fbpx
"มันกะคึดฮอดบ้านละลูกเอ๊ย" เมื่อความจนบังคับคนออกจากบ้าน

“มันกะคึดฮอดบ้านละลูกเอ๊ย” เมื่อความจนบังคับคนออกจากบ้าน

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย และ วจนา วรรลยางกูร เรื่อง

เมธิชัย เตียวนะ ภาพ

 

แม้เสื่อผืนสุดท้ายจะม้วนเก็บขึ้นรถทัวร์ไปแล้ว แต่เรื่องราวของเหล่าสมัชชาคนจนยังไหลวนอยู่ริมคลองผดุงกรุงเกษม — บันทึกว่าพวกเขาเคยนอนกลางปูน-กินกลางถนน เป็นเวลา 18 วันในเมืองหลวง เพื่อเรียกร้องสิทธิที่โดนพรากไปจากอก

35 กรณี 5 ประเด็นหลัก คือเหตุผลที่พวกเขาต้องจากบ้านมากางมุ้งนอนอยู่ริมรั้วกระทรวงศึกษาธิการ ทั้งประเด็นผลกระทบจากการสร้างเขื่อน ปัญหาที่ดิน ป่าไม้ การละเมิดสิทธิแรงงาน และราคาพืชผลผลิตตกต่ำ

“ถ้าไม่ลำบากจริงๆ ใครเขาจะอยากมานอนให้ยุงกัดอยู่ที่นี่” คือหนึ่งในประโยคที่หล่นจากปากผู้ร่วมเรียกร้องหลายคน

ตลอดสองข้างทาง พวกเขาแบ่งสันปันส่วนที่นอนไว้ลวกๆ ไม่ว่ามาจากอีสานหรือใต้ พวกเขาตักข้าวจากหม้อเดียวกัน ป้ายผ้าสีเขียวเขียนด้วยตัวหนังสือสีแดงขนาดใหญ่ว่า ‘ประชาธิปไตยกินได้’ — บางน้ำเสียงหนักแน่นบอกว่า นโยบายของรัฐส่งผลต่อปากท้องของเราไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง

ไม่ต้องรอให้ประชาธิปไตยกินได้ ก็มีเสียงตะโกนเรียกให้เอาปลาสวายจากแม่น้ำมูลไปกิน ตัวแทนแต่ละชุมชนเตรียมท่อนแขนมาอย่างดี เพื่อที่จะหอบเอาปลาตัวใหญ่ น้องๆ โลมาน้อยไปทำมื้อเย็น

หลายคนทิ้งเรือกสวนไร่นา หลายคนทิ้งลูกเมียไว้บ้าน และกับบางคนก็ถึงขั้นเอาลูกมาร่วมต่อสู้ด้วยกัน

ประเด็นที่พวกเขาเรียกร้องล้วนเป็นเรื่องยืดเยื้อเรื้อรังที่ไม่เคยได้คำตอบจากรัฐ และการออกจากบ้านครั้งนี้ พวกเขาต้องการคำตอบที่แก้ปัญหาชีวิตพวกเขาได้จริง

ถัดจากนี้คือเรื่องเล่าจากปากของผู้โดนผลกระทบจากนโยบายของรัฐ — เมื่อถูกพรากที่ดิน พวกเขาเหมือนโดนพรากลมหายใจ และแน่นอน ไม่มีใครอยากทิ้งชีวิตตัวเอง

 

อุทัย สอาดชอบ (49 ปี) สระแก้ว

ประเด็นเรื่องกรรมสิทธิ์ที่ดินทำกิน

 

 

ผมมีปัญหาที่ดินที่ อ.ตาพระยา จ.สระแก้ว ทำกินมาตั้งแต่สมัยพ่อแม่ ปลูกข้าวไร่ ทำนา ปลูกผัก มีการสืบค้นประวัติว่าคนเข้าไปอยู่ในพื้นที่ตั้งแต่ประมาณปี 2500 แต่ปี 2536 ตชด. อพยพคนออกบอกว่าขอใช้พื้นที่จากกรมป่าไม้แล้ว ต่อมามีการประกาศเขตอุทยานทับพื้นที่และใช้เป็นแปลงปลูกป่า เขาให้กลับที่เดิมไม่ได้ บอกว่าที่ดินของพวกเรากระจัดกระจายเกินไปไม่เป็นผืนต่อเนื่อง เพราะคนที่ออกมาเรียกร้องมีแค่บางส่วน คนเดือดร้อนจริงมีมากกว่านั้น

เขาเสนอจัดหาที่ดินใหม่ทดแทนให้ แต่ที่ดินใหม่ก็มีเจ้าของอยู่แล้ว เป็นคนที่ถูกอพยพในปี 2536 เหมือนกัน เขาบอกว่าถ้ามีปัญหาจะรับผิดชอบไม่ให้กระทบกระเทือนพวกเรา ขอเพียงมาอยู่ที่ดินใหม่ที่จัดให้

หลังกำหนดพื้นที่แล้วเราขอผ่อนผันเข้าไปทำกิน แล้วก็มีปัญหาจริง เจ้าของที่ดินเขามาคัดค้าน ตอนนี้อยู่ระหว่างรับมอบพื้นที่คืนจากกรมตำรวจ แต่กรมป่าไม้ยังไม่รับคืนเพราะข้อตกลงคือต้องนำพื้นที่มอบให้ สปก. จัดสรร

เราตกลงกันว่าอยากสร้างชุมชนใหม่และมีการจัดการในรูปแบบชุมชน แบ่งเป็นพื้นที่อยู่อาศัย ที่ทำกิน ที่ปลูกป่าใช้สอยของชุมชน เพราะพวกเรามีอาชีพหาของป่า และมีตลาดริมทางชุมชนโคกอีโด่ย นำสินค้าที่มีมาขาย พอมีรายได้ให้อยู่ได้ ตอนนี้เราอยู่ในพื้นที่ซึ่งจัดทดแทนแต่ทำมาหากินไม่เต็มไม้เต็มมือ มีข้อจำกัด ยังไม่ถูกรับรองการจัดตั้งชุมชน จึงเข้าไม่ถึงงบสนับสนุนการพัฒนา

ที่ผ่านมาถ้าออกมาที่ศูนย์กลางเรื่องจะได้รับการดูแล แต่กลับไปแล้วจะนิ่งๆ ออกมาทีก็ขยับที รับเรื่องไปก่อนเพื่อให้เรากลับบ้าน เป็นภาระที่ต้องมาตาม เราเรียกร้องให้มีการผ่อนผันระหว่างแก้ปัญหาเรื่องที่ดินแต่ละพื้นที่ เพราะหลายพื้นที่มีการเข้าไปข่มขู่คุกคามทำลายทรัพย์สิน ที่ภาคใต้ก็มีปัญหาเยอะ ทำมาหากินปกติไม่ได้ ต้นยางหมดอายุก็โค่นไม่ได้ กรณีของผมโชคดีกว่าที่อื่นเพราะมีข้อตกลงผ่อนผันปี 2550 แบบเป็นลายลักษณ์อักษร

ไม่มีรัฐบาลไหนที่แก้ปัญหาให้โดยที่เราไม่ได้ออกแรง รัฐบาลที่มาจากการยึดอำนาจเราก็เจรจา เพราะเมื่อเขามาเป็นผู้บริหารประเทศก็ต้องแก้ปัญหา แม้หลายครั้งจะรู้สึกไม่อยากไปร่วมสังฆกรรม ช่วงรัฐบาล คสช. ที่ผ่านมาก็มีกฎหมายหรือประกาศต่างๆ ทำให้ขยับยาก คุยกันยาก

ก่อนจะมาเราพูดคุยกันเยอะ ดูความพร้อมแต่ละพื้นที่ เพราะสภาพความเป็นอยู่ค่อนข้างลำบากอยู่แล้ว การมาอย่างนี้ไม่ใช่เรื่อง่าย ต้องผลัดกันมาในกลุ่ม ถ้ามากันทั้งหมดก็ลำบาก ผัก ฟักทองที่ปลูกไว้จะเสียหาย ผมพาลูกมาด้วย อยากให้เขามารับรู้เรื่องราว ครอบครัวเราประสบปัญหาด้วยกันจึงเข้าใจกัน มีกิจกรรมในชุมชนก็จะพาลูกไปรับรู้ความเป็นจริง ไม่เคยปิดกั้น

สภาพความเป็นอยู่ที่กรุงเทพฯ เป็นสภาพที่เราไม่คุ้นเลย การใช้ชีวิตก็ลำบากไปหมด ต้องใช้เงินเยอะกว่าที่บ้าน อาหารที่เตรียมมาหมดก็ต้องซื้อ แต่ต้องอดทน ปัญหาที่เราประสบอยู่เป็นเรื่องใหญ่ ต้องสู้ไป เพราไม่มีใครมาสู้แทนเรา

ผมเป็นห่วงพืชผักที่ปลูกไว้ ก่อนจะมาปลูกฟักทองเกือบหนึ่งไร่ 2-3 วันที่ผ่านมากลับไปนำเจ้าหน้าที่ลงตรวจขอบเขตพื้นที่ เห็นหญ้าท่วมจะหมดแล้วเพราะไม่ได้ดูแล รอบนี้คงไม่ได้ผลผลิตหรือได้น้อยมาก ก็ต้องยอมเสีย เดี๋ยวไปแก้มือใหม่

 

ปั้น-แป้ง (17 ปี)

ลูกสาวฝาแฝดของอุทัย สอาดชอบ

 

หนูมาช่วยเขาไลฟ์ผ่านเพจสมัชชาคนจน ตอนนี้ปิดเทอมก็เลยมาได้ เป็นครั้งแรกที่มากับพ่อ ได้เจออะไรที่ไม่เคยเห็น ได้ทำอะไรที่ไม่เคยทำหลายอย่าง เคยแต่ได้ยินที่พ่อเล่าให้ฟังตั้งแต่เด็ก ครั้งนี้ได้มาลองเอง มีหน้าที่ไลฟ์ เกิดอะไรก็ต้องตามไลฟ์ เวลาว่างๆ ก็เล่นกับเด็ก พาเด็กทำกิจกรรม กรอกเอกสาร

ปัญหาที่ดินเป็นเรื่องที่กระทบกับชีวิตความเป็นอยู่ มันมีปัญหาจริงๆ คุยกับพ่อแม่อยู่ทุกวัน ถ้าไม่ออกมาก็ต้องอยู่อย่างนี้ไปเรื่อยๆ บางทีอยู่ไม่ได้ด้วยซ้ำอย่างตอนมี พ.ร.บ. ออกใหม่ เรื่องบุกรุกพื้นที่ป่า

สิ่งที่กระทบหลักๆ คือเรื่องเศรษฐกิจ อยู่ยากขึ้น รายได้ที่ใช้ในชีวิตประจำวันไม่เพียงพอ แถวบ้านก็มีคนอื่นที่เจอปัญหาเดียวกัน

มาแบบนี้หนูทนได้ เพราะปกติบ้านหนูก็ไม่ได้อยู่สุขสบาย แต่ก็มีความลำบากอยู่ อย่างการอาบน้ำ ต้องใส่ผ้าถุงอาบในม็อบบ้าง ไปอาบที่วัดบ้าง บางทีก็มีฝนตก มันไม่สะดวกเหมือนบ้านเรา แม่โทรมาทุกวันบอกคิดถึง เมื่อไหร่จะกลับบ้าน ไม่มีคนทำกับข้าวให้กิน

อาจารย์ที่โรงเรียนก็รู้ว่าหนูมา ทักมาถามว่าเมื่อไหร่จะกลับบ้านจะเปิดเทอมแล้ว ดูแลตัวเองด้วย เพื่อนก็รู้ว่าเรามีปัญหาแต่ไม่เข้าใจ อาจเพราะเขาไม่ได้โดนกับตัวเองโดยตรง

หนูอยู่ในชุมชนเห็นพ่อทำงานแบบนี้มาตั้งแต่เด็ก ต่อสู้มาตั้งนานแล้ว แต่มาแบบนี้ได้มาเจอปัญหาของพื้นที่อื่นๆ

ไม่เคยคิดให้พ่อเลิกสู้ ถ้าพ่อเลิกสู้จะเอาอะไรกิน

 

บุญเกิด กะตะศิลา (74 ปี) ศรีสะเกษ

ประเด็นเรียกร้องค่าชดเชย ‘เขื่อนหัวนา – เขื่อนราษีไศล’ ปล่อยน้ำท่วมที่นา

 

ผมมาเรื่องเขื่อนราษีไศลกักเก็บน้ำไว้เยอะแล้วปล่อยลงมาใส่หมู่บ้าน ปล่อยมาวันเดียวท่วมหมด เกือบเอารถไถขึ้นไม่ทัน เขายกประตูลอย น้ำไหลมาตู้มทีเดียวเลย ก็อยู่ไม่ได้แล้ว เลยพากันมาเรียกร้องรัฐบาลว่า พวกคุณทำแบบนี้ พวกเรากระทบแล้ว พวกคุณต้องจ่ายค่าชดเชยให้พวกเรา

มีพื้นที่โดนผลกระทบ 5 อำเภอ คือ อำเภอเมือง ราษีไศล กันทรารมย์ อุทุมพรพิสัย และยางชุมน้อย เขาปล่อยน้ำมาทุกปี บอกตอนเช้า ปล่อยตอนเที่ยง ปีก่อนๆ ยังไม่ได้จ่ายค่าชดเชย จ่ายแต่กรณีเขื่อนราษีไศลนานแล้ว แต่กรณีเขื่อนหัวนายังไม่จ่าย จนถึงตอนนี้ 20 กว่าปีแล้ว ยังไม่ได้เงินสักบาท

ถ้ารัฐจ่ายเงินชดเชย ก็เท่ากับเราขายนาให้เขานั่นแหละ ได้ค่าชดเชยไร่ละ 45,000 บาท เราก็ไปหาซื้อนาบนเนิน แต่นาบนเนินก็แพงกว่าเป็นเท่าตัว อยู่ที่เดิมมันทำกินไม่ได้แล้ว ถึงไม่ขาย น้ำก็ไหลลงมาเหมือนเดิม ทำอะไรไม่ได้

ที่นาไม่มีเอกสารสิทธิ์ เป็นที่นาในป่าบุ่งป่าทาม แต่ก็ทำกันมาตั้งแต่รุ่นก่อน นาทามคือนาที่อยู่ในบุ่ง ติดแม่น้ำมูล น้ำท่วม ไม่เหมือนนาโคก หรือที่เขาเรียกนาดอน น้ำไม่ท่วม บางคนไม่มีที่บนนาดอนเลย ถ้าน้ำไหลมาก็ท่วมนาทั้งหมด ลูกเต้าก็ต้องลงมาทำงานแรงงานอยู่กรุงเทพฯ

แต่ก่อนที่ยังไม่ได้สร้างเขื่อน น้ำก็ท่วม แต่แป๊บเดียวน้ำก็ลง ถึงท่วมเราก็ยังได้เกี่ยวข้าว แต่พอสร้างเขื่อนมันท่วมถาวรเลย ปีที่แล้วปล่อยน้ำครั้งเดียว ท่วมอยู่ประมาณ 7 เดือนกว่า ไม่ต้องทำอะไรเลย เราต้องซื้อเรือ ซื้ออุปกรณ์หาปลา ลำนึงก็หมื่นกว่าบาทแล้ว ไหนจะเงินเลี้ยงครอบครัวอีก ถ้าคนไม่มีทุนก็หาข้าวแค่ได้กินเช้ากินเย็น

ผมสู้เรื่องนี้มาตั้งแต่ลูกสาวมาคลอดลูกที่กรุงเทพฯ อุ้มหลานไปรับผมที่สถานีตำรวจ จนตอนนี้หลานจบปริญญาแล้ว

ผมมาชุมนุมแบบนี้ แฟนอยู่บ้านคนเดียว ตอนเช้าแฟนก็โทรมาถามว่าเป็นไงบ้าง ความเป็นอยู่ที่นี่ก็ลำบาก ไม่เหมือนอยู่บ้านหรอก ลงมาใหม่ๆ ฝนตกทั้งสิบคืน ไม่ได้หลับได้นอน โอ๊ย ลำบากแท้ ดีนะน้ำไม่ท่วม ไหลลงท่อหมด

แฟนเราก็คิดเป็นห่วง ผมก็ 70 กว่าปีแล้ว แฟนอายุ 60 ปี ให้หลานไปนอนเป็นเพื่อน เผื่อเป็นอะไรขึ้นมา คิดฮอดสิเฮ็ดจั่งได๋ ก็อดเอา เขาก็คงจะเหงานั่นแหละ ปกติอยู่ด้วยกันตลอด แต่งงานกันตั้งแต่ปี 2518 จากกันไกลที่สุดก็ครั้งนี้ครั้งแรก แต่ถ้ามาด้วยกัน ก็ไม่รู้ใครจะอยู่บ้าน แต่เขาก็โทรมาเรื่อย ผมก็โทรไปปลอบใจแก คนไม่เคยจากกันเนอะ คนแก่ก็คิดถึงกันนั่นแหละ เห็นหน้าเมียมันก็ต้องมีความสุขสิ

 

ปลอด ทองคง (69 ปี) พัทลุง

ประเด็นกฎหมายว่าด้วยคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ (คทช.) เรื่องที่ดินทำกินในเขตอุทยาน

 

แต่เดิมที่ดินทำกินเราไม่ได้อยู่ในเขตอุทยาน เป็นที่ดินตั้งแต่รุ่นปู่ย่า พอหลังปี 2525 อุทยานประกาศเขตทับที่ทำกินเรา ในพื้นที่เราปลูกยางพารา ปลูกผลไม้ เช่น ทุเรียน มังคุด ลองกอง เงาะ เฉพาะผลไม้ไม่เป็นไร แต่ยางเป็น เมื่อเรากรีดยางหมดสภาพแล้ว ต้นแก่แล้ว เราโค่นปลูกใหม่ไม่ได้ เมื่อก่อนเราขอทุนจากกองทุนสงเคราะห์การทำสวนยาง มีให้ไร่ละ 18,000 บาท ค่าโค่น ค่าขุดหลุม ค่าซื้อพันธุ์ยาง ใส่ปุ๋ย แต่พออุทยานวางเขตทับ พอยางเราหมดสภาพ เราไม่สามารถตัดโค่นได้ เพราะถ้าตัดโค่นยางพวกนั้น ถือว่ามีความผิดบุกรุกป่า แต่ที่จริงเป็นที่ทำกินเดิมของเรา

เราไม่รู้เลยว่าเขาวางแนวเขตอย่างไร เพราะเขานั่งขีดเอาในห้องแอร์ ตอนนั้นใช้แผนที่ของทหาร 1 : 100,000 ดูในแผนที่แล้วเขามองเป็นป่าสีเขียวหมด แต่พื้นที่นั้นเป็นที่ปลูกยาง เขาขีดเส้นโดยไม่ไปแลพื้นที่จริง แล้วเราก็อยู่ในนั้น เลยได้รับชะตากรรมไปด้วย กองทุนก็ตัดทุน ไม่ให้แล้ว

ที่หนักคือรัฐบาลชุดนี้ออกกฎหมายใหม่ ว่าด้วยคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ (คทช.) หนักมากกว่ากฎหมายอุทยานที่มีอยู่เดิม เราเข้าไปทำอะไรไม่ได้ เพิ่มโทษจำคุก 4 – 20 ปี ปรับ 4 แสน – 2 ล้านบาท มากกว่าเดิมที่เราเคยอยู่มา ถ้าอยู่ที่ชุ่มน้ำ ต้นน้ำ หรือที่กระทบต่อภูมินิเวศ พวกเราต้องออกจากพื้นที่ แล้วถ้าออกจากพื้นที่นั้น เราจะไปอยู่ที่ไหน เรามีที่แค่นั้น

รัฐบาลบอกว่า ถ้าเป็นคนจนให้อยู่ได้ แต่คำนิยามว่าคนจน เอาตรงไหน ถ้าเอาเกณฑ์ จปฐ. (ข้อมูลความจำเป็นพื้นฐาน) คือคนที่มีรายได้ 30,000 บาทต่อปี คิดดูว่า 30,000 บาทต่อปีจะเลี้ยงเราพอมั้ย มันไม่ไหว เนื้อหมูกิโลนึงก็ 140 บาทแล้ว คิดอย่างนี้ไม่ได้ ถ้าเราผ่านเกณฑ์นั้นถือว่าเราไม่ใช่คนจน เราต้องออก เราก็อยู่ไม่ไหว เราจึงต้องมาต่อสู้

คนกรุงเทพฯ น่าจะมองว่าพวกเรานี่ขี้เกียจ มาชุมนุมเพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลช่วยอย่างเดียว มันไม่ใช่ คุณก็รู้ว่าเศรษฐกิจตอนนี้เป็นยังไง ราคายางเมื่อก่อนกิโลละร้อยกว่า ตอนนี้ยางแผ่นเหลือกิโลละ 34 บาท ยางก้อนถ้วยเหลือกิโลละ 14 บาท ถ้าเรามีสวนเอง ทำยาง 10 กิโลได้เงิน 140 บาท เท่ากับหมูโลนึง แต่ถ้าคนที่ไม่มีสวนยางเอง ไปเป็นลูกน้องเขา ต้องตัดให้ได้วันนึง 20 กิโล เพื่อเงินวันละ 140 บาท ต้องตื่นตั้งแต่ตี 1-2 ลงไปกรีดยาง ทั้งๆ ที่เราจะตายอยู่แล้ว กฎหมายออกมาซ้ำเติมอย่างนี้อีก แล้วเราจะอยู่กันอย่างไร

ที่จริง สวนผมเองไม่มีในเขตอุทยาน แต่พี่น้องพวกพ้องอยู่ในเขตอุทยานหมด เขารับชะตากรรมนี้อยู่ แต่พี่น้องเขาไม่กล้ามา ผมเคยอยู่ร่วมกับพี่น้องที่ต่อสู้ด้วยกัน เลยมาเป็นตัวแทนของพี่น้อง เผื่อเราได้ข้อมูลอะไรที่แก้ปัญหาได้จะนำไปเสนอให้พี่น้องเราอยู่รอด ที่ไม่มาทั้งหมด เพราะเราคิดว่ากำลังเท่านี้อาจจะเจรจากับรัฐบาลได้

เกษตรกรเหนื่อยตั้งแต่เช้าจนค่ำ ต่อสู้ชีวิต สุดทน ถ้าไม่จำเป็นจริงๆ ผมเชื่อว่าทุกคนไม่มานอนกันอยู่อย่างนี้หรอก เหมือนนอนกลางดินกินกลางทราย ที่บ้านถึงแม้ว่าเราไม่รวย แต่ก็มีที่อยู่ที่สมบูรณ์กว่า ทำไมต้องมาอยู่กันอย่างนี้ ก็เพราะมาสู้เผื่อรอด ถ้าไม่สู้ก็ตายแน่นอน มันไม่ตายจริงหรอก แต่ก็ตายช้าๆ

ตอนนี้ทางใต้น้ำจะท่วมอยู่แล้ว หัวหน้าครอบครัวมาชุมนุม คนทางบ้านก็ต้องลำบากหน่อย แต่เรามาเพื่อความอยู่รอดในภายภาคหน้า เลยต้องยอม รุ่นลูกหลานต้องให้อยู่ได้ พวกสวนนี่หยุดไว้ก่อนเลย ค่อยกลับไปทำใหม่ เราร่วมชะตากรรมเดียวกัน ก็ต้องสู้ด้วยกัน อะไรจะเกิดก็เกิด

 

อรัญญา เรือนเงิน (45 ปี)

อุบลราชธานี ประเด็นเรื่องเขื่อนปากมูล

 

 

บ้านเราอยู่เหนือเขื่อนปากมูล จ.อุบลราชธานี เจอผลกระทบจากการสร้างเขื่อน เราหาปลาเป็นอาชีพหลัก ทำนาด้วยแต่ไม่มาก พอมีเขื่อนแล้วหาปลาไม่ได้ น้ำก็จะท่วมหมู่บ้าน เราเลยร่วมกันต่อต้าน ตอนเขาไประเบิดเขื่อนก็ไปยึดหลุมระเบิด ไม่อยากให้เขาสร้าง ต่อสู้กับคนที่อยากได้เขื่อน แต่เขาก็สร้างจนเสร็จถึงทุกวันนี้ เราก็โยกย้ายมาตั้งหมู่บ้านใหม่อีกที่หนึ่

เราสูญเสียอาชีพหลักคือการหาปลา เขาจ่ายชดเชยค่าที่ดินให้ แต่การไฟฟ้าให้คำมั่นสัญญาไว้ว่าถ้าสร้างเขื่อนเสร็จแล้วไม่มีปลาอย่างที่เราพูด ปลาจะขึ้นมาไม่ได้จริงเขาจะชดเชยที่ดินให้ 15 ไร่ให้ แต่เขาไม่ทำตามที่พูด จึงต้องเรียกร้อง จนถึงวันนี้ 20 ปีแล้วเรายังหวังอยู่ เรื่องนี้ผ่านมติ ครม. รัฐบาลคุณชวลิตในปี 2540 มาแล้ว ทุกอย่างชัดเจนหวังว่ารัฐบาลจะช่วยแก้ไขให้

เราอยู่กับสมัชชาคนจนมาตลอด มากันหลายครั้ง แต่ครั้งนี้รัฐบาลเขาดูแล ลงมาพูดคุยเจรจา ต้องดูว่าจริงใจที่จะดูแลอย่างที่พูดว่าจะไม่ทิ้งคนจนไว้ข้างหลังจริงหรือเปล่า

ครั้งนี้มากับคนในหมู่บ้าน ทิ้งแม่อายุ 86 กับพ่ออายุ 88 ไว้ที่บ้าน คิดถึงจะแย่แล้ว เป็นห่วง อยู่กันสองคนตายาย แต่เราจำเป็นต้องมา

ทุกวันนี้เราทำนานิดหน่อยและรับจ้างทั่วไป ทำอะไรก็ได้ให้ได้เงินพอจุนเจือครอบครัว มาแบบนี้อาชีพการงานก็ต้องปล่อยไว้ก่อน ต้องสู้ก่อน เสียรายได้ก็ยอม ในเมื่อเราอยากให้มันชัดเจน อยากให้ทางรัฐบาลช่วยแก้ไขปัญหาให้ หวังว่าจะเห็นอกเห็นใจ คนเฒ่าคนแก่ก็มาด้วยกัน

ลำบากที่สุดคือช่วงแรกที่ฝนตก ตอนหลังก็แดดร้อน สงสารคนแก่ ลำบากทุกอย่างแต่ก็ต้องอยู่ ทุกคนมุ่งหวังเป้าเดียวกัน ไม่มีอะไรที่จะสูญเสียไปมากกว่านี้แล้ว มันนานจนพวกเราไม่อยากจะคิดย้อนหลัง รู้สึกหดหู่มาก ทั้งความแตกแยกในครอบครัว ลูกเต้าต้องไปทำมาหากินที่อื่น เมื่อก่อนครอบครัวอยู่ด้วยกันอบอุ่น ชาวบ้านรักกันแบ่งปันกัน ทุกวันนี้ตัวใครตัวมัน คนส่วนใหญ่ต้องไปทำงานที่อื่น แทบจะไม่ได้เจอหน้ากัน แต่ละบ้านจะมีคนแก่กับคนดูแลอีกคนหนึ่ง ลูกที่ไปทำงานต่างจังหวัดก็ส่งเงินมาจุนเจือครอบครัว

 

 

หลังจากกลุ่มสมัชชาคนจน ได้ออกแถลงการณ์ยุติการชุมนุม ในวันที่ 23 ตุลาคม 2562 เมื่อรัฐบาลรับเรื่องและจะดำเนินการต่อตามที่ทำข้อตกลงร่วมกันกับกลุ่มสมัชชาคนจน ค่ำวันนั้นรถทัวร์คันใหญ่ก็ขับวนมารับผู้ร่วมชุมนุม ข้าวสารยังเหลือบ้างก้นถุง ส่วนหม้อ หมอน มุ้ง และเสื่อถูกม้วนเก็บเข้าที่อย่างดี วางไว้ข้างกระเป๋าเสื้อผ้าที่ไว้ใช้หนุนนอน

ปลายทางของพวกเขาคือบ้าน ไม่ใช่แค่บ้านที่มีผนัง เตียงนอน หรือพัดลม แต่เป็นบ้าน ที่มีครอบครัวและชีวิตรออยู

ประโยคท้ายแถลงการณ์ยังส่งเสียงซ้ำๆ ว่า ‘ประชาธิปไตยที่กินได้ การเมืองที่เห็นหัวคนจน’
หวังว่าเราจะไม่ได้เจอกัน (แบบนี้) อีก

MOST READ

Politics

23 Feb 2023

จากสู้บนถนน สู่คนในสภา: 4 ปีชีวิตนักการเมืองของอมรัตน์ โชคปมิตต์กุล

101 ชวนอมรัตน์สนทนาว่าด้วยข้อเรียกร้องจากนอกสภาฯ ถึงการถกเถียงในสภาฯ โจทย์การเมืองของก้าวไกลในการเลือกตั้ง บทเรียนในการทำงานการเมืองกว่า 4 ปี คอขวดของการพัฒนาสังคมไทย และบทบาทในอนาคตของเธอในการเมืองไทย

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

23 Feb 2023

Politics

16 Dec 2021

สิทธิที่จะพบศาลภายหลังถูกจับและถูกควบคุมตัว (ตอนที่ 1) : เหตุใดจึงต้องพบศาล และต้องพบศาลเมื่อใด

ปกป้อง ศรีสนิท อธิบายถึงวิธีคิดของสิทธิที่จะพบศาลภายหลังถูกจับกุมและควบคุมตัว และบทบาทของศาลในการพิทักษ์เสรีภาพปัจเจกชน

ปกป้อง ศรีสนิท

16 Dec 2021

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save