fbpx

ล้านนาปฏิวัติ: การต่อสู้ของตนบุญในประวัติศาสตร์ล้านนา (ตอนสอง)

อ่าน ‘ล้านนาปฏิวัติ: การต่อสู้ของ ‘ตนบุญ’ ในประวัติศาสตร์ล้านนา (ตอนแรก)’ ได้ที่นี่

ท่านใดที่เคยมีโอกาสไปเยี่ยมชมหรือสักการะพระธาตุลำปางหลวงที่วัดพระธาตุลำปางหลวง อำเภอเกาะคา จังหวัดลำปาง อาจสังเกตเห็นว่าตรงแนวรั้วสำริดที่ล้อมรอบองค์พระธาตุอยู่นั้น มีเสารั้วต้นหนึ่งปรากฏรูโหว่บนเสาอยู่สองรู รูทั้งสองดังกล่าวนี้เป็นที่เชื่อกันอย่างกว้างขวางตามที่มีป้ายอธิบายนักท่องเที่ยวระบุว่าเป็นรอยกระสุนปืนที่ ‘ทิพพจักรวเนจร’ หรือ ‘เจ้าพ่อทิพย์ช้าง’ ผู้เป็นต้นตระกูลของราชวงศ์เจ้าเจ็ดตนได้ลั่นไกสังหาร ‘ท้าวมหายศ’ แม่ทัพพม่าที่คุมกำลังจากเมืองลำพูนมาปล้นสะดมโจมตีเมืองนครลำปาง โดยกระสุนดังกล่าวทะลุผ่านร่างของท้าวมหายศไปโดนรั้วพระธาตุจนเกิดเป็นรอยดังกล่าว การสังหารท้าวมหายศครั้งนั้นเป็นเหตุให้กองทัพชาวเมืองลำปางสามารถขับไล่กองทัพของท้าวมหายศจนแตกพ่ายไปได้

เรื่องเล่านี้ได้กลายเป็น ‘วีรกรรมการขับไล่พม่า’ ที่อยู่ในความทรงจำของชาวลำปางและผู้มาเยือนพระธาตุลำปางหลวงจำนวนมาก อย่างไรก็ตาม รอยกระสุนดังกล่าวอาจไม่ได้เป็น ‘รอยกระสุนแห่งอิสรภาพ’ ที่เป็นปฐมบทการปลดแอกเมืองลำปางจากอำนาจของพม่า เช่นเดียวกับที่เจ้าพ่อทิพย์ช้างก็อาจไม่ใช่วีรบุรุษผู้นำพาชาวเมืองนครลำปางต่อสู้กับพม่าจนได้รับชัยชนะด้วย เพราะแท้จริงแล้ว ท้าวมหายศไม่ใช่แม่ทัพพม่า กองทัพของท้าวมหายศก็ไม่ใช่กองทัพพม่า ผู้ที่สั่งให้ท้าวมหายศยกทัพมาโจมตีเมืองนครลำปางก็ไม่ใช่ราชสำนักพม่า อันที่จริง พม่าอาจไม่มีบทบาทอยู่ในเรื่องราวของรอยกระสุนนี้เลย หากแต่เป็น ‘ตนบุญ’ ต่างหากที่เป็นปฐมเหตุต้นเรื่องทั้งหมด

ในตอนที่แล้วของบทความชุดนี้ ผู้เขียนได้กล่าวถึงเรื่องราวของ ‘ตนบุญเทพสิงห์’ ที่ก่อการลุกฮือจนสามารถยึดอำนาจการปกครองเมืองเชียงใหม่มาจากข้าหลวงที่ราชสำนักพม่าแต่งตั้งได้ การสูญเสียอำนาจเหนือเมืองเชียงใหม่ซึ่งเป็นศูนย์อำนาจปกครองในดินแดนล้านนาตอนล่างที่เรียกว่า ‘ล้านนาเชียงใหม่’ ทำให้ราชสำนักพม่าไม่สามารถปกครองบรรดาหัวเมืองในล้านนาส่วนดังกล่าวได้ เป็นผลให้เกิดสภาวะว่างแผ่นดินหรือสุญญากาศทางการเมืองที่แผ่นดินล้านนาตอนล่างแตกออกเป็นหัวเมืองอิสระและเริ่มรบราฆ่าฟันกันเอง เพราะไม่มีใครมีอำนาจมากพอจะสถาปนาตนเป็น ‘องค์อธิปัตย์’ แห่งล้านนาได้เลย ตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่ กล่าวถึงว่าในช่วงเวลาแห่งสุญญากาศดังกล่าว ‘เมืองล้านนาไทยเป็นศึกชุแห่ง’ กล่าวได้ว่าช่วงเวลาดังกล่าวเป็นช่วงที่การเมืองในล้านนาตอนล่างไร้เสถียรภาพอย่างถึงที่สุด

สำหรับสถานการณ์ในเมืองนครลำปาง ณ ขณะนั้นน่าสิ้นหวังเป็นพิเศษอีกยิ่งกว่าเมืองอื่นๆ เพราะ ‘หาเจ้าบ่ได้’ คือไม่มีใครมีสิทธิ์ขาดเป็นเจ้าเมืองผู้ปกครอง มีเพียงกรมการหรือขุนนางประจำเมืองที่เรียกว่า ‘พ่อเมืองทั้งสี่’ ได้แก่ แสนหนังสือ แสนเทพ นายเมือง และจเรน้อย คอยแบ่งสรรอำนาจว่าการกัน ทำให้ชนชั้นปกครองในเมืองนครลำปางขาดเอกภาพและไม่สามารถเป็นที่พึ่งให้ผู้คนได้ ความอ่อนแอและระส่ำระสายทางการเมืองเช่นนี้เป็นตัวเร่งปฏิกริยาให้ ‘ปรากฏการณ์ตนบุญ’ อุบัติขึ้นเพื่อเติมเต็มช่องว่างแห่งความไร้ที่พึ่งที่เกิดขึ้นในหมู่ผู้คนชาวนครลำปาง

ตนบุญแห่งเมืองนครลำปางที่อุบัติขึ้นมาจะชื่ออะไรนั้น ผู้เขียนยังไม่พบเอกสารใดที่บันทึกชื่อไว้ ทราบแต่ว่าเป็นสวาธุหลวง (เจ้าอาวาส) ของวัดนายาง (ปัจจุบันตั้งอยู่ที่ตำบลนายาง อำเภอสบปราบ จังหวัดลำปาง) กล่าวกันว่าสวาธุหลวงท่านนี้มีวิชาอาคมเข้มขลัง และได้ ‘เลี้ยงพรหมเลี้ยงพราย’ ไว้ และได้รับการสรรเสริญ (หรือไม่ก็สรรเสริญตัวเอง) ว่าเป็นเจ้าตนบุญหรือเป็นผู้มีบุญญาธิการมาอุบัติในโลกมนุษย์ เจ้าตนบุญท่านนี้คงจะได้รับความเคารพศรัทธาในหมู่ชาวเมืองนครลำปางและหัวเมืองรอบข้างเป็นอย่างมาก จึงสามารถรวบรวมบรรดาญาติโยมและศิษยานุศิษย์ตั้งเป็น ‘ชุมนุมตนบุญ’ หรือกองทัพกบฏชาวนาขนาดย่อมๆ กระทั่งสวาธุหลวงของวัดใกล้เคียงได้แก่สวาธุหลวงวัดสามขา (ปัจจุบันตั้งอยู่ที่ตำบลหัวเสือ อำเภอแม่ทะ จังหวัดลำปาง) และสวาธุหลวงวัดบ้านฟ่อน (ปัจจุบันตั้งอยู่ที่ตำบลชมพู อำเภอเมือง จังหวัดลำปาง) ก็ยังได้ลาสิกขาออกมาเป็น ‘เสนาซ้ายขวา’ หรือแม่ทัพมือซ้ายมือขวาของชุมนุมตนบุญดังกล่าวด้วยเช่นกัน

ข่าวการตั้งตัวเป็นตนบุญของสวาธุหลวงวัดนายางเป็นที่เลื่องลือไปจนถึงเมืองลำพูนซึ่งเป็นเมืองอิสระอยู่ ณ ตอนนั้น เจ้าเมืองลำพูนคงจะเกรงว่ากระแสการลุกฮือของตนบุญจะลุกลามมาถึงเมืองลำพูนจึงสั่งการให้ท้าวมหายศที่กล่าวถึงไปตอนต้นบทความคุมกองทหารมาปราบปรามชุมนุมของตนบุญสวาธุหลวงนายาง ตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่ และ ตำนานเจ้าเจ็ดตน กล่าวตรงกันว่ากองทัพเมืองลำพูนของท้าวมหายศเข้าปะทะกับกองทัพเมืองนครลำปางของตนบุญสวาธุหลวงนายางอยู่ที่บริเวณที่ชื่อว่าป่าตัน ซึ่งอาจารย์สักเสริญ รัตนชัยให้ความเห็นไว้ว่าคือวัดป่าตันกุมเมือง ตำบลปงแสนทอง อำเภอเมือง จังหวัดลำปาง

ผลการรบปรากฏว่ากองทัพลำพูนสามารถปราบปรามชุมนุมตนบุญสวาธุหลวงนายางได้ ชาวเมืองนครลำปางในชุมนุมต่างแยกย้ายกันหนีไปคนละทิศทาง ส่วนตัวตนบุญสวาธุหลวงนายางนั้นหนีไปยังวิหารของ ‘วัดหลวงลำปาง’ หรือวัดพระธาตุลำปางหลวง แต่ฝ่ายลำพูนก็สามารถตามหาจนพบและล้อมวัดพระธาตุลำปางหลวงไว้ได้ ในช่วงใกล้รุ่งของวันนั้น ตนบุญสวาธุหลวงนายางพร้อมทั้งเสนาขวาซ้ายคืออดีตสวาธุหลวงวัดสามขาและวัดบ้านฟ่อนจึงพากันหลบหนีฝ่าวงล้อมของกองทัพลำพูนออกมา แต่ฝ่ายลำพูนก็ยังไล่ติดตามได้ทัน ตนบุญสวาธุหลวงนายางและเสนาขวาซ้ายจึงได้เข้าต่อสู้กับทหารลำพูน กระนั้น เป็นคราวเคราะห์ของฝ่ายของตนบุญที่มีอาวุธเพียงแค่ไม้กระบองและไม้ไผ่ที่เหลาไว้ปักเป็นรั้วนาเท่านั้น ตนบุญสวาธุหลวงนายางพร้อมทั้งเสนาขวาซ้ายจึงต้องกระสุนปืนของทหารฝ่ายลำพูนเสียชีวิตในที่สุด

เมื่อสามารถปราบปรามชุมนุมตนบุญชาวเมืองนครลำปางของตนบุญสวาธุหลวงวัดนายางได้แล้ว ท้าวมหายศก็ใช้วัดพระธาตุลำปางหลวงเป็นสถานที่ตั้งค่ายพักทัพ และถือโอกาส ‘ลักไก่’ ให้ทหารลำพูนไปตระเวนเก็บเอา ‘ค่าหลังค่าคอ’ คือภาษีบ้านและภาษีรายหัว (poll tax) เป็นกรณีพิเศษจากชาวเมืองนครลำปาง พร้อมทั้งทำร้ายและสังหารชาวเมืองที่ไม่ยอมจ่ายภาษีตามคำสั่งของกองทัพลำพูน อย่างไรก็ตาม บริเวณในเวียงหรือตัวเมืองในแนวกำแพงยังคงอยู่ภายใต้การควบคุมของคณะพ่อเมืองทั้งสี่ เป็นอุปสรรคต่อการปล้นสะดมของกองทัพลำพูน ท้าวมหายศจึงได้วางกลให้ขุนทหารของตนชื่อหาญฟ้าแมบ หาญฟ้าง้ำ และหาญฟ้าฟื้นทำทีเป็นตัวแทนของท้าวมหายศเข้าไปเจรจากับคณะพ่อเมือง แต่เมื่อทั้งสองฝ่ายได้ออกมาพบกันที่ ‘เค้าสนามหลวง’ หรือที่ทำการเมืองแล้ว ขุนทหารทั้งสามพร้อมไพร่พลที่ติดตามมาด้วยกลับบุกเข้าจ้วงแทงขุนนางฝ่ายเมืองนครลำปางจนแสนหนังสือเสียชีวิตลงอยู่คาเค้าสนามหลวงนั่นเอง เหตุสะเทือนขวัญดังกล่าวเป็นผลให้ชาวเมืองและกลุ่มขุนนางต่างพากันตื่นตกใจและพากันหนีภัยไปหลบซ่อนอยู่ยังเมืองใกล้เคียง เช่น เมืองต้า เมืองลอง เมืองจาง เมืองเมาะ เป็นต้น

ท่ามกลางความวุ่นวายดังนี้เอง สวาธุหลวงของวัดชมพูหรือวัดชมพูหลวง ตำบลชมพู อำเภอเมือง จังหวัดลำปาง มีความคิดว่าจะลาสิกขาออกมาจับอาวุธนำชาวเมืองที่เหลืออยู่เข้าสู้กับกองทัพลำพูน อย่างไรก็ตาม ครั้งนี้ชาวเมืองได้ทัดทานไว้และขอให้ท่านสวาธุหลวงเป็นผู้ออกความคิดอยู่เบื้องหลังแทน เป็นอันว่าสวาธุหลวงวัดชมพูไม่ต้องตั้งตนเป็นเจ้าตนบุญตามสวาธุหลวงวัดนายางไปอีกท่าน สวาธุหลวงวัดชมพูจึงได้ไปเชิญนายทิพพจักรวเนจรหรือ ‘หนานทิพย์ช้าง’ (หนานหรือขนานแปลว่าทิดหรือผู้ที่เคยบวชพระแล้วสึกออกมาเป็นฆราวาส) พรานช้างชาวบ้านปงยางคก (ตำบลปงยางคก อำเภอห้างฉัตร จังหวัดลำปาง) มาเป็นหัวหน้าผู้นำทัพต่อสู้กับกองทัพลำพูน ซึ่งหนานทิพย์ช้างผู้นี้ก็ได้ตกลงรับคำเชิญของสวาธุหลวงวัดชมพูโดยมีเงื่อนไขว่าหากสามารถขับไล่กองทัพลำพูนออกไปได้แล้ว จะขอตำแหน่งเจ้าเมืองนครลำปางเป็นรางวัลตอบแทน

เมื่อสวาธุหลวงวัดชมพูและชาวเมืองนครลำปางตกลงตามนั้น หนานทิพย์ช้างจึงได้คัดเลือกเอาคนมีฝีมือทางการต่อสู้และวิชาอาคมมาแต่งตั้งให้เป็นขุนพล ได้แก่ หนานชัย น้อยชัย และหนานนันทะ แต่งตั้งให้เป็นหมื่นชิต หมื่นยศ ชับทะ ตามลำดับ (ชับ เป็นตำแหน่งในกองทัพระดับหนึ่ง อาจเทียบเท่าได้กับตำแหน่งนายสิบ) นอกจากนี้ยังปรากฏตำนานมุขปาฐะว่ามีชื่อของหนานทิพพลและหนานอินถาแห่งบ้านหัวเสือและบ้านนายาบเข้าร่วมทัพด้วยเช่นกัน

หนานทิพย์ช้างรวบรวมกำลังผู้คนมาตั้งเป็นทัพได้ราว 300 คนก็หาฤกษ์งามยามดีนำทัพเข้าไปซุ่มล้อมรอบวัดพระธาตุลำปางหลวง ส่วนตัวหนานทิพย์ช้างนั้นสะพายปืนแอบมุดรางระบายน้ำด้านหลังวัดเข้าไปในวัดพระธาตุลำปางหลวง เมื่อเข้าไปได้แล้วก็แสร้งร้องถามหาท้าวมหายศโดยอ้างว่านำสาส์นจากภรรยาของท้าวมหายศมามอบให้ เมื่อท้าวมหายศซึ่งกำลังนั่งเล่นหมากรุกอยู่ที่ชานวิหารวัดพระธาตุลำปางหลวง (การเล่นหมากรุกในวัดถือเป็นการกระทำที่ไม่เหมาะสมยิ่งในสายตาคนล้านนา) ขานรับตอบกลับหนานทิพย์ช้าง หนานทิพย์ช้างก็ชักปืนที่สะพายติดตัวมายิงเข้าไปถูกโคนขาของท้าวมหายศสิ้นชีวิตทันที เมื่อไพร่พลที่ซุ่มรออยู่นอกวัดพระธาตุลำปางหลวงได้ยินเสียงกระสุนของหนานทิพย์ช้างแล้วก็พากันยิงอาวุธต่างๆ รวมถึงปืนใหญ่พกมือ (hand cannon) เข้าไปในวัดพระธาตุลำปางหลวง จนเกิดความวุ่นวายภายในกองทัพเมืองลำพูนถึงขนาดฆ่าฟันกันเองในกองทัพ กองทัพเมืองลำพูนต่างละทิ้งข้าวของเงินทองแล้วพากันหนีออกมาจากวัดพระธาตุลำปางหลวง แต่ก็ปะทะกับกองทัพเมืองนครลำปางที่ดักรออยู่และตามไปตีจนถึงปากกองหลวง (อาจารย์ธวัชชัย ทำทองสันนิษฐานว่าคือช่องเขาดอยปางม่วงที่เป็นเส้นทางเดินทางระหว่างเมืองลำพูนและนครลำปาง) กองทัพเมืองลำพูนจึงแตกพ่ายย่อยยับกลับเมืองลำพูนไป

ภายหลังเหตุการณ์ดังกล่าว ชาวเมืองนครลำปางได้สถาปนาหนานทิพย์ช้างให้เป็นเจ้าเมืองนครลำปาง ออกนามว่า ‘พญาสุลวฦๅไชย’ ซึ่งหลานชายเจ็ดคนของพญาสุลวฦๅไชยที่เกิดจากลูกชายพญาสุลวฦๅไชยชื่อเจ้าฟ้าชายแก้วจะได้มีบทบาทในการนำทัพต่อสู้กับพม่าและสถาปนาราชวงศ์เจ้าเจ็ดตนครองนครเชียงใหม่ นครลำปาง และนครลำพูนต่อไป ส่วนกระสุนที่ยิงท้าวมหายศนั้น ก็มีมุขปาฐะเล่าขานกันว่าได้ทะลุโคนขาของท้าวมหายศไปถูกรั้วพระธาตุลำปางหลวงเป็นรอยปรากฏถึงทุกวันนี้ตามที่ได้กล่าวถึงไปต้นบทความ

จะเห็นได้ว่าการต่อสู้ของหนานทิพย์ช้างไปจนถึงเหตุการณ์สังหารท้าวมหายศอันจะนำมาสู่การก่อเกิดอำนาจของราชวงศ์เจ้าเจ็ดตนนั้น แทบไม่มีส่วนไหนเกี่ยวข้องกับพม่า และไม่ใช่การต่อสู้เพื่อปลดแอกหรือขับไล่พม่าแต่อย่างใด หากเป็นเรื่องการกระทบกระทั่งระหว่างหัวเมืองอิสระในยุคบ้านแตกสาแหรกขาดที่เกิดจากความระแวงของชนชั้นปกครองต่างเมืองที่มีต่อการลุกฮือของผู้คนในรูปแบบของ ‘ตนบุญ’ และที่สำคัญ สิ่งแรกๆ ที่พญาสุลวฦๅไชยทำในฐานะเจ้าเมืองนครลำปางก็คือการส่ง ‘ดอกไม้กันต่อ’ หรือดอกไม้เงินดอกไม้ทองไปเป็นบรรณาการให้ราชสำนักพม่าที่เมืองอังวะเพื่อขอฝากตัวพร้อมทั้งเมืองนครลำปางให้อยู่ภายใต้การคุ้มครอง (จากเมืองอื่น) ของพม่านั่นเอง


บรรณานุกรม

ธวัชชัย ทำทอง, ปริวรรตและเรียบเรียง, รวมวรรณกรรมบันทึกเหตุการณ์ประวัติศาสตร์นครลำปาง. ลำปาง: สำนักศิลปและวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยราชภัฏลำปาง, 2564.

สงวน โชติสุขรัตน์, ตำนานเจ้าเจ็ดตน. เชียงใหม่: สงวนการพิมพ์, 2511.

ศักดิ์ รัตนชัย, ประวัติวัดป่าตันกุมเมือง ฉบับสมาคมเพื่อการรักษาสมบัติวัฒนธรรมลำปาง. ลำปาง: ม.ป.พ., 2539. (พิมพ์เผยแพร่ในงานฉลองผ้าป่าลูกเถลิง ต๊ะวิชัย)

อรุณรัตน์ วิเชียรเขียว และ เดวิด เค. วัยอาจ, ตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่. พิมพ์ครั้งที่ 2. (เชียงใหม่: ซิลค์เวอร์มบุ๊คส์, 2547)

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save