่างนั้นจึงบอกว่าเขาเสียต้นทุนสูงในการเป็นรัฐบาลครั้งนี้ ไม่รู้จะเหลือเท่าไหร่

ถ้าพรรคเพื่อไทยแก้ไขรัฐธรรมนูญไม่ได้ ทวงความยุติธรรมก็ไม่ได้ ก็จะเหลือฐานเสียงแบบบ้านใหญ่ แบบอิทธิพล ส.ส. หรือแบบคนที่รักเพื่อไทยสุดจิตสุดใจ เพื่อไทยจะขึ้นภูเขาลงทะเลก็จะเชื่อฟังตามหมด แต่คนเสื้อแดงถูกรดน้ำพรวนดินและถูกสร้างขึ้นมาด้วยการต่อสู้ทางการเมืองเป็นส่วนใหญ่ ไม่เคยต่อสู้ทางเศรษฐกิจ ไม่เคยมาเรียกร้องขอเงิน ไม่เคยมาเรียกร้องขอจำนำข้าว มีแต่ต่อต้านรัฐประหาร คืนอำนาจให้ประชาชน ต่อสู้ทางการเมือง ขณะที่เพื่อไทยใช้ปัญหาเศรษฐกิจเป็นธงนำ ซึ่งเคยได้ผลสมัยไทยรักไทย แต่ตอนนี้สถานการณ์เปลี่ยน เผด็จการทำให้คนเติบโต ฉะนั้นมันก็ยาก

ความขัดแย้งยังดำรงอยู่ ประชาชนยังต้องต่อสู้เดินหน้าเปลี่ยนแปลงประเทศ สถานการณ์จะคัดกรองคน พรรคเพื่อไทยทำเพื่อได้เป็นรัฐบาล แต่ในความขัดแย้งนี้ประชาชนยังต้องการได้ประชาธิปไตยที่อำนาจเป็นของประชาชน สิ่งนี้ประชาชนทิ้งไม่ได้ ประชาชนที่ติดตามพรรคเพื่อไทยก็อาจเชื่อมั่นในคุณทักษิณ แต่ถามว่าคุณทักษิณคิดถูกหรือผิดมาตั้งกี่รอบ รอบที่แล้วควรจะเป็นรัฐบาลก็ไม่ได้เป็น พรรคไทยรักษาชาติถูกยุบ คนคิดว่าคุณทักษิณคงมีไม้เด็ด พอเปิดไม้เด็ดมาอยากจะเป็นลม กลายเป็นเจ๊งไปเลย เรื่องนิรโทษกรรมก็เหมือนกัน ไม่ใช่ว่าคนเราจะเก่งไปทุกอย่าง

เราภูมิใจที่เป็นส่วนหนึ่งของการสร้างคนที่ตื่นตัวทางการเมือง เราทำโรงเรียนการเมืองมาตลอด ตั้งแต่ปี 2553 จนถึงปี 2557 สิ่งที่เรามีส่วนสร้างผลิดอกออกผล แล้วก้าวไกลก็มาเก็บเกี่ยวได้ถูกที่ถูกเวลา ไม่ใช่ว่าอยู่ดีๆ มีพรรคก้าวไกลแล้วประชาชนตื่นตัวมารักพรรคนะ เขาตื่นตัวอยู่แล้วจำนวนมาก ส่วนที่พรรคก้าวไกลทำก็คือคนรุ่นใหม่ แต่เด็กรุ่นใหม่เขาก็เคารพคนเสื้อแดงในฐานะนักต่อสู้ในอดีต แต่ตอนนี้มันก็ชุลมุนไปหมด

คนเสื้อแดงไม่จำเป็นต้องถอดเสื้อแดง เพราะคือประวัติศาสตร์การต่อสู้ สีแดงไม่ใช่สีของพรรคเพื่อไทย แต่เพื่อไทยเอามาใช้ในการเลือกตั้งครั้งนี้เพราะต้องการให้คนเสื้อแดงกลับบ้าน จึงทำให้คนสับสนไปหมด ทำให้คนเสื้อแดงจำนวนหนึ่งรู้สึกว่าถ้าเป็นคนเสื้อแดงก็ต้องรักพรรคเพื่อไทย แต่ก็มีคนไม่เห็นด้วยจำนวนมากจนกระทั่งสูญเสียตำแหน่งแชมป์

พรรคเพื่อไทยไม่ได้เปลี่ยนแปลง เขาเป็นแบบเดิม แต่ประชาชนมีทางเลือกมากขึ้น ประชาชนแสวงหาหนทางที่จะสามารถทำตามความฝันเขาได้ หนทางที่เขาหวังว่าจะดีกว่า ในฐานะเพื่อนกันก็หวังดีขอให้เพื่อไทยสำเร็จ แต่ในมุมการต่อสู้ก็เสียใจที่กำลังของเราหายไปและทำให้คนเสื้อแดงส่วนหนึ่งสับสน ทะเลาะกัน บางคนเขารักเพื่อไทยมานานแล้วก็ไม่อยากเปลี่ยน แล้วหันไปโกรธคนที่ไม่เลือกพรรค ทะเลาะกัน ปวดหัวเลย เสื้อแดงที่รักพรรคจำนวนหนึ่งก็ไม่พอใจเราเหมือนกัน แต่เราไม่ได้อยู่พรรคไหน วิจารณ์ทั้งสองพรรค

ประวัติศาสตร์ของคนเสื้อแดงเป็นสิ่งที่ควรภาคภูมิใจและควรสืบทอดจิตวิญญาณการต่อสู้ คุณจะโหวตพรรคไหนเป็นเรื่องของคุณ แต่ถามว่าคุณมีจิตวิญญาณการต่อสู้เป็นหลัก หรือคุณรักพรรคเป็นหลัก

ธิดา ถาวรเศรษฐ


ภายใต้เงื่อนไขสถานการณ์วันนี้กับสิ่งที่พรรคเพื่อไทยเลือกเดินมาแล้ว อยากบอกอะไรกับพรรคเพื่อไทย มีอะไรที่พรรคเพื่อไทยถูกคาดหวังว่าต้องทำให้สำเร็จ

สำคัญที่สุดคือเขียนรัฐธรรมนูญใหม่ โดยที่ทำประชามติตั้ง สสร. ยืนยันว่าควรจะทำทั้งฉบับ ไม่ใช่ไม่เอาหมวด 1 หมวด 2 ทำแบบนั้นจะเกิดสงครามย่อยๆ กับประชาชน เพราะคนที่อยู่นอกรัฐสภาต้องการให้เขียนใหม่ทั้งฉบับ นอกจากนี้คือการปฏิรูปกองทัพ แต่ดูแล้วคงทำไม่ได้เต็มที่ ทำได้เท่าที่ทหารอนุญาตให้ทำ เรื่องรัฐธรรมนูญก็ทำได้เท่าที่ประยุทธ์-ประวิตรอนุญาตให้ทำ

คิดว่าคงทำไม่ได้ทั้งหมดหรอก เพราะกลายเป็นฝ่ายอนุรักษนิยมไปแล้ว เขาบอกอาจจะมี สสร. แต่จะหาวิธีแทรกแซง เช่น เขียนไว้ก่อนว่าไม่ให้แก้หมวดไหน หรือไม่ให้แก้ประเด็นใด หรือแก้ไขเฉพาะกี่หมวด เป็นต้น ฉะนั้นเกรงว่ารัฐธรรมนูญฉบับที่เขาให้ทำใหม่ก็จะเป็นรัฐธรรมนูญฉบับฝ่ายอนุรักษนิยมเหมือนเดิม ปฏิรูปกองทัพก็จะปฏิรูปเท่าที่ทหารอนุญาต เพราะพวกนั้นยังคงอยู่

การทวงความยุติธรรมของเรา อย่างมากก็ทำได้แบบที่พรรคเพื่อไทยเสนอ คือเอาผิดเฉพาะนักการเมือง ให้ไปขึ้นศาลฎีกาแผนกคดีอาญานักการเมือง โดยประชาชนฟ้องร้องเอง แต่เราก็จะพยายามทำ

ส่วนเรื่อง 112 เขาไม่ให้พูดเลย ไม่รู้ว่าเป็นอะไร ตรรกะใช้ไม่ได้เลย มีอะไรในโลกที่มนุษย์ทำแล้วแก้ไม่ได้บ้าง โดยเฉพาะเป็นกฎหมายจากมนุษย์พันธุ์ที่ฆ่านักศึกษาในมหาวิทยาลัยปี 2519 ต้องอยู่ไปชั่วฟ้าดินสลายหรือ

ถ้าจะทำเพื่อให้ได้ฐานเสียงคือคุณต้องเขียนรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ ให้อำนาจ สสร. ไปเลย แล้วพยายามปฏิรูปกองทัพให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ ส่วนเรื่องเศรษฐกิจคุณก็ต้องรักษาคำมั่นสัญญา ซึ่งเขาโฆษณามากเกินไปแล้วจะทำไม่ได้ เราอยากให้เขาชนะนะ แต่เขาจะล้มเหลวในคำมั่นสัญญา ล้มเหลวเรื่องแก้ไขรัฐธรรมนูญ จะเป็นรัฐบาลที่ถูกโจมตี และถูกขึ้นป้ายไว้ที่หน้าผากเลยว่าเป็นเนื้อเดียวกันกับฝ่ายจารีตอนุรักษนิยมที่ยังรักษาอำนาจของพวกเขาเอาไว้ ทำให้ประชาชนไม่สามารถแก้ไขรัฐธรรมนูญ ไม่สามารถแก้ไขโครงสร้างอำนาจ รวมทั้งปัญหาทวงความยุติธรรม เพราะหุ้นส่วนของคุณยังเกี่ยวข้องกับคดีความทั้งหมดและนี่เป็นเหตุผลที่เขาต้องทำรัฐประหาร

ถ้าให้คาดเดาพรรคเพื่อไทยจะถูกประณามจากประชาชนกว่า 70% แล้วคุณจะอยู่ไหวไหม อยู่ยากแน่ เราอยากให้เขาทำหลายเรื่องแต่เขาจะทำไม่ได้ อย่างยุบ กอ.รมน. เขาจะทำเหรอ กอ.รมน. เป็นโครงสร้างที่ซ้อนอำนาจรัฐจริงอยู่ แล้วยังมีอำนาจที่คุมอยู่อีกที ถ้าคุณพยายามจะเข้าไปเปลี่ยน คุณจะเป็นสิ่งแปลกแยก

สมมติว่าเพื่อไทยกับก้าวไกลร่วมกันเป็นรัฐบาล เขาก็ต้องร่วมกันรบกับอำนาจที่ไม่ได้มาจากประชาชน แต่ตอนนี้มีเพื่อไทยหัวเดียวกระเทียมลีบและคุณไม่ใช่พวกที่อยากจะแก้อะไรจริง ก็ต้องไปเป็นอันหนึ่งอันเดียวกับเขา เพื่อไทยอาจจะไม่รบกับรัฐจารีต แต่คุณต้องมารบกับประชาชนที่เขาต้องการเปลี่ยนแปลงประเทศให้ก้าวหน้า นี่เป็นเรื่องที่คุณต้องเจอเพราะคุณเลือกทางนี้แล้ว เปลี่ยนกลับไม่ได้แล้วคุณก็ต้องเดินต่อไป

เพื่อไทยหวังทำเศรษฐกิจให้ดี ค่อยๆ ทำให้ประเทศดีขึ้น ประนีประนอมเพื่อรักษาอำนาจไว้ ไม่มีการนองเลือด ไม่มีรัฐประหาร แต่คุณจะกลายพันธุ์เป็นส่วนหนึ่งของฝ่ายจารีต-อำนาจนิยม คุณต้องปะทะกับประชาชนที่ก้าวหน้า นี่คือทางเลือกของคุณ เพราะประชาชนไม่ล้มเลิก เขาไม่ได้ล้มเลิกด้วยดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาทหรอก ไม่อย่างนั้นคุณชนะถล่มทลายไปแล้ว

อันดับแรกให้ผ่านสี่ปีนี้ให้ได้ ส่วนอีกสี่ปีข้างหน้าไม่ต้องพูดถึงเลย

MOST READ

Thai Politics

3 May 2023

แดง เหลือง ส้ม ฟ้า ชมพู: ว่าด้วยสีในงานออกแบบของพรรคการเมืองไทย  

คอลัมน์ ‘สารกันเบื่อ’ เดือนนี้ เอกศาสตร์ สรรพช่าง เขียนถึง การหยิบ ‘สี’ เข้ามาใช้สื่อสาร (หรืออาจจะไม่สื่อสาร?) ของพรรคการเมืองต่างๆ ในสนามการเมือง

เอกศาสตร์ สรรพช่าง

3 May 2023

Politics

23 Feb 2023

จากสู้บนถนน สู่คนในสภา: 4 ปีชีวิตนักการเมืองของอมรัตน์ โชคปมิตต์กุล

101 ชวนอมรัตน์สนทนาว่าด้วยข้อเรียกร้องจากนอกสภาฯ ถึงการถกเถียงในสภาฯ โจทย์การเมืองของก้าวไกลในการเลือกตั้ง บทเรียนในการทำงานการเมืองกว่า 4 ปี คอขวดของการพัฒนาสังคมไทย และบทบาทในอนาคตของเธอในการเมืองไทย

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

23 Feb 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save