fbpx

ลานนา ล้านนา: การเมืองเรื่องไม้โทกับอาณานิคมความรู้ในล้านนา

เมื่อเร็วๆ นี้ผู้เขียนได้เห็นวิวาทะออนไลน์เรื่อง ‘ปาตานี-ปัตตานี’ ในหมู่ผู้รู้ผู้สนใจประวัติศาสตร์ดินแดนปลายขอบด้านใต้ ที่มีบางท่านเสนอให้ใช้คำว่า ‘ปาตานี’ เรียกดินแดนและผู้คนที่ครอบคลุมอาณาบริเวณจังหวัดปัตตานี ยะลา นราธิวาส และสี่อำเภอในจังหวัดสงขลา เนื่องจากเป็นชื่อที่ใช้เรียกอาณาจักรสุลต่าน (Sultanate) ที่เคยตั้งอยู่ที่นั่นก่อนตกเป็นประเทศราชและถูกผนวกโดยสยาม ในขณะที่บางท่านก็เห็นว่าคำว่าปัตตานีเป็นคำที่ถูกต้องแล้ว

ผู้เขียนแทบไม่มีความรู้เกี่ยวกับประวัติศาสตร์ของดินแดนดังกล่าวเลย จึงไม่สามารถร่วมออกความเห็นได้ว่าคำใดเป็นคำที่ถูกต้องกันแน่ อย่างไรก็ตาม วิวาทะเรื่องพยัญชนะ ต. เต่า ในการสะกดคำนี้มิได้เป็นเพียงเรื่องทางภาษาศาสตร์หรือประวัติศาสตร์ แต่มีมิติทางการเมืองเข้ามาเกี่ยวข้องอย่างเห็นได้ชัด เนื่องจากฝ่ายสนับสนุนคำว่า ‘ปาตานี’ เห็นว่าคำว่า ‘ปัตตานี’ เป็นคำของเจ้าอาณานิคมสยามและมีนัยการละเลยอัตลักษณ์ของคนพื้นที่ ในขณะที่ฝ่ายสนับสนุนคำว่า ‘ปัตตานี’ ก็เห็นว่า ‘ปาตานี’ เป็นคำของขบวนการชาตินิยมมลายูที่เรียกร้องเอกราชของพื้นที่ดังกล่าว เป็นต้น

เมื่อราว 30-40 ปีก่อนก็เคยปรากฏข้อถกเถียงว่าด้วยอักขรวิธีหรือวิธีการสะกดชื่อดินแดนทำนองเดียวกันเกิดขึ้นในแวดวงการศึกษาประวัติศาสตร์ล้านนา นั่นคือวิวาทะเรื่อง ‘ลานนา-ล้านนา’ ที่ว่าชื่อของดินแดนระหว่างแม่น้ำโขงและแม่น้ำสาละวินซึ่งส่วนมากทับซ้อนกับภาคเหนือตอนบนในปัจจุบันนั้นสมควรที่จะสะกดโดยมีวรรณยุกต์โทด้วยหรือไม่ นั่นคือว่าจะต้องเขียนเป็น ‘ลานนา’ หรือ ‘ล้านนา’ จึงจะถูกต้อง

หากว่าด้วยเรื่องนี้ต้องย้อนไปกล่าวถึงก่อนว่าคนรุ่นปู่ของผู้เขียน (ปัจจุบันคงจะมีอายุ 60-70 ปีขึ้นไป) น่าจะคุ้นชินกับอักขรวิธี ‘ลานนา’ ซึ่งไม่มีไม้โทมากกว่า ในปัจจุบันจึงยังเห็นการสะกดดังกล่าวอยู่ในป้ายและชื่อสถานที่ต่างๆ อยู่บ้างประปรายเป็นมรดกจากความนิยมในยุคสมัยนั้น อย่างไรก็ตาม การก่อตั้งมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ในปี 2507 ช่วยกระตุ้นให้เกิดความสนใจศึกษาองค์ความรู้เกี่ยวกับประวัติศาสตร์ ภาษา และศิลปวัฒนธรรมล้านนาอย่างจริงจังเข้มข้นขึ้นในหมู่นักวิชาการ จนเริ่มมีผู้ที่ได้อ่านศิลาจารึกและเอกสารต้นฉบับบางท่าน เช่น แสง มนวิทูร ตั้งข้อสังเกตว่าแท้จริงแล้ว ‘ล้านนา’ น่าจะเป็นการสะกดที่ถูกต้องกว่า ‘ลานนา’ ซึ่งเป็นอักขรวิธีที่นิยมใช้ในขณะนั้น

นับจากข้อสังเกตของแสง มนวิทูรเป็นต้นมาก็มีผู้สนใจเปิดประเด็นร่วมถกเถียงเรื่อง ‘ลานนา-ล้านนา’ นี้เป็นอันมาก แบ่งออกเป็นสองฝ่ายใหญ่ๆ คือฝ่ายสนับสนุนคำว่าล้านนา ซึ่งส่วนมากจะเป็นนักวิชาการเลือดใหม่ของยุคนั้น เช่น ฮันส์ เพนธ์ สรัสวดี อ๋องสกุล ธเนศวร์ เจริญเมือง ประเสริญ ณ นคร ส่วนฝ่ายสนับสนุนคำว่าลานนาซึ่งส่วนมากจะเป็นปราชญ์ท้องถิ่นหรือนักประวัติศาสตร์นอกรั้วมหาวิทยาลัย เช่น ศักดิ์ รัตนชัย ส่านูพอ บิโข่ เป็นต้น

ข้อถกเถียงโดยสรุปแล้ว ฝ่ายสนับสนุนอักขรวิธีล้านนาอ้างถึงถ้อยความ ‘เขตฺตทสลกฺขณนคร’ ใน ตำนานธรรมพระยาเจือง และ ‘ทศลักษณ์เกษตร’ ในพระราชทินนามของพระเจ้ากาวิโลรสสุริยวงศ์ พระเจ้าเชียงใหม่องค์ที่ 6 แห่งราชวงศ์เจ้าเจ็ดตน ซึ่งทั้งถ้อยความภาษาบาลี-สันสกฤตทั้งสองแปลว่า ‘สิบแสนนา’ ก็คือล้านนานั่นเอง และที่สำคัญยังอ้างถึงอักขรวิธี ‘ล้านนา’ ที่พบใน จารึกวัดเชียงสา ส่วนฝ่ายสนับสนุนอักขรวิธีลานนาอ้างถึงความคิดเห็นของปราชญ์ร่วมสมัยหลายท่านในสังคมล้านนา ณ ขณะนั้น รวมถึงเอกสารตัวพิมพ์สมัยรัชกาลที่ 7 อีกหลายชิ้นที่ใช้อักขรวิธีลานนา การถกเถียงเรื่องนี้ยืดเยื้อยาวนานและรุนแรงมาก จนกล่าวกันว่ามีผู้ทำพิธีเผาพริกเผาเกลือแช่งชักกันเนื่องจากความเห็นต่างในกรณีนี้เลยทีเดียว กระทั่งในช่วงทศวรรษ 2530 คำว่าล้านนาจึงเป็นที่ยอมรับอย่างกว้างขวางจนถึงขั้นได้ประกาศไว้อย่างเป็นทางการในราชกิจจานุเบกษาเลยทีเดียว

ถึงแม้ข้อถกเถียงนี้จะได้ข้อยุติแล้ว แต่คำถามที่น่าสนใจก็คือ หากอักขรวิธีล้านนาเป็นการสะกดที่ถูกต้อง แล้วอักขรวิธีลานนามีที่มาจากไหน เพราะเหตุใดในยุคหนึ่ง สังคมล้านนาจึงพร้อมใจกันยอมรับอักขรวิธีดังกล่าว

คำตอบของคำถามนี้ ต้องเท้าความตามธรรมเนียมการเขียนหนังสือล้านนาในอดีตก่อนว่าอักษรธรรมล้านนาหรือที่เรียกว่าตัวเมืองในปัจจุบัน แต่แรกเริ่มเดิมที่เป็นอักษรที่คนล้านนาใช้สำหรับเขียนภาษาบาลีซึ่งเป็นภาษาที่ไม่มีวรรณยุกต์ เมื่อนำมาใช้เขียนภาษาล้านนาแล้วจึงมักจะไม่ใช้รูปวรรณยุกต์ในการเขียนตามไปด้วย หรือถ้าใช้ก็ใช้อย่างไม่เคร่งครัดนัก โดยคนอ่านจะรู้ด้วยตนเองว่าคำแต่ละคำออกเสียงวรรณยุกต์ว่าอย่างไร เช่นในต้นฉบับ ตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่ มีข้อความเขียนว่า ‘เหลนชู’ หรือ ‘เหลนชู่’ แต่แท้จริงแล้วอ่านว่า ‘เหล้นชู้’ เป็นต้น ในช่วงรัตนโกสินทร์ตอนต้น สยามได้มีปฏิสัมพันธ์กับล้านนาในฐานะเจ้าประเทศราชผ่านใบบอกสื่อสารระหว่างกันเป็นหลักจึงน่าจะได้รู้จักรูปสะกด ‘ลานนา’ ตามที่อาจจะเขียนไว้ในใบบอกที่ส่งมา คนสยามจึงเรียกล้านนาว่า ‘ลานนา’ มาตลอด ดังที่ปรากฏในตอนหนึ่งของ ลิลิตตะเลงพ่าย ว่า

“…ควรถวายฉัตรบำบวง ตังวายสรวงแสวงชอบ มอบพิภพลานนา ทูลบาทาไทธเรศ หวังพระเดชนฤบดี กั้งเกศีสุดเหง้า เท้าทั่วกัลป์ประลัย…”

ทั้งนี้ ยังไม่นับสมมติฐานที่ว่าสยามจะเห็นว่า ‘ล้านนา’ ดูยิ่งใหญ่เกินไปจึงทอนลงให้เป็น ‘ลานนา’ หรือไม่ แต่ไม่ว่าจะด้วยเหตุใดก็ตาม ลานนากลายเป็นคำคุ้นปากของชาวสยามมาตั้งแต่ต้นรัตนโกสินทร์ แม้จริงๆ แล้วราชสำนักสยาม (ในสมัยรัชกาลที่ 4) ก็อาจจะรู้ว่า ‘ล้านนา’ คืออักขรวิธีที่ถูกต้องดังเห็นได้จากการตั้งพระราชทินนามของพระเจ้ากาวิโลรสสุริยวงศ์ตามที่ได้กล่าวถึงก่อนหน้านี้ แต่ ‘ลานนา’ ก็กลายเป็นอักขรวิธีที่ชาวสยามคุ้นเคยไปแล้ว กระทั่งเมื่ออักขรวิธีดังกล่าวไปปรากฏใน พงศาวดารโยนก ของพระยาประชากิจกรจักร ซึ่งเป็นหนังสือที่กระตุ้นความสนใจศึกษาประวัติศาสตร์ล้านนาในหมู่ปัญญาชนสยาม อักขรวิธีนี้ก็ยิ่งขจรขจายแพร่หลายไปอีก อันที่จริงต้องให้ความเป็นธรรมกับพระยาประชากิจกรจักรว่าใน พงศาวดารโยนก เองก็มีคำว่าล้านนาปรากฏอยู่ด้วยตามความไม่สม่ำเสมอของอักขรวิธีในเอกสารต้นฉบับล้านนา แต่อักขรวิธีลานนานั้นติดหูติดตาอยู่ก่อนแล้ว และธรรมชาติของคนก็มักจะยึดถือเอาสิ่งที่คุ้นเคยว่าถูกต้องอยู่เสมอ ในกรณีของอักขรวิธีลานนานี้ กระทั่งกรมพระยาดำรงราชานุภาพก็เห็นด้วย ไม่เพียงเท่านั้น กษัตริย์รัชกาลที่ 5 ยังได้เคยเขียนข้อวินิจฉัยด้วยตัวเองว่าอาณาจักรทางมณฑลพายัพนั้นชื่อ ‘ลานนา’ เพราะเหตุว่า

“…ทางเมืองหลวงพระบางเป็นที่ห้วยเขาป่าดง ทำนองจะเป็นที่มีช้างมาก จึงเรียกว่าลานช้าง ส่วนเมืองเชียงราย เชียงใหม่ มีที่ราบสำหรับทำนามาก จึงเรียกว่าลานนาเป็นคู่กัน เป็นคำของพวกไทยที่อยู่ทางข้างเหนือเรียกแต่ดึกดำบรรพ์…”

เมื่อกษัตริย์ออกตัววินิจฉัยเช่นนี้แล้ว คนอื่นๆ ในยุคนั้นก็ยอมรับอักขรวิธีลานนาไปโดยปริยาย เข้าทำนอง “เจ้าว่างามก็ต้องงามไปตามเจ้า หรือใครเล่าจะไม่งามตามเสด็จ”

คติเจ้าว่างามฯ นี้เองน่าจะส่งผลให้แม้กระทั่งเจ้าล้านนาเองก็ต้องยอมใช้อักขรวิธีลานนาเมื่อต้องสื่อสารกับราชสำนักสยาม ดังในการกล่าวต้อนรับกษัตริย์รัชกาลที่ 7 ระหว่างการเยือนล้านนา เจ้ามหาพรหมสุรธาดา เจ้าผู้ครองนครน่านลำดับสุดท้าย ได้กล่าวต้อนรับกษัตริย์สยามว่า

“สรวมชีพข้าพระพุทธเจ้า น้อมเกล้านมัสการ ขอพระราชทานพระบรมราชวโรกาส กราบบังคมทูลพระกรุณา แทนบรรดาข้าราชการน้อยใหญ่ คฤหบดีไขว้ทุกเวียงแคว้นแดนสถานลานนา…มีคำโบราณแต่ชั้นบรรพบุรุษบอกเล่าแต่ก่อนเก่าสืบกันมาว่าเดิมประชาชนชาติไทยทั้งหลาย หมายเขตต์สถานลานนาห้าสิบเจ็ดเมือง อันนับเนื่องเป็นมณฑลพายัพในปัจจุบัน ได้ตกอยู่ในอำนาจพม่ารามัญมาช้านาน หากได้อาศัยเดชาภินิหาร แห่งสมเด็จพระภูบาล… จนได้แผ่นดินลานนาคืนมาเป็นสิทธิ์ขาดอยู่ในอำนาจของไทย…”

คติเดียวกันนี้ก็ยังต้องทำให้เจ้าดารารัศมีต้องเรียกขนบธรรมเนียมของตัวเองว่า ‘ลาว’ เมื่อต้องสื่อสารในราชสำนัก ทั้งที่คนล้านนาเกลียดการถูกเรียกว่าลาวเป็นที่สุดเพราะถือว่าตนเองเป็นไท (ยวน) แต่ในเมื่อทุกคนในราชสำนักรวมถึงกษัตริย์มองว่าคนล้านนา (รวมถึงเจ้าดารารัศมี) คือคนลาว เจ้าดารารัศมีจะไปเถียงค้านเจ้าชีวิตสยามได้อย่างไร ก็ต้องยอมไปตามนั้น

ความนิยมในอักขรวิธีลานนาดังนี้ถูกส่งต่อกลับไปยังล้านนาผ่านตำราเรียนฉบับต่างๆ ที่นำมาใช้เรียนใช้สอนใน ‘โรงเรียนไทย’ ที่ทยอยเปิดทำการในล้านนาเพื่อส่งเสริมกล่อมเกลาภาคบังคับให้ชาวล้านนาฟังพูดอ่านเขียนภาษาไทยสยามได้ รวมถึงมีความคิดแบบชาวสยามคิด เพื่อจะได้เป็นคนไทยหรือคนสยามโดยสมบูรณ์ อันเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการอาณานิคมที่รัฐสยามใช้กลืนกินล้านนา ยกตัวอย่างเช่นข้อความตอนหนึ่งจากตำรา ภูมิศาสตร์ประเทศสยาม ว่า

“…อาณาจักรทางตะวันออกเรียกว่าแดนลานช้าง เพราะมีช้างชุม หาช้างใช้เป็นพาหนะได้ง่าย บางทีเรียกว่า ‘ล้านช้าง’… อาณาจักรทางตะวันตกเรียกว่าลานนาเพราะมีที่ราบสำหรับทำนาได้มาก ต่อมาภายหลังเรียกว่าอาณาจักรลานนาไทย… แดนลานนาหรือที่เรียกว่าอาณาจักรลานนาไทยนั้น คือท้องที่มณฑลพายัพและมณฑลมหาราษฎร์ทุกวันนี้”

เมื่อถูกเรียนและสอนมาเช่นนี้ ประกอบกับวัฒนธรรมการเขียนอักษรล้านนาล่มสลายไปและถูกแทนที่ด้วยการเขียนอักษรสยาม ล้านนาก็แปรเปลี่ยนไปเป็นลานนาตามที่สอนกันในโรงเรียน เพราะเมื่อปราศจากภาษาเขียนและตกอยู่ภายใต้อิทธิพลของภาษาอื่น (ภาษาสยาม) แล้ว ภาษาพูดจะแปรเปลี่ยนไปอย่างไม่คิดไม่ฝันได้ภายในเวลาเพียงสามชั่วคน

ดังนั้นแล้ว การกลายอักขรวิธีจาก ‘ล้านนา’ เป็น ‘ลานนา’ นั้น ส่วนหนึ่งอาจเป็นความเข้าใจผิดของชาวสยามที่มีต่อระบบการเขียนอักษรล้านนา แต่อีกส่วนหนึ่งก็คืออำนาจและอิทธิพลของรัฐสยามที่สามารถกล่อมเกลาภาคบังคับให้ทุกคนคิดเหมือนตัวเองและหันมาใช้อักขรวิธีแบบตัวเองได้ อำนาจและอิทธิพลดังนี้ทรงพลังถึงทำให้กระทั่งคนล้านนาเองก็หันมาใช้อักขรวิธีลานนาตามสยามอยู่พักหนึ่ง อักขรวิธีลานนาจึงเป็นหนึ่งในสัญลักษณ์ของอำนาจอาณานิคมเชิงที่สยามมีเหนือล้านนาในพื้นที่ของความรู้และความคิด นอกเหนือไปจากพื้นที่ทางการเมืองและเศรษฐกิจที่สามารถจับต้องได้เป็นประจักษ์อยู่แล้ว เรื่องนี้จึงเป็นเรื่องการเมืองที่แทรกในภาษาอย่างแน่แท้

แม้กระทั่งเมื่อจะเปลี่ยนอักขรวิธีจากลานนาที่ไม่มีไม้โทกลับเป็นล้านนาที่มีไม้โทนั้น ก็ยังคงเกี่ยวข้องกับอำนาจและอิทธิพลทางการเมือง เพราะการที่สังคมหันมายอมรับอักขรวิธีล้านนาแทนลานนานั้น ไม่ใช่เพียงเพราะว่านักวิชาการส่วนมากเห็นพ้องต้องด้วยกับอักขรวิธีล้านนาเพียงอย่างเดียว แต่ยังเป็นเพราะหนึ่งในฝ่ายสนับสนุนคำว่าล้านนา คือ ประเสริฐ ณ นคร นั้นเป็นกรรมการชำระประวัติศาสตร์ไทยในสังกัดสำนักนายกรัฐมนตรี จึงได้ใช้กลไกภาครัฐออกราชกิจจานุเบกษาประกาศให้อักขรวิธีล้านนาเป็นการสะกดที่ถูกต้อง เท่ากับใช้อำนาจรัฐมารับรองความคิดทางวิชาการของตน ซึ่งฝ่ายสนับสนุนอักขรวิธีลานนาก็พยายามตอบโต้ด้วยการยื่นถวายฎีกาให้กษัตริย์รัชกาลที่ 9 วินิจฉัย แต่ก็ไม่เป็นผลสำเร็จแต่ประการใด

และที่สำคัญ หมุดหมายที่ทำให้อักขรวิธีล้านนาเป็นที่ใช้ในวงกว้างคือการพิมพ์หนังสือ ล้านนาไทย แจกเป็นที่ระลึกในพิธีเปิดอนุสาวรีย์สามกษัตริย์ ซึ่งในทางหนึ่งเป็นอนุสาวรีย์ที่เกิดจากการเรียกร้องของคนเชียงใหม่ที่ต้องการมีอนุสาวรีย์ไว้รำลึกถึงวีรบุรุษในประวัติศาสตร์ของตัวเอง แต่อีกทางหนึ่งก็เป็นการเพิ่มบทบาทของพ่อขุนรามคำแหงให้เป็นที่เข้าใจว่าเป็นผู้ร่วมสร้างเมืองเชียงใหม่ ทั้งที่เป็นเพียงผู้ได้รับเชิญมาสังเกตการณ์ ทั้งยังมีความเห็นขัดแย้งกันกับพญามังรายผู้เป็นเจ้าภาพหลักในการสร้างด้วย นับเป็นการลดทอนบทบาทของพญามังรายซึ่งเป็นกษัตริย์ล้านนา และเป็นการผูกประวัติศาสตร์ล้านนาไว้กับประวัติศาสตร์สยาม ทั้งที่ล้านนาก็อาจมีประวัติศาสตร์อันเป็นอิสระและสัมพันธ์กับประวัติศาสตร์ของดินแดนอื่นๆ นอกจากสยามได้เช่นกัน ความอิหลักอิเหลื่อของนัยการเมืองเบื้องหลังอนุสาวรีย์สามกษัตริย์อาจเป็นภาพสะท้อนความอิหลักอิเหลื่ออาจเป็นภาพสะท้อนความอิหลักอิเหลื่อของการเบื้องหลังอักขรวิธีล้านนาและสภาพความรู้ว่าด้วยประวัติศาสตร์ล้านนาโดยภาพรวมในปัจจุบัน นั่นก็คือมีพื้นที่มากพอจะมีประวัติศาสตร์ของตัวเอง แต่ต้องเป็นประวัติศาสตร์ใต้ร่มพระบารมีที่จะต้องยึดติดผูกโยงกับส่วนกลางเท่านั้น จะริอ่านแหกกรอบเป็นประวัติศาสตร์อิสระไปไม่ได้

การเมืองจึงเป็นเรื่องที่แทรกอยู่ในทุกมิติของชีวิตแม้ในจุดที่เล็กที่สุด เพราะทุกการกระทำของมนุษย์ย่อมเป็นส่วนหนึ่งของการกระทำในสังคมที่ตกอยู่ภายใต้อำนาจหรืออิทธิพลควบคุมทางใดทางหนึ่ง และสิ่งเล็กๆ ทั้งหลายก็มักเป็นภาพสะท้อนสิ่งใหญ่ๆ ในสังคมได้นั่นเอง

สำหรับวิวาทะ ‘ปัตตานี-ปาตานี’ นี้ ผู้เขียนหวังว่าผู้รู้ผู้สนใจในวงการจะสามารถหาข้อสรุปได้โดยที่ทุกฝ่ายสามารถแสดงข้อมูลข้อคิดเห็นได้เต็มที่โดยไม่มีการปิดกั้น และที่สำคัญคือจะเปลี่ยนหรือจะคงไว้ก็ให้วินิจฉัยกันโดยสังคม มิต้องเกี่ยวข้องกับอำนาจรัฐเฉกเช่นในกรณีของ ‘ลานนา-ล้านนา’


บรรณานุกรม

กรมตำรา. ภูมิศาสตร์ประเทศสยาม. พระนคร: โรงพิมพ์อักษรนิติ, 2468.

ดำรงราชานุภาพ, สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยา. นิทานโบราณคดี. พระนคร: โรงพิมพ์ อักษรสัมพันธ์, 2505.

ตอนที่ 32, “เสภาขุนช้างขุนแผน ฉบับหอพระสมุดวชิรญาณ.https://vajirayana.org/ขุนช้างขุนแผน-ฉบับหอพระสมุดวชิรญาณ/ตอนที่-๓๓-แต่งงานพระไวยพลายงาม.

เนื้ออ่อน ขรัวทองเขียว. “รัฐสยามกับล้านนา พ.ศ.2417-2476.” วิทยานิพนธ์ปริญญาดุษฎีบัณฑิต สาขาวิชาประวัติศาสตร์ ภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2553.

ปรมานุชิตชิโนรส, สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระ. “ลิลิตตะเลงพ่าย.https://vajirayana.org/ลิลิตตะเลงพ่าย.

พริษฐ์ ชิวารักษ์, “ความเป็นมาของคำล้านนาและล้านนาไทยโดยสังเขป” ใน วารสารประวัติศาสตร์ธรรมศาสตร์ ปีที่ 10 ฉบับที่ 1 (มกราคม-มิถุนายน 2023): 79-106

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save