fbpx

90 ปี ไพจิตร ปวะบุตร: ขี่ม้าข้ามคืน สร้างระบบสุขภาพไทยข้ามยุค

อาจารย์ไพจิตร ปวะบุตรโตเป็นหนุ่มในยุคที่บ้านเมืองวุ่นวายด้วยการเมืองหลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง แต่โชคดีที่ชีวิตคนตัวเล็กตัวน้อยยังมีโอกาสพัฒนา

หลังจบเป็นแพทย์ อาจารย์เริ่มทำงานในระบบสุขภาพด้วยการทำงานในสถานีอนามัยชั้นหนึ่งด้วยความสมัครใจ ก่อนจะมีนโยบายบังคับแพทย์ให้ปฏิบัติงานใช้ทุนในชนบท (ที่เริ่มในปี 2505) ก่อนสถานีอนามัยชั้นหนึ่งจะกลายเป็นโรงพยาบาลชุมชนในอีกราว 20 ปีต่อมา 

เหมือนมาก่อนกาล นอกจากเล่นบทระดับอำเภอด้วยใจสมัครก่อนมีนโยบายสองเรื่องข้างต้น เมื่อครั้งทำงานที่สถานีอนามัยชั้นหนึ่ง อาจารย์พัฒนางานสาธารณสุขในระดับอำเภอและตำบล ล้ำหน้า ไม่ได้รอกระทรวง จนกลายเป็นต้นแบบและแรงบันดาลใจ เมื่อมีนโยบายยกฐานะสถานีอนามัยชั้นหนึ่งให้เป็นโรงพยาบาล (อำเภอ) ในเวลาต่อมา

ถึงตอนนั้นอาจารย์ก็ไม่ได้ทำงานระดับอำเภอแล้ว แต่มาเป็นนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดที่มีหน้าที่ทำให้ระบบสุขภาพมีการทำงานให้ได้ดุลระหว่างการซ่อมและการสร้างสุขภาพ ตามโครงสร้างที่เกิดขึ้นในยุคปรับโครงสร้างกระทรวงสาธารณสุข (สมัยนั้นยังไม่มีใครใช้คำว่าปฏิรูปกันเกร่อเหมือนสมัยนี้) ที่ท่านอาจารย์เสม พริ้งพวงแก้วเป็นผู้ริเริ่มในปี 2516 แม้มีการเมืองความขัดแย้งในกระทรวงสาธารณสุข แต่อาจารย์ก็ตั้งหน้าทำเรื่องใหม่ๆ ดีๆ อยู่ในพื้นที่ จนกลายมาเป็นหัวหอกคนสำคัญเมื่อมีนโยบายสาธารณสุขมูลฐานที่เริ่มต้นใกล้ๆ กับช่วงการมีโรงพยาบาลอำเภอ

ก่อนจะย้ายจากการทำงานในชนบทมารับหน้าที่ในส่วนกลาง อาจารย์เป็นผู้นำสร้างรูปแบบการทำงานสุขภาพข้ามกระทรวง ที่เรียกกันว่า multisectoral collaboration ต่อมากลายเป็นแนวคิดสำคัญนานาชาติที่เรียกว่า ‘นโยบายสาธารณะเพื่อสุขภาพ’ (healthy public policies) ผ่านรูปธรรมของการสร้างความจำเป็นพื้นฐานที่ริเริ่มแนวคิดจากอาจารย์อมร นนทสุต ในช่วงปี 2525

เมื่อมาอยู่ส่วนกลาง อาจารย์ดูแลและมีส่วนร่วมในเรื่องสำคัญหลายๆ เรื่องที่เปลี่ยนแปลงระบบสุขภาพไทย ไม่ว่าจะเป็น  การริเริ่มงานเศรษฐศาสตร์สาธารณสุขและการวิจัยระบบสาธารณสุข (ที่เป็นต้นธารการสร้างศักยภาพทางวิชาการและนโยบายเกี่ยวกับระบบหลักประกันสุขภาพและการดูแลการคลังเพื่อสุขภาพต่อมาจนปัจจุบัน) หรือการผลิตแพทย์เพื่อชาวชนบทตั้งแต่ยุคเริ่มต้น

แม้หลังเกษียณ อาจารย์ก็ยังมีบทบาทมากมายในการ ‘ปฏิรูประบบสุขภาพ’ อย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องนโยบายหลักประกันสุขภาพ (ที่เกิดหลังอาจารย์เกษียณราชการไปแล้วเกือบ 10 ปี) การเปิดหลักสูตรผลิตแพทย์แนวใหม่ที่เอาคนทำงานจากระบบสาธารณสุขมาเรียนแพทย์ ต่อยอดจากการผลิตแพทย์เพิ่มเพื่อชาวชนบทที่เน้นนักเรียนชั้นมัธยมปลาย และยังเป็นคณบดีคนแรกให้กับคณะสาธารณสุข มหาวิทยาลัยนเรศวร รวมทั้งช่วยการก่อตั้งคณะแพทย์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี และมหาวิทยาลัยนราธิวาสราชนครินทร์ และเมื่อเกิด พ.ร.บ.ปฐมภูมิฯ ภายใต้รัฐธรรมนูญปี 2560 อาจารย์ก็ได้รับการแต่งตั้งเป็นกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ และยังคงชี้แนะผลักดันเรื่องสำคัญให้ระบบสุขภาพไทยพัฒนาไปอย่างต่อเนื่อง

นี่เป็นเพียงการกล่าวโดยย่อ เพื่อให้เห็นถึงชีวิตและงานของท่านอาจารย์ไพจิตร ปวะบุตร ที่ไม่เพียง ‘ข้ามยุค’ แต่จัดว่า ‘นำยุค’ อย่างแท้จริง

ผู้นำระดับสุดยอด

ในฐานะคนที่โชคดีมีโอกาสทำงานและเรียนรู้จากอาจารย์ไพจิตร ตั้งแต่เริ่มต้นทำงานในระบบสุขภาพไทยเพียงไม่กี่ปี ผมได้ประโยชน์กับตัวเองในระดับที่เรียกได้ว่าเปลี่ยนชีวิต จึงอยากสรุปสิ่งมีค่าที่เชื่อว่าน่าจะเป็นประโยชน์กับคนอื่นๆ โดยเฉพาะคนที่อาจไม่มีโอกาสรู้จักหรือเรียนรู้จากท่านอาจารย์มากมาย

‘ความมีหัวใจเพื่อเพื่อนมนุษย์’ คือเนื้อแท้ตัวตนสำคัญที่ทำให้อาจารย์เป็นผู้นำที่จัดว่าเป็นระดับสุดยอด (pinnacle leadership)

คำนี้มาจากหนังสือเรื่อง The 5 Levels Of Leadership ที่เขียนโดย John C. Maxwell ผู้มีชื่อเสียงและมีผลงานอบรมผู้นำมาแล้วกว่า 5 ล้านคนใน 126 ประเทศ

เขาแบ่งระดับความเป็นผู้นำไว้โดยให้ positional leadership เป็นระดับล่างสุด ส่วนระดับสูงสุด เรียกว่า pinnacle leadership แปลตรงตัวก็ว่า ‘ระดับสุดยอด’ แต่ขยายความว่าหมายถึงผู้นำที่สร้างผู้นำ เป็นการสร้างผ่านการสร้างแรงบันดาลใจด้วยการเป็นตัวอย่างที่ดี ที่สำคัญกว่านั้นคือแต่ละระดับไม่ขึ้นต่อกัน แปลว่า pinnacle leadership ไม่จำเป็นต้องมาจาก positional leadership แต่แน่นอนว่าถ้ามีตำแหน่งด้วยน่าจะมีผลในการเป็น pinnacle leadership ได้ ในทางตรงข้าม คนที่เป็นผู้นำโดยตำแหน่งจำนวนไม่น้อยก็ไม่สามารถไปถึงขั้นผู้นำสุดยอดได้ 

positional leader ทำให้คนอื่นทำตามเพราะ ‘ต้องทำตาม” เพราะมีอำนาจให้คุณให้โทษ แต่ pinnacle leader ทำให้ผู้คน ‘อยากทำตาม’ เพราะศรัทธาในความเป็นตัวตนของคุณ และสิ่งที่คุณมุ่งมั่นอยากทำและอยากเป็น

แม้จะเป็นเพียงความพยายามของคนแต่งที่จะทำให้หนังสือดูแปลกใหม่และเปลี่ยนความเข้าใจผิดๆ ว่าถ้าอยากเป็นผู้นำต้องมีตำแหน่ง หรือถ้าไม่มีตำแหน่งก็เรียกว่าผู้นำไม่ได้ พร้อมกับแยกแยะความเป็นผู้นำออกจากการมีตำแหน่งนำในองค์กร แต่หากสะท้อนย้อนมองการทำงานและวัตรปฏิบัติของท่านอาจารย์ไพจิตร ปวะบุตร ย่อมเห็นชัดทั้งความเป็น positional leadership และความมี pinnacle leadership ของท่านอาจารย์ได้เป็นอย่างดี

ชีวิตที่ยากลำบากคือชีวิตที่เจริญ – จูงม้าข้ามคืนเพื่ออนาคตลูก

อาจารย์ไพจิตรเป็นลูกชาวบ้าน อยู่อำเภอตระการพืชผล จังหวัดอุบลราชธานี แค่จะเรียน ม.ต้น ก็ต้องดั้นด้นเดินทาง 50 กิโลเมตรมาเรียนในตัวเมืองอุบลฯ สำหรับสมัยนี้อาจดูเป็นเรื่องเล็ก ใช้เวลาก็อาจพอๆ กับคนกรุงเทพฯ แถวชานเมืองที่ต้องตื่นเช้ามาโรงเรียนทุกวัน แต่สำหรับปี 2489 ระยะทางขนาดนี้หมายถึงการเดินทางหนึ่งวัน (ถ้าใช้ม้าและอากาศอำนวย) แต่ถ้าต้องขนข้าวขนเสบียงด้วยเกวียนต้องใช้เวลาสองวัน (นอนกลางทางหนึ่งคืน) รถเมล์ไม่มี อย่าว่าแต่รถรับจ้าง ไม่ต้องพูดถึงรถส่วนตัว (รถยนต์คันแรกของโลกเกิดปี 2425 แต่ต้องรอจน 2451 จึงมีรถราคาถูกพอให้ซื้อได้ แต่ก็เป็นที่อเมริกาเท่านั้น)

อาจารย์เล่าถึงความยากลำบากแต่เปี่ยมด้วยความรักความเป็นห่วงที่คุณพ่อมีให้กับลูกชายอายุ 12 ปี ที่เรียนชั้น ม.4 (เทียบกับปัจจุบันคือ ม.2) อยู่ที่อุบลฯ แต่ต้องกลับบ้านเพราะโรงเรียนปิดหนึ่งสัปดาห์เนื่องจากเหตุการณ์สวรรคตรัชกาลที่ 8 ในปี 2489 พอโรงเรียนเปิด คุณพ่อจึงพาลูกชายอายุ 12 ปีขี่ม้าจากตระการพืชผลเข้าไปในเมือง ส่วนตัวท่านเดินเท้าพร้อมกับรุ่นพี่สองคน (อยู่ชั้น ม.7) ที่กำลังจะกลับไปโรงเรียนที่อุบลฯ พร้อมกัน  

ทั้งหมดต้องออกเดินทางแต่เช้ามืดประมาณตีสี่ อาจารย์เท้าความทรงจำที่ยังฝังแน่น เพราะความตื้นตันในความรักของพ่อว่าเดินทางมาได้ 10 กิโลเมตรถึงหมู่บ้าน ชาวบ้านเริ่มตื่นมานึ่งข้าวส่งกลิ่นหอม พร้อมท้องฟ้าที่เริ่มจะสว่างแล้ว คุณพ่อจึงเดินกลับแล้วให้ลูกขี่ม้าไปต่อกับรุ่นพี่ที่ร่วมเดินทางกลับอุบลฯ ด้วยกัน แต่ก็ไม่ได้ง่ายกว่าจะขี่ม้าจนถึงที่หมาย ราว 10 กิโลเมตรจะถึงตัวเมืองอุบลฯ ก็ต้องฝากม้าไว้ที่ร้านค้า (เริ่มมีร้านขายก๋วยเตี๋ยวแล้วในสมัยนั้น) พร้อมจดหมายถึงเพื่อนครูเพื่อจ้างคนขี่ม้ากลับไป อ.ตระการฯ ส่วนนักเรียนทั้งสามคนก็เดินต่อถึงตัวเมือง จ.อุบลฯ ในตอนพลบค่ำ ครั้งนั้นอากาศอำนวย จึงไม่ต้องค้างแรมกลางทาง

นี่แค่การเดินทางจากบ้านมาเรียนชั้น ม.ต้น เท่านั้น นึกถึงนักเรียนแพทย์ปัจจุบันที่คงไม่มีใครมีประสบการณ์ร่วมแบบนี้ เพราะความที่บ้านเมืองพัฒนาไปมาก จะว่าดีก็คงได้ แต่น่าจะขาดประสบการณ์สำคัญในชีวิตคือการต้องมุมานะบากบั่นจึงจะได้มา ซึ่งสิ่งเป็นสิ่งที่มีความหมาย แต่สิ่งที่อาจยังไม่เปลี่ยนมากในปัจจุบันคือถ้าเป็นนักเรียนในต่างจังหวัด ถึงจุดหนึ่งก็ต้องมาแข่งกับเด็กในกรุงเทพฯ ที่มีแต้มต่อดีกว่า และนี่อาจเป็นสาเหตุหนึ่งที่อาจารย์ผลักดันสร้างโอกาสและแต้มต่อให้นักเรียนในชนบทเพื่อให้มีโอกาสได้เข้าเรียนแพทย์ โดยเชื่อว่าด้วยพื้นฐานการอยู่ในชนบทจะทำให้มีแรงบันดาลใจร่วมกันลดความเหลื่อมล้ำทางสุขภาพ เหมือนที่ท่านอาจารย์พยายามทำมาอย่างต่อเนื่องแม้เกษียณแล้ว

ไม่เคยกลัวเรื่องใหม่ๆ เรื่องยากๆ

เมื่อเริ่มทำงานในระบบสาธารณสุขในชนบท อาจารย์ไพจิตรไม่เคยอยู่นิ่งหรือทำแบบเดิมๆ จนกลายเป็นแหล่งความรู้ให้คนอื่นได้มาเรียนรู้ แม้อาจารย์จะถ่อมตนเสมอมาว่าไม่ได้เก่งกาจจนให้ใครมาเรียนด้วยหรือไปสอนใครต่อใคร แต่ความจริงก็คืออาจารย์สอนผ่านการกระทำ เป็นการสอนที่นอกจากจะเปี่ยมไปด้วยบทเรียนแต่ยังทรงพลังในการฝังรากลงลึกในตัวผู้เรียน ด้วยเป็นความรู้จากการปฏิบัติจริง ส่วนตัวอาจารย์เองก็ได้เรียนรู้ไปพร้อมกัน เป็นการเรียนรู้คนละระดับกับคนที่ได้ไปเห็นอาจารย์ลงมือทำจากของจริง

ความเป็นนักเรียนรู้ของอาจารย์ไพจิตรมีมากมายเล่าได้ไม่จบ บ่อยครั้งที่มีการประชุมหรือมีอาจารย์บรรยายแนะนำหนังสือดีๆ อาจารย์จะหามาอ่านเพิ่มเติม แม้จะมีเวลาไม่มาก เพราะอาจารย์ให้ความสำคัญกับการทำงานเพื่อแก้ปัญหาของชาวบ้านมากกว่า

ความที่มุ่งมั่นแก้ปัญหาชาวบ้าน บ่อยครั้งอาจารย์จะคิดหาวิธีการใหม่ๆ มาใช้แก้ปัญหาเสมอ โดยถือหลักว่าถ้าเป็นประโยชน์ ทำได้ก็ต้องทำ จนบางครั้งก็ได้บทเรียนที่แสนเจ็บปวด เช่นครั้งหนึ่งที่อาจารย์ให้ชาวบ้านยืมเงินบำรุงของโรงพยาบาลชุมชน (สมัยนั้นยังเป็นสถานีอนามัยชั้นหนึ่ง) ครั้งทำงานอยู่อำเภอบ้านไผ่ จังหวัดขอนแก่น เพื่อเอาไปทำส้วม ด้วยชาวบ้านอยากมีส้วมแต่ยังขาดเงินทุน 

ปรากฏว่าเมื่อ สตง. (สมัยนั้น) มาตรวจพบ จึงขอให้เอาเงินมาคืน เพราะถือเป็นการใช้เงินที่ผิดระเบียบเงินบำรุงที่บอกว่าให้ใช้ได้เฉพาะการรักษาพยาบาลคนไข้ สมัยนั้นน่าจะยังไม่รู้จักคำว่าใช้จ่ายเพื่อสุขภาพ ด้วยแนวคิดสร้างสุขภาพยังไม่แพร่หลายเหมือนเรื่องซ่อมสุขภาพ ไม่ต้องพูดถึงความเข้าใจของคนมีอำนาจตรวจตรา ซึ่งมองไม่ออกว่าการสร้างส้วมเป็นการทำเพื่อสุขภาพได้อย่างไร คงเห็นเพียงเป็นการสร้างความสะดวกหรืออาจเห็นประโยชน์เรื่อง ความสะอาด แต่ก็เห็นเพียงประโยชน์ส่วนตัวของคนมีส้วม ไม่ได้เข้าใจผลกระทบภายนอก (externality) จากการที่ประชาชนใช้ส้วมกันมากๆ แล้วจะช่วยลดหรือยับยั้งการแพร่โรคทางเดินอาหาร โดยเฉพาะโรคท้องร่วงที่มีอย่างชุกชุม และบางครั้งก็ร้ายแรงถึงขั้นเสียชีวิตหากเป็นท้องร่วงรุนแรงอย่างอหิวาตกโรค

อาจารย์ไพจิตรเล่าว่าเหตุการณ์โดนเรียกเงินคืนในครั้งนั้นทำให้อาจารย์ได้บทเรียนสำคัญว่า กฎระเบียบถ้าใช้ไม่เป็นก็เป็นการหยุดยั้งการทำเรื่องดีๆ ได้ง่ายๆ อาจารย์จึงมักส่งเสริมและชอบคนคิดนอกกรอบ ที่สำคัญคือกล้าทำนอกกรอบโดยมีผลประโยชน์ของส่วนรวมเป็นที่ตั้ง

เรื่องถูกเรียกเงินคืนเพราะเอาเงินไปช่วยชาวบ้านจนได้บทเรียนสำคัญ ทำให้ผมคิดถึงคำสอนที่มาจากประสบการณ์จริงในชีวิตของขงจื๊อ ยอดปราชญ์จีนที่รู้จักกันไปทั่วโลกและมีอิทธิพลต่อความคิดของคนจีนมานับหลายพันปีที่พูดถึงเรื่องการเรียนรู้ว่า

เรียนรู้จากการสะท้อนคิด เป็นการเรียนรู้ที่น่าชื่นชม ล้ำค่าสุดๆ

เรียนรู้จากการทำตามอย่าง เป็นการเรียนรู้ที่ง่ายสุด

เรียนรู้จากการลงมือทำ แสนยาก และเจ็บปวดสุดๆ

นักเรียนรู้และส่งเสริมการเรียนรู้

คงด้วยความเป็นคนรักการเรียนรู้ อาจารย์ไพจิตรจึงให้เวลาและให้ความสำคัญกับการส่งเสริมการเรียนรู้ ไม่ใช่เพียงด้วยการรับคนมาดูงานในพื้นที่ที่ตัวเองทำงานอยู่ (คุณหมอสุวิทย์ วิบุลผลประเสริฐ เป็นผู้หนึ่งที่มีโอกาสเยี่ยมเยียนเรียนรู้จาก อาจารย์ไพจิตรตั้งแต่สมัยก่อนออกไปทำงานในชนบท และบอกว่าอาจารย์ไพจิตรเป็นแรงบันดาลใจทำให้อยากไปทำงานในชนบท จนมั่นใจที่จะบอกกับกรรมการทุนอานันทมหิดลว่าอยากไปทำงานบ้านนอกมากกว่าไปเรียนหนังสือเมืองนอก) แต่สำหรับคนที่ทำงานด้วย ท่านก็ตั้งใจสอนงานพร้อมให้คำแนะนำดีๆ สนับสนุนให้ได้ทำเรื่องที่อยากทำ

ผมเองตัดสินใจย้ายจากสุรินทร์มาทำงานที่โคราชในปี 2524 ก็ด้วยชื่อเสียงท่านอาจารย์ที่เป็นสาธารณสุขจังหวัดนครราชสีมา ทำงานสาธารณสุขมูลฐานได้ผลดีเป็นรูปธรรมและได้เรียนรู้มากมาย ไม่ใช่เฉพาะเรื่องงานแต่ยังมีวิธีคิดและวิธีใช้ชีวิต ทั้งในเรื่องงานและครอบครัว (หลายคนได้ยินกิตติศัพท์ที่ท่านอาจารย์ดูแลคู่ชีวิตคือท่านอาจารย์รัตนาเป็นอย่างดี แม้จะมีงานแสนยุ่งวุ่นวายก็ยังจัดชีวิตให้มีสมดุล)

อาจารย์ไพจิตรสอนโดยไม่ต้องสอนแต่ด้วยการลงมือทำ หากจะยกตัวอย่างก็มีมากมาย ผมจะขอเล่าเรื่องที่อาจเคยเล่าในที่อื่นมาบ้างแล้วมารวบรวมไว้ตรงนี้เพื่อเป็นตัวอย่างถึงการสอนโดยไม่สอนสัก 2-3 เรื่อง

‘ให้เกียรติผู้อื่นก่อน อย่าเพิ่งเรื่มด้วยด้านลบ’ อาจารย์ไม่เคยพูดประโยคนี้ แต่ครั้งหนึ่งคุณหมอสมชัย ศิริกนกวิไล (หมอโต๋ หนึ่งใน ‘สี่ ส.’ โคราช ปัจจุบันเสียชีวิตไปแล้ว) มาเล่าให้ฟังว่าไปปรับทุกข์กับอาจารย์เรื่องนายอำเภอมาฝากคนเข้าทำงานเป็นลูกจ้างชั่วคราว (ผู้อำนวยการโรงพยาบาลสามารถตัดสินใจได้เอง) แต่อาจารย์บอกว่าอย่าเพิ่งไปนึกว่าเขาใช้อำนาจ เขาอาจจะมีเหตุผลที่ดีก็ได้ คุณหมอโต๋คงกลับชุมพวงแบบงงๆ เพราะคงอยากให้เจ้านายบอกให้นายอำเภออย่ามายุ่ง แต่กลับได้คำแนะนำเชิงข้อคิด ผมไม่ทราบว่าคุณหมอโต๋ไปจัดการต่ออย่างไร แต่แปลกมากที่ผมจำเรื่องนี้ได้ ติดอยู่ในสมองมานาน

เมื่อครั้งเป็นผู้อำนวยการสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข ต้องเปิดรับเจ้าหน้าที่ใหม่หลายตำแหน่ง รัฐมนตรีฝากมาสองคน ผมนึกถึงคุณหมอสมชัยที่เคยเล่าเรื่องนี้ให้ฟัง จึงตัดสินใจใช้วิธีคิดของท่านอาจารย์ที่เคยได้ยินจากหมอโต๋ ด้วยการชวนทั้งสองคนที่ได้รับการฝากมาคุยด้วย แทนที่จะเพิกเฉยหรือมองในแง่ลบ ปรากฏว่าผมได้ลูกน้องใหม่ที่ดีมาหนึ่งคนกับเพื่อนใหม่ (ที่ไม่รับเข้าทำงาน) อีกหนึ่งคน

‘ลูกน้องวิจารณ์ได้’ เรื่องเกิดขึ้นในการประชุมวิชาการสาธารณสุขมูลฐานที่จัดขึ้นที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยสถาบันวิจัยสังคม มีผู้เข้าร่วมประชุมจากหลากหลายแห่งทั้งเจ้าหน้าที่สาธารณสุข นักวิชาการทั้งด้านสังคมและสุขภาพ และแน่นอนว่า ทีมจากจังหวัดนครราชสีมา ทั้งจากโรงพยาบาลชุมชน สำนักงานสาธารณสุขอำเภอ และท่านอาจารย์ไพจิตรในฐานะนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดก็มาร่วมงานด้วย เนื่องจากเป็นการประชุมในสถาบันวิชาการ การพูดคุยจึงออกไปทางวิเคราะห์ และย่อมขาดไม่ได้คือวิจารณ์ในหลากหลายมุม จนบ่อยครั้งก็ไปถึงรูปธรรมในทางปฏิบัติ และอดไม่ได้คือวิจารณ์นโยบายและองค์กรคือกระทรวงสาธารณสุข 

คนที่วิจารณ์ส่วนใหญ่ก็เป็นทีมทำงานจากนครราชสีมาที่ถ้านับแบบราชการก็ต้องบอกว่ามาวิจารณ์เจ้านาย ซึ่งก็คือนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดในฐานะตัวแทนทางนโยบายและเป็นผู้รับผิดชอบการทำงานในรายละเอียดต่างๆ ผมสังเกตเห็น อาจารย์ไพจิตรฟังด้วยสีหน้าที่ไม่ค่อยสบายใจ แต่ก็ไม่โต้ตอบหรือแม้กระทั่งขอให้หยุดพูด (สั่งให้หยุด อาจารย์คงไม่ทำ เพราะรู้จักลูกน้องดีว่าสั่งก็ไม่ได้ผล) ในที่สุดอาจารย์ก็อธิบายเพิ่มเติมตอนท้ายและไม่ได้ออกอาการตำหนิ ที่สำคัญหลังกลับจากการประชุมก็ไม่มีการเรียกประชุมต่อเนื่องหรือเรียกใครเข้ามาต่อว่าเป็นการส่วนตัว ทั้งที่การประชุมในวันนั้นต้องนับว่า มีคนนอกอยู่แยะ จะถือว่าเป็นการฉีกหน้าเจ้านายอย่างที่ยังชอบคิดจนพาไปสู่การตามล้างกันอยู่ในระบอบอำนาจอย่างที่พอให้เห็นกันอยู่ในปัจจุบันก็ย่อมได้

ความสามารถในการฟังคำวิจารณ์จากผู้ที่มีอำนาจน้อยกว่าหรือมีฐานะด้อยกว่าในสังคมหรือในองค์กร น่าจะต้องนับเป็นความสามารถที่สุดยอดสำหรับผู้นำ และที่แน่ๆ ไม่ได้มีแค่ทนฟังได้โดยไม่โต้ตอบเท่านั้น แต่ยังรวมถึงการรับฟังสิ่งที่ไม่ถูกใจ แต่ยังได้เนื่อหาสาระที่เป็นประโยชน์ และที่สำคัญกว่านั้นไม่เอาเรื่องฐานะหรือหน้าตามาทำให้เกิดเรื่องซับซ้อนโดยไม่จำเป็น พูดง่ายๆ คือไม่ตามเช็กบิล อย่างที่ชอบใช้กันในระบบอำนาจ

อาจคล้ายกับคำกล่าวในสามก๊กที่เตือนใจว่า ‘ยาดีกินขมปาก แต่ช่วยรักษาโรคได้ คนซื่อกล่าวคำไม่เพราะหู แต่เป็นประโยชน์แก่กาลภายหน้า’ ถ้าเป็นเช่นนั้น บทเรียนแรกที่ว่าด้วยให้เกียรติผู้อื่นก่อนก็อาจเป็นฐานคิดสำคัญ ทำให้รู้จักฟังแม้จะเป็นเสียงจากผู้ใต้บังคับบัญชา

อาจารย์ไพจิตรให้เกียรติคนทุกระดับแม้จะมีฐานะสูงกว่า เป็นหมอก็ให้เกียรติคนไข้ เป็นนักสาธารณสุขก็ให้เกียรติชาวบ้าน ไม่มองว่าชาวบ้านรู้น้อยจึงทำให้มีพฤติกรรมสุขภาพที่ไม่ดี แต่มีเหตุปัจจัยมากมายทำให้ทำสิ่งที่ควรทำไม่ได้ เป็นผู้บริหารไม่ว่าจะดับไหนก็ให้เกียรติลูกทีม ให้ได้สร้างสรรค์คิดทำเรื่องที่อยากทำและเป็นประโยชน์ ไม่คิดว่าหัวหน้าใหญ่รู้ดีอยู่คนเดียว  ยิ่งกว่านั้นยังยอมรับฟังและนำคำ ‘วิจารณ์’ (ที่อาจฟังไม่เพราะหู) ไปพิจารณาใช้ประโยชน์ 

ให้เกียรติผู้อื่นก่อนย่อมได้รับเกียรติกลับคืน การเรียนรู้ก็งอกงาม

สำหรับผู้นำที่ทำเพื่อส่วนรวม เกียรติที่ได้รับไม่ใช่เพื่อหน้าตาหรือชื่อเสียงส่วนตัว แต่เป็นไปเพื่อช่วยกันทำให้เป้าหมายร่วมดีขึ้นผ่านการให้เกียรติในหลายรูปแบบ เช่น ถ้าเป็นชาวบ้านก็ให้ความไว้วางใจ (trust) รับฟังคำแนะนำ และพยายามเอามาปฎิบัติ แม้จะไม่ง่าย (ด้วยเห็นในความหวังดี) ถ้าเป็นผู้ใต้บังคับบัญชาก็ให้เกียรติด้วยการนำเอานโยบายหรือเป้าหมายงาน ไปคิดหาวิธีปฎิบัติอย่างเต็มที่ ไม่ได้ทำเพียงเพราะกลัวในอำนาจ ทำให้เกิดการสร้างสรรค์ ทำมากกว่าที่สั่ง คิดไปทำไปแก้ไป และกล้าฟีดแบ็ก เพราะรู้ว่าผู้เป็นเจ้านายเป็นคนให้เกียรติแม้กระทั่งกับผู้ใต้บังคับบัญชา

เมื่อไม่กลัวการใช้อำนาจ พื้นที่ปลอดภัยและการแลกเปลี่ยนอย่างเปิดเผยจึงเกิดขึ้น โอกาสแห่งการเรียนรู้ย่อมตามมามากมาย

เริ่มจากการให้เกียรติอย่างจริงใจ เพราะเชื่อมั่นในศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของอีกฝ่ายหนึ่ง นำไปสู่การเปิดพื้นที่แห่งการเรียนรู้ได้อย่างมากมาย เป็นความรู้สุดยอดคือปัญญาปฎิบัติที่ได้มายากเย็นด้วยต้องผ่านความยากลำบากกว่าคนหนึ่งจะเรียนรู้ได้ จึงมีค่ายิ่งหากสามารถนำไปแลกเปลี่ยนแบ่งปันให้กว้างขวาง

ผู้นำสุดยอดรู้ว่าตัวเองไม่ใช่ผู้รู้ทั้งหมด แต่หากสร้างระบบนิเวศส่งเสริมการเรียนรู้ ทำให้คนทำงานตัวจริง ผู้มากด้วยปัญญาปฏิบัติ เปิดใจ และกล้าแลกเปลี่ยนเรียนรู้ นอกจากจะเกิดวัฒนธรรมแห่งการเรียนรู้ ยังเพิ่มการเรียนรู้ของตนเอง

ที่สำคัญกว่านั้น ในแง่ของการเป็นผู้สร้างการเปลี่ยนแปลง (อันเป็นหน้าที่สำคัญของการเป็นผู้นำที่แตกต่างจากการเป็นนักจัดการที่มีหน้าที่สำคัญคือสร้างการทำงานที่เข้าเป้าอย่างมีประสิทธิภาพ) การทำอย่างที่ว่าเป็นไปตามคำจำกัดความของการเป็นผู้นำแห่งอนาคตที่บอกว่า ‘ผู้นำคือคนที่ทำให้คนอื่นอยากทำเรื่องดีๆ’

อาจารย์ไพจิตรทำเช่นที่ว่านั้นอย่างเป็นธรรมชาติ เพราะเป็นตัวตนที่แท้จริงของอาจารย์ที่พร้อมทำตัวให้ต่ำ ให้เกียรติผู้อื่น แต่กลับตรงกับตำราว่าด้วยภาวะผู้นำที่ทุกฝ่ายกำลังแสวงหา ในยุคที่โลกซับซ้อน ไม่มีคำตอบสำเร็จรูป ความรู้จากตำราล้าสมัยเร็ว แต่ต้องปรับเปลี่ยนผ่านการลงมือทำ สร้างการเรียนรู้ของแต่ละคน และสร้างการเรียนรู้ร่วมกันในหมู่ผู้ที่มีเป้าหมายร่วมกัน 

คำกล่าวหนึ่งที่อาจใช้ยืนยันความสำคัญของการอยู่ต่ำมาจาก คัมภีร์แห่งเต๋า ที่กลั่นจากความจริงในธรรมชาติบอกว่า ‘ต้นน้ำมีน้ำน้อย เพราะอยู่สูง  แม่น้ำมีน้ำมาก เพราะอยู่ต่ำ’

นั่นอาจเป็นเคล็ดลับสำคัญของการเป็นผู้นำระดับสุดยอดและเป็นผู้นำที่ไม่เคยตกยุค ทั้งในวิธีคิดของตัวเองและในหัวใจของชาวสาธารณสุขที่ยังคงใช้บริการอาจารย์ไพจิตรแม้ย่างเข้าสู่วัยชราในวันนี้

เรียนรู้จากชีวิตจริง 200 ปี

มีเรื่องราวอีกมากมายที่อยากเล่า เพื่อให้ผู้คนได้เรียนรู้จากชีวิตจริงและวัตรปฏิบัติของท่านอาจารย์ไพจิตร แต่เชื่อว่าหลายคนที่ได้อ่านหนังสือเล่มนี้ คงได้เห็นอีกหลายแง่มุมและได้เรียนรู้จากเรื่องราวที่คุณสันติสุข นักเล่าเรื่องผู้มีประสบการณ์ รวบรวมเรื่องดีๆ จากชีวิตของปูชนียบุคคลในระบบสุขภาพไทย

Andri Magnason ชาวไอซ์แลนด์ ผู้เขียนหนังสือที่พูดถึงโลกร้อน ชื่อ On Time and Water ผ่านมุมมองและเรื่องราวในชีวิตของคนไอซ์แลนด์ เคยมาเปิดตัวหนังสือเล่มนี้ในงานประชุมรางวัลเจ้าฟ้ามหิดลที่เมืองไทย บอกว่าในชีวิตคนหนึ่งคน อาจรู้เรื่องราวจริงๆ ที่เกิดขึ้นรอบๆ ตัวได้ยาวนานอย่างน้อยเกือบ 180 ปี ถ้ารู้จักฟังจากผู้คนรอบๆ ตัว เมื่อมีอายุมากขึ้น อย่างน้อยการรู้เรื่องราวชีวิตของคนที่มีอายุมากกว่าเราสัก 80 ปี เมื่อเรามีอายุ 10 ปี แล้วเรามีชีวิตต่ออีก 80 ปี ย่อมหมายถึงเรื่องราวในชีวิตจริง 170 ปี อาจช่วยให้เราเข้าใจชีวิต เข้าใจโลก และเข้าใจตัวเองได้ดีขึ้น โดยไม่ต้องมีใครมาสอนหรือมาบอก  ยิ่งถ้าได้ฟังเรื่องราวของคนที่ไปสร้างความเปลี่ยนแปลงในชีวิตผู้คน (โดยไม่ได้ตั้งใจ) อย่างท่านอาจารย์ไพจิตร ผู้เป็นนักเรียนรู้และมีส่วนร่วมในการสร้างระบบสุขภาพไทยในหลายยุค ย่อมรวมถึงเรื่องราวจากชีวิตจริงของผู้คนอีกมากมายที่จะส่งต่อมาถึงเรา แน่นอนว่าการได้พบตัวจริง เห็นตัวอย่างจากการปฏิบัติจริง ย่อมมีพลังถึงขั้นเปลี่ยนชีวิตได้อย่างที่ผมเองมีโอกาสมากว่า 40 ปีแล้ว และหวังว่าจะได้มีโอกาสต่อไปอีกนาน

                                                        สมศักดิ์ ชุณหรัศมิ์

                            ลูกศิษย์ผู้ไม่เคยจ่ายค่าเล่าเรียน แต่ได้กลับมามากมาย

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save