fbpx

ลดโทษ นาจิบ ราซัก – Whodunnit?

ภาพประกอบ: MOHD RASFAN / AFP

เอกสารแถลงการณ์ของคณะกรรมการอภัยโทษ (Pardons Board) ของรัฐบาลกลางมาเลเซีย เมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา เรื่องให้ลดโทษอดีตนายกรัฐมนตรี นาจิบ ราซัก (Najib Razak) กรณียักยอกเงินมูลค่า 42 ล้านริงกิตมาเลเซีย (ราว 315 ล้านบาท) จากบริษัท SRC International Sdn Bhd ซึ่งกระทรวงการคลังเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ สร้างเสียงวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลอย่างเผ็ดร้อนในหมู่ประชาชน โดยที่ฝ่ายค้านไม่ต้องลงมือให้เหนื่อย

ใน พ.ศ. 2563  ศาลแห่งสหพันธรัฐ (Federal Court) ตัดสินให้นาจิบผิดตามข้อกล่าวหาทุกกระทงในคดี SRC International และให้รับโทษจำคุก 12 ปี ปรับ 210 ล้านริงกิต (ราว 1,875 ล้านบาท) แม้ว่ายอดเงินของการทุจริตจะไม่ถือว่าใหญ่เมื่อเทียบกับกรณีทุจริตอื่นที่นายนาจิบเกี่ยวพัน แต่บริษัท SRC International บังเอิญเป็นบริษัทลูกหนี้ของกองทุนบำนาญการข้าราชการ (Civil Service Pension Fund) อยู่ 4,000 ล้านริงกิตมาเลเซีย (ราว 30,000 ล้านบาท) สร้างความหวาดเสียวให้ผู้เกี่ยวข้องอยู่ไม่น้อย

คำตัดสินของศาลสร้างเสียงไชโยโห่ร้องในหมู่ประชาชนผู้อยากเห็นนาจิบเข้าคุก แต่เรื่อง SRC International นั้นไม่เท่าไหร่ เพราะเรื่องสำคัญกว่าคือกรณีอภิมหาทุจริตมูลค่ากว่า 4,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือกว่า 143,000 ล้านบาท ด้วยการยักยอกเงินจากบริษัท 1MDB (One Malaysia Development Berhad) ของรัฐ ที่เขาถูกกล่าวหาว่าเป็นตัวการคู่กับนาย โล แต๊ก โจ (Low Taek Jho) นักธุรกิจรุ่นลูกผู้ที่ขณะนี้หายตัวไปจากเรดาร์ของทางการ โดยข่าวบางกระแสบอกว่าเขาอยู่สุขสบายดีที่ไหนสักแห่งในประเทศจีน ปล่อยให้ลูกพี่คือนาจิบต้องขึ้นดรงขึ้นศาลสู้คดีอยู่อีกสามคดีในขณะนี้ 

การทุจริต 1MDB และ SRC International เกิดขึ้นในช่วงที่นาจิบ ซึ่งในเวลานั้นเป็นหัวหน้าพรรคอัมโน (UMNO – United Malays National Organisation) นั่งเก้าอี้นายกรัฐมนตรีติดต่อกันสองสมัย ระหว่างปี 2552-2561 เชื่อกันว่ากรณี 1MDB เป็นหนึ่งในตัวการที่ฉุดให้เศรษฐกิจมาเลเซียตกต่ำ ค่าเงินริงกิตก็เริ่มถดถอยมานับแต่นั้น และเป็นกรณีที่สร้างความโกรธแค้นในหมู่ประชาชนจนส่งผลให้พรรคอัมโนแพ้การเลือกตั้งใน พ.ศ. 2561

แต่โมเมนต์ของความยุติธรรมผ่านมาเพื่อที่จะผ่านไป ข่าวนาจิบหายไปจากสื่อพักใหญ่ แต่ก็เริ่มกลับมาพร้อมกับกลิ่นตุๆ เมื่อจู่ๆ เว็บไซต์หนังสือพิมพ์ Utusan Malaysia ลงบทความวันที่ 30 มกราคมเรื่องนาจิบได้รับพระราชทานอภัยโทษ แต่แล้วก็ต้องรีบถอนเรื่องพร้อมทั้งลงข้อความขออภัย วันถัดมาข่าวลดโทษนาจิบข้ามพรมแดนไปออกที่สถานีโทรทัศน์ Channel News Asia ของสิงคโปร์

กระแสข่าวแพร่ไปทั่วว่าการพระราชทานอภัยโทษนาจิบอาจเป็นการทรงงานชิ้นสุดท้ายของสุลต่านอับดุลลาห์ อาห์หมัด ชาห์ (Abdullah Ahmad Shah) แห่งรัฐปะหัง ผู้ทรงดำรงตำแหน่งสมเด็จพระราชาธิบดี ที่ชาวมาเลเซียเรียกย่อๆ ว่า ‘อากุง’ (จากภาษามลายู Yamg di-Pertuan Agong) อันเป็นประมุขของประเทศ โดยพระองค์กำลังจะทรงพ้นตำแหน่งในวันที่ 30 มกราคมที่ผ่านมา และคาดว่าน่าจะมีการประกาศข่าวในวันนั้น แต่รอแล้วรอเล่าข่าวก็ไม่มา ข่าวใหญ่เพียงข่าวเดียวคือพระราชพิธีรับตำแหน่งสมเด็จพระราชาธิบดีพระองค์ใหม่ของสุลต่านอิบราฮิม อิสกาดาร์ (Ibrahim Iskandar) แห่งรัฐยะโฮร์  

รัฐบาลรวมทั้งนายกรัฐมนตรี อันวาร์ อิบราฮิม (Anwar Ibrahim) มีท่าทีก้ำกึ่งต่อคำถามของสื่อมวลชนมาแล้วหลายวัน จนกระทั่งวันที่ 2 กุมภาพันธ์ คำเฉลยก็ออกมาในรูปแถลงการณ์หนึ่งหน้ากระดาษของคณะกรรมการอภัยโทษ ประกาศลดโทษอดีตนายกรัฐมนตรีนาจิบ ราซัก จากโทษจำคุก 12 ปีเหลือ 6 ปี และลดจำนวนเงินปรับจาก 210 ล้านริงกิตเหลือ 50 ล้านริงกิต ซึ่งเป็นผลจากการประชุมวันที่ 29 มกราคม หนึ่งวันก่อนที่สมเด็จพระราชาธิบดี อับดุลลาห์ อาห์หมัด ชาห์ จะทรงพ้นตำแหน่ง

ทันใดราวกับเปิดสวิตช์ เสียงวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลก็กระหน่ำทั่วโลกออนไลน์ ยอดผู้อ่านที่เข้าแสดงความเห็นในเว็บไซต์หนังสือพิมพ์ออนไลน์ Malaysiakini.com ซึ่งมีผู้เข้าชมสูงสุดของประเทศพุ่งสูงกว่า 1,000 ความเห็นซึ่งเป็นยอดสูงสุดเท่าที่เคยมีมา ส่วนใหญ่เป็นประชาชนผู้สนับสนุนแนวทางปฏิรูปการเมืองที่นายกรัฐมนตรี อันวาร์ อิบราฮิม และพรรค PKR (Parti Keadilan Rakyat) ของเขา ประกาศเป็นอุดมการณ์หลักของพรรค มาครั้งนี้ อันวาร์ผู้ที่เพิ่งประกาศกร้าวเรื่องการปราบทุจริตไปไม่นานทำท่าจะตกม้าตายกลางเวทีเพราะเรื่องนาจิบ

การไม่เปิดเผยกระบวนการตัดสินของคณะกรรมการอภัยโทษนำไปสู่คำถามมากมาย ที่สำคัญที่สุดคือคำถามที่ว่า ใครกันแน่คือผู้รับผิดชอบผลการลดโทษครั้งนี้ ระหว่างสมเด็จพระราชาธิบดีกับรัฐบาล ดูเหมือนว่า นายกฯ อันวาร์จะพยายามถวายเครดิตให้กับอากุงมากกว่ารัฐบาล เขากล่าวในการประชุมที่สำนักนายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 5 กุมภาพันธ์ว่าการตัดสินใจลดโทษนาจิบครั้งนี้ เป็นการตัดสินใจที่ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของผู้ปกครอง (the Ruler หรือสมเด็จพระราชาธิบดี) เป็นพระราชอำนาจที่มีมาตั้งแต่การประกาศเอกราช “เราไม่สามารถเรียกร้องคำอธิบายจากคณะกรรมการฯ ซึ่งสมเด็จพระราชาธิบดีทรงเป็นองค์ประธานและทรงให้คำวินิจฉัยได้” เขากล่าวในที่ประชุม

ชะรอยฟ้าดินจะส่งบททดสอบให้นายกฯ อันวาร์มาให้อีกครั้งหนึ่งในรูปของผลตัดสินของคณะกรรมการอภัยโทษ ในฐานะผู้นำที่ต้องประคองนาวาแนวร่วมรัฐบาลไม่ให้ล่ม อันวาร์ผู้เชี่ยวชาญในการประสานรอบทิศไม่อาจขัดใจใครได้เลย เขาไม่อาจแสดงความเห็นแตกต่างจากอากุงพระองค์เก่าที่เสด็จกลับวังที่ปะหังไปเรียบร้อยแล้ว ปล่อยให้เขาอยู่กับความไม่พอใจรอบด้าน ทั้งในหมู่ประชาชนผู้สนับสนุนที่กำลังโกรธจัด ในพรรคอัมโนที่เป็นพรรคแกนนำร่วมรัฐบาล ซึ่งนักการเมืองหลายคนกำลังไม่พอใจที่นาจิบอดีตหัวหน้าพรรคมือจ่ายฉายา ‘บอสกู’ (Bossku) ไม่ได้รับอภัยโทษเต็มรูป

ดูเหมือนว่าคำอธิบายของอันวาร์ยังไม่พอสำหรับชาวบ้าน มีเสียงเรียกร้องให้รัฐบาลเปิดเผยกระบวนการตัดสินใจของคณะกรรมการอภัยโทษให้เห็นกันจะๆ ว่าใครมีความเห็นกันว่าอย่างไรกันแน่ คณะกรรมการชุดนี้ประกอบด้วยสมาชิก 6 ราย โดยมีสมาชิกประจำตามตำแหน่งคือ สมเด็จพระราชาธิบดีซึ่งทรงเป็นประธาน รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีแห่งสหพันธรัฐ (Federal Territory Minister) อัยการสูงสุด และมีสมาชิกเฉพาะกิจอีก 3 ราย

รัฐบาลและคณะรัฐมนตรีมีจุดยืนให้ยึดตามมาตรา 42 (1) ของรัฐธรรมนูญที่ระบุว่าสมเด็จพระราชาธิบดีทรงมีพระราชอำนาจในการพระราชทานอภัยโทษ ลดโทษ และผ่อนปรนความผิดทั้งหมดที่เกิดขึ้นในดินแดนสหพันธรัฐ เป็นหลักการที่นายกฯ อันวาร์ ยึดในการชี้แจงกระบวนการอภัยโทษครั้งนี้ ถ้าจะมองในมุมของอันวาร์ การอ้างรัฐธรรมนูญและถวายความรับผิดชอบให้อากุงน่าจะเป็นวิธีระงับเสียงวิพากษ์วิจารณ์จากทุกฝ่ายและลดแรงกดดันต่อรัฐบาลได้ดีที่สุด 

ขณะเดียวกับที่ชาวบ้านกำลังไม่พอใจกับคำอธิบายแค่นี้ ก็เริ่มมีเสียงติติงจากนักกฎหมายหลายราย โดยเฉพาะอย่างยิ่งสภาทนายความ ที่ออกมายืนยันว่า ตามรัฐธรรมนูญแล้ว คณะกรรมการอภัยโทษนั้นมีบทบาทมากกว่าไม้ประดับ เพราะรัฐธรรมนูญยังมีมาตรา 40 (1) ที่ระบุว่าสมเด็จพระราชาธิบดีต้องทรงมีพระราชวินิจตามข้อเสนอของคณะกรรมการฯ ต่างหาก

เรื่องชักจะสนุกเมื่อซาลีฮา มุสตาฟา (Zaliha Mustafa) รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีฯ หนึ่งในคณะกรรมการอภัยโทษ ผู้ถูกนักการเมืองพรรค MUDA โจมตีให้ออกจากตำแหน่งเนื่องจากการตัดสินครั้งนี้ อดรนทนไม่ได้ออกมาให้สัมภาษณ์ว่าการตัดสินใจลดโทษนาจิบเป็นการตัดสินใจร่วมกันของคณะกรรมการฯ เหตุไฉนจึงมาลงที่เธอคนเดียว.. สิ่งที่เธอพูดน่าสนใจเป็นยิ่งนัก เพราะเท่ากับเผยกระบวนการตัดสินใจของคณะกรรมการฯ ที่แตกต่างกับคำอธิบายของอันวาร์น่ะสิ

เรื่องชักจะชัดเจนขึ้นเมื่อโมฮัมหมัด ชาฟี อับอุลลาห์ (Mohamad Shafee Abdullah) ทนายความของนาจิบ ออกแถลงข่าวพร้อมโบกสะบัดกระดาษแผ่นหนึ่งในมือที่เขาอ้างว่าเป็นจดหมายจากคณะกรรมการอภัยโทษที่ส่งถึงนาจิบ เขียนโดยซาลีฮา รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และมีพระราชลัญจกรของสมเด็จพระราชาธิบดีประทับอยู่ เขาอ่านจดหมายต่อหน้าสื่อมวลชน มีข้อใหญ่ใจความสรุปได้ว่า ในการประชุมคณะกรรมการอภัยโทษเมื่อวันที่ 29 มกราคม คณะกรรมการฯ ได้ถวายคำแนะนำให้สมเด็จพระราชาธิบดีว่าสมควรให้นาจิบรับโทษตามที่ศาลได้ตัดสินโดยไม่มีการลดโทษใดๆ อย่างไรก็ตาม จดหมายเขียนไว้ว่า “พระองค์ทรงมีพระดำริว่ามีเหตุผลสมควรให้แสดงความเมตตาต่อนาจิบ” และทรงใช้พระราชอำนาจตามมาตรา 42 ของรัฐธรรมนูญและพระราชอำนาจอื่นๆ โปรดให้ลดโทษจำคุกและโทษปรับดังกล่าว

ไม่มีใครรู้ว่าทนายซาฟีมีจุดประสงค์อันใดที่เอาคอขึ้นเขียงนำเอกสารลับของทางราชการมาเปิดเผย ซึ่งถือว่าผิดกฎหมายมาเลเซีย แต่ในการแถลงข่าว เขาประกาศว่านาจิบ ราซัก จะเดินหน้าขอพระราชทานอภัยโทษต่อสุลต่านอิบราฮิม สมเด็จพระราชาธิบดีพระองค์ใหม่แน่นอน และยืนยันสิ่งที่แหล่งข่าวที่เชื่อถือได้ที่สุดได้บอก ซึ่งตนเองก็เชื่อมั่นว่าสมเด็จพระราชาธิบดีพระองค์เก่ามีพระประสงค์จะพระราชทานอภัยโทษแก่นาจิบอย่างเต็มรูป แต่ในการประชุมวันนั้น พระองค์ทรงต้องการความแน่พระทัย จึงโปรดให้กรรมการไม่ถาวรฯ ลงคะแนนลับในกระดาษว่าเห็นด้วยหรือไม่กับการพระราชทานอภัยโทษนาจิบอย่างเต็มรูปแบบ จึงนำไปสู่ผลการตัดสินดังกล่าว ซึ่งเป็นกระบวนการที่ตรงข้ามกับคำกล่าวอ้างอื่นๆ ที่บอกว่าอากุงทรงเป็นผู้ตัดสินพระทัยแต่พระองค์เดียว 

คณะกรรมการอภัยโทษกรณีนาจิบอาจเป็นเวทีประลองกำลังอย่างนิ่มๆ ระหว่างสถาบันพรรคการเมืองกับสถาบันสุลต่านที่ลงเอยด้วยการประนีประนอมแบบพบกันครึ่งทาง ไม่ว่านายกฯ อันวาร์จะพูดต่อสาธารณะอย่างไร แต่เนื้อหาของจดหมายที่ทนายซาฟีนำมาเปิดเผยก็แสดงว่ารัฐบาลอันวาร์มีจุดชัดเจนที่จะไม่ให้อภัยโทษหรือลดโทษ และคณะกรรมการก็ไม่ได้ปล่อยให้พระองค์ทรงมีพระราชวินิจเพียงลำพัง ในบริบทการเมืองมาเลเซีย การพบกันครึ่งทางของเหล่าอีลีท (elite) หรือชนชั้นนำทางการเมืองถือเป็นปรากฏการณ์ใหม่ที่เพิ่งเกิดขึ้นราว 4-5 ปีมานี้ นั่นคือภาวะที่การเมืองมาเลเซียขับเคลื่อนโดยสถาบันสำคัญสองสถาบันข้างต้น 

ระบบพรรคการเมืองมาเลเซียเคยเติบโตแข็งแรงอย่างไร้สถาบันคู่แข่งมายาวนานกว่าหกทศวรรษหลังการประกาศเอกราช ในช่วงกลางทศวรรษ 1950s เมื่อเจ้าอาณานิคมอังกฤษกำลังจะถอนตัวออกจากมลายา พรรคอัมโน (UMNO – United Malays National Organisation) ได้รับการสนับสนุนจากอังกฤษให้รับช่วงปกครองประเทศต่อ อัมโนครองตำแหน่งผู้นำแนวร่วมพรรครัฐบาลตลอดกาล สะสมฐานเสียงและความมั่งคั่งมายาวนานตลอดหกทศวรรษ จนกระทั่งมาพังพินาศอย่างไม่น่าเชื่อในการเลือกตั้งทั่วไป พ.ศ. 2561 ส่วนหนึ่งเป็นเพราะกรณีทุจริต 1MDB ที่ลงมือโดยนายกรัฐมนตรีนาจิบ ราซัก และผู้สมรู้ร่วมคิดในขณะนั้น

ความพังของพรรคอัมโนหลังปี 2561 ส่งผลให้ระบบพรรคการเมืองมาเลเซียก็เปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิง จากวิถีปฏิบัติที่พรรคการเมืองจับขั้วเป็นแนวร่วมรัฐบาลกับแนวร่วมฝ่ายค้านอย่างถาวรยาวนาน การที่ไม่มีพรรคใดใหญ่พอที่จะรวบรวมเสียงข้างมากได้ชัดเจนพอในการจัดตั้งรัฐบาล พรรคการเมืองและนักการเมืองใหญ่น้อยหันมาดิ้นรนต่อรองย้ายขั้ว ไม่มีมิตรแท้และศัตรูถาวร โดยเฉพาะอย่างยิ่งอดีตพรรคร่วมรัฐบาล จะเว้นก็แต่พรรคที่มีความขัดแย้งกันด้านอุดมการณ์อย่างไม่อาจยอมรับกันและกันได้ รัฐบาลอันวาร์ในวันนี้จึงเป็นผลของการจับมือระหว่างอดีตแนวร่วมพรรคฝ่ายค้านภายใต้การนำของเขากับพรรคอัมโนศัตรูเก่า 

ระบบพรรคการเมืองมาเลเซียอาจจะเปลี่ยนไป แต่นักการเมืองกับสายสัมพันธ์เก่าๆ ไม่เคยเปลี่ยน แม้ว่ามาเลเซียเริ่มมีนักการเมืองหน้าใหม่วัย 40–50 ปีเข้ามามีบทบาทในตำแหน่งรัฐมนตรี แต่การตัดสินใจทางการเมืองยังอยู่ในมือของคนรุ่น 70 ปีขึ้นไปที่ล้วนมีความหลังที่เกี่ยวโยงซึ่งกันและกัน เช่นนายกรัฐมนตรี อันวาร์ หัวหน้าพรรค PKR (Parti Keadilan Rakyat) แกนนำรัฐบาลและแชมเปียนอุดมการณ์ปฏิรูปการเมือง ครั้งหนึ่งเมื่อเขาเริ่มต้นชีวิตนักการเมืองที่พรรคอัมโน สหายสนิทของเขาคือ อาห์หมัด ซาอีด ฮามีดี (Ahmad Zahid Hamidi) ประธานพรรคอัมโน ผู้ที่กลับมาจับมือตั้งรัฐบาลและรับตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรีคนปัจจุบัน ไม่มีใครรู้ว่าอันวาร์กับซาฮีดสัญญากันหรือไม่อย่างไรในเรื่องอภัยโทษนาจิบ คำถามนี้ยังตะหงิดอยู่ในใจของประชาชนผู้สนับสนุนเขาอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน 

เมื่อสถาบันพรรคการเมืองอ่อนแอลง สถาบันสุลต่านก็เพิ่มบทบาทอย่างไม่เคยเป็นมาก่อน เป็นเรื่องบังเอิญอย่างยิ่งที่หนึ่งปีหลังอัมโนพ่ายแพ้เลือกตั้ง สมเด็จพระราชาธิบดี อับดุลลาห์ อาห์หมัด ชาห์ จากรัฐปะหังทรงเข้ารับตำแหน่งประมุขของประเทศ ไม่มีใครคาดคิดมาก่อนว่าอากุงพระองค์นี้จะทรงมีวิธีการที่ไม่เหมือนสุลต่านพระองค์ใดในการมีพระราชวินิจฉัยยามที่วิกฤตการเมืองเรียกร้องซึ่งมักจะเกิดขึ้นบ่อยๆ เวลาห้าปีที่พระองค์ทรงเป็นประมุขของประเทศ หัวกระไดของ Istana Negara หรือพระราชวังหลวงไม่เคยแห้ง เพราะเหล่านักการเมืองทุกขั้ววิ่งเข้าวิ่งออกทุกครั้งที่มีวิกฤต เป็นเหตุให้สุลต่าน อับดุลลาห์ ทรงเป็นอากุงในยุคที่มาเลเซียเปลี่ยนตัวนายกรัฐมนตรีมากที่สุดคือสี่คน และสามในสี่คนนั้นมาจากพระราชวินิจฉัยของพระองค์

ก่อนที่ผลการประชุมคณะกรรมการอภัยโทษจะประกาศอย่างเป็นทางการ กระแสข่าวพระราชทานอภัยโทษ นาจิบ ราซัก สร้างการคาดคะเนไปต่างๆ นานา เพราะแม้นาจิบนั้นจะโกงจนนำภาพลักษณ์อื้อฉาวของมาเลเซียออกสู่สายตาของชาวโลก แต่ในมาเลเซีย เขาเป็นชนชั้นนำระดับไม่ธรรมดา ในฐานะอดีตหัวหน้าพรรคอัมโนที่ควักกระเป๋าจ่ายอย่างไม่อั้น และเชื่อว่ายังมีกระสุนสำรองพร้อมจ่ายอยู่มหาศาลจากเงินทุจริต 1MDB ที่รัฐตามทวงไม่ได้เสียที ยิ่งไปกว่านั้น เขายังมีเชื้อเจ้าจากรัฐปะหัง บ้านเดียวกันกับอดีตสมเด็จพระราชาธิบดีอับดุลลาห์ และความสัมพันธ์ระหว่างครอบครัวนาจิบกับพระราชวังปะหังก็มีมาตั้งแต่อากุงยังทรงเป็นมกุฏราชกุมารของรัฐ 

เมื่อวันที่ 28 พฤษภาคม 2560 เว็บไซต์ Sarawak Report ซึ่งเป็นเว็บไซต์ที่เริ่มตีแผ่การทุจริตกรณี 1MDB เป็นรายแรกในมาเลเซียได้รายงานข้อกล่าวหาว่านาจิบได้ถวายเงินจำนวน 2 ล้านริงกิตมาเลเซีย (ราว 15 ล้านบาท) จากบัญชีที่เกี่ยวข้องกับ 1MDB ให้แก่พระราชบิดาของพระองค์คือสุลต่าน อาห์หมัด ชาห์ อิบนี อัลมาอุม สุลต่าน อาบู บาการ์ (Ahmad Shah Ibni Almarhum Sultan Abu Bakar) อดีตสมเด็จพระราชาธิบดีและอดีตสุลต่านรัฐปะหัง ผู้ทรงล่วงลับไปแล้ว แม้ว่าข้อกล่าวหานี้ยังไม่ได้รับการพิสูจน์ตามกฎหมายว่าจริงหรือไม่ แต่ภาพถ่ายนางรอสมาห์ มานโซร์ (Rosmah Mansor) ร่วมร้องคาราโอเกะกับสุลต่านและพระชายาในพระราชวังปะหัง แสดงถึงความคุ้นเคยระหว่างครอบครัวเป็นอย่างยิ่ง สรุปได้ว่านาจิบ ราซัก เป็นดับเบิลอีลีท คือรวมเอาความเป็นเชื้อเจ้าและนักการเมืองระดับอดีตนายกรัฐมนตรีเข้าด้วยกัน

ฝันร้ายของหลายฝ่ายในเวลานี้คือนาจิบ ราซัก จะรอดคดี 1MDB ทั้งสามคดีที่อยู่ระหว่างการพิจารณาในศาล ได้รับพระราชทานอภัยโทษเต็มรูปแบบออกมาใช้เงินที่โกงมาอัดฉีดพรรคอัมโนและทิ้งแนวร่วมปากาตัน ฮาราปัน (Pakatan Harapan) ไว้ข้างทาง ทุบระบบยุติธรรมของประเทศที่ถูกชาวบ้านวิจารณ์ว่าย่ำแย่อยู่แล้วให้พังพินาศ ในขณะที่เงิน 1MDB กว่า 140,000 ล้านบาทหายไปกับสายลม 

ไม่มีข้อสงสัยเลยว่านาจิบและพลพรรคจะทำทุกอย่างเพื่อให้ฝันร้ายนี้กลายเป็นจริง


เอกสารประกอบ

https://www.thestar.com.my/news/nation/2024/02/05/respect-pardons-board039s-decision-to-commute-najib039s-sentence-anwar-reiterates

https://www.malaysiakini.com/news/695167

https://www.malaysiakini.com/news/695613

https://www.nst.com.my/news/crime-courts/2024/02/1010712/shafee-says-al-sultan-abdullah%C2%A0was-thinking-full-pardon%C2%A0nsttv

https://www.sarawakreport.org/2017/05/najib-paid-pahang-sultan-rm2-million-out-of-1mdb-account-major-exclusive/

MOST READ

World

1 Oct 2018

แหวกม่านวัฒนธรรม ส่องสถานภาพสตรีในสังคมอินเดีย

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก สำรวจที่มาที่ไปของ ‘สังคมชายเป็นใหญ่’ ในอินเดีย ที่ได้รับอิทธิพลสำคัญมาจากมหากาพย์อันเลื่องชื่อ พร้อมฉายภาพปัจจุบันที่ภาวะดังกล่าวเริ่มสั่นคลอน โดยมีหมุดหมายสำคัญจากการที่ อินทิรา คานธี ได้รับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกในประวัติศาสตร์

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก

1 Oct 2018

World

16 Oct 2023

ฉากทัศน์ต่อไปของอิสราเอล-ปาเลสไตน์ ความขัดแย้งที่สั่นสะเทือนระเบียบโลกใหม่: ศราวุฒิ อารีย์

7 ตุลาคม กลุ่มฮามาสเปิดฉากขีปนาวุธกว่า 5,000 ลูกใส่อิสราเอล จุดชนวนความขัดแย้งซึ่งเดิมทีก็ไม่เคยดับหายไปอยู่แล้วให้ปะทุกว่าที่เคย จนอาจนับได้ว่านี่เป็นการต่อสู้ระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ที่รุนแรงที่สุดในรอบทศวรรษ

จนถึงนาทีนี้ การสู้รบระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ยังดำเนินต่อไปโดยปราศจากทีท่าของความสงบหรือยุติลง 101 สนทนากับ ดร.ศราวุฒิ อารีย์ ผู้อำนวยการศูนย์มุสลิมศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถึงเงื่อนไขและตัวแปรของความขัดแย้งที่เกิดขึ้น, ความสัมพันธ์ระหว่างอิสราเอลและรัฐอาหรับ, อนาคตของปาเลสไตน์ ตลอดจนระเบียบโลกใหม่ที่ก่อตัวขึ้นมาหลังยุคสงครามเย็น

พิมพ์ชนก พุกสุข

16 Oct 2023

World

9 Sep 2022

46 ปีแห่งการจากไปของเหมาเจ๋อตง: ทำไมเหมาเจ๋อตง(โหด)ร้ายแค่ไหน คนจีนก็ยังรัก

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์ เขียนถึงการสร้าง ‘เหมาเจ๋อตง’ ให้เป็นวีรบุรุษของจีนมาจนถึงปัจจุบัน แม้ว่าเขาจะอยู่เบื้องหลังการทำร้ายผู้คนจำนวนมหาศาลในช่วงปฏิวัติวัฒนธรรม

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

9 Sep 2022

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save