fbpx
‘อาชญากรรมทางไซเบอร์’ ปัญหาท้าทายอาเซียนในศตวรรษที่ 21

‘อาชญากรรมทางไซเบอร์’ ปัญหาท้าทายอาเซียนในศตวรรษที่ 21

กานต์ธีรา ภูริวิกรัย และ ณัฐชลภัณ หอมแก้ว เรื่อง

สถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย (TIJ) ภาพ

ภาพิมล หล่อตระกูล ภาพประกอบ

 

มองย้อนกลับไปราวสิบหรือยี่สิบปีก่อน หากเราถามว่าอะไรคือภัยที่กำลังคุกคามโลก? คำตอบ ณ ห้วงเวลานั้นอาจวนเวียนอยู่ที่ ภัยสงครามหรือภัยก่อการร้าย

แต่หากเรากลับมาถามคำถามเดิมอีกครั้ง คำตอบ ณ ปัจจุบันหากไม่นับรวมโรคระบาดใหญ่ COVID-19 ที่เขย่าโลกอยู่ในเวลานี้ หนึ่งคำตอบที่มักถูกพูดถึงคงหนีไม่พ้น ‘อาชญากรรมทางไซเบอร์ (cybercrime)’ ที่มาพร้อมกับโลกาภิวัตน์และความก้าวหน้าของเทคโนโลยี เป็นภัยที่ไร้สัญชาติ ไร้พรมแดน และอยู่ใกล้แค่ปลายนิ้ว

เพียงแค่เปิดคอมพิวเตอร์หรือต่ออินเทอร์เน็ต เราก็อาจจะตกเป็นเหยื่อจากอาชญากรรมทางไซเบอร์ได้โดยไม่รู้ตัว

คำถามสำคัญจึงอยู่ที่ว่า เราจะสามารถป้องกันภัยอันตรายที่อยู่ห่างจากเราแค่เอื้อมได้อย่างไร?

ด้วยความซับซ้อนของอาชญากรรมทางไซเบอร์ ทำให้การป้องกันเรื่องนี้ไม่ได้ขึ้นอยู่กับหน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่ง แต่ทุกภาคส่วนในสังคม ตั้งแต่กระบวนการยุติธรรม การพัฒนาสังคม ไปจนถึงระบบการศึกษา ต้องเข้ามามีส่วนร่วมในการป้องกันเรื่องนี้ด้วย

ลักษณะพิเศษอีกอย่างหนึ่งของอาชญากรรมทางไซเบอร์คือ ความไร้พรมแดน พูดให้ถึงที่สุด อาชญากร เครือข่าย และเหยื่อ อาจจะอยู่กันคนละประเทศ และเชื่อมต่อกันด้วยระบบออนไลน์ ทำให้อาชญากรรมทางไซเบอร์ไม่ใช่เรื่องที่ประเทศใดประเทศหนึ่งจะจัดการได้อย่างเด็ดขาด แต่ต้องอาศัยความร่วมมือจากประเทศอื่นด้วยเช่นกัน

นอกจากเรื่องความซับซ้อนและไร้พรมแดน อีกหนึ่งเรื่องที่น่าตกใจคือ การเติบโตของอาชญากรรมทางไซเบอร์เกิดขึ้นพร้อมกับการเจริญเติบโตของเศรษฐกิจ มีการคาดการณ์ว่า ภูมิภาคอาเซียนจะมีขนาดเศรษฐกิจดิจิทัลใหญ่เป็นอันดับ 5 ของโลกในปี 2025 คิดเป็นมูลค่ากว่า 2 แสนล้านดอลลาร์ และจากการศึกษาของ World Economic Forum พบว่า ในปี 2025 อาชญากรที่แสวงหาประโยชน์จากอาชญากรรมทางไซเบอร์อาจจะหาเงินได้ในภูมิภาคนี้ถึง 8 พันล้านบาท

เมื่อเป็นเช่นนี้แล้ว จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่ทุกฝ่ายจะต้องมาร่วมมือ และหาทางรับมือกับปัญหาดังกล่าวร่วมกัน

เมื่อปลายเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา สถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย (TIJ) ในฐานะองค์กรประสานการจัดการการประชุมอาเซียนว่าด้วยการป้องกันอาชญากรรมและความยุติธรรมทางอาญา ครั้งที่ 2 (ACCPCJ) ได้จัดการประชุมดังกล่าวขึ้น ซึ่งมีประเด็นสำคัญเกี่ยวกับการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางไซเบอร์ โดยเชิญหน่วยงาน และผู้ที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับความท้าทายในกระบวนการยุติธรรมของอาเซียน

ความพิเศษของการประชุมครั้งนี้คือ เป็นการประชุมด้านกฎหมายครั้งแรกที่ดึงเอาผู้เชี่ยวชาญจากภาคส่วนอื่นในอาเซียนเข้ามาร่วมด้วย เช่น ฝ่ายประชาสังคมและวัฒนธรรมอาเซียน (ASEAN Socio-Cultural Community) และยังเป็นการประชุมเพื่อแลกเปลี่ยนและอภิปรายมุมมองจากผู้ที่เกี่ยวข้องในแต่ละหน่วยงานเกี่ยวกับการรับมืออาชญากรรมทางไซเบอร์

 

 

อาชญากรรมทางไซเบอร์: ความท้าทายและโจทย์ใหญ่ของอาเซียน

 

Mr. Alexandru Caciuloiu ผู้เชี่ยวชาญด้านอาชญากรรมไซเบอร์และเงินตราเข้ารหัสลับ จากสำนักงานว่าด้วยยาเสพติดและอาชญากรรมแห่งสหประชาชาติ (UNODC) ภาคพื้นเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และแปซิฟิก กล่าวนำว่า ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา มีองค์กรจำนวนมากพยายามจะทำความเข้าใจและประเมินภัยคุกคามทางไซเบอร์ โดยเฉพาะในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งเป็นภูมิภาคที่ “มีภัยคุกคามมาก และมีความพยายามในการเจาะเข้าระบบมาก”

ด้วยความที่ภัยคุกคามจากไซเบอร์เริ่มส่งผลกระทบและทวีความรุนแรงขึ้น ทำให้หลายประเทศเริ่มมีหน่วยอาชญากรรมทางไซเบอร์ (Cybercrime Unit) โดยเฉพาะ อย่างไรก็ตาม Mr. Caciuloiu เห็นว่า การจะฝึกฝนเจ้าหน้าที่หรือบุคลากรเพื่อรับมือกับอาชญากรรมทางไซเบอร์ต้องใช้เวลานาน ใช้ทรัพยากรจำนวนมาก และอาจจะต้องดึงองค์การตำรวจสากล (Interpol) เข้ามาร่วมด้วย

“ความท้าทายอย่างหนึ่งคือ ทุกอย่างเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา เราเลยต้องดูเป็นกรณีๆ ไป ถ้าเป็นในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เราอาจจะเจอเรื่องการเรียกค่าไถ่ เพราะเศรษฐกิจของภูมิภาคนี้กำลังพัฒนาและขยายตัวมาก หลายอย่างย้ายไปอยู่บนดิจิทัลกันหมด ทำให้อาชญากรไซเบอร์มาชุมนุมกันอยู่ที่นี่ บางทีก็มีการเจาะเข้าระบบ ซึ่งก็เป็นภัยคุกคามรูปแบบใหม่เช่นกัน”

ในภาพรวม ผู้เชี่ยวชาญท่านนี้มองว่าปัญหาจากอาชญากรรมไซเบอร์กำลังทวีความรุนแรงขึ้น และกลุ่มที่น่าเป็นห่วงมากกลุ่มหนึ่งคือกลุ่มเยาวชน เพราะพวกเขาเข้าถึงโลกดิจิทัลได้เร็วขึ้น และด้วยวุฒิภาวะที่ยังไม่มากพอ ทำให้พวกเขาอาจไม่เข้าใจภัยคุกคามที่สามารถเกิดขึ้นได้บนไซเบอร์ และยังมีปัญหาเรื่องสื่อลามกอนาจารที่ถูกเผยแพร่บนโลกออนไลน์ด้วย

“ดิจิทัลเป็นเหมือนดาบสองคม ด้านหนึ่งคือทำให้เกิดการเชื่อมต่อกันของประชากร เพราะคนสามารถเข้าถึงอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ได้อย่างง่ายดาย แต่อีกด้านหนึ่ง การใช้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ที่เพิ่มขึ้น ก็หมายถึงการขยายตัวของการก่ออาชญากรรมเช่นกัน” Mr. Caciuloiu ทิ้งท้ายด้วยโจทย์ที่แหลมคม และเป็นสิ่งที่ผู้เกี่ยวข้องจะต้องร่วมกันขบคิดหาทางออก และปรับกลยุทธ์ให้เข้ากับภัยคุกคามทางไซเบอร์ต่อไป

หนึ่งหน่วยงานที่มีบทบาทในการต่อสู้กับอาชญากรรมทางไซเบอร์คือ องค์การตำรวจสากล (Interpol) ซึ่ง Mr. James Tan ผู้ช่วยผู้อำนวยการด้านยุทธศาสตร์และการพัฒนาขีดความสามารถ จาก Interpol อธิบายว่า ทาง Interpol มีโปรแกรมที่ใช้รับมืออาชญากรรมทางไซเบอร์โดยเฉพาะ โดยมีเจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานอยู่ที่สำนักงานในสิงคโปร์เพื่อมุ่งลดการก่ออาชญากรรมทางไซเบอร์ และขยายขอบเขตความร่วมมือในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ออกไป

หนึ่งในความท้าทายที่ Mr. Tan ชี้ให้เราเห็นคือ อาชญากรรมทางไซเบอร์เติบโตอย่างรวดเร็ว แต่ภาคส่วนที่ตอบสนองต่อเรื่องนี้ได้ไวกว่ามักเป็นภาคเอกชน ขณะที่ภาครัฐ โดยเฉพาะหน่วยงานที่ดูแลรักษากฎหมาย อาจจะยังไม่มีทักษะด้านไซเบอร์เพียงพอ จึงมีโครงการที่เรียกว่า Gateway Programme เพื่อมุ่งเสริมสร้างสมรรถนะระหว่างภาครัฐและเอกชน รวมถึงแบ่งปันข้อมูลข่าวสารต่างๆ ร่วมกัน

“เราอาจจะช่วยกันระบุได้ว่า ประเทศหนึ่งๆ กำลังเจอกับภัยคุกคามอะไรอยู่บ้าง หรือสร้างโครงสร้างที่จะเอื้อให้เกิดการเชื่อมโยงกันระหว่างประเทศได้ เพื่อจะสืบสาวหาต้นตออาชญากรรมทางไซเบอร์ที่ฝังรากลึกในประเทศ และช่วยให้ประเทศอื่นรับมือได้ด้วย”

อีกประเด็นน่าสนใจคือ อาชญากรรมไซเบอร์เป็นปัญหาข้ามชาติ ไร้พรมแดน แต่หน่วยงานรักษากฎหมายในประเทศมักจะถูกจำกัดด้วยอำนาจรัฐ (authority) ของแต่ละประเทศเอง ดังนั้น แต่ละประเทศในอาเซียนต้องมีการบังคับใช้กฎหมาย (law enforcement) ร่วมกันด้วย ซึ่งสิงคโปร์ถือเป็นประเทศผู้นำในเรื่องนี้

“เท่าที่ผมทำงานด้านอาชญากรรมทางไซเบอร์กับภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มาสามปี ผมบอกได้ว่าภูมิภาคนี้ประสบความสำเร็จพอสมควร เพราะเรามีหน่วยงานเพื่อรับมือเรื่องนี้ และมีเจ้าหน้าที่จากประเทศอาเซียนมาร่วมมือกัน”

ทั้งนี้ เพื่อเป็นการรับประกันว่า เจ้าหน้าที่ผู้รักษากฎหมาย หรือบุคลากรในแวดวงกฎหมายที่เกี่ยวข้องจะสามารถรับมือกับปัญหาได้อย่างมีประสิทธิภาพ อาเซียนและ Interpol จึงได้มีความร่วมมือกันหลายด้าน ทั้งการฝึกฝน ทำ workshop หรือจัดงานสัมมนา โดยพยายามดึงเอาเจ้าหน้าที่ผู้รักษากฎหมายเข้ามาร่วมในการฝึกด้วย

อีกหนึ่งความพยายามคือ การทบทวนกฎหมายทางไซเบอร์ของแต่ละประเทศ เพื่อดูว่าโครงสร้างพื้นฐานหรือยุทธศาสตร์ต่างๆ มีประสิทธิภาพพอหรือไม่ และให้คำแนะนำเพื่อปิดช่องโหว่ต่างๆ ที่อาจจะเกิดขึ้นได้

“อาชญากรรมทางไซเบอร์เป็นเรื่องที่ท้าทายมาก เพราะแต่ละประเทศมีโครงสร้างพื้นฐานต่างกัน อีกทั้งตัวอาชญากรกับเหยื่ออาจจะอยู่กันคนละประเทศ ทำให้เป็นเรื่องยากที่จะหาหลักฐานหรือหาข้อมูลต่างๆ ดังนั้น ตำรวจในแต่ละประเทศต้องร่วมมือ แบ่งปันข้อมูล และประสานงานกัน เพราะต่อให้เรามีเครื่องมือดียังไง แต่ถ้าไม่ร่วมมือหรือไม่มีการบังคับใช้กฎหมาย ทุกอย่างก็จะไม่เกิดผลอะไรเลย” Mr. Tan ทิ้งท้าย

 

กลุ่มที่น่าห่วงที่สุดของอาชญากรรมทางไซเบอร์คือ เด็กและเยาวชน

 

จากปัญหาเรื่องอาชญากรรมทางไซเบอร์ ขยับมาสู่เรื่องเยาวชน ซึ่งเป็นกลุ่มที่น่าเป็นห่วงมากที่สุดในเรื่องนี้ โดย Dr. Sulistyaningsih จากกระทรวงสวัสดิการสังคมของอินโดนีเซีย ให้นิยามว่า ภัยคุกคามทางไซเบอร์เป็น ‘ภัยเงียบ’ ที่แม้ไม่เผยรูปร่างออกมาชัดเจน แต่ส่งผลกระทบอย่างมาก โดยเฉพาะกับเด็กและเยาวชน

“ในอินโดนีเซีย สถิติเรื่องการแสวงหาผลประโยชน์จากเด็กและเยาวชนผ่านทางอินเทอร์เน็ตเพิ่มขึ้นมาก เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา เราเจอการโจมตีเว็บไซต์ (web attack) ประมาณ 3.5 ล้านครั้ง จะเห็นว่าอาชญากรรมทางไซเบอร์ก็รุนแรงเหมือนกับอาชญากรรมอื่นๆ ยิ่งถ้าเป็นกรณีเด็ก จะส่งผลกระทบด้านลบต่อความเป็นอยู่และสวัสดิภาพของเด็ก คือทำให้เกิดความเครียด จิตใจหดหู่ ซึ่งจะก่อให้เกิดปัญหาต่อเด็กในอนาคตได้”

Dr. Sulistyaningsih เล่าว่า อินโดนีเซียพยายามใช้วิธีแบบองค์รวมในการรับมือกับปัญหา และเสริมสร้างกฎหมายให้แข็งแกร่ง รวมถึงพัฒนาศักยภาพของบุคลากรด้วย อย่างไรก็ดี ปัญหาที่ท้าทายในอินโดนีเซียคือ การแสวงหาผลประโยชน์ทางเพศจากเด็ก

“ปีที่แล้วเราเจอคดีที่เกี่ยวข้องกับการแสวงหาผลประโยชน์ทางเพศจากเด็กประมาณ 600 ครั้ง ซึ่งเป็นแค่ยอดภูเขาน้ำแข็งเท่านั้น เพราะอาจยังมีคดีอีกมากที่เราไม่ได้รับรายงาน”

เพื่อป้องกันปัญหาดังกล่าว อินโดนีเซียได้ทำงานร่วมกับหลายองค์กร หลายภาคส่วน เพื่อเสริมสร้างการรับรู้ให้เกิดขึ้นในสังคม สนับสนุนการจัดตั้งสำนักงานคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของเด็ก และยังลงไปถึงระดับโรงเรียนและสถาบันต่างๆ เพื่อสร้างโรงเรียนที่เป็นมิตรกับเด็ก รวมถึงให้การอบรมครูผู้สอนด้วย

“เรากำลังเริ่มนำระบบ AI มาใช้กรองข้อความอัตโนมัติ และช่วยซ่อนเนื้อหาที่มีความสุ่มเสี่ยง ที่สำคัญคือเราต้องร่วมมือกับผู้ปกครองเพื่อพิจารณาว่า อะไรที่แชร์ต่อได้ อะไรที่แชร์ต่อไม่ได้ หรือเนื้อหาแบบไหนจะตั้งค่าให้ใครเห็นได้”

ในกรณีที่เด็กและเยาวชนกลายเป็นผู้ถูกกระทำไปแล้ว ผู้แทนจากอินโดนีเซียอธิบายขั้นตอนการเยียวยาว่า ที่อินโดนีเซียจะมีศูนย์ช่วยเหลืออยู่ที่กรุงจาการ์ตา มีนักจิตวิทยาคอยช่วยเหลือผู้ถูกกระทำหรือผู้ที่มีปัญหา มีการประเมินผลกับนักสังคมสงเคราะห์ รวมถึงให้การสนับสนุนและเพิ่มทักษะความชำนาญให้ผู้ปกครองของเด็กในระยะยาวด้วย

“เราจะฝึกทักษะชีวิตให้เด็กและเยาวชนกลุ่มนี้ ซึ่งจะต้องอาศัยความร่วมมือในระยะยาว เพราะเราอยากร่วมสร้างสิ่งแวดล้อมที่สะอาดและปลอดภัย ทุกคนควรมาร่วมมือกันต่อสู้ตอนนี้ เพราะคงไม่มีใครอยากได้ยินว่า ทุกอย่างมันสายเกินไป” Dr. Sulistyaningsih ปิดท้าย

ขณะที่ Ms. Grace Agcaoili ผู้เชี่ยวชาญด้านการปกป้องเด็ก จากองค์การทุนเพื่อเด็กแห่งสหประชาชาติ (UNICEF) สำนักงานภาคพื้นเอเชียตะวันออกและแปซิฟิก แสดงความเห็นว่า “เทคโนโลยีไม่ได้มีแต่ข้อเสีย แต่มีข้อดีด้วย คือเทคโนโลยีเปิดโอกาสให้เยาวชน กลุ่มคนพิการ หรือกลุ่มชายขอบ ได้มีโอกาสแสดงความคิดเห็น และรับรู้ข้อมูลข่าวสารได้ด้วยปลายนิ้ว มันเป็นการเข้าถึงสิ่งต่างๆ ได้ง่ายที่สุด และใช้ต้นทุนต่ำที่สุดด้วย แต่ด้วยต้นทุนที่ต่ำและการเข้าถึงที่ง่ายนี่เอง ทำให้เทคโนโลยีกลายเป็นตัวเชื่อมต่อกับการก่ออาชญากรรม และการกระทำความรุนแรงต่อเด็ก”

ความรุนแรงต่อเด็ก (Violence Against Children) เกิดได้ทั้งทางออฟไลน์ (ทางกายภาพและทางอารมณ์) และทางออนไลน์ คือการแสวงหาผลประโยชน์ทางเพศจากเด็ก การผลิตสื่อลามกอนาจารเด็กหรือภาพเด็กที่แสดงออกในเชิงทางเพศ และอีกปัญหาหนึ่งที่เกิดขึ้นได้กับเด็กเช่นกันคือ การกลั่นแกล้งทางไซเบอร์ (cyberbullying) ซึ่ง Ms. Agcaoili กล่าวว่า “แม้ช่องทางออนไลน์จะมีประโยชน์ แต่ก็สามารถเป็นเครื่องมือที่บ่มเพาะความรุนแรงสุดโต่งให้เด็กได้เช่นกัน”

“ปัจจุบัน เรามีเด็กที่ต้องตกเป็นเหยื่อมากมาย ผู้กระทำผิดหลายคนสร้างบัญชีผู้ใช้เพื่อพูดคุยกับเด็กโดยเฉพาะ คุยกันยาวนานมากจนเด็กรู้สึกคุ้นเคยและถูกคอ ตรงนี้เป็นกระบวนการที่เขาพยายามเป็นเพื่อนกับเด็ก เพื่อจะล่อลวงเด็กออกมาเจอได้”

“ผู้ใหญ่อย่างเราอาจไม่ได้รู้เรื่องเทคโนโลยี แต่สิ่งสำคัญคือ เราต้องทำตัวให้ทันสมัยเพื่อจะสามารถปกป้องลูกหลานของเราจากอาชญากรรมทางไซเบอร์ได้” Ms. Agcaoili ปิดท้าย

 

 

ร่วมสร้างวัฒนธรรมการป้องกัน รับมือภัยบนไซเบอร์

 

แม้อาชญากรรมทางไซเบอร์จะส่งผลกระทบกับคนทุกเพศทุกวัย แต่ปฏิเสธไม่ได้เลยว่า กลุ่มหนึ่งที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด และน่าเป็นห่วงมากที่สุดคือ กลุ่มเด็กและเยาวชน ทั้งด้วยวุฒิภาวะที่ยังไม่มากพอ อีกทั้งการตกเป็นเหยื่อในวัยเด็กย่อมสร้างบาดแผลในจิตใจได้ตลอดชีวิต จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่เราจะต้องหาทางเสริมสร้างความรู้ และสร้างวัฒนธรรมการป้องกัน (Culture of Prevention) ให้เกิดขึ้นในกลุ่มเด็กและเยาวชน

Ms. Jun Morohashi หัวหน้าผู้บริหารและผู้ประสานงานโครงการจัดการภัยพิบัติในภูมิภาคอาเซียน จาก UNESCO กล่าวว่า เยาวชนเป็นวัยของการตามหาตัวตน จึงมีแนวโน้มที่จะคล้อยตามผู้อื่นได้ง่าย และอาจจะเอนเอียงไปทางความรุนแรง ด้วยลักษณะดังกล่าวนี้เอง ทำให้เยาวชนอาจตกเป็นเหยื่อไม่ทางใดก็ทางหนึ่งได้ง่าย

“ถ้าถามว่า ทำอย่างไรถึงจะป้องกันไม่ให้เกิดความรุนแรงได้ คำตอบคือเราต้องมีการศึกษาที่มีคุณภาพ มีการจัดการเรียนรู้ที่กว้างขวาง รวมถึงเรียนรู้ทักษะด้านอารมณ์สังคมด้วย” Ms. Morohashi กล่าว “แต่คำถามคือ เราจะทำอะไรได้บ้าง และจะทำอย่างไร”

เมื่อการศึกษาเป็นหนึ่งในปัจจัยหลักที่จะช่วยให้เกิดการป้องกันความรุนแรง สิ่งแวดล้อมในสถานศึกษาจึงสำคัญมาก เพราะสภาพแวดล้อมที่ไม่ดีสามารถเป็นตัวบ่มเพาะความรุนแรงให้กับเยาวชนได้ เช่น การใช้ความรุนแรงกับเพื่อน หรือการเหยียดเพศสภาพ ดังนั้น สถานศึกษาจึงจำเป็นต้องส่งเสริมให้เกิดวัฒนธรรมการปฏิเสธความรุนแรงขึ้น

อีกหนึ่งเรื่องสำคัญที่ต้องได้รับการดูแลคือ นโยบายและธรรมเนียมปฏิบัติในหลักสูตรการศึกษา Ms. Morahashi อธิบายว่า ตอนนี้เริ่มมีการสำรวจหลักสูตรการศึกษา และเริ่มพิจารณาเรื่องเทคนิควิธีการสอนใหม่ๆ เช่น จัดให้มีการเรียนระหว่างเพื่อนกับเพื่อน หรือมีการจัดตั้งโครงการที่มีการลงทุนกับบุคลากรผู้สอนมากขึ้นกว่าเดิม เพื่อให้การเรียนการสอนนั้นมีคุณภาพยิ่งขึ้น

“ในปี 2013 – 2014 ทาง UNESCO ได้มีการสำรวจเรื่องที่ ‘ชอบ’ และ ‘ไม่ชอบ’ ในสถานศึกษาของตนเอง ซึ่งเรื่องที่คนไม่ชอบในสถานศึกษาก็มีหลายเรื่อง ไม่ว่าจะเป็นการโดนกลั่นแกล้ง โดนทำร้ายร่างกายจากเพื่อนนักเรียน หรือแม้กระทั่งเรื่องการสอบที่จัดเยอะเกินความจำเป็น”

แน่นอนว่า เรื่องดังกล่าวไม่เอื้อต่อพัฒนาการของเยาวชนเลยแม้แต่น้อย ซึ่ง Ms. Morohashi เสริมว่า จากการสังเกตพฤติกรรมของเด็ก หากเด็กมีความสุขกับการได้ทำสิ่งต่างๆ ก็จะทำให้เด็กเกิดพัฒนาการที่ดี ทั้งในแง่ของบุคคลและอารมณ์

“ประเทศที่เป็นตัวอย่างที่ดีในเรื่องนี้คือ ญี่ปุ่น” Ms. Morohashi ปิดท้าย “ครูผู้สอนหรือบุคลากรทางการศึกษาที่ญี่ปุ่นสอนให้นักเรียนรู้จักที่จะเห็นอกเห็นใจผู้อื่น ซึ่งจะช่วยลดการแบ่งแยก ลดความรุนแรงและการกลั่นแกล้งจากเพื่อนนักเรียนด้วยกัน นี่เป็นตัวอย่างที่ดีที่แสดงให้เห็นว่า คุณครูและบุคลากรทางการศึกษามีบทบาทสำคัญอย่างยิ่งในการแก้ปัญหาความรุนแรง”

เมื่อพูดถึงเรื่องวัฒนธรรมการป้องกัน อาเซียนเป็นภูมิภาคหนึ่งที่เห็นความสำคัญของการสร้างวัฒนธรรมดังกล่าวให้เกิดขึ้นจริง เรื่องดังกล่าวจึงถูกระบุไว้ในวิสัยทัศน์ของอาเซียน (ASEAN Community Vision 2025) เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพในด้านต่างๆ ทั้งเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม โดยมีประชาชนเป็นหัวใจสำคัญ เพื่อนำอาเซียนเดินไปสู่ความก้าวหน้า และพร้อมรับมือกับความท้าทายในอนาคต

“อาเซียนมุ่งทำงานร่วมกับสหประชาชาติ (UN) และประเทศอื่นๆ โดยเราตั้งเป้าหมายไว้ว่า ภายในปี 2030 เราจะลดการใช้อาวุธและลดการใช้ความรุนแรงภายในประเทศให้ได้อย่างมีนัยยะสำคัญ รวมถึงเสริมสร้างความยุติธรรมในระดับนานาชาติ และเสริมความแข็งแกร่งให้องค์กรข้ามชาติเพื่อป้องกันการก่อการร้าย” Mr. Davann Tanheang อธิบดีกระทรวงพัฒนาความยุติธรรมทั่วไป และเจ้าหน้าที่อาวุโสอาเซียนด้านกฎหมาย (ASLOM) จากประเทศกัมพูชา อธิบาย

นอกจากนี้ อาเซียนยังมีการประชุมผู้นำภาคี (Conference of the Parties – COP) ซึ่งตั้งใจจะลดภัยคุกคามทางสังคมให้ได้ตั้งแต่ต้นน้ำ รวมถึงลดความขัดแย้ง ความเข้าใจผิดทางวัฒนธรรม และการตีความที่คลาดเคลื่อน โดยเน้นหลักการสำคัญ 3 ข้อ

หลักการข้อแรก คือ การเสริมสร้างให้เกิดความรู้และความเข้าใจด้านภัยคุกคามมากขึ้น เพื่อจะนำไปสู่การตระหนักถึงปัญหา สาเหตุที่แท้จริง และผลกระทบที่เกิดจากความรุนแรง ทั้งในระดับองค์กรและสถาบันต่างๆ หลักการข้อที่สอง คือ การสนับสนุนและส่งเสริมให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางความคิด และหลักการข้อสุดท้าย คือ การส่งเสริมให้เกิดค่านิยมที่ดี เช่น สันติภาพ ความสามัคคี ความเข้าใจในวัฒนธรรมที่แตกต่าง รวมถึงเรื่องหลักนิติธรรม (Rule of Law) ซึ่งการสนับสนุนหลักการเหล่านี้จะทำผ่านทางการประสานงานกับ 3 เสาหลักของอาเซียน

และเช่นเดียวกับผู้เชี่ยวชาญท่านอื่น Mr. Tanheang ไม่ลืมที่จะเน้นย้ำถึงความสำคัญของเยาวชน โดยเขากล่าวว่า อาเซียนมุ่งส่งเสริมผู้นำภาคภาคีให้พัฒนาทักษะด้านการศึกษา การเรียนรู้ และการพัฒนา เพื่อจะส่งเสริมให้เกิดการมีส่วนร่วมของเยาวชน (youth engagement) มากขึ้น

อีกหนึ่งเสียงจากอาเซียนคือ Ms. Yuyun Wahyuningrum ผู้แทนคณะกรรมาธิการระหว่างรัฐบาลอาเซียนว่าด้วยสิทธิมนุษยชน (AICHR) จากอินโดนีเซีย โดยเธอเห็นสอดคล้องกับทุกคนว่า อาชญากรรมไซเบอร์เป็นภัยคุกคามแบบใหม่ที่ทุกประเทศต้องเผชิญ และต้องเข้ามาร่วมกันแก้ปัญหา ทั้งนี้ เธอได้ทิ้งคำถามที่ชวนขบคิดไว้ว่า แน่นอนว่าการสร้างวัฒนธรรมการป้องกันในอาเซียนให้เกิดขึ้นจริงเป็นเรื่องที่ต้องทำ แต่อีกสิ่งที่เราจำเป็นต้องทำด้วยคือ ระบุต้นเหตุของปัญหา รวมถึงการสร้างความรู้ความเข้าใจในเรื่องนี้


ผลงานชิ้นนี้เป็นส่วนหนึ่งของความร่วมมือระหว่าง สถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย (TIJ) และ The101.world

MOST READ

Social Issues

9 Oct 2023

เด็กจุฬาฯ รวยกว่าคนทั้งประเทศจริงไหม?

ร่วมหาคำตอบจากคำพูดที่ว่า “เด็กจุฬาฯ เป็นเด็กบ้านรวย” ผ่านแบบสำรวจฐานะทางเศรษฐกิจ สังคม และความเหลื่อมล้ำ ในนิสิตจุฬาฯ ปี 1 ปีการศึกษา 2566

เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล

9 Oct 2023

Social Issues

5 Jan 2023

คู่มือ ‘ขายวิญญาณ’ เพื่อตำแหน่งวิชาการในมหาวิทยาลัย

สมชาย ปรีชาศิลปกุล เขียนถึง 4 ประเด็นที่พึงตระหนักของผู้ขอตำแหน่งวิชาการ จากประสบการณ์มากกว่าทศวรรษในกระบวนการขอตำแหน่งทางวิชาการในสถาบันการศึกษา

สมชาย ปรีชาศิลปกุล

5 Jan 2023

Social Issues

27 Aug 2018

เส้นทางที่เลือกไม่ได้ ของ ‘ผู้ชายขายตัว’

วรุตม์ พงศ์พิพัฒน์ พาไปสำรวจโลกของ ‘ผู้ชายขายบริการ’ ในย่านสีลมและพื้นที่ใกล้เคียง เปิดปูมหลังชีวิตของพนักงานบริการในร้านนวด ร้านคาราโอเกะ ไปจนถึงบาร์อะโกโก้ พร้อมตีแผ่แง่มุมลับๆ ที่ยากจะเข้าถึง

กองบรรณาธิการ

27 Aug 2018

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save