fbpx

‘ว่างแผ่นดิน’ ในประวัติศาสตร์ล้านนา

อาจารย์นิธิ เอียวศรีวงศ์เป็นนักคิดนักเขียนคนสำคัญที่สุดคนหนึ่งในวงการศึกษาประวัติศาสตร์ไทยที่ยังคงมีชีวิตอยู่ นอกจากจะเป็นหนึ่งในนักประวัติศาสตร์ที่จบการศึกษาและนำวิธีวิทยาจากสำนักคิดต่างประเทศมาใช้ศึกษาประวัติศาสตร์ไทยเป็นรุ่นแรกๆ แล้ว ยังเป็นผู้บุกเบิกการศึกษาประวัติศาสตร์ไทยเชิงวิพากษ์ ซึ่งตลอดชีวิตการทำงานอันยาวนาน อาจารย์นิธิก็ได้ผลิตผลงานที่พลิกมิติมุมมองพินิจประวัติศาสตร์มาหลายต่อหลายครั้ง แม้กระทั่งในระยะหลังๆ นี้ที่สังขารเริ่มร่วงโรยไปพร้อมกับอายุที่มากขึ้น อาจารย์นิธิก็ยังคงไม่ทิ้งลายนักประวัติศาสตร์อาวุโสและผลิตผลงานให้ผู้สนใจได้ตามอ่านในช่องทางต่างๆ เรื่อยมา

ในปี 2562 ณ ขณะที่อาจารย์นิธิอายุได้ 79 ปีแล้ว อาจารย์ได้ตีพิมพ์ผลงานหนังสือออกมาเล่มหนึ่ง (ซึ่งเป็นหนังสือเล่มล่าสุดของอาจารย์จนปัจจุบัน) ชื่อ ว่างแผ่นดิน: ประวัติศาสตร์เปรียบเทียบ ‘กรุงแตก’ ในสามราชอาณาจักร โดยทางมูลนิธิโตโยต้าและมูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์เป็นผู้สนับสนุนการตีพิมพ์ให้ และเข้าใจว่าหนังสือเล่มนี้ปรับปรุงมาจากปาฐกถานำของอาจารย์ในงาน ‘250 ปี เสียกรุงศรีอยุธยา-สถาปนากรุงธนบุรี 2310-2560’ ที่อาจารย์ชาญวิทย์ เกษตรศิริเป็นผู้จัดเมื่อวันที่ 15 กันยายน 2560 ซึ่งในงานนั้น อาจารย์ลลิตา หาญวงษ์เป็นผู้อ่านปาฐกถาแทนตัวอาจารย์นิธิ ตัวผมเองไม่ได้มีโอกาสไปร่วมงานปาฐกถานั้น กระทั่งเมื่อมีการจัดเสวนาเปิดตัวหนังสือที่เชียงใหม่เมื่อวันที่ 2 มีนาคม 2562 ผมเองก็ไม่ได้ไปร่วมงานด้วย เป็นเรื่องน่าเสียดายอยู่เหมือนกันสำหรับผม

กระนั้นด้วยคำแนะนำของคุณกนิษฐ์ วิเศษสิงห์ กัลยาณมิตรของผมที่แนะนำให้หาหนังสือเล่มนี้มาอ่านเพื่อทำความเข้าใจความเป็น ‘ช่วงสมัยใหม่ตอนต้น’ (early modernity) ในประวัติศาสตร์ไทย ซึ่งเป็นนิยามที่ไม่ใคร่คุ้นหูกันในหมู่ผู้ศึกษาประวัติศาสตร์ไทยทั่วไปเท่าไหร่นัก ผมจึงมีโอกาสอ่านหนังสือเล่มนี้อย่างเป็นจริงเป็นจัง ส่วนหนึ่งก็เพื่อฆ่าเวลาระหว่างความน่าเบื่อที่ต้องเข้าโรงออกศาลอย่างไร้สาระภายใต้กระบวนการอยุติธรรมอยู่เป็นเนืองนิจ ผมจึงพบว่าแม้ในวัยเกือบ 80 แล้ว อาจารย์นิธิยังคงสามารถผลิตผลงานที่ควรค่าแก่การอ่านและถกเถียงทั้งในส่วนที่เห็นด้วย ไม่เห็นด้วย และคิดต่อยอดนอกเหนือไปจากที่อาจารย์นิธิเสนอ ทั้งผมก็ได้เห็นว่าอาจารย์ยุกติเคยเขียนวิจารณ์หนังสือเล่มนี้ไว้แล้วสำนวนหนึ่ง ผมจึงขอหยิบยกหนังสือเล่มนี้มาวิจารณ์ให้ได้ ‘พูดคุย’ กับหนังสือผ่านตัวอักษรเป็นอีกสำนวนหนึ่งต่อจากบทวิจารณ์ของอาจารย์ยุกติไว้ในบทความนี้ 

เนื้อหาหนังสือ ‘ว่างแผ่นดิน’ โดยสังเขป

หากจะสรุปเนื้อหาโดยสังเขป หนังสือเล่มนี้กล่าวถึงประวัติศาสตร์ช่วง ‘ว่างแผ่นดิน’ (interregnum) หรือช่วงรอยต่อระหว่างการล่มสลายของระเบียบเก่าและการลงหลักตั้งมั่นของระเบียบใหม่ที่เกิดขึ้นในสามราชอาณาจักร ได้แก่ อยุธยา อังวะ และด่ายเหวียด อันเป็น ‘บุพการี’ ของรัฐขนาดใหญ่ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ภาคพื้นทวีปทั้งสามได้แก่ พม่า ไทย และเวียดนามในปัจจุบัน หนังสือเรียกรัฐทั้งสามนี้ว่า ‘รัฐราชอาณาจักร’ ซึ่งก่อกำเนิดจากการกลืนกิน ‘รัฐแว่นแคว้น’ ต่างๆ จนมีพื้นที่ ทรัพยากร และกองกำลังอันเข้มแข็ง ทั้งสามารถสถาปนาอำนาจการปกครองจากศูนย์กลางได้อย่างตั้งมั่น

เนื้อหาส่วนแรกในหนังสือฉายภาพพัฒนาการของรัฐเหล่านี้เรียงลำดับตั้งแต่ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีการเกษตรที่ได้คิดค้น ‘ผาลไถ’ จนสามารถเพิ่มประสิทธิภาพและผลผลิตทางการเกษตรจนจำนวนประชากรสูงขึ้นอย่างก้าวกระโดด ประกอบกับความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีการทหารที่รัฐเหล่านี้เริ่มเข้าถึงอาวุธที่ทรงประสิทธิภาพทำลายล้างสูงขึ้น เช่น ปืนไฟและปืนใหญ่ จึงสามารถขยายอาณาเขตของรัฐออกไปให้กว้างขวางได้ จึงเกิดพัฒนาการทางเศรษฐกิจและสังคมพร้อมๆ กับที่มีการปรับปรุงโครงสร้างการบริหารให้รองรับรัฐและสังคมที่ขยายตัวออกไปทั้งในเชิงพื้นที่และจำนวนประชากร

ความคึกคักของการค้าระหว่างประเทศและการค้าภายในยิ่งทำให้สังคมและเศรษฐกิจของรัฐเหล่านี้เติบโตขึ้นเป็นสังคมที่ซับซ้อน นำมาสู่การผนึกตัวทางวัฒนธรรม (cultural integration) ที่รัฐเริ่มมีกระบวนการสร้างสำนึกอัตลักษณ์ร่วมทั้งในทางภาษา ศาสนา ศิลปวัฒนธรรม และกฎหมายให้เกิดขึ้นในหมู่ประชากรของตน โดยสรุปก็คือรัฐราชอาณาจักรทั้งสามเป็นผลผลิตของพัฒนาการทางสังคม เศรษฐกิจ และการเมืองจากรัฐแว่นแคว้นขึ้นเป็นรัฐอาณาจักรที่ประสบความสำเร็จในการตั้งมั่นอำนาจส่วนกลาง

ในเนื้อหาส่วนต่อมา หนังสือฉายให้เห็นความเปราะบางในโครงสร้างรัฐที่ไม่อาจปรับตัวเท่าทันกับการขยายตัวในด้านต่างๆ ที่เกิดขึ้น จนนำมาสู่ความล่มสลายของทั้งสามราชอาณาจักรในเวลาต่อมา ตัวอย่างในกรณีของอยุธยา มีการรวมอำนาจเข้าสู่ศูนย์กลางแต่ปฏิเสธการสร้างความเป็นสถาบันทางการเมืองให้กับระบบการปกครอง เป็นช่องให้ขุนนางและเจ้านายในราชสำนักฉ้อราษฎร์บังหลวงและเพิ่มพูนอำนาจของตนจนสามารถท้าทายอำนาจของตัวกษัตริย์จนกระทั่งก่อการกบฏ รัฐประหาร และสงครามกลางเมืองเพื่อช่วงชิงราชบัลลังก์หลายต่อหลายครั้ง ความโกลาหลดังนี้ทำให้โครงสร้างการควบคุมไพร่ซึ่งเป็นทั้งแรงงานและกำลังพลของราชอาณาจักรทรุดโทรมลงจนไม่สามารถระดมทรัพยากรต่อต้านภัยคุกคามภายนอกได้อย่างมีประสิทธิภาพ อาณาจักรจึงถึงแก่กาลพินาศลง

ในกรณีของด่ายเหวียด การขยายตัวของประชากรนำมาสู่การบุกเบิกดินแดนตอนใต้ในช่วงศตวรรษที่ 15 กระนั้นดินแดนตอนใต้ก็มีความแตกต่างจากดินแดนตอนเหนือทั้งในทางภูมิประเทศและชาติพันธุ์ จนเมื่อถึงศตวรรษที่ 17 ความขัดแย้งทางการเมืองก็ส่งผลให้ด่ายเหวียดแต่งออกเป็นสองแคว้นได้แก่ ‘ด่างจอง’ ภายใต้อำนาจของขุนศึกตระกูลเหงวียนทางใต้ และ ‘ด่างหว่าย’ ภายใต้อำนาจของขุนศึกตระกูลจิ่งญ์ทางเหนือ และในที่สุด การลุกฮือต่อต้านการกดขี่ขูดรีดของบรรดาผู้ใต้ปกครองทุกชนชั้นก็นำพาการล่มสลายมาสู่แคว้นทั้งสอง นับเป็นการสิ้นสุดราชวงศ์เลและเป็นจุดเริ่มต้นของระบอบเต็ยเซิน

และในกรณีของอังวะ การขยายอำนาจของบรรดา ‘เมียวหวุ่น’ หรือเจ้าเมืองพร้อมทั้งและขุนนางในภูมิภาคต่างๆ จนสามารถท้าทายอำนาจส่วนกลางของราชสำนักได้นำมาซึ่งความอ่อนแอ เมื่อเกิดการลุกฮือของชาวมอญขึ้น ราชสำนักก็ไม่อาจจะปราบปรามลงได้ จนในที่สุด กองกำลังกบฏมอญก็สามารถสถาปนาอาณาจักรหงสาวดีที่ได้รับการฟื้นฟู (Restored Hanthawady Kingdom ผมชอบเรียกว่าหงสาวดีใหม่มากกว่า) ขึ้นในทางตอนใต้ของอาณาจักร กระทั่งยกทัพขึ้นไปยึดและทำลายกรุงอังวะอันเป็นเมืองหลวงของราชอาณาจักรในพื้นที่ราบตอนใน จนทำให้ราชอาณาจักรอังวะแตกสลายลงได้ จะเห็นได้ว่าในช่วงเวลาไล่เลี่ยกัน ทั้งสามราชอาณาจักรต่างผ่านประสบการณ์การ ‘เสียกรุง’ ด้วยเหตุและปัจจัยที่มีรูปแบบคล้ายคลึงกันในบางประการ

ในเนื้อหาส่วนสุดท้าย หนังสือได้กล่าวถึงสภาวะ ‘ว่างแผ่นดิน’ ที่เกิดขึ้นหลังจากทั้งสามอาณาจักรตกเป็นเหยื่อของคลื่นความล่มสลายลูกยักษ์ที่โถมซัดเข้าทั้งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ คำว่าว่างแผ่นดินในที่นี้ใช้หมายถึงสภาวะที่ ‘แผ่นดินเก่า’ หรือราชอาณาจักรพร้อมทั้งระเบียบแบบแผน ขนบธรรมเนียมประเพณี และโครงสร้างทางการปกครองแบบเก่าที่ไม่สามารถปรับตัวเข้ากับความเป็นจริงของสังคมและเศรษฐกิจได้ล่มสลายไปแล้ว แต่ ‘แผ่นดินใหม่’ หรือราชอาณาจักรพร้อมทั้งระเบียบแบบแผน ขนบธรรมเนียมประเพณี และโครงสร้างทางการปกครองแบบใหม่ก็ยังไม่ถูกสถาปนา หรือสถาปนาแล้วก็ยัง ‘ไม่เข้าที่’ คือยังไม่สามารถตอบสนองต่อความเป็นจริงทางสังคมและเศรษฐกิจจึงยังไม่อาจตั้งมั่นได้

อีกทั้งผู้ที่สถาปนาแผ่นดินใหม่ทั้งหลายก็มักจะเป็นเพียงชนชั้นนำชายขอบที่ต้อยต่ำอำนาจบารมีจนไม่อาจควบคุมชนชั้นนำเก่าได้ จึงพบว่าแผ่นดินใหม่ซึ่งสถาปนาขึ้นมาแทนแผ่นดินเก่ามักจะถูกแทนที่ด้วยแผ่นดินใหม่อีกชุดที่สถาปนาโดยชนชั้นนำเก่า ซึ่งอ้างอิงอุดมคติของแผ่นดินเก่าแต่ก็ดัดแปลงระเบียบแบบแผนและโครงสร้างต่างๆ ให้สามารถรับมือกับ ‘จุดตาย’ ที่นำมาสู่ความล่มสลายของแผ่นดินเก่าได้

ในกรณีของอาณาจักรธนบุรีซึ่งสถาปนาขึ้นมาแทนอยุธยา ความไม่มั่นคงทางเศรษฐกิจ ประกอบกับความไม่ยึดถือใน ‘โบราณราชประเพณี’ หรือขนบธรรมเนียมประเพณีอย่างเคร่งครัด พร้อมทั้ง ‘ความไม่บริสุทธิ์’ ทางชาติตระกูลของพระเจ้าตากสินส่งผลให้สถาบันกษัตริย์ ‘อ่อน’ เกินกว่าที่จะธำรงโครงสร้างสังคมแบบศักดินาที่ยังพึ่งพิงกำแพงระหว่างฐานันดรที่ ‘สูง กว้าง และแข็ง’ ได้ ‘แผ่นดินกรุงธนบุรี’ ซึ่งเป็นระบอบที่ตั้งขึ้นหลังการล่มสลายของอยุธยาจึงดำรงอยู่ได้เพียง 15 ปีก่อนจะถูกยึดอำนาจโดยขุนนางกลุ่ม ‘ผู้ดีกรุงเก่า’ ภายใต้การนำของเจ้าพญากษัตริย์ศึก นำมาสู่การตั้ง ‘แผ่นดินกรุงเทพ’ บนคติอยุธยาใหม่ คือรับอุดมคติของอยุธยาในทางรูปลักษณ์แต่ดัดแปลงเนื้อหาให้เข้ากับสถานการณ์การครอบครองอำนาจของราชวงศ์จักรี

ในกรณีของพญาทะละผู้ปกครองอาณาจักรหงสาวดีใหม่ การปล่อยปละละเลยไม่ปฏิรูปโครงสร้างการปกครอง แต่มุ่งเน้นดำเนินนโยบายปราบปรามชาติพันธุ์พม่า ซึ่งเป็นผลสืบเนื่องจากรากฐานของอาณาจักรที่สถาปนาขึ้นจากการลุกฮือต่อต้านพม่าของชาวมอญกลับยังผลให้อาณาจักรมอญที่ถูกรื้อฟื้นขึ้นมาใหม่ต้องเผชิญกับปัญหาความขัดแย้งทางชาติพันธุ์ภายในจากชาวพม่าซึ่งก็อาศัยอยู่ในราชอาณาจักรด้วย พร้อมกับที่นโยบายดังกล่าวก็ยั่วยุชาวพม่าที่อาศัยอยู่ในหัวเมืองทางตอนเหนือนอกเขตอาณาจักร จนในที่สุด เมื่อกลุ่มอำนาจเชื้อสายพม่าสามารถรวมตัวกันติดได้ภายใต้การนำของอ่องไจยะ เจ้าเมืองมุกโซโบ กองกำลังพม่าของอ่องไจยะก็สามารถพิชิตและเผาทำลายกรุงหงสาวดี พร้อมทั้งฆ่าล้างชาวมอญจนทำให้มีผู้อพยพลี้ภัยชาวมอญมายังสยามจำนวนมหาศาลจนเป็นประวัติการณ์

และในกรณีของระบอบเต็ยเซิน ความอ่อนล้าจากสงครามกลางเมืองที่ดำเนินมายืดเยื้อยาวนานจนไม่อาจปกครองได้อย่างมีประสิทธิภาพ ความไม่เชี่ยวชำนาญในขนบธรรมเนียมโบราณตามประสากบฏชาวนา และความแตกร้าวระหว่างพี่น้องเต็ยเซินก็เป็นช่องให้เหงวียน อาญ (องเชียงสือ) แห่งตระกูลเหงวียนซึ่งถูกเต็ยเซินล้มล้างไปก่อนหน้านี้สามารถชิงแผ่นดินกลับมาอยู่ในมือตระกูลตนเองได้ ซึ่งแน่นอนว่าแผ่นดินราชวงศ์เหงวียนซึ่งสถาปนาขึ้นใหม่นี้ ก็ผ่านการปฏิรูปเพื่ออุดรอยรั่วที่ทำให้ตระกูลเหงวียนถูกโค่นล้มอำนาจไปก่อนหน้านี้เช่นกัน จะเห็นได้ว่า ไม่เพียงแต่ทั้งสามอาณาจักรจะพานพบประสบการณ์การ ‘เสียกรุง’ ในเวลาใกล้เคียงกัน แต่กระทั่งประสบการณ์การ ‘การตั้งกรุงใหม่’ ของทั้งสามอาณาจักรก็ยังคล้ายคลึงกันอีกด้วย

ว่าด้วยเรื่องว่างแผ่นดินกับล้านนา (ที่อาจารย์นิธิไม่ได้กล่าวถึง)

เช่นเดียวกับที่อาจารย์ยุกติเคยชื่นชมหนังสือเล่มนี้ไว้ ว่างแผ่นดิน ได้นำเอาประวัติศาสตร์ของทั้งสามอาณาจักรซึ่งเป็นรัฐในความทรงจำของสามประเทศมาวางเทียบเคียงกันเพื่อชี้ให้เห็น ‘จังหวะ’ หรือรูปแบบเหตุการณ์ที่คล้ายคลึงกันในประวัติศาสตร์ของแต่ละประเทศ[1] อันเป็นการนำพาผู้อ่านออกนอกกรอบความเป็นชาติในการศึกษาประวัติศาสตร์ ซึ่งถ้าติดอยู่ในกรอบดังกล่าวมากเข้าก็จะหลงคิดไปว่าประวัติศาสตร์ชาติของตนนั้นมีความจำเพาะเจาะจงชนิดที่ไม่มีชาติใดเหมือน หนังสือเล่มนี้จึงชี้ชวนให้ผู้อ่านได้เห็นมุมมองตรงกันข้าม นั่นคือ แท้จริงแล้วไม่มีประวัติศาสตร์ของประเทศใดที่จะตั้งอยู่อย่างโดดเดี่ยวได้ และยิ่งเมื่อเป็นประเทศที่อยู่ร่วมภูมิภาคกันแล้ว ก็มักจะมีรูปแบบเหตุการณ์ในประวัติศาสตร์คล้ายคลึงกัน อันเนื่องมาจากธรรมชาติของคลื่นลมความเปลี่ยนแปลง เมื่อพัดไปสู่ภูมิภาคใดแล้วก็มักจะต้องรับคลื่นลมกันทั้งภูมิภาค แม้รายละเอียดการตอบสนองต่อคลื่นลมดังกล่าวในประวัติศาสตร์แต่ละประเทศจะแตกต่างกันไป แต่โดยรวมแล้ว เมื่อต้องเผชิญกับเหตุปัจจัยคล้ายคลึงกัน รูปแบบและจังหวะของเหตุการณ์ในประวัติศาสตร์ก็จะคล้ายคลึงกันไปด้วยเป็นธรรมดาตามประสาประเทศร่วมภูมิภาคกัน การอ่าน ว่างแผ่นดิน จึงอาจช่วยให้ผู้อ่านได้มองประวัติศาสตร์ไทย พม่า เวียดนามใหม่ในฐานะส่วนหนึ่งของประวัติศาสตร์ภูมิภาค นอกจากที่จะเป็น ‘ประวัติศาสตร์ชาติ’ ของประเทศหนึ่งเพียงอย่างเดียว

การศึกษาและเรียบเรียงผลงานโดยใช้วิธีการเชิงเปรียบเทียบ (comparative) หรือเอากรณีศึกษาในหลายประเทศหรืออาณาบริเวณมาเปรียบเทียบกันดังเช่นที่ปรากฏในหนังสือ ว่างแผ่นดิน นี้ นิยมใช้กันมากในการศึกษารัฐศาสตร์จนหลายสำนักแยกออกมาตั้งเป็นสาขาการเมืองเปรียบเทียบ (comparative politics) แต่ในการศึกษาประวัติศาสตร์นั้น ยังไม่ค่อยมีใครนำวิธีการเช่นนี้มาใช้มากนัก โดยเฉพาะในกรณีประวัติศาสตร์เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และแม้วิธีการดังกล่าวจะมีข้อพึงระวังว่าง่ายแก่การนำไปสู่อคติเนื่องจากการเลือกตัวแปร (variable) ในประวัติศาสตร์ซึ่งมีลักษณะเป็นเชิงคุณภาพมาเปรียบเทียบกันได้อย่างถูกจุดนั้นเป็นไปได้ยากหรือกระทั่งเป็นไปไม่ได้เลย และผู้ศึกษาเองก็อาจมีความชำนาญในประวัติศาสตร์ที่นำมาเปรียบเทียบไม่เท่ากัน จนทำให้ประวัติศาสตร์ถูกเปรียบเทียบอย่างอสมมาตร[2] แต่ปัญหาเหล่านี้ก็ดูจะไม่พบใน ว่างแผ่นดิน เลย อาจารย์นิธิกล่าวถึงความเป็นไปในแต่ละราชอาณาจักรด้วยข้อมูลและหลักฐานชั้นต้นที่มีน้ำหนักและความลุ่มลึกสม่ำเสมอกัน อีกทั้งยังสามารถเลือกเปรียบเทียบตัวแปรได้อย่างคงเส้นคงวา จึงเป็นทั้งการแสดงอรรถประโยชน์ของแนวการศึกษาแบบประวัติศาสตร์เปรียบเทียบ (comparative history) และเป็นตัวอย่างที่ดีให้กับการศึกษาแบบอาณาบริเวณศึกษาระดับภูมิภาค คือรู้ทุกเรื่องของทุกประเทศในภูมิภาคที่ศึกษา เพื่อให้ได้ทั้งภาพกว้างและภาพลึกในการศึกษาของตน

อย่างไรก็ตาม ว่างแผ่นดิน ของอาจารย์นิธิไม่ใช่งานเขียนประวัติศาสตร์เปรียบเทียบเรื่องแรกในวงการศึกษาประวัติศาสตร์เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เพราะก่อนหน้านั้น Victor Lieberman ผู้เป็นอาจารย์ของอาจารย์นิธิก็เคยตีพิมพ์ Strange Parallels: Southeast Asia in Global Context ซึ่งจัดวางประวัติศาสตร์การก่อกำเนิดและพัฒนาการของรัฐในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ภาคพื้นทวีปเปรียบเทียบกับบริบทประวัติศาสตร์โลก อันที่จริงแล้ว ใน ว่างแผ่นดิน ของอาจารย์นิธิก็ปรากฏเงาของ Strange Parallels อย่างชัดเจนอยู่เหมือนกัน ทั้งตัวเลือกประวัติศาสตร์ที่นำมาใช้เปรียบเทียบซึ่งเลือกเอาเฉพาะประวัติศาสตร์ของสามประเทศ ได้แก่ เวียดนาม ไทย พม่า โดยที่มองว่าประเทศในยุคสมัยใหม่เหล่านี้เป็นทายาทของรัฐหรืออาณาจักรในประวัติศาสตร์ที่ก่อตั้งโดยคนกลุ่มเดียวกันในอาณาบริเวณเดียวกัน เช่น เวียดนามเป็นทายาทของด่ายเหวียด ไทยเป็นทายาทของอยุธยา และพม่าเป็นทายาทของอังวะ เป็นต้น ที่สำคัญยิ่งไปกว่านั้น คำอธิบายเรื่อง ‘รัฐราชอาณาจักร’ ซึ่งมีวิวัฒนาการเพิ่มเติมจาก ‘รัฐแว่นแคว้น’ อันเป็นผลสืบเนื่องจากการเข้าสู่ยุคสมัยใหม่ตอนต้นนั้น ก็มีที่มาจากวิธีการจำแนกประเภทของรัฐหรือหน่วยการเมือง (entity) ที่อาจารย์ Lieberman เสนอไว้ในหนังสือ Strange Parallels นั่นเอง

เขียนถึงตรงนี้ ผมเชื่อว่าผู้ศึกษาประวัติศาสตร์ล้านนาจำนวนไม่น้อยจะต้องรู้สึกตะขิดตะขวงหรืออึดอัดขัดใจกับการเลือกใช้ศัพท์นิยามว่า ‘รัฐราชอาณาจักร’ และ ‘รัฐแว่นแคว้น’ ของอาจารย์นิธิอย่างแน่นอน (ซึ่งก็จะต้องขัดเคืองไปถึงการเลือกใช้คำของอาจารย์ Lieberman ก่อนหน้านี้ด้วย) เพราะในวงการศึกษาประวัติศาสตร์ล้านนา คำว่า ‘แว่นแคว้น’ หรือ ‘นครรัฐ’ เป็นคำที่ใช้เรียกรัฐขนาดเล็ก มีที่ตั้งอยู่ในที่ราบแอ่งหุบเขา (โหล่ง) เพียงแอ่งเดียว เช่น รัฐหริภุญชัยในลุ่มน้ำปิง แอ่งเชียงใหม่-ลำพูน รัฐเขลางค์ในลุ่มน้ำวังหรือแอ่งลำปาง รัฐโยนกหรือหิรัญนครเงินยางในลุ่มน้ำโขง-กก หรือแอ่งเชียงราย-เชียงสาย เป็นต้น รัฐเหล่านี้ปรากฏอยู่ในยุคโบราณ (ancient era) หรือช่วงประวัติศาสตร์ตอนต้น (early history) จึงนำชื่อรูปแบบรัฐมาใช้เรียกเป็นชื่อยุคสมัยดังกล่าว

จนกระทั่งการสถาปนาเมืองเชียงใหม่ซึ่งเป็นผลจากการควบรวมรัฐหริภุญชัยและรัฐเงินยางเพื่อสถาปนาอาณาจักรล้านนาขึ้นเป็นอาณาจักร (kingdom) ในช่วงศตวรรษที่ 14 ซึ่งมักถือเป็นจุดเริ่มต้นของยุคกลาง (medieval era) ในประวัติศาสตร์ล้านนาด้วย แว่นแคว้นหรือนครรัฐเหล่านี้จึงค่อยๆ ถูกผนวกกลืนเข้าเป็นส่วนหนึ่งของอาณาจักรล้านนา[3] ดังนั้น สำหรับผู้ศึกษาประวัติศาสตร์ล้านนา ล้านนาย่อมเป็น ‘รัฐอาณาจักร’ ที่เกิดจากการควบรวม ‘รัฐแว่นแคว้น’ เช่น หริภุญชัย เขลางค์นคร พะเยา แพร่ น่าน ฯลฯ แต่ดูเหมือนว่าจากคำนิยามที่อาจารย์นิธิที่ปรากฏใน ว่างแผ่นดิน อาณาจักรล้านนาจะมีสถานะเป็นเพียงรัฐแว่นแคว้นเท่านั้น ทั้งยังเป็นหนึ่งใน ‘รัฐแว่นแคว้นตอนใน’ ที่ ‘สอบไม่ผ่าน’ หรือไม่สามารถขยายขอบเขตอำนาจหรือพัฒนาโครงสร้างให้เกิดรัฐขนาดใหญ่ที่มีอำนาจอย่างยั่งยืนได้เท่าเทียมกับ ‘รัฐราชอาณาจักร’ ทั้งสามที่ได้เป็นกรณีศึกษาใน ว่างแผ่นดิน จึงไม่สามารถ ‘หลุดพ้นจากความเป็นรัฐแว่นแคว้น’ ได้ ทั้งที่ในข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์ ล้านนาได้พัฒนาระเบียบแบบแผน ขนบธรรมเนียม และโครงสร้างทางการเมืองผ่านการดึงอำนาจเข้าสู่ศูนย์กลางตั้งแต่สมัยพญากือนาจนถึงพระเจ้าติโลกราชจนกลายเป็นรัฐที่มีอาณาบริเวณที่คงตัว กำหนดขอบเขตได้ และรัฐบาลกลางสามารถใช้อำนาจควบคุมได้เท่าเทียมกับรัฐอื่นๆ ในยุคเดียวกัน[4]) จึงหลุดพ้นจากความเป็นรัฐแว่นแคว้นที่อาจารย์นิธินิยามไว้ว่า “บางครั้งอาจมีกำลังขยายอำนาจไปได้กว้างขวาง แต่ก็รักษาอำนาจนั้นไว้ได้ไม่นาน สิ้นรัชกาลกษัตริย์นักรบ บ้านเมืองก็หดกลับมาเป็นแว่นแคว้นขนาดเล็กเหมือนเดิม”[5]

แม้ว่าอาณาจักรล้านนาที่ผ่านการตั้งมั่นมาแล้วจะสิ้นรูปในเวลาต่อมาก็เป็นเพราะเหตุปัจจัยในประวัติศาสตร์ที่แปรเปลี่ยนไป มิใช่ว่าเพราะอาณาจักรล้านนา ‘สอบไม่ผ่าน’ หรือไม่สามารถพัฒนาระเบียบแบบแผน ขนบธรรมเนียม และโครงสร้างทางการเมืองได้ทันอาณาจักรอื่นๆ แต่อย่างใด และสำหรับผมแล้ว ก็ไม่มีเหตุผลใดๆ ที่จะไม่เรียกล้านนาซึ่งมีโครงสร้างการเมืองแบบศักดินาและสถานะพิเศษรองรับความเป็นกษัตริย์อย่างเพียบพร้อมว่า ‘รัฐราชอาณาจักร’ หากอาจารย์นิธิเลือกอธิบายอยุธยา ด่ายเหวียด หรืออังวะ/ตองอูในช่วงศตวรรษที่ 16 เป็นต้นไปว่าเป็น ‘รัฐสมัยใหม่ตอนต้น’ (early modern state) หรือ ‘ราชอาณาจักรแบบสมัยใหม่ตอนต้น’ (early modern kingdom) ซึ่งสามารถสื่อทั้งนัยของการรวมศูนย์อำนาจอย่างเข้มข้นขึ้นกว่าระบบศักดินาแบบเดิม และนัยการเสื่อมถอยและล่มสลายของบรรดารัฐศักดินายุคกลาง (medieval feudal state) หรือรัฐราชอาณาจักรแบบยุคกลาง (medieval kingdom) ได้ทั้งสองนัยเช่นกัน

ว่าด้วยเรื่องล้านนากับสภาวะ ‘ว่างแผ่นดิน’ นี้ ทำให้ผมนึกขึ้นมาได้ว่าเมื่อราว 20 กว่าปีก่อนนี้ อาจารย์ Hans Penth ซึ่งเป็นนักประวัติศาสตร์ผู้ล่วงลับผู้หนึ่งที่มีคุณูปการต่อวงการศึกษาประวัติศาสตร์ล้านนาอย่างหนักอึ้งก็เคยเสนอเรื่องว่างแผ่นดินไว้ในวงการศึกษาประวัติศาสตร์ล้านนาเช่นกัน โดยในหนังสือ A Brief History of Lan Na: Northern Thailand from Past to Present อาจารย์ Penth เรียกช่วงเวลาหัวเลี้ยวหัวต่อปลายศตวรรษที่ 18 ซึ่งอำนาจปกครองของจักรวรรดิตองอู (หรืออังวะตามคำของอาจารย์นิธิ) เหนือล้านนาเสื่อมถอยจนเกิดเป็นสุญญากาศทางการเมือง นำมาสู่จลาจลทั่วดินแดนล้านนา จนเป็นโอกาสให้เกิดกลุ่มอำนาจใหม่ๆ หลายกลุ่มที่จะมีบทบาทในประวัติศาสตร์ล้านนาหน้าถัดๆ ไป เช่น กลุ่มเจ้าเจ็ดตน หรือกลุ่มพญาจ่าบ้าน เป็นต้น

ในหนังสือ 200 ปี พม่าในล้านนา ซึ่งลัดดาวัลย์ แซ่เซียวดัดแปลงมาจากวิทยานิพนธ์มหาบัณฑิตของตนยิ่งฉายภาพความโกลาหลทางการเมืองที่เกิดขึ้นเมื่ออำนาจของกษัตริย์พม่า ผู้ซึ่งครั้งหนึ่งเป็นองค์อุปถัมภ์ของชาวล้านนาทุกชนชั้นเกิดสิ้นสุดลงโดยฉับพลันอันเนื่องมาจากความล่มสลายของราชสำนัก ชาวล้านนาที่เคยอยู่อย่างสงบภายใต้อำนาจอุปถัมภ์ (และปราบปราม) ของกษัตริย์พม่าต่างก็พยายามหาผู้อุปถัมภ์ใหม่ หรือไม่เช่นนั้นก็ตั้งตนเป็น ‘ผู้อุปถัมภ์’ ให้ตัวเอง เช่น ชาวบ้านที่ไม่สามารถพึ่งพาระบบศักดินาอุปถัมภ์ที่เคยมีกษัตริย์พม่าเป็นศูนย์กลางได้อีกต่อไป บ้างก็ไปเชิญเชื้อพระวงศ์องค์ใหม่มาเป็นกษัตริย์ บ้างก็ตั้งตนเป็นชุมนุมเข้าปล้นสะดมเมืองต่างๆ บ้างก็ยกยอพระภิกษุขึ้นเป็น ‘ตนบุญ’ ไม่เช่นนั้นก็ตั้งตัวเองเป็นตนบุญไปเลย ส่วนบรรดาเจ้าเมืองที่พอจะมีต้นทุนอยู่บ้าง หากสามารถตั้งตัวเองอยู่ได้ บางครั้งก็ไปตีเมืองข้างเคียงเพื่อสร้างความมั่นคงให้กับอำนาจของตน หรือบางเมืองที่ไม่สามารถตั้งตัวเองได้ก็จะไปขอสวามิภักดิ์กับเจ้าอธิราชที่ใหญ่กว่า เช่น พม่า (ที่ฟื้นฟูราชสำนักขึ้นมาใหม่แล้ว) หรือสยาม (ในแผ่นดินธนบุรีและรัตนโกสินทร์) หรือเมื่อตกเป็นประเทศราชของเจ้าอธิราชแล้วก็กลับก่อกบฏขึ้นต่อต้านก็มีปรากฏเรื่อยมาแม้ในช่วงที่ราชสำนักคองบองพยายามกลับมาฟื้นฟูอำนาจของตนในล้านนา[6]

อนึ่ง น่าสังเกตว่าตามคำอธิบายของอาจารย์นิธิที่ว่าชนชั้นนำเก่าซึ่งมีความรู้และความเคารพต่อขนบธรรมเนียมการปกครองดั้งเดิมนั้นมักจะเป็นผู้สถาปนา ‘แผ่นดินใหม่’ ได้อย่างมั่นคงสถาพรนั้น นโยบายของบรรดา ‘โป่’ หรือแม่ทัพผู้ว่าการเมือง (military governor) ที่มุ่งปราบปรามและบีบคั้นขุนนางชาวล้านนาอย่างเข้มงวดนั้นไม่สู้ประสบความสำเร็จนัก ในทางกลับกัน นโยบายส่งเสริมการฟื้นฟูขนบธรรมเนียมประเพณีล้านนาในฐานะประเทศราชของกรุงเทพฯ ดูจะประสบความสำเร็จมากกว่าในการสถาปนาระเบียบใหม่เพื่อยุติความวุ่นวายในช่วง ‘ว่างแผ่นดิน’ ของล้านนา

ดังที่ได้กล่าวมาข้างต้น ผมเห็นว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในประวัติศาสตร์ล้านนาระหว่างช่วงวิกฤตแห่งศตวรรษที่ 18 (ซึ่งเผอิญเป็นช่วงเวลาเดียวกับที่เกิดกระแสการปฏิวัติในโลกตะวันตกด้วย) แสดงภาพความ ‘ว่างแผ่นดิน’ คือไม่มีองค์อธิปัตย์เหนือบ้านเมืองได้ชัดเจนไม่แพ้ (หรือยิ่งกว่า) ประวัติศาสตร์ของสามอาณาจักรที่ ว่างแผ่นดิน นำเสนอ และแน่นอนว่าทั้งสภาวะว่างแผ่นดินในประวัติศาสตร์ล้านนาและสภาวะว่างแผ่นดินใน ว่างแผ่นดิน ล้วนเป็นเหตุที่เกี่ยวข้องเชื่อมโยงกันหมดทั้งสิ้น

ผมเขียนเช่นนี้ก็จะดูเหมือนว่าน้อยเนื้อต่ำใจที่อาจารย์นิธิไม่ยอมพูดถึงล้านนาซึ่งถูกมองว่าอาณาบริเวณศึกษาที่ ‘แคบและเล็ก’ บ้าง ผมเพียงแต่จะลองพลิกมุมดูบ้างว่าเราจะสามารถพินิจสภาวะ ‘ว่างแผ่นดิน’ ที่เกิดขึ้นในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ช่วงศตวรรษที่ 18 ในมุมอื่นที่ไม่ใช่มุมของตัวละครใหญ่ๆ ดังที่อาจารย์นิธินำเสนอได้บ้างหรือไม่ เช่น เราจะสามารถเปรียบเทียบความเป็นไปในช่วงวิกฤตว่างแผ่นดินของบรรดา ‘รัฐตอนใน’ ที่อาจารย์นิธิคิดว่าเป็นกลุ่มรัฐที่เป็น ‘รัฐชายขอบ’ ที่ ‘ไม่สามารถหลุดพ้นจากความเป็นรัฐแว่นแคว้น’ และ ‘ตกเป็นประเทศราชของรัฐที่มีขนาดใหญ่กว่า’ เช่น หัวเมืองไทใหญ่ ล้านนา ล้านช้าง (หรือกระทั่งกัมพูชา) ได้หรือไม่

หรือกระทั่งในการศึกษาประวัติศาสตร์ล้านนาเองที่ประวัติศาสตร์ ‘ช่วงว่างแผ่นดิน’ ที่อาจารย์ Penth เคยแยกออกมาเป็นหัวข้อโดดๆ มักถูกเหมารวมไปเป็นส่วนหนึ่งของประวัติศาสตร์ ‘ช่วงตกเป็นประเทศราชของพม่า’ เราจะสามารถพิจารณาเหตุการณ์ในช่วงว่างแผ่นดิน หรือกระทั่งที่มาที่ไปของคลื่นความเปลี่ยนแปลงตลอดช่วงศตวรรษที่ 18 นี้เป็นหัวข้อจำเพาะที่เป็นเอกเทศออกมาจากการศึกษาเรื่องพม่าในล้านนาได้หรือไม่ ในระยะนี้ ผมก็คงจะได้แต่ตั้งคำถามทิ้งไว้ให้ผู้สนใจได้ขบคิดเพียงเท่านั้น

สรุป

โดยสรุปแล้ว ว่างแผ่นดิน : ประวัติศาสตร์เปรียบเทียบ ‘กรุงแตก’ ในสามราชอาณาจักร ถือเป็นผลงานที่มีความบุกเบิกท้าทายความคิด และช่วยเปิดมุมมองการศึกษาประวัติศาสตร์ให้กับผู้อ่านที่เคยชินเฉพาะกับการศึกษาประวัติศาสตร์ไทยเพียงอย่างเดียวให้เห็นประวัติศาสตร์ไทยในฐานะส่วนหนึ่งของประวัติศาสตร์ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ได้เป็นอย่างดี น่าเสียดายที่ยังเชื่อมโยงไปไม่ถึงกระแสปฏิวัติช่วงวิกฤตศตวรรษที่ 18 ซึ่งถือกันว่าเป็น ‘สมัยแห่งการปฏิวัติ’ (Age of Revolutions) ในประวัติศาสตร์ยุโรป กระนั้น แม้ผมจะมีส่วนที่ไม่เห็นด้วยเกี่ยวการใช้ศัพท์นิยาม ‘รัฐแว่นแคว้น’ และ ‘รัฐอาณาจักร’ ซึ่งอาจารย์นิธิรับมาจากอาจารย์ของท่านมาอีกทอด รวมถึงมุมมองที่ไม่มี ‘รัฐชายขอบ’ อยู่ในทัศนวิสัย แต่ผมก็เห็นว่าประเด็นที่อาจารย์นิธิตั้ง และวิธีการที่อาจารย์นิธิใช้เรียบเรียงผลงานชิ้นนี้อย่างเป็นระบบ รวมถึงการค้นคว้าหลักฐานชั้นต้นมาประกอบการอภิปรายอย่างละเอียดนั้นล้วนเป็นเรื่องที่มีประโยชน์อย่างน่านับถือยิ่ง หลักฐานและข้อมูลที่อาจารย์นิธิรวบรวมมานั้นยังอาจชี้ทางให้ผู้ที่กำลังศึกษาประวัติศาสตร์เรื่องที่เกี่ยวข้องสามารถค้นคว้าหลักฐานและเอกสารเพิ่มเติมต่อไปได้ และหนังสือเล่มนี้สามารถใช้เป็นคู่มือเริ่มต้นทำความเข้าใจโลกสมัยใหม่ตอนต้นช่วงศตวรรษที่ 16-18 ของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ภาคพื้นทวีปได้เป็นอย่างดี

คุณค่าของหนังสือเล่มนี้คือการได้ทดลองพลิกแพลงมุมมองและวิธีการใหม่ๆ ในการศึกษาประวัติศาสตร์เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ทั้งในระดับภูมิภาค ระดับอนุภูมิภาค ระดับประเทศ หรือกระทั่งระดับย่อยลงไปยิ่งกว่านั้น ผมจึงเชื่อว่าหากผู้ศึกษาประวัติศาสตร์เอเชียตะวันออกเฉียงใต้แขนงต่างๆ รวมถึงประวัติศาสตร์ล้านนาได้ร่วมกันอ่าน และวิจารณ์หรือผลิตผลงานมา ‘สนทนา’ กับหนังสือเล่มนี้ หรืออย่างน้อยก็ได้ลองมองประวัติศาสตร์ที่ตนศึกษาในมุมมองที่กว้างและแตกต่างไปเหมือนเช่นที่อาจารย์นิธิได้สาธิต ก็จะเป็นโอกาสอันดีที่จะได้ค้นพบหรือสร้างสรรค์องค์ความรู้ใหม่ๆ เติมเข้าไปในช่องโหว่แห่งความไม่รู้ซึ่งยังคงมี (และแอบมีแต่ซ่อนไว้) อยู่มากมายในศาสตร์ของเรา

หรืออย่างน้อย ก็เป็นการสำรวจช่องโหว่ดังกล่าวอีกครั้ง เผื่อว่าจะได้พบกับปริศนาใหม่ๆ ในประวัติศาสตร์ล้านนาที่รอให้มีคนแสวงหาคำตอบหรือสร้างสรรค์คำอธิบายกันต่อไป


บรรณานุกรม

ดวงฤทัย หิรัญสถิตย์, การดึงอำนาจเข้าส่วนกลางสมัยพระเจ้าติโลกราช พ.ศ.1985-พ.ศ.2030. (วิทยานิพนธ์หลักสูตรอักษรศาสตร์มหาบัณฑิต คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณมหาวิทยาลัย, 2527)

ยุกติ มุกดาวิจิตร, “อุษาคเนย์ยาม ‘ว่างแผ่นดิน’” ภายใต้คอลัมน์ โลก – อุษาคเนย์, the101.World. https://www.the101.world/comparative-collapse-history-in-south-east-asia/

ลัดดาวัลย์ แซ่เซียว, 200 ปี พม่าในล้านนา. (กรุงเทพฯ: เทน เมย์ โปรดักชั่น, 2545) หน้า 116-156

สรัสวดี อ๋องสกุล, ประวัติศาสตร์ล้านนา. พิมพ์ครั้งที่ 6. (กรุงเทพฯ: อมรินทร์, 2552) หน้า 40-41

Grabowsky, Volker “POPULATION AND STATE IN LAN NA PRIOR TO THE MID-SIXTEENTH CENTURY” in Journal of the Siam Society Vol. 93 2005. pp 1-68

Lieberman, V. (2003). Strange Parallels: Southeast Asia in Global Context, c.800–1830 (Studies in Comparative World History). Cambridge: Cambridge University Press. doi:10.1017/CBO9780511512087

Penth, Hans A Brief History of Lan Na: Northern Thailand from Past to Present. Chiang Mai: Silkworm Books, 2000.

Skulchokchai, Chai “Comparative History: Its History, Challenges, and Debates” ใน วารสารประวัติศาสตร์ธรรมศาสตร์ ปีที่ 9 ฉบับที่ 2 (2022): กรกฎาคม – ธันวาคม 2565. หน้า 84-101


References
1 ยุกติ มุกดาวิจิตร, “อุษาคเนย์ยาม ‘ว่างแผ่นดิน’” ภายใต้คอลัมน์ โลก – อุษาคเนย์, the101.World. https://www.the101.world/comparative-collapse-history-in-south-east-asia/
2 โปรดดู Skulchokchai, Chai “Comparative History: Its History, Challenges, and Debates” ใน วารสารประวัติศาสตร์ธรรมศาสตร์ปีที่ 9 ฉบับที่ 2 (2022): กรกฎาคม – ธันวาคม 2565. หน้า 84-101
3 สรัสวดี อ๋องสกุล, ประวัติศาสตร์ล้านนา. พิมพ์ครั้งที่ 6. (กรุงเทพฯ: อมรินทร์, 2552) หน้า 40-41
4 โปรดดู ดวงฤทัย หิรัญสถิตย์, การดึงอำนาจเข้าส่วนกลางสมัยพระเจ้าติโลกราชพ..1985-..2030. (วิทยานิพนธ์หลักสูตรอักษรศาสตร์มหาบัณฑิต คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณมหาวิทยาลัย, 2527
5 โปรดดูเรื่องอาณาเขตและโครงสร้างของอาณาจักรล้านนาใน Volker Grabowsky, “POPULATION AND STATE IN LAN NA PRIOR TO THE MID-SIXTEENTH CENTURY” in Journal of the Siam Society Vol. 93 2005. pp 1-68
6 ลัดดาวัลย์ แซ่เซียว, 200 ปีพม่าในล้านนา. (กรุงเทพฯ: เทน เมย์ โปรดักชั่น, 2545) หน้า 116-156

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save