fbpx

ล้านนาปฏิวัติ: การต่อสู้ของ ‘ตนบุญ’ ในประวัติศาสตร์ล้านนา (ตอนแรก)

ผมเชื่อว่าชาวล้านนาและพุทธศาสนิกชนที่ได้เคยเยี่ยมเยือน ท่องเที่ยวแสวงบุญ หรือสนใจศึกษาประวัติความเป็นมาของพระพุทธศาสนาในล้านนาหลายท่าน โดยเฉพาะอย่างยิ่งท่านที่ศรัทธาเลื่อมใสครูบาเจ้าศรีวิชัย จะต้องเคยได้ยินได้อ่านคำว่า ‘ตนบุญ’ ผ่านหูผ่านตาอยู่บ้าง เนื่องจากครูบาเจ้าศรีวิชัยมีคุณงามความดีและเกียรติประวัติของประดับไว้ในความทรงจำของชาวล้านนาหมู่มาก จึงได้มีการยกย่องขนานนามท่านว่าเป็น ‘เจ้าตนบุญแห่งล้านนา’ คำว่าตนบุญหรือเจ้าตนบุญดังกล่าว มักแปลเป็นภาษาไทยสยาม (ไทยภาคกลาง) ว่า ‘นักบุญ’ ซึ่งมักเป็นที่เข้าใจว่าหมายถึง ‘ผู้ยินดีในการบุญ’ อันจะใกล้เคียงกับคำภาษาอังกฤษว่า saint ซึ่งในทางศาสนาคริสต์หมายถึง ‘ผู้ที่ทำความดีไว้มาก เมื่อตายแล้วได้รับการยกย่องว่าเป็นผู้สำเร็จในทางศาสนา’

แท้จริงแล้ว คำว่าตนบุญ เจ้าตนบุญ หรือเจ้าตนวิเศษนั้น มีความหมายคล้ายกับคำว่า ‘ผู้มีบุญ’ ที่ใช้กันในฝั่งล้านช้าง หมายถึงผู้มี ‘บุญญาธิการ’ ที่สั่งสมมาข้ามภพข้ามชาติ ทั้งยังเป็นคำเรียกที่ให้เกียรติผู้ถูกเรียกเป็นอย่างยิ่ง เนื่องจากคำว่า ‘ตน’ ในภาษาล้านนานั้นมีความหมายเทียบเท่ากับคำว่า ‘องค์’ ซึ่งใช้เรียกแทนพระพุทธเจ้า พระอรหันต์ เทวดา หรือท้าวพระยามหากษัตริย์เลยทีเดียว

ความเป็นตนบุญนั้นขึ้นอยู่กับความศรัทธาของบุคคลทั่วไป ซึ่งอาจเกี่ยวข้องกับศีลธรรม จริยวัตร หรือกระทั่งอิทธิฤทธิ์ปาฏิหาริย์อันจะเป็นประจักษ์พยานของบุญบารมีที่ตนบุญนั้นๆ ได้สั่งสมมา อย่างไรก็ตาม การสั่งสมบุญบารมีของตนบุญนั้นเป็นไปเพื่อการได้ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าในอนาคต ดังนั้นกล่าวให้ถึงที่สุด ตนบุญก็คือ ‘พระโพธิสัตว์’ ที่กำลังเสวยชาติมา ‘โปรด’ เวไนยสัตว์ทั้งหลายหรือเป็น ‘สะพานบุญ’ นำพาผู้คนหมู่มากให้เข้าถึงศาสนธรรม ความเป็นตนบุญดังกล่าวจึงเกี่ยวพันกับการอุทิศตนสร้างประโยชน์สาธารณะจนเป็นที่ยอมรับนับถือของมหาชนในฐานะ ‘มหาบุรุษ’

แนวทางการบำเพ็ญบุญบารมีของตนบุญดังกล่าวเป็นอิทธิพลของคติความคิดพระพุทธศาสนาฝ่ายมหายานที่ผสมผสานอยู่ในพระพุทธศาสนาล้านนาอย่างเหนียวแน่น ตรงกันข้ามกับแนวทางบำเพ็ญเพียรเพื่อบรรลุธรรมเป็นพระอรหันต์และหลุดพ้นจากวัฏสังสาร ซึ่งเน้นหนักไปในทางการฝึกฝนตนเองของผู้ปฏิบัติ เป็นปฏิบัติการในระดับบุคคล ซึ่งผลลัพธ์ก็จะเกิดขึ้นเฉพาะตัวบุคคลด้วย มิได้ผูกโยงอยู่กับสังคมส่วนรวมมากเท่าในกรณีของตนบุญ แนวทางอย่างหลังนี้เป็นอิทธิพลของคติความคิดพระพุทธศาสนาฝ่ายเถรวาท ซึ่งพระพุทธศาสนาแบบสยามได้โอบรับมาอย่างเข้มข้น ความแตกต่างระหว่างทัศนะพระพุทธศาสนาเหนือใต้นี้เอง น่าจะเป็นผลให้ปราชญ์ภาษาไทยที่ได้จัดทำพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน (ซึ่งน่าจะนับถือพระพุทธศาสนาแบบสยาม) ให้คำจำกัดความของคำว่า ‘นักบุญ’ ไว้อีกนัยว่าหมายถึง ‘ผู้อ้างตัวว่าเป็นผู้วิเศษ’ ซึ่งแฝงอคติเชิงลบต่อแนวคิดเรื่องตนบุญไว้ในถ้อยคำและการเรียงประโยคอย่างชัดเจน

บทบาทของตนบุญมิได้จำกัดอยู่เพียงในปริมณฑลของกิจการพระพุทธศาสนาเพียงเท่านั้น แต่ยังมีบทบาทในปริมณฑลของการเมืองอีกด้วย เนื่องจากในโลกการเมืองยุคจารีต บุญญาธิการคือแหล่งที่มาแห่งความชอบธรรมและของอำนาจ ผู้ใดจะขึ้นเป็นพระเจ้าแผ่นดินปกครองบ้านเมืองได้โดยชอบก็เพราะถือว่าเป็นผู้มีบุญญาธิการสูงสุด และการปกครองบ้านเมืองนั้นก็เป็นไปเพื่อสั่งสมบุญบารมีให้อาณาประชาราษฎร์ (และตัวกษัตริย์เอง) ได้ทำบุญทำกุศลจนบรรลุธรรมตามหลักพระพุทธศาสนา หากบ้านเมืองสงบร่มเย็น ฝนตกต้องตามฤดูกาล โภชนาอาหารอุดมสมบูรณ์ ก็จะเชื่อกันว่าเป็นผลจากบุญญาธิการและการดำรงตนในศีลธรรมของพระเจ้าแผ่นดิน ในทางกลับกัน หากบ้านเมืองวุ่นวายเดือดร้อน ฝนแล้งหรือน้ำท่วม และเกิดสภาวะข้าวยากหมากแพง ก็จะเชื่อกันว่าเป็นเพราะพระเจ้าแผ่นดินขาดบุญญาธิการหรือไม่ดำรงตนอยู่ในศีลธรรม ดังนั้นผู้ใดที่มีบุญญาธิการสูงส่งจนดูจะทัดเทียมกับกษัตริย์ได้ ไม่ว่าจะด้วยการประกาศตัวเองหรือการได้รับความเชื่อถือตามธรรมชาติก็ดี ย่อมถือว่าเป็นผู้ที่จะมา ‘แข่งบุญแข่งวาสนา’ กับกษัตริย์ และกลายเป็นภัยความมั่นคงต่อราชบัลลังก์และระบบการปกครองไปโดยปริยาย

นอกจากนี้ ในล้านนาและดินแดนใกล้เคียงที่นับถือพระพุทธศาสนาเถรวาทยังมีความเชื่อเรื่อง ‘ปัญจอันตรธาน’ หรือความเสื่อมสลายทั้งห้า คติความเชื่อดังกล่าวอ้างอิงถึงคำทำนายของพระพุทธเจ้าที่ว่าพระพุทธศาสนาจะมีอายุได้เพียงห้าพันปี โดยในระหว่างนั้น พระพุทธศาสนาจะค่อยๆ บังเกิดความเสื่อมสลายห้าประการไปทีละประการ ความเสื่อมของพระพุทธศาสนาดังกล่าวจะส่งผลให้มนุษย์ต้องเผชิญกับภัยพิบัติต่างๆ ที่จะบังเกิดขึ้นในโลก (หนึ่งในภัยพิบัตินั้นได้แก่การต้องใช้ชีวิตภายใต้อำนาจของกษัตริย์และขุนนางที่ไร้ซึ่งบุญญาธิการและไม่ดำรงตนในธรรม) และเมื่อโลกตกอยู่ภายใต้ภัยพิบัติเช่นนี้เอง ‘เจ้าตนบุญ’ จึงจะลงมาบังเกิดเป็น ‘มหาธรรมิกราช’ หรือกษัตริย์ผู้ยิ่งใหญ่และทรงธรรมเพื่อดับทุกข์เข็ญในโลกและนำพาผู้คนให้ได้พบกับศาสนาที่ถูกต้องอีกครั้ง

คติความเชื่อเช่นนี้ขับเน้นให้ตนบุญเป็นความหวังและที่พึ่งของผู้คนที่กำลังตกทุกข์ได้ยากและไร้ที่พึ่งในยุคแผ่นดินเข็ญ อีกทั้งยังเปิดช่องให้สามัญชนทั่วไปสามารถท้าทายอำนาจของชนชั้นปกครองได้ด้วยการยอมรับและเข้าร่วมการลุกฮือที่นำโดยตนบุญ ซึ่งเป็นวิธีที่ชอบธรรมภายใต้กรอบความคิดเรื่องบุญญาธิการตามหลักพระพุทธศาสนา เพราะตนบุญเองก็เป็นผู้มีบุญบารมีและมีฐานะประดุจพระโพธิสัตว์เช่นเดียวกับกษัตริย์ผู้อ้างสิทธิธรรมในปกครอง ด้วยเหตุนี้เอง ปรากฏการณ์ตนบุญจึงมักเกิดขึ้นในช่วงเวลาที่สังคมกำลังเผชิญกับวิกฤตทางการเมืองหรือเศรษฐกิจ และผู้คนทั่วไปรู้สึกถูกกดขี่ ขูดรีด หรือไม่สามารถพึ่งพาอำนาจของชนชั้นปกครองได้ ในประวัติศาสตร์ล้านนาปรากฏเรื่องราวการลุกฮือภายใต้การนำของตนบุญอยู่หลายครั้ง ดังจะได้หยิบยกมาเล่าสู่กันอ่านในบทความดังต่อไปนี้

เทพสิงห์: นักปฏิวัติสามัญชนคนแรกของล้านนา

ในช่วงต้นศตวรรษที่ 18 ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เผชิญกับ ‘ห้วงสากลวิกฤต’ (The General Crisis) อันเป็นวิกฤตเศรษฐกิจและการเมืองที่เกิดขึ้นเป็นการทั่วไปในภูมิภาคต่างๆ ทั่วโลกไล่เลี่ยกันมาตั้งแต่ศตวรรษก่อนหน้านั้น วิกฤตดังกล่าวเกิดขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงอุณหภูมิโลกอย่างกะทันหันจากปรากฏการณ์ยุคน้ำแข็งน้อย (little ice age) จนการเพาะปลูกในหลายพื้นที่ล้มเหลว เมื่อประกอบกับความเสื่อมถอยทางการเมืองอันเนื่องด้วยความเหนื่อยล้าจากสงครามและความล้าหลังของกลไกรัฐ ส่งผลให้หลายๆ รัฐไม่สามารถรับมือกับความล้มเหลวทางการเกษตรดังกล่าวได้อย่างมีประสิทธิภาพจนก่อให้เกิดสภาวะข้าวยากหมากแพงและความวุ่นวายทางการเมืองในรัฐเหล่านั้น

ในห้วงเวลาดังกล่าว พม่าซึ่งเป็นเจ้าอธิราชของล้านนาประสบปัญหาการเกณฑ์ไพร่ เป็นผลให้ราชสำนักมีกำลังแรงงานไม่เพียงพอที่จะผลักดันระบบเศรษฐกิจและกิจการสาธารณะให้ดำเนินไปตามปกติได้ ความแห้งแล้งและความไร้ประสิทธิภาพในการจัดการระบบชลประทานของราชสำนักยังก่อให้เกิดปัญหานาล่มบ่อยครั้งในที่ราบจอกเซ (Kyaukse basin) อันเป็นแหล่งผลิตอาหารหลักของพม่า ปัญหาเหล่านี้ส่งผลให้ราชสำนักพม่ามีกำลังสำหรับควบคุมประเทศราชล้านนาได้น้อยลง นอกจากนี้ การรุกรานเชียงใหม่และเชียงแสนของกองทัพอยุธยายังซ้ำเติมให้อำนาจปกครองของพม่าเหนือล้านนาถูกคุกคาม อีกทั้งยังส่งผลให้การค้าระหว่างเชียงใหม่และอยุธยาชะงักงันลง อันน่าจะกระทบกระเทือนต่อเศรษฐกิจของเชียงใหม่ซึ่งพึ่งพาการค้าตามลำน้ำเจ้าพระยาอยู่ไม่น้อย

สภาวะที่อำนาจของพม่าเริ่มเสื่อมถอยลงพร้อมๆ กับที่เกิดความตึงเครียดในสังคมล้านนาอันเนื่องด้วยปัญหาเศรษฐกิจย่อมสั่นคลอนสถานะของพม่าให้มีความสุ่มเสี่ยงที่จะเกิดท้าทายอำนาจของพม่าได้ เพื่อเป็นการพยายามกระชับอำนาจ ราชสำนักพม่าพยายามแบ่งแยกล้านนาออกเป็นสองแคว้นได้แก่ล้านนาเชียงใหม่และล้านนาเชียงแสน โดยให้ทั้งสองแคว้นอยู่ภายใต้ระบบการปกครองแบบข้าหลวงหรือเมียวหวุ่น (myowun) ซึ่งราชสำนักพม่าจะแต่งตั้งขุนนางหรือเชื้อพระวงศ์พม่าชั้นผู้น้อยมาเป็นข้าหลวงปกครองแคว้น โดยการปฏิบัติงานของข้าหลวงดังกล่าวจะอยู่ภายใต้การสอดส่องของราชสำนักโดยตรง จากเดิมที่พม่าเคยปกครองล้านนาด้วยระบบอุปราชหรือบะเยง (bayin) ซึ่งราชสำนักจะแต่งตั้งเชื้อพระวงศ์พม่าชั้นผู้ใหญ่หรือขุนนางชาวล้านนามาเป็นผู้ปกครองล้านนาทั้งหมด โดยมีศูนย์อำนาจที่เชียงใหม่เพียงแห่งเดียวและมีอิสระภายในพอสมควร การปรับเปลี่ยนระบบการปกครองเช่นนี้เป็นการดึงเอาล้านนาเข้ามาใกล้ชิดกับอำนาจของพม่ายิ่งกว่าที่เคยเป็น

อย่างไรก็ตาม ความพยายามดังกล่าวก็ไม่สามารถแก้ปัญหาความตึงเครียดทางการเมืองในล้านนาได้เต็มที่ เนื่องจากในบางเวลา ราชสำนักพม่าก็ไม่สามารถควบคุมความประพฤติของข้าหลวงเหล่านี้ได้ เป็นผลให้ข้าหลวงบางคนใช้อำนาจกดขี่ข่มเหงและขูดรีดไพร่บ้านพลเมืองให้ได้รับความเดือดร้อนจนเกิดกรณีที่ราชสำนักพม่าต้องปลดและลงโทษข้าหลวงและขุนนางตำแหน่งต่างๆ ที่มีความประพฤติหรือบริหารราชการไม่เหมาะสมอยู่เป็นระยะๆ เช่นกรณีของ ‘รถสามหลาง’ ข้าหลวงผู้ปกครองเมืองเชียงแสนได้ ‘แต่งร้อนไหม้’ หรือประพฤติมิชอบในหน้าที่ราชการ ก่อให้เกิดความเดือดร้อนแก่ไพร่ฟ้าข้าคนในเมืองจนถูกจับใส่พันธนาการส่งกลับไปยังอังวะ

ในกรณีของเมืองเชียงใหม่ ราชสำนักพม่าได้แต่งตั้งงานโย (Nga Nyo) หรือที่ ตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่ เรียกว่ามังแรนราให้มาเป็นข้าหลวงปกครองเมืองเชียงใหม่ แม้หลักฐานฝ่ายล้านนาจะไม่ได้กล่าวถึงความประพฤติและการบริหารราชการของมังแรนราไว้มากนัก แต่ใน มหาราชวงศ์ หรือพงศาวดารพม่าฉบับของอูกะลาได้บันทึกไว้ว่างานโยและขุนนางระดับรองลงมานั้นเก็บภาษีจากชาวเมือง ‘ในอัตราล้างผลาญ’ และ ‘กดขี่บีฑาผู้คนจนแทบจมดิน’ คาดว่าความประพฤติของมังแรนราหรืองานโยเช่นนี้เองที่เป็นชนวนเหตุให้เกิดการลุกฮือต่อต้านอำนาจของพม่าในเมืองเชียงใหม่ ซึ่งถือเป็นการลุกฮือของสามัญชนครั้งแรกที่ถูหบันทึกไว้ในหน้าประวัติศาสตร์ล้านนา

การลุกฮือครั้งดังกล่าวเกิดขึ้นในปี 1727 โดยมีผู้นำชื่อว่า ‘เทพสิงห์’ เทพสิงห์ผู้นี้จะมีพื้นเพภูมิหลังเป็นใครนั้นไม่ทราบแน่ชัดเนื่องจากยังไม่พบเอกสารทางประวัติศาสตร์ฉบับใดที่กล่าวถึงประวัติส่วนตัวของเทพสิงห์อย่างละเอียด ทราบแต่ว่าเป็นชาวเมืองยวม (อ.ขุนยวม จ.แม่ฮ่องสอนในปัจจุบัน) เพียงเท่านั้น เทพสิงห์ผู้นี้เป็นที่ร่ำลือว่าเป็นผู้มีบุญญาธิการสูงส่งและมีอิทธิฤทธิ์ปาฏิหารย์ สามารถอยู่ยงคงกระพัน ฟันไม่เข้าแทงไม่ออก จึงได้รับความเคารพศรัทธาจากชาวบ้าน (ซึ่งอาจกำลังไม่พอใจมังแรนรา) จนสามารถรวมกลุ่มกันเป็นชุมนุมท้าทายอำนาจของข้าหลวงเมืองเชียงใหม่ได้ โดยมีศูนย์กลางอยู่ที่เมืองยวมซึ่งเป็นบ้านเกิด กิตติศัพท์ของเทพสิงห์น่าจะลือขจรไปถึงเมืองเชียงใหม่ด้วยเช่นกัน ตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่ จึงกล่าวไว้ว่าเมื่อมังแรนราได้ยินข่าวคราวการปรากฏขึ้นของตนบุญเทพสิงห์แล้ว จึงต้องการ ‘ลองของ’ ความศักดิ์สิทธิ์ของตนบุญเทพสิงห์ด้วยวิธีการดังนี้

“มังแรนราผู้กินเชียงใหม่แต่งหื้อคนไปเรียกทีหนึ่งสองที ก็บ่มา จึงแต่งคนไป 500 ไปเรียกมายังวัดสังขารริมประตูช้างเผือก มังแรนราว่าหื้อพ่อเมืองทัง 4 เอาน้ำเข้ายึ่งข่วงสนามหื้อเต็ม แล้วจักเรียกเทพสิงห์ตนบุญมาพร้อมยังสนาม คันตนบุญแท้จักมาเหนือน้ำได้ เราทังหลายน้อมมันชาว่าอั้น”

[[คำแปล: มังแรนราผู้กินเมืองเชียงใหม่ให้คนไปเรียกหนึ่งครั้งสองครั้ง ก็ไม่มา จึงจัดคน 500 คนไปเรียกให้มายังวัดสังขาร (วัดแสนขาน ปัจจุบันเป็นวัดร้าง) ริมประตูช้างเผือก แล้วมังแรนราสั่งให้พ่อเมืองทั้งสี่ (ขุนนางผู้ใหญ่สี่ตำแหน่ง ได้แก่ พญาแสนหลวง พญาสามล้าน พญาจ่าบ้าน และพญาเด็กชาย) เอาน้ำมาขังไว้ในลานหน้าที่ประชุมขุนนางให้เต็ม แล้วจึงจะเรียกตนบุญเทพสิงห์มายังสนามดังกล่าว หากเป็นตนบุญจริง เทพสิงห์ก็คงจักเดินลอยมาเหนือน้ำได้ หากเป็นเช่นนั้นมังแรนราและเหล่าขุนนางก็จะยอมรับ]]

อย่างไรก็ตาม มีชาวเวียง (ผู้คนในตัวเมืองเชียงใหม่) ที่เป็นใจกับเทพสิงห์แอบส่งข่าวให้เทพสิงห์ได้ล่วงรู้แผนการของมังแรนรา เทพสิงห์จึงลักลอบหลบหนีไป จากนั้นไม่นานนัก เทพสิงห์ยกเอากองกำลัง (ซึ่งน่าจะประกอบด้วยชาวบ้านทั่วไป) เข้าโจมตีเมืองเชียงใหม่ และเข้ามายังตัวเมืองเชียงใหม่ได้โดยผ่านประตูไร่ยาหรือประตูไหยาในปัจจุบัน เพราะเหตุใดกองกำลังกบฏชาวนาของเทพสิงห์จึงสามารถบุกเข้ามาในเมืองเชียงใหม่ซึ่งล้อมรอบด้วยกำแพงที่สูงกวี่เมตรที่มีทหารประจำการอาวุธปืนคอยยืนเฝ้าได้สำเร็จนั้น ตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่ ได้บันทึกเหตุแห่งความสำเร็จดังกล่าวไว้ว่า

“อยู่บ่นานเท่าใด เทพสิงห์ยอเสิกเข้ามาคุมเวียง ลวดเข้าได้ประตูไร่ยา ยามนั้นมังแรนราอยู่ยังสนาม ลูกม่านลูกเม็งทังหลายใช้กันมาไหว้สาว่าข้าเสิกเข้าได้ประตูไร่ยาแล้ว ไทยชาวเวียงยิงสินาดบ่ใส่ลูก มีแต่ข้าทังหลายลูกม่านลูกเม็งแลรบข้าเสิกมาไหว้สาสันนั้น”

[[คำแปล: ถัดจากนั้นไม่นานเท่าไหร่ เทพสิงห์ยกกองทัพมาตีเมืองเชียงใหม่ ผ่าเข้าเมืองมาได้ทางประตูไร่ยา (ประตูไหยา) ขณะนั้น มังแรนราอยู่ยังที่ประชุมขุนนาง คนเชื้อสายมอญพม่าทั้งหลายส่งรายงานเข้ามาทูลว่าข้าศึกได้เข้ามาทางประตูไร่ยาแล้ว เพราะพวกคนไทย (ไทยล้านนา/ไทยวน) ชาวเมืองยิงปินใหญ่ไม่ใส่ลูก มีแต่คนเชื้อสายมอญพม่าที่รบกับข้าศึกอยู่ มาทูลให้ทราบเช่นนั้น]]

ในขณะนั้น มีเชื้อพระวงศ์เชื้อสายล้านช้างและเชียงรุ่งองค์หนึ่งชื่อองค์นก มีไพร่พลในสังกัดอยู่ราว 300 คน และได้ลี้ภัยทางการเมืองมาบวชอยู่ในเมืองเชียงใหม่ก่อนหน้านั้น องค์นกได้อาสาตัวต่อมังแรนรานำไพร่พลเข้าต่อสู้กับเทพสิงห์ แต่มังแรนรากลับไม่ไว้วางใจ ในที่สุด กองกำลังของเทพสิงห์สามารถบุกเข้ามาถึงใจกลางเมืองได้และสังหารมังแรนราคาที่ประชุมขุนนาง (เค้าสนาม) เมื่อเทพสิงห์ยึดเมืองอยู่ได้ประมาณเดือนหนึ่งแล้ว ก็ได้ออกคำสั่งให้ “ออกไปดูปักดูแคว้นว่าลูกม่านลูกเม็งอยู่บ้านใด หื้อเอามาส่งนับเสี้ยงจักใส่คอกไฟเผาแล”

[[คำแปล: ออกไปสำรวจตามหมู่บ้านตำบลต่างๆ ว่ามีคนเชื้อสายมอญพม่าอยู่ในที่ใด ให้จับเอามาส่งคลอกไฟเผาปราณชีวิตให้หมด]]

คำสั่งเช่นนี้อาจถือได้ว่าเป็นการจลาจลเชื้อชาติ (race riot) ครั้งแรกในล้านนาก็ว่าได้ อย่างไรก็ตาม นโยบายฆ่าล้างคนเชื้อสายมอญพม่าของเทพสิงห์บีบคั้นให้คนเชื้อสายมอญพม่าในเชียงใหม่ซึ่งน่าจะมีไม่น้อย หันไปขอความช่วยเหลือจากองค์นก ตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่ กล่าวว่า ‘จาเรเนแทก’ และ ‘ปู่ยานช่างเหล็ก’ ซึ่งน่าจะเป็นคนเชื้อสายมอญพม่าได้รวบรวมเอาคนมีฝีมือจำนวน 300 คนเข้าไปพึ่งองค์นก กองกำลังของคนเชื้อสายมอญพม่าและขององค์นกจึงได้ร่วมมือกันต่อสู้กับกองกำลังของเทพสิงห์ที่ ‘ขัวท่าแพ’ (สะพานนวรัฐ) ก่อนที่จะบุกเข้าเมืองเชียงใหม่ได้ทางแจ่งศรีภูมิ เป็นเหตุให้กองกำลังของเทพสิงห์แตกพ่ายและต้องหนีออกจากเชียงใหม่ไป หลังจากปกครองเมืองเชียงใหม่ได้ราวเดือนเศษเท่านั้น โดยกองกำลังที่ปราบปรามเทพสิงห์ได้ยกเอาองค์นกขึ้นเป็นเจ้าเมืองเชียงใหม่แทนในชื่อ ‘องค์คำ’ ซึ่งในสมัยขององค์คำผู้นี้ ราชสำนักพม่าราชวงศ์นยองยานได้พยายามส่งกองทัพมาตีเมืองเชียงใหม่คืนอีกหลายครั้งแต่ก็ไม่ประสบผลสำเร็จแต่ประการใด เมืองเชียงใหม่จึงมีสถานะเป็นนครรัฐอิสระนับแต่การลุกฮือของเทพสิงห์มาเป็นเวลากว่า 36 ปีจนกระทั่งถูกกองทัพพม่าภายใต้ราชวงศ์คองบองพิชิตได้อีกครั้งในปี 1763

ส่วนเรื่องราวของเทพสิงห์หลังจากเสียเมืองเชียงใหม่นั้น ตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่ กล่าวแต่เพียงว่าได้หนีไปยังเมืองน่านและชักชวนให้ ‘ธรรมปัญโญ’ จากเมืองน่านยกทัพมาตีเมืองเชียงใหม่อีกครั้งแต่ไม่สำเร็จ โดยธรรมปัญโญเมืองน่านดังกล่าวเสียชีวิตกลางสมรภูมิรบที่ป่าซาง อย่างไรก็ตาม พื้นเมืองน่าน ไม่ได้กล่าวถึงเรื่องนี้ไว้แต่อย่างใด กระนั้น พื้นเมืองเชียงแสน ได้กล่าวถึงการลุกฮือของเทพสิงห์ไว้ว่าในปีนั้น เป็นปีที่มีผีพุ่งไต้ (ดาวหาง) ลูกใหญ่ปรากฏกลางฟ้า อันเป็นลางบอกเหตุร้ายหรือความเปลี่ยนแปลงทางการเมือง ต่อมาในแรม 5 ค่ำ เดือน 4 เหนือ (ตรงกับเดือน 6 ของสยาม) ของปีนั้น “ชาวเชียงใหม่ฟื้นโป่มังแรม่านข้า (ฆ่า) เสียแล ก็เอาทัพ 7000 ทวยไล่ม่าน 3000 อันเปนลูกน้องนั้น ขึ้นมาเข้าเวียงขังอยู่ยังเชียงแสนที่นี้ รอดเดือน 5 แรมฅ่ำ 1 โมยหงวนชิคาย ม่านทังหลายก็พ่ายหนี ละเมืองเชียงแสนเสียเสี้ยงทังมวล บ่หลอแล ตั้งแต่เดือนแรมฅ่ำ 1 ต่อเท้ารอดเดือน 6 แรม 9 ฅ่ำ ชาวเชียงใหม่ทังหลายเขาก็ขังเวียงเชียงแสนอยู่บ่ลา ยามนั้นพระญาหานวังตื้นก็แต่งเอาทัพมีฅน 400 ไปหลอนทัพชาวเชียงใหม่ที่ริมเวียงเชียงแสนที่นี้ ยามจักใกล้รุ่ง ชาวเชียงใหม่ทังหลายฉิบหายมากนัก แตกพ่ายหนีละครอบครัวเสียเสี้ยง ได้อามอกสินาดมากนัก กับช้าง 6 ตัว วันนั้นแล ตั้งแต่นั้นไป เชียงใหม่นั้น เขาบ่มีไผเปนเจ้า หั้นแล”

[[คำแปล: ชาวเชียงใหม่ก่อกบฏต่อโป่มังแรพม่า ฆ่าเสีย แล้วก็เอาทัพ 7,000 คนไล่ตามทัพพม่า 3,000 คนอันเป็นลูกน้อง เข้ามาล้อมเวียงเชียงแสนที่นี้ ถึงเดือน 5 เหนือ แรม 1 ค่ำ โมยหงวนชิคาย (โมยหงวนคือ myowun ชิคายคือ sitke เป็นตำแหน่งขุนนางชาวพม่า) ต่างพากันหนีออกจากเมืองเชียงแสนไม่เหลือเลย ตั้งแต่เดือนแรมค่ำ 1 ถึงเดือน 6 เหนือแรม 9 ค่ำ ชาวเชียงใหม่ก็ล้อมเมืองเชียงแสนอยู่ไม่เลิก ขณะนั้น พระยาหาญวังตื้นก็นำทัพ 400 คนไปลอบโจมตีทัพชาวเมืองเชียงใหม่ที่รอบเมืองเชียงแสน เมื่อยามใกล้รุ่ง ชาวเชียงใหม่ก็ล้มตายไปมาก แตกพ่ายหนีทิ้งครอบครัวไว้หมดสิ้น ได้ปืนใหญ่ปืนน้อยกับช้าง 6 ตัวในวันนั้น ตั้งแต่นั้นไป เชียงใหม่ก็ไม่มีใครเป็นเจ้าปกครอง]]

แม้ พื้นเมืองเชียงแสน จะไม่ได้ระบุว่าใครคือผู้นำของการ ‘ฟื้นโป่มังแร’ แต่เมื่ออ่านเทียบกับ ตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่ ก็จะทราบได้ว่าคือการลุกฮือครั้งเดียวกับของเทพสิงห์นั่นเอง หากเชื่อถือตาม พื้นเมืองเชียงแสน ซึ่งสันนิษฐานว่าเรียบเรียงขึ้นก่อน ตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่ อาจกล่าวได้ว่าการลุกฮือของเทพสิงห์นั้นเป็นการลุกฮือครั้งใหญ่ที่มีคนเข้าร่วมด้วยเป็นจำนวนมาก และยังลุกลามถึงกับยกทัพไปล้อมเมืองเชียงแสนซึ่งเป็นศูนย์อำนาจของพม่าอีกแห่งหนึ่ง จนสามารถกดดันให้คณะข้าหลวงขุนนางของราชสำนักพม่าหลบหนีออกจากเมืองไปในที่สุด

การลุกฮือของตนบุญเทพสิงห์ นอกจากจะเป็นผลจากความเดือดร้อนในสังคมอันเนื่องด้วย ‘สากลวิกฤต’ ที่เกิดขึ้นทั่วโลกดังที่ได้กล่าวมาแล้ว ยังเป็นจุดเริ่มต้นของ ‘ช่วงว่างแผ่นดิน’ (interregnum) หรือสภาวะที่ไม่มีผู้ใดมีอำนาจมากพอจะสถาปนาตนเป็นองค์อธิปัตย์ควบคุมล้านนาทั้งภูมิภาค และเป็นหนึ่งในฉากเปิดของ ‘ศตวรรษแห่งการปฏิวัติ’ หรือวิกฤตศตวรรษที่ 18 ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่อาณาจักรต่างๆ ประสบกับวิกฤต ‘กรุงแตก’ อันเนื่องด้วยสงครามหรือการปฏิวัติ เช่น การล่มสลายของราชวงศ์นยองยานอันเนื่องด้วยการลุกฮือของชาวมอญในปี 1752 สงครามเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่สอง ในปี 1767 และการปฏิวัติไตเซินในเวียดนามระหว่างปี 1778-1802 เป็นต้น หรือหากจะกล่าวอย่างกว้างขวางยิ่งขึ้น ก็อาจถือได้ว่าการปฏิวัติของเทพสิงห์นี้อยู่บนคลื่นปฏิวัติลูกเดียวกับที่ซัดถึงยุโรปจนเกิดการปฏิวัติฝรั่งเศสในปี 1789 นั่นเอง

เรื่องราวของเทพสิงห์อาจถือเป็น ‘การปฏิวัติมวลชน’ ครั้งแรกในประวัติศาสตร์ล้านนา และเทพสิงห์ก็เป็นคนแรกที่ได้รับการบันทึกว่าเป็นตนบุญ อย่างไรก็ตาม หลังจากช่วงเวลาของเทพสิงห์ ก็ยังคงมีตนบุญอีกหลายคนหมนุเวียนกันมาเกี่ยวข้องกับกระแสการต่อสู้และความเปลี่ยนแปลงในล้านนา ดังที่จะได้นำมาเล่าในตอนถัดไปของคอลัมน์นี้

โปรดติดตามตอนต่อไป


บรรณานุกรม

แพทริค โจรี, ทฤษฎีกษัตริย์โพธิสัตว์: เวสสันดรชาดกในประวัติศาสตร์ไทย, แปลโดย ฑิตฐิตา ซิ้มเจริญ ( กรุงเทพฯ: , 2563)

ลัดดาวัลย์ แซ่เซียว, 200 ปี พม่าในล้านนา. กรุงเทพ: พิมพลักษณ์, 2545.

สิงฆะ วรรณสัย, ปริวรรต, กฎหมายพระเจ้าน่าน ตำนานพระเจ้าไห้. ม.ป.ท. : ศูนย์ส่งเสริมและศึกษาวัฒนธรรมลานนาไทย วิทยาลัยครูเชียงใหม่., 2523

สรัสวดี อ๋องสกุล, ปริวรรต ตรวจสอบ และวิเคราะห์, นิธิ เอียวศรีวงศ์, บรรณาธิการ, พื้นเมืองเชียงแสน. กรุงเทพฯ: อมรินทร์ 2546.

สรัสวดี อ๋องสกุล, ปริวรรตและจัดทำ, นิธิ เอียวศรีวงศ์, บรรณาธิการ, พื้นเมืองน่าน ฉบับวัดพระเกิด. กรุงเทพฯ: อมรินทร์, 2539.

อรุณรัตน์ วิเชียรเขียว และ เดวิด เค. วัยอาจ, ตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่. พิมพ์ครั้งที่ 2. เชียงใหม่: ซิลค์เวอร์มบุ๊คส์, 2547

Kala, U, The Great Chronicle 1597-1711. Translated by Tun Aung Chain. Yangon: Myanmar Knowledge Society, 2016.

Reid, Anthony. “The Seventeenth-Century Crisis in Southeast Asia.” Modern Asian Studies 24, no. 4 (1990): 639–59. http://www.jstor.org/stable/312727.

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save