fbpx

หลานม่า : ต้นไม้ เพดาน บ้าน ฮวงซุ้ย

เรื่องเริ่มต้นในวันเช็งเม้ง อาม่าหกล้มที่ฮวงซุ้ย พอมาตรวจที่โรงพยาบาลกลับพบว่าเรื่องหกล้มนั้นไม่เท่าไหร่ เรื่องใหญ่คือ อาม่าเป็นมะเร็งลำไส้ระยะสุดท้าย  หากแต่อาม่าก็ยังแข็งแรงดี ใช้ชีวิตโดยลำพังในตึกแถวเก่าย่านตลาดพลูที่ดูจะเป็นทรัพย์สมบัติชิ้นเดียวที่อาม่ามีอยู่ ยังคงตื่นแต่เช้า เข็นรถเข็นไปขายโจ๊กที่ตลาดแถวบ้าน อาม่ามีลูกสามคน กู๋เคี้ยงคนโตมีครอบครัวแล้ว อาศัยอยู่บ้านหรูชานเมืองกับภรรยาและลูกสาว อาซิวลูกสาวคนกลางเป็นแม่เลี้ยงเดี่ยวที่อยู่กับลูกชายวัยรุ่น เจ้าเอ็มที่หยุดเรียนมาแคสต์เกมอยู่บ้านและไม่ค่อยได้เรื่องได้ราว เธอทำงานในซูเปอร์มาร์เก็ต ดูเหนื่อยล้าตลอดเวลา ส่วนกู๋โส่ยเป็นลูกคนสุดท้องที่ไม่ค่อยได้เรื่องได้ราวที่สุด เขาทำงานเป็นช่างซ่อมมอเตอร์ไซค์ มีปัญหาหนี้สินพัวพัน หยิบยืมเงินแม่ตนเองไม่จบสิ้น

เอ็มที่ล่องลอยไปวันๆ มีลูกพี่ลูกน้องข้างพ่อชื่อมุ่ย มุ่ยเรียนจบพยาบาล แต่ก็ออกจากงานมาดูแลอากงของตัวเองเต็มเวลา โดยได้เงินเดือนจากญาติๆ หลังจากอากงตาย ทุกคนพบว่ามุ่ยได้มรดกเป็นบ้านราคาหลักสิบล้าน เอ็มคิดว่าตัวเองก็น่าจะทำแบบมุ่ยได้ เอ็มจึงบอกแม่ว่า หลังจากนี้เขาจะไปอยู่ดูแลอาม่าที่บ้าน ไม่ว่าม่าจะอยากหรือไม่อยากให้เขาไปก็ตาม ยังไม่ทันเข้าบ้าน เอ็มก็โพสต์ขายบ้านตึกแถวของอาม่าลงในเฟซบุ๊ค

ตอนแรกอาม่าก็ไล่เอ็มที่เข้ามาวุ่นวาย แต่หลังจากบอกความจริงที่ทุกคนปกปิด อาม่าก็ให้เอ็มมาอยู่ด้วย และใช้ชีวิตกับหลานชายในเวลาช่วงสุดท้ายของชีวิต

เป็นเรื่องน่าตื่นเต้นที่ ‘หลานม่า’ (2024) เป็นหนังที่พูดเรื่องของครอบครัวจีนอพยพที่จำเพาะเจาะจงกว่าการเป็นครอบครัวคนจีนลอยๆ แต่เป็นครอบครัวจีนแต้จิ๋วที่ไม่ได้ร่ำรวย ด้วยบรรยากาศของบ้านตึกแถวเก่าๆ ในตรอก แผงขายโจ๊กง่ายๆ ริมทางรถไฟ สายตาของหนังที่พูดถึงลูกจีนกรุงเทพฯ ในฐานะ ‘กลุ่มชน’ แบบเดียวกับคนเหนือ คนอีสาน คนใต้ที่จำเพาะพื้นที่ คนที่เป็นอื่นจากภาพในจินตนาการเบลอๆ ของชนชั้นกลางไทย ไม่ใช่ภาพแทนคนทั้งหมด หากเกิดขึ้นได้เฉพาะกับคนกลุ่มนี้ ที่นี่ ความเฉพาะเจาะจงซึ่งทำให้เรื่องเล่ามีเลือดเนื้อมากกว่าการเป็นตัวละครแห่งภาพแทนและความไม่สากลของมัน ทำให้มันสากลมากๆ ซึ่งเป็นสายตาแบบที่ไม่ค่อยเห็นจากหนังที่มีกรุงเทพฯ เป็นศูนย์กลาง และยังรวมไปถึงภาพฉายของชีวิตตัวละครที่แต่ละครมีแอก มีบาป มีความเจ็บปวดเป็นของตัวเอง หากหนังเลือกยกออกไปจากตัวเรื่องที่โฟกัสอยู่แค่เวลาปัจจุบัน แล้วเล่าที่เหลือผ่านบทสนทนาทิ่มแทงกันไม่กี่คำ เรื่องชีวิตแต่หนหลังของอาม่า ความน้อยเนื้อต่ำใจของแม่ ความละอายต่อแม่ที่ชีวิตล้มเหลวของโส่ย หรือแม้แต่ความคับข้องที่เคี้ยงรู้สึกเมื่อภรรยาของเขาถูกมองเป็นคนนอก ไปจนถึงฉากเล็กๆ ที่ไม่เกี่ยวกับเรื่องหลักของเอ็มกับมุ่ย ทำให้ชีวิตเหล่านี้ มีน้ำหนัก มีมิติ อยู่นอกเส้นเรื่องหลัก มีชีวิตเป็นของตัวเอง

โดยพล็อต เราอาจคาดเดาเรื่องทั้งหมดใน ‘หลานม่า’ ได้ไม่ยาก หลานชายที่เข้ามาดูแลยายเพราะหวังสมบัติได้เรียนรู้จากการใช้ชีวิตกับยาย และเข้าอกเข้าใจในความหมายของครอบครัวมากขึ้น เลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องจบลงด้วยความตายของยายที่กลายเป็นบทเรียนสอนใจให้ทั้งหลานชายและผู้ชมว่า ครอบครัวนั้นมีความหมาย ครอบครัวเป็นสถาบันสำคัญที่โอบอุ้มเราตั้งแต่เกิดจนตาย ไม่มีสิ่งใดสำคัญไปกว่านั้น

และโดยตัวพล็อต หนึ่งในการสร้างเรื่องเล่าที่เป็นทั้งข้อดีและปัญหาของหนัง GTH / GDH คือการเริ่มเล่าจากเรื่องของการที่ตัวละครสักคนต้องโกหก ต้องปกปิด  ต้องทำผิดสักอย่าง หมกมุ่นอยู่ในการมุ่งหน้าทำผิดต่อไป เห็นแก่ตัวต่อไป จมอยู่ในสำนึกผิด แล้วได้รับบทเรียนจากการกระทำของตัวเอง ยกตัวอย่างใกล้ๆ เช่นการพยายามแอบทำลายความสัมพันธ์ของเพื่อนสาวที่ตัวเองแอบชอบใน ‘OMG! รักจังวะ..ผิดจังหวะ’ (2022) การขโมยพลอตของเพื่อนมาทำหนังใน ‘เพื่อน(ไม่)สนิท’ (2023) หรือการที่ฝาแฝดแอบชอบผู้ชายคนเดียวกันใน ‘เธอกับฉันกับฉัน’ (2023) บ่อยครั้งมันสนุก แต่หลายครั้งมันก็ยากเกินกว่าจะเอาใจช่วยการตัดสินใจผิดพลาดครั้งแล้วครั้งเล่าของตัวละคร โชคดีที่ ‘หลานม่า’ ไม่ได้ตั้งหน้าจะพูดเรื่องนั้น แม้หนังจะใช้เวลาหนึ่งในสามของเรื่องไปกับโลกของเอ็มและอาม่าในบ้านตึกแถวเก่าโทรมย่านตลาดพลู แต่สิ่งที่หนังทำจริงๆ คือการทำให้เอ็มกลายเป็นเพียง ‘พยานรู้เห็น’ ที่ได้บทเรียนซึ่งไม่ใช่ได้มาจากการกระทำของตัวเอง แต่จากการได้เข้าไปรู้เห็นบาดแผลในครอบครัวที่เขาหันหน้าหนีมาตลอด ความโหดเหี้ยมในนามของครอบครัว โดยเฉพาะในครอบครัวคนจีนทั้งที่เกิดขึ้นกับอาม่า และอาม่าส่งต่อไปให้ลูกหลาน แอกของขนบที่ทั้งที่กดทับลงมาก็ยังส่งต่อการกดทับต่อไป

หนังค่อยๆ คลี่เผยตำแหน่งแห่งที่ของสมาชิกในครอบครัวของอาม่าที่มีลูกชายคนโตอยู่ในจุดสูงสุด และลูกสาวคนรองอยู่ในจุดต่ำสุด จะว่าไป ตำแหน่งของเอ็มทำให้เขาอยู่ไกลพอที่จะเป็นพยานรู้เห็นตั้งแต่ต้น เพราะเขาอยู่ในตำแหน่งลูกชายของลูกสาวคนรอง หลานชายที่ไม่ได้ถูกนับเป็นส่วนหนึ่งของตระกูลเพราะเป็นข้างแม่ที่แต่งออก แต่อย่างไรเสียก็เป็นหลานชายคนเดียวของอาม่า (กู๋เคี้ยงมีลูกสาวและกู๋โส่ยไม่มีลูก) ตำแหน่งของเอ็มจึงเรียกได้ว่าอยู่ตรงกลาง ใกล้พอที่จะได้รับการเอาใจใส่และไกลพอจะไม่ต้องเป็นส่วนหนึ่งของสงครามความรัก

ความหมกมุ่นในตำแหน่งของการสืบสายเลือดแบบจีนกำหนดความสัมพันธ์ของผู้คน ลูกชาย ลูกชายของลูกชาย จากนั้นจึงเป็นลูกสาว ลำดับการสืบสายเลือดกลายเป็นแผนภูมิของอำนาจในครอบครัวจีน ตำแหน่งแห่งที่ที่จำเพาะเจาะจงในสรรพนาม ข้างพ่อข้างแม่ไม่เหมือนกัน เป็นสิ่งที่ถูกกำหนดติดตัวมาตั้งแต่เกิดโดยไม่อาจเปลี่ยนแปลงได้โดยง่าย และกดทับกันเป็นชั้นๆ  ฉากหนึ่งที่เอ็มคุยกับมุ่ยเรื่องที่ว่าทำไมมุ่ยถึงได้มรดกจากอากง มุ่ยก็พูดถึงตำแหน่งแห่งที่ของตัวเอง การดูแลใกล้ชิดที่ทำให้ตำแหน่งแห่งที่เหล่านี้เปลี่ยนแปลง และเอ็มคิดว่าตัวเองจะนำมาประยุกต์ใช้กับอาม่าได้ โชคดีที่หนังออกแบบให้เอ็มดูเป็นคนสบายๆ หลักลอย ไม่มุ่งมั่นจริงจัง ถึงที่สุด ความตั้งใจในการแย่งมรดกของเอ็มก็ค่อยๆ จางลงไป ขณะที่ความผูกพันที่เขามีต่ออาม่ามากขึ้น และถึงที่สุด สิ่งที่สำคัญสำหรับเอ็มไม่ใช่บ้านอาม่า แต่คือการได้เป็นที่หนึ่งในแง่ความสัมพันธ์ และมันระเบิดออกมาในช่วงท้ายที่เอ็มคาดคั้นอาม่า ประเด็นคือไม่ใช่เรื่องว่าใครจะได้บ้านไป (เพราะคนที่อาม่ารักที่สุดก็ไม่ได้) แต่เป็นเรื่องที่ว่าทำไมเอ็มไม่เป็นที่หนึ่ง ราวกับว่า สุดท้าย ครอบครัวคือการแข่งขันเชิงความสัมพันธ์ที่มีมรดกเป็นรางวัลปลอบใจ  และทางเลือกในตอนท้ายของอาม่า ก็เป็นทางเลือกที่แสดงให้เห็นถึงเพดานของครอบครัวคนจีน แม้จะมีเหตุมีผลของมันอยู่ แต่เราก็พูดได้ว่า ลูกชายได้บ้าน ลูกสาวได้มะเร็งอย่างที่ซิวหรือแม่ของเอ็มสรุปไว้

หากความสัมพันธ์จริงๆ ที่หนังสนใจคือความสัมพันธ์ของลูกสาวในตระกูลจีน ตัวละครที่เป็นคู่เทียบของหนังจึงไม่ใช่เอ็มกับคนอื่นๆ แต่คือ อาม่า ม๊า และ มุ่ย รวมถึง ปิ่น ลูกสะใภ้ใหญ่และโลกของการเป็นผู้ดูแลคนในครอบครัวโดยไม่หวังผลตอบแทน 

หนังอาจจะเริ่มจากความสัมพันธ์ของอาม่ากับซิว ที่ถูกเล่าเป็นนัยๆ ว่าเป็นคนที่ต้องออกจากโรงเรียนมาช่วยอาม่าขายโจ๊ก และตอนนี้ทำงานหนักในซูเปอร์มาร์เก็ต แต่ยังถึงกับขอเปลี่ยนกะเพื่อจะพาแม่ตัวเองไปโรงพยาบาล ฉากกการปะทะกันของอาม่ากับแม่ในสระว่ายน้ำที่อาม่าเพิ่งรู้ว่าลูกสาวต้องทำงานหนักเป็นสองเท่าเพื่อมาดูแลตัวเอง กลายเป็นฉากที่น่าจดจำฉากหนึ่งเพราะการแสดงออกถึงความรักต่อลูกสาวที่อาม่าทำได้คือการโวยวายว่าไม่ต้องพามาอีก การแสดงความรักด้วยการปฏิเสธความห่วงใยนี้ฟังดูโรแมนติก แต่มันกัดกินทำร้ายผู้คนมานักต่อนัก และช่วยไม่ได้ที่ชีวิตของซิวนั้น ถึงที่สุดก็กลายเป็นกระจกสะท้อนชีวิตของตัวเอง ซิวอาจจะมารื้อตู้เย็นบ้านอาม่าเพื่อเอาของหมดอายุไปทิ้ง แต่ในตู้เย็นบ้านตัวเองก็เต็มไปด้วยของแบบเดียวกันราวกับเป็นสิ่งซึ่งตกทอดกันมา จนในฉากหนึ่งอาม่าเดินทางไปเยี่ยมพี่ชายเพื่อออกปากขอความช่วยเหลือแล้วโดนปฏิเสธ หนังเล่าว่าอาม่าแต่งงานกับผู้ชายที่แม่หาให้ สามีไม่ค่อยเป็นโล้เป็นพาย อาม่าทำงานหนักแล้วยังต้องคอยดูแลพ่อแม่ของตัวเองจนตายโดยไม่ได้อะไรตอบแทน แค่เพราะเป็นลูกสาวที่แต่งออกไปใช้แซ่อื่นแล้ว ตำแหน่งแห่งที่ของอาม่าในครอบครัวอยู่ในจุดต่ำสุดแบบเดียวกับที่ซิวอยู่ และอาม่าก็ทำซ้ำกับลูกสาวตัวเอง ความสัมพันธ์รักชังของแม่กับลูกสาวที่กลายเป็นเพดานของครอบครัวคนจีนที่อุ้มชูลูกชาย -และแน่นอน เหยียดลูกสะใภ้- การไม่ปรากฏตัวของบ้านกู๋เคี้ยงที่ฮวงซุ้ย หรือการที่หนังบอกเป็นนัยๆ ว่าพี่น้องก็ไม่ได้ปลื้มสะใภ้ใหญ่ ยิ่งทำให้สถานะของปิ่นดูห่างเหินและเป็นคนนอกมากกว่าเดิม และเคี้ยงเองถึงกับสารภาพว่าเขาเองก็อึดอัดกับครอบครัว

เราอาจมองทั้งอาม่า ซิว และเอ็มในฐานะ ‘ผู้ดูแล’ อันเป็นตำแหน่งที่ไม่ได้มีการกำหนดแบบการสืบสายเลือด หากในแต่ละครอบครัวก็มักมองหาคนแบกรับงานดูแลจำพวกนี้ หลายบ้านเลือกคุณป้า คุณน้า ลูกสาว หลานสาวสักคนที่ไม่แต่งงาน ไม่มีครอบครัว ไม่มีงานประจำ มาทำหน้าที่เป็นผู้ดูแลเต็มเวลาทั้งคนแก่ คนป่วย เด็กเล็ก งานที่ต้องการการอุทิศตัว ต้องใช้แรงกายแรงใจอย่างล้นเหลือ เป็นรูปแบบหนึ่งการขูดรีดผ่านความกตัญญู และเป็นงานที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ ไม่มีความมั่นคง ยิ่งครอบครัวเปลี่ยนจากครอบครัวขยายในบ้านเดียวกันที่ทุกคนช่วยกันดูไปสู่ครอบครัวเดี่ยวการรับภาระดูแลพ่อแม่ที่แก่เฒ่าป่วยไข้จะมีแต่ยุ่งยากมากขึ้น  ถึงที่สุดก็นำไปสู่การจ้างคนนอกมาดูแล

นั่นต่างออกไปกับมุ่ย มุ่ยกลายเป็นภาพแทนของลูกหลานรุ่นต่อไป (ไม่เกี่ยงว่าจีนหรือไทย) มุ่ยจบพยาบาลและเลือก ‘ทำงาน’ เป็นผู้ดูแลแบบได้เงิน เริ่มจากอากงของตัวเอง การดูแลแบบมืออาชีพแลกเงินของมุ่ยกลายเป็นการย้อนถามถึงภาระอันล้นเกินที่แม่กับอาม่าได้เคยแบกรับมา มุ่ยกลายเป็นทางออกของลูกสาวคนจีนร่วมสมัยที่ดูเหมือนจะปฏิเสธคุณค่าของความกตัญญูดั้งเดิม คุณค่าของครอบครัวแบบดั้งเดิม

น่าสนใจว่าหนังวนเวียนอยู่กับ ‘บ้าน’ การมีบ้านและสูญเสียบ้าน หนังฉายภาพเล็กๆ ให้เห็นว่าแม้อาม่าจะชะเง้อรอคอยลูกหลานทุกสุดสัปดาห์ แต่ดูเหมือนอาม่าจะชอบอยู่คนเดียวมากกว่า อาม่ายอมให้เอ็มมาอยู่ด้วยหลังจากเอ็มบอกเรื่องมะเร็ง และได้บทสรุปว่า ‘มึงมาอยู่ด้วยก็สนุกดี’ ในขณะเดียวกัน บ้านของอาม่าก็เป็นที่ที่ทุกคนอยากได้ (แต่ไม่ได้แปลว่าอยากมาอยู่) และในที่สุด อาม่าก็ ‘ไร้บ้าน’ เมื่อกู๋โส่ยขายบ้าน และส่งอาม่าไปอยู่บ้านพักคนชรา ชีวิตของอาม่าจบลงที่บ้านลูกสาว บ้านของแม่ที่เอ็มทำให้เป็นบ้านของอาม่าด้วยการย้ายต้นทับทิมมาไว้ที่บ้าน (ต้นไม้ในกระถางก็สะท้อนภาพสภาวะไร้รากและการเคลื่อนย้ายไม่จบสิ้นทั้งของจีนอพยพ และของผู้คนในเมืองที่ไม่สามารถลงหลักปักฐาน เหมือนต้นไม้ที่ไม่อาจหยั่งรากลงไปได้) สภาวะการมีบ้าน กลายเป็นสภาวะมั่นคงที่ถูกทำให้เป็นเรื่องชั่วคราว ทั้งจากการที่บ้านเป็นมรดก และการที่ร่างกายเสื่อมถอยจนอยู่บ้านคนเดียวไม่ได้อีก บ้านจึงเป็นสิ่งไม่ถาวร บ้านเดียวที่ถาวรคือ ฮวงซุ้ย น่าสนใจว่าบ้านในความหมายของอาม่าคือคนอื่น บ้านที่ยกให้ลูกหลาน แม้แต่ฮวงซุ้ยยังทำไปเพื่อให้ลูกหลานมีหน้าตา แต่สำหรับเอ็ม บ้านของอาม่าเป็นที่ทางของอาม่า เป็น ‘ห้องส่วนตัว’ เหมือนในความหมายที่ผู้หญิงควรมีแบบในหนังสือของ เวอร์จิเนีย วูล์ฟ (Virginia Woolf -นักเขียนชาวอังกฤษ) ที่ที่เป็นของตนเองโดยแท้จริง ในตอนจบของชีวิต อาม่าจึงมีบ้านเป็นของตัวเอง ในฮวงซุ้ยที่ดูเหมือนจะแยกออกมาจากเหล่ากงเหล่าม่า เป็นอิสระจากครอบครัว เป็นบ้านสุดท้ายที่แท้

สิ่งเหล่านี้จึงยิ่งน่าสนใจที่สภาวะไร้บ้านโดยจำยอมของอาม่าตรงกันข้ามกับความไร้บ้านโดยตั้งใจของมุ่ย เพราะเมื่อสิ้นอากง มุ่ยขายบ้านที่ได้รับมรดกในทันที แล้วไปอยู่โรงแรมแทนที่จะมีบ้านเป็นของตัวเอง ในท้ายเรื่องเมื่อมุ่ยเริ่มงานในบ้านใหม่ มุ่ยก็ขนข้าวของมาได้ทันที ความไร้บ้านของมุ่ย การเป็นผู้ดูแลแบบรับเงินของมุ่ยจึงเป็นการต่อต้าน และเป็นทางออกของลูกจีนรุ่นถัดไปที่ไม่ยอมให้ความเป็นลูกสาว การสร้างตำแหน่งแห่งที่ในครอบครัวมากดทับตัวเองอีกต่อไป

สำหรับชีวิตตอนท้ายของอาม่า การไปโรงพยาบาลรัฐที่ยากลำบากและวุ่นวายอาจสะท้อนภาพของระบบสุขภาพหรือระบบการดูแลประชาชนที่ล้มเหลว ซึ่งชวนให้เราคิดว่าทำไมไม่มีหนทางที่ดีกว่านี้สำหรับการจัดการปัญหาสุขภาพโดยรัฐ หลายคนอาจมองไกลไปถึงรูปแบบรัฐสวัสดิการ บ้านพักคนชราที่ดี การดูแลผู้ป่วยแบบมืออาชีพ และเป็นการง่ายที่จะบอกว่าหนังพยายามโรแมนติไซส์คุณค่าของครอบครัวเพื่อธำรงการขูดรีดแรงงานที่ต่อไป ซึ่งจะว่าไปก็มีส่วนชวนคิด

แต่ในอย่างน้อยสองฉากของหนังก็พูดถึงสิ่งที่รัฐสวัสดิการ (ซึ่งโดยเนื้อของมันคือการบริการในระดับ ‘พื้นฐาน’ ที่ทุกคนควรได้รับโดยเท่าเทียมกัน) ไม่สามารถมอบให้ได้ นั่นคือฉากที่หลังจากอาม่ารู้เรื่องมะเร็งแล้วก็ลงมาไหว้พระตอนดึก จนเอ็มชวนอาม่ามานอนในมุ้งด้วยกันเพราะสัมผัสได้ถึงความหวั่นไหวของอาม่า และฉากที่อาม่าปวดท้องรุนแรงกลางดึก ขอร้องกับพ่อแม่ว่าให้แกตายเสียที

ก่อนหน้านี้มุ่ยเคยบอกเอ็มว่า สิ่งที่คนแก่ต้องการคือเวลา เวลาที่ว่าไม่ใช่เวลาทั้งหมดของชีวิตที่เอามาทุ่มให้ แต่เป็นเวลาเช่นนี้ เวลาที่หวาดกลัว เวลาที่เจ็บปวด การมีใครสักคนอยู่ด้วยเพื่อปลอบโยน อยู่ตรงนั้นด้วยกัน เป็นสิ่งที่รัฐสวัสดิการไม่สามารถจัดหาให้ได้ รัฐไม่สามารถจัดหามือทีกุมมืออย่างอ่อนโยนให้ได้ และบางครั้งการพูดถึงรัฐสวัสดิการก็เป็นเหมือนการกลืนยาแก้ปวดให้ปัญหาทางจริยธรรมของการไม่รัก หรือการไม่ว่างพอจะดูแล (ทำให้ต้องโยนหน้าที่ไปให้รัฐจัดการ) ซึ่งเป็นปัญหาโครงสร้างที่ใหญ่กว่าเรื่องนี้ และบางครั้งมันไม่ต่างจากการที่กู๋เคี้ยงพูดว่า เขามีเงินมากพอจะจ่ายให้อาม่าได้รับชีวิตที่ดีกว่า (โดยเขายังสามารเทรดหุ้นอยู่ที่บ้านได้) 

หนังเรื่องนี้อาจจะไม่ใช่ภาพแทนที่ดีในการพูดเรื่องนี้เพราะมันถูกเล่าผ่านสายตาของกรณีตัวอย่างที่ค่อนข้างโชคดี (ตัวละครมีเงินประมาณหนึ่ง มีลูกหลานประมาณหนึ่ง และเป็นความป่วยไข้ที่ไม่เรื้อรังประมาณหนึ่ง) แต่การให้น้ำหนักทั้งภาครัฐและภาคบุคคล ก็ทำให้หนังไม่ได้ทำหน้าที่เป็นทั้งหนังเรียกร้องรัฐสวัสดิการเท่าๆ กับที่ไม่ใช่หนังที่เรียกร้องให้เราถูกกดทับด้วยความกตัญญูเพียงอย่างเดียว ‘หลานม่า’ กลายเป็นหนังที่จ้องมองชีวิตอย่างตรงไปตรงมาเท่าที่มันจะทำได้ แล้วในการจ้องมองภาพที่เรียบง่ายอย่างละเอียดอ่อนนั้นเองที่เราได้เห็นสิ่งต่างๆ ที่ซ่อนอยู่ในมัน

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save