fbpx

ชายโขงเชียงรายยามสายน้ำพยศ (1) : วิถีประมงในวิกฤต ใต้ลิขิต ‘เขื่อนไฟฟ้า’

“ช่วงนี้ทำงาน ไม่มีเวลาหาปลา ขออภัยด้วยที่มาไม่เจอใคร”

ข้อความบนแผ่นกระดานดำที่แขวนอยู่บนเสาของเพิงขายปลาเล็กๆ แห่งหนึ่งริมแม่น้ำโขง ในจังหวัดเชียงราย ทำให้เราที่ตั้งใจตื่นแต่เช้าตรู่มาศึกษาวิถีชาวประมงบริเวณนั้น ต้องชะงักและผิดหวังทันทีที่เดินทางมาถึง

เมื่อก้าวเท้าไปประชิดริมน้ำโขงอีกนิดหนึ่ง ภาพที่ปรากฏต่อเรามีเพียงเรือกาบที่จอดเรียงรายริมน้ำอย่างนิ่งสนิท พร้อมอุปกรณ์หาปลานานาชนิดที่วางกระจัดกระจายโดยรอบ แต่กลับไร้ซึ่งผู้คนอื่นใดตรงนั้นนอกจากพวกเรา

“เมื่อก่อนไม่เป็นแบบนี้” พี่นพ (นพรัตน์ ละมุล) และลุงจักร (จักร กินีสี) จากกลุ่มรักษ์เชียงของ ผู้พาเราเดินทางไปตรงนั้น บอกกับเราเป็นเสียงเดียวกันถึงภาพที่ได้เห็น

จุดที่เรายืนอยู่ ณ ตอนนั้น คือชุมชนบ้านสบกก ในตำบลบ้านแซว อำเภอเชียงแสน จังหวัดเชียงราย ที่นี่คือชุมชนชาวประมงพื้นบ้านเล็กๆ ที่สืบทอดต่อกันมาหลายชั่วรุ่น หากสถานการณ์เป็นไปตามปกติ เราต้องได้เห็นชาวบ้านจำนวนหนึ่งออกมาล่องเรือหาปลาตามลำน้ำ และนำปลาที่ถูกจับได้สดๆ มาขายบนเพิงไม้ริมแม่น้ำดังกล่าวที่เราได้เห็น แต่วันนั้นกลับเป็นโชคร้ายที่เราไปไม่ถูกวัน

“แต่ก่อน แม่น้ำโขงมีปลาเยอะ ชาวบ้านมาจับปลากันตลอด ไม่มีวันไหนที่มาประกาศหยุดหาปลากันแบบนี้ เพราะเดี๋ยวนี้เขาหาปลากันไม่ค่อยได้แล้ว หลายคนเลยไปทำงานอย่างอื่นกัน คนที่ทำประมงก็น้อยลงไปเยอะ” ลุงจักรอธิบายให้เราฟัง

งานวิจัยของชาวบ้านริมโขง จังหวัดเชียงราย (2566) ให้ข้อมูลว่า ก่อนปี 2558 ที่ชุมชนบ้านสบกกแห่งนี้เคยมีคนหาปลาอยู่ 80 ราย แต่ในปัจจุบันกลับลดลงจนเหลือเพียง 13 ราย และมีเรือหาปลาเพียง 13 ลำเท่านั้น เป็นข้อมูลที่ทำให้เราเห็นภาพชัดเจนว่าในชั่วเวลาเพียงไม่กี่ปี วิถีชีวิตของหมู่บ้านประมงแห่งนี้เปลี่ยนแปลงไปเพียงใด

อย่างไรก็ตาม การเปลี่ยนผันของวิถีชุมชนไม่ได้เกิดขึ้นแค่กับชาวบ้านสบกกเท่านั้น หากแต่นี่เป็นเพียงภาพสะท้อนหนึ่งของการเปลี่ยนแปลงที่กำลังขึ้นตลอดลำน้ำโขงในพื้นที่จังหวัดเชียงราย

กุ้งหอยปูปลาลดลง วิถีประมงเลือนหาย

“ผมเกิดที่นี่ โตที่นี่ ทำประมงมาตั้งแต่อายุ 11-12 จนถึงปัจจุบัน ที่นี่ติดแม่น้ำโขงกับแม่น้ำอิง ทำให้การประมงเป็นตัวสร้างรายได้หลักของหมู่บ้าน เมื่อก่อนนี้คนในหมู่บ้านประมาณ 90 เปอร์เซ็นต์ทำประมงกัน เรือหาปลามีอยู่ 70-80 ลำ เมื่อก่อนมันมีปลาเยอะ หาอย่างไรมันก็ได้ แต่จนเข้าปี 2545-2547 ปลาก็เริ่มทยอยหายไป คนก็ทยอยเลิกทำประมง เรือหาปลาเฉพาะหมู่บ้านนี้ในปัจจุบันก็เหลือแค่ 11-12 ลำ”

สมบูรณ์ อินทรวงค์ ผู้ทำอาชีพประมงในลุ่มน้ำโขงมากว่า 50 ปี จวบจนมีอายุ 62 ปีในปัจจุบัน เล่าถึงสภาพปัจจุบันของวิถีประมงบ้านปากอิงใต้ หมู่ 16 ในตำบลศรีดอนชัย อำเภอเชียงของ จังหวัดเชียงราย อันเป็นถิ่นเกิดของสมบูรณ์เอง และถือเป็นแหล่งทำประมงพื้นบ้านสำคัญอีกแหล่งหนึ่งของเชียงราย

“ปลาที่เราเคยเห็น เนื้อนิ่มๆ อร่อยๆ หายไปเยอะ อย่างปลาฝาไล ที่ภาษากลางเรียกว่าปลากะเบน ก็หายไปตอนไหนไม่รู้ตัวเลย หรือพวกปลามง และปลาฝาออง ก็หายไปทั้งคู่” สมบูรณ์เล่าต่อ

สมบูรณ์ อินทรวงค์

การลดลงของปลาตลอดจนสัตว์น้ำอื่นๆ ในแม่น้ำโขงทำให้ชาวประมงในหมู่บ้านนั้น รวมถึงสมบูรณ์ ไม่อาจมีรายได้จากการประมงที่มั่นคงอย่างแต่เก่าก่อน การจะจับปลาได้มากน้อยแค่ไหนในแต่ละวันนั้นขึ้นกับโชควาสนา ชาวประมงในหมู่บ้านหลายคนจึงจำเป็นต้องหารายได้ทางอื่นเพิ่มเติม ตัวสมบูรณ์เองก็ต้องอาศัยการปลูกพืชผักสวนครัวริมแม่น้ำโขง เช่น ข้าวโพด มะเขือ มะละกอ เป็นรายได้อีกทางหนึ่ง ขณะที่ชาวบ้านอีกหลายคนตัดสินใจละทิ้งอาชีพประมง ออกจากบ้านไปทำอาชีพอื่น สิ่งที่เกิดขึ้นนี้ได้ทำให้วิถีชีวิตแบบพึ่งพาตัวเองและธรรมชาติ รวมถึงโครงสร้างสังคมของบ้านปากอิงใต้ เปลี่ยนแปลงไปอย่างไม่หวนกลับ

“แต่ก่อน จากที่คนที่อยู่ดั้งเดิมพูดกัน สมมติวันนี้เราอยากกินต้มปลาหรือลาบปลา เราเป็นพ่อบ้านก็อาจจะบอกให้แม่บ้านเตรียมของไว้ เขาก็ลงไปจับปลากันแปบเดียวก็ได้แล้ว ไม่ถึงห้านาที เอามาประกอบอาหารได้ ได้กินแล้ว แต่ทุกวันนี้มันไม่ใช่ บางคนต้องลง (จับปลา) เป็นอาทิตย์ บางคน 2-3 อาทิตย์ บางคนเป็นเดือน ก็จับไม่ได้สักตัว คนที่นี่เลยเปลี่ยนแปลงอาชีพจากเดิมที่ทำประมงเป็นหลัก มาทำอาชีพเกษตร บางคนก็ไปรับจ้าง ทำงานก่อสร้าง บางคนก็ย้ายถิ่นฐานไปทำงานต่างจังหวัด ทำให้ชุมชนเราทุกวันนี้ไม่ค่อยมีคนวัยทำงานและเยาวชน ส่วนมากที่อยู่ตอนนี้เป็นผู้สูงอายุวัย 50 ขึ้นเกือบทั้งหมด กลายเป็นชุมชนสูงวัย ต่อไปก็อาจจะกลายเป็นชุมชนที่ถูกลืมไป” มานพ มณีรัตน์ ผู้ใหญ่บ้านปากอิงใต้ เล่าถึงความเปลี่ยนแปลงของหมู่บ้านให้ฟัง ทำให้เห็นว่าความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นนี้ลงลึกไปถึงระดับฐานรากของสังคม

มานพ มณีรัตน์

ถัดจากบ้านปากอิงใต้ขึ้นไปทางเหนือประมาณ 11 กิโลเมตร บ้านหาดไคร้ ในตำบลเวียง อำเภอเชียงของ ก็เป็นชุมชนริมโขงอีกแห่งหนึ่งที่กำลังเผชิญความเปลี่ยนแปลง 

‘ไก’ สาหร่ายน้ำในความผันผวนของกระแสธาร

ในยามย่ำรุ่งกลางอากาศหนาวปลายเดือนมกราคม ขณะที่ดวงตะวันค่อยๆ โผล้พ้นขอบฟ้า เราเห็นชาวบ้านหาดไคร้กลุ่มเล็กๆ ไม่ถึง 10 คน ยืนก้มๆ เงยๆ กลางแม่น้ำโขง ขณะที่เรายืนมองไกลๆ จากเนินดินริมฝั่งน้ำนั้น ชาวบ้านก็เดินเข้ามาบริเวณนั้นเพิ่มขึ้นทีละคนสองคน เพื่อจะเดินลุยสายน้ำเชี่ยวกรากไปยังจุดที่เหล่าผู้มาถึงก่อนหน้ายืนอยู่ พวกเขาบอกกับเราว่ากำลังจะเดินไปตรงนั้นเพื่อเก็บ ‘ไก’

ไกคือสาหร่ายน้ำจืดเส้นสีเขียวยาวที่พบมากตามหินในแม่น้ำโขง เป็นอาหารชั้นดีของทั้งคนทั้งสัตว์น้ำ การมีอยู่ของไกถือเป็นตัวบ่งชี้ว่าระบบนิเวศลำนำโขงนั้นช่างอุดมสมบูรณ์ เพราะการที่ไกจะขึ้นในแหล่งน้ำใดแหล่งน้ำหนึ่งได้นั้นไม่ใช่เรื่องง่าย ต้องอาศัยสภาวะแวดล้อมหลายอย่างที่เอื้ออำนวย ทั้งน้ำที่ต้องใสสะอาด กระแสน้ำที่ต้องไหลเอื่อยไม่แรงเกินไป แดดต้องส่องถึง อุณหภูมิต้องพอเหมาะ และที่สำคัญ ไกยังอ่อนไหวมากต่อมลภาวะ หากแม่น้ำปนเปื้อน ไกก็ไม่สามารถขึ้นมาได้ สำหรับชาวบ้านริมโขงในเชียงราย ไกจึงถือเป็นสินในน้ำอันล้ำค่าให้พวกเขาสามารถเก็บไปทำอาหารกินหรือนำไปขายสร้างรายได้ โดยปัจจุบันการเก็บไกขายจะได้ราคาอยู่ที่กิโลกรัมละ 100 บาท

ผ่านไปราวชั่วโมงหนึ่ง เมื่อเข็มนาฬิกาย่างเข้าแปดโมงตรง ชาวบ้านที่งมหาไกตรงนั้นเริ่มทยอยเดินกลับขึ้นฝั่ง

“วันนี้ได้เยอะไหมครับ” เราถามพวกเขาทีละคน

“ไม่เยอะ” คือคำตอบที่เราได้เป็นเสียงเดียวกัน

“ได้แค่กิโลเดียวนี่แหละ ปกติถ้าเยอะต้องเต็มตะกร้านี้ ประมาณสิบกิโล” ป้าวัย 71 ที่ขึ้นจากฝั่งมาคนแรกบอกกับเรา พร้อมโชว์ไกหย่อมเล็กๆ ในก้นตะกร้าสีชมพูให้เราดู เธอบอกว่าไกที่เก็บนี้ เธอจะเอาไปทำกับข้าวกินเอง เพราะวันนี้ได้น้อยเกินกว่าที่จะเอาไปขาย

“น่าจะแค่สี่กิโล” ลุงวัย 66 อีกคนที่เดินตามขึ้นฝั่งมา กะปริมาณของไกที่เก็บได้ให้ฟัง พลางนำไกร่อนในตะกร้าล้างน้ำและเอาไม้ทุบไกเพื่อเอาเศษหินดินทรายออกไปพร้อมกัน 

“วันก่อนที่น้ำไม่เยอะ นี่ได้เยอะนะสิบกว่ากิโล มันอยู่ที่ระดับน้ำ ถ้าน้ำเยอะไป ก็ลงไปเก็บไม่ได้ อย่าง 3-4 วันก่อนหน้านี้ก็ลงไม่ได้เลย เดี๋ยวนี้มันไม่แน่นอน” ลุงพูดให้เราฟังต่อ เช่นเดียวกับชาวบ้านตรงนั้นอีกหลายคนที่บอกว่าปัจจุบันนี้ ไม่สามารถคาดการณ์จำนวนไกที่เก็บได้แน่นอน บางวันได้เยอะ บางวันได้น้อย ขึ้นกับระดับน้ำและสภาพอากาศที่ผันแปรไปในแต่ละวัน โดยเฉพาะช่วงไหนที่ระดับน้ำสูงไป นอกจากชาวบ้านจะลงน้ำยากแล้ว ยังทำให้แดดส่องลงไปไม่ถึงจนไกไม่สามารถขึ้นได้ ต่างจากสมัยก่อนที่มีไกให้เก็บเยอะอยู่เสมอเมื่อถึงฤดูกาล

“ลุงเก็บไกมาไม่ต่ำกว่า 30 ปีแล้ว แต่ก่อนเก็บได้ทีสองกระสอบนู่น” ลุงเล่าถึงอดีตสมัยที่ลุงยังอยู่ในวัยหนุ่ม

“เมื่อก่อนคนเก็บไกมีเยอะ มาทีเป็นร้อยกว่าคน งมกันยาวไปถึงวัดหาดไคร้นู่น แต่เดี๋ยวนี้พอไกไม่ค่อยมี เขาเลยไม่ค่อยอยากมากัน” ลุงเล่าต่อ ทำให้เราเห็นว่าภาพอดีตช่างแตกต่างกับภาพตรงหน้าเราในปัจจุบัน ที่มีคนมาเก็บไกเพียงน้อยนิด ยิ่งในวันนี้ที่สายน้ำไม่ค่อยเป็นใจ จำนวนคนจึงน้อยลงไปกว่าปกติอีก

การเก็บไกในแม่น้ำโขงถือเป็นวิถีชีวิตอันสืบทอดมาหลายชั่วคนของชาวบ้านหาดไคร้ แต่ในวันนี้ ภาพแบบนี้กำลังค่อยๆ เลือนหายไปกับสายน้ำที่ผันผวน ไม่ได้ขึ้นลงตามฤดูกาลเหมือนอย่างแต่ก่อน

“มันแล้วแต่เขา ถ้าวันไหนเขาปล่อยน้ำจากเขื่อนมาเยอะ ไกก็ไม่ขึ้น แล้วเราก็ลงไปเก็บไม่ได้” ลุงเล่า

“เราต้องการ มันไม่มา…เราไม่ต้องการ มันมา” –
ชีพจรผิดจังหวะของมหานทีโขงใต้กำมือเขื่อนผลิตไฟฟ้า?

“การขึ้นลงของน้ำโขงเริ่มไม่เป็นธรรมชาติ เพราะมันเกิดจากการสร้างเขื่อนตั้งแต่ในประเทศจีน หรือพูดตามภาษาชาวบ้านก็คือจีนเป็นผู้ดูแลระดับน้ำ แล้วเวลาที่เราต้องการ (น้ำ) มันก็ไม่มา แต่เวลาที่เราไม่ต้องการ มันมา” ผู้ใหญ่มานพจากบ้านปากอิงใต้ก็เป็นอีกคนที่สังเกตเห็นถึงความสัมพันธ์ระหว่างความผันผวนของแม่น้ำโขงกับการเกิดขึ้นของเขื่อนตามลำน้ำ

“ก่อนหน้านี้ชาวบ้าน เช่นคนที่ปลูกพืชริมน้ำโขง จะรู้ว่าช่วงไหนปลูกได้หรือไม่ได้ เขาเลยคาดได้ว่าต้องปลูกเดือนนี้ แล้วต้องรีบเก็บเกี่ยวก่อนเดือนนี้ เพราะถ้าช้ากว่านี้น้ำจะท่วมแล้ว และเขาจะไม่ปลูก แต่ทุกวันนี้มันไม่ได้เป็นไปตามธรรมชาติเหมือนเมื่อก่อน บางเดือนไม่เคยท่วม มันก็ท่วม มันเลยคาดการณ์อะไรล่วงหน้าไม่ได้ ปัญหาสะสมเรื่อยๆ จนชาวบ้านต้องเปลี่ยนวิถีชีวิต” มานพอธิบายเพิ่มเติม

นับตั้งแต่ปี 2536 ตลอดระยะทางเกือบ 5,000 กิโลเมตรของสายน้ำนานาชาติอย่างแม่น้ำโขง เริ่มเกิดเขื่อนไฟฟ้าพลังน้ำขึ้นมาขวางกั้นลำน้ำ โดยเขื่อนแรกที่เสร็จสมบูรณ์คือเขื่อนม่านวานในประเทศจีน ก่อนที่เขื่อนอื่นๆ จะถูกทยอยสร้างขึ้นมาอย่างต่อเนื่อง กระทั่งปัจจุบันมีเขื่อนแล้วทั้งสิ้น 11 แห่ง ในบริเวณแม่น้ำโขงตอนบนซึ่งอยู่ในดินแดนจีน ขณะที่แม่น้ำโขงตอนล่างลงไปจากจีน ก็มีการสร้างเขื่อนเสร็จสิ้นและเปิดใช้งานแล้วอีกสองแห่ง คือเขื่อนไซยะบุรีและเขื่อนดอนสะโฮง ในประเทศลาว

ชาวบ้านเชียงรายที่ใช้ชีวิตริมแม่น้ำโขงและได้เฝ้ามองความเป็นไปของสายน้ำตลอดหลายปีที่ผ่านมาต่างสังเกตเห็นว่า ความผันผวนของน้ำเกิดขึ้นในช่วงเวลาที่สัมพันธ์กับการทยอยเกิดขึ้นของเขื่อนทางแม่น้ำโขงตอนบน โดยชาวบ้านเริ่มสัมผัสถึงความเปลี่ยนแปลงได้ตั้งแต่ปีแรกที่เขื่อนแรกถูกสร้างเสร็จ และได้รับความเสียหายอย่างชัดเจนมาแล้วกว่า 25 ปี รวมถึงการลดน้อยถอยลงของปลาในแม่น้ำโขง ท่ามกลางเขื่อนที่ขวางกั้นเส้นทางวางไข่ของเหล่าพันธุ์ปลานานาชนิด

แผนที่เขื่อนบนแม่น้ำโขง (อัปเดต เดือนกันยายน 2023)
ที่มา: mymekong.org

เขื่อนปากแบง: ภัยคุกคามใหม่จากปลายน้ำ?

แม้ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาจะมีความพยายามจากหลายภาคส่วน โดยเฉพาะชาวบ้านและองค์กรภาคประชาสังคม ที่ออกมาชี้ให้เห็นถึงความร้ายแรงของผลกระทบที่เกิดขึ้นหลังเกิดเขื่อนระดับเมกะโปรเจกต์เหล่านี้ ทว่าโครงการสร้างเขื่อนก็ยังคงเกิดขึ้นมาอยู่เรื่อยๆ โดยปัจจุบันมีโครงการที่มีแผนดำเนินการและอยู่ระหว่างดำเนินการตลอดลำน้ำอีกรวมกัน 11 เขื่อน ซึ่งส่วนมากตั้งอยู่บริเวณแม่น้ำโขงตอนล่างที่ไหลผ่านอาณาบริเวณไทย ลาว เวียดนาม และกัมพูชา

ถึงแม้ว่าเขื่อนที่กำลังจะเกิดขึ้นในอนาคตเหล่านี้จะตั้งอยู่ทางด้านใต้ของจังหวัดเชียงราย แต่ชาวบ้านริมโขงที่นี่ต่างกำลังกังวลว่าการเกิดขึ้นของเขื่อนเหล่านี้จะซ้ำเติมวิถีชีวิตพวกเขาหนักขึ้นอีก โดยเฉพาะอย่างยิ่งเขื่อนที่มีโครงการอยู่ใกล้ที่สุดอย่าง ‘เขื่อนปากแบง’ ในเขตเมืองปากแบง แขวงอุดมไชย ของ สปป.ลาว ซึ่งเขื่อนดังกล่าวอยู่ห่างออกไปจากชายแดนไทยบริเวณแก่งผาได อำเภอเวียงแก่น จังหวัดเชียงราย เพียงประมาณ 97 กิโลเมตร

“ที่ชาวบ้านกำลังกังวลที่สุดคือน้ำจะท่วมที่ทำกินและที่อยู่อาศัย ถ้าท่วมขึ้นมา เราจะอยู่อย่างไร กินอย่างไร” พรสวรรค์ บุญทัน ประธานสภาเทศบาลตำบลม่วงยาย อำเภอเวียงแก่น จังหวัดเชียงราย สะท้อนเสียงของชาวบ้านที่บ้านห้วยลึก ในบริเวณสุดเขตแดนไทยที่แก่งผาได

บ้านห้วยลึกถือเป็นหนึ่งในหมู่บ้านที่เป็นที่กังวลว่าจะได้รับผลกระทบหนักที่สุดจากเขื่อนปากแบง ไม่ใช่แค่เพราะเป็นหมู่บ้านที่ใกล้เขื่อนปากแบงที่สุดในเชียงรายเท่านั้น แต่ยังเป็นเพราะที่นี่อยู่บนระดับความสูงใกล้เคียงกับระดับกักเก็บน้ำของเขื่อนซึ่งวางแผนไว้อยู่ที่ 340 เมตรเหนือระดับน้ำทะเลปานกลาง

หรือหากกล่าวให้เห็นภาพมากขึ้น แม่น้ำโขงบริเวณบ้านห้วยลึกนี้กำลังกลายเป็นเสมือนอ่างกักเก็บน้ำถาวรของเขื่อนปากแบง อันอาจส่งผลให้ระดับน้ำเท้อสูงขึ้นจนท่วมบ้านเรือนและที่ทำกินของชาวบ้านริมน้ำบริเวณนั้น และยังทำให้สายน้ำหยุดนิ่ง ไม่ไหลตามธรรมชาติดังเดิม ซึ่งแน่นอนว่าจะส่งผลถึงระบบนิเวศแม่น้ำอย่างมหาศาล ขณะที่เกาะแก่งหินผาตามลำน้ำที่ประกอบกับเป็นทัศนียภาพอันสวยงาม ดึงดูดให้ผู้คนพากันมาท่องเที่ยวชมบรรยากาศกันมายาวนาน ณ ตรงนั้น ก็อาจจมหายลงไปกับสายน้ำเช่นกัน

“ตรงนี้คงท่วมหมดเลย หายไปครึ่งหมู่บ้าน” พรสวรรค์ชี้ไปยังพื้นที่ด้านล่างที่กินบริเวณตั้งแต่ถนนเส้นหลัก ลงไปถึงริมฝั่งน้ำ ที่จัดว่าเป็นระยะค่อนข้างสูง พรสวรรค์บอกด้วยว่า หากถึงเวลาเขื่อนปากแบงแล้วเสร็จจริง ปัญหาจะรุนแรงยิ่งกว่ายามที่เขื่อนตอนบนลำน้ำโขงสิบกว่าแห่งเกิดขึ้นอย่างมาก 

“ตอนที่เขื่อนด้านบน (ในประเทศจีน) เกิดขึ้น มันก็ส่งผลกระทบให้น้ำขึ้นลงผิดปกติ ทำให้พืชพันธุ์ธัญญาหารและกุ้งหอยปูปลาหาย แต่อย่างน้อยเราก็ยังมีปลาในสระหรือหนองข้างบนที่เราพอหากินได้ แต่ถ้าเขื่อนปากแบงเสร็จปุ๊บ ทีนี้ปลาในสระเราจะหายไปเหมือนกัน เพราะน้ำจะท่วมขึ้นมา” พรสวรรค์เล่าถึงผลกระทบที่อาจเกิดขึ้น

นอกจากการประมงแล้ว พรสวรรค์ยังชี้ว่าการเกษตรริมโขงก็จะได้รับผลกระทบอย่างหนักเช่นกัน โดยแต่เดิม ปัญหาความผันผวนของระดับน้ำโขงหลังมีการสร้างเขื่อนเหนือลำน้ำได้ทำให้เกษตรกรที่นี่ไม่สามารถคาดการณ์ช่วงวันที่สามารถปลูกหรือเก็บเกี่ยวพืชผักได้แน่นอนอยู่แล้ว เช่นในบางครั้งที่เกษตรกรไม่สามารถเก็บพืชผลได้ทันระดับน้ำโขงที่ท่วมเข้ามาในแปลงปลูกโดยไม่รู้ได้ล่วงหน้า แต่เขื่อนปากแบงที่กำลังจะเกิดขึ้นนี้อาจทำให้ชาวบ้านต้องเสียพื้นที่ทำเกษตรให้กับการเท้อขึ้นของแม่น้ำโขงไปอย่างถาวร เช่นเดียวกับบ้านเรือนที่อยู่อาศัยที่ก็คงไม่อาจตั้งอยู่ได้ต่อไป

“ไม่รู้ว่าจะต้องอพยพไปหางานทำในกรุงเทพฯ กันไหม หรือไม่ก็อาจจะต้องย้ายบ้านกันขึ้นไปบนดอย แต่เวลาเราย้ายไปอยู่ไหน มันก็ต้องมีการแผ้วถางป่าใช่ไหม ต้องเอาป่ามาเป็นที่อยู่และที่ทำกิน ป่าก็จะหายไปอีก” มานพแสดงความกังวลถึงอนาคตข้างหน้าของหมู่บ้านแห่งนี้

แม้จะมีเสียงทักท้วงจากหลายฝ่าย แต่โครงการสร้างเขื่อนปากแบงก็ยังคงดำเนินต่อไปโดยมีกำหนดแล้วเสร็จและเปิดให้บริการในเชิงพาณิชย์ในปี 2576 ขณะที่เมื่อเดือนกันยายน 2566 นั้น การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ก็ได้ลงนามสัญญาซื้อขายไฟฟ้ากับบริษัทปากแบงพาวเวอร์จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นผู้พัฒนาโครงการ โดยมีระยะเวลาของสัญญายาวถึง 29 ปี ท่ามกลางข้อกังขาที่ชาวบ้านยังไม่ได้คำตอบอยู่หลายเรื่อง โดยเฉพาะในแง่ผลกระทบของการทำโครงการ ซึ่งผู้ใหญ่มานพบอกว่าจนถึงวันนี้ยังไม่มีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องใดมาให้ข้อมูลความรู้อย่างจริงจัง

บ้านห้วยลึกไม่ใช่พื้นที่เดียวที่มีแนวโน้มได้รับผลกระทบจากเขื่อนปากแบงเท่านั้น แต่มีการประมาณการว่าเขื่อนดังกล่าวจะส่งผลกระทบถึงระดับน้ำตั้งแต่บริเวณสบกก อำเภอเชียงแสน ไปจนถึงแก่งผาได กินระยะทาง 119 กิโลเมตร ซึ่งครอบคลุมพื้นที่เสี่ยงถึง 27 หมู่บ้านในจังหวัดเชียงราย

พรสวรรค์ บุญทัน

ภาวะ (ไม่) ปกติใหม่ ที่คงไม่อาจหวนกลับ

หากจะว่าไป เขื่อนไม่ใช่ต้นเหตุเดียวของการเปลี่ยนแปลงในแม่น้ำโขงอย่างที่เป็นทุกวันนี้ แต่มีหลายปัจจัยประกอบกัน ทั้งการระเบิดเกาะแก่งตามลำน้ำเพื่ออำนวยความสะดวกในการเดินเรือพาณิชย์ การใช้สารเคมีในการทำเกษตรริมน้ำ การทิ้งขยะลงแม่น้ำ และการทำประมงแบบผิดวิธี แต่สำหรับชาวบ้านริมโขงเชียงราย พวกเขาพูดถึงเขื่อนเป็นเหตุผลแรกเสมอ

ที่ผ่านมามีงานศึกษาถึงผลกระทบของการสร้างเขื่อนต่อความเปลี่ยนแปลงของแม่น้ำโขงอยู่หลายชิ้น ทว่าผลการศึกษาจากแต่ละฝักฝ่ายกลับให้ข้อมูลไม่ตรงกัน ขณะที่ฝั่งหนึ่งโดยเฉพาะผู้พัฒนาโครงการสร้างเขื่อนต่างๆ และทางการของประเทศผู้สร้างเขื่อนชี้แจงว่าเขื่อนไม่ใช่ตัวสร้างผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมต่อแม่น้ำโขง แถมยังเป็นตัวช่วยแก้ปัญหาความผันผวนของระดับน้ำ อีกฝั่งหนึ่งกลับไม่เห็นเป็นเช่นนั้น แน่นอนว่ารวมถึงชาวบ้านริมแม่น้ำโขงเชียงรายจำนวนมาก โดยพวกเขาได้ร่วมมือกันทำงานวิจัยชาวบ้านขึ้นเพื่อสะท้อนเรื่องราวการเปลี่ยนแปลงของแม่น้ำโขงที่พวกเขาได้เฝ้าสังเกต ซึ่งต้นเหตุหลักเหตุหนึ่งที่งานวิจัยกล่าวถึงก็คือการสร้างเขื่อน

หากเขื่อนคือต้นธารปัญหาจริง ความผันผวนของสายน้ำที่เกิดขึ้นจากมันในวันนี้คงยากที่จะหวนกลับไปสู่สภาวะเดิม ด้วยว่าเขื่อนเหล่านั้นได้เกิดขึ้นมายาวนาน และคงยากที่จะหยุดยั้งโครงการหรือรื้อถอนเขื่อนออกไป ชาวบ้านริมโขงเชียงรายจึงแทบไม่มีทางเลือกอื่น นอกจากต้องละทิ้งวิถีพึ่งพาตัวเองแต่ดั้งเดิม มาปรับตัวอยู่รอดให้ได้ในภาวะ (ไม่) ปกติใหม่ หรือไม่ก็จำต้องออกจากพื้นที่ไปทำมาหากินข้างนอก

อย่างไรก็ดี ท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงที่ทยอยเกิดขึ้นนี้ ทางการไทยก็มีความพยายามทำโครงการเพื่อช่วยบรรเทาปัญหาจากความผันผวนของสายน้ำอยู่หลายโครงการ …แต่ดูเหมือนว่าการดำเนินโครงการเหล่านั้นอาจกำลังซ้ำเติมความเดือดร้อนของชาวบ้านให้หนักข้อขึ้น

(ติดตามตอนที่ 2 เร็วๆ นี้)

MOST READ

Social Issues

9 Oct 2023

เด็กจุฬาฯ รวยกว่าคนทั้งประเทศจริงไหม?

ร่วมหาคำตอบจากคำพูดที่ว่า “เด็กจุฬาฯ เป็นเด็กบ้านรวย” ผ่านแบบสำรวจฐานะทางเศรษฐกิจ สังคม และความเหลื่อมล้ำ ในนิสิตจุฬาฯ ปี 1 ปีการศึกษา 2566

เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล

9 Oct 2023

Social Issues

5 Jan 2023

คู่มือ ‘ขายวิญญาณ’ เพื่อตำแหน่งวิชาการในมหาวิทยาลัย

สมชาย ปรีชาศิลปกุล เขียนถึง 4 ประเด็นที่พึงตระหนักของผู้ขอตำแหน่งวิชาการ จากประสบการณ์มากกว่าทศวรรษในกระบวนการขอตำแหน่งทางวิชาการในสถาบันการศึกษา

สมชาย ปรีชาศิลปกุล

5 Jan 2023

Social Issues

27 Aug 2018

เส้นทางที่เลือกไม่ได้ ของ ‘ผู้ชายขายตัว’

วรุตม์ พงศ์พิพัฒน์ พาไปสำรวจโลกของ ‘ผู้ชายขายบริการ’ ในย่านสีลมและพื้นที่ใกล้เคียง เปิดปูมหลังชีวิตของพนักงานบริการในร้านนวด ร้านคาราโอเกะ ไปจนถึงบาร์อะโกโก้ พร้อมตีแผ่แง่มุมลับๆ ที่ยากจะเข้าถึง

กองบรรณาธิการ

27 Aug 2018

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save