fbpx

ตำนานล้านนากับบ้านเมืองก่อนมีราชอาณาจักร

ผู้สนใจศึกษาประวัติศาสตร์มักคุ้นเคยกับหลักฐานประเภทพงศาวดารในฐานะบันทึกที่บอกเล่าเหตุการณ์และเรื่องราวต่างๆ ไว้ตามลำดับเวลา เพราะการศึกษาประวัติศาสตร์ไทยโดยทั่วไปใช้หลักฐานประเภทนี้เป็นหลักในการศึกษา อย่างไรก็ตาม พงศาวดารฉบับต่างๆ ล้วนเป็นประวัติศาสตร์ของราชสำนัก กล่าวคือเป็นเอกสารที่เรียบเรียง (ชำระ) ขึ้นตามบัญชาของกษัตริย์ต่างๆ พงศาวดารจึงมักจะบันทึกเหตุการณ์บ้านเมืองที่เกี่ยวเนื่องหรือเกิดขึ้นภายใต้กษัตริย์เป็นหลัก แน่นอนว่าเรื่องราวที่เกิดขึ้นนอกราชสำนักย่อมไม่ถูกกล่าวถึงมากนักในพงศาวดาร และเรื่องที่เกิดขึ้นก่อนจะมีราชสำนักย่อมเกินกว่าวิสัยของพงศาวดารที่จะบันทึกไว้ได้ทั้งหมด นักประวัติศาสตร์หลายคนตั้งแต่จิตร ภูมิศักดิ์เป็นต้นมาจึงศึกษาประวัติศาสตร์จากหลักฐานประเภทอื่นๆ เช่น ตำนาน ซึ่งเป็นความทรงจำร่วมของคนหมู่มากที่ถูกเล่าต่อกันมายาวนาน เพื่อเติมเต็มภาพอดีตที่พงศาวดารอาจไม่บันทึกไว้

ในการศึกษาประวัติศาสตร์ล้านนาเองก็มีตำนานหลายเรื่องที่เติมเต็มช่องโหว่ที่พงศาวดาร (หรือที่เรียกว่า ‘พื้นเมือง’ ในภาษาล้านนา – พื้นแปลว่าเรื่องราว พื้นเมืองคือเรื่องราวของเมือง) เว้นว่างเอาไว้ อันที่จริงแล้ว สำหรับชาวล้านนา ตำนานและประวัติศาสตร์ไม่ได้แยกขาดจากกัน เอกสารทางประวัติศาสตร์บางชิ้นก็เป็นทั้งตำนานและพื้นเมืองในฉบับเดียวกัน เช่น ตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่ ซึ่งเป็นเอกสารสำคัญในการศึกษาประวัติศาสตร์ล้านนา มีส่วนต้นเป็นตำนานกล่าวถึงลำดับราชวงศ์ลาวซึ่งเป็นราชวงศ์ในตำนานและเป็นบรรพบุรุษของราชวงศ์มังราย และส่วนหลังเป็นพื้นเมืองบันทึกเรื่องราวของกษัตริย์และบ้านเมืองอย่างเป็นระบบ เราจะไม่อาจเห็นภาพกว้างของประวัติศาสตร์ล้านนาได้เลยหากอ่านเฉพาะส่วนที่เป็นตำนานหรือพื้นเมืองเพียงส่วนใดส่วนหนึ่ง ไม่เพียงเท่านั้น ตำนานยังช่วยฉายภาพความสัมพันธ์ระหว่างต่างสถานที่และต่างกลุ่มคนให้เชื่อมร้อยเข้าหากัน เพราะตำนานเรื่องหนึ่งก็มักจะเป็นส่วนต่อมาจากตำนานเรื่องอื่น และอาจส่งเรื่องต่อไปยังตำนานอีกเรื่องหนึ่งเช่นกัน

ตำนานสิงหนติ (บางท่านเรียกว่า ตำนานสิงหนวัติกุมาร) ก็เป็นตำนานเรื่องหนึ่งที่เข้าข่ายนี้ คือตัวตำนานกล่าวถึงความเป็นมาของเมืองโยนกเชียงแสน หรือ โยนกนาคพันธุ์ แว่นแคว้นโบราณของชาวล้านนาที่เคยตั้งขึ้นและล่มสลายไปก่อนหน้าที่จะมีการสถาปนาอาณาจักรล้านนาอย่างเป็นทางการ หลงเหลือไว้เพียงความทรงจำที่เล่าต่อกันมาในรูปแบบตำนาน แต่ความทรงจำในตำนานดังกล่าวกลับไม่ได้มีเพียงเรื่องเมืองโยนกเพียงเมืองเดียว แต่ยังเกี่ยวพันกับความทรงจำว่าด้วยการตั้งบ้านเมืองของแว่นแคว้นอื่นๆ ด้วยเช่นกัน ชื่อของตัวละครในตำนานล้านนาเรื่องนี้ ก็ยังปรากฏในตำนานเรื่องอื่นๆ ทั้งของคนล้านนาและคนไทกลุ่มอื่นๆ ด้วย กระทั่งเนื้อหาในตำนานก็อาจเป็นส่วนสำคัญในการหาคำตอบว่า ‘คนไทยมาจากไหน’ ได้ด้วยเช่นกัน ผมจึงคิดว่าควรเขียนเล่าเรื่องตำนานนี้พอสังเขปให้ทุกท่านได้ลองพินิจพิเคราะห์ เผื่อจะเป็นประโยชน์ในการมองสายใยความสัมพันธ์ยุคโบราณของผู้คนกลุ่มต่างๆ ได้ต่อไป

ปฐมบทโยนกเชียงแสน

เรื่องราวของตำนานสิงหนติเริ่มต้นด้วยการอพยพของผู้คนภายใต้การนำของเจ้าชายองค์หนึ่งชื่อ ‘สิงหนติ’ ตำนานกล่าวว่าเจ้าชายสิงหนติผู้นี้เป็นบุตรของท้าวกาลเทวราช ผู้ครองอาณาจักรไทยเทศ อันมีเมืองราชคฤห์เป็นศูนย์กลาง เจ้าชายสิงหนติเป็นบุตรคนรอง ไม่ได้รับราชสมบัติจากบิดาจึงพาช้างม้าข้าคนอพยพมาทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ข้ามแม่น้ำสรภู มาถึงที่แห่งหนึ่งใกล้ฝั่งน้ำแม่ของ (แม่น้ำโขง) มีแม่น้ำสายใหญ่ สายกลาง สายเล็ก เป็นถิ่นที่ตั้งของชาวมิลักขุ และกล่าวกันว่าเป็นที่ตั้งเดิมของเมืองสุวรรณโคมคำ ซึ่งได้ล่มสลายไปแล้วก่อนหน้านั้น เมื่อเจ้าชายสิงหนติมาตั้งค่ายพักแรมในบริเวณดังกล่าวก็ได้พบกับพญานาคเจ้าถิ่นชื่อพันธุนาคราช ผู้ซึ่งแปลงกายเป็นพราหมณ์มาชี้แนะให้เจ้าชายสิงหนติสร้างบ้านแปงเมืองในถิ่นของตน โดยตัวพญาพันธุนาคราชเองได้ใช้อิทธิฤทธิ์เลื้อยไปตามแผ่นดินให้เกิดรอยเลื้อยลึกเป็นร่อง เจ้าชายสิงหนติจึงได้ใช้ร่องนั้นเป็นคูเมืองและตั้งบ้านเมืองอยู่ที่นั่น และตั้งชื่อเมืองว่าพันธุสีหนตินคร (หรือที่ต่อมาเรียกว่าโยนกนาคพันธุ์ หรือ โยนกเชียงแสน) ตามชื่อของตนและชื่อของพญานาคนั่นเอง

ตำนานท่อนนี้แสดงให้เราเห็นว่า ‘คนไท’ ในความหมายว่าเป็นคนพูดภาษาไทกินอยู่และแต่งตัวอย่างไท รวมถึงมีความเชื่อแบบไทน่าจะเคยมีถิ่นฐานที่อื่นก่อนจะมาตั้งถิ่นฐานในบริเวณตอนเหนือของประเทศไทยในปัจจุบัน เจ้าชายสิงหนติและคณะเป็นสัญลักษณ์แทนผู้อพยพกลุ่มแรกๆ อาณาจักรไทยเทศแปลตามตัวคือสถานที่ (เทศ) ของคนไท (ไทย) ในตำนานไม่ได้บอกชัดเจนว่าอยู่ตรงไหน สถานที่ต่างๆ ที่ประกอบทั้งเมืองราชคฤห์และแม่น้ำสรภูล้วนแล้วแต่อยู่ในอินเดียและเกี่ยวเนื่องกับพุทธประวัติทางใดทางหนึ่ง แต่คงจะไม่ได้หมายความว่าคนไทมาจากอินเดียจริงๆ เพราะการเขียนตำนานในอดีตมักมีลักษณะ ‘จับบวช’ คือแต่งเติมสีสันให้ดูเป็นเรื่องราวทางพุทธศาสนาเพื่ออรรถรสในการอ่าน หากอ่านเทียบตำนานอื่นน่าจะเป็นหนองแสหรือเมืองทางยูนนานมากกว่า และเหตุแห่งการอพยพนั้นก็ไม่น่าใช่การหนีภัยสงครามแต่เป็นการขยายเผ่าพันธุ์ตามปกติ เพราะตำนานกล่าวว่านครไทยเทศเป็นเมืองอันเจริญรุ่งเรือง มีผู้คนมาก ท้าวเทวกาลจึงให้ลูกๆ ทั้งหลายที่ไม่ได้สมบัติแยกย้ายกันออกไปตั้งบ้านเมืองของตน ตำนานอันเกี่ยวข้องกับบรรพชนคนไทเรื่องอื่นๆ เช่น ตำนานขุนบรมขุนลอของล้านช้างก็กล่าวถึงการแยกย้ายสร้างเมืองในหมู่พี่น้องเช่นกัน

นอกจากนี้ ตำนานสิงหนติยังบอกเราอีกว่าก่อนที่คนไทจะอพยพเข้ามายังแคว้นโยนกเชียงแสนนั้น บริเวณที่ปัจจุบันเป็นล้านนาตอนบน (เชียงราย-เชียงแสน) ก็มีคนกลุ่มอื่นๆ มาตั้งบ้านตั้งเมืองอยู่แล้ว ชาวมิลักขุที่ตำนานกล่าวถึงนั้นคือชาวลัวะหรือ ละว้า ซึ่งตำนานอื่นๆ ทั้งของล้านนาและวัฒนธรรมอื่นต่างกล่าวตรงกันว่าเป็นเจ้าถิ่นที่อยู่มาก่อนคนไทจะอพยพมา แต่ชาวลัวะนิยมตั้งชุมชนขนาดเล็กในป่าเขา ไม่นิยมตั้งเมืองใหญ่ๆ มาจนถึงปัจจุบัน ในหมู่คนที่นิยมการตั้งเมืองนั้น ตำนานกล่าวถึงเมืองโบราณของชาวกรอม หรือก็คือขอม ซึ่งร่วมรุ่นกันสองเมืองได้แก่ สุวรรณโคมคำ และ อุโมงคเสลา

เมืองสุวรรณโคมคำร้างไปก่อนที่เจ้าชายสิงหนติจะมาถึง ตำนานไม่ได้ระบุชัดว่าคือที่ใด มีผู้รู้บางท่านสันนิษฐานว่าคือเมืองโบราณที่พบในเขตเมืองต้นผึ้ง สปป.ลาว อย่างไรก็ตาม ผมได้รับความรู้จากคุณนับเก้า เกียรติฉวีพรรณว่าน่าจะอยู่แถวดอยชัน พระธาตุผาเงา เพราะบริเวณนั้นเคยมีลำน้ำชื่อแควโคมคำ เรื่องนี้คงต้องสืบค้นกันต่อไป ส่วนเมืองอุโมงคเสลานั้น ยังมีอยู่เมื่อเจ้าชายสิงหนติมาถึง ตำนานกล่าวว่าอยู่บริเวณต้นน้ำแม่กก ห่างจากเมืองโยนกไปทางตะวันตกเฉียงใต้ 4 คืน และจะเป็นคู่แข่งกับเมืองใหม่ของชาวไทไปอีกระยะหนึ่งตามตำนาน

อีกเรื่องหนึ่งที่ไม่กล่าวถึงไม่ได้คือพญานาค แน่นอนว่าเป็นเรื่องเชื่อได้ยากที่จะมีงูใหญ่แปลงตัวเป็นพราหมณ์มาพูดคุยและช่วยเจ้าชายสิงหนติสร้างเมืองได้จริงๆ อย่างไรก็ตาม ไม่ได้แปลว่าเรื่องราวนี้จะไม่มีความหมายอะไรเลยเสียทีเดียว แท้จริงแล้ว ในจารีตการเขียนตำนานโบราณ พญานาคคือตัวแทนของคนพื้นถิ่นหรืออำนาจปกครองดั้งเดิม การที่เจ้าชายสิงหนติตั้งเมืองได้ด้วยความช่วยเหลือของพญานาคนั้น หมายความว่าการตั้งถิ่นฐานรวมถึงการปกครองในระยะแรกเริ่มของชาวไท เป็นไปด้วยความร่วมมือกับชาวพื้นถิ่น ดังในตำนานก็กล่าวอีกว่าบรรดาขุนหลวงของชาวมิลักขุนั้น เจ้าชายสิงหนติใช้วิธีการ ‘ป่าวร้อง’ ให้เข้ามาในอาณัติอำนาจ ดังนั้นรัฐในระยะแรกเริ่มย่อมไม่ใช่ของคนชนชาติใดชนชาติหนึ่งเสียทีเดียว แต่อาจถือกำเนิดจากความร่วมมือและผสมกลมกลืนกันนั่นเอง

พระเจ้าพรหมมหาราชกับกรุงศรีอยุธยา

ตำนานสิงหนติยังกล่าวถึงผู้ปกครองรุ่นต่อๆ มาที่ขึ้นครองเมืองสืบต่อจากเจ้าชายสิงหนติ เช่น พระยาอชุตตราช ผู้สร้างพระธาตุดอยตุง พระองค์ไชยนารายณ์ ผู้สร้างเวียงไชยนารายณ์ กระทั่งถึงเรื่องราวของพรหมกุมาร ซึ่งต่อมารู้จักในนามพระเจ้าพรหมมหาราช ผู้ซึ่งนับถือกันว่าเป็นวีรบุรุษในตำนานคนหนึ่งของล้านนา พรหมกุมารเป็นบุตรคนรองของพระองค์พังคราช ผู้ปกครองโยนกเชียงแสน มีพี่ชายชื่อทุกขิตกุมาร ในสมัยของพระองค์พังคราชนั้น เมืองโยนกเชียงแสนตกเป็น ‘ลูกเมือง’ หรือประเทศราชของเมืองอุโมงคเสลา ในครั้งนั้นพระองค์พังคราชและครอบครัวรวมถึงเจ้าพรหมกุมาร (ว่าที่พระเจ้าพรหมมหาราช) ต้องถูกขับออกจากโยนกเชียงแสนไปอาศัยในเมืองเล็กๆ ชื่อเวียงสี่ตวง ทั้งยังถูกพระยาขอมดำซึ่งเป็นผู้ปกครองเมืองอุโมงค์คเสลาหยามเหยียด เป็นเหตุให้เจ้าพรหมกุมารแค้นเคืองใจ เมื่อเติบใหญ่แล้วจึงเจ้าพรหมกุมารจึงได้ทำสงครามโจมตีเมืองอุโมงคเสลาจนแตกพ่าย ตำนานกล่าวว่ากองทัพเมืองโยนกเชียงแสนของเจ้าพรหมกุมารได้ตามไล่สังหารชาวขอมดำไปถึงขอบเขตแดนลวรัฐ หรือแคว้นละโว้ จนพระอินทร์เกิดความสงสารจึงบัญชาให้พระเวสสุกรรม (วิษณุกรรม) สร้างกำแพงหินสกัดทัพโยนกของเจ้าพรหมกุมารไว้ไม่ให้ติดตามเหล่าขอมดำไปได้อีก เป็นการสิ้นสุดอิทธิพลของชาวขอมดำในลุ่มน้ำกกและโขงตอนบนเพียงเท่านั้น

เมื่อขับไล่ขอมดำได้แล้ว เจ้าพรหมกุมารยกเมืองโยนกเชียงแสนให้กับบิดาและพี่ชายของตนปกครอง ส่วนตัวเองได้แยกมาสร้างเมืองใหม่ชื่อเวียงไชยปราการ (อำเภอไชยปราการ จังหวัดเชียงรายในปัจจุบัน) และตั้งตนเป็นพระองค์พรหมราชครองเมืองนั้น ไม่ได้กลับไปยังเมืองโยนกเชียงแสนอีก เมื่อพระองค์พรหมราชสิ้นชีวิตแล้ว บุตรชื่อพระองค์ไชยศิริ ได้ครองเวียงไชยปราการต่อมา ปรากฏว่าพระองค์ไชยศิริครองเมืองได้เพียง 11 ปีก็มีกองทัพรามัญยกมาโจมตีเมือง พระองค์ไชยศิริไม่อาจต่อสู้ได้จึงอพยพผู้คนลงมาตั้งเมืองใหม่บริเวณกำแพงหินที่พระอินทร์ได้เสกไว้สกัดกั้นทัพของพระเจ้าพรหม เมืองนั้นจึงได้ชื่อว่ากำแพงเพชร ซึ่งยังปรากฏเมืองนี้มาถึงปัจจุบัน

น่าสนใจว่าชื่อของพระองค์ไชยศิริในตำนานสิงหนติตอนนี้ยังไปปรากฏในเอกสารทางประวัติศาสตร์สยามหลายฉบับ เช่น จุลยุทธการวงศ์ พงศาวดารฉบับสังเขป เป็นต้น เอกสารเหล่านั้นกล่าวถึงพระเจ้าศิริชัยเชียงแสน อพยพมาจากเวียงไชยปราการมาตั้งนครไตรตรึงษ์ ต่อมาธิดาของพระเจ้าศิริชัยได้สมรสกับท้าวแสนปม มีบุตรด้วยกันคือพระเจ้าอู่ทอง ผู้สถาปนากรุงศรีอยุธยา และยังปรากฏร่องรอยของเรื่องเล่าดังกล่าวในเอกสารอีกหลายฉบับ เช่น พงศาวดารกรุงศรีอยุธยาฉบับวันวลิตกล่าวถึงกษัตริย์ผู้สร้างกรุงศรีอยุธยาว่าชื่อ ‘พระเจ้าพรหมราช’ อีกทั้งจดหมายเหตุของลา ลูแบร์ และ คู่มือทูตตอบ ของโกษาปานก็กล่าวว่าปฐมกษัตริย์ของกรุงศรีอยุธยานั้นอพยพมาจากเวียงไชยปราการ จึงเชื่อได้ว่าเรื่องราวของตำนานสิงหนติส่วนนี้ก็อยู่ในความรับรู้ของคนอยุธยายุคนั้น ถือเป็นความทรงจำร่วมระหว่างเมืองเหนือเมืองใต้ และเมื่อนำเรื่องราวปะติดปะต่อกันก็อาจอนุมานได้ว่าคนไทเมื่ออพยพมาตั้งบ้านเมืองที่โยนกเชียงแสนแล้ว ส่วนหนึ่งก็อาจอพยพลงใต้ไปตั้งอโยธยาอีกทอดหนึ่งด้วย

อนึ่ง ในอดีตนักพงศาวดารนิยมเรียกราชวงศ์อู่ทองว่า ‘ราชวงศ์เชียงราย’ และเอกสารล้านนาฉบับอื่นๆ ก็ถือว่ากษัตริย์เชื้อสายอู่ทองและสุพรรณภูมินั้นสืบสายมาจากพระเจ้าพรหมมหาราชเช่นกัน

จุดล่มสลายของราชรัฐ สาธารณรัฐของไพร่ และกำเนิดสถาบันกษัตริย์ราชวงศ์ลาว

ในส่วนของเมืองโยนกเชียงแสนนั้น ปกครองโดยพระเจ้าพังคราชและเชื้อสายมาจนถึงรัชสมัยของพระองค์มหาไชยชนะ ผู้ปกครองลำดับสุดท้ายในราชวงศ์สิงหนติ ตำนานได้กล่าวถึงจุดจบของเมืองโยนกเชียงแสนว่ามีชาวเมืองจับปลาไหลเผือกยักษ์จากแม่น้ำกกได้จึงนำมามอบแก่พระองค์มหาไชยชนะและชาวเมืองทั้งหลายแบ่งกันกิน ปรากฏว่าในคืนวันนั้นเกิดแผ่นดินไหวครั้งใหญ่ถึงสามครั้งจนเวียงโยนกเชียงแสนยุบจมลงไปกลายเป็นหนองน้ำ (ปัจจุบันคือหนองเวียงหล่ม อำเภอแม่จัน จังหวัดเชียงราย) มีเพียงบ้านของแม่ม่ายยายเฒ่าคนหนึ่งที่ไม่ได้กินเนื้อปลาไหลเผือกนั้นไม่ได้ยุบลงไปด้วยและหลงเหลือเป็นเกาะเรียกว่าเกาะแม่ม่าย เหตุการณ์ครั้งนั้นเป็นผลให้ผู้ปกครองและพลเมืองโยนกต่างเสียชีวิตลงพร้อมกัน และนำมาสู่ความล่มสลายของเวียงโยนกในที่สุด

น่าสังเกตว่าโครงเรื่องคล้ายๆ กันนี้มีพบในตำนานประวัติหนองน้ำต่างๆ หลายแห่งทั้งในและนอกภูมิภาคล้านนา สำนวนที่น่าจะเป็นที่คุ้นเคยที่สุดน่าจะเป็นเรื่องผาแดงนางไอ่ของภาคอีสาน ที่กล่าวถึงประวัติของหนองหารหลวงว่าเคยเป็นที่ตั้งของเมืองใหญ่มาก่อน แต่ยุบลงกลายเป็นหนองน้ำเพราะชาวเมืองกินเนื้อกระรอกเผือกซึ่งเป็นพญานาคแปลงกายมา หลงเหลือเพียงแม่ม่ายที่ไม่ได้กินด้วยจึงรอดชีวิตจากเหตุแผ่นดินทรุดนั้นได้ เป็นไปได้ว่าในอดีตอาจเคยมีแผ่นดินไหวครั้งใหญ่ที่รับรู้โดยทั่วกันจึงมีโครงเรื่องออกมาคล้ายๆ กัน หรืออาจเป็นการ ‘ยืม’ โครงเรื่องมาเล่าต่อๆ กันก็เป็นไปได้ ในส่วนของเวียงโยนกนั้น ตำนานได้เล่าตั้งแต่แรกตั้งว่าเป็นดินแดนที่เกิดแผ่นดินไหวขึ้นบ่อยครั้ง กระทั่งในสมัยเจ้าชายสิงหนติก็เกิดแผ่นดินไหวถึง 4 ครั้ง นั่นอาจเป็นเพราะในบริเวณล้านนามีรอยเลื่อนพาดผ่านถึง 9 รอย โดยเฉพาะอย่างยิ่งรอยเลื่อนแม่จันซึ่งพาดผ่านที่ตั้งของเวียงโยนกโดยตรง เป็นเหตุให้ชาวล้านนาต้องประสบกับเหตุแผ่นดินไหวเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน

โบราณสถานเวียงหนองหล่ม อำเภอแม่จัน จังหวัดเชียงราย สันนิษฐานว่าคือเวียงโยนกนาคพันธุ์ที่ล่มสลายไป
ภาพจาก มติชนสุดสัปดาห์

อย่างไรก็ตาม เรื่องราวของตำนานสิงหนติยังไม่จบเพียงเท่านี้ ตำนานยังกล่าวต่อไปอีกว่าบรรดากำนัน ผู้ใหญ่บ้าน และชาวบ้านที่อาศัยอยู่นอกเมืองได้พากันมาดูเหตุการณ์และเกิดความกังวลว่าหากปล่อยบ้านเมืองไว้ในสภาวะโกลาหลหลังเวียงโยนกล่มสลาย อาจเป็นเหตุให้นครรัฐใกล้เคียงฉวยโอกาสโจมตีได้ กำนันผู้ใหญ่บ้านจึงได้รวมตัวกันประชุมปรึกษาและเลือกผู้ใหญ่บ้านคนหนึ่งชื่อขุนลัง เป็นประมุขของผู้รอดชีวิต จากนั้นจึงพากันสร้างเมืองใหม่ทางตะวันออกเฉียงใต้ของเวียงโยนกเก่าและตั้งชื่อว่าเวียงปรึกษา (ปรึกษา หมายถึงประชุม) ตามที่การปกครองของเวียงนั้นมาจากการปรึกษาหารือในหมู่กำนันผู้ใหญ่บ้านซึ่งเป็นตัวแทนของชุมชนต่างๆ เมื่อประมุขที่ได้ผ่านการ ‘ปรึกษา’ เลือกตั้งกันมาเสียชีวิตลง ก็จะมีการปรึกษาเลือกผู้ใหญ่บ้านคนใหม่มาทำหน้าที่แทนประมุขคนเดิม ลักษณะการปกครองของเวียงปรึกษา ในตำนานเรียกว่า ‘ไพร่แต่งเมือง’ อาจเทียบเคียงได้กับสาธารณรัฐยุคคลาสสิก (classical republic) ที่เคยปรากฏในกลุ่มนครรัฐกรีกยุคโบราณ

การปกครองระบอบไพร่แต่งเมืองของเวียงปรึกษาดำเนินมาได้ 11 ชั่วรุ่นประมุขจึงสิ้นสุดลงพร้อมกับเรื่องราวของตำนานสิงหนติ ตำนานไม่ได้กล่าวไว้ชัดเจนว่าเกิดอะไรขึ้นกับสาธารณรัฐเวียงปรึกษา เพียงแต่ทิ้งท้ายไว้สั้นๆ ว่าบรรดาประมุขผู้ปกครองต่างไม่สนใจขวนขวายทางธรรม บ้านเมืองจึงเสื่อมหมองลง อย่างไรก็ตาม ตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่ ซึ่งอาจกล่าวได้ว่าเป็นพงศาวดารที่สำคัญที่สุดฉบับหนึ่งในการศึกษาประวัติศาสตร์ล้านนาได้กล่าวถึงช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อนี้ว่า พระเจ้าอนิรุธตรีจักขุ หรือพระเจ้าอโนรธามหาราชแห่งอาณาจักรพุกามประกาศเรียกประชุมท้าวพญามหากษัตริย์ทั่วสุวรรณภูมิเพื่อทำพิธีตัดศักราช (ประกาศใช้จุลศักราชแทนมหาศักราช) แต่ดินแดนล้านนานั้นไม่มีกษัตริย์ปกครอง มีเพียงกำนันผู้ใหญ่บ้านเลือกกันเองเป็นประมุข จึงได้นำเรื่องแจ้งแก่พระอินทร์ พระอินทร์จึงให้ลวจังกราชเทวบุตร พาเทวดาบริวารพันตนจุติลงมาเกิดเป็นมนุษย์และก่อตั้งราชวงศ์ลาวปกครองเมืองหิรัญนครเงินยาง ซึ่งราชวงศ์ลาวนี้จะได้พัฒนาเป็นราชวงศ์มังราย ราชวงศ์แรกที่ก่อตั้งและปกครองอาณาจักรล้านนาในเวลาต่อมา เราอาจอนุมานได้ว่าการเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครองและสถานะของผู้ปกครองที่เกิดขึ้น อาจได้รับอิทธิพลความคิดเรื่องราชาธิราช (กษัตริย์ผู้เป็นใหญ่) ของจักรวรรดิพุกามมาปรับใช้ก็ได้เช่นกัน

เรื่องราวในตำนานสิงหนติ นอกจากจะแสดงให้เห็นถึงความสัมพันธ์ทางเครือญาติระหว่างเมืองเหนือเมืองใต้ว่าแท้จริงแล้ว ชาวเมืองใต้ก็อาจอพยพลงจากเมืองเหนือมาก่อนที่จะได้ตั้งถิ่นฐานในลุ่มน้ำเจ้าพระยา ยังแสดงอีกแง่มุมของประวัติศาสตร์ที่พงศาวดารไม่มีทางบอกเราได้ นั่นคือในอดีตคนไทก็เคยมีระบอบการปกครองแบบอื่นนอกจากระบอบกษัตริย์ซึ่งปกครองโดยคนเพียงคนเดียวนั่นเอง 


บรรณานุกรม

ประวัติศาสตร์นอกตำรา, สุวรรณโคมคำ เมืองในตำนาน ริมฝั่งโขง สปป. ลาว. [วิดีโอ] 18 กุมภาพันธ์ 2565. เข้าถึงได้จาก https://www.youtube.com/watch?v=VBWJNvGLnro [20 กันยายน 2565]

ศรีสรรเพชญ์, ราชวงศ์เชียงรายของพระเจ้าอู่ทอง. [ออนไลน์] 21 พฤศจิกายน 2019. เข้าถึงได้จาก https://www.facebook.com/WipakHistory/posts/2626705414059579 [20 กันยายน พ.ศ.2565]

สงวน โชติสุขรัตน์, ประชุมตำนานล้านนาไทย. พิมพ์ครั้งที่ 2. (กรุงเทพฯ: ศรีปัญญา, 2542)

อรุณรัตน์ วิเชียรเขียว และเดวิดด์ เค. วัยอาจ, ตำนานพื้นเมืองเขียงใหม่. พิมพ์ครั้งที่ 2 (เชียงใหม่: ซิลค์เวอร์มส์บุ๊คส์, 2547)

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save