fbpx

โขงชีมูล: มูนมังที่พังทลายของคนอีสาน

1

เสียงเตือนจากสมาร์ตวอทช์ของช่างภาพดังขึ้นตอนเรากำลังขับรถผ่านลำตะคอง มุ่งตรงสู่เมืองโคราช

ไม่ใช่เตือนว่าพายุจะเข้าหรือแบตฯ ใกล้หมด แต่นาฬิกาแจ้งว่าเรากำลังอยู่ที่ความสูงประมาณ 200 เมตรจากระดับน้ำทะเลปานกลาง เป็นสัญญาณว่าเรากำลังอยู่บนที่ราบสูงโคราช

คำว่า ‘ที่ราบสูงโคราช’ (Khorat Plateau) ไม่ได้หมายถึงเฉพาะพื้นที่จังหวัดนครราชสีมาเท่านั้น แต่หมายรวมถึงพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทยทั้งแผ่น คำนี้ปรากฏผ่านบทเพลงและเรื่องเล่ามากมาย ที่เรียกอีสานในอีกชื่อว่าเป็น ‘ดินแดนที่ราบสูง’

อันที่จริงจะบอกว่าเป็น ‘ที่ราบแบนเรียบ’ อย่างเดียวคงไม่ถูกต้องตามภูมิศาสตร์เท่าใดนัก เพราะภาคอีสานเป็นที่ราบสูงแบบแอ่งแผ่นดินตื้น (shallow basin) มีชายขอบเป็นภูเขาสูงล้อมรอบ โดยมีเทือกเขาภูพานสูงตระหง่านกั้นกลาง แบ่งที่ราบออกเป็นสองแอ่ง ส่วนที่อยู่ตอนเหนือเรียกว่า ‘แอ่งสกลนคร’ และส่วนที่อยู่ตอนล่างเรียกว่า ‘แอ่งโคราช’

แผ่นดินที่ราบสูง 168,854 ตารางกิโลเมตรแห่งนี้ แบ่งภูมิประเทศออกเป็นสองแบบคือโคกสูงสลับแอ่งและที่ราบลุ่มน้ำ ลึกลงไปใต้ผิวดิน อุดมไปด้วยเกลือและแร่ธาตุ ผืนดินที่มีทั้งพื้นที่ราบกว้างใหญ่และป่าไม้ต่างชนิดนี้ มีแม่น้ำสามสายหลักที่คอยหล่อเลี้ยงชีวิตผู้คนมาตั้งแต่บรรพกาลคือแม่น้ำชี แม่น้ำมูล และแม่น้ำโขง

แม่น้ำชีมีความยาวประมาณ 830 กิโลเมตร เริ่มต้นจากเทือกเขาเพชรบูรณ์ ไหลผ่านเทือกเขาสูง เลาะลงมาสู่ที่ราบ ซอกซอนไปตามพื้นที่กว่า 14 จังหวัด แล้วไปบรรจบกับแม่น้ำมูลที่บ้านวังยาง อุบลราชธานี เพื่อไหลลงสู่แม่น้ำโขงในท้ายที่สุด

ลำตะคองที่อยู่ซ้ายมือของเราก็เป็นหนึ่งในสาขาของลำน้ำมูล – แม่น้ำที่ไหลเลาะยาวกว่า 640 กิโลเมตร เริ่มจากเขตเทือกเขาสันกำแพงที่โคราชยาวไปจนไหลออกแม่น้ำโขงที่อำเภอโขงเจียม อุบลราชธานี

แม้อีสานจะถูกมองว่าเป็นภูมิภาคที่แห้งแล้งและปลูกอะไรไม่ค่อยขึ้น แต่ช่วงต้นเดือนเมษายน ภาคอีสานต้อนรับเราด้วยภูเขาเขียวขจี ร้านขายน้องวัว และแหล่งน้ำขนาดใหญ่เช่นลำตะคอง

คำว่า ‘อีสานแล้ง’ มีมาตั้งแต่อดีตและคงอยู่ไม่หายไปไหน ซึ่งเป็นหนึ่งในเหตุผลสำคัญที่ทำให้เกิดโครงการโขง-ชี-มูล โครงการจัดการน้ำขนาดใหญ่ในภาคอีสานเมื่อประมาณ 30 ปีที่แล้ว

หนังสือโครงการโขง-ชี-มูลของกรมพัฒนาและส่งเสริมพลังงาน กระทรวงวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและสิ่งแวดล้อม ที่เผยแพร่เมื่อปี 2538 ระบุชัดในหน้า ‘ความเป็นมา’ ของโครงการว่าเรื่องการขาดแคลนน้ำในอีสานเป็นเหตุผลสำคัญในการผลักดันโครงการ ดังย่อหน้าต่อไปนี้

“ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีพื้นที่และราษฎรประมาณ 1 ใน 3 ของประเทศ ประสพปัญหาในการขาดแคลนน้ำในการเพาะปลูก อุปโภค และบริโภค เนื่องจากมีข้อจำกัดที่ปริมาณน้ำไม่เพียงพอ โดยเฉพาะในลุ่มน้ำมูล-ชี ในอดีตที่ผ่านมาได้มีการศึกษาโครงการต่างๆ หลายโครงการ เพื่อแก้ไขปัญหาเรื่องการขาดแคลนน้ำในภาคนี้ ผลการศึกษาสรุปว่าน้ำที่มีอยู่ในประเทศแม้จะมีปริมาณสูงมากในฤดูฝน แต่ก็ไม่สามารถเก็บกักและนำมาใช้ได้อย่างพอเพียงในฤดูแล้ง ดังนั้นจึงมีความจำเป็นต้องปันน้ำจากแม่น้ำโขงเข้ามายังลุ่มน้ำสำคัญสองลุ่มน้ำคือ ลุ่มน้ำชีและลุ่มน้ำมูล”

นับตั้งแต่วันที่ 8 เมษายน 2532 ที่คณะรัฐมนตรีมีมติให้กระทรวงวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและสิ่งแวดล้อมดำเนินการศึกษาโครงการโขง-ชี-มูล ตอนนี้ผ่านมาแล้ว 34 ปี โดยในวันเริ่มต้น มีการวางพัฒนาโครงการโขง-ชี-มูลไว้ทั้งสิ้น 42 ปี (ปี 2535-2577) ประเมินตอนนั้นว่าจะสามารถส่งน้ำให้แก่พื้นที่เกษตรได้ประมาณ 4.98 ล้านไร่

พูดให้เข้าใจง่าย โครงการโขง-ชี-มูล คือความพยายามสร้างก๊อกน้ำจากแม่น้ำที่ไหลทั่วอีสาน ให้ไหลลงไปสู่พื้นที่เกษตรกรรม ผ่านการสร้างเขื่อน ฝาย และคลอง และเก็บกักไว้เพื่อใช้ในฤดูแล้ง โดยอนุมัติงบประมาณในแผนพัฒนาระยะที่ 1 (ปี 2535-2544) ที่ 10,346 ล้านบาท

โดยไม่ต้องใช้ไทม์แมชชีน เพราะเรามาจากปัจจุบัน นับตั้งแต่วันเริ่มโครงการสร้างฝาย-เขื่อน-คลองผันน้ำทั่วแผ่นดินที่ราบสูง มาถึงวันนี้ทุกคนเห็นตรงกันว่าโครงการโขง-ชี-มูล ล้มเหลวมากกว่าสำเร็จ ความพยายามในการกักเก็บน้ำ กลายเป็นสร้างปัญหาใหม่ให้เกิดขึ้นแตกต่างกันไปแต่ละพื้นที่ ผู้คนต้องระเห็จระเหออกจากบ้านตัวเอง เพราะทำมาหากินไม่ได้ – คนที่ได้ประโยชน์กลับไม่ใช่ชาวบ้านที่ทำเกษตรและทำประมงอย่างที่เคยวาดฝันไว้ตอนแรก

2

เราเริ่มต้นตามรอยโครงการโขง-ชี-มูลที่จังหวัดอุดรธานี จังหวัดที่อยู่ในพื้นที่แอ่งสกลนคร ตั้งใจว่าก่อนจะขับรถเลาะไปตามถนน เรือกสวนไร่นา เพื่อดูเขื่อน ฝาย และคลอง เราจำเป็นต้องเห็นภาพรวมและแก่นแกนปัญหาที่แท้จริงในการจัดการน้ำที่ภาคอีสานก่อน

ช่วงสายของฤดูร้อน เรานัดหมายกับสันติภาพ ศิริวัฒนไพบูลย์ อาจารย์ประจำสาขาวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏอุดรธานี ผู้ทำวิจัย ‘การพัฒนาระบบเศรษฐกิจฐานรากเพื่อลดความเหลื่อมล้ำในชุมชนชนบทอีสาน’ เพื่อพูดคุยว่าด้วยรากปัญหาของแผ่นดินที่ราบสูงผ่านโครงการผันน้ำโขง-ชี-มูล

“โครงการผันน้ำโขง-ชี-มูลฝืนธรรมชาติทั้งหมด นี่คือปัญหาใหญ่ บางจุดใช้วิธีสูบน้ำจากที่ต่ำขึ้นมาที่สูงโดยการกั้นฝาย แล้วสูบทอยเป็นช่วงๆ นี่ก็ฝืนแรงโน้มถ่วง แล้วคุณต้องปิดปากแม่น้ำ ปิดกั้นเส้นทางอพยพของปลา หรือคุณไปทำอ่างเก็บน้ำโดยถมคันดินขึ้นมารอบหนอง บึง หรือรอบพื้นที่ป่าที่ลุ่มต่ำ บริเวณนั้นกลายเป็นอ่างเก็บน้ำทั้งที่ก่อนหน้านั้นเป็นป่าบุ่งป่าทามมาก่อน เช่น ที่ราษีไศล สูญเสียป่าบุ่งป่าทามไปสองแสนกว่าไร่ จึงตามมาด้วยปัญหามากมาย ทำให้ระบบนิเวศสูญเสียตามที่ราบริมน้ำ” สันติภาพเริ่มต้นด้วยการอธิบายปัญหาที่เกิดขึ้นตลอด 30 ปี เมื่อเกิดโครงการโขง-ชี-มูลขึ้น

สันติภาพ ศิริวัฒนไพบูลย์ อาจารย์ประจำสาขาวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏอุดรธานี

นอกจากประเด็นเรื่องกระทบต่อระบบนิเวศแล้ว อีกหนึ่งปัญหาที่เชื่อมโยงกันคือ น้ำมาในช่วงที่คนไม่ต้องการน้ำ เช่น ฤดูฝนที่มีน้ำเยอะอยู่แล้ว ส่งผลให้น้ำเยอะเกินไปจนไหลไปขังนอกคันดินจนท่วมนาชาวบ้าน สิ่งที่สืบเนื่องกันคือทำให้ชาวบ้านทำนาปีไม่ได้ ต้องหันมาทำนาปรัง ซึ่งนั่นหมายถึงการต้องหาพื้นที่ใกล้ๆ ที่สามารถเอาน้ำมาใช้ได้ จนนำไปสู่การต้องบุกรุกป่าบุ่งป่าทาม ปัญหานี้เห็นได้มากในบริเวณแม่น้ำสงคราม ลำห้วยหลวง

ทั้งนี้ก็ใช่ว่าโครงการจะมีเฉพาะข้อเสียเท่านั้น เพราะการจัดการระบบชลประทานก็มีประโยชน์อยู่บ้าง เช่น บางพื้นที่ก็สูบน้ำใช้ในฤดูแล้งได้ บางพื้นที่ก็เป็นแหล่งเก็บน้ำถาวร เป็นต้น

“แหล่งเก็บน้ำพวกนี้ก็พอเก็บได้บ้าง แต่การจะสูบปั๊มส่งไปไกลๆ เราก็ไม่ได้พัฒนาถึงขนาดนั้น ปัญหาสำคัญคือความไม่คุ้มค่า ทำมาแล้วมีค่าใช้จ่ายในการดูแลเยอะ เช่นที่หนองหานกุมภวาปี กรมพัฒนาพลังงานทดแทนฯ สมัยนั้นทำโครงการสิบลำห้วยลงมาจ่อที่หนองหานเสร็จ แต่ก็ต้องปั๊มน้ำเข้าแล้วเก็บน้ำในคันดิน ปรากฏว่าปั๊มพัง ไม่มีเงินซ่อม ไม่รู้ว่าใครต้องจ่าย นี่คือปัญหาใหญ่” สันติภาพขยายความ

ย้อนกลับไปที่เหตุผลแรกที่ทำให้ภาครัฐตัดสินใจอนุมัติโครงการโขง-ชี-มูล คำว่า ‘อีสานแล้ง’ คือเหตุผลสำคัญ แต่ก็อย่างที่วลีอันโด่งดังว่า ‘ไผว่าอิสานแล้ง สิจูงแขนเพิ่นไปเพิ่ง’ ที่สะท้อนว่าความแห้งแล้งที่อีสานถูกตีตรานั้นอาจไม่ใช่ความจริง หรือเป็นการพูดความจริงครึ่งเดียว

“แอฟริกา อิสราเอลแล้งกว่าเรา อิสราเอลมีปริมาณเฉลี่ยน้ำฝน 500 มิลลิเมตรต่อปี ของภาคอีสานประมาณ 1,300 มิลลิเมตรต่อปี มากกว่าเขาเท่าหนึ่ง เพราะฉะนั้นจะบอกว่าอีสานแล้งไม่จริงหรอก เราจมอยู่กับคำว่าแล้งนานเกินไป” สันติภาพเปิดประเด็น ก่อนจะอธิบายต่อว่า พื้นที่ที่แล้งจริงๆ อยู่ในตอนล่างของภาคอีสาน เช่น ชัยภูมิ ขอนแก่น มหาสารคาม นครราชสีมา แต่ก็ไม่ได้ความว่าแล้งชนิดไม่มีฝนตกเลย ซึ่งสาเหตุมาจากพื้นที่บริเวณนี้อยู่ตรงกลางของประเทศไทย ทำให้พายุที่มาจากอ่าวไทย มหาสมุทรอินเดีย และทะเลจีนใต้ ไปไม่ถึง ทำให้ปริมาณน้ำฝนน้อย

ขณะเดียวกันพื้นที่ที่ฝนตกดีในอีสานคือ อุดรธานี หนองบัวลำภู เลย ไล่ลงไปกาฬสินธุ์ สกลนคร ศรีสะเกษ และที่ฝนตกชุกมากๆ อยู่ในพื้นที่จังหวัดหนองคาย บึงกาฬ นครพนม อุบลราชธานี อำนาจเจริญ มุกดาหาร

“บางจังหวัดฝนดีกว่าภาคใต้อีก อย่างสุราษฎร์ธานีมีปริมาณน้ำฝน 1,800 มิลลิเมตรต่อปี แต่นครพนมมีปริมาณน้ำฝน 2,500 มิลลิเมตรต่อปี เพราะฉะนั้นจะบอกว่าอีสานแล้งทั้งหมด อันนี้ไม่ใช่” สันติภาพกล่าว ก่อนย้ำว่า “พื้นที่แล้งของอีสาน ปริมาณฝนเฉลี่ยยังเยอะกว่าภาคกลางตอนล่างด้วยซ้ำ”

อีสานมีพื้นที่กว่า 105 ล้านไร่ แต่ปัจจุบันหลงเหลือพื้นที่ป่าอยู่เพียง 15 ล้านไร่ (คิดเป็นประมาณ 14% ของพื้นที่ ซึ่งเป็นสัดส่วนที่น้อยที่สุดจากทุกภาค) หากใครเคยขับรถเลาะไปตามช่วงภูเขาจะเห็นป่าหลากหลายแบบในอีสานทั้งเขียวขจีและแห้งแล้ง ทั้งป่าแดง ป่าเบญจพรรณ ไปจนถึงป่าทุ่ง แต่นี่เป็นป่าที่หลงเหลือจากการถูกทำลายไปมากในช่วงปราบปรามคอมมิวนิสต์ และเมื่อดินในภาคอีสานเป็นดินปนทราย ทำให้ขาดความอุดมสมบูรณ์และไม่สามารถกักเก็บน้ำ ส่งผลให้ป่าไม้ที่ถูกทำลายไปแล้วไม่สามารถฟื้นฟูขึ้นมาใหม่ได้ นี่เป็นสิ่งที่คนอีสานในปัจจุบันจำเป็นต้องเผชิญ

ป่ากับน้ำเป็นตัวประเมินค่าความอุดมสมบูรณ์ของพื้นที่ ประเด็นที่น่าหยิบมาคุยกันก็คือ ธรรมชาติไม่ได้ลงโทษอีสานมาตั้งแต่แรก แต่การจัดการกับธรรมชาติของคนต่างหากที่เป็นปัญหา โดยเฉพาะการจัดการน้ำ

“อีสานไม่ได้แล้งขนาดนั้น เพียงแต่ลักษณะภูมิประเทศของอีสานลาดเทมาจากทางเทือกเขาเพชรบูรณ์ เทือกเขาใหญ่ขวางระหว่างภาคกลางกับภาคอีสาน ลาดจากทางนั้นลงมาถึงแม่น้ำมูล แม่น้ำชี แต่พื้นที่แถบนั้นฝนไม่เยอะ พอสร้างเขื่อนข้างบนเลยไม่ค่อยมีน้ำ พอปริมาณฝนมาเยอะตอนล่างก็ไม่มีพื้นที่เหมาะกับการสร้างเขื่อนอีกเพราะเป็นที่ราบ เลยกลายเป็นว่าเราไปทำเขื่อนเยอะแยะบนต้นน้ำที่ฝนน้อยแต่ไม่มีน้ำ

“ตรงกลางที่พอจะมีน้ำหน่อยก็ไม่ค่อยมีพื้นที่เหมาะสมที่จะสร้างเขื่อนเพราะพื้นแบนราบ เวลาสร้างเขื่อนจึงเหมือนอ่างกระทะ กว้างแต่ไม่ลึก อย่างเขื่อนอุบลรัตน์มีพื้นที่เท่าเขื่อนภูมิพล แต่เก็บน้ำได้น้อยกว่าเขื่อนภูมิพลประมาณสามเท่า คือความกว้างเท่ากันแต่ความลึกไม่เท่า เพราะฉะนั้นลักษณะการจัดการน้ำของอีสานจึงยากหน่อย จะขุดสระ ขุดบ่อ ดินอีสานก็เป็นดินทรายอีก ขุดลึกก็เจอดินเค็ม น้ำเค็มอีก ตรงนี้จึงเป็นโจทย์ยาก แต่เรื่องปริมาณน้ำฝนไม่ใช่ประเด็นหลัก” สันติภาพลงรายละเอียด

มาถึงตรงนี้ ปัญหาย่อมอยู่ที่การจัดการมากกว่าปริมาณฝน สันติภาพเสนอว่าการจัดการน้ำในภาคอีสาน ควรเปลี่ยนวิธีคิดจากการขยับสับเปลี่ยนน้ำด้วยสเกลการก่อสร้างระดับมหึมา มาสู่การปรับปรุงระบบชลประทานขนาดเล็กที่เข้าถึงชาวบ้านจริงๆ ซึ่งนั่นหมายถึงการทำความเข้าใจปริมาณน้ำฝนและปริมาณน้ำท่า ก่อนจะเข้ามาจัดการน้ำในพื้นที่

ที่จริงเรามีปริมาณน้ำท่าเยอะนะ คือน้ำที่ไหลในแม่น้ำ ปริมาณการไหลในแม่น้ำสายหลักมีประมาณ 7-8 หมื่นล้านลูกบาศก์เมตรต่อปี กรมชลประทานก็พยายามคิดจากตรงนั้นแหละว่าจะเอาน้ำพวกนี้มาใช้อย่างไร หรืออย่างน้ำฝนที่ตกลงไปในพื้นที่อีสานทั้งหมดก็เยอะมากเลยนะ ภาคอีสานมีประมาณ 105 ล้านไร่ ถ้าฝนที่ตกลงมาไม่ระเหยไปไหน ไม่ซึมลงดิน ในปีหนึ่งน้ำจะสูงขึ้นมาจากพื้นถึง 1.30 เมตร ถือว่าเยอะ แต่ความจริงของพื้นที่อีสานคือเป็นดินทราย ฝนตกก็ซึมลงไปโดยเร็ว แต่ก็ไม่ไร้ประโยชน์หรอก เพราะก็จะกลายเป็นน้ำใต้ดิน น้ำบาดาล หรือบางส่วนก็เอ่อล้นไหลไปกับน้ำท่า บางส่วนก็ขังตามหนอง” สันติภาพกล่าว

เขาเสนอทางออกว่า “ภาคอีสานต้องมองเรื่องชลประทานระดับเล็ก แล้วเอาขีดความสามารถของน้ำฝนมาใช้น่าจะเหมาะกว่า ส่วนการใช้น้ำท่าที่ทำอยู่ก็เหลือเฟือแล้ว เกินกว่าที่จะทำใหม่แล้วล่ะ แต่ไปทำให้ดีเถอะ ของเดิมที่ทำแย่ๆ ไว้ไปแก้ก่อน แล้วมาพัฒนาระบบบริหารจัดการน้ำขนาดเล็กอย่างจริงจัง”

หากใครขับรถผ่านไปทางอีสาน ป้ายบอกชื่อหมู่บ้านจำนวนมาก มักขึ้นต้นหรือลงท้ายด้วยคำว่า ‘โคก’ หรือ ‘โนน’ ซึ่งหมายถึงพื้นที่เป็นเนินสูงขึ้นจากพื้นราบ อันเป็นลักษณะภูมิประเทศที่มีอยู่มากในภูมิภาคนี้ และอย่างที่ทุกคนรู้ คำว่า ‘โคก’ ในอีกความหมายคือการอยู่ห่างไกลความเจริญและแห้งแล้ง ซึ่งส่วนหนึ่งมีที่มาจากการเข้าไม่ถึงแหล่งน้ำและระบบชลประทาน

“ลองคิดดูนะครับ พื้นที่สูงพื้นที่ดอนที่ชื่อบ้านโนน บ้านโคกเต็มไปหมด พวกนี้ระบบชลประทานไปไม่ถึงหรอก ต้องเอาฝนในพื้นที่ไปใช้ เมื่อก่อนเราก็ใช้เทคโนโลยีแบบขอมโบราณ มีบาราย มีพื้นที่เก็บน้ำเป็นสระหนอง แต่ละหมู่บ้านมีสระประจำหมู่บ้าน แล้วตอนหลังก็พัฒนาเป็นระบบบาดาลหมู่บ้าน ประปาหมู่บ้าน เป็นต้น ทีนี้เราก็ต้องพยายามพัฒนาตรงนั้นมาก่อน แล้วดูว่าในระบบไร่นาที่อยู่ในพื้นที่เดียวกัน ระบบนิเวศใกล้เคียงกัน ดูสิว่าจะจัดการน้ำอย่างไรให้พอจากน้ำฝนที่ตกลงมา แล้วไปฟื้นฟูป่าต้นน้ำที่เป็นพื้นที่เก็บน้ำโดยธรรมชาติ คือถ้าไม่พอจริงๆ ค่อยว่ากันกับโครงการใหญ่ๆ แต่ส่วนเล็กๆ นี่ทำเต็มที่หรือยัง ผมคิดว่ายังไม่ทำ” สันติภาพกล่าว เขายังยกตัวอย่างว่า เกษตรกรในพื้นที่สูงที่เป็นโคก ต้องอาศัยน้ำใต้ดินหรือน้ำฝน และการบริหารจัดการขนาดเล็กในชุมชน

“ภาคอีสานถูกกระทำจากนโยบายจนทำให้ลักษณะทางอุทกวิทยาเปลี่ยน น้ำที่เคยมี แห้งเร็วขึ้น ไหลไปไวขึ้น นักการเมืองบอกว่าอีสานแล้ง ปล่อยให้น้ำไหลไปโดยเปล่าประโยชน์ ต้องกั้น ต้องทำเขื่อน จึงตามมาด้วยโครงการพวกนี้ ถ้าย้อนกลับไป จะเห็นว่าเราผิดพลาดมาเยอะนะกับภาคอีสาน” สันติภาพกล่าวสรุป

3

โอ โอ้ละหนอ โขง ชี มูลแม่เอย

ยังไหลเอื่อย บ่มีพัก บ่มีเหนื่อยมาเนิ่นนาน

โอ้มาลาดวงดอกไม้ ร้อยรวมใจคนอีสาน

ลำนำพิณแคนยังขับขาน สายน้ำตำนานคนบ้านเฮา

เนื้อเพลง ‘เพลงฮักโขงชีมูล’ ที่รวมศิลปินลูกทุ่งอีสานมาร้องร่วมกัน บรรยายถึงความผูกพันระหว่างคนอีสานกับแม่น้ำโขง ชี มูล เอาไว้อย่างเห็นภาพ

แม่น้ำที่ไหลเอื่อย มั่นคง และอ่อนโยนนี้ ถูกโครงการคอนกรีตขนาดใหญ่พัดพา กักเก็บ และขวางทางน้ำมาตลอด 30 ปี แน่ว่าบาดแผลและความเสียหายที่เกิดขึ้นส่งต่อมาตั้งแต่รุ่นพ่อถึงรุ่นลูก หลายคนเผชิญปัญหาตั้งแต่วัยหนุ่มสาวจนวัยชรา เหมือนอย่างที่ลุงบุญเกิด คนอำเภอราษีไศล จังหวัดศรีสะเกษเคยเล่าให้ฉันฟังในการชุมนุมของสมัชชาคนจนเมื่อปี 2562 ว่า

“ผมมาเรื่องเขื่อนราษีไศลกักเก็บน้ำไว้เยอะแล้วปล่อยลงมาใส่หมู่บ้าน ปล่อยมาวันเดียวท่วมหมด เกือบเอารถไถขึ้นไม่ทัน เขายกประตูลอย น้ำไหลมาตู้มทีเดียวเลย ก็อยู่ไม่ได้แล้ว เลยพากันมาเรียกร้องรัฐบาลว่า พวกคุณทำแบบนี้ พวกเรากระทบแล้ว พวกคุณต้องจ่ายค่าชดเชยให้พวกเรา

“มีพื้นที่โดนผลกระทบ 5 อำเภอ คือ อำเภอเมือง ราษีไศล กันทรารมย์ อุทุมพรพิสัย และยางชุมน้อย เขาปล่อยน้ำมาทุกปี บอกตอนเช้า ปล่อยตอนเที่ยง ปีก่อนๆ ยังไม่ได้จ่ายค่าชดเชย จ่ายแต่กรณีเขื่อนราษีไศลนานแล้ว แต่กรณีเขื่อนหัวนายังไม่จ่าย จนถึงตอนนี้ 20 กว่าปีแล้ว ยังไม่ได้เงินสักบาท”

นอกจากที่ราษีไศลแล้ว ยังมีอีกหลายพื้นที่ที่เจอปัญหาน้ำท่วม ไปจนถึงโครงการที่กำลังก่อสร้างและอาจส่งผลเรื่องน้ำท่วมในอนาคต

หลังการพูดคุยกับอาจารย์สันติภาพ เราขับรถออกจากตัวเมืองอุดรธานีเพื่อมุ่งหน้าไปที่อำเภอโพนพิสัย จังหวัดหนองคาย ที่อยู่ของโครงการระบบชลประทานรอบอ่างห้วยหลวง ที่เริ่มดำเนินการก่อสร้างเป็นที่แรกๆ นับแต่มีการอนุมัติโครงการโขง-ชี-มูล

บริเวณนั้นอยู่ใกล้กับห้วยหลวง ซึ่งเป็นช่องทางน้ำสำคัญที่เชื่อมกับแม่น้ำโขง และกำลังมีการก่อสร้างสถานีสูบน้ำบริเวณบ้านแดนเมือง เพื่อผันน้ำจากแม่น้ำโขงเข้าลุ่มน้ำห้วยหลวงเพื่อกักเก็บไว้ใช้ในฤดูแล้ง

สุเทพ น้อยไพโรจน์ อธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยในปี 2559 ว่า หากเป็นการใช้น้ำช่วงฤดูฝน ไทยสามารถปันน้ำเข้ามาเก็บไว้ในลุ่มน้ำห้วยหลวงได้ แต่ถ้าจะใช้น้ำในฤดูแล้งต้องมีข้อตกลงระหว่างประเทศ เพราะการใช้น้ำจากลุ่มน้ำโขงตอนล่างเกี่ยวข้องกับหลายประเทศทั้งเมียนมา ลาว กัมพูชา และไทย เพื่อแก้ปัญหาภัยแล้งในระยะเร่งด่วน กรมชลประทานจะสร้างสถานีสูบน้ำชั่วคราว

เรื่องการ ‘กักเก็บน้ำ’ ไว้ใช้ในฤดูแล้งถูกนำมาใช้อีกครั้ง สำหรับโครงการก่อสร้างระบบชลประทานขนาดใหญ่ แต่โครงการนี้ถูกคัดค้านจากเครือข่ายภาคประชาชนลุ่มน้ำโขง เพราะอาจทำให้น้ำท่วมพื้นที่กว่าหนึ่งแสนไร่ แต่กรมชลประทานก็ยังยืนยันว่าจะทำต่อไป เพราะเชื่อว่าจะเป็นการแก้ปัญหาภัยแล้งและน้ำท่วมได้อย่างยั่งยืน

จากอากาศร้อนระอุในช่วงสาย เริ่มเปลี่ยนเป็นฟ้าครึ้ม และฝนก็ตกลงมาอย่างหนักในบ่ายเดือนเมษายน เป็นฝนฤดูร้อนที่ไม่ปราณีปราศรัยคนใช้รถใช้ถนน เราขับมาจนถึงไซต์ก่อสร้างสถานีสูบน้ำบ้านแดนเมือง ตั้งตระหง่านอยู่ข้างทางหลวงหมายเลข 212 ด้านซ้ายมือเป็นแม่น้ำโขงเลียบไปตลอดเส้นทาง

สถานีสูบน้ำบริเวณบ้านแดนเมืองเป็นเพียงหนึ่งในความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นกับคนในพื้นที่จากอีกหลายสิบโครงการ ที่อยู่ในแผนการจัดการน้ำโขง-ชี-มูล หากใครเคยลัดเลาะไปในชนบทของภาคอีสาน จะเห็นว่ามีฝาย สถานีสูบน้ำ และคลอง อยู่จำนวนมาก จนคล้ายว่าดินแดนแห่งนี้อุดมไปด้วยน้ำ แต่ในความเป็นจริงมีชาวบ้านที่ไม่ได้ประโยชน์และเสียประโยชน์จากเรื่องนี้เยอะมาก อย่างที่อาจารย์สันติภาพเล่า

คนที่อยู่ใกล้แม่น้ำ กลายเป็นคนไม่ได้ใช้น้ำ และยังต้องรับความเสี่ยงจากการถูกน้ำท่วม เพราะการจัดระบบน้ำที่ผิดธรรมชาติ

ประเด็นเรื่องการจัดการน้ำในภาคอีสานไม่ได้ส่งผลเฉพาะเกษตรกรเท่านั้น แต่ยังส่งผลถึงชาวประมงด้วย คราวนี้ไม่ใช่เรื่องน้ำท่วม แต่เป็นเรื่องการเดินทางของปลา

จากสถานีสูบน้ำบ้านแดนเมือง เราขับรถไปต่อที่อุบลราชธานี จังหวัดที่มีเขื่อนขนาดใหญ่ถึงสองเขื่อนคือเขื่อนปากมูลและเขื่อนสิรินธร เป้าหมายของเราคือแม่น้ำมูล

4

ที่บ้านลาดวารี อำเภอสิรินธร ดูจากชื่อก็พอจะรู้ว่าหมู่บ้านแห่งนี้อยู่ใกล้น้ำแค่ไหน

บ้านลาดวารีเป็นหมู่บ้านเล็กๆ ที่ทอดตัวอยู่ริมลำน้ำมูล ชาวบ้านส่วนมากประกอบอาชีพประมง หากินกับแม่น้ำมูลมาหลายชั่วอายุคน ในช่วงเช้า บริเวณชานบ้านตรงท้ายหมู่บ้าน ผู้คนหลายสิบชีวิตกำลังลงชื่อเพื่อระบุว่าครอบครัวเป็นผู้ได้รับผลกระทบจากการสร้างเขื่อนสิรินธร โดยมีแม่สมปอง เวียงจันทร์ เป็นคนรวบรวมรายชื่อ

“ตอนนี้มีประมาณ 2,500 ครอบครัวอยู่ในลุ่มน้ำมูลที่ได้รับผลกระทบจากเขื่อน เราสู้เรื่องนี้มา 20 กว่าปีแล้ว” แม่สมปองเล่า

ปัญหาที่เกิดขึ้นจากการสร้างเขื่อนสิรินธรคือ เมื่อมีเขื่อนคอยควบคุมลำโดมน้อยและลำน้ำมูล การปิดประตูเขื่อนกั้นน้ำส่งผลให้การไหลของน้ำผิดปกติ จนทำให้ชาวประมงหาปลาไม่ได้อย่างเคย และเมื่อถึงช่วงน้ำหลากที่ปลาขึ้นเยอะ ก็มีกฎหมายควบคุมไม่ให้หาปลาในช่วงนั้น หรือที่ชาวบ้านเรียกกันว่า ‘ฤดูน้ำแดง’

“เขื่อนทำให้น้ำไม่ปกติ เวลาชาวบ้านต้องการปลา ก็ไม่เปิดให้ปลาเข้า พอปลาจะเข้ามาก็ปล่อยน้ำตอนระหว่างน้ำหลาก” แม่สมปองอธิบาย

เมื่อเกิดปัญหา ชาวบ้านจึงเรียกร้องต่อรัฐตั้งแต่ปี 2540 ให้มีการเปิดเขื่อนตลอด หรือเปิด-ปิดตามฤดูกาลของน้ำ แต่สุดท้ายรัฐบอกว่าจะจัดหาที่ดินทดแทนให้ครอบครัวละ 15 ไร่ จนถึงทุกวันนี้ก็ยังไม่มีใครได้ที่ดินสักตารางวา

“เราก็แล้วแต่รัฐ รัฐจะให้อะไรเราก็เอา แต่รัฐก็ไม่ให้เท่าทุกวันนี้ รัฐบาลชุดไหนมาก็บอกว่าตั้งคณะกรรมการเพื่อพิจารณาเรื่องนี้ แต่สุดท้ายก็ไม่เกิดอะไรขึ้น แล้วก็วนอยู่กับการยุบสภาแล้วตั้งใหม่อย่างนี้” แม่สมปองว่า

วันที่เราคุยกันที่บ้านลาดวารี ประเทศไทยกำลังจะมีการเลือกตั้งในเดือนพฤษภาคม 2566 ชาวบ้านจึงคาดหวังกับการเลือกตั้งครั้งนี้มาก และหวังว่าการเยียวยาจะเกิดขึ้นได้จริงในรัฐบาลใหม่

“ถ้ามีรัฐบาลใหม่ เราก็จะเข้ากรุงเทพฯ ไปยื่นหนังสือกับรัฐมนตรีเพื่อให้ตั้งคณะกรรมการพิจารณาการเยียวยาอีกครั้ง” แม่สมปองพูดด้วยแววตาเปี่ยมความหวัง

“เอาแค่เดือนนี้หาเช้า กินเช้า ไม่ได้ข้าวเย็น” ลุงสมชาย พวงพันธ์ ชาวบ้านลาดวารี อดีตตำรวจที่ผันตัวเองมาเป็นชาวประมงเริ่มเล่าปัญหาให้ฟัง “และถึงจะหาได้ ก็ได้ไม่สมควรตามที่เรา ได้ปลาตัวเล็กๆ 3-4 เซ็นฯ เอาไปทำอะไรไม่ได้ แต่ก่อนเครื่องมือไม่ทันสมัย ก็ยังหาปลาได้ ทุกวันนี้ถึงจะมีมองบางๆ (แหหว่าน) ก็ยังไม่โดนปลาเลย”

ประโยคนี้เรียกเสียงหัวเราะอย่างขันขื่นจากคนในวงกาแฟไม่น้อย

“คือก็ไม่ถึงกับว่าหาปลาไม่ได้สักตัวหรอก แต่ปลาหายาก ไม่ชุกเหมือนเดิม น้ำก็เสีย ขี้ปลาก็ลงน้ำ น้ำเสียแล้วปลาก็ไม่อยู่ ตายไป เป็นเชื้อโรค แล้วถามว่าปลาไหนทนทาน ก็คือปลาปักเป้า เราก็กินไม่ได้” ลุงชายอธิบายต่อ

“ทุกวันนี้มีรายได้จากการหาปลาประมาณเท่าไหร่” ฉันเอ่ยปากถาม

“5,000 บาท” ลุงชายตอบเร็ว

“ต่อเดือนเหรอคะ” ฉันถามต่อ

“ต่อปีสิ” ลุงชายพูดจบ เรียกเสียงหัวเราะได้ทั้งวง แม้ว่าจะไม่ใช่เรื่องน่ายินดีเลยก็ตาม

5,000 บาทต่อปี เป็นตัวเลขที่รุนแรงเกินไปแน่ๆ สำหรับคนที่ผูกชีวิตไว้กับการประมง ลุงชายบอกว่าตอนนี้อาศัยเผาถ่านขาย และได้เงินจากลูกที่ไปทำงานไกลบ้านส่งมาให้

เมื่อรายได้ไม่เป็นไปตามที่คาดหวัง ปัญหาที่ตามมาคือเรื่องหนี้สิน

“ส่วนมากติดหนี้ธนาคารกันทั้งนั้น กู้เขามาแล้วคืนไม่ได้” แม่สมปองว่า ชาวบ้านหลายคนที่นั่งอยู่พยักหน้าอย่างเห็นด้วย

“โฉนดที่ดินไม่มีเก็บไว้เองหรอก อยู่กับธนาคารหมด ถามว่ากู้เงินมาทำอะไร มาลงทุน ซื้อมอง แต่ทำไม่สำเร็จ หาปลาก็ไม่ได้ทุนคืน” ลุงชายเสริม

อย่างที่ทุกคนรู้ เมื่อได้เริ่มเป็นหนี้แล้ว หากไม่สามารถหาเงินแบบติดสปีด หนี้ย่อมพอกพูนมากกว่ารายได้ หลายคนเริ่มที่หนี้สี่แสนบาท เมื่อเวลาผ่าน ดอกเบี้ยก็พาจำนวนหนี้วิ่งไปถึงหลักหกแสนบาท – แล้วจะเอาอะไรกับรายได้หลักพันต่อปี

“นี่แหละคือปัญหา ชาวบ้านถึงอยากให้รัฐจัดหาที่ดิน ชาวบ้านคุยกันแล้วว่ามันต้องเคลื่อน ตอนนี้ไม่ได้แล้ว เหมือนที่หลายคนตั้งคำถามว่า คุณสร้างเขื่อนใครได้ประโยชน์ ชาวบ้านพูดตรงกันว่าเขาไม่ได้อะไร” แม่สมปองกล่าวด้วยน้ำเสียงจริงจัง

ถ้าเป็นอย่างที่ใครหลายคนมักหย่อนประโยคว่า ‘ปากท้องรอไม่ได้’ การแก้ปัญหานี้ย่อมไม่ใช่เรื่องที่รัฐควรรอ – และยิ่งเป็นปัญหาเรื้อรังต่อเนื่องมากว่า 20 ปี รัฐบาลควรทำต่อได้ทันที เพราะข้อมูลความเสียหายและรายชื่อผู้คนถูกส่งถึงมือมาแล้วหลาย ครม.

ตอนนี้ข้อเรียกร้องของชาวบ้านมีหลักๆ สองข้อ คือ หนึ่ง ให้เปิด-ปิดประตูเขื่อนตามฤดูกาล กล่าวคือ ให้เปิดประตูในช่วงสี่เดือน (มิถุนายน-กันยายน) เพื่อให้ปลาขึ้นวางไข่และฟื้นฟูระบบนิเวศของแม่น้ำ และสอง ให้รัฐจัดหาที่ดินเพื่อชดเชยให้ชาวบ้านที่ไม่สามารถทำมาหากินในลุ่มน้ำได้ตามปกติ ตามมติ ครม. ที่ออกมาตั้งแต่ปี 2540

ในช่วงสาย หลังจากลงชื่อเสร็จแล้ว ชาวบ้านก็แยกย้ายกันไปใช้ชีวิต ลุงชายชวนเราเดินไปหลังบ้านที่ติดกับแม่น้ำมูล ชวนออกเรือเพื่อไปดูประตูกั้นน้ำของเขื่อน

สมชาย พวงพันธ์ ชาวบ้านลาดวารี

แม่น้ำมูลช่วงสายร้อนระอุ แต่ยังมีลมโกรกพอให้ชื่นใจได้

“น้ำมูลอาบไม่ได้ น้ำเสียแล้ว ลงไปก็คัน ผื่นขึ้น ไม่มีใครรับผิดชอบเรื่องนี้” ลุงชายพูดกับเราระหว่างดันเรือให้หลุดจากฝั่งดิน เพื่อเตรียมสตาร์ตเรือ

ช่วงฤดูแล้ง น้ำมูลหลายช่วงเกิดสีดำเป็นฟอง ชาวบ้านไม่สามารถเอาน้ำมาใช้ได้ ขณะที่การเปิดปิดประตูเขื่อนก็ส่งผลต่อการเดินทางของปลา กลายเป็นสูญเสียระบบนิเวศไป

ชาวบ้านหลายคนต้องใช้วิธีขุดบ่อบาดาลเพื่อเอานำมาใช้ในการเกษตร เพราะแม่น้ำตามธรรมชาติไม่สามารถใช้งานได้ แน่นอนว่าการขุดบ่อบาดาลก็ต้องจ่ายเงินให้กรมทรัพยากรฯ อีกถ่ายหนึ่ง

เรือสตาร์ตออกมาจากฝั่งแล้ว ลมโกรกพัดสวนกับทิศทางเรือ น้ำในแม่น้ำมูลกระเซ็นขึ้นมาโดนหน้า – เย็น แต่กลิ่นไม่ค่อยดีนัก ข้างทางมีบ้านเรือนและเรือกสวนไร่นาประปราย ลุงชายชี้ให้ดูว่าตลิ่งถูกเซาะทุกปี มีความพยายามจะสร้างตลิ่งปูนตรงบริเวณที่ท่องเที่ยวและวัด แต่ตรงนั้นกลับไม่ใช่บริเวณที่ตลิ่งทรุด เพราะพื้นที่ที่ถูกกัดเซาะจริงๆ เป็นที่ของชาวบ้าน และอันที่จริงก็ไม่ควรทำตลิ่งปูนด้วยซ้ำ เพราะกระทบกับเส้นทางเดินของน้ำ และเกิดการสูญเสียพืชปกคลุมหน้าดิน – ปัญหาเรื่องทรัพยากรถูกทับถมซับซ้อน โดยคนที่อยู่กับลุ่มน้ำไม่สามารถมีปากเสียงได้เท่าคนออกนโยบายที่นั่งอยู่ออฟฟิศในเมือง

เราเดินเรือเกือบชั่วโมง จึงไปบรรจบกับประตูกั้นน้ำของเขื่อน ตั้งตระหง่านอยู่กลางลำน้ำมูล ดำรงอยู่อย่างแข็งทื่อท่ามกลางน้ำที่ไหลเรื่อย เขื่อนอาจสร้างประโยชน์ให้กับคนสักที่ แต่ไม่ใช่กับคนในลุ่มน้ำมูลกว่า 2,000 ครอบครัวที่มีชื่อหมู่บ้านหลายที่ลงท้ายด้วยคำว่า ‘วารี’ แน่ๆ

เขื่อนสิรินธรจากหลายมุม

ลุงชายม้วนหัวเรือกลับ หาร่องน้ำที่เหมาะกับการเดินเรือ แล้วกดสปีดเต็มเหนี่ยว มีเรือแล่นสวนกันอยู่บ้าง พวกเขายิ้มให้กันทางไกล เสียงเครื่องยนต์ดังกลบทุกสิ่ง

เรากลับมาถึงบ้านในเวลาไม่นาน ลุงชายชี้ให้ดูพื้นที่เผาถ่าน ซึ่งเป็นรายได้หลักในช่วงนี้ เมื่อแดดร่มลมตก ลุงชายก็จะง่วนอยู่พื้นที่หลังบ้าน ทำนั่นทำนี่รอเวลากินมื้อเย็น และพยายามออกหาปลาใหม่ในวันรุ่งขึ้น

กลางเดือนตุลาคม 2566 แม่สมปองและลุงสมชายเข้ากรุงเทพฯ มาร่วมชุมนุมกับสมัชชาคนจน หลังจากประเทศไทยมีรัฐบาลใหม่ กลุ่มชาวบ้านหลายกลุ่มหลากปัญหาเข้ายื่นหนังสือต่อธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยแม่สมปองเป็นตัวแทนเข้าไปพูดคุยกับรัฐบาลถึงความเดือดร้อนของชาวบ้าน ท่ามกลางฝนที่ตกลงมาตลอดสัปดาห์ที่กรุงเทพฯ – พวกเขาสู้มาแล้ว 26 ปี และยังจะสู้ต่อ

แม่สมปอง เวียงจันทร์ ตัวแทนชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบจากเขื่อนสิรินธร ที่การชุมนุมสมัชชาคนจน ตุลาคม 2566

5

แสงแรกของโขงเจียมเป็นสีทอง – สีทองตามความหมายของทุกตัวอักษร

เย็นวันก่อนหน้านี้ เราเพิ่งเดินทางจากตัวเมืองอุบลราชธานี มาสู่อำเภอโขงเจียม อำเภอติดชายแดนที่เป็นปลายทางออกของแม่น้ำมูลสู่แม่น้ำโขง พืชพรรณสีเขียวขจีโอบล้อมสายตาตลอดการเดินทาง เรามุ่งหน้าสู่บ้านตามุย ใกล้อุทยานแห่งชาติผาแต้ม หมู่บ้านริมน้ำโขงซึ่งเป็นพื้นที่สุดท้ายก่อนที่แม่น้ำโขงจะไหลหลุดออกจากขอบประเทศไทย

แม่น้ำโขง จากมุมสูงบนผาแต้มที่อำเภอโขงเจียม อุบลราชธานี

เรามาเจอกับพี่นุ้ย-คำปิ่น อักษร นักเคลื่อนไหวด้านสิ่งแวดล้อม ที่อาศัยอยู่ตรงข้ามกับโฮงเฮียนฮักน้ำของ และลุงตาล ชาวบ้านตามุยที่บ้านอยู่ในละแวกเดียวกัน พวกเขากำลังจะกินข้าวเย็น เราจึงมีโอกาสร่วมวงพาข้าวไปด้วย นั่งบนแคร่เคล้าแสงนีออน และฟังเสียงเด็กที่วิ่งเล่นเจี๊ยวจ๊าวอย่างไม่รู้เหนื่อย

ตามุยเป็นหมู่บ้านเล็กๆ ที่ชาวบ้านหากินใน ‘ระบบสองนิเวศ’ กล่าวคือ ขึ้นเขาหาของป่า และลงโขงเพื่อหาปลา เป็นหมู่บ้านที่อยู่บนภูมิศาสตร์แบบ ‘ข้างหลังคือภูผา ข้างหน้าคือสายน้ำ’ หมู่บ้านวางตัวอยู่อย่างเงียบเชียบและเป็นธรรมชาติ

แต่อย่างที่ทุกคนรู้ โลกไม่ได้สวยงามแบบนั้น แม้วิวทิวทัศน์ตรงริมโขงจะสวยในระดับที่รีสอร์ตห้าดาวก็ให้ไม่ได้ แก่งหินทอดตัวไกล สายน้ำไหลอยู่ใต้การโอบล้อมของขุนเขา และแสงอาทิตย์ที่ส่องกระทบน้ำอย่างที่เคยเป็นตลอดมา กำลังถูกหลายเขื่อนที่อยู่ด้านบนของแม่น้ำโขงทำลายระบบนิเวศไปอย่างร้ายกาจ ยังไม่นับว่าภูเขาที่อยู่กับชาวบ้านมานานก็ได้รับการควบคุมจากนโยบายทวงคืนผืนป่า จนไม่เหลือทางเลือกให้ทำมาหากิน

แม่น้ำที่ควรจะไหลในฤดูน้ำหลาก ก็ไม่ไหล แม่น้ำที่ควรจะลดในฤดูนกวางไข่ ก็ไม่ลด เพราะกระแสน้ำที่ผิดปกติจากการมาของเขื่อน แน่นอนว่าสิ่งนี้ย่อมส่งผลกระทบต่อวิถีชาวประมงที่ดำรงมาหลายชั่วอายุคน

ก่อนหน้านี้เคยมีโครงการสร้างเขื่อนบ้านกุ่ม อยู่เหนือบ้านตามุยขึ้นไปประมาณ 5 กิโลเมตร ในการก่อสร้างต้องมีการระเบิดเกาะแก่งตลอดแนวลำน้ำยาว 3 กิโลเมตร และประเมินว่าต้องมีการอพยพประชากร 4-5 หมู่บ้านที่อยู่ตลอดแนวริมโขงนั้น แน่นอนว่าการก่อสร้างระดับนี้ย่อมกระทบระบบนิเวศอย่างรุนแรง โดยเฉพาะในพื้นที่เก้าพันโบก เกาะแก่งหินที่เป็นสถานอนุบาลพันธุ์ปลาที่ใหญ่ที่สุดในแม่น้ำโขงเขตลาวใต้ แต่ท้ายที่สุด ชาวบ้านตามุยร่วมกับเครือข่ายในภาคอีสานก็ได้ร่วมต่อสู้ในช่วงปี 2547-2551 จนทางการยอมชะลอโครงการ แต่ก็ดูเหมือนโครงการจะคืนชีพขึ้นมาใหม่ได้ทุกเมื่อ

ปัญหาเรื่องเขื่อนในแม่น้ำโขง เป็นปัญหาที่ใหญ่กว่าในระดับโครงการโขง-ชี-มูล เพราะนี่เป็นการใช้สายน้ำร่วมกันระหว่างประเทศ โดยมีจีนเป็นผู้มีอิทธิพลหลักในสายน้ำนี้ และลาวที่ประกาศตัวว่าจะเป็น ‘แบตเตอรี่โลก’ เพื่อแก้ปัญหาเศรษฐกิจที่ตกต่ำอย่างมากในประเทศ จึงจำเป็นต้องสร้างเขื่อน

การสร้างเขื่อนเพื่อผลิตกระแสไฟฟ้าและกักน้ำเกิดขึ้นตลอดลำน้ำโขง ซึ่งแน่นอนว่าผู้คนต่างตั้งคำถามว่าคุ้มค่ากันแค่ไหนกับการต้องทำลายระบบนิเวศในแม่น้ำโขงไปอย่างราบคาบ

คำว่า “จับปลาไม่ค่อยได้” ออกจากปากชาวบ้านริมแม่น้ำอีกครั้ง “ถ้าไม่เชื่อ ลองลงไปจับกับลุงตาลสิ พรุ่งนี้เช้า” พี่นุ้ยท้าทีเล่นทีจริง

หลังอิ่มจากข้าวเหนียวและนึ่งปลา ลุงตาลนัดหมายฉันและช่างภาพตอนเช้ามืดของวันรุ่งขึ้น

“เจอกันสักตีห้าแล้วกัน” ลุงตาลว่า เรารีบร่ำลาเพื่อการนอนให้พอ

ห้านาฬิกาตรงเป๊ะ ฉันและช่างภาพยืนที่หน้าบ้านลุงตาล พระอาทิตย์ยังไม่ขึ้น ทำให้พื้นที่ลานหน้าบ้านยังมืดมิด มีเพียงแสงไฟจากนีออนข้างบ้านช่วยให้แสงสว่างรางๆ เท่านั้น

“เอ้า เสื้อชูชีพ กันเหนียว” ลุงตาลเดินออกมาจากบ้าน โยนเสื้อชูชีพสีส้มสดให้เราทั้งคู่ เมื่อคนโยน โยนมาอย่างมืออาชีพ คนรับก็จำเป็นต้องรับอย่างมืออาชีพ แม้ระยะทางการโยนจะห่างแค่คืบและโยนอย่างนุ่มนวล ฉันยังเกือบทำหลุดมือ

ลุงตาลเดินนำทางไปที่เรือ ถือถังใส่ปลาไปหนึ่งใบ เดินไปจับเรือเพื่อให้ฉันกับช่างภาพขึ้นไปก่อน ฉันมาเข้าใจเอาตอนที่เท้าสัมผัสกับทรายก่อนลงน้ำ ว่าการใส่รองเท้าทำให้ทุกอย่างทุลักทุเล ฉันจึงตัดสินใจถอดรองเท้าไว้ตรงหาดแล้วเดินเท้าเปล่าขึ้นเรือไป

เสียงสตาร์ตเรือดังลั่นทั่วท้องน้ำ เห็นแสงลิบๆ จากเรือที่ออกแม่น้ำไปก่อนแล้ว แสงอาทิตย์ค่อยๆ เผยโฉมออกมา เหมือนอย่างที่บางคนบอกว่า “ไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงเร็วเท่าแสงตอนพระอาทิตย์ขึ้นและตอนพระอาทิตย์ตก”

ในเวลาไม่กี่นาที พระอาทิตย์ขึ้นมากลางลำน้ำ ในช่วงวินาทีมิราเคิลนั้น เกิดแสงสีทองอาบทั่วทั้งท้องฟ้าและผิวน้ำ ฉันมัวแต่นั่งอึ้งโดยไม่ได้สนใจว่าลุงตาลกำลังหยิบมองหว่านลงไปในน้ำโขง และเริ่มสาวให้เกิดเป็นแหดักปลาที่ใต้น้ำลึกประมาณ 1-2 เมตร

วิธีการหาปลาของลุงตาลและชาวบ้านแถบนั้นเรียบง่าย ลุงตาลมีมองทั้งหมดสี่อัน ทั้งหมดเป็นมองที่ถักเอง ต้นทุนอยู่ที่ประมาณอันละ 700-800 บาท (ถ้าซื้อ ตกอันละประมาณ 1,000 บาท) ลุงตาลใช้วิธีล่องเรือไปกลางลำน้ำโขง “ดูว่าตรงไหนเหมาะ น่าจะมีปลา ก็โยนมองลงตรงนั้น” ลุงตาลอธิบาย และทำแบบนี้ไปเรื่อยๆ จนครบสี่ครั้ง โดยแบ่งเป็นพื้นที่เล็กๆ กลางแม่น้ำโขงอันกว้างใหญ่ – ถ้ามาสาย ก็จะเจอมองจับจองที่ดีๆ เอาไว้อยู่แล้ว

ลุงตาล ชาวบ้านบ้านตามุย

เมื่อวางมองอันที่สี่เสร็จ ลุงตาลก็หันหัวเรือกลับมายังมองอันแรกที่วางไว้ เมื่อถึงจุดก็นั่งบนหัวเรืออย่างมั่นคงคล่องแคล่ว แล้วสาวมองขึ้นมา นาทีนี้คือช่วงดูผลประกอบการ ตัวเลขจะเขียวจะแดงก็ลุ้นกันตรงนั้น เสียงลำกลอนดังลอยมาจากลำโพงเสียงตามสาย มีผู้ใหญ่บ้านเป็นดีเจ บอกให้รู้ว่าชีวิตของหมู่บ้านเริ่มต้นขึ้นแล้ว พร้อมๆ กับพระอาทิตย์ที่ส่องแสงเข้มขึ้นทุกนาที

มองอันแรกมีปลาติดมาสองตัว ตัวเล็กจนคาดหวังได้แค่มื้อเย็น เอาไปขายคงไม่ได้ราคา

มองที่สองไม่ได้สักตัว

เราเดินทางจนถึงมองที่สาม ตอนนั้นเองที่ได้ปลาหมากหม่าตัวใหญ่ และมีกุ้งแม่น้ำติดมาหนึ่งตัว ตัวเขื่องใหญ่กว่าฝ่ามือ นาทีนั้นฉันเห็นรอยยิ้มพึงใจของลุงตาล หลังจากเงียบขรึมมาตลอดทาง

ส่วนมองที่สี่ ได้มาประปราย แต่ไม่สำคัญนัก เพราะไฮไลต์ผลประกอบการอยู่ที่มองที่สามไปแล้ว

“แต่ก่อนเราสังเกตว่าปลาจะมาหรือไม่มาจากโขดหิน ดูน้ำขึ้นน้ำลง แต่พอมีเขื่อน ทำให้ทุกอย่างไม่เป็นไปตามธรรมชาติ เดาอะไรไม่ได้เลย” ลุงตาลเล่าให้ฟังกลางเรือที่ลอยนิ่งบนแม่น้ำโขง เขาฝึกใส่มองและล่องเรือมาตั้งแต่อายุ 7-8 ขวบ โดยมีพ่อเป็นอาจารย์ แต่เมื่อเวลาผ่านมากว่า 60 ปี ทุกอย่างก็ไม่มีอะไรเหมือนเดิม

ตลอดการหาปลาประมาณหนึ่งชั่วโมงครึ่ง เราได้ปลามาสิบกว่าตัว ส่วนมากตัวไม่ใหญ่นัก และไม่ได้จำนวนที่มากพอจะเอาไปขายได้เป็นกอบเป็นกำ “เสร็จจากนี้คงเอาไปตาก ส่วนปลาตัวใหญ่เก็บไว้ทอดกินเช้ากับเย็นนี้” ลุงตาลบอก ระหว่างหันหัวเรือกลับฝั่ง

“แล้วกุ้งล่ะคะ เอาทำอะไร” ฉันโยนคำถามข้างมอเตอร์เรือ

“คิดว่าจะทำลาบกุ้ง” ลุงตาลพูด น้ำเสียงเจือแววความสุขเมื่อคิดถึงอาหารมื้อพิเศษ

หลังขึ้นจากน้ำ ผ่านหลายอึดใจ มื้อเช้าก็ใกล้มาถึง เสียงผัดกระทะหอมฉุย เสียงตำครกดังน่าฟัง และเมื่อถึงเวลา ลุงตาลและครอบครัวก็ล้อมวงกินลาบกุ้งกับทอดปลา – บรรยากาศแบบนี้ ร้านอาหารที่ไหนก็ทำแทนไม่ได้

6

การหาปลาได้ตอนเช้า แล้วเอาไปทำข้าวกิน ดูเป็นเรื่องโรแมนติกก็จริงอยู่ เพราะคล้ายว่าผู้คนสามารถอยู่กับธรรมชาติได้อย่างลงตัว และกินอยู่อย่างมีความสุขเรียบง่าย แต่ความจริงไม่ใช่แบบนั้น เมื่อสิ่งเหล่านี้ไม่สามารถหาเลี้ยงชีพหรือทำให้ชาวบ้านมีเงินเก็บเผื่อเอาไว้ยามฉุกเฉินได้เลย เป็นเพียงการ ‘หาเช้ากินค่ำ’ ท่ามกลางธรรมชาติที่พรั่งพร้อม (?) เท่านั้น

สิ่งที่น่าเศร้ากว่านั้นคือ ระบบนิเวศที่ดำรงมากำลังถูกทำลายจากการสร้างเขื่อน ที่มีเป้าหมายทั้งเพื่อจัดการไฟฟ้าและจัดการน้ำ โดยที่คนออกนโยบายไม่ได้เข้าใจวิถีชีวิตและปัญหาของคนในชุมชนด้วยซ้ำ

บางทีอาจไม่ใช่เรื่องของวันนี้พรุ่งนี้ แต่มันเป็นการทำลายทั้งอดีต ปัจจุบัน และอนาคตของสายน้ำ ที่ยิ่งใหญ่และหล่อเลี้ยงผู้คนหลายล้านชีวิตอย่างแม่น้ำโขง

ไม่ใช่แค่คนในริมแม่น้ำโขงเท่านั้น แต่คนที่อยู่ลึกเข้าไปในแผ่นดินที่ราบสูง ที่มีแม่น้ำชีและแม่น้ำมูลหล่อเลี้ยงอยู่ แม่น้ำมูล ที่เปรียบดั่ง ‘มูนมัง’ หรือทรัพย์สมบัติของคนอีสาน ไปจนถึงแม่น้ำชี หรือ แม่น้ำซี ที่เป็นแม่น้ำสายเล็ก ซอกซอนเข้าไปในผืนดิน เป็น ‘ซี่’ ที่พาให้หลายคนได้เติบโต กำลังถูกการจัดการน้ำที่มาในนามของความหวังดีแต่ทำลายทั้งโดยรู้ตัวและไม่รู้ตัว

โขงชีมูลเป็นสมบัติของคนอีสานอย่างไม่ต้องพูดซ้ำ เป็นมูนมังที่ไม่ได้มีแค่ใครคนใดคนหนึ่งเป็นเจ้าของ คำถามก็คือ เราจะยอมให้สมบัติถูกพรากและทำลายไปถึงเมื่อไหร่

หรือที่จริง คำว่า ‘แล้ง’ อาจสมควรใช้อธิบายสิ่งอื่นมากกว่าพื้นที่อีสานแห่งนี้

MOST READ

Spotlights

14 Aug 2018

เปิดตา ‘ตีหม้อ’ – สำรวจตลาดโสเภณีคลองหลอด

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย พาไปสำรวจ ‘คลองหลอด’ แหล่งค้าประเวณีใจกลางย่านเมืองเก่า เปิดปูมหลังชีวิตหญิงค้าบริการ พร้อมตีแผ่แง่มุมเทาๆ ของอาชีพนี้ที่ถูกซุกไว้ใต้พรมมาเนิ่นนาน

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Aug 2018

Social Issues

9 Oct 2023

เด็กจุฬาฯ รวยกว่าคนทั้งประเทศจริงไหม?

ร่วมหาคำตอบจากคำพูดที่ว่า “เด็กจุฬาฯ เป็นเด็กบ้านรวย” ผ่านแบบสำรวจฐานะทางเศรษฐกิจ สังคม และความเหลื่อมล้ำ ในนิสิตจุฬาฯ ปี 1 ปีการศึกษา 2566

เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล

9 Oct 2023

Social Issues

5 Jan 2023

คู่มือ ‘ขายวิญญาณ’ เพื่อตำแหน่งวิชาการในมหาวิทยาลัย

สมชาย ปรีชาศิลปกุล เขียนถึง 4 ประเด็นที่พึงตระหนักของผู้ขอตำแหน่งวิชาการ จากประสบการณ์มากกว่าทศวรรษในกระบวนการขอตำแหน่งทางวิชาการในสถาบันการศึกษา

สมชาย ปรีชาศิลปกุล

5 Jan 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save