fbpx

คนล้านนาเป็นไท/ไทย แต่กลายเป็นลาวเพราะการยัดเยียด

เมื่อเร็วๆ นี้มีผู้รู้ท่านหนึ่งเสนอว่าคนล้านนาเป็น ‘ลาว’ ไม่ใช่ ‘ไทย’ จนกลายเป็นข้อถกเถียงในโลกออนไลน์เกี่ยวกับประเด็นดังกล่าว ผู้เขียนเห็นว่าประเด็นดังกล่าวเป็นที่น่าสนใจและมีความสำคัญยิ่งในการทำความเข้าใจโลกทัศน์เกี่ยวกับชาติพันธุ์ในการศึกษาประวัติศาสตร์ล้านนา จึงได้ศึกษาค้นคว้าและเรียบเรียงเผยแพร่ในบทความประจำเดือนนี้

ในยุคจารีต ชาวสยามเรียกตนซึ่งเป็นคนกลุ่มที่พูดภาษาตระกูลไท กินข้าวจ้าว และอาศัยในบริเวณที่ราบต่ำหรือที่ราบลุ่มตอนใต้ตั้งแต่สุโขทัยลงมานั้นด้วยคำว่า ‘ไท/ไทย’ ซึ่งหมายถึงคน เสรีชน พลเมือง หรือไพร่ (ในความหมายว่าไม่ใช่ทาส) ในขณะที่เรียกคนอีกกลุ่มที่พูดภาษาตระกูลไท กินข้าวเหนียว และอาศัยในที่ราบสูงหรือที่ราบหุบเขาตอนเหนือว่า ‘ลาว’ ซึ่งเดิมหมายถึงผู้เป็นใหญ่ แต่ต่อมาแฝงด้วยความหมายเชิงลบว่าล้าหลังหรือไม่เจริญ โดย ‘ลาว’ ในที่นี้ไม่ได้หมายถึงเพียงชาวลาวซึ่งอาศัยอยู่ในล้านช้าง (สปป. ลาวและภาคตะวันออกเฉียงเหนือของไทยในปัจจุบัน) เท่านั้น แต่ยังเหมารวมถึงกลุ่มชาติพันธุ์อื่นๆ ที่มีคุณสมบัติตามที่กล่าวข้างต้น เช่น ไทใหญ่ ไทลื้อ ไทดำ ไทพวน ฯลฯ อีกด้วย แม้ว่าคนเหล่านั้นจะไม่ได้เรียกตัวเองว่าลาวก็ตามที

ในกรณีของชาวล้านนาก็ถูกเหมาว่าเป็น ‘ลาว’ เช่นกัน โดยชาวสยามน่าจะเรียกคนล้านนาว่าลาวมานานมากแล้ว ดังปรากฏในศิลาจารึกสุโขทัยหลักที่สอง หรือจารึกวัดศรีชุมว่าดินแดนของแคว้นสุโขทัยในยุคของพ่อขุนศรีนาวนำถุมนั้น มีอาณาเขตทางตะวันตกเฉียงเหนือติดต่อกับเชียงแสน พะเยา ซึ่งเป็นแดนลาว ในสมัยกรุงศรีอยุธยาก็ปรากฏการใช้คำว่า ‘ลาว’ หมายถึงล้านนาหลายแห่ง เช่น ยวนพ่ายโคลงดั้น เรียกกษัตริย์และอาณาจักรล้านนาว่าปิ่นลาวหรือกรุงลาว เรียก โคลงนิราศหริภุญไชย ซึ่งถูกแปลงจากฉบับภาษาล้านนามาเป็นฉบับภาษาสยามว่าโคลงลาว หรือ กฎหมายตราสามดวง ระบุว่าเมืองทุ่งย้าง (ทุ่งยั้ง) เป็นเมืองลาวปลายแดนต่อแดน เป็นต้น

ธรรมเนียมการเรียกล้านนาว่าลาวดังกล่าวยังสืบทอดมาถึงสมัยรัตนโกสินทร์ ดังใน สัพะ พะจะนะ พาสา ไท ของพระสังฆราชปาเลอกัวซ์ ซึ่งถือเป็นปทานุกรมศัพท์ฉบับแรกของสยามยังให้ความหมายของคำว่าลาวว่าหมายถึงประเทศทางเหนือของสยาม (A country north of Siam) รวมถึง อักขราภิธานศรับท์ ของหมอบรัดเลย์ ก็ให้ความหมายคำดังกล่าวไว้แบบเดียวกัน

นอกจากนี้ ชาวสยามยังสร้างคำต่างๆ ใช้เรียกชาวล้านนาโดยเฉพาะแยกออกมาจาก ‘ลาว’ กลุ่มอื่นๆ เช่น คำว่า ‘ลาวยวน’ ประสมตามชื่อเรียกชาวล้านนาในภาษาบาลีว่ายวน โยน หรือโยนก ซึ่งแปลความหมายอีกทอดได้ว่าชาวเหนือ คำว่า ‘ลาวเฉียง’ เพี้ยนมาจากคำว่าลาวเชียงซึ่งหมายถึงเมืองเชียงใหม่ เชียงราย เชียงแสน ฯลฯ และใช้เป็นชื่อหัวเมือง/มณฑลเทศาภิบาลในช่วงผนวกยึดล้านนาสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวอยู่ระยะหนึ่ง หรือคำว่า ‘ลาวพุงดำ’ อันมีที่มาจากการสักลายจากขาขึ้นมาถึงหน้าท้องช่วงเอวจนเหมือนเป็นกางเกงของชาวล้านนา แตกต่างจาก ‘ลาวพุงขาว’ หรือชาวลาวล้านช้างซึ่งสักถึงเพียงต้นขาเท่านั้น

อย่างไรก็ตาม ในเอกสารฝ่ายล้านนาไม่เคยเรียกตัวเองว่าลาวเหมือนอย่างที่ชาวสยามเรียกเลย แต่กลับเรียกตัวเองด้วยคำว่า ‘ไท/ไทย’ มาโดยตลอด ดังในจารึกล้านนาหลักต่างๆ เช่นจารึกวัดพระยืน จังหวัดลำพูน ซึ่งถือเป็นจารึกภาษาล้านนาเก่าแก่ที่สุดเรียกการนับวันแบบล้านนา (หนึ่งรอบมีหกสิบวัน) ว่า ‘วันไทย’ ตรงกันข้ามกับการนับวันแบบมอญ (หนึ่งรอบมีเจ็ดวัน) ซึ่งเรียกว่า ‘วันเม็ง’ ใน โคลงนิราศหริภุญชัย เองก็เรียกการนับปีแบบไทย (หนึ่งรอบมีหกสิบปี) ว่าเป็นปีแบบ ‘ไทย’ และเรียกการนับปีนักปีนักษัตรว่าเป็นปีแบบ ‘ขอม’ ดังในโคลงบทแรกของวรรณกรรมเรื่องดังกล่าวว่า

กัชชํกรแต่งตั้ง  สิรสา

นบพระธรรมสังฆา          ผ่านเผ้า

สนำสลูเบิกนามมา          ขอมเรียก รักเอ่

ไทยตำบลเมิงเป้า           ปล่านไว้วิวรณ์อรรถ ฯ

ยังมีโคลงอีกบทหนึ่งในวรรณกรรมเรื่องเดียวกันกล่าวถึงรูปวาดของคนชาติพันธุ์ต่างๆ ไว้ดังนี้

สันยาลำหนึ่งหั้น        ปุนเล็ง

มีรูปไททังเมง            ม่านเงี้ยว

ถือลาดาบกับเกง              สกรรจ์แก่น คนเอย

ช้างผาดกันเกล้าเกลี้ยว แกว่นสู้สงคราม ฯ

ในโคลงบทข้างต้นกล่าวถึงชาติพันธุ์ถึงสี่กลุ่มด้วยกัน ได้แก่ ‘เมง’ ซึ่งหมายถึงมอญ ‘ม่าน’ ซึ่งหมายถึงพม่า ‘เงี้ยว’ ซึ่งหมายถึงไทใหญ่ และ ‘ไท’ ซึ่งหมายถึงคนล้านนานั่นเอง

เอกสารที่แสดงความเป็นไท/ไทยของล้านนาได้แจ่มแจ้งที่สุดได้แก่ จามเทวีวงศ์ ซึ่งรจนาขึ้นเป็นภาษาบาลีโดยพระโพธิรังสี พระภิกษุชาวล้านนาผู้มีชีวิตอยู๋ในสมัยราชวงศ์มังราย เรียกภาษาล้านนาว่า ‘เทยฺยภาสา’ แปลได้ตรงตัวว่า ‘ภาษาไทย’ แสดงให้เห็นว่าคนล้านนาในยุคของพระโพธิรังสีมองตัวเองเป็นคนไท/ไทยอย่างแน่นอน เอกสารล้านนาฉบับอื่นๆ ก็ใช้คำว่าไท/ไทยเรียกคน ภาษา และบ้านเมืองล้านนา เช่น คนไท คำไท เมืองไท ควบคู่ไปกับคำว่ายวนหรือโยนซึ่งเป็นภาษาบาลีดังที่กล่าวมาแล้ว

นอกจากนี้ ในหลักฐานล้านนาที่เขียนขึ้นระหว่างที่ตกเป็นประเทศราช (ทั้งของพม่าและสยาม) ยังปรากฏว่ามีการผูกคำว่า ‘ล้านนา’ เข้ากับคำว่า ‘ไท/ไทย’ กลายเป็น ‘ไทล้านนา/ไทยล้านนา’ หรือ ‘ล้านนาไท/ล้านนาไทย’ โดยใช้คำทั้งหมดนี้สลับกับคำว่าล้านนา ใช้เรียกทั้งคน ภาษา และบ้านเมืองเช่นเดียวกัน การผสมคำในทำนองนี้ น่าจะเป็นการเน้นย้ำในยุคที่มีผู้ปกครองเป็นคนต่างชาติต่างภาษาว่าประชากรส่วนมากของล้านนาเป็นคนไท/ไทย (ล้านนา)

อนึ่ง น่าสนใจว่าไม่เพียงแต่ชาวล้านนาจะเรียกตนเองว่าไท/ไทยเท่านั้น ชาวล้านนายังเรียกชาวสยามด้วยคำเดียวกัน เพียงแต่เติมคำว่า ‘ใต้’ ให้กลายเป็นไทยใต้ ไทยหนใต้ ไทยเทศใต้ หรือเรียกสั้นๆ ว่าชาวใต้ เช่นในโคลงมังทรารบเชียงใหม่ เป็นต้น เท่ากับว่าชาวล้านนามองชาวสยามเป็นไท/ไทยด้วยกัน ต่างกันเพียงเป็นไทยเหนือและไทยใต้เท่านั้น ในขณะที่กับชาติพันธุ์ต่างๆ ที่มีปฏิสัมพันธ์ใกล้ชิดกับสังคมชาวล้านนามากกว่า เช่น ไทใหญ่ ไทเขิน ไทลื้อ ฯลฯ ชาวล้านนากลับไม่เรียกด้วยคำว่าไท/ไทยเลย เท่ากับชาวล้านนามองว่าตนกับคนชาติพันธุ์เหล่านี้เป็นกลุ่มชนคนละกลุ่มกัน

อย่างไรก็ตาม ยังคงต้องเน้นย้ำว่า ‘ไท/ไทย’ ของชาวล้านนาออกเสียงว่า ‘ไต’ ในขณะที่ไท/ไทยของชาวสยามออกเสียงว่า ‘ไท’ โดยใน ตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่ ซึ่งเป็นเอกสารที่เรียบเรียงขึ้นในช่วงที่ล้านนาตกเป็นประเทศราชของสยาม พบการเรียกชาวสยามว่า ‘ไธย’ ซึ่งออกเสียงว่า ‘ไท’ โดยคำที่ใช้เรียกชาวล้านนานั้น ยังคงสะกดว่าไท/ไทยและออกเสียงว่า ‘ไต’ ดังเดิม

ส่วนคำว่าลาวดังที่ชาวสยามใช้เรียกชาวล้านนานั้น เท่าที่ผู้เขียนทราบ ไม่เคยปรากฏในเอกสารล้านนาฉบับใด รวมถึงประสบการณ์ส่วนตัวของผู้เขียนก็ไม่เคยได้ยินคนล้านนาคนไหนเรียกตัวเองว่าลาวเช่นกัน โดยคำว่าลาวจะถูกใช้เมื่อกล่าวถึงลาวล้านช้างเท่านั้น อันที่จริง คนล้านนาน่าจะไม่พอใจที่ถูกเรียกว่าลาวสักเท่าไหร่นัก ดังข้อคิดเห็นของจิตร ภูมิศักดิ์ที่ว่า

“…ชาวไทยล้านนาถือตัวว่าเป็น ไต, ไม่ได้เรียกตนเองว่าลาวเลย. เขาเรียกตนเองว่า คนเมือง. ไม่ชอบให้ใครเรียกว่าลาว และถือเป็นการดูถูกเหยียบย่ำทางเชื้อชาติ แต่ไทยภาคกลางสมัยโบราณเหมาเอาชาวล้านนาเป็นลาวตามล้านช้างไปหมด…”

ความไม่พอใจต่อการถูกเรียกว่าลาวนั้น มีเหตุว่าชนชั้นนำสยามมักมองชาวล้านนาซึ่งถือเป็น ‘ลาว’ ด้วยสายตาดูหมิ่นดูแคลน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ขุนนางข้าราชการที่รัฐบาลสยามส่งขึ้นมาปกครองนครรัฐต่างๆ ในล้านนา โดยเฉพาะเมืองเชียงใหม่ มักมอง ‘ลาว’ เหล่านี้เป็นพวกป่าเถื่อน ด้อยความสามารถ และไร้อารยธรรม ไม่อาจทัดเทียมพวกตนซึ่งเป็น ‘ไทย’ ได้ ทัศนคติดังกล่าวมีตัวอย่างปรากฏในรายงานของพระสรีสหเทพถึงรัฐบาลกลางที่กรุงเทพ ฯ ว่า

“…ทางที่จัดโดยถือว่าเปนพวกไทยพวกลาวต้องทำการที่ต่างกัน เพราะถือว่าลาวเปนคนชาติต่ำ แลไม่ควร เพราะฉะนั้นพวกข้าหลวงแลพวกเจ้านายจึงทำการแยกกันคนละที… บรรดาคนพื้นเมืองที่มาทำการร่วมกับข้าหลวงก็ดี… ได้รับเงินเดือนอย่างมากที่สุดเดือนละ 50 รูเปีย ถึงจะเปนคนดีมีวุฒิทำการได้ หรือตั้งใจที่จะรับราชการก็ไม่มีโอกาสที่จะให้ดียิ่งกว่านั้น… โดยเหตุนี้พาให้เบื่อหน่ายในการทำราชการ… ในที่สุดจนถึงยุยงเจ้านายให้แตกกับข้าหลวงจะได้มีทางหากินต่างๆ…”

การดูหมิ่นเหยียดหยาม การกดขี่ และการเลือกปฏิบัติอันเนื่องจากทัศนคติที่มองคนไม่เท่ากันเช่นนี้นี่เองที่ส่งผลให้ในยุคอาณานิคม เกิดความตึงเครียดในความสัมพันธ์ระหว่างชาวล้านนา (ไทยเหนือ) และชาวสยาม (ไทยใต้) เป็นอย่างมาก จนเป็นผลให้คนล้านนาเลิกนับตัวเองเป็นไท/ไทยร่วมกับชาวสยามและหันมาเรียกตัวเองว่า ‘คนเมือง’ ทิ้งให้คำว่า ‘ไทย’ หมายถึง ‘สยาม’ เพียงอย่างเดียวมาจนถึงปัจจุบัน


บรรณานุกรม

ประเสริฐ ณ นคร. (2546) โคลงนิราศหริภุญชัย. กรุงเทพฯ: พัฒนาศึกษา.

เตือนใจ ไชยศิลป์. (2536) ล้านนาในความรับรู้ของชนชั้นการปกครองสยาม พ.ศ.2437-2476. มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

สิงฆะ วรรณสัย. (2522) โคลงเรื่องมังทรารบเชียงใหม่. เชียงใหม่: ศูนย์หนังสือเชียงใหม่.

อรุณรัตน์ วิเชียรเขียว และ เดวิด เค. วัยอาจ. (2547) ตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่. พิมพ์ครั้งที่ 2. เชียงใหม่: ซิลค์เวอร์มบุ๊คส์.

จิตร ภูมิศักดิ์. (2519). ความเป็นมาของคำสยาม ไทย ลาวและขอม และลักษณะทางสังคมของชื่อชนชาติ. กรุงเทพฯ: กรุงสยามการพิมพ์.

พระโพธิรังสี (2515). คำแปล จามเทวีวงศ์ พงศาวดารเมืองหริปุญไชย. กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์พิฆเณศ.

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save