fbpx
COVID-19 กับโอกาสใหม่ในการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมไทย: กิตติพงษ์ กิตยารักษ์

COVID-19 กับโอกาสใหม่ในการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมไทย: กิตติพงษ์ กิตยารักษ์

ปกป้อง จันวิทย์ สัมภาษณ์

กานต์ธีรา ภูริวิกรัย เรียบเรียง

คิริเมขล์ บุญรมย์ ภาพ

 

 

เมื่อโรคระบาดมาเยือน ทุกภาคส่วนล้วนได้รับผลกระทบเหมือนกันหมด ไม่เว้นแม้แต่กระบวนการยุติธรรม

คำถามสำคัญคือ โควิด-19 เปลี่ยนโฉมหน้าของความยุติธรรมในสังคมไทยอย่างไร กระบวนการยุติธรรมไทย ไล่เรียงตั้งแต่ตำรวจ อัยการ ศาลยุติธรรม ไปจนถึงกรมราชทัณฑ์และกรมคุมประพฤติ ต้องปรับตัวเพื่อรับความเปลี่ยนแปลงในยุคโควิด-19 อย่างไร

101 สนทนากับ ศาสตราจารย์ (พิเศษ) ดร.กิตติพงษ์ กิตยารักษ์ ผู้อำนวยการสถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย (องค์การมหาชน) หรือ TIJ อดีตปลัดกระทรวงยุติธรรม ผู้ก้าวเดินไปข้างหน้าบนเส้นทางการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมอย่างต่อเนื่องยาวนานหลายทศวรรษ เพื่อร่วมหาคำตอบว่า โจทย์เรื่องความยุติธรรมในยุคโควิด-19 เปลี่ยนไปอย่างไร เราจะพลิกวิกฤตใหญ่ครั้งนี้ให้เป็นจุดเปลี่ยนและโอกาสใหม่ในการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมไทยให้มีประสิทธิภาพและความเป็นธรรมมากขึ้น เพื่อคนทุกคนอย่างถ้วนหน้าเท่าเทียมกันได้อย่างไร

หมายเหตุ: บันทึกเทปเมื่อวันที่ 3 มิถุนายน 2563

 

 

อาจารย์มองประเทศไทยในช่วงหลายปีหลัง แล้วเห็นโจทย์สำคัญอะไรบ้างในเรื่องการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมไทย และโจทย์เหล่านั้นเปลี่ยนไปอย่างไรในยุคโควิด-19

โจทย์การปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมเป็นเรื่องที่พูดถึงกันมานานแล้ว ผมเคยเขียนหนังสือสรุปความคิดเรื่อง ยุทธศาสตร์การปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมทางอาญาไทย ไว้เมื่อปี 2544 มาถึงตอนนี้ ผมยังคุยกับเพื่อนเล่นๆ อยู่เลยว่า เรายังเอาหนังสือเล่มนั้นมาแจกได้อยู่ เพราะความคิดส่วนใหญ่ในนั้นยังไม่ได้ถูกนำไปใช้ในการปฏิรูปสักเท่าไหร่

ในยุคโควิด เราได้ยินคนพูดเรื่อง new normal กันมาก เราเคยชินอยู่กับหลายอย่างที่ abnormal มานาน ตอนนี้เรามีเวลาคิดมากขึ้นว่าเราควรนำ new normal ในยุคโควิดมาปรับวิธีการทำงานยังไง ผมคิดว่านี่คือจุดบวก เรื่องกระบวนการยุติธรรมก็เช่นกัน นี่คือช่วงเวลาที่เราจะได้มาทบทวนดูว่า สิ่งที่เคยทำแบบเดิมๆ ยังจำเป็นไหม มีวิธีใหม่ที่จะทำให้ดีกว่าเดิมได้ไหม แม้ว่าจะเริ่มจากการแก้ปัญหาระยะสั้นเพราะโควิด แต่ผมว่ามันสามารถก่อให้เกิดกระแสการปฏิรูปวิถีใหม่ได้เช่นกัน

 

ในหนังสือ ยุทธศาสตร์การปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมทางอาญาไทย อาจารย์ได้สรุปปัญหาเกี่ยวกับกระบวนการยุติธรรมทางอาญาของไทยไว้หลายเรื่อง เช่น ระบบไม่มีการบริหารงานยุติธรรมในภาพรวม บางองค์กรมีโครงสร้างใหญ่เกินไป ขาดการกระจายอำนาจทำให้มีต้นทุนสูง หรือมีการนำคดีเข้าสู่ระบบยุติธรรมมากเกินสมควร ระบบกลั่นกรองคดีไม่มีประสิทธิภาพ การดำเนินคดีมีความล่าช้า ก่อให้เกิดปัญหาคดีล้นศาลและผู้ต้องขังล้นเรือนจำ รวมทั้งมีการปฏิบัติโดยไม่ชอบธรรมจากบุคคลในกระบวนการยุติธรรมอันเป็นการล่วงละเมิดสิทธิเสรีภาพของประชาชนในหลายเรื่อง

จากวันนั้นจนถึงวันนี้ เวลาผ่านไปเกือบ 20 ปี ปัญหาสำคัญๆ ที่ได้สรุปไว้ในนั้นยังเป็นปัญหาอยู่ไหม หรือเปลี่ยนไปอย่างไรบ้าง

ถ้าเป็นเรื่องการบริหารงานแบบบูรณาการเป็นระบบ หลายเรื่องดีขึ้น เพราะกระทรวงยุติธรรมมีการจัดระบบใหม่ แต่ก็ยังไม่ได้เป็นการบูรณาการอย่างสมบูรณ์แบบอยู่ดี ส่วนเรื่องที่ยังเป็นปัญหาอยู่คือ เรื่องของกระบวนการยุติธรรม ซึ่งควรมีการดำเนินการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทตั้งแต่ในชุมชน ให้ข้อขัดแย้งจบลงที่สาเหตุต้นทาง ก่อนจะนำปัญหาเข้ามาในระบบยุติธรรม ตรงนี้ยังเป็นปัญหา และทำให้เรือนจำมีปัญหาด้วย

ตอนที่ผมเขียนหนังสือเล่มนั้น เรือนจำมีผู้ต้องขังประมาณ 2 แสนกว่าคน ตอนนั้นเราทำกระบวนการเรื่องยาเสพติดจนลดคนในเรือนจำได้เหลือประมาณ 160,000 คน แต่ตอนนี้คนในเรือนจำพุ่งไปถึง 370,000-380,000 คนแล้ว แสดงว่าปัญหาเรือนจำล้นยังมีอยู่ เรามีนักโทษในเรือนจำมากเป็นอันดับ 1 ของอาเซียน และเป็นอันดับ 6 ของโลก ขนาดประเทศอินโดนีเซียที่มีประชากรมากกว่าเรามหาศาล ยังมีผู้ต้องขังน้อยกว่าเลย

ทีนี้ เมื่อเกิดวิกฤตโควิดขึ้น ทำให้เริ่มเกิดกระแสคำถามว่า เรามีวิธีแก้ปัญหาคนล้นเรือนจำไหม แน่นอนว่าโรคระบาดทำให้เรือนจำมีปัญหามากขึ้น แต่ถ้าจะใช้นโยบายห้ามเยี่ยม คนในห้ามออก คนนอกห้ามเข้า ก็จะเป็นการสร้างความเครียดให้ผู้ต้องขัง คำถามคือจำเป็นไหมที่เราต้องนำคนเข้าไปอยู่ในเรือนจำเยอะขนาดนั้น คนในกระบวนการยุติธรรมควรหันมาพิจารณาว่า การใช้โทษจำคุกจำเป็นกับทุกเรื่องไหม

สำหรับอาชญากรที่ใช้ความรุนแรง ก่อให้เกิดอันตรายต่อสังคม คนกลุ่มนี้สมควรอยู่ในเรือนจำเพื่อให้สังคมปลอดภัย และเพื่อปรับพฤติกรรมของเขา แต่ถ้าเราไปดูจริงๆ แล้ว กระบวนการยุติธรรมส่งคนเข้าไปในเรือนจำเกือบ 4 แสนคน ซึ่ง 6-7 หมื่นคนเป็นผู้ต้องขังที่อยู่ระหว่างรอการพิจารณาคดี ส่วนคนที่ติดคุกด้วยคดียาเสพติดก็ปาเข้าไป 70-80% แล้ว ตรงนี้ทำให้เราเริ่มตั้งคำถามกันว่า ถึงเวลาต้องปฏิรูปแล้วหรือยัง ซึ่งผมก็เห็นความร่วมมือร่วมใจจากหลายๆ ฝ่ายอยู่

 

อะไรคือวิถีใหม่ของกระบวนการยุติธรรมในโลกยุคหลังโควิด-19 ตัวละครต่างๆ ในกระบวนการยุติธรรมต้องปรับตัวรับการเปลี่ยนแปลงอย่างไร เริ่มจากตำรวจต้องรับมือกับสถานการณ์ใหม่และรูปแบบอาชญากรรมที่เปลี่ยนไปอย่างไร

ตำรวจเป็นอาชีพที่น่าเห็นใจในช่วงโควิด-19 จริงๆ แล้วตำรวจมีความคล้ายกับแพทย์อย่างหนึ่งคือ เขาอยู่บ้าน หยุดเชื้อ เพื่อชาติ ไม่ได้ ยิ่งพอมีกฎหมายใหม่ๆ เกิดขึ้น เช่น การห้ามออกนอกเคหะสถาน (เคอร์ฟิว) ตำรวจก็ต้องออกไปปฏิบัติหน้าที่ เท่ากับว่าตำรวจจะมีภารกิจเพิ่มขึ้นด้วย แต่สิ่งที่ตำรวจจากต่างแพทย์คือ เขาไม่ได้มีความรู้เรื่องไวรัสมากเท่าแพทย์ ฉะนั้น เรื่องเบื้องต้นที่เราต้องเตรียมให้พร้อมคือ ให้ตำรวจมีความรู้เรื่องไวรัส และมี protocol ในการทำงานชัดเจน มีเครื่องมือที่เป็นระบบ ซึ่งตรงนี้ทางสหประชาชาติ (UN) ได้ยกประเทศเกาหลีใต้เป็นแบบอย่างว่ามีกระบวนการที่ชัดเจน

ในเรื่องรูปแบบอาชญากรรมที่เปลี่ยนไป ตอนนี้คนอยู่บ้านมากขึ้น อาชญากรรมที่เป็น street crime อย่างการลัก-วิ่ง-ชิง-ปล้นทั้งหลายเกิดขึ้นน้อยลง การขนส่งสินค้าหรือคนขององค์กรอาชญากรรมจากที่หนึ่งไปยังอีกที่หนึ่งก็จะทำได้ยากขึ้น แต่อาชญากรรมบนท้องถนนอาจจะเพิ่มมากขึ้นในภายหลังจากปัญหาวิกฤตเศรษฐกิจ

แต่สิ่งที่น่ากังวลมากขึ้นคือ อาชญากรรมทางไซเบอร์ (cybercrime) ซึ่งเกี่ยวพันกับโครงข่ายออนไลน์ทั้งหลาย มีคอมพิวเตอร์เป็นเป้าหมายของการจู่โจม หรือใช้เครือข่ายคอมพิวเตอร์เป็นเครื่องมือในการกระทำความผิด ตั้งแต่การส่งอีเมลหลอกลวง หรือการโจมตีหน่วยงานด้านสุขภาพโดยตรง อาชญากรรมเหล่านี้เพิ่มขึ้นเยอะมาก

ช่วงหลังโควิด-19 ขณะที่เศรษฐกิจโดยรวมมีปัญหาปากท้อง องค์กรอาชญากรรมกลับมีแนวโน้มเฟื่องฟูขึ้น เพราะพวกเขามีเงินเยอะ มีวิธีการหาแนวร่วม และสร้างฐานผู้คน องค์กรพวกนี้สามารถปรับตัวในการแสวงหาประโยชน์ได้ เช่น เส้นทางการเงินที่สมัยก่อนอาจจะเคยจ่ายกันด้วยเงินสด ตอนนี้อาจใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่อย่าง blockchain เข้ามาด้วย

ที่สำคัญคือ นี่ไม่ใช่แค่ความกังวลของกระบวนการยุติธรรม แต่จาก Global Risk Report ของ World Economic Forum ก็จัดให้อาชญากรรมทางไซเบอร์เป็นความเสี่ยงหลักๆ อยู่แล้ว หรืออย่างกลุ่มที่ทำเรื่องการประเมินความเสี่ยงทางธุรกิจ ก็จัดให้อาชญากรรมทางไซเบอร์เป็นความเสี่ยงอันดับหนึ่งเช่นกัน เพราะฉะนั้น เรื่องอาชญากรรมทางไซเบอร์หรือความมั่นคงทางไซเบอร์เป็นเรื่องใหญ่ ผู้ใช้บังคับกฎหมายจึงต้องปรับตัวขนานใหญ่ด้วย เพราะถ้าเรายังไล่จับผู้ร้ายแบบเดิม แต่องค์กรอาชญากรรมปรับตัวเปลี่ยนแปลงไปแล้วเพราะโควิด ก็จะจับไม่ได้ไล่ไม่ทัน

 

ในยุคที่โจทย์สำคัญคือเรื่องอาชญากรรมทางไซเบอร์หรือความมั่นคงทางไซเบอร์ คนในกระบวนการยุติธรรมต้องปรับเปลี่ยนอะไรบ้าง

เราต้องเปลี่ยนกระบวนการได้มาซึ่งพยานหลักฐานและการตามหาตัวผู้กระทำความผิด ซึ่งเป็นเรื่องซับซ้อนมาก ผมเคยเห็นภาพในหนังสือพิมพ์เมื่อราว 10 กว่าปีก่อน เป็นคดีการโกงในตลาดหุ้น และก็มีเรื่องคอมพิวเตอร์เข้ามาเกี่ยวข้อง ผมเลยรู้สึกว่าจริงๆ แล้ว เราต้องการนักนิติวิทยาศาสตร์เข้าไปตรวจสอบกระบวนการ ดูเส้นทางการเงินอะไรต่างๆ เพราะเราต้องมีความรู้ความเข้าใจเรื่องคอมพิวเตอร์ให้เท่าทันโจร หรือต้องดีกว่าด้วยซ้ำ ตรงนี้ต้องเปลี่ยน และการพัฒนาบุคลากรในส่วนนี้มีความสำคัญมาก ขณะที่กฎหมายก็ต้องเปลี่ยนเพื่อให้กระบวนการทำงานมีประสิทธิภาพมากขึ้น รวมถึงกระบวนการให้ความรู้คนที่เกี่ยวข้องในเรื่องการป้องกันก็ต้องเปลี่ยนด้วย ซึ่งจะทำให้มิติการป้องกันอาชญากรรมต่างๆ เปลี่ยนไปด้วย

 

ถ้าเราลองถอยออกจากโควิด-19 แล้วมองไปในระยะยาวขึ้นอีก อะไรคือเรื่องสำคัญที่ตำรวจต้องเปลี่ยนแปลงและปรับตัว โดยเฉพาะในโลกยุคหลังโควิด-19

ผมว่าเรื่องสำคัญคือ ตอนนี้ยังมีการรวมศูนย์อำนาจอยู่ที่ส่วนกลางค่อนข้างมาก ตำรวจน่าจะต้องกระจายอำนาจลงไปในระดับภูมิภาคให้มากขึ้นจะได้มีความคล่องตัว และการกระจายอำนาจลงไปยังจะช่วยให้ตำรวจเป็นหนึ่งเดียวกับชุมชนได้มากขึ้นด้วย

อีกอย่างคือ เรื่องการลดภารกิจหลายๆ อย่างที่ไม่ใช่ของตำรวจออกไป แล้วมุ่งเน้นภารกิจแท้ๆ ของตำรวจ เช่น การพัฒนาสายงานการสืบสวนสอบสวน หรือสายงานการสืบสวนแบบพิเศษอย่างเรื่องอาชญากรรมทางไซเบอร์ที่เราคุยกัน ตรงนี้จำเป็นต้องมียุทธศาสตร์และการบริหารงบประมาณอย่างเป็นระบบ แต่เราก็ต้องเข้าใจด้วยว่า องค์กรของเขาใหญ่มาก และมีตำรวจจำนวนมาก ตอนผมเป็นคณะกรรมการปฏิรูปตำรวจ เราสำรวจพบว่าตำรวจส่วนมากอยากปฏิรูป กลุ่มตำรวจชั้นประทวนหรือชั้นผู้น้อยอยากเปลี่ยนแปลงให้ดีขึ้น พนักงานสอบสวนอยากเป็นอิสระและได้ใช้วิชาชีพมากขึ้น ตำรวจชั้นผู้ใหญ่บางท่านก็บอกว่า อยากเป็นอิสระและไม่อยากถูกกำกับด้วยการเมืองเกินสมควร เรื่องการปฏิรูปตำรวจจึงเป็นเรื่องใหญ่ และเชื่อมโยงกับระบบธรรมาภิบาลของประเทศ

 

จากตำรวจมาถึงอัยการ อัยการควรปรับตัวและเปลี่ยนแปลงอะไรโดยเฉพาะในโลกยุคหลังโควิด-19

สำหรับผม อัยการมีความสำคัญมาก องค์กรอัยการมี 2 สถานภาพ ส่วนหนึ่งมีลักษณะเป็นฝ่ายบริหาร อีกส่วนหนึ่ง โครงสร้างองค์กรถูกจัดให้มีความเป็นอิสระ มีลักษณะคล้ายตุลาการ เรียกง่ายๆ ว่ากึ่งบริหารกึ่งตุลาการ เป็น quasi-judicial

ในต่างประเทศ องค์อัยการในช่วงแรกถูกตั้งขึ้นเพื่อทำงานใกล้ชิดกับตำรวจ ขณะที่ตำรวจเข้าไปทำงานคลุกคลีกับผู้กระทำความผิด ไปจับผู้ร้าย และได้พยานหลักฐานมา คนที่ถอยออกมาชั้นหนึ่งแล้วดูเรื่องระบบของกฎหมายก็คืออัยการ เพราะฉะนั้น ตำรวจกับอัยการต้องทำงานร่วมกัน อัยการจะเป็นตัวกรองเรื่องในระดับหนึ่ง มีบทบาทให้ตำรวจทำงานโดยคำนึงถึงกฎหมายเป็นหลัก ขณะเดียวกัน อัยการก็ยังอยู่ในฝั่งบริหาร และมีศาลมาคอยกำกับอีกที จึงเรียกได้ว่าอัยการเป็นตัวเชื่อมที่สำคัญ

อย่างไรก็ดี มีการพูดคุยกันมากในช่วง 20-30 ปีที่ผ่านมาว่า บทบาทระหว่างตำรวจกับอัยการในเรื่องการสอบสวนควรเป็นยังไง อัยการควรเข้าไปมีบทบาทในการสอบสวนของตำรวจมากขึ้นหรือไม่ ตรงนี้ไม่ใช่เรื่องใครเก่งกว่าใคร แต่เป็นเรื่องโครงสร้างของระบบ เพราะถ้าอัยการไปกำกับตำรวจมากขึ้น อัยการก็ต้องถูกตรวจสอบโดยประชาชนให้มากขึ้นด้วย

อีกเรื่องที่มีการคุยกันคือ แทนที่อัยการจะสั่งฟ้องทุกเรื่อง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเล็กน้อยแค่ไหนให้เข้าสู่ศาล อัยการจะสามารถชะลอการฟ้องให้มีการคุมประพฤติตั้งแต่ก่อนเรื่องเข้าสู่ศาลได้ไหม เรื่องบางเรื่องจะได้ไม่ต้องเข้าไปล้นศาล คนที่กระทำความผิดก็จะได้ไม่ต้องถูกลงโทษจนกลับคืนสู่สังคมไม่ได้ เพราะในช่วงหลังมานี้ บทบาทของอัยการตรงนี้ดูจะหายไป เราก็ต้องให้องค์กรอัยการได้เข้ามามีบทบาท และเป็นส่วนหนึ่งของการปฏิรูประบบยุติธรรมด้วย

 

 

ในช่วงหลัง เราเห็นการปรับตัวของศาล โดยเฉพาะศาลฎีกา ในยุคที่ท่านไสลเกษ วัฒนพันธุ์ เป็นประธานศาลฎีกา และเปิดตัวด้วยการรับฟังปัญหาและข้อคิดเห็นจากประชาชนเมื่อเข้ารับตำแหน่ง รวมถึงประกาศแนวทางการบริหารงานว่า จะมุ่งเน้นความพึงพอใจสูงสุดของประชาชนเป็นตัวตั้ง มีการปรับปรุงกระบวนการปล่อยชั่วคราวเพื่อเพิ่มมาตรฐานการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพประชาชน การใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยีให้ประชาชนเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมได้สะดวกรวดเร็วขึ้น อาจารย์มองการเปลี่ยนแปลงเหล่านี้อย่างไร นโยบายเหล่านี้จะส่งผลอะไร และจะต่อยอดไปถึงไหนได้บ้าง

ผมคิดว่านี่เป็นปรากฏการณ์ที่ดีมาก และทำให้ผมรู้สึกมีความหวังด้วย เพราะศาลเป็นองค์กรที่ได้รับความเชื่อถือมากที่สุดในระบบยุติธรรม เป็นที่พึ่งและเป็นศูนย์กลางของระบบยุติธรรม ทุกเรื่องจะวิ่งที่ไปศาลหมด ถ้าศาลมองเชิงรุกมากขึ้นที่จะเข้ามาให้ความยุติธรรม ผมมองว่ามันจะช่วยแก้ปัญหาได้เยอะ

สำหรับประธานศาลฎีกาคนปัจจุบัน ท่านเป็นนักวิชาการและเป็นนักปฏิบัติด้วย ตอนที่ท่านเข้ารับตำแหน่งใหม่ๆ และประกาศว่า ต้องการรับฟังความต้องการของประชาชนและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกฝ่าย ก็สร้างความแปลกใจให้ประชาชนพอสมควร แต่ผมมองว่านี่เป็นเรื่องที่ดีมาก เพราะเป็นการที่ศาลเอาใจมาอยู่ที่ประชาชน และฟังว่าประชาชนอยากให้ศาลทำอะไร

ที่ผ่านมา ทาง TIJ จัดงานสัมมนา และท่านไสลเกษได้ให้เกียรติมากล่าวปาฐกถานำ ซึ่งท่านได้เล่าให้ฟังว่า นโยบายหลายๆ อย่างที่เกิดขึ้นมาจากการรับฟัง มีสิ่งที่ท่านรู้สึกว่าเป็นความไม่ชอบธรรมอย่างยิ่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งกรณีที่คนจนไม่มีเงินจ่ายค่าประกันตัว เนื่องจากฐานะไม่ดี ก็ต้องอยู่ในเรือนจำ บางคนถูกลงโทษปรับ แต่ไม่มีเงินจ่ายค่าปรับ ก็ต้องอยู่ในเรือนจำเหมือนกัน การได้รับฟังปัญหาเหล่านี้ทำให้ท่านออกนโยบายมาเพื่อแก้ไข เพราะเรื่องนี้คือความอยุติธรรมชัดเจน และถ้าเรายังเพิกเฉยต่อไป มันจะกลายเป็นความอยุติธรรมที่ชอบด้วยกฎหมาย ตัวผมเองก็รู้สึกแบบนี้มานาน แต่ไม่รู้จะแก้อย่างไร พยายามแก้แล้วไม่สำเร็จ แต่ท่านไสลเกษมีความตั้งใจ และยังมีทีมงาน คือท่านเมทินี ชโลธร รองประธานศาลฎีกา และท่านสราวุธ เบญจกุล เลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรม ซึ่งตระหนักในเรื่องสิทธิเสรีภาพมาก พวกท่านก็รณรงค์ว่าต้องทำเรื่องพวกนี้จริงจัง ไม่ใช่แค่ประกาศเป็นแนวทางเท่านั้น แต่ต้องลงไปรับฟังปัญหา ต้องแก้แบบฟอร์มขอยื่นประกันตัวให้ง่ายขึ้น และนำไปสู่การรณรงค์ให้เกิดทัศนคติใหม่ในกลุ่มผู้พิพากษาว่า การคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของบุคคลเป็นหัวใจของงานศาล

 

เรื่องการปฏิรูประบบการปล่อยชั่วคราวเป็นจุดคานงัดในการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมอย่างไร

โดยทั่วไป คนที่อยู่ในระหว่างการพิจารณาคดีที่เราเรียกว่า ‘ผู้ต้องหา’ หรือ ‘จำเลย’ จะถูกสันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นผู้บริสุทธิ์ จนกว่าศาลสูงสุดจะพิพากษาว่าเขาทำผิดจริง แต่ก็มีความกังวลว่า ถ้าเขาเป็นผู้กระทำผิดจริงๆ เขาอาจจะก่อให้เกิดอันตรายกับผู้เสียหายหรือกับสังคมก็ได้ โดยเฉพาะถ้าเป็นกรณีทำร้ายร่างกาย เพราะฉะนั้น ผู้พิพากษาต้องพิจารณาอย่างรอบคอบว่า จะให้ผู้ต้องหาได้รับการประกันตัวหรือปล่อยตัวชั่วคราวหรือไม่ระหว่างการพิจารณาคดีหรือไม่

ตามหลักการแล้ว ถ้าเขาไม่หลบหนี มาตามนัดหมาย ไม่น่าจะไปทำลายพยานหลักฐานหรือทำอันตรายต่อพยานและคนอื่นๆ ก็ไม่มีเหตุผลที่จะต้องควบคุมตัวเขา สามารถปล่อยตัวได้ไม่ว่าจะมีหลักประกันหรือไม่ แต่ในทางปฏิบัติ การให้ประกันตัวโดยใช้เงินเป็นหลักประกันกลายเป็นกรณีทั่วไป ตรงนี้ทำให้คนที่ฐานะไม่ดี ยากจน หาหลักประกันมาไม่ได้ ต้องติดคุกโดยไม่จำเป็น การปล่อยตัวชั่วคราวเพราะคำนึงถึงสิทธิเสรีภาพตามกฎหมายของบุคคลไม่ได้เป็นบรรทัดฐาน (norm) หรือแนวปฏิบัติในอดีต จึงทำให้ผู้พิพากษาใช้แนวปฏิบัติแบบต้องใช้หลักประกันมาตลอด แม้หลายท่านอาจจะรู้สึกว่ามันไม่ยุติธรรมเท่าไหร่ก็ตาม

แต่สิ่งที่ท่านประธานศาลฎีกาทำคือ การกำหนดและปรับแบบฟอร์มในการประเมินโดยไม่ได้ใช้หลักประกันเป็นตัวตั้ง แต่พิจารณาว่าผู้ต้องหาแต่ละรายมีแนวโน้มจะหลบหนี ข่มขู่พยานหรือผู้เสียหาย หรือทำลายพยานหลักฐานไหม เพื่อตัดสินว่าผู้ถูกกล่าวหาควรจะได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวไหม โดยไม่ได้ให้น้ำหนักกับเรื่องหลักประกันอย่างเดียว และยังทำให้หลักประกันน้อยลง ง่ายขึ้น และยังไปโยงกับเรื่องกองทุนยุติธรรมที่ทางกระทรวงยุติธรรมได้เริ่มต้นไปแล้วในหลักการคือ ต้องการสร้างกองทุนขึ้นมาเพื่อให้คนยากจนมีสิทธิต่อสู้คดี รวมถึงประกันตัวมาเพื่อสู้คดี

สิ่งที่ผมชื่นชมมากคือ ท่านไสลเกษไม่ได้เป็นนักกฎหมายที่ออกกฎเกณฑ์หรือกฎระเบียบมาเฉยๆ เพราะมันจะไม่สำเร็จหรอกครับ มีหลายท่านพยายามทำแบบนี้ แต่สิ่งที่ปฏิบัติกันมาต่อเนื่องยาวนานต้องอาศัยการรณรงค์อย่างจริงจัง และต้องการความเข้าใจในการเปลี่ยนวิธีคิดหรือ mindset ซึ่งท่านไสลเกษนำเราไปสู่จุดนั้นด้วย เราจึงมีความหวังว่า ถ้าท่านเข้าไปสัมผัสกับปัญหานี้แล้ว จะไม่เพิกเฉยต่อปัญหาอื่นๆ อีกด้วย และด้วยพลังของศาลที่เป็นแกนกลางของระบบยุติธรรมอยู่แล้ว ก็น่าจะทำให้เรื่องเหล่านี้ดีขึ้นได้ไม่มากก็น้อย

 

เราเคยได้ยินคำว่า “คุกมีไว้ขังคนจน” เพราะหลายคนต้องอยู่ในคุก เนื่องจากไม่มีหลักทรัพย์ประกันตัว ทั้งที่ตนเองยังเป็นแค่ผู้ต้องหาอยู่ บางคนก็ติดคุกฟรี เพราะสุดท้ายศาลพิจารณาแล้วสั่งยกฟ้อง บางคนติดคุกยาวนานกว่าระยะเวลาของบทลงโทษจริงๆ อีก หรือบางคนติดคุกแทนการจ่ายค่าปรับเพราะไม่มีเงิน เพราะฉะนั้น นโยบายของศาลฎีกายุคใหม่น่าจะเป็นจุดเปลี่ยนที่สำคัญมาก

ใช่ครับ และในงานสัมมนาของ TIJ ที่ท่านไสลเกษให้เกียรติมาร่วม ท่านก็พูดเองเลยว่า นี่เป็นแค่จุดเริ่มต้น น่าจะมีการแก้กฎหมายให้ศาลมีทางเลือกในการลงโทษมากขึ้น ไม่ใช่แค่จำคุก ประหารชีวิต ปรับ หรือกักขังเท่านั้น อาจจะมีทางเลือกเป็นงานบริการสังคม หรือการควบคุมที่บ้าน โดยใช้เครื่องมืออิเล็กทรอนิกส์มาช่วยกำกับควบคุม

อีกประเด็นหนึ่งที่ผมรู้สึกชื่นชมมากคือ ท่านไสลเกษบอกว่าอยากใช้นโยบาย ‘ศาลเปิด’ ให้ประชาชนเข้าเยี่ยม ท่านพูดในลักษณะที่ว่า ในวันเด็ก ทำเนียบรัฐบาลยังเปิดให้เด็กไปนั่งเก้าอี้นายกฯ ได้ ท่านจึงอยากเปิดศาลให้เยาวชนได้เข้าไปเยี่ยมบ้าง สำหรับผม นี่คือการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญ เพราะนอกจากจะเป็นการสร้างแรงบันดาลใจให้เด็กแล้ว ผมเชื่อว่า ผู้พิพากษาที่ได้สัมผัสกับเยาวชนจะเห็นว่า คนที่คาดหวังความยุติธรรมจากท่านมากที่สุดคือประชาชน ท่านคือศาลของประชาชน หัวใจของท่านต้องอยู่กับประชาชน และเมื่อผู้พิพากษาเห็นว่า มีคนหวังพึ่งท่านเยอะมาก ท่านก็จะวางตำแหน่งวิธีการทำงานที่ถูกต้อง ซึ่งมันจะช่วยอะไรได้เยอะมาก

 

ที่ผ่านมา ระบบยุติธรรมไทยเน้นโทษทางอาญา โดยเฉพาะโทษจำคุกมากเกินไป ในการปฏิรูประบบลงโทษทางอาญา มีข้อเสนอเรื่องทางเลือกใหม่ในการลงโทษอย่างไรบ้าง ที่จะช่วยไม่ให้ต้นทุนของระบบสูงเกินไป และเป็นประโยชน์แก่สังคมด้วย

เราพูดเรื่องทางเลือกในการลงโทษกันมานานแล้ว ในเวทีสหประชาชาติ มีการออกข้อกำหนดที่เป็นมาตรฐานสากลที่เรียกว่า ‘ข้อกำหนดโตเกียว’ (Tokyo Rules) หรือมาตรฐานขั้นต่ำสหประชาชาติว่าด้วยมาตรการไม่ควบคุมตัว ซึ่งประเทศญี่ปุ่นเป็นเจ้าภาพหลักในการขับเคลื่อน เพราะญี่ปุ่นเป็นประเทศที่มีคนในเรือนจำน้อย มีทางเลือกในการลงโทษมาก

ทาง TIJ สนใจเรื่องนี้่ และเราทำงานเกี่ยวกับผู้ต้องขังโดยตรง ในเรือนจำ มีทั้งคนอันตรายที่กระทำความผิดร้ายแรง ซึ่งจำเป็นต้องอยู่ในคุกเพื่อรับโทษ ลดอันตรายต่อสังคม รวมถึงปรับพฤติกรรมให้สามารถกลับสู่สังคมได้ แต่ก็ยังมีคนอีกจำนวนมากที่ไม่ได้กระทำความผิดร้ายแรง ไม่จำเป็นต้องใช้โทษจำคุก เขาเป็นแค่แก้วที่เริ่มร้าว แต่เมื่อต้องเข้าไปอยู่ในเรือนจำ ได้รับการถ่ายทอดพฤติกรรมและเสียประวัติไปแล้ว เขาก็อาจจะรู้สึกว่า ไม่จำเป็นต้องเป็นคนดีก็ได้ ออกมาก็หางานทำยากขึ้น ดังนั้นจึงมีโอกาสมากที่เมื่อพ้นโทษ เขาจะกระทำความผิดซ้ำและกลับเข้าไปในเรือนจำอีก

ดังนั้น ในต่างประเทศจึงมีแนวคิดที่เป็นสากลคือ มีการลงโทษด้วยการบริการสังคม และการควบคุมที่บ้านโดยใช้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์เป็นเครื่องมือควบคุมและรายงานตัว ตรงนี้ก็ถือเป็นการจำกัดเสรีภาพที่เหมาะสม สำหรับประเทศไทยยังไม่ได้ทำจริงจัง แต่เราก็ต้องคิดต่อด้วยว่า ไม่ใช่แค่ออกกฎหมายเรื่องนี้เท่านั้น แต่จะต้องมีระบบกำกับดูแลในเรื่องนี้อย่างจริงจัง เพื่อให้ประชาชนเชื่อมั่นได้ว่า การทำงานบริการสังคมได้ทำจริง ได้ผลจริง มีประสิทธิภาพจริง และมีการรายงานไปยังศาลจริงๆ เพราะฉะนั้น เรื่องระบบรองรับ กระบวนการรายงาน หรือกระบวนการทำให้ประชาชนมีความเชื่อถือจึงเป็นเรื่องจำเป็นมาก

ผมคิดว่า บางทีโควิด-19 อาจจะเป็นโอกาส เพราะเมื่อพิจารณาชีวิตในเรือนจำ เราเห็นใจทั้งเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์และผู้ต้องขังที่มีโอกาสเสี่ยงติดเชื้อ ตรงนี้เราอาจจะไปปรับแก้กฎหมายและใช้องค์ความรู้ที่มีมาเป็นสิบปีอย่างเป็นระบบ หาหน่วยงานมารับผิดชอบ มีผู้พิพากษามาดูว่า ท่านมั่นใจไหมที่จะใช้การลงโทษทางเลือก มีกระบวนการรายงานที่เหมาะสม

 

ปัญหาในคุกอีกเรื่องหนึ่งคือ ประเทศไทยมีจำนวนผู้ต้องขังหญิงเยอะมาก ซึ่งมีความพยายามนำข้อกำหนดสหประชาชาติว่าด้วยการปฏิบัติต่อผู้ต้องขังหญิงและมาตรการที่ไม่ใช่การคุมขังสำหรับผู้กระทำผิดหญิง หรือข้อกำหนดกรุงเทพ (Bangkok Rules) เข้ามาประยุกต์ใช้ด้วย เรื่องทางเลือกใหม่ในการลงโทษที่เราเพิ่งคุยกัน เชื่อมโยงกับปัญหาเชิงโครงสร้างเกี่ยวกับผู้ต้องขังหญิงของไทยอย่างไร และเป็นทางออกในเรื่องนี้ได้หรือไม่

ปัญหาผู้ต้องขังหญิงถือเป็นจุดกำเนิดของ TIJ เลยครับ ถ้าย้อนกลับไปราวสิบปีก่อนหน้านี้ ประเทศไทยได้รณรงค์เรื่องมาตรฐานใหม่ของผู้ต้องขังหญิง ในตอนนั้น สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าพัชรกิติยาภา นเรนทิราเทพยวดี กรมหลวงราชสาริณีสิริพัชร มหาวัชรราชธิดา ทรงเป็นเอกอัครราชทูต (นักบริหารการทูตระดับสูง) ประจำคณะกรรมาธิการแห่งสหประชาชาติว่าด้วยการป้องกันอาชญากรรมและความยุติธรรมทางอาญา กรุงเวียนนา ประเทศออสเตรีย ซึ่งพระองค์ท่านสนพระทัยเรื่องนี้อยู่แล้ว และรัฐบาลในตอนนั้นก็ตั้งใจจนเราร่างข้อกำหนดใหม่ คือข้อกำหนดกรุงเทพ ขึ้นมาได้สำเร็จ

ข้อกำหนดกรุงเทพถือเป็นมาตรฐานของสหประชาชาติที่เกี่ยวข้องกับเรื่องเพศภาวะ เพราะก่อนหน้านี้เราไม่มีมาตรฐานเรื่องนี้เลย เรือนจำก็ถูกสร้างเพื่อผู้ชาย เจ้าหน้าที่ในเรือนจำก็ไม่ได้คำนึงถึงผู้ต้องขังหญิงสักเท่าไหร่ เพราะแต่ก่อน ผู้ต้องขังหญิงยังมีจำนวนไม่มาก แต่สาเหตุที่ทำให้ผู้ต้องขังหญิงมีจำนวนเพิ่มขึ้นสูงมากเนื่องจากมีส่วนเข้าไปพัวพันกับยาเสพติด เพราะคนใกล้ชิดเป็นผู้กระทำความผิด อีกสาเหตุคือ ความรุนแรงที่สะสมมาเรื่อยๆ จนผู้หญิงทนไม่ไหวอีกต่อไปและระเบิดออกมา

ถ้าเราดูเส้นทางชีวิตของผู้ต้องขังหญิงจะเห็นว่าจริงๆ แล้วผู้หญิงจำนวนมากไม่จำเป็นต้องเข้าไปอยู่ในเรือนจำเลย ยิ่งในสังคมตะวันออกอย่างประเทศไทยที่ผู้หญิงจำนวนมากต้องเป็นที่พึ่งของพ่อแม่ที่สูงอายุหรือลูก การที่ผู้หญิงต้องเข้าไปอยู่ในเรือนจำส่งผลให้อีกหลายชีวิตมีปัญหาตามไปด้วย ผมไม่ได้หมายความว่าคนทำผิดไม่ต้องรับโทษนะครับ เพียงแต่โทษที่ได้รับควรจะเป็นโทษที่เหมาะสม และโทษที่เหมาะสมอาจจะไม่ใช่การจำคุกเพียงอย่างเดียว

เพราะฉะนั้น ข้อกำหนดกรุงเทพจึงถือกำเนิดขึ้น และได้รับการรับรองจากสหประชาชาติ ซึ่งเป็นการแสดงจุดยืนของไทยด้วยว่า เราไม่ได้อยากรณรงค์แค่ผิวเผิน แต่เรามีสถาบันเพื่อผลักดันเรื่องนี้ในระดับโลกอย่างจริงจัง และพยายามส่งเสริมให้ประเทศอื่นนำข้อกำหนดกรุงเทพไปใช้ด้วย

 

 

ข้อกำหนดกรุงเทพมีรายละเอียดอย่างไร และช่วยแก้ปัญหาในเรื่องผู้ต้องขังหญิงได้อย่างไร

ถ้าให้เข้าใจง่ายๆ ส่วนแรกเราเรียกว่า ‘Inside Prison’ คือดูเรื่องการทำให้ระบบภายในเรือนจำคำนึงถึงเพศภาวะ และเข้าใจว่าต้องปฏิบัติต่อผู้ต้องขังหญิงอย่างไร แม้เรือนจำบางแห่งจะไม่ได้มีงบประมาณมาก หรือสถานที่ไม่ดี แต่ถ้าเข้าใจตรงนี้ก็สามารถปรับให้ดีขึ้นได้

ส่วนที่สองเรียกว่า ‘Beside Prison’ คือมองหาทางเลือกอื่นในการลงโทษนอกจากการใช้โทษจำคุก ซึ่งตรงนี้เรายังทำได้ไม่ดีเท่าไหร่

และส่วนที่สามคือ ‘Beyond Prison’ เป็นการดูว่า หลังจากที่พ้นโทษและออกจากเรือนจำไปแล้ว เขาจะกลับสู่สังคมอย่างไร ตรงนี้เป็นเรื่องการส่งเสริมให้อดีตผู้ต้องขังสามารถเริ่มต้นชีวิตใหม่ มีงานทำ และได้รับการยอมรับจากสังคม

ผมคิดว่า เรื่องผู้ต้องขังหญิงเป็นจุดผลักดันสำคัญจุดหนึ่ง แต่ไม่ว่าจะเป็นใครหรือเพศใด หลักยุติธรรมขั้นพื้นฐานคือ ถ้าเขากระทำความผิด ก็ควรได้รับการลงโทษที่เหมาะสมกับพฤติกรรมของเขา รวมถึงเปิดโอกาสให้เขากลับคืนสู่สังคมได้ แต่การที่เขาไม่มีโอกาสต่อสู้คดี หรือถูกลงโทษเกินกว่าพฤติกรรมที่ทำผิดไป ตรงนี้เป็นจุดที่ผมคิดว่ากระบวนการยุติธรรมต้องปรับปรุง

 

ถ้าเราตั้งใจจะปฏิรูปเรือนจำ ควรเริ่มต้นจากตรงไหน

เวลาคนทั่วไปมองเรื่องการปฏิรูปเรือนจำ ทุกคนมักจะมองว่า ต้องเริ่มที่ระบบราชทัณฑ์ แต่ผมคิดว่า ถ้าจะปฏิรูประบบราชทัณฑ์ต้องเริ่มปฏิรูปที่กรมคุมประพฤติเลย เพราะสองหน่วยงานนี้ทำงานคู่กัน กรมราชทัณฑ์เป็นหน่วยที่ปฏิบัติต่อผู้กระทำผิดโดยการควบคุมตัวในเรือนจำ แต่กรมคุมประพฤติเป็นการปฏิบัติและดูแลผู้กระทำความผิดโดยที่เขายังอยู่ในชุมชน ถ้าเราจะพัฒนาให้มีทางเลือกในการลงโทษมากขึ้น จึงจำเป็นต้องเริ่มด้วยการพัฒนางานที่กรมคุมประพฤติ

เพราะฉะนั้น ผมจึงมองว่า หัวใจของการปฏิรูปคือการลงทุนที่ระบบงานคุมประพฤติ ให้พนักงานคุมประพฤติเข้าใจในหน้าที่ของตนเอง มีความเชื่อมโยงกับชุมชน และสามารถดึงชุมชนเข้ามาเป็นหุ้นส่วนในการดูแลผู้กระทำความผิดให้เขากลับคืนสู่สังคมได้ รวมถึงเข้าใจเทคโนโลยีใหม่ๆ ด้วย

นอกจากนั้น เราต้องมีระบบการรายงานที่เปิดเผย โปร่งใส และให้ผู้พิพากษาได้ข้อมูลเหมาะสมที่จะใช้ตัดสินคดีให้เหมาะสมกับสภาพของผู้กระทำความผิด คือมีการรายงานเรื่องทางสังคม เพราะเวลาต่อสู้คดี มันเป็นเรื่องเอาแพ้เอาชนะกัน แต่ข้อมูลเชิง social report หรือในเชิงสภาพความเป็นอยู่ของผู้ถูกกล่าวหาหรือจำเลยว่า เขามีพฤติกรรมอย่างไร สภาพเขาเป็นแบบไหน มีความจำเป็นอะไรถึงทำแบบนี้ บางทีข้อมูลตรงนี้หายไป ซึ่งเราจะได้ข้อมูลส่วนนี้มาจากเจ้าพนักงานคุมประพฤติ

อย่างไรก็ดี การมีระบบที่ดี เปิดให้ชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมให้ผู้กระทำความผิดได้เริ่มต้นชีวิตใหม่ รวมถึงการนำระบบอิเล็กทรอนิกส์เข้ามาช่วยเพื่อให้ทุกฝ่ายมั่นใจ ต้องอาศัยการลงทุนที่ค่อนข้างสูง และต้องอาศัยการพัฒนาด้วย แต่จากสถิติในต่างประเทศ การลงทุนโดยใช้การควบคุมในชุมชนถูกกว่าการควบคุมโดยราชทัณฑ์อย่างน้อย 7 เท่า เพราะตอนราชทัณฑ์เอาผู้ต้องขังไปดูแล ต้องดูแลทั้งเรื่องสถานที่ อาหาร การพัฒนาพฤติกรรมและนิสัยต่างๆ ซึ่งต้องใช้เงินทั้งนั้น ยังไม่นับรวมแรงงานในภาคเศรษฐกิจที่หายไปด้วย และเมื่อเขาพ้นออกมาจากเรือนจำ โอกาสในการทำงานหรือทำประโยชน์ให้สังคมก็น้อยลง ต้นทุนพวกนี้สูงมาก ดังนั้น การจะลดผู้ต้องขังในเรือนจำต้องเริ่มจากการพัฒนาระบบคุมประพฤติให้เข้มแข็ง

 

โดยมีชุมชนรับบทสำคัญในระบบคุมประพฤติที่เข้มแข็ง?

ใช่ครับ หัวใจคือเรื่องยุติธรรมชุมชน (community justice) จากประสบการณ์ที่ผมเคยทำงานเรื่องการเปลี่ยนผู้เสพยาเป็นผู้ป่วย ตอนนั้นไม่ได้รับงบประมาณในเรื่องการกลับคืนสู่สังคมเลย ได้รับมาเฉพาะงบเพื่อการฟื้นฟูเท่านั้น หลังฟื้นฟูเสร็จแล้วส่งตัวกลับไป เมื่อพวกเขาไม่มีทางเลือก ก็กลับมาเสพซ้ำอยู่ดี แต่พอผมลงไปในชุมชน จึงรู้สึกว่าจริงๆ แล้ว ชุมชนก็มีเป้าหมายไม่ต่างกัน เขาอยากให้คนในชุมชนกลับไปเป็นคนดี ไม่ก่อให้เกิดปัญหาในชุมชนอีก จึงพร้อมจะทุ่มเทเพื่อให้ชุมชนโดยรวมปลอดภัย แต่ภาครัฐต้องเข้าใจและทำงานร่วมกันเป็นหุ้นส่วนด้วย ไม่ใช่ไปชี้นิ้วสั่งการว่าต้องทำแบบนั้นแบบนี้ การทำงานร่วมกันเป็นหุ้นส่วนนี่เองที่ถือเป็นหัวใจของยุติธรรมชุมชน

ในสมัยที่ผมทำงานร่วมกับกรมคุมประพฤติ ผมคิดว่าเขาเก่งและทำได้ดี ถ้าเราเติมเรื่องอิเล็กทรอนิกส์เข้าไปด้วย ซึ่งวิศวกรและนักเทคโนโลยีของเราก็เก่งอยู่แล้ว ประเทศไทยจะมีระบบที่ไม่แพ้ประเทศใดในโลกเลย

 

‘ประชาชน’ อยู่ตรงไหนในภาพใหญ่ของระบบยุติธรรมทั้งหมดนี้ คนทั่วไปจะมีส่วนร่วมในการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมได้อย่างไรบ้าง

ผมคิดว่า หัวใจของการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมคือการเอาประชาชนเป็นตัวตั้ง เวลาเราพูดถึงหลักนิติธรรม (Rule of Law) ในกระบวนการยุติธรรม หัวใจสำคัญของหลักนิติธรรมไม่ได้อยู่ที่ตัวกฎหมาย แต่อยู่ที่ว่าสังคมต้องปกครองด้วยกฎหมาย ไม่ใช่โดยกลุ่มบุคคล และกฎหมายนั้นต้องเป็นกฎหมายที่ยืนหยัดอยู่เคียงข้างประชาชน เพราะถ้าเรามองว่า อำนาจประชาธิปไตยหรืออำนาจทั้งหลายอยู่ที่ประชาชน การที่ประชาชนจะมอบอำนาจให้ผู้ปกครองที่เข้ามาทำงาน ประชาชนก็ต้องการจะสงวนบางอย่าง ทั้งสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชนที่คนใช้อำนาจต้องยอมรับด้วย ซึ่งสิ่งเหล่านี้ถูกกำกับด้วยกฎหมาย และกฎหมายมีไว้เพื่อดูแลคุ้มครองสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชน เช่นนี้หลักนิติธรรมจึงจะได้รับการเคารพและการยอมรับ

เพราะฉะนั้น ถ้าเราเข้าใจภาพใหญ่ของหลักนิติธรรม เราต้องคิดว่า รัฐต้องเคารพสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชน ต้องเคารพกฎหมาย และต้องปกครองโดยกฎหมาย ผมจึงคิดว่า กระบวนการยุติธรรมที่เป็นเครื่องมือสำคัญในการนำกฎหมายที่ดีมาใช้ ต้องตั้งหลักให้ถูกว่า กระบวนการยุติธรรมต้องยืนอยู่ข้างประชาชน

พูดแบบนี้ก็ฟังดูดีดูง่าย แต่จากประสบการณ์ของผม ถ้าเราไปเรียนเรื่องกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาซึ่งเป็นเรื่องที่กระทบต่อผู้ถูกกล่าวหาโดยตรง กลไกเรื่องกระบวนการยุติธรรมทางอาญาเป็นส่วนสำคัญ เพราะรัฐกำลังจะใช้อำนาจในการดำเนินคดีกับประชาชน อาจจะถึงขั้นประหาร การที่รัฐใช้อำนาจเหนือประชาชนโดยใช้กฎหมายอาญาเป็นหลักจึงเป็นเรื่องใหญ่ที่สุด

ในต่างประเทศ เวลาเรียนเรื่องหมายจับหรือหมายค้น เขาใช้เวลาเรียนเกือบทั้งเทอมเลย ว่าเจ้าหน้าที่จะจับได้ไหม เรียกคนหยุดตรวจได้ไหม มีอำนาจจะเข้าไปค้นในเคหสถานของประชาชนได้ไหม คือจะต้องชั่งน้ำหนักระหว่างสิทธิความเป็นส่วนตัวกับสิทธิโดยภาพรวมของรัฐ เพราะใจเขาวางอยู่ที่การเคารพสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชน ประชาชนเป็นใหญ่และเป็นหลัก แต่สมัยผมเรียนที่ไหน เราต้องไปอ่านกันเอง เราไม่ได้เรียนปรัชญาที่เป็นหัวใจของการวางตำแหน่งแห่งที่ว่าท้ายที่สุดแล้ว อำนาจของรัฐ ประชาชน และกฎหมายอยู่ตรงไหน

เพราะฉะนั้น ถ้าจะถามว่าประชาชนอยู่ตรงไหนในระบบยุติธรรม ผมว่าประชาชนอยู่ทุกที่ การจะปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมจึงต้องวางตำแหน่งของใจหรือทิศทางให้ถูกต้องก่อนว่า ทิศทางต้องอยู่ที่ประชาชน เมื่อเราวางตำแหน่งถูกแล้ว ก็เดินหน้าต่อได้แบบไม่ผิดทิศผิดทาง

 

 

แต่ในโลกแห่งความเป็นจริง เราเห็นช่องว่างตรงนี้มาก โดยเฉพาะเรื่องการสร้างหลักนิติธรรมให้เกิดขึ้นจริงในสังคมไทย ในฐานะที่นักปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม อาจารย์คิดว่าจุดคานงัดหรือจุดพลิกของการเปลี่ยนแปลงอยู่ตรงไหน ประชาชนจะมีบทบาทในการเรียกร้องหรือผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงได้ยังไงบ้าง หากจะปฏิรูปให้สำเร็จมากขึ้นอีกต้องต่อยอดทำอะไรเพิ่มเติม หรือทำให้แตกต่างจากเดิมอย่างไร

สมัยเริ่มแรกผมเคยเข้าใจว่า ถ้าเราแก้กฎหมายสำเร็จ ทุกอย่างก็จะสำเร็จ คือมองแบบนักกฎหมายเลย จนกระทั่งผมได้มาเป็นหนึ่งในคณะอนุกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับปี 2540 และได้มีส่วนเข้าไปผลักดันเรื่องกระบวนการยุติธรรม จนหลังจากรัฐธรรมนูญปี 2540 เราได้กฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ซึ่งดีกว่า Bill of Rights ของสหรัฐฯ เสียอีก คือเขียนไว้อย่างชัดเจนและเป็นระบบ แต่ต่อมา ผมก็เรียนรู้ว่า นั่นไม่ใช่ความสำเร็จหรอก เพราะแม้กฎหมายจะออกมา แต่ถ้าการบังคับใช้กฎหมายไม่ได้เป็นไปตามกฎหมาย เช่น กฎหมายบัญญัติว่าผู้ต้องหามีสิทธิขั้นพื้นฐาน ต้องได้รับการแจ้งข้อหา ต้องมีสิทธิในการมีทนาย แต่ถ้าตำรวจอุ้มเขาตรงไปยังเซฟเฮ้าส์โดยไม่ลงบันทึกประจำวัน เราก็ไปไม่ถูกเลย เพราะมันไม่ได้อยู่ในระบบ

หลังจากนั้น ผมมองว่าเรื่องนี้เป็นปัญหาเชิงโครงสร้าง จึงลองจัดโครงสร้างของหน่วยงานในระบบยุติธรรม มีการวางแผนร่วมกันเพื่อให้เกิดการบูรณาการแบบต่างๆ พยายามทำเรื่องโครงสร้างกระทรวงยุติธรรม รวมถึงกรมสอบสวนคดีพิเศษ แต่ในที่สุด ผมก็เรียนรู้อีกว่า การจัดโครงสร้างไม่ใช่เรื่องง่าย แล้วปัญหาเรื่องระบบยุติธรรมก็โยงไปสู่เรื่องธรรมาภิบาล (governance) ของประเทศด้วย คือไม่ใช่แค่เราจับหน่วยงานมาอยู่ที่เดียว แล้วทุกคนจะเดินเข้าแถวเรียงกันไป มันไม่ใช่แบบนั้น แต่มันจะโยงไปสู่เรื่องที่ใหญ่กว่านั้น คือธรรมาภิบาล ระบอบประชาธิปไตย และระบบการเมืองที่จะขับเคลื่อนเรื่องเหล่านี้ต่อไป ตรงนี้ทำให้เรื่องมันยากมาก ยากจนบางทีผมก็ท้อว่า ลงมือทำมา 20-30 ปี สุดท้ายก็กลับมาที่ศูนย์ใหม่

แต่ต่อมา ผมก็เริ่มคิดได้แล้วที่ผ่านมาเป็นการพยายามทำจากในระบบ คือทำแบบนักกฎหมาย จัดระบบและอยู่ในระบบเพื่อเปิดประตูรับการเปลี่ยนแปลง แต่ถ้าเราลองคิดนอกกรอบ คือมองว่าเรื่องกระบวนการยุติธรรมและหลักนิติธรรมมีความสำคัญมากกว่าแค่จะเป็นเรื่องทางเทคนิคเฉพาะสำหรับบุคลากรในกระบวนการยุติธรรมหรือนักกฎหมาย แต่เป็นเรื่องของประชาชนที่ต้องการการมีส่วนร่วมจากหลากหลายวงการ ในช่วงหลัง TIJ จึงริเริ่มหลักสูตร RoLD (TIJ Executive Program on Rule of Law and Development) ขึ้น เพราะเราต้องการให้คนที่มีพลังขับเคลื่อนในสังคมไทย หรือคนรุ่นใหม่จากหลากหลายสาขา ได้เข้ามาเห็นว่าหลักนิติธรรมเป็นหัวใจของบ้านเมือง และเป็นหัวใจของความเปลี่ยนแปลง

ผมมองว่าความยุติธรรมเหมือนกับน้ำหรืออากาศ บางทีเราอาจจะไม่ได้ตระหนักถึงความสำคัญของมันเท่าไหร่ แต่ถ้าไม่มีน้ำหรืออากาศ เราอยู่ไม่ได้ ความยุติธรรมก็เหมือนกัน ถ้ามันทำงานไปเรื่อยๆ โดยไม่มีปัญหาอะไร เราก็คงไม่รู้สึกว่ามันสำคัญ แต่พอมีปัญหาเกิดขึ้นเมื่อไหร่ บ้านเมืองอาจจะปั่นป่วน อยู่ไม่ได้ ทาง TIJ เลยใช้สโลแกนว่า “Justice is Everyone’s Matters.” (ความยุติธรรมเป็นเรื่องของทุกคน) เพราะหลักนิติธรรม (Rule of Law) เป็นเรื่องของทุกคน ไม่ใช่แค่หลักของนักกฎหมาย (Rule of Lawyer) ไม่ใช่แค่การถามว่านักกฎหมายจะเปลี่ยนแปลงไหม แต่ทุกคนต้องช่วยกันหมด

ผมคิดว่าการเปลี่ยนแปลงไม่ใช่แค่เรื่องระบบหรือกฎหมาย แต่เป็นเรื่องวิธีคิดหรือ mindset ของคนด้วย จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่เราต้องมีกระบวนการสอนให้คนเข้าใจว่าความยุติธรรมมีความสำคัญ และหลักนิติธรรมสำคัญกับเขา รวมทั้งต้องสอนนักกฎหมายให้เป็นนักยุติธรรมด้วย เราเลยร่วมมือกับหลักสูตรศิลปศาสตรและวิทยาศาสตรบัณฑิต สาขาวิชานวัตกรรมบูรณาการ (หลักสูตรนานาชาติ) (Bachelor Degree of Arts and Science in Integrated Innovation – BAScii) ที่เป็นหลักสูตรของสถาบันนวัตกรรมบูรณาการแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (Chulalongkorn School of Integrated Innovation: ScII) เพื่อเตรียมความพร้อมผู้นำรุ่นใหม่ในโลกศตวรรษที่ 21 เราใช้กระบวนการคิดเชิงออกแบบ (Design Thinking) เข้าไปตั้งโจทย์ให้นิสิตดูเรื่องความยุติธรรมในชีวิตประจำวัน ตรงนี้เป็นสิ่งที่เราพยายามทำ เพราะเราจำเป็นต้องมีเครื่องมือเพื่อสอนวิธีคิดให้กับคนรุ่นใหม่เหมือนกัน

ช่วงหลังผมหันไปทำเรื่องวิธีคิดของคน และระดมการมีส่วนร่วมของคนจำนวนมาก เรื่องการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมไม่ต้องทำวิจัยกันมากแล้ว เรามีงานวิจัยเยอะแล้ว เรารู้อยู่แล้วว่าจะต้องทำอะไร อย่างไร แต่เรื่องที่ยากคือจะทำอย่างไรให้สำเร็จ ซึ่งเราต้องมียุทธศาสตร์ในการขับเคลื่อนด้วย

 

เท่าที่ฟังดู โจทย์ใหญ่ของเรื่องนี้คือ จะทำอย่างไรให้ความยุติธรรมกลายเป็น norm เป็นสิ่งปกติของสังคมไทย เพราะตอนนี้มันไม่ใช่ ประชาชนไม่ได้ลิ้มรสความยุติธรรมจริงๆ เป็นคนถูกกระทำจากระบบยุติธรรมเสียด้วยซ้ำ นอกจากนั้น ในสังคมที่เต็มไปด้วยความเหลื่อมล้ำ คนจำนวนมากเข้าไม่ถึงความยุติธรรมด้วย เราต้องการกฎหมายที่ดี ระบบที่ถูกออกแบบอย่างดี การบังคับใช้กฎหมายที่ดี และวัฒนธรรมที่ดี ประเด็นคือจะได้มาอย่างไร

ผมคิดว่าสิ่งที่ยากที่สุดคือเรื่องของคน ตอนนี้ ที่สหรัฐฯ มีประเด็นที่คนผิวสีถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจเอาเข่ากดคอไว้จนหายใจไม่ออก และเสียชีวิตในที่สุด เราจะเห็นว่ามีคนออกมาเดินขบวนประท้วงไปทั่ว ซึ่งเขาไม่ได้ออกมาเดินขบวนเฉพาะในเรื่องนี้เรื่องเดียว แต่เขาต้องการแสดงออกว่า การที่เจ้าหน้าที่รัฐใช้อำนาจหน้าที่อย่างไม่เหมาะสมหรือเกินเลย จะทำให้ทุกคนไม่ปลอดภัย และกระทบสิทธิขั้นพื้นฐานของทุกคน อันนี้เป็นเรื่องที่รับไม่ได้เลย

ไม่ว่าเราจะมองระบบของสหรัฐฯ อย่างไรก็ตาม ความคิดพื้นฐานของคนอเมริกันอยู่ที่การเคารพและยึดมั่นในสิทธิและเสรีภาพของประชาชนเป็นที่ตั้ง ซึ่งผ่านการต่อสู้อันยาวนานทางประวัติศาสตร์มา กระบวนการยุติธรรมเกิดขึ้นเพื่อคุ้มครองสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชนในการใช้ชีวิตอยู่อย่างปลอดภัย เมื่อเป็นผู้ถูกกล่าวหาก็จะต้องได้รับสิทธิในการต่อสู้คดีอย่างเหมาะสม ถ้าเป็นผู้กระทำผิดก็ต้องถูกนำตัวมาลงโทษตามกฎหมาย ทำให้เขาวางปรัชญาแนวคิดได้ถูกว่า หลักนิติธรรมหรือกระบวนการยุติธรรมต้องอยู่เคียงข้างประชาชน

เมื่อย้อนกลับมามองสังคมไทย นี่เป็นโจทย์หนึ่งที่ยังไม่มีคำตอบว่า เราจะบรรลุเป้าหมายตรงนั้นได้อย่างไร ตัวผมเองก็พยายามทำเท่าที่ทำได้ เช่น ลองให้กลุ่มนักคิดหรือเครือข่ายต่างๆ ของสังคมไทยเข้ามาช่วยมองปัญหาเรื่องความยุติธรรม ช่วยกันคิดช่วยกันแก้ไข เราอาจจะต้องดูทั้งตัวกฎหมาย การบังคับใช้กฎหมาย หรือระบบการบริหารจัดการต่างๆ แต่ในที่สุด เราต้องวางปรัชญาแนวคิดเรื่องหลักนิติธรรมให้ได้ ซึ่งจะโยงกับเรื่องประชาธิปไตยและธรรมาภิบาล นี่เป็นโจทย์ที่พูดแล้วอาจจะทำให้รู้สึกเหนื่อยกัน แต่เราจำเป็นต้องคิดถึงเรื่องนี้

ถึงวันนี้ผมยังไม่ท้อ และยังเห็นความหวังอยู่เสมอ

 


ผลงานชิ้นนี้เป็นส่วนหนึ่งของความร่วมมือระหว่าง สถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย (TIJ) และ The101.world

MOST READ

Spotlights

14 Aug 2018

เปิดตา ‘ตีหม้อ’ – สำรวจตลาดโสเภณีคลองหลอด

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย พาไปสำรวจ ‘คลองหลอด’ แหล่งค้าประเวณีใจกลางย่านเมืองเก่า เปิดปูมหลังชีวิตหญิงค้าบริการ พร้อมตีแผ่แง่มุมเทาๆ ของอาชีพนี้ที่ถูกซุกไว้ใต้พรมมาเนิ่นนาน

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Aug 2018

Social Issues

9 Oct 2023

เด็กจุฬาฯ รวยกว่าคนทั้งประเทศจริงไหม?

ร่วมหาคำตอบจากคำพูดที่ว่า “เด็กจุฬาฯ เป็นเด็กบ้านรวย” ผ่านแบบสำรวจฐานะทางเศรษฐกิจ สังคม และความเหลื่อมล้ำ ในนิสิตจุฬาฯ ปี 1 ปีการศึกษา 2566

เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล

9 Oct 2023

Social Issues

5 Jan 2023

คู่มือ ‘ขายวิญญาณ’ เพื่อตำแหน่งวิชาการในมหาวิทยาลัย

สมชาย ปรีชาศิลปกุล เขียนถึง 4 ประเด็นที่พึงตระหนักของผู้ขอตำแหน่งวิชาการ จากประสบการณ์มากกว่าทศวรรษในกระบวนการขอตำแหน่งทางวิชาการในสถาบันการศึกษา

สมชาย ปรีชาศิลปกุล

5 Jan 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save