fbpx

รัฐประหารวันจักรี: ยึดอำนาจกรุงธนบุรี สะเทือนถึงล้านนา

พ.ศ.2325 มักเป็นที่จดจำโดยทั่วไปว่าเป็นปีที่เกิดการรัฐประหารครั้งใหญ่ขึ้นในกรุงธนบุรี กลุ่มอำนาจเชื้อสายผู้ดีกรุงเก่านำโดย ‘เจ้าพระยาสองพี่น้อง’ ได้แก่เจ้าพระยาจักรีผู้พี่และเจ้าพระยาสุรสีห์ผู้น้องรวมกำลังกันยึดอำนาจในกรุงธนบุรี ซึ่งกำลังตกอยู่ในจลาจลจากการก่อกบฏของพระยาสรรค์ และนำตัวพระเจ้ากรุงธนบุรีไปสำเร็จโทษก่อนที่จะปราบดาภิเษก ‘เจ้าพระยาผู้พี่’ ขึ้นเป็นกษัตริย์องค์ใหม่ในวันที่ 6 เมษายน (วันจักรีในปัจจุบัน) นับเป็นการสถาปนาระบอบอำนาจใหม่อันมั่นคงเหนือบ้านเมืองภายใต้จักรวรรดิสยามซึ่งขยายตัวอย่างรวดเร็วภายในเวลาเพียงสิบห้าปี และเป็นจุดเริ่มต้นของราชตระกูลจักรีซึ่งครองราชบัลลังก์อยู่จนปัจจุบัน นับเป็นปีที่สำคัญปีหนึ่งในหน้าประวัติศาสตร์สยาม

นอกจากนั้น ปีเดียวกันนี้ยังเป็นปีที่สำคัญยิ่งในประวัติศาสตร์ล้านนา เพราะเป็นปีที่ ‘พญาช้างเมืองเหนือ’ ผลัดตระกูลตาม ‘พญาเสือเมืองใต้’ เช่นกัน กล่าวคือ เป็นปีที่สายตระกูลทิพจักราธิตระกูลหรือที่รู้จักในนามเจ้าเจ็ดตนขึ้นมามีอำนาจเหนือล้านนาตะวันตกทั้งสามนคร ได้แก่ นครลำปาง ลำพูน และเชียงใหม่ โดยสมบูรณ์

ต้องเท้าความเสียก่อนว่าใน พ.ศ.2317 พระยาจ่าบ้าน (บุญมา) ขุนนางผู้ใหญ่ในเมืองเชียงใหม่คนหนึ่งได้ชักชวน ‘หนานกาวิละ’ (ในเอกสารฝ่ายสยามเรียกว่านายกาวิละ) บุตรคนโตของเจ้าฟ้าชายแก้วเมืองนครลำปางพากันสวามิภักดิ์ต่อพระเจ้ากรุงธนบุรี โดยในพื้นเมืองเชียงใหม่กล่าวว่าพระยาจ่าบ้านเป็นผู้ลงไปถวายบังคมพระเจ้ากรุงธนบุรีถึงกรุงธนบุรีเองเพื่อ ‘ชักทัพใต้’ ขึ้นมาตีเมืองเชียงใหม่ ส่วนพระยากาวิละรั้งทัพไว้ เมื่อทัพผสมล้านนาและกรุงธนบุรีเข้าตีเมืองเชียงใหม่แตกแล้ว พระเจ้ากรุงธนบุรีจึงสถาปนาพญาจ่าบ้านให้เป็น ‘พระยาหลวงวิเชียรปราการ’ พร้อมทั้งทำพิธีอุสสาภิเษกสถาปนาขึ้นเป็น ‘เจ้าแผ่นดินเชียงใหม่’ ที่วัดพระธาตุหริภุญไชยตามจารีตล้านนา พร้อมทั้งสถาปนาหนานกาวิละให้เป็นพระยากาวิละ ครองเมืองนครลำปาง โดยให้ทั้งสองเป็น ‘พระยาประเทศราช’ ของพระเจ้ากรุงธนบุรี เท่ากับว่าล้านนา (ในส่วนที่อยู่ใต้อำนาจสยาม) ถูกแบ่งออกเป็นสองส่วนได้แก่เชียงใหม่และนครลำปาง และอยู่ภายใต้การปกครองของสองสายตระกูล ได้แก่สายตระกูลของพระยาจ่าบ้านหรือพระยาหลวงวิเชียรปราการ และสายตระกูลของพระยากาวิละและน้องชายทั้งหก (รวมเป็นเจ้าเจ็ดตน) โดยเหมือนว่าฝ่ายพระยาหลวงวิเชียรปราการจะมีภาษีดีกว่าเล็กน้อย เพราะผ่านพิธีอุสสาภิเษกขึ้นเป็น ‘เจ้าแผ่นดิน’ อย่างเป็นทางการ

กระนั้นในเวลาต่อมา ทั้งพระยาหลวงวิเชียรปราการและพระยากาวิละจะเกิดข้อขัดแย้งกับพระเจ้ากรุงธนบุรีจนถูกเรียกตัวลงมาที่กรุงธนบุรีใน พ.ศ.2322 ทั้งสองคนถูกพระเจ้ากรุงธนบุรีลงโทษด้วยการโบยตีคนละร้อยครั้งและจำคุกไว้จนสิ้นรัชกาล โดยตัวพระยากาวิละนั้นให้ลงโทษถึงขั้นปาดขอบหูด้วย อย่างไรก็ตาม น่าสนใจทีเดียวว่าในปีที่เกิดรัฐประหารกรุงธนบุรีขึ้นนั้น พระยาหลวงวิเชียรปราการก็ถึงแก่พิราลัย (เสียชีวิต) ลง โดยในพื้นเมืองเชียงใหม่กล่าวว่าพระยาหลวงวิเชียรปราการเป็นพยาธิ์ (ป่วย) จึงถึงแก่กรรมในที่คุมขังนั้นเอง ส่วนพระยากาวิละนั้นได้รับการปล่อยตัวออกจากที่คุมขัง นอกจากนี้ยังได้รับการแต่งตั้งเป็น ‘พระยามังรายวชิรปราการกำแพงแก้ว’ และได้รับการอภิเษกเป็นกษัตริย์ล้านนาเชียงใหม่แทนพระยาหลวงวิเชียรปราการเดิม เชื้อตระกูลเจ้าเจ็ดตนของพระยากาวิละจึงได้ครองตำแหน่งเจ้านครเชียงใหม่ไปจนล้มเลิกระบบประเทศราช น่าสนใจว่าตำแหน่งนี้ไม่ได้สืบทอดถึงสายตระกูลของพระยาจ่าบ้านหรือพระยาหลวงวิเชียรปราการองค์เดิม

เพราะเหตุใดพระยากาวิละจึงไม่เพียงแต่ได้รับอิสระแต่ยังได้รับการสมนาคุณเพิ่มตำแหน่งเพิ่มขั้นหลังการรัฐประหารเช่นนั้น?

คงจะเป็นเพราะเชื้อสายของพระยากาวิละมีส่วนร่วมในปฏิบัติการยึดอำนาจพระเจ้ากรุงธนบุรีดังกล่าวด้วย ดังที่พื้นเมืองเชียงใหม่ได้กล่าวอีกว่าในระหว่างที่เกิดจลาจลพระยาสรรค์ในกรุงธนบุรีนั้น เจ้าครอกศรีอโนชา ผู้เป็นน้องสาวของพระยากาวิละ ได้ระดมพลชาวล้านนาที่ถูกกวาดต้อนมาอยู่ที่ปากเพียว (สระบุรี) เข้ามาจับตัวพระยาสรรค์ไว้ได้และ ‘หงายเมือง’ ไว้รอให้เจ้าพระยาสองพี่น้องกลับมาระงับสถานการณ์อันนำไปสู่การปราบดาภิเษกตั้งราชตระกูลใหม่

เจ้าครอกศรีอโนชาผู้นี้เป็นใคร? เหตุใดจึงยืนอยู่ข้างเจ้าพระยาสองพี่น้องในการรัฐประหารกรุงธนบุรี?

เจ้าครอกศรีอโนชาผู้นี้ บ้างก็บันทึกนามไว้ว่าเจ้ารจนาหรือเจ้ารจจา เป็นธิดาของเจ้าฟ้าชายแก้วและเป็นน้องสาวของพระยากาวิละและน้องชายทั้งหก กล่าวคือเป็นน้องสาวของ ‘เจ้าเจ็ดตน’ นั่นเอง ในครั้งที่เจ้าพระยาสองพี่น้องติดตามทัพหลวงพระเจ้ากรุงธนบุรีไปตีเมืองเชียงใหม่ เจ้าพระยาสุรสีห์มีใจรักใคร่กับเจ้าศรีอโนชา พระยากาวิละโดยความเห็นชอบของเจ้าฟ้าชายแก้วจึงได้ ‘ถวาย’ ให้เป็นภรรยาของเจ้าพระยาสุรสีห์ เท่ากับว่าตระกูลเจ้าเจ็ดตนนั้น ‘ดอง’ กันอยู่กับตระกูลของเจ้าพระยาสองพี่น้อง สายสัมพันธ์กินดองดังกล่าวย่อมนำมาสู่การสร้างพันธมิตรทางการเมืองเหนือใต้ในการก่อรัฐประหารกรุงธนบุรีเช่นนี้ด้วย

และไม่ว่าพระยาจ่าบ้านจะถึงแก่กรรมตามธรรมชาติหรือไม่ก็ตาม ก็ย่อมไม่แปลกที่หลังการรัฐประหารกรุงธนบุรีลุล่วงไปแล้ว ‘เจ้าพระยาผู้พี่’ ซึ่งบัดนี้เป็นจักรพรรดิราชสยามจะแต่งตั้ง ‘พี่เขย’ ของ ‘เจ้าพระยาผู้น้อง’ ซึ่งบัดนี้เป็นกรมพระราชวังบวรสถานมงคลให้ได้เป็นเจ้าประเทศราชล้านนา แทนที่พระยาจ่าบ้านซึ่งเป็นคนเคยสนิทของพระเจ้ากรุงธนบุรี เคยไปมาหาสู่กับพระเจ้ากรุงธนบุรีบ่อยครั้ง และเป็นคนที่พระเจ้ากรุงธนบุรีแต่งตั้ง ทั้งเพื่อเป็นรางวัลตอบแทนที่เข้าร่วมรัฐประหารและเป็นการกระชับความสัมพันธ์ระหว่าง ‘ระบอบใหม่’ ของทั้งลุ่มน้ำเจ้าพระยาตอนล่างและตอนบน

สายสัมพันธ์ทางเครือญาติผ่านเจ้าครอกศรีอโนชายังเป็นตัวแปรกำหนดความแน่นแฟ้นและความเหินห่างระหว่าง ‘พญาช้างเมืองเหนือ’ และ ‘พญาเสือเมืองใต้’ อีกหลายครั้ง ซึ่งผู้เขียนเข้าใจว่าจะมีผู้ที่ทราบเรื่องดีกว่าผู้เขียนได้เขียนอธิบายในโอกาสถัดไป

ส่วนเรื่องราวของพระยาจ่าบ้านนั้น ผู้เขียนเองก็ไม่ทราบว่าพระยาจ่าบ้านมีผู้สืบสายตระกูลหรือไม่ หรือเกิดอะไรขึ้นกับสายตระกูลดังกล่าว เพราะเอกสารประวัติศาสตร์ซึ่งส่วนมากชำระภายใต้อำนาจของตระกูลเจ้าเจ็ดตนย่อมยกย่องพระยากาวิละ ในขณะที่ละเลยพระยาจ่าบ้าน และหลังการเปลี่ยนสายตระกูลผู้ปกครองก็ไม่ได้กล่าวถึงสายตระกูลของพระยาจ่าบ้านอีกเลย


เอกสารอ้างอิง

พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม) และเอกสารอื่น. นนทบุรี : ศรีปัญญา, 2553.

อรุณรัตน์ วิเชียรเขียว และ เดวิด เค. วัยอาจ, ตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่. พิมพ์ครั้งที่ 2. (เชียงใหม่: ซิลค์เวอร์มบุ๊คส์, 2547)

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save