fbpx

ฝาท่อที่ญี่ปุ่นบอกอะไรกับเรา

ไม่กี่เดือนมานี้ ผมมีโอกาสได้เห็น ‘ฝาท่อ’ สไตล์ญี่ปุ่นที่มีลวดลายเก๋ไก๋สีสันสะดุดตาในบ้านเราบ่อยๆ ทั้งที่เป็นของรัฐและเอกชน ทั้งที่ได้เห็นเองและจากรูปของเพื่อนในสื่อสังคมออนไลน์

ถ้านับเพียงฝาท่อที่ผมเห็นเองก็มี ฝาท่อที่กรุงเทพฯ เช่น ถนนทรงวาด (ฝาท่อมังกร) ราชมังคลากีฬาสถาน กับฝาท่อที่เชียงใหม่ เช่น คลองแม่ข่า ส่วนที่เห็นจากเพื่อนที่เอามาลงก็มีเยอะมาก เช่น คลองโอ่งอ่าง (กรุงเทพฯ) ร้านข้าวโซอิ (เชียงใหม่) กาญ มาชิ คาเฟ่ (กาญจนบุรี) งานเทศกาลอีสานสร้างสรรค์ 2566 (ขอนแก่น) สี่แยกธนาคารชาร์เตอร์ (ภูเก็ต)

จนอาจกล่าวได้ว่า ฝาท่อกลายเป็นอีกหนึ่งแฟชั่นของแหล่งท่องเที่ยวหลายแห่งในประเทศไทยไปแล้ว โดยเฉพาะแหล่งท่องเที่ยวที่มีจุดขายอิงจากความเป็นญี่ปุ่น ถึงกระนั้นฝาท่อส่วนใหญ่เหล่านั้นมักไม่ใช่ฝาท่อที่ถูกใช้งานจริง ทำหน้าที่เหมือนกับ ‘หมุด’ ที่ดึงดูดนักท่องเที่ยวให้มาถ่ายรูปเช็คอินมากกว่า

รูปฝาท่อที่ถนนทรงวาด ราชมังคลากีฬาสถาน และคลองแม่ข่า

สำหรับฝาท่อที่ญี่ปุ่นนั้น ผมมีคำตอบในใจมานานแล้วว่ามันคงสะท้อนถึงการกระจายอำนาจกับการปกครองท้องถิ่นของประเทศญี่ปุ่นไม่มากก็น้อย เมื่อค้นดูจริงจัง ข้อมูลที่พบก็ยืนยันเช่นนั้น

แม้ญี่ปุ่นมีระบบบำบัดน้ำเสียมาตั้งยุคโบราณหลายพันปีก่อน แต่ระบบบำบัดน้ำเสียสมัยใหม่ที่มีการวางท่อระบายน้ำอยู่ใต้ผิวดินเป็นโครงข่ายซับซ้อนเพื่อรวบรวมน้ำเสียจากสถานที่ต่างๆ ไปสู่กระบวนการบำบัดก่อนจะปล่อยออกสู่สิ่งแวดล้อม อันถือเป็นโครงสร้างพื้นฐานสำคัญ เพิ่งถูกนำมาใช้ปลายศตวรรษที่ 19 ภายใต้คำแนะนำของวิศวกรชาวต่างชาติ

ระบบบำบัดน้ำเสียแบบใหม่ทำให้ต้องมีจุดเข้าถึงทางระบายน้ำซึ่งถูกปิดจากด้านบนด้วยฝาท่อ (manhole) หรือฝาบ่อพัก เพื่อป้องกันมิให้สิ่งแปลกปลอมตกลงไป รวมทั้งช่วยอำนวยความสะดวกในการเปิดใช้งานซ่อมบำรุง

เมืองใหญ่เริ่มนำฝาท่อระบายน้ำที่ผ่านการออกแบบมาใช้ ตั้งแต่ช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ปลายทศวรรษ 1950 เริ่มจากโตเกียวกับนาโกยาก่อน แล้วจึงขยายออกไปพื้นที่อื่นๆ ทว่าหากมองในแง่งานออกแบบยังไม่มีอะไรน่าสนใจ การออกแบบฝาท่อในเมืองอื่นๆ ก็อิงจากแบบที่เมืองทั้งสองใช้

แรกเริ่มฝาท่อเหล่านั้นมีหน้าที่ให้ผู้ใช้รถใช้ถนนสะดุดตาและใช้ความระมัดระวังในการขับขี่ ขณะเดียวกันก็เพิ่มความเรียบร้อยให้กับพื้นที่ติดตั้งด้วยการทำขอบฝาท่อเสมอกับระดับผิวถนน

ขบวนการส่งเสริมการออกแบบฝาท่อปรากฏตัวเด่นชัดในช่วงกลางทศวรรษ 1980 หรือประมาณ 40 ปีเศษที่ผ่านมานี้เอง ในฐานะส่วนหนึ่งของแผนการประชาสัมพันธ์ให้ครัวเรือนในชนบทของญี่ปุ่นเข้าร่วมโครงการพัฒนาระบบบำบัดน้ำเสียครั้งใหญ่ ขณะนั้นมีครัวเรือนเพียงร้อยละ 60 เท่านั้นที่เชื่อมต่อเข้ากับระบบบำบัดน้ำเสียสาธารณะ ยาสุทาเกะ คาเมดะ (Yasutake Kameda) ข้าราชการระดับสูงของกระทรวงการก่อสร้าง เขาเสนอให้เทศบาลได้ลองออกแบบฝาท่อของตัวเองเพื่อสร้างสำนึกความเป็นเจ้าของในหมู่ประชาชน ด้วยหวังว่าความน่ารักของมันจะช่วยให้คนร่วมสนับสนุนโครงการโดยยอมรับภาระภาษีที่เพิ่มขึ้น

วิธีคิดเช่นนี้สอดคล้องกับแนวทางพัฒนาเมืองที่เป็นที่รู้จักคือ มาจิสึคุริ (Machizukuri) แปลให้เข้าใจง่ายสุดคือ การฟื้นฟูเมืองโดยชุมชนมีส่วนร่วม (ผ่านบทบาทของการปกครองท้องถิ่น) ผลพวงจากการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ตามมาด้วยปัญหาสิ่งแวดล้อมก่อกำเนิดปรัชญาแห่งยุคสมัยนี้ขึ้นในญี่ปุ่น ช่วงทศวรรษ 1970-1980 ศิลปะฝาท่อคือชิ้นส่วนเล็กๆ ที่เป็นผลผลิตจากแนวคิดดังกล่าว

อย่างไรก็ดี ความคิดดังกล่าวปรากฏเป็นรูปเป็นร่างก่อนแล้ว ตั้งแต่ราวปี 1977-1978 ที่เมืองนาฮา บนเกาะโอกินาวาซึ่งเป็นพื้นที่แห่งแรกที่ออกแบบฝาท่อเป็นลายปลายิ้มตัวเล็กๆ ล้อมกันเป็นวงกลมมีนัยถึงความสุขที่มาพร้อมกับน้ำสะอาด (แต่ยังไม่มีสีสัน) จากนั้นกระแสความคิดนี้จึงแพร่กระจายไปทั่วประเทศอย่างรวดเร็ว ต่อมาจึงมีผู้เสนอให้แต่งแต้มสีลงบนฝาท่อด้วย ช่วยเปลี่ยนภาพจำของท่อน้ำเสียจากที่เคยถูกมองว่าทั้งดำทั้งเหม็น

ในที่สุด ฝาท่อก็กลายเป็นชิ้นผลงานศิลปะที่แต่ละท้องถิ่นใช้สื่อสารอัตลักษณ์ของตัวเอง เหมือนประชันขันแข่งกันอยู่ในที ถึงได้ออกมาหลากหลายมากมาย ไม่ว่าจะเป็นรูปต้นไม้หรือดอกไม้ เช่น ซากุระ , รูปของผู้คน เช่น ซามูไร นินจา , รูปของสัตว์ประจำเมือง เช่น กวาง นก , สัญลักษณ์ทีมกีฬา และวิวทิวทัศน์สถานที่สำคัญ (landmark) อาทิ ปราสาท สะพาน ภูเขา แม่น้ำ

นอกจากนี้ยังมีฝาท่อรูปของสินค้า/อาหารพื้นถิ่น และ รูปของมาสคอต (mascot) เช่น โคนัน คิตตี้ หรือเพื่อร่วมเฉลิมฉลองงานเทศกาล/เหตุการณ์สำคัญของเมือง เรื่อยไปจนถึงเป็นคำเตือนแสดงเส้นทางหนีภัยพิบัติ เช่น แผ่นดินไหว สึนามิ

พลวัตของฝาท่อญี่ปุ่นไม่เคยหยุดนิ่ง เห็นได้จากช่วงในปี 2018 มีโปรเจกต์ใหม่ในชื่อ Poke Lids หรือโครงการฝาท่อโปเกมอน เป็นโครงการที่นำเอาตัวการ์ตูนจากเเอนิเมชันเรื่องนี้มาโลดแล่นอยู่บนฝาท่อที่ติดตั้งกระจายอยู่ตามเมืองต่างๆ ทั่วประเทศ ด้วยความร่วมมือกับทางเทศบาลเจ้าของพื้นที่ โดยพยายามเลือกสถานที่ที่ยังไม่ค่อยเป็นที่รู้จักเพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยว

ฝาท่อระยะหลังอาศัยเทคโนโลยีก้าวล้ำมาก บ้างก็มี QR code สำหรับสแกนเพื่อดูข้อมูลเพิ่มเติม เป็น AR ที่ทำให้มองเข้าไปถึงโครงสร้างข้างใน ไปจนถึงขั้นเรืองแสงหรือเป็นจอ LED

จากตอนเริ่มต้นมีเทศบาลเพียง 5% จากพื้นที่ทั้งหมดที่มีลวดลายบนฝาท่อแบบฉบับเฉพาะตัว ปัจจุบันมีกว่า 95% จากจำนวนเทศบาล 1,718 แห่งทั่วญี่ปุ่นแล้ว พบลวดลายบนฝาท่อไม่ซ้ำกันมากถึงราว 12,000 แบบ (ข้อมูลถึงปี 2023) ในจำนวนนี้มีไม่น้อยที่เป็นผลงานออกแบบของเด็กนักเรียนที่ชนะเลิศการประกวด

เนื่องด้วยฝาท่อขึ้นอยู่กับงบประมาณขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เรื่องนี้ย่อมไม่ใช่นโยบายระดับชาติ หากแต่เป็นปรากฏการณ์ในระดับท้องถิ่น (ญี่ปุ่นมีท้องถิ่น 2 ชั้น ประกอบด้วย จังหวัดและเทศบาล โดยภารกิจเรื่องระบบบำบัดน้ำเสียเป็นของเทศบาล ในที่นี้จึงไม่ได้พูดถึงบทบาทของท้องถิ่นระดับจังหวัด)

บางเมืองพัฒนาเป็นเกมในโทรศัพท์ที่ประชาชนสามารถร่วมเล่นได้ เพื่อช่วยเจ้าหน้าที่สอดส่องตรวจตราหาฝาท่อที่ชำรุด พร้อมลุ้นรางวัล เพราะประเมินกันว่ามีฝาท่อกว่า 3 ล้านอันที่ใช้มาตั้งแต่ยุคแรกๆ จากทั้งหมดประมาณ 15 ล้านอัน

แน่นอน ฝาท่อที่ญี่ปุ่นนอกจากความสวยงามแล้วยังใส่ใจความปลอดภัย และคำนึงถึงอรรถประโยชน์ เช่น ใช้วัสดุที่ป้องกันการลื่น โดยเฉพาะเวลาที่มีฝนตกหรือหิมะเกาะ ป้องกันมิให้เกิดเสียงดังเวลารถแล่นผ่าน ป้องกันมิให้ถูกเปิดออกได้โดยง่าย ปกป้องกลิ่นไม่พึงประสงค์ มีช่องระบายอากาศได้ดี สามารถใช้เป็นหัวจ่ายน้ำดับเพลิงได้

นอกจากวัตถุประสงค์ด้านสาธารณูปโภคที่ดีแล้ว ฝาท่อยังช่วยส่งเสริมการท่องเที่ยวภายในประเทศ ฝาท่อกลายเป็นจุดดึงดูดทางการท่องเที่ยวได้อย่างไม่น่าเชื่อ สืบเนื่องจากกระแสการท่องเที่ยวแบบโหยหาอดีต (nostalgia) ที่กระตุ้นให้ผู้คนออกตามหาญี่ปุ่นแท้ซึ่งอยู่ในชนบท ไม่ใช่เฉพาะชาวญี่ปุ่นที่ชื่นชอบการถ่ายรูปฝาท่อ นักท่องเที่ยวชาวต่างชาติก็รู้สึกไม่ต่างกัน ทั้งยังได้กลายเป็นงานอดิเรกในหมู่ผู้ชื่นชอบฝาท่อ มีการ์ดสะสม ของที่ระลึก หนังสือคู่มือตามมา มีการจัดประชุมประจำปีอย่างเป็นทางการ

สมาคมฝาท่อญี่ปุ่น (The Japan Ground Manhole Association) ระบุว่ามี 30 กว่าบริษัทในญี่ปุ่นที่รับงานผลิตฝาท่อดีไซน์เช่นนี้จากเทศบาลต่างๆ กระบวนการผลิตมีหลายขั้นตอน และเป็นงานละเอียด โดยเฉพาะในส่วนของงานลงสีเพราะต้องหยอดสีลงไปตามร่องบนฝาท่อทีละอันๆ อย่างละเมียดละไม โดยมีผู้ผลิตรายใหญ่คือ Hinode Suido ซึ่งต่อให้โรงงานเร่งผลิตเต็มที่อย่างไรก็ไม่เกิน 20 ชิ้นต่อวัน

ย้อนกลับมาที่ไทย เรามีโรงงานหล่อเหล็ก นวกาญจน์โลหะชลบุรีเพียงแห่งเดียวที่ทำได้ถึงขั้นนั้น ขณะที่อีกรายสำคัญคือ Mc H&H เน้นนำเข้ามาจากญี่ปุ่น

เราอาจเลียนแบบญี่ปุ่นภายนอกได้ แต่เนื้อในยังห่างไกล ฝาท่อที่ญี่ปุ่นสะท้อนหลักความเป็นอิสระของท้องถิ่น (local autonomy) ซึ่งได้รับการปลดปล่อยให้แสดงพลังสร้างสรรค์อย่างเต็มที่ ขณะที่ประเทศไทย ส่วนท้องถิ่นถูกกดทับภายใต้กระทรวงมหาดไทยซึ่งมีการกำหนดมาตรฐานขึ้นเพื่อควบคุมการดำเนินกิจการสาธารณะต่างๆ ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทั้งประเทศ ผ่านกฎระเบียบข้อบังคับหยุมหยิมสารพัดจึงเป็นเรื่องปกติมากที่ฝาท่อเกือบทั้งหมดของเรามีหน้าตาคล้ายๆ กันจนแยกไม่ออก

ฝาท่อเป็นอีกหนึ่งตัวอย่างสำหรับการอธิบายถึงความพยายามสร้างความเป็นอันหนึ่งอันเดียวของรัฐส่วนกลาง ยังไม่พูดถึงอุปสรรคจากกฎหมายจัดซื้อจัดจ้าง ตลอดจนบทบาทขององค์กรตรวจสอบอย่าง สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ที่ส่งผลให้ท้องถิ่นไม่กล้าคิดหรือริเริ่มอะไรมากนัก

ปัญหาของฝาท่อไทยไม่ใช่แค่เรื่องความสวยงาม แต่ยังมีประเด็นอย่างอุบัติเหตุที่เผยแพร่ในหน้าข่าวอยู่เป็นระยะ ตั้งแต่คนเหยียบฝาท่อชำรุด ขาเข้าไปติดอยู่บ้าง หรือตกลงไปทั้งตัวก็มี ฝาท่อระเบิดใส่รถในจังหวะที่ไรเดอร์ส่งอาหารขี่มอเตอร์ไซค์ผ่านพอดีจนรถกระเด็น สะท้อนว่าเรายังขาดความใส่ใจเรื่องความปลอดภัย ซึ่งส่วนท้องถิ่นคงจะปฏิเสธความรับผิดชอบไม่ได้ แต่ก็หาใช่ความบกพร่องของท้องถิ่นทั้งหมด เพราะฝาท่อที่เห็นมากมายบนท้องถนนบ้านเราไม่ได้มีเฉพาะฝาท่อระบายน้ำของท้องถิ่น แต่ยังมีฝาบ่อของระบบไฟฟ้าใต้ดิน ระบบน้ำประปา สายโทรศัพท์ สายสื่อสาร ท่อส่งแก๊ส ฯลฯ ของอีกหลายหน่วยงาน ต่างคนต่างทำกันจนประชาชนเอือม (เช่นที่คูเมืองเชียงใหม่ยามนี้เผชิญ)


ข้อมูลประกอบการเขียน

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save