fbpx

‘ตำนาน’ ไม่ใช่ ‘ตำนาน’ ในประวัติศาสตร์นิพนธ์ล้านนา

ล้านนามีวัฒนธรรมการเขียนที่แข็งแรงเมื่อเทียบกันในหมู่คนพูดไทกลุ่มต่างๆ เอกสารที่สามารถนำมาใช้เป็นหลักฐานชั้นต้นในการศึกษาประวัติศาสตร์จึงตกทอดมาถึงปัจจุบันเป็นจำนวนมาก และสามารถจำแนกได้หลายประเภท เช่น คัมภีร์ ลานธัมม์ ตำรา พับสา จารึก เป็นต้น นอกจากนี้ยังพบเอกสารล้านนาที่มีเนื้อหาบันทึกเกี่ยวกับประวัติศาสตร์โดยตรงมากมาย โดยผู้ศึกษาประวัติศาสตร์ล้านนานิยมเรียกรวมๆ ว่า ‘ตำนาน’ ซึ่งมีอยู่ด้วยกันหลายเรื่อง เช่น ตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่ ตำนานมหาธาตุเมืองละพูน ตำนานสรีล้อมเวียงละคอร เป็นต้น โดย ‘ตำนาน’ เหล่านี้ล้วนนับเป็นเอกสารสำคัญยิ่งในการศึกษาประวัติศาสตร์ล้านนา ซึ่งอาจารย์สรัสวดี อ๋องสกุลได้แบ่งประเภทของตำนานล้านนาไว้เป็นสองแนวได้แก่

  1. ตำนานฝ่ายวัด หรือตำนานพระพุทธศาสนา เป็นตำนานที่ว่าด้วยประวัติของพระพุทธศาสนา รวมถึงวัด พระบาท พระธาตุ และเสนาสนะต่างๆ แต่งขึ้นโดยพระภิกษุสงฆ์โดยได้รับอิทธิพลจากการเขียนคัมภีร์มหาวงศ์ของลังกา
  2. ตำนานฝ่ายเมือง หรือ ‘พื้น’ หมายถึงประวัติความเป็นมาของบ้านเมือง โดยอาจเป็นเรื่องราวเกี่ยวกับวีรบุรุษ ราชวงษ์ หรือเรื่องปกิณกะอื่นๆ ที่แยกบันทึกออกมาต่างหาก

อย่างไรก็ตาม การเรียกเอกสารเหล่านี้ว่าตำนานได้สร้างความสับสนให้แก่คนทั่วไปรวมถึงผู้ที่เพิ่งเริ่มศึกษาค้นคว้าประวัติศาสตร์ล้านนาเป็นอย่างมาก เนื่องจากคำว่าตำนานในภาษาไทยตรงกับคำว่า myth หรือ legend ในภาษาอังกฤษ ซึ่งให้ความหมายถึงเรื่องเล่าพื้นบ้าน เรื่องเหนือธรรมชาติ หรือประวัติศาสตร์บอกเล่าอันไม่อาจพิสูจน์หรือตรวจสอบได้ การเรียกเอกสารเหล่านี้ด้วยคำเหมารวมว่า ‘ตำนาน’ จึงชี้ชวนให้หลายคนเข้าใจไขว้เขวไปว่าเรื่องราวในตำนานเหล่านี้เป็นเรื่องเลื่อนลอย หรือเป็นเรื่องอภินิหารพิสดาร ไม่ใช่เหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์ เป็นการสร้างอคติต่อในใจของผู้อ่านโดยใช่เหตุ ทั้งที่เอกสารเหล่านี้ หลายเรื่องเป็นเอกสารที่เรียบเรียงขึ้นตามแนวประวัติศาสตร์นิพนธ์ (แบบยุคจารีต) เช่น ตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่ และอาจมีความน่าเชื่อถือยิ่งกว่าประวัติศาสตร์บางเรื่อง เช่น เรื่องพระเจ้าตากหนีไปบวช ซึ่งอ้างที่มาจากการนั่งสมาธิของพระสงฆ์รูปหนึ่ง เป็นต้น หากจะเรียกให้เป็นธรรม เอกสารประเภท ‘ตำนาน’ ที่เรียกกันในปัจจุบันนี้หลายฉบับ ควรจะเรียกว่า ‘วงศ์’ หรือ ‘วงศปกรณ์’ ซึ่งภาษาล้านนาใช้คำว่า ‘พื้น’ หรือ ‘พื้นเมือง’ มีความหมายใกล้เคียงกับ ‘พงศาวดาร’ ในภาษาไทยสยาม และใกล้เคียงกับคำว่า chronicle ในภาษาอังกฤษ

อันที่จริง การเรียบเรียบเรียงประวัติศาสตร์ของ ‘ตำนาน’ บางเรื่อง โดยเฉพาะ ตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่ มีความเป็นระบบระเบียบในแบบประวัติศาสตร์นิพนธ์ยุคจารีตเป็นอย่างยิ่ง เช่น การเรียบเรียงเรื่องราวตามลำดับเวลา โดยต้องอ้างอิงจุดเริ่มต้นจากพุทธประวัติ วิธีการเรียบเรียงเช่นนี้ไม่ใช่ความงมงายของชาวบ้านพื้นถิ่นแต่เป็นรูปแบบการเขียนพงศาวดารแบบลังกา ดังปรากฏในคัมภีร์ มหาวงษ์ หรือพงศาวดารลังกา ซึ่งเป็นแม่แบบการเขียนให้กับพงศาวดารของอาณาจักรพุทธเถรวาทในแถบอุษาคเนย์ กระทั่งพงศาวดารของกรุงศรีอยุธยาฉบับดั้งเดิมก็น่าจะเขียนขึ้นในรูปแบบดังกล่าวด้วย ดังที่วัน วลิตเคยระบุว่ากษัตริย์องค์แรกของกรุงศรีอยุธยาคือพระพุทธเจ้า ความเข้าใจนี้น่าจะมาจากที่พงศาวดารกรุงศรีอยุธยาในยุคอยุธยาเองก็น่าจะเปิดเรื่องด้วยพุทธประวัติเช่นกัน ดังนั้น ตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่ รวมถึงตำนานอีกหลายเรื่องมีความเป็นพงศาวดารอย่างเต็มเปี่ยมไม่ต่างจากพงศาวดารของสยาม และในบรรดาเอกสารประวัติศาสตร์ของสยามเอง บางเรื่องที่รวบรวมเรื่องราวอภินิหารต่างๆ ไว้มากมาย เช่น พงศาวดารเหนือ ก็ยังคงเรียกเป็นพงศาวดาร ไม่ได้เรียกเป็นตำนานแต่อย่างใด

การตั้งชื่อเช่นนี้ถือเป็นความยอกย้อนของการศึกษาประวัติศาสตร์ไทยสยามและไทยล้านนาที่เรียกเอกสารที่บันทึกนิทานท้าวแสนปมว่าเป็นพงศาวดาร แต่กลับเรียกเอกสารที่ผ่านการเรียบเรียงตามขนบประวัติศาสตร์ว่าเป็นตำนาน นับว่าแปลกพิลึก! ซึ่งต่างกล่าวย้ำอีกว่าใน ตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่ มีชื่อที่ชัดเจนในตัวอยู่แล้วว่าชื่อ ราชวงศปกรณ์ แปลตามตัวคือ ‘คัมภีร์ว่าด้วยกษัตริย์ซึ่งสืบรุ่น (วงศ์) กันมา’ ส่วนชื่อตำนานนั้นเป็นการตั้งใหม่ในภายหลัง

กล่าวอย่างถึงที่สุด ผู้เขียนไม่คิดว่าการจำแนกว่าอันไหนเป็นพงศาวดาร อันไหนเป็นตำนาน อันไหนเป็นตำนานฝ่ายวัด อันไหนเป็นตำนานฝ่ายเมือง เป็นเรื่องจำเป็นแต่อย่างใด เพราะในโลกยุคจารีตที่เอกสารเหล่านี้ถูกสร้างมานั้น ไม่ได้มีการขีดเส้นแบ่งระหว่างประวัติศาสตร์และตำนาน รวมถึงเรื่องทางโลกกับทางศาสนาอย่างชัดเจน ทั้งประวัติศาสตร์และตำนานต่างเป็นความทรงจำในอดีตที่มีส่วนทับซ้อน เรื่องทางศาสนามีไว้สอนฆราวาสมากพอๆ กับที่เรื่องประวัติศาสตร์ของฆราวาสมีไว้เป็นภาพสะท้อนคติธรรม ตำนานที่นิยมจัดเป็น ‘ฝ่ายวัด’ จำนวนมากก็บันทึกเรื่องราว ‘ฝ่ายเมือง’ จนถือเป็นแม่แบบของการเรียบเรียงประวัติศาสตร์ด้วยซ้ำ เช่น ชินกาลมาลีปกรณ์ หรือ จามเทวีวงศ์ ที่ปรับขนบการเขียนประวัติศาสตร์ตามแบบ คัมภีร์มหาวงษ์ จนกลายเป็นรูปแบบการเขียนประวัติศาสตร์ของล้านนา กระทั่ง ตำนานพระเจ้าเลียบโลก ซึ่งเชื่อมโยงที่มาของพระธาตุและชุมชนต่างๆ เข้ากับการเสด็จมาโปรดสัตว์ของพระพุทธเจ้านั้น แท้จริงก็ไม่ใช่นิทานที่แต่งไปเรื่อยเปื่อยแต่คือการคลี่คลายตัวของขนบการเขียนประวัติศาสตร์แบบ คัมภีร์มหาวงษ์ จากที่ใช้เขียนเรื่องราวของ ‘เมือง’ มาใช้เขียนเรื่องราวของ ‘บ้าน’ บ้าง นับได้ว่าเป็นพงศาวดารแบบ ‘พื้นบ้าน’ ที่แตกต่างจากแบบ ‘พื้นเมือง’ หรือ ‘พื้นวัง’ และในทางกลับกัน เอกสารอันเป็น ‘ฝ่ายเมือง’ เช่นคร่าวซอบันทึกเหตุการณ์ต่างๆ โคลงพื้นวัดต่างๆ กลับบอกเล่าเรื่องทางศาสนจักรผ่านการทำบุญของชนชั้นนำในบ้านเมืองได้เป็นอย่างดี ตำนานฝ่ายเมืองและฝ่ายวัดจึงไม่ได้แบ่งแยกจากกันเป็นหมวดหมู่ชัดเจน

ผู้เขียนเห็นว่าคนยุคจารีตก็คงไม่ได้ใส่ใจในการแบ่งแยกประเภทเอกสารตาม ‘เกณฑ์สมมติ’ เหมือนคนในยุคปัจจุบัน หรือหากจะมีการจัดประเภทของเอกสารอยู่บ้าง ก็ไม่ได้แบ่งตามแหล่งกำเนิดว่าเป็น ‘ฝ่ายวัด’ หรือ ‘ฝ่ายเมือง’ เพราะทั้งวัดและเมืองต่างเป็นหน่วยในสังคมที่แยกจากกันไม่ได้ แต่คงจะพิจารณาตามเนื้อหาของเอกสารนั้นๆ มากกว่า ผู้เขียนเชื่อว่าหากคนยุคจารีตจะจำแนกเอกสาร ย่อมมีวิจารณญาณแยกแยะได้ว่า ‘พื้นเมือง’ หรือบันทึกเหตุการณ์ในบ้านเมือง ‘ตำนาน’ หรือเรื่องเล่าที่สืบเนื่องมา และ ‘ธณรมตำนาน/นิทานธรรม’ หรือเรื่องแต่งที่ใช้สอนคติธรรมต่างๆ มีความแตกต่างกันอย่างไร

เพราะฉะนั้น เมื่อเราๆ ท่านๆ พินิจเอกสารประวัติศาสตร์ล้านนา โปรดอย่ารีบเหมารวมว่าเอกสารเหล่านั้นจะเป็น ‘ตำนาน’ หรือด้อยความน่าเชื่อถือลงไปกว่าเอกสารประวัติศาสตร์อื่นๆ แต่โปรดพินิจเอกสารตามลักษณะที่เอกสารฉบับนั้นเป็น เพราะเอกสารทุกฉบับมีคุณค่าตามธรรมชาติของเอกสารแตกต่างกัน และการทำความเข้าใจธรรมชาติของเอกสารนั้น ควรตั้งอยู่บนพื้นฐานของสิงที่ปรากฏในเอกสาร มากกว่าเกณฑ์สมมติในใจของเรา ซึ่งอาจเป็นการนำมุมมองแบบปัจจุบันไปตัดสินอดีต จนทำให้ความเข้าใจโลกอดีตมีความคลาดเคลื่อนไปตามกรอบการมองของคนยุคปัจจุบัน 

บรรณานุกรม

สงวน โชติสุขรัตน์, ประชุมตำนานล้านนาไทย. พิมพ์ครั้งที่ 2. (นนทบุรี: ศรีปัญญา, 2556)

สรัสวดี อ๋องสกุล, ประวัติศาสตร์ล้านนา. พิมพ์ครั้งที่ 6. (กรุงเทพฯ: อมรินทร์, 2552)

อรุณรัตน์ วิเชียรเขียว, และ เดวิด เค. วัยอาจ, ปริวรรต, ตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่ ฉบับปรับปรุงใหม่. (เชียงใหม่: ซิลค์เวอร์ม, 2543)

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save