fbpx
โลกยุคใหม่ที่ ‘ความยุติธรรม’ เป็นของทุกคน : อณูวรรณ วงศ์พิเชษฐ์ และ มุทิตา เลิศลักษณาพร

โลกยุคใหม่ที่ ‘ความยุติธรรม’ เป็นของทุกคน : อณูวรรณ วงศ์พิเชษฐ์ และ มุทิตา เลิศลักษณาพร

กานต์ธีรา ภูริวิกรัย เรื่อง

กมลชนก คัชมาตย์ ภาพ

 

“ความยุติธรรมเป็นเรื่องของทุกคน และทุกคนสามารถเข้ามาร่วมสร้างความเปลี่ยนแปลงได้”

ข้างต้นคือแนวคิดหลักที่เราได้รับตลอดการสนทนากับ ดร.อณูวรรณ วงศ์พิเชษฐ์ และ มุทิตา เลิศลักษณาพร จากสถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย (TIJ) หนึ่งในหน่วยงานที่มีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม รวมถึงส่งเสริมหลักนิติธรรมและความเป็นธรรมในสังคมไทย

เมื่อพูดถึงเรื่องในกระบวนการยุติธรรม หลายคนคงมองว่าเป็นเรื่องที่ยาก ซับซ้อน หรือเป็นเรื่องของคนในกระบวนการยุติธรรมเท่านั้น แต่ดร.อณูวรรณและมุทิตาต่างยืนยันว่า เรื่องความยุติธรรมเป็นเรื่องที่ไปไกลกว่านิติศาสตร์ เป็นเรื่องที่ใกล้ตัวคน และต้องอาศัยความรู้ความเข้าใจจากหลายภาคส่วนเพื่อเข้ามาปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม และเปลี่ยนแปลงสังคมให้ดีขึ้น โดยเฉพาะในยุคปัจจุบันที่เทคโนโลยีเข้ามามีบทบาทในทุกภาคส่วน และเปิดโอกาสให้คนนอกกระบวนการยุติธรรมเข้ามามีส่วนร่วมได้มากขึ้น

หนึ่งในความพยายามของ TIJ ในการขับเคลื่อนเรื่องกระบวนการยุติธรรมคือ การเปิดหลักสูตร RoLD (TIJ Executive Program on Rule of Law and Development) ที่มีวัตถุประสงค์มุ่งสร้างองค์ความรู้ด้านหลักนิติธรรมและเครือข่ายความร่วมมือที่เข้มแข็งจากบุคลากรในหลากหลายวิชาชีพ โดยหลักสูตรดังกล่าวได้เริ่มต้นในปี 2560-2562 มีผู้เข้าร่วม RoLD ทั้งหมด 3 รุ่น รวมทั้งหมด 200 กว่าคน และมีการขยายผลไปสู่โครงการอื่นๆ ทั้งในระดับประเทศและระหว่างประเทศต่อไป

101 สนทนากับ ดร.อณูวรรณ วงศ์พิเชษฐ์ รองผู้อำนวยการสถาบัน TIJ และรักษาการผู้อำนวยการสำนักยุทธศาสตร์และแผน ร่วมด้วย มุทิตา เลิศลักษณาพร ผู้จัดการโครงการพัฒนาเครือข่ายองค์กร เกี่ยวกับโลกยุคใหม่ที่ ‘ความยุติธรรม’ เป็นเรื่องของทุกคน ที่มาที่ไปและโครงการที่น่าสนใจจากหลักสูตร RoLD ที่ดึงเอาคนจากทุกภาคส่วนเข้ามามีส่วนร่วม และการต่อยอด รวมถึงความท้าทายของโครงการในอนาคต

 

ดร.อณูวรรณ วงศ์พิเชษฐ์ (ซ้าย) และ มุทิตา เลิศลักษณาพร (ขวา)
ดร.อณูวรรณ วงศ์พิเชษฐ์ (ซ้าย) และ มุทิตา เลิศลักษณาพร (ขวา)

 

คุณทำงานเกี่ยวกับกระบวนการยุติธรรมมานาน คิดว่ากระบวนการยุติธรรมที่ผ่านมาเป็นอย่างไร มีอะไรที่เราควรปรับแก้ไหม

ดร.อณูวรรณ: สิ่งที่เราเห็นในช่วงที่ผ่านมาคือ กระบวนการยุติธรรมยังมีช่องว่าง (gap) มหาศาลในสังคม เพราะองค์กรที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการยุติธรรมหลายองค์กรก็มีอายุเป็นร้อยปี อีกทั้งยังมีปัญหาเรื่องที่แต่ละหน่วยงานไม่ได้ทำงานแบบบูรณาการร่วมกันเท่าที่ควร เพราะทุกคนก็มีภารกิจตามกฎหมายของตัวเองอยู่ชัดเจน การทำงานแบบนี้เลยเป็นการทำงานแบบไซโล แยกกันทำงาน เป็น function-based ค่อนข้างชัดเจน

เพราะฉะนั้น ถ้าเราคาดหวังให้กระบวนการยุติธรรมตอบโจทย์ประชาชนในแง่ของความเป็นธรรม เราอาจจะต้องมองข้ามเรื่องกระบวนการที่เป็นการทำงานแบบส่งต่อกัน แต่เป็นกระบวนการแบบที่มีประชาชนเป็นศูนย์กลางแทน

 

คุณพูดถึงเรื่องกระบวนการยุติธรรมที่มี ‘ประชาชนเป็นศูนย์กลาง’ อยากชวนให้ขยายความคำนี้ แล้วนอกจากเรื่องนี้ ยังมีเทรนด์หรือความรู้อะไรใหม่ๆ ที่เราสามารถนำมาปรับใช้ในกระบวนการยุติธรรมได้อีกไหม 

ดร.อณูวรรณ: ในปัจจุบันนี้ แวดวงกระบวนการยุติธรรมเริ่มพูดเรื่องประชาชนเป็นศูนย์กลาง (people-centric) หรือความยุติธรรมที่เป็นมิตรกับประชาชน (user-friendly justice) มากขึ้น ซึ่งเป็นการปรับให้คนนอกกระบวนการยุติธรรมได้เข้ามามีส่วนร่วม และให้ความสนใจกระบวนการยุติธรรมมากขึ้น โดยเฉพาะคนจากภาคการเงิน (financial sector) เพราะที่ผ่านมา เราอาจจะยังไม่สามารถทำให้ภาพปัญหาในกระบวนการยุติธรรมเชื่อมไปสู่ภาพใหญ่เรื่องอัตราการเจริญเติบโตของประเทศได้เท่าที่ควร ทรัพยากรในภาคธุรกิจหรือกลุ่มบริษัทเอกชนจึงยังไม่ได้เข้ามาร่วมในกระบวนการยุติธรรมมากนัก เพราะพวกเขาก็มองว่า เรื่องพวกนี้เป็นเรื่องของคนในกระบวนการเป็นหลัก

ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือ เวลาบริษัททำ CSR (Corporate Social Responsibility) จากสถิติที่พบ ส่วนใหญ่จะไปลงทุนในมิติด้านสิ่งแวดล้อม การศึกษา หรือสาธารณสุขเป็นหลัก แต่ถ้าเป็นเรื่องความยุติธรรม จะมีบริษัททั่วโลกแค่ประมาณ 1% ที่มาลงทุนเรื่องนวัตกรรมเพื่อความยุติธรรม (justice innovation) ซึ่งยังเป็นช่องว่างมหาศาลเลย แต่ในปัจจุบันทั่วโลกก็เริ่มหันมาสนใจประเด็นตรงนี้บ้างแล้ว

 

แล้วคุณมองเรื่องการนำนวัตกรรมหรือเทคโนโลยีใหม่ๆ เข้ามาใช้ในกระบวนการยุติธรรมยังไง

ดร.อณูวรรณ: เรื่องเทคโนโลยีเพื่อความยุติธรรม (technology for justice) เป็นสิ่งที่เรามองว่าสามารถเป็น game changer ได้ เหมือนกับที่เทคโนโลยีเคยเข้าไปเปลี่ยนแปลงภาคส่วนอื่นๆ เพราะการแก้ปัญหาโดยใช้เทคโนโลยีจะช่วยให้เราระบุปัญหาได้มากขึ้น

อีกอย่างหนึ่งคือ เราอาจไม่เคยนึกถึงว่า ประชาชนทั่วไปหรือภาคส่วนต่างๆ เขาจะรู้สึกมีพลังและอยากมาช่วยเราแก้ปัญหา ซึ่งเขาก็อาจจะไม่มีโอกาสด้วย แต่วันนี้ โอกาสเปิดขึ้นแล้วจากการ disrupt ของเทคโนโลยี แต่แน่นอนว่าโอกาสก็มาพร้อมกับความท้าทายเช่นเดียวกัน เราจึงต้องเรียนรู้ให้มาก ทั้งจากต่างประเทศ และพยายามปรับให้เข้ากับบริบทของไทยด้วย

 

ดร.อณูวรรณ วงศ์พิเชษฐ์

 

ถ้าบอกว่ายุคนี้คือยุค technology disruption แล้วกระบวนการยุติธรรมได้รับผลกระทบอะไร ต้องปรับตัวและเปลี่ยนแปลงยังไงบ้าง

ดร.อณูวรรณ: เรื่อง technology disruption เป็นเทรนด์ใหญ่ที่เกิดขึ้นและมีผลกระทบในทุกภาคส่วน สำหรับด้านความยุติธรรม เราอาจจะมองได้ว่า การมีเทคโนโลยีเข้ามาจะช่วยอำนวยให้คนเข้าถึงความยุติธรรมได้มากขึ้น เพราะมีการสื่อสารและเผยแพร่เครื่องมือต่างๆ ออกไป รวมถึงเรื่องปัญญาประดิษฐ์ (AI) ที่อาจจะเอื้อให้เกิดการตัดสินใจหรือมีคำพิพากษาต่างๆ เร็วขึ้น แต่อย่าลืมว่าเราต้องตั้งคำถามกับเรื่องจริยธรรม (ethics) ของปัญญาประดิษฐ์ด้วย

อีกมุมหนึ่งซึ่งเป็นภาพที่ใหญ่ไปกว่านั้นคือ เมื่อเกิด disruptive แบบนี้ จะเกิดแพลตฟอร์มใหม่ๆ ในการประกอบอาชีพ กฎระเบียบที่เคยถูกออกแบบจากความเข้าใจเดิม หรือใช้ควบคุมผู้ประกอบการแบบเดิม ก็อาจจะไม่สามารถครอบคลุมแพลตฟอร์มใหม่ๆ แบบนี้ได้ เช่น กรณีของ Uber เพราะฉะนั้น จะเกิดความขัดแย้งและความไม่เป็นธรรมระหว่างผู้ประกอบการรายเก่ากับรายใหม่ทันที กฎหมายจึงจำเป็นต้องเท่าทันและมุ่งไปข้างหน้าเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาในลักษณะนี้

ถ้ามองให้ไกลไปกว่านั้นอีก เราจะเห็นการเกิดอาชญากรรมรูปแบบใหม่ๆ เช่น อาชญากรรมทางไซเบอร์ (cybercrime)  ซึ่งอันนี้นอกจากเชิงกฎหมาย บุคลากรในกระบวนการก็ต้องเข้าใจบริบทที่เกิดขึ้นด้วย ไม่อย่างนั้นเราจะตัดสินใจยังไง จะเริ่มหาข้อมูลหรือสืบสวนตรงไหน นี่เป็นเรื่องใหญ่และช่องว่างที่ใหญ่มากสำหรับบุคลากรไทย

ที่ผ่านมา TIJ เคยจัดการประชุมใหญ่ๆ เกี่ยวกับเรื่องพวกนี้ ทั้งเรื่องอาชญากรรมทางไซเบอร์ หรือเรื่อง cryptocurrency ทำให้เราเห็นเลยว่า เราจำเป็นจะต้องดึงองค์ความรู้ต่างๆ ในระดับสากลเข้ามา เรียนรู้จากกรณีตัวอย่าง ไม่เช่นนั้นเราจะไม่เท่าทัน และพอเราไม่เท่าทันแล้ว สุดท้าย ความไม่เท่าทันก็จะกลายเป็นการสร้างความเหลื่อมล้ำในบางมุม หรือก่อให้เกิดความไม่ยุติธรรมให้กับคนบางกลุ่มทันที

 

ถึงตรงนี้เหมือนจะมีโจทย์ว่า คนในกระบวนการยุติธรรม หรือนักนิติศาสตร์จะต้องทำความเข้าใจและเจอกับคนจากศาสตร์อื่นๆ ด้วย แล้วนักนิติศาสตร์ต้องปรับตัวอย่างไรเมื่อเจอกับศาสตร์อื่น

ดร.อณูวรรณ: เวลาเราพูดถึงเรื่องความยุติธรรม มันไปไกลกว่านิติศาสตร์อยู่แล้ว เพราะคำนี้มีทั้งความเป็นเศรษฐศาสตร์ในแง่ของการจัดสรรทรัพยากร หรือเป็นรัฐศาสตร์ในแง่การสร้างสมดุลอำนาจ ดังนั้น คำว่า ‘ยุติธรรม’ จำเป็นจะต้องดึงหลายๆ ศาสตร์เข้ามา เวลาเราจะตอบโจทย์เรื่องความยุติธรรมให้ประชาชน เราถึงจะเข้าใจว่า ต้องมองมิติไหนบ้าง

เพราะฉะนั้น เมื่อนักนิติศาสตร์มาเจอกับศาสตร์อื่นๆ เขาน่าจะเห็นหลายๆ บริบทประกอบกันไป ทำให้เข้าใจเรื่องต่างๆ ได้ดีขึ้น ซึ่งเรามีความพยายามในการนำเครื่องมือที่เรียกว่า design thinking (กระบวนการคิดเชิงออกแบบ) มาใช้ เพื่อทำให้นักนิติศาสตร์เห็นบริบทจริงๆ ของสังคม เพื่อที่ในอนาคต เขาจะได้อยู่ในตำแหน่งที่สร้างและเอื้อให้เกิดความยุติธรรมกับคนได้มากขึ้น

 

ทาง TIJ มีหลักสูตร RoLD (TIJ Executive Program on Rule of Law and Development)  ซึ่งเป็นโครงการที่คัดเลือกผู้บริหารระดับสูงจากหลายภาคส่วนเข้ามาร่วม หลักสูตรนี้มีที่มาที่ไปยังไง ทำไมเราถึงริเริ่มดึงคนจากภาคส่วนอื่นๆ เข้ามาร่วมอบรมในเรื่องหลักนิติธรรมและการพัฒนา

มุทิตา: เรื่องนี้เริ่มต้นจากสิ่งที่เราเห็นตรงกันคือ กระบวนการยุติธรรมไม่ใช่แค่เรื่องของคนในกระบวนการยุติธรรมเพียงอย่างเดียว เพราะปัญหาในกระบวนการยุติธรรมทุกวันนี้ใกล้ตัวเรามาก กระบวนการยุติธรรมจึงเป็นเรื่องของทุกคน ที่ผ่านมา มีความพยายามปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมมาตลอด แต่สุดท้าย ปัญหาหลายอย่างก็ไม่อาจคลี่คลายได้ แถมยังเกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่า ดังนั้น จึงมีความสำคัญที่จะต้องสร้างความเข้าใจให้คนในภาคส่วนอื่นๆ ได้เข้ามาเรียนรู้และเข้าใจกระบวนการยุติธรรม เข้าใจเรื่องหลักนิติธรรม และรู้ว่าเขาจะสามารถมีบทบาทหน้าที่ในการส่งเสริม ผลักดัน และขับเคลื่อนหลักนิติธรรมไปสู่การพัฒนา และการแก้ปัญหาในอนาคตอย่างไร

ตัวหลักสูตรของเราจะแบ่งออกเป็นหลายส่วน ทั้งภาคทฤษฎีที่เป็นส่วนความรู้ทั่วไปเกี่ยวกับหลักนิติธรรมและกระบวนการยุติธรรม และภาคปฏิบัติที่เราพาเขาไปลงพื้นที่จริงๆ ทั้งในและต่างประเทศ ให้สัมผัสสิ่งที่เกิดขึ้นและความเป็นอยู่จริง เช่น พาไปดูเรือนจำ ให้เขาเห็นปัญหาตั้งแต่ก่อนเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม ไปจนถึงตอนที่ผู้ต้องขังได้รับการปล่อยตัวและกลับคืนสู่สังคมแล้ว เขาจะได้เห็นว่า เรื่องพวกนี้มีผลยังไง และสังคมจะช่วยได้ยังไง

ดร.อณูวรรณ: หลักสูตร RoLD เป็นความพยายามของเราที่จะสร้างแนวร่วมการทำงาน เพราะประเด็นการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมหรือส่งเสริมหลักนิติธรรมเป็นเรื่องที่ใหญ่เกินกว่า TIJ จะทำเองคนเดียว เราเลยพยายามสร้างพื้นที่ที่เปิดให้คนในภาคส่วนอื่นๆ เข้ามา โดย TIJ จะวางตัวเองเป็นผู้ส่งเสริมการเปลี่ยนแปลงในเรื่องกระบวนการยุติธรรม ความยุติธรรมทางอาญา และหลักนิติธรรม

อีกอย่างหนึ่งคือ เราไม่ได้จำกัดผู้เข้าร่วมว่าจะต้องเป็นแค่นักนิติศาสตร์หรือนักกฎหมาย เพราะก็เห็นกันแล้วว่าหลักนิติธรรม ความยุติธรรม และความเป็นธรรมเป็นเรื่องของทุกคน ไม่ใช่รอเฉพาะนักกฎหมายมาแก้ปัญหา เวลาเราพูดเรื่องหลักนิติธรรมหรือกฎหมาย มันก็มีเกณฑ์อยู่แล้วว่า ทุกคนต้องอยู่ภายใต้กฎหมาย หลักกฎหมายเป็นใหญ่ คนที่บังคับใช้กฎหมายต้องมีความยุติธรรมและเข้าใจบริบท ดังนั้น กฎหมายต้องมีความทันสมัย ตามทันกับโลกที่เปลี่ยนแปลงไปด้วย ซึ่งเรื่องพวกนี้ต้องอาศัยความรู้ความเข้าใจจากคนทั้งสังคม

สิ่งที่เราคาดหวังคือ เมื่อคนที่มีทักษะและมีแนวคิดหลากหลายมาเจอกัน มันน่าจะช่วยแก้ปัญหาเดิมๆ ของกระบวนการยุติธรรมได้ด้วยรูปแบบที่ต่างออกไป เพราะถ้าเราจะคาดหวังให้ได้แนวคิดใหม่และทางออกใหม่จากกระบวนการแบบเดิม มันอาจจะคาดหวังผลแบบนั้นได้ยาก เราเลยพยายามดึงคนที่หลากหลาย แล้วนำประเด็นเรื่องความเป็นธรรมทางสังคมเข้าไปเป็นประเด็นที่พวกเขาสนใจร่วมกัน และให้เขาช่วยกันคิดหาทางแก้ปัญหาในรูปแบบของพวกเขา

 

มุทิตา เลิศลักษณาพร

 

แล้วอะไรคือผลที่เป็นรูปธรรมที่เราได้จากการร่วมหลักสูตร RoLD

มุทิตา: สิ่งสำคัญและถือเป็นหัวใจหลักของหลักสูตรเลยคือ RoLD in action (โครงการปฏิรูปหลักนิติธรรมอย่างเป็นรูปธรรม) โดยในการอบรม เราจะแบ่งผู้เข้าร่วมออกเป็น 3 กลุ่ม ซึ่งแต่ละกลุ่มจะไปศึกษาปัญหาหรือประเด็นทางสังคมที่พวกเขาสนใจ และลองนำเสนอโมเดลหรือข้อค้นพบของเขา เพื่อจะนำไปสู่การขับเคลื่อนเป็นแนวปฏิบัติในอนาคต

ตรงนี้ เราให้เวลาแต่ละกลุ่มศึกษาข้อมูล ทำ focus group และลงพื้นที่เก็บข้อมูลจริง ซึ่งจะไม่ใช่สิ่งที่เรียนจบแล้วก็สิ้นสุดไป แต่เป็นกระบวนการที่ต่อเนื่องของเครือข่ายชาว RoLD ที่ทุกรุ่นซึ่งมีความสนใจเหมือนกันจะมาช่วยขับเคลื่อนประเด็นนี้ ตอนนี้ก็มีหลายโครงการที่ทำไปแล้ว และจะต่อยอดออกไปอีกในอนาคต

 

ปัจจุบัน เราจะเห็นหลายองค์กรมีโครงการอบรมผู้บริหารระดับสูงที่คล้ายกับหลักสูตร RoLD แล้วหลักสูตร RoLD มีความเหมือนหรือแตกต่างออกไปอย่างไร

ดร.อณูวรรณ: คิดว่าของเราเป็นสมาชิกตลอดชีพนะ เพราะ RoLD in Action ก็จะมีผู้เข้าร่วมแต่ละรุ่นเข้ามาช่วยกันด้วย ซึ่งเราอยากให้ทุกคนเห็นประโยชน์ในการเข้ามารวมตัวกัน คิดเรื่องที่อยากจะช่วยแก้ปัญหาสังคม คุณเห็นไหมว่า โลกมันซับซ้อนอยู่แล้ว และถ้าคุณไม่ได้มีเครือข่ายหรือพันธมิตรที่เห็นอะไรตรงกันในการแก้ปัญหา คุณก็อาจจะเป็นคนที่คิดอะไรเล็กๆ ที่คุณจัดการได้ แต่คุณอาจจะไม่กล้าคิดเรื่องที่ใหญ่กว่านี้ เพราะมองไม่เห็นทางสำเร็จเลยถ้าไม่มีเครือข่าย

เพราะฉะนั้น กระบวนการยุติธรรมที่ทุกคนมาร่วมมือกันจึงเป็นสิ่งสำคัญมาก เราพยายามเอาเรื่องความร่วมมือและนวัตกรรมมารวมกันเพื่อสร้างพลังให้คนเห็นว่า ถ้าจะตัดสินใจอะไรหรือจะเคลื่อนไปข้างหน้า เขาจะไม่โดดเดี่ยว ไม่ได้ทำอยู่คนเดียว ถ้าทุกคนแก้แต่ปัญหาเล็กๆ ปัญหาใหญ่ๆ ในโลกก็จะไม่ถูกแก้ ทุกเรื่องมีมุมของมัน อยู่ที่ว่าคุณจะหยิบมุมนั้นขึ้นมาคิดหรือเปล่า เราเลยพยายามกระตุ้นให้คนคิด อาจจะไม่ได้หาทางแก้ปัญหาได้ในเร็ววันหรอก แต่เราต้องเริ่มทำความเข้าใจกับคนที่สนใจ และกระจายออกไปให้สังคมได้รับรู้ด้วย

อีกเรื่องที่น่าสนใจของหลักสูตรคือ ความหลากหลายในช่วงอายุของคนที่เข้าร่วม มีตั้งแต่อายุ 30 ต้นๆ ไปจนถึง 60 ปีขึ้นไป ซึ่งพอพวกเขามาเจอประเด็นที่ยากแบบนี้ แต่ละคนจะเคารพ (respect) กัน คนรุ่นก่อนอาจจะมองว่าตัวเขาไม่สามารถอธิบายเรื่องทุกอย่างได้ เช่น cryptocurrency หรือ bitcoin มันก็เป็นเรื่องใหม่ที่คนรุ่นใหม่จะช่วยอธิบายได้ เพราะฉะนั้น การเคารพกันของคนจากหลากหลายเจเนอเรชันและหลากหลายที่มา ทำให้เรามีคนทำงานที่ทำงานร่วมกันได้ค่อนข้างดีเลย

 

การที่หลักสูตรแนวนี้มักจะเชิญคนที่เป็นผู้บริหารระดับสูง หรือระดับกลางมาเข้าร่วม ทำให้หลายคนอาจมองว่า หลักสูตรแบบนี้เป็นการรวมกลุ่มของชนชั้นนำ (elite) ของสังคม คุณคิดยังไงกับข้อวิพากษ์วิจารณ์เหล่านี้

ดร.อณูวรรณ: ไม่แน่ใจเหมือนกันว่า ‘ชนชั้นนำ’ ในที่นี้นิยามยังไง แต่สำหรับ RoLD คนที่มาเข้าร่วมทุกคนเป็นคนที่ประสบความสำเร็จในหน้าที่การงานของเขา เราเรียกพวกเขาว่าเป็น ‘ผู้สร้างความเปลี่ยนแปลง’ (change maker) มากกว่า คือถ้าเราจะจัดการกับประเด็นปัญหาพวกนี้ เราไม่ได้เลือกกลุ่มคนที่ร่ำรวยอยู่แล้ว แต่เราเลือกคนที่ประสบความสำเร็จในงาน ตั้งแต่เจ้าของสตาร์ทอัพ ไปจนถึงคนในแวดวงเทคโนโลยี หรือแม้กระทั่งคนในวงการบันเทิงที่มีจิตอาสาทำเพื่อสังคม รวมถึงคนที่อยู่ในกระบวนการยุติธรรมด้วย

 

ดร.อณูวรรณ วงศ์พิเชษฐ์

 

คุณบอกว่าเลือกกลุ่มคนที่เป็น ‘ผู้สร้างความเปลี่ยนแปลง’ ซึ่งคำนี้อาจจะดูเป็นนามธรรมไปสักนิด เลยอยากชวนคุยต่อว่า นอกจากการประสบความสำเร็จในงาน คุณยังมีเกณฑ์หรือกระบวนการอะไรที่ใช้คัดเลือกกลุ่มคนที่จะมาร่วมหลักสูตร ซึ่งจะทำให้เราได้คนที่จะมาร่วมสร้างความเปลี่ยนแปลงจริงๆ

มุทิตา: กระบวนการคัดเลือกของเราเริ่มตั้งแต่การส่งประวัติ และเขียนบทความอธิบายความมุ่งมั่น (statement of purpose) ของเขาในการทำงานเพื่อสังคม จากนั้นเราจะมาคัดเลือกกันอีกทีหนึ่ง นอกจากนี้ คนที่เคยผ่านหลักสูตร RoLD ไปแล้วก็อาจจะแนะนำคนให้มาเข้าร่วม เพื่อให้เราได้คนที่มี DNA ใกล้เคียงกันเข้ามา

ดร.อณูวรรณ: จริงๆ เราเปิดกว้างให้ทุกคน แต่เราก็มองบทความที่เขาเขียนมาด้วยว่า สนใจประเด็นสังคมอะไร และคิดว่าสิ่งที่ทำจะให้อะไรกับสังคมบ้าง เรามองตรงนั้นเป็นจุดเริ่มต้น และพิจารณาความหลากหลายจากภาคส่วนที่เข้ามาด้วย คือเราจะต้องมีคนจากภาครัฐที่เป็นคนในกระบวนการยุติธรรมอยู่แล้วเพื่อให้เขาได้ประโยชน์ตรงนี้ และขณะเดียวกัน เราก็ต้องสร้างความเข้าใจให้คนนอกกระบวนการยุติธรรมมีความรู้เท่าทันเกี่ยวกับสิ่งที่เกิดขึ้นในกระบวนการด้วย เพราะบางที คนในกระบวนการทำงานเชิงรุกมาเยอะ แต่คนอื่นไม่รับรู้ เลยไม่รู้จะมาต่อยอดหรือส่งเสริมกันยังไง ตรงนี้ก็จะเป็นที่ๆ ช่วยส่งเสริมความร่วมมือและสนับสนุนการสร้างความเปลี่ยนแปลง

 

อยากชวนคุยเรื่องโครงการที่เกี่ยวข้องกับหลักสูตร RoLD และที่เกี่ยวข้อง คุณคิดว่ามีโครงการอะไรที่น่าสนใจบ้าง และโครงการที่ว่าจะช่วยขับเคลื่อนสังคมไปในทางที่ดีขึ้นได้อย่างไร

ดร.อณูวรรณ: นอกจาก RoLD in action ยังมีอีกโครงการหนึ่งที่เรียกว่า project J ซึ่งเกิดจากแนวคิดที่ว่า การนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้จะช่วยอำนวยให้เกิดการแก้ปัญหาสังคมได้จริง project J จึงเป็นเหมือนกับสนามทดลองที่เปิดให้มีการต่อยอดไอเดียใหม่ๆ จากคนที่เข้าร่วมกลุ่ม RoLD และมี TIJ เป็นผู้อำนวยการให้เกิดขึ้น โดยเราจะให้โจทย์ที่น่าสนใจซึ่งเกี่ยวข้องกับประเด็นทางสังคมและเทคโนโลยีให้กับพวกเขา

หนึ่งในต้นแบบ (prototype) ที่น่าสนใจคือ ‘ยักษ์ ดาต้า’ (Yak Data) ซึ่งเป็นโครงการที่มุ่งช่วยลดอุบัติเหตุบนท้องถนน เพราะว่าอุบัติเหตุทางท้องถนนเป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับต้นๆ ของคนไทย และเป็นเรื่องที่ใกล้ตัวเรามาก ถึงแม้จะมีการรณรงค์อย่างแพร่หลายในสังคมแล้ว เราก็ยังมองว่า มันมีช่องในการพัฒนาเรื่องนี้ได้อีก เพราะความสูญเสียที่เกิดขึ้นจะก่อให้เกิดการเสียโอกาสของคนเป็นแสนคน ครึ่งหนึ่งของคนที่บาดเจ็บและเสียชีวิตจากอุบัติเหตุอยู่ในวัยแรงงาน มันจึงก่อให้เกิดผลกระทบทางเศรษฐกิจด้วย อีกอย่างหนึ่งคือ สาเหตุส่วนใหญ่ของการเกิดอุบัติเหตุก็มาจากการฝ่าฝืนกฎจราจร ความประมาทเลินเล่อ หรือการเสพยา ซึ่งล้วนเกี่ยวพันกับเรื่องกระบวนการยุติธรรมอยู่แล้ว

อีกหนึ่งโครงการที่น่าสนใจคือ แชทบอทที่ชื่อว่า ‘My Sis’ ซึ่งเป็นแชทบอทที่มีไว้ให้คำปรึกษากับคนที่มีแนวโน้มหรือคนที่ตกเป็นเหยื่อความรุนแรงในครอบครัว คำว่า My Sis ก็คือพี่สาวที่คอยให้คำปรึกษาได้

ต้องเล่าก่อนว่า ไทยมีเคสที่เกิดจากความรุนแรงในครอบครัว (domestic violence) หรือความรุนแรงที่เกิดจากเพศสภาพ (gender-based violence) จำนวนมาก แต่มีแค่ประมาณ 10-15% เท่านั้นที่เข้าสู่กระบวนการยุติธรรม ผู้หญิงส่วนใหญ่พอโดนสามีทำร้าย ก็ไม่กล้าเล่าเพราะอาย บางทีไปปรึกษาเพื่อน ซึ่งก็ปลอบใจได้ แต่อาจไม่ได้ให้คำปรึกษาว่าจะทำยังไงต่อไปได้ ความซับซ้อนอีกอย่างหนึ่งของเรื่องนี้คือ ผู้ถูกกระทำส่วนใหญ่ก็ไม่ได้อยากให้คนกระทำเข้าคุกด้วย

แชทบอท My Sis เลยเกิดขึ้นเพื่อพยายามลดช่องว่างตรงนี้ คือคอยให้ความช่วยเหลือเบื้องต้น เป็นศูนย์ที่คอยให้ข้อมูลโดยไม่คิดค่าใช้จ่าย และมีคำถามตรวจสอบเบื้องต้น (screening test) ด้วย ถ้ามองในมุมที่เกี่ยวข้องกับคนในกระบวนการยุติธรรม เราก็อยากให้เขาทำงานง่ายขึ้น ถ้าข้อมูลเชื่อมไปหาเจ้าหน้าที่ในพื้นที่ได้ ตำรวจก็จะรู้แล้วว่า มีพื้นที่ตรงไหนเสี่ยงไหม ต้องไปที่ไหน กลุ่ม NGOs หรือผู้ใหญ่บ้านก็จะคอยตรวจสอบและคอยป้องกันได้ เพราะถ้าเรื่องเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมแล้ว ก็จะมีการสูญเสียต้นทุนมหาศาล ทั้งเชิงเวลา สังคม (จิตใจ) และการฟื้นฟู

 

มุทิตา เลิศลักษณาพร

 

ในอนาคต ทาง TIJ จะต่อยอด RoLD ไปในทิศทางไหน หรือจะมีโครงการที่เกี่ยวกับการพัฒนา หรือทำความเข้าใจเรื่องหลักนิติธรรมอีกหรือไม่

ดร.อณูวรรณ: เราอาจจะพัฒนาโดยการนำองค์ความรู้จากต่างประเทศเข้ามามากขึ้น และยังมีกระบวนการสื่อสาร วิเคราะห์เคสที่เราทำ และจัดทำออกมาเป็นเอกสารเผยแพร่หรือจัดการประชุมในบางครั้ง เพื่อให้คนในสังคมรับรู้เรื่องนี้ด้วย อย่างที่บอกว่าแนวคิดหลักคือ “ความยุติธรรมเป็นเรื่องของทุกคน” เพราะฉะนั้น เรื่องนี้ต้องย่อยง่าย และทำให้คนคิดว่า เขาสามารถทำอะไรกับมันได้ สามารถจับต้องได้ในมุมมองของเขา ขณะที่เราก็พยายามทำหน้าที่เป็นคนกลาง เป็นคนสร้างแพลตฟอร์มแห่งความไว้เนื้อเชื่อใจให้

 

แน่นอนว่า การนำองค์ความรู้จากต่างประเทศมาเรียนรู้และปรับใช้เป็นเรื่องที่ดี แต่ทั้งนี้ แต่ละสังคมก็ย่อมมีปัญหาเฉพาะของตัวเอง เราจะนำองค์ความรู้เหล่านั้นมาประยุกต์ใช้เพื่ออธิบายหรือแก้ปัญหาเรื่องความยุติธรรมแบบไทยๆ ได้ยังไง

ดร.อณูวรรณ: จริงๆ มันขึ้นอยู่กับคนมากกว่านะ เพราะองค์ความรู้มันก็อยู่ตรงนั้นแหละ เราปฏิเสธไม่ได้หรอกว่าเรื่องพวกนี้ในต่างประเทศก้าวหน้ามาก ขณะที่ในไทย พอเราพูดถึงนิติรัฐหรือนิติธรรม อาจจะพูดในลักษณะวาทกรรมมากกว่าการพัฒนา แต่ต่างประเทศเขาไปได้ไกลกว่านั้นแล้ว บางประเทศกำลังพยายามยกระดับกระบวนการยุติธรรมในแบบที่ไทยฝันอยู่ โดยเฉพาะในเรื่องการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรม อย่างในแถบแอฟริกา ดิจิทัลกลายเป็นส่วนหนึ่งในการใช้ชีวิตของเขา ไม่ว่าจะเป็นการให้คำปรึกษาด้านกฎหมายหรืออะไรอยู่บนมือถือหมดเลย

เพราะฉะนั้น ถ้าถามว่ามันจะขัดแย้งกับบริบทแบบไทยๆ ไหม จริงๆ มันน่าจะเสริมกันมากกว่า ขึ้นกับว่าเราจะหยิบมุมไหนขึ้นมา ซึ่งเราก็จะใช้กรณีจากต่างประเทศมาเป็นไอเดีย เป็นตัวจุดประกาย และค่อยๆ นำมาปรับใช้

 

อย่างที่เราเห็นว่า โครงการ RoLD ประสบความสำเร็จและสร้างความเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้นได้ แต่ถ้ามองอีกแง่หนึ่ง มีจุดไหนไหมที่เราคิดว่า ยังมีความท้าทายและอยากจะพัฒนาให้มากกว่านี้

ดร.อณูวรรณ: เราต้องการให้แต่ละรุ่นได้มาเรียนร่วมกัน เพราะเราอยากดึงคนเข้ามา เป็นเรื่องการสร้างชุมชน แนวร่วม และสร้างพื้นที่แห่งความไว้เนื้อเชื่อใจกัน ทำให้คนยอมถอดหมวกของตัวเองออกมาแล้วมาร่วมมือกัน

ส่วนความท้าทายที่อยากพัฒนาให้มากกว่านี้ เราก็อยากให้เรื่องนี้สร้าง impact ได้มากขึ้น ทำให้เกิดอะไรใหม่ๆ ได้มากขึ้น เพราะเรื่องพวกนี้ก็เหมือนกับแสงไฟที่กระพริบให้สังคมเห็นว่า เรายังมีความหวัง ถึงคุณไม่ใช่นักกฎหมายแต่คุณก็ขับเคลื่อนสังคมได้ ขณะที่คนในกระบวนการยุติธรรมก็จะรู้สึกเช่นกันว่า เขาต้องปรับตัว ให้ทุกคนเห็นและกลับมาคิดว่า ตัวเองทำอะไรได้บ้าง ได้เห็นมิติที่หลากหลายในสังคม และให้อะไรบางอย่างกลับคืนไปสู่สังคมบ้าง เพราะเราไม่อาจพูดถึงสังคมที่ก้าวหน้าได้เลย ถ้าเราไม่เอาตัวเองลงไปเป็นส่วนหนึ่งในการเปลี่ยนแปลงมัน

 

ดร.อณูวรรณ วงศ์พิเชษฐ์


ผลงานชิ้นนี้เป็นส่วนหนึ่งของความร่วมมือระหว่าง สถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย (TIJ) และ The101.world

MOST READ

Social Issues

9 Oct 2023

เด็กจุฬาฯ รวยกว่าคนทั้งประเทศจริงไหม?

ร่วมหาคำตอบจากคำพูดที่ว่า “เด็กจุฬาฯ เป็นเด็กบ้านรวย” ผ่านแบบสำรวจฐานะทางเศรษฐกิจ สังคม และความเหลื่อมล้ำ ในนิสิตจุฬาฯ ปี 1 ปีการศึกษา 2566

เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล

9 Oct 2023

Social Issues

5 Jan 2023

คู่มือ ‘ขายวิญญาณ’ เพื่อตำแหน่งวิชาการในมหาวิทยาลัย

สมชาย ปรีชาศิลปกุล เขียนถึง 4 ประเด็นที่พึงตระหนักของผู้ขอตำแหน่งวิชาการ จากประสบการณ์มากกว่าทศวรรษในกระบวนการขอตำแหน่งทางวิชาการในสถาบันการศึกษา

สมชาย ปรีชาศิลปกุล

5 Jan 2023

Social Issues

27 Aug 2018

เส้นทางที่เลือกไม่ได้ ของ ‘ผู้ชายขายตัว’

วรุตม์ พงศ์พิพัฒน์ พาไปสำรวจโลกของ ‘ผู้ชายขายบริการ’ ในย่านสีลมและพื้นที่ใกล้เคียง เปิดปูมหลังชีวิตของพนักงานบริการในร้านนวด ร้านคาราโอเกะ ไปจนถึงบาร์อะโกโก้ พร้อมตีแผ่แง่มุมลับๆ ที่ยากจะเข้าถึง

กองบรรณาธิการ

27 Aug 2018

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save