fbpx
เปิดห้องเรียน BAScii: หลักสูตรที่ผู้เรียนร่วมออกแบบความยุติธรรมได้

เปิดห้องเรียน BAScii: หลักสูตรที่ผู้เรียนร่วมออกแบบความยุติธรรมได้

กานต์ธีรา ภูริวิกรัย เรื่อง

สถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย (TIJ) ภาพ

 

ในช่วงหลายปีมานี้ ประเด็นระดับโลกที่ได้รับการพูดถึงกันมากคือ การปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4 และความก้าวหน้าของเทคโนโลยีที่จะเข้ามาเขย่าโลกในทุกมิติ ทำให้ทุกภาคส่วนต้องปรับตัวอย่างรวดเร็วและเท่าทัน เพื่อจะได้ไม่เดินตกขบวนโลกอนาคต

หนึ่งในภาคส่วนที่ได้รับผลกระทบและต้องปรับตัวคือ ‘ภาคการศึกษา’ มหาวิทยาลัยหลายแห่งเริ่มเปิดหลักสูตรเพื่อตอบรับกระแสโลกดิจิทัล ที่ต้องการบัณฑิตยุคใหม่ที่เรียนรู้ศาสตร์หลายแขนง และสามารถบูรณาการทั้งวิทยาศาสตร์และศิลปศาสตร์เข้าด้วยกัน โดยไม่ละทิ้งความสำคัญของสังคมศาสตร์ เพื่อให้เกิดการพัฒนาในทุกมิติอย่างรอบด้าน

จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเป็นหนึ่งในมหาวิทยาลัยที่เตรียมพร้อมรับกับคลื่นความเปลี่ยนแปลงในครั้งนี้ โดยตั้ง ‘สถาบันนวัตกรรมบูรณาการแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย’ (Chulalongkorn School of Integrated Innovation: ScII) ขึ้น และได้เปิดหลักสูตรปริญญาตรีที่เน้นการศึกษาข้ามศาสตร์ คือ หลักสูตรศิลปศาสตรและวิทยาศาสตรบัณฑิต สาขาวิชานวัตกรรมบูรณาการ (หลักสูตรนานาชาติ) (Bachelor Degree of Arts and Science in Integrated Innovation – BAScii) ซึ่งเริ่มทำการเรียนการสอนภาคการศึกษาแรกในปี 2562 ที่ผ่านมา

หลักสูตร BAScii มีการจัดการเรียนการสอนในหลายแขนง ให้การศึกษาแบบข้ามศาสตร์ (transdisciplinary) รวมถึงมีการเรียนรู้แบบ project-based จึงจำเป็นที่สถาบันฯ จะต้องมีความร่วมมือกับหลากหลายคณะและหน่วยงานภายนอกด้วย หนึ่งในหน่วยงานที่ได้เข้ามาร่วมมือกับสถาบันฯ คือ สถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย (TIJ) ที่เข้ามาร่วมออกแบบและจัดการเรียนการสอนในรายวิชา Rethinking Justice in the 21st Century ให้กับนิสิตชั้นปีที่ 1 เพื่อให้พวกเขาได้เรียนรู้ สัมผัส และทำความเข้าใจกับคนกลุ่มเปราะบางหรือคนชายขอบในสังคม รวมถึงหาวิธีต่อยอดเพื่อเปลี่ยนแปลงสังคมให้ดีขึ้น

101 ชวนคุณเปิดห้องเรียน BAScii ผ่านบทสนทนาด้านล่าง ไล่เรียงตั้งแต่ที่มาที่ไปของสถาบันฯ และหลักสูตร BAScii รวมถึงการพูดคุยถึงความร่วมมือระหว่างสถาบันฯ กับ TIJ ที่เปิดโอกาสให้นิสิตได้เข้ามาร่วม ‘ออกแบบ’ ความยุติธรรมที่เป็นของทุกคน

 

เพราะโลกเปลี่ยนไป มหาวิทยาลัยจึงต้องเปลี่ยนแปลง

 

ศาสตราจารย์ ดร.วรศักดิ์ กนกนุกุลชัย
ศาสตราจารย์ ดร.วรศักดิ์ กนกนุกุลชัย

 

“ทศวรรษที่ผ่านมาถือเป็นช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อในการเปลี่ยนแปลงของโลก เราเห็นนวัตกรรมใหม่ๆ ทางเทคโนโลยีที่จะส่งผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตของมนุษย์ แต่สถาบันการศึกษาที่ควรเป็นเสาหลักของการพัฒนาประเทศกลับยังใช้ระบบแบบเก่า คือให้เด็กวัยเรียนเก็บสะสมความรู้ และนำไปใช้ในการทำงานจนกระทั่งเกษียณ ซึ่งไม่ตอบโจทย์โลกปัจจุบันแต่อย่างใด”

ศาสตราจารย์ ดร.วรศักดิ์ กนกนุกุลชัย ผู้อำนวยการสถาบันนวัตกรรมบูรณาการแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เกริ่นให้เห็นถึงปัญหาของระบบการศึกษาที่ไม่ค่อยปรับตัวและเปลี่ยนแปลงให้เท่าทันโลก สำหรับดร.วรศักดิ์แล้ว เขาเปรียบมหาวิทยาลัยปัจจุบันเป็นเหมือนถังไซโลหลายใบที่ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกัน บัณฑิตที่จบมาก็สนใจเฉพาะศาสตร์ของตัวเอง แต่ไม่อาจบูรณาการหรือจัดการกับความรู้ในหลายสาขาที่เกี่ยวพันกันได้

“มหาวิทยาลัยต่างๆ ทั่วโลก กำลังปรับเปลี่ยนรูปแบบให้เหมาะสมกับโลกดิจิทัลเพื่อให้ตัวเองคงบทบาทสำคัญได้ แต่การเปลี่ยนแปลงจะได้ผลต่อเมื่อเราเปลี่ยนแปลงในองค์รวม ตั้งแต่วัฒนธรรมและโครงสร้างขององค์กร กระบวนการทำงาน ไปจนถึง mindset ของผู้ที่เกี่ยวข้องในองค์กรด้วย”

เพื่อพร้อมรับพายุแห่งการเปลี่ยนแปลง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยจึงใช้วิธีที่เรียกว่า Speedboat Model ที่มีทั้งความคล่องตัวและความรวดเร็ว คือการตั้งหน่วยงานที่เป็นอิสระจากคณะต่างๆ และให้อิสระในการจัดการเรียนการสอน จึงเกิดเป็นสถาบันนวัตกรรมบูรณาการแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยขึ้น พร้อมทั้งเปิดหลักสูตรปริญญาตรีคือ BAScii ขึ้นมา

ดร.วรศักดิ์กล่าวว่า เป้าหมายสูงสุดของการตั้งสถาบันฯ คือ การสร้างบัณฑิตพันธุ์ใหม่ เพื่อตอบสนองความต้องการของโลกแห่งอนาคต มีทักษะทั้งในเรื่องเทคโนโลยี ธุรกิจ STEM และศิลปศาสตร์ รวมถึงได้มีโอกาสพัฒนาทักษะทางด้านการหาความรู้ (hard skill) และทักษะด้านจิตใจอารมณ์ (soft skill) ด้วย

“เราหวังว่า บัณฑิตพันธุ์ใหม่ของเราจะเป็นพลเมืองโลก (global citizen) ที่สามารถทำงานร่วมกับคนจากทุกมุมโลกได้ และเป็นบุคคลที่สมบูรณ์ (full person) ที่มีความรับผิดชอบต่อโลก มีความรู้ทางเทคโนโลยี ทางธุรกิจ รวมถึงความรู้พื้นฐานต่างๆ ที่ครอบคลุม และสามารถเผชิญกับโลกที่เปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลา” ดร.วรศักดิ์ปิดท้าย

 

ออกแบบความยุติธรรมของทุกคน ด้วยแนวคิด Design Thinking

 

จากที่หลักสูตร BAScii เน้นการศึกษาแบบข้ามศาสตร์ จึงจำเป็นที่สถาบันฯ จะต้องร่วมมือกับคณะอื่น และเชิญกลุ่มอาจารย์พิเศษผู้เชี่ยวชาญด้านต่างๆ เข้ามาร่วมสอนและเป็นพี่เลี้ยง (mentor) ให้กับนิสิตของสถาบันฯ

หนึ่งในหน่วยงานที่ได้ทำงานร่วมกับหลักสูตร BAScii คือสถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย (TIJ) ที่ได้ร่วมออกแบบการเรียนการสอนให้กับนิสิตชั้นปีที่ 1 ในรายวิชา Rethinking Justice in the 21st Century เพื่อให้นิสิตได้มีโอกาสเรียนรู้ และนำเสนอมุมมองเรื่องความยุติธรรมของสังคมในหลากหลายมิติ

“จุดเริ่มต้นของการทำงานร่วมกันคือ รองศาสตราจารย์ ดร.ณัฐชา ทวีแสงสกุลไทย รองอธิการบดี กำกับดูแลด้านการพัฒนางานใหม่และงานนวัตกรรม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เห็นความสำคัญของการเรียนรู้เรื่องความยุติธรรม และการทำความเข้าใจสังคมในทุกมิติ โดยเฉพาะกับกลุ่มคนที่มีความเปราะบาง ทางสถาบันฯ จึงได้พูดคุยกับ TIJ ซึ่งสอดคล้องกับความต้องการของเรา ที่อยากทำกิจกรรมให้เยาวชนเปลี่ยน mindset และมีความเข้าอกเข้าใจเรื่องความยุติธรรมมากขึ้น (justice minded)”

 

กันต์รวี กิตยารักษ์ (ภาพโดย ปนัฐ ธนสารช่วงโชติ)
กันต์รวี กิตยารักษ์ (ภาพโดย ปนัฐ ธนสารช่วงโชติ)

 

กันต์รวี กิตยารักษ์ ผู้สอนและร่วมออกแบบรายวิชาจากสถาบัน TIJ กล่าวนำ พร้อมทั้งอธิบายเพิ่มเติมว่า ด้วยความที่หลักสูตร BAScii เน้นความเป็นผู้ประกอบการ นวัตกรรม และเทคโนโลยี ซึ่งอาจจะฟังดูไม่ได้เกี่ยวข้องกับความยุติธรรมหรือกฎหมายเท่าไหร่นัก นิสิตส่วนหนึ่งจึงอาจจะเห็นเรื่องเหล่านี้เป็นเรื่องไกลตัว ทำให้กันต์รวีและทีมต้องช่วยกันระดมสมองว่า จะทำอย่างไรให้นิสิตรู้สึกว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญ ใกล้ตัว และอยากมีส่วนช่วยให้ดีขึ้น

“พอเราตั้งต้นแบบนี้ ตัวรายวิชาเลยแบ่งออกเป็นสองส่วนหลักๆ หนึ่งคือการให้ความรู้พื้นฐาน หรือเปิดมุมมองให้เขารู้สึกว่า ความยุติธรรมอยู่ในชีวิตของเขา โดยเชิญวิทยากรภายนอกมาเล่าประสบการณ์ให้ฟัง และสองคือ ทำให้เขาได้ลงมาสัมผัสหรือรู้สึกกับความอยุติธรรมที่เกิดขึ้นในสังคม จนเขาอยากมีส่วนช่วยในการแก้ปัญหานี้ด้วย ผ่านกระบวนการคิดเชิงออกแบบ (design thinking) กับการเรียนรู้แบบ project-based”

 

ปริชา ดวงทวีทรัพย์

 

ขณะที่ ปริชา ดวงทวีทรัพย์ Design strategist and partner บริษัท Amplifi design และวิทยากรที่ร่วมสอนในรายวิชาดังกล่าว อธิบายเรื่องกระบวนการคิดเชิงออกแบบเพิ่มเติมว่า การนำกระบวนการนี้มาใช้จะตั้งต้นที่ความต้องการของมนุษย์ คือลองให้โจทย์นิสิตไปศึกษาเกี่ยวกับความยุติธรรมรอบรั้วจุฬาฯ จึงเกิดเป็นโครงการ ‘Just จุฬา’ ขึ้นมา

“Just ในที่นี้มีสองความหมาย ความหมายแรกคือยุติธรรม และอีกความหมายหนึ่งคือ เราเริ่มจากแค่ตรงนี้ จากสิ่งที่ใกล้ตัวเราก่อน นิสิตจะได้รู้สึกว่า ความยุติธรรมเป็นเรื่องที่ทุกคนสามารถเข้าถึงได้จริงๆ ถ้าเขาลองฟัง และลองคุยกับคนรอบๆ ตัว”

‘Just จุฬา’ จะพูดถึงประเด็นความยุติธรรม 6 ประเด็นหลักๆ ได้แก่ ความเหลื่อมล้ำ เพศสภาพ สิ่งแวดล้อม เทคโนโลยี คอร์รัปชันกับวัฒนธรรม และธุรกิจ ซึ่งจะให้นิสิตจับกลุ่มกันประมาณ 6-7 คน เพื่อจะได้ทำงานกันอย่างทั่วถึง จากนั้นจึงให้แต่ละกลุ่มเลือกประเด็นที่สนใจ และลงพื้นที่ไปสัมภาษณ์คนในกลุ่มนั้นๆ เช่น ถ้าสนใจเรื่องของคนไร้บ้าน ก็จะได้ลงพื้นที่ไปสัมภาษณ์คนไร้บ้านจริง และนำมาจัดแสดงเป็นงานนิทรรศการเสมือนจริง (immersive exhibition) ในตอนท้ายของภาคการศึกษา

“เราเห็นว่าเขาผ่านการนำเสนอหน้าห้องกันมาเยอะแล้ว เลยอยากเปลี่ยนจากการนำเสนอหน้าห้องปกติมาแสดงให้คนอื่นเห็นว่า กลุ่มเปราะบางหรือคนชายขอบที่เขาได้ลงไปคุยด้วยรู้สึกอย่างไร เราเลยให้ห้องเปล่าๆ เขาไปห้องหนึ่ง มีตารางไว้ บอกว่าคุณมีโต๊ะสองตัวนะ แล้วจะทำอะไรก็ได้ คือทำอะไรก็ได้จริงๆ ให้คนอื่นเข้าใจว่า คุณไปเจออะไรมา บางคนทำโต๊ะขายก๋วยเตี๋ยว บางคนจัดให้เป็นที่นอนของคนไร้บ้าน เราต้องการผลักดันให้เขาทำอะไรแปลกใหม่ แต่สิ่งสำคัญที่สุดคือ อยากรู้ว่านิสิตเข้าใจชีวิตของคนที่เขาไปคุยมาหรือเปล่า”

 

ปริชา ดวงทวีทรัพย์
ปริชา ดวงทวีทรัพย์

 

อย่างไรก็ดี กันต์รวียอมรับว่า ในตอนแรก มีนิสิตหลายคนที่อาจจะสงสัยว่า ทำไมตนเองต้องเรียนวิชานี้ แต่เมื่อได้เรียนและทำกิจกรรมทั้งหมดแล้ว เธอเผยว่า “นิสิตหลายคนเข้าใจเรื่องความเป็นมนุษย์มากขึ้น คือจริงๆ แล้วมนุษย์ทุกคน ไม่ว่าจะเป็นคนไร้บ้านหรือคนรวยหมื่นล้าน เขาก็ไม่ได้ต่างกันขนาดนั้น เวลารู้สึกไม่แฟร์หรือเจ็บปวด มันเป็นความรู้สึกที่ทุกคนเข้าใจได้เหมือนกัน ตรงนี้เป็นอะไรที่นิสิตจะสัมผัสได้ และอยากทำอะไรเพื่อเปลี่ยนแปลงมัน”

ทางด้านปริชา เขาได้แบ่งปันประสบการณ์ที่ตนเองประทับใจจากนิสิตว่า “มีนิสิตกลุ่มหนึ่งมาปรึกษาเราว่า ตัวเขาใช้บริการมอเตอร์ไซค์รับจ้างมาตลอด ครั้งละ 20 บาท จู่ๆ มาวันหนึ่ง มอเตอร์ไซค์ขึ้นราคาเป็น 30-40 บาท เขาก็ตกใจ คือเขามองตัวเองจากมุมมองของผู้ใช้บริการมาตลอด แต่พอได้ไปคุยกับคนขับจริงๆ ถึงรู้ว่า ธุรกิจมันเปลี่ยนแปลงไปยังไง ตอนนี้คนมักจะใช้บริการ Grab มากกว่า พอเห็นแบบนี้ เขาก็เริ่มเข้าใจมากขึ้นแล้วว่า คนอื่นลำบากขนาดไหน”

“มันเหมือนว่าเขาได้เห็นโลกในอีกมุมหนึ่ง และเข้าใจมากขึ้นว่าทำไมคนอื่นถึงทำแบบนี้ เข้าใจว่าทุกอย่างที่เกิดก็มีเหตุผลของมัน”

 

กิจกรรมของ BAScii

 

หลักสูตร BAScii ยังเป็นหลักสูตรที่เน้นทักษะการเป็นผู้ประกอบการด้วย กันต์รวีจึงมองว่า เมื่อนิสิตเติบโตไปและได้เป็นผู้ประกอบการจริงๆ เขาจะคำนึงอยู่เสมอว่า ไม่ว่าจะทำอะไร ทุกอย่างล้วนส่งผลกระทบกับทุกส่วนของสังคมเสมอ “ถ้าเรื่องพวกนี้ติดอยู่ในใจของเขา ในอนาคตข้างหน้า ไม่ว่าเขาจะตัดสินใจทำอะไร เราหวังว่าเขาจะคิดไปไกลกว่าเรื่องกำไร คือคิดไปถึงว่ามันกระทบกับสังคมอย่างไร คนยากไร้กว่าเขาต้องเสียประโยชน์มากแค่ไหน เราหวังว่าความคิดที่ติดอยู่ในใจเขาวันนี้จะส่งผลต่อการตัดสินใจของเขาในอนาคต เมื่อเขาได้เป็นผู้ประกอบการแล้ว”

“การแก้ปัญหาเรื่องความยุติธรรมที่ดีที่สุดไม่ใช่แก้หลังจากเกิดเรื่องไปแล้ว แต่คือการป้องกันก่อนหน้าที่มันจะเกิด ซึ่งการป้องกันจะเป็นหน้าที่ของสังคม คำถามคือ เราจะทำอย่างไรให้โครงสร้างทางสังคมโอบอุ้มกลุ่มคนเปราะบาง ทำให้เราคิดถึงและตระหนักว่าการกระทำของเราจะส่งผลกับคนอื่นอย่างไร เราหวังว่านิสิตในคลาสนี้จะเติบโตไปเป็นคนที่มีมุมมองกว้างกว่าเรื่องกำไรหรือขาดทุน”

ขณะที่ รองศาสตราจารย์ ดร.ณัฐชา ทวีแสงสกุลไทย กล่าวว่า “อาจารย์เชื่อว่า เรื่องของความยุติธรรมเป็นพื้นฐานของการอยู่ในสังคมอย่างมีความสุข หรือถ้ามองผ่านมุมมองของการทำธุรกิจ ความยุติธรรม ความเท่าเทียม และความโปร่งใส ย่อมเป็นปัจจัยที่ทำให้ธุรกิจประสบความสำเร็จ TIJ จึงเข้ามาช่วยในเรื่องนี้ ยื่นโจทย์ให้นิสิตได้ลองทำเรื่องความยุติธรรม ดูว่าเรื่องอะไรที่คุณเห็นว่า มันไม่เท่าเทียมกันในสังคม แล้วคุณจะแก้ปัญหาอย่างไร จึงเป็นที่มาของรายวิชานี้”

“ในการทำธุรกิจ บางครั้งเราอาจจะมุ่งเน้นเรื่องธุรกิจ กำไร รายได้ มากเกินไปจนลงหลงลืมมิติตรงนี้ แต่สุดท้าย ธุรกิจจะต้องกลับเข้ามาสู่สังคมอยู่ดี เพราะฉะนั้น ถ้าเราให้นิสิตได้เห็นโจทย์ทางสังคมตั้งแต่แรก เขาจะเริ่มคิดต่อว่า จะทำธุรกิจอะไรที่ไม่ได้มุ่งเน้นแต่เรื่องกำไร แต่คิดถึงสังคมด้วย”

“หลังจากที่นิสิตได้เรียนรายวิชานี้แล้ว อาจารย์เห็นว่า โลกของเขากว้างขึ้น เขาได้เห็นสิ่งที่ตนเองไม่เคยเห็น เช่น เห็นว่าคนที่ด้อยโอกาส หรือทุพพลภาพเป็นอย่างไร หรือแม้กระทั่งเห็นว่า คนที่เคยทำผิดพลาดในอดีตกลับมาใช้ชีวิตในสังคมได้อย่างไร และนิสิตยังจะได้เริ่มคิดว่า เขาไม่ได้ทำเพื่อกำไรอย่างเดียว แต่ทำเพื่อสังคมด้วย จึงจะเริ่มหาวิธีสร้างสมดุลระหว่างสองสิ่งนี้”

สำหรับการต่อยอดในอนาคต ดร.ณัฐชากล่าวว่า การต่อยอดขึ้นอยู่กับนิสิตในแต่ละกลุ่มเอง เช่น บางกลุ่มต่อยอดเรื่องความยั่งยืน (sustainability) ในเรื่อง zero-waste โดยมีแนวคิดว่า ความยุติธรรมคือการไม่ทิ้งภาระให้กับสังคม ซึ่งณัฐชามองว่า สิ่งที่สำคัญที่สุดคือการ “ตั้งคำถามที่ถูกต้อง และถามคำถามที่ถูกถาม”

“อาจารย์ว่า เป้าหมายสูงสุดของการเรียนไม่ใช่เกรดหรือได้ใบปริญญา แต่เป็นการเติมเต็มชีวิต (life fulfillment) และรู้สึกว่า ตัวเองได้สร้างประโยชน์ให้คนอื่น เราอยากให้นิสิตได้สัมผัสและได้ทดลองจริงตั้งแต่รั้วมหาวิทยาลัย ให้เขารู้ว่า ความสุขที่แท้จริงไม่ใช่การได้เกรดสูงๆ หรือได้เงินเยอะๆ แต่เป็นความสุขที่ได้จากการสร้างประโยชน์สุขให้คนอื่นต่างหาก” ดร.ณัฐชาปิดท้าย

 

รองศาสตราจารย์ ดร.ณัฐชา ทวีแสงสกุลไทย

 

สัมผัส เรียนรู้ และเข้าใจ: เมื่อความยุติธรรมไม่ได้ไกลตัวอย่างที่คิด

 

“ตอนแรก เราเข้าใจว่าเรื่องความยุติธรรมเกี่ยวกับกฎหมายเป็นหลัก แต่พอได้มาเรียนตรงนี้จึงรู้ว่า จริงๆ แล้ว ความยุติธรรมเกี่ยวกับทุกอย่างรอบตัวเราหมดเลย”

จิดาภา แซ่เจี่ย หนึ่งในนิสิตที่ได้เรียนรายวิชาดังกล่าวเล่าให้ฟัง โดยกลุ่มของจิดาภาเลือกทำประเด็นเรื่อง ‘ความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา’ ระหว่างคนที่มีร่างกายปกติกับคนทุพพลภาพ ซึ่งกลุ่มของเธอได้มีโอกาสสัมภาษณ์คนทุพพลภาพที่กำลังศึกษาอยู่หรือจบการศึกษาแล้วเกี่ยวกับการศึกษาที่ผ่านมา และการสนับสนุนของสถานศึกษาต่อคนทุพพลภาพ

“เสียงส่วนใหญ่จากพวกเขาคือ มหาวิทยาลัยไม่ได้สนับสนุนอะไรขนาดนั้น สาธารณูปโภคก็ไม่ได้ดีมาก คือถึงขนาดเขามีศักยภาพพอจะสอบเข้ามาได้ แต่ก็ไม่ได้รับการสนับสนุนเท่าที่ควร มีคนหนึ่งที่เราไปสัมภาษณ์บอกว่า เขาสอบติดแล้ว แต่มหาวิทยาลัยกลับบอกว่า ทางมหาวิทยาลัยไม่มีสิ่งที่จะสนับสนุนเขาได้ ลองเลือกเรียนที่อื่นไหม แบบนี้ก็มีเหมือนกัน หลายคนก็บอกว่า เขาเรียนจบได้เพราะครอบครัวและเพื่อน ขณะที่มหาวิทยาลัยมีส่วนสนับสนุนน้อยมาก”

หลังจากจัดแสดงนิทรรศการในชั้นเรียนเสร็จแล้ว จิดาภาเล่าต่อว่า สมาชิกบางส่วนในกลุ่มของเธออยากต่อยอดเรื่องนี้ จึงได้ทำโครงการย่อยกับชมรม Design for Thailand โดยได้สัมภาษณ์นิสิตทุพพลภาพในจุฬาฯ เพิ่มเติม จากนั้นจึงทำไวรัลวิดิโอตามมาเพื่อแสดงให้เห็นว่า คนทุพพลภาพที่ใช้ชีวิตในจุฬาฯ ต้องเจอกับอะไรบ้าง เพื่อสร้างความตระหนักให้กับคนอื่น จากนั้นจึงสร้างทีมเพื่อทำแผนที่ที่เป็นมิตรกับคนทุพพลภาพ คือเก็บข้อมูลว่า ตรงไหนที่พวกเขาสามารถเข้าถึงได้บ้าง และจะขยายผลไปในบริเวณรอบๆ ต่อไป

 

ภาพจาก จิดาภา แซ่เจี่ย

 

ขณะที่ ชวิน วิริยะโสภณ นิสิตอีกหนึ่งคนได้แบ่งปันประสบการณ์ของเขาที่เลือกทำเรื่องการถูกคุกคามทางเพศ (sexual harassment) โดยเน้นไปที่การหาเครื่องมือป้องกันไม่ให้เกิดเหตุการณ์นี้ขึ้น

“กลุ่มผมพยายามคิดระบบเพื่อช่วยเหลือคนที่ถูกคุกคามทางเพศให้สามารถเอาตัวรอดจากสถานการณ์นั้นได้ง่ายขึ้น โดยทำเป็นระบบ S.O.S ที่พอกดปุ่มแล้วจะส่งสัญญาณขอความช่วยเหลือไปยังหน่วยรักษาความปลอดภัยหรือโรงพยาบาลในพื้นที่”

“อนาคต เราตั้งใจจะขยายผลเป็นการสร้างชุมชน (community) สำหรับคนที่อยากช่วยแก้ปัญหาตรงนี้ หาคนที่เต็มใจมาเป็นอาสาสมัครคอยช่วยเหลือ คือถ้าคนที่โดนคุกคามกดปุ่มขอความช่วยเหลือ ก็จะมีการแจ้งเตือนไปยังโทรศัพท์ของอาสาสมัคร เพื่อที่อาสาสมัครจะไปช่วยเขาได้ทันเวลา”

จากที่ได้สัมผัสและเรียนรู้เรื่องราวจากพื้นที่จริง ทั้งจิดาภาและชวินเห็นตรงกันว่า ความยุติธรรมเป็นเรื่องของทุกคน และการเรียนรวมถึงต่อยอดในรายวิชานี้จะเป็นหนึ่งกระบอกเสียงที่ทำให้ทุกคนเห็นว่า ยังมีมุมที่เกิดความอยุติธรรมขึ้นอยู่ และเราทุกคนสามารถเข้ามาช่วยแก้ปัญหาได้

“ผมมองว่าเดี๋ยวนี้เรามีสื่อ social media อยู่ในมือแล้ว มันเลยง่ายมาก ถ้าเราจะช่วยสร้างความตระหนักถึงเรื่องความอยุติธรรมที่เกิดขึ้นให้คนภายนอกได้รับรู้ เช่น ถ้าเราเจอเรื่องที่ไม่ถูกต้อง เราก็สามารถเผยแพร่ลง social media ได้ มันคือการสร้างความสำนึกว่า เราทุกคนมีส่วนช่วยในการสร้างความยุติธรรมได้ เราช่วยส่งเสียงถึงคนที่มีอำนาจหรือผู้บริหาร ให้เขาเห็นได้ว่า มันมีปัญหาตรงนี้อยู่ และเราต้องมาช่วยกันแก้ไข” ชวินปิดท้าย

 


ผลงานชิ้นนี้เป็นส่วนหนึ่งของความร่วมมือระหว่าง สถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย (TIJ) และ The101.world

MOST READ

Social Issues

9 Oct 2023

เด็กจุฬาฯ รวยกว่าคนทั้งประเทศจริงไหม?

ร่วมหาคำตอบจากคำพูดที่ว่า “เด็กจุฬาฯ เป็นเด็กบ้านรวย” ผ่านแบบสำรวจฐานะทางเศรษฐกิจ สังคม และความเหลื่อมล้ำ ในนิสิตจุฬาฯ ปี 1 ปีการศึกษา 2566

เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล

9 Oct 2023

Social Issues

5 Jan 2023

คู่มือ ‘ขายวิญญาณ’ เพื่อตำแหน่งวิชาการในมหาวิทยาลัย

สมชาย ปรีชาศิลปกุล เขียนถึง 4 ประเด็นที่พึงตระหนักของผู้ขอตำแหน่งวิชาการ จากประสบการณ์มากกว่าทศวรรษในกระบวนการขอตำแหน่งทางวิชาการในสถาบันการศึกษา

สมชาย ปรีชาศิลปกุล

5 Jan 2023

Social Issues

27 Aug 2018

เส้นทางที่เลือกไม่ได้ ของ ‘ผู้ชายขายตัว’

วรุตม์ พงศ์พิพัฒน์ พาไปสำรวจโลกของ ‘ผู้ชายขายบริการ’ ในย่านสีลมและพื้นที่ใกล้เคียง เปิดปูมหลังชีวิตของพนักงานบริการในร้านนวด ร้านคาราโอเกะ ไปจนถึงบาร์อะโกโก้ พร้อมตีแผ่แง่มุมลับๆ ที่ยากจะเข้าถึง

กองบรรณาธิการ

27 Aug 2018

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save