fbpx
ข้างหลังคือภูผา ข้างหน้าคือสายน้ำ : ในวันที่โขงผันผวน กับชีวิตสองนิเวศที่บ้านตามุย

ข้างหลังคือภูผา ข้างหน้าคือสายน้ำ : ในวันที่โขงผันผวน กับชีวิตสองนิเวศที่บ้านตามุย

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย เรื่องและภาพ

 

 

 

1

 

ถ้าไม่ก้มมองนาฬิกา ท้องฟ้าที่นี่ทำตัวเหมือนช่วงหัวค่ำ

เมฆเทาเข้มลอยต่ำปกคลุมทั่วผืนฟ้า ละอองฝนโปรยลงบนหัวอย่างเกียจคร้าน เสียงแม่น้ำโขงไหลแรงเหมือนคนเปิดก๊อกที่ไม่มีวันหยุดไหล ท้องน้ำเป็นสีน้ำตาลข้นคลั่ก จนปรับให้มวลทั้งหมดของท้องฟ้า ภูเขา และแม่น้ำกลายเป็นสีทึมเทา – นี่คือบ่ายสอง ในฤดูปลายฝนต้นหนาวที่อำเภอโขงเจียม

ในมวลเวลาที่ชวนเกียจคร้านเช่นนี้ ยังมีชาวประมงล่องเรือทวนขึ้นไปทางต้นน้ำ ดูคล้ายกระสวยทอผ้าที่ทะลุทะลวงผ่านเส้นใยที่เรียกว่าแม่น้ำโขง ต่างก็ตรงที่ผ้าผืนนี้ดูจะต้องใช้เวลาถักทอยาวนานไร้สิ้นสุด

บนเรือไม่มีปลา – เสียดายที่เรือแล่นเร็วเกินกว่าเราจะมีโอกาสทักทายกัน

ลำน้ำห้วยตามุยคือที่มาของชื่อ ‘บ้านตามุย’ หมู่บ้านขนาดเล็กที่ซ่อนตัวอยู่บนที่ราบลุ่ม ด้านหลังติดภูตามุย ผาตัดตกสีดำทะมึน ทิศใต้ติดผืนน้ำโขง ฝั่งตรงข้ามของสายน้ำคือแขวงจำปาสักของลาว ช่วงโขงของที่นี่เต็มไปด้วยเกาะแก่งน้อยใหญ่ และยิ่งเห็นชัดในยามน้ำลด นั่นจึงทำให้บริเวณเก้าพันโบกกลายเป็นที่ท่องเที่ยวยอดนิยม ยังไม่นับว่าบริเวณนี้มองเห็นบั้งไฟพญานาคในวันที่ฤดูออกพรรษามาถึง ทำให้บางพื้นที่ริมน้ำกลายเป็นจุดกางเต็นท์ต้อนรับนักท่องเที่ยว

ห่างไปไม่เกินสิบกิโลเมตร ผาแต้มที่มีภาพวาดอายุกว่าสามพันปีตั้งตระหง่านอยู่ตรงนั้น และพื้นที่อุทยานแห่งชาติผาแต้มก็กินบริเวณสิ้นสุดที่จุดหน้าผาตก ถัดจากนั้นถือเป็นป่าชุมชนให้ชาวบ้านมาทำประโยชน์ได้ ยาวไปจนถึงแม่น้ำโขง

เรื่องควรจะเป็นอย่างนั้น จนกระทั่งการเข้ามาของนโยบายทวงคืนผืนป่าของ คสช. ที่ให้เหตุผลเรื่องการปราบปราม-หยุดยั้งการบุกรุกและทำลายทรัพยากรป่าไม้ และมีการประกาศเขตอุทยานแห่งชาติในปี 2562 ทำให้การกำหนดพื้นที่อุทยานแห่งชาติผาแต้มขยับออกมาเรื่อยๆ ไม่ได้หยุดอยู่แค่จุดผาตก และนั่นทำให้วิถีชีวิตของชาวตามุยและอีกสองหมู่บ้านใกล้เคียงเปลี่ยนไปตลอดกาล

“คนตามุยมีระบบชีวิตสองนิเวศ คือโขงกับป่า” พี่นุ้ย – คำปิ่น อักษร ผู้ก่อตั้งโฮงเฮียนฮักน้ำของที่ทำงานเรื่องสิทธิและสิ่งแวดล้อมมานานหลายสิบปี อธิบายลักษณะของบ้านตามุยไว้สั้นกระชับได้ใจความ

 

นุ้ย – คำปิ่น อักษร ผู้ก่อตั้งโฮงเฮียนฮักน้ำของ

 

ในฤดูฝนเช่นนี้ หรืออีกชื่อเรียกว่าฤดูน้ำขุ่น การหาปลาจะยากขึ้นกว่าเท่าตัว เพราะน้ำโขงจะไหลแรง เต็มไปด้วยดินโคลน ทำให้ช่วงนี้ป่ากลายเป็นพระเอกที่ได้รับความสนใจจากคนในหมู่บ้าน เห็ดผุดขึ้นมหาศาลบนภูตามุย การเดินขึ้นไปเก็บเห็ดในช่วงนี้ถือเป็นเวลาทอง นับแต่เดือนกันยายนไปจนถึงปลายพฤศจิกายน คนที่นี่จะเรียกช่วงเวลานี้ว่า ‘ฤดูป่า’

หากอยากจะเห็นกับตาว่าฤดูป่าเป็นอย่างไร เราจำเป็นต้องเดินเท้าขึ้นเขา และทางขึ้นที่ใช้เวลาน้อยที่สุดและเดินง่ายที่สุด คือทางขึ้นหลังวัดป่าภูตามุย

ฝนที่พรำตลอดทั้งบ่ายจางลงไปแล้ว เหลือเพียงละอองอากาศหนาวเย็นปกคลุมเท่านั้น หากขับมอเตอร์ไซค์ ระยะเวลาเดินทางจากริมโขงไปถึงวัดป่าภูตามุยจะอยู่ที่ไม่เกินห้านาที

ประมาณสี่โมงเย็น ชาวบ้านหลายคนทยอยเดินลงมาจากภูตามุย ไหล่ข้างหนึ่งสะพายตะกร้าสานที่มีเห็ดอยู่เต็ม มืออีกข้างถือเสียมไม้ สวมรองเท้าแตะเดินลงภูมาดูไม่เหน็ดเหนื่อยใดๆ แต่หากมองด้วยสายตาของคนที่เดินห้างมากกว่าปีนเขา ภูผาทะมึนที่ตั้งอยู่ตรงหน้าดูสูงใหญ่เหมือนทางขึ้นไปเขาเหลียงซาน แต่ว่ากันว่าการเดินทางหมื่นลี้เริ่มต้นที่ก้าวแรก การตัดสินใจเหยียบหินก้อนแรกจึงเป็นจุดเริ่มต้นสำคัญที่อาจทำให้เราเข้าใจ ‘ชีวิต’ ของตามุยชัดขึ้น

“ขึ้นไปเลย เดินแป้บเดียวไม่เหนื่อยหรอก” คือเสียงทิ้งท้ายจากคุณป้าเก็บเห็ด การเดินเท้าขึ้นเขาไต่ระดับความสูงขึ้นเรื่อยๆ โดยมีเจ้าด่างเดินนำหน้าอยู่ไม่ห่าง พลางหันมามองเป็นระยะว่ามนุษย์เหล่านี้ช่างเชื่องช้าเสียจริง

เพราะฝนเพิ่งตกไป ทำให้หินลื่นกว่าที่ควรจะเป็น ตะไคร่สีเขียวขึ้นเต็มตามซอกหินและต้นไม้ ฉันนึกสงสัยว่ารองเท้าแตะที่ป้าใส่เดินลงมานั้นมียางพิเศษชนิดใดที่ดึงให้เท้ายึดติดกับก้อนหินได้โดยไม่หัวคะมำไปเสียก่อน บางทีคำตอบอาจอยู่ในจิตวิญญาณของคนตามุย

 

 

วิถีชีวิตแบบนี้ดำเนินมาอย่างยาวนาน จนกระทั่งมีการประกาศใช้ พ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติ พ.ศ.2562 ซึ่งทำให้ต้องมีการกำหนดขอบเขตและรับรองสิทธิทำกินของชุมชน เจ้าหน้าที่อุทยานต้องเข้ามาสำรวจและตรวจสอบการถือครองที่ดินทำกินและที่อยู่อาศัยตามมาตรา 64 และควบคุมการเก็บหาหรือการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติ ตามมาตรา 65 นั่นทำให้การเก็บเห็ดบนภูอาจกลายเป็นความผิด

“ช่วงต้นปี 2563 มีการเก็บข้อมูลว่าชาวบ้านบริโภคอะไรบ้างจากป่าของอุทยาน ละเอียดมากตั้งแต่จิ้งหรีดมาเลย ทำออกมาหมดว่าคุณได้กี่กิโลฯ กี่ฤดู เขาไม่ได้เก็บข้อมูลเพราะหวังดีว่าชุมชนบริโภคความหลากหลาย แต่เขาเก็บข้อมูลเพื่อไปใช้ในมาตรา 65 ที่จำกัดขอบเขตชาวบ้าน อันนี้น่ากลัวมาก แล้วคนสองนิเวศตามุยจะพึ่งพาอะไรเป็นหลัก ในเมื่อไม่มีนา ปลาก็ถูกเขื่อนทำลาย อุทยานก็มาควบคุม นี่คือสิ่งที่เกิดกับตามุย” นี่คือข้อมูลบางส่วนจากพี่นุ้ยที่เล่าถึงปัญหาซับซ้อนของพื้นที่ตามุยให้ฟัง

ดูเหมือนว่าเจ้าด่างที่เดินนำหน้าอยู่จะไม่รับรู้ว่ามนุษย์กำหนดขอบเขตป่าไว้อย่างไรบ้าง ในสายตาของมัน ก้อนหินและขุนเขาคงเป็นโลกสามัญที่โขยกเท้าเข้าไปได้โดยไม่คณนามือ หากเอ่ยปากถามได้ เจ้าด่างคงถามว่า ก้อนหินก้อนไหนกันที่ห้ามไม่ให้เหยียบย่างเข้าไป นั่นจึงอาจเป็นเหตุผลที่มันไม่หยุดพักเลยในการพาเราขึ้นไปบนยอดภู

ชั่วเวลาเดินพอหลังเปียก ฉันและช่างภาพก็มาถึงหลังคาของภูตามุย มองเห็นลานหินสีดำกว้าง คล้ายดาดฟ้าที่ฉาบปูนไม่เรียบ อากาศยังเย็นอยู่ และยิ่งเย็นไปอีกเมื่อสายลมพัดกระทบผิวหนังที่เต็มไปด้วยเหงื่อ นาทีนั้นเองที่ฉันเข้าใจสายตาของนก

บนหน้าผาสูงชันที่ไม่มีอะไรกั้น บ้านตามุยกลายเป็นหย่อมสีน้ำตาลกลางผืนผ้าสีเขียว มองเห็นธงชาติไทยจากสนามหญ้าโรงเรียนบ้านตามุยอยู่ลิบๆ และเจดีย์สีทองจากวัดป่าภูตามุยด้านล่าง สายน้ำโขงดูเล็กเรียวลงกว่าตอนที่ยืนอยู่ข้างมัน แต่ก็ใช่ว่าจะไม่ส่งสัญญาณความยิ่งใหญ่ออกมาจากเส้นสายนั้น – ข้างหลังคือภูผา ข้างหน้าคือสายน้ำ นี่มินับว่าเป็นถิ่นอาศัยอันวิเศษหรอกหรือ

 

 

ในพื้นที่ข้างล่างนั้น มีหลายแปลงที่โดนแจ้งว่าต้องคืนให้อุทยาน ชาวบ้านหลายคนยอมเซ็นออกจากพื้นที่อุทยานอย่างง่ายดาย เพราะไม่อยากมีปัญหากับภาครัฐ แต่ก็มีอีกหลายคนที่ไม่ยอมเซ็นให้จนเกิดปัญหาตามมา หนึ่งในนั้นคือ ฤทธิ์ จันทร์สุข หรือลุงตู๋ ชาวบ้านตามุยที่อยู่อาศัยมาตั้งแต่รุ่นพ่อ

ในวันที่ 23 กันยายน 2563 ฤทธิ์ จันทร์สุข ถูกพิพากษาโทษจำคุก 3 ปี รอลงอาญา 3 ปี ในข้อหาบุกรุก แผ้วถางในพื้นที่อุทยานแห่งชาติผาแต้ม บนพื้นที่ 2 ไร่ 3 งาน และต้องจ่ายค่าปรับที่ทำให้โลกร้อน 80,000 บาท แม้มีภาพถ่ายทางอากาศที่แสดงร่องรอยการทำกินมาตั้งแต่ปี 2516 ก็ตาม

ถ้ามองจากบนนี้ พื้นที่ที่เต็มไปด้วยต้นยูคาลิปตัสของลุงตู๋เป็นเพียงฝุ่นเล็กจิ๋วในจักรวาลธรรมชาติ แต่ในเมื่อมนุษย์ดำรงอยู่บนผืนดิน ที่อยู่หากินย่อมสำคัญเท่าชีวิต โชคดีที่ลุงตู๋ยังมีแม่น้ำโขงให้พิงหลัง แต่โชคร้ายที่น้ำโขงเองก็กำลังจะโดนพรากไปแล้วเช่นกัน

ฉันรับรู้เรื่องราวของลุงตู๋ก่อนขึ้นมาบนยอดภูแห่งนี้ และตั้งใจว่าจะเข้าไปพูดคุยกับลุงตู๋ที่บ้านใกล้โขงในตอนเย็นย่ำ ที่ดินของลุงตู๋ที่โดนยึดไปอยู่ปลายหางตาเมื่อมองจากบนนี้ และอันที่จริงก็แทบจะแยกไม่ออกว่าเส้นแขตแดนที่แท้จริงอยู่ตรงไหน ในอีกฝั่งโขง มองเห็นทิวเขาสลับซับซ้อนร้างไร้ผู้คน – เมื่อมองจากที่สูง ผู้คนมักตัวเล็กจนแทบไร้ตัวตน

อากาศเย็นลงเรื่อยๆ เมฆลอยต่ำจนแทบคว้ามือไปจับได้ เสียงฟ้าดังครืนครันเตือนว่าถ้าไม่ลงจากเขาตอนนี้ อาจจะไม่ทันการณ์แล้ว พระอาทิตย์ค่อยๆ ลดระดับลงมา ยินเสียงผู้คนคุยกันออกมาจากป่าด้านหลัง มีสองสามคนเดินสะพายตระกร้าเห็ดออกมาจากหลังภู ชาวบ้านทยอยลงเขาไปที่หมู่บ้านแล้ว และในนาทีที่เราเริ่มเคลื่อนตัวลงจากเขา เมฆเองก็เคลื่อนลงมากลายเป็นฝนเช่นเดียวกัน

 

2

 

ฝนตกหนักแล้วตอนที่เราลงมาถึงหมู่บ้าน เสื้อผ้า รองเท้า และผมเปียกโชกอย่างหนัก ไม่ต้องถามถึงกระเป๋าตังค์ที่ธนบัตรเปื่อยยุ่ยไปหมดแล้ว โชคดีที่ชาวบ้านจับปลาเอินตัวใหญ่มาได้หนึ่งตัว ในบ้านไม้ใต้ถุนสูงกับหลอดไฟฟลูออเรสเซนส์นั้น อาหารค่ำหรือ ‘มื้อแลง’ เริ่มต้นขึ้นอย่างเปียกโชกแต่อบอุ่น

ฉันนึกไม่ออกว่าจะมีเครื่องดื่มอะไรเหมาะสมกับบรรยากาศแบบนี้ไปมากกว่าเบียร์เย็นๆ ลุงตู๋เดินจากบ้านใกล้ๆ มาร่วมวงด้วย หลังจากผ่านพ้นคดีความไปแล้ว ลุงตู๋ยังพอมีรอยยิ้ม แม้ความจริงยังมีเรื่องให้ต้องกังวลอีกมาก

ตลอดการพูดคุย ถ้าจะมีใครสักคนที่เป็นลูกตามุยโดยแท้ ลุงตู๋ย่อมเป็นคนนั้นอย่างไม่ต้องสงสัย เขาเกิดที่ตามุย เคยออกจากบ้านไปทำงานที่กรุงเทพฯ ทำไม่นานก็กลับมาอยู่ตามุยเหมือนเดิม

“ผมอยู่ในเมืองแล้วไม่ค่อยชอบ ไม่เหมือนบ้านเรา เพราะเราเป็นลูกน้องเขา อยู่ที่นี่ยังทำมาหากินของเราได้” ลุงตู๋ว่า

“ปลานี่หาประจำอยู่แล้ว เห็ดก็เก็บประจำ กับทำไร่ พอได้กิน” ลุงตู๋เล่าถึงวิถีชีวิตหลังกลับมาจากกรุงเทพฯ จนกระทั่งวิถีชีวิตเปลี่ยนไปหลังจากมีการสร้างเขื่อนในแม่น้ำโขงตอนบน และการยึดที่ทำกินของอุทยานแห่งชาติ

“ตอนนี้ผมแทบไม่มีรายได้หลัก ได้เล็กๆ น้อยๆ มารวมกัน พอโดนศาลตัดสินก็โดนยึดที่ทำกินไปเกือบหมด เขาเหลือให้หน่อยหนึ่ง ก็พอได้ทำกิน หลังจากนี้ก็ทำอะไรไม่ได้มาก ก็ระมัดระวังตัวเองไม่ให้โดนคดีอะไรอีก

“พอจะไปหาปลา กระแสน้ำก็ไม่ตรงตามฤดูกาล อย่างเวลาเราใส่เบ็ดไว้ จู่ๆ น้ำขึ้นเพราะเขื่อนปล่อยมา เราเอาเบ็ดขึ้นไม่ทันก็เสียหาย เราไม่รู้ว่าน้ำจากทางเหนือจะมาเวลาไหน แต่ก่อนหาปลาไม่ลำบากขนาดนี้ เพราะเราหาได้ตามฤดูกาลของมัน เดือนหนึ่งหาเงินได้ 4-5 หมื่น ทุกวันนี้หาเงินแค่พออยู่ได้ อาศัยลูกไปทำงานกรุงเทพฯ ส่งเงินมาให้ ถ้าไม่มีลูกทำงานอยู่กรุงเทพฯ เวลาป่วยก็จะลำบาก ต้องไปยืมหนี้ยืมสินเขา” ลุงตู๋เล่า

 

ภาพลุงตู๋ – ฤทธิ์ จันทร์สุข และครอบครัว / ภาพถ่ายโดย Realframe

 

ประเด็นเรื่องเขื่อนในแม่น้ำโขงเป็นอีกหนึ่งประเด็นใหญ่ที่กระทบชาวบ้านหลายพื้นที่ที่อาศัยแม่โขงหล่อเลี้ยงชีวิต แน่นอนว่าคนที่บ้านตามุยย่อมไม่ใช่ข้อยกเว้น

ก่อนหน้านี้เคยมีโครงการสร้างเขื่อนบ้านกุ่ม อยู่เหนือบ้านตามุยขึ้นไปประมาณ 5 กิโลเมตร ในการก่อสร้างต้องมีการระเบิดเกาะแก่งตลอดแนวลำน้ำยาว 3 กิโลเมตร และประเมินว่าต้องมีการอพยพประชากร 4-5 หมู่บ้านที่อยู่ตลอดแนวริมโขงนั้น แน่นอนว่าการก่อสร้างระดับนี้ย่อมกระทบระบบนิเวศอย่างรุนแรง โดยเฉพาะในพื้นที่เก้าพันโบก เกาะแก่งหินที่เป็นสถานอนุบาลพันธุ์ปลาที่ใหญ่ที่สุดในแม่น้ำโขงเขตลาวใต้ แต่ท้ายที่สุด ชาวบ้านตามุยร่วมกับเครือข่ายในภาคอีสานก็ได้ร่วมต่อสู้ในช่วงปี 2547-2551 จนทางการยอมชะลอโครงการ

เวลาผ่านมากว่า 10 ปี จากที่ดูเหมือนว่าฝนที่ตั้งเค้าจะเงียบไปแล้ว แต่ทางการก็กลับเข้ามาสำรวจบริเวณเดิมอีกครั้ง ทำให้ผู้คนตั้งคำถามว่า หรือนี่คือการกลับมาอีกครั้งของโครงการสร้างเขื่อน สิ่งที่น่ากังวลก็คือ หากมีการก่อสร้างเขื่อนขึ้นจริง ทางอุทยานต้องเพิกถอนเขตอุทยานจำนวน 4,000 ไร่ตลอดแนวลำน้ำโขงเพื่อเปิดทางให้สร้างเขื่อนได้ เนื่องจากพื้นที่เขื่อนไม่สามารถสร้างทับพื้นที่ป่าอุทยานได้ เมื่อเป็นเช่นนี้ จึงมีคำถามว่าในเมื่ออุทยานรุกคืบยึดที่ดินทำกินของชาวบ้านให้กลายเป็นที่ของอุทยาน โดยอ้างความชอบธรรมเรื่องการหวงแหนพื้นที่ป่าของภาครัฐแล้ว แต่เพราะเหตุใดจึงยังปล่อยให้เกิดโครงการสร้างเขื่อนที่ทำลายระบบนิเวศแม่น้ำโขงที่อยู่ติดกับพื้นที่อุทยานด้วย

เขื่อนบ้านกุ่ม เป็นเพียงหนึ่งเขื่อนในอีกหลายสิบเขื่อนที่ถูกหมายมั่นว่าจะสร้างตลอดลำน้ำโขง ปัจจุบันในพื้นที่แม่น้ำโขงตอนบนจากจีน มีการสร้างเขื่อนไปแล้ว 11 แห่ง ทั้งหมดเป็นเขื่อนผลิตไฟฟ้า โดยกักน้ำเพื่อผลิตไฟฟ้าทั้งหมดกว่า 22,000 เมกะวัตต์ โดยปริมาณน้ำที่เขื่อนทั้ง 11 แห่งกักไว้มีประมาณ 47,000 กว่าล้านลูกบาศก์เมตร

ส่วนแม่น้ำตอนล่าง ก็มีการเสนอสร้างเขื่อนทั้งหมด 11 แห่ง ณ ปัจจุบันที่สร้างเสร็จแล้วคือเขื่อนไซยะบุรีและดอนสะโฮง ช่วงต้นปี 2563 มีรายงานว่าในหลายพื้นที่ภาคอีสานแม่น้ำโขงแห้งขอด ระดับน้ำโขงต่ำสุดในรอบหลายสิบปี เกิดจากภัยแล้ง และการเก็บกักน้ำของเขื่อนประเทศจีน

จากแม่น้ำโขงที่ทอดยาวมาตั้งแต่เทือกเขาหิมาลัย หากหลุดออกจากบ้านตามุยไป กระแสน้ำจะไหลเข้าสู่ประเทศลาว มุ่งตรงไปยังปากอ่าวที่เวียดนาม ถ้าวัดกันตามเส้นที่มนุษย์ขีดทำข้อตกลงกันไว้ บ้านตามุยคือพื้นที่สุดท้ายในประเทศไทยที่แม่น้ำโขงไหลผ่าน และก็กลายเป็นพื้นที่รองรับความเสียหายที่เกิดขึ้นจากการกระทำบนต้นน้ำด้วย

ไม่ใช่แค่ฝนแห่งการลงทุนเท่านั้นที่ตกลงมาใส่แม่น้ำโขงไม่หยุดยั้ง แต่ฝนในชีวิตจริงก็ตกกระหน่ำไม่ลืมหูลืมตาเช่นกัน จากแม่น้ำโขงในตอนกลางวันที่ข้นคลั่กและทึมเทา มาตอนนี้แม่น้ำโขงมืดสนิท จนการทอดสายตามองแม่น้ำกลายเป็นการทอดสายตาเข้าไปในความมืดมิด

ปลาเอินตัวใหญ่ถูกกินจนหมด ถ้าเป็นแต่ก่อน การจับปลาตัวใหญ่ได้อาจไม่ใช่เรื่องน่าตื่นเต้นเท่านี้ แต่เมื่อฤดูกาลของน้ำผันเปลี่ยนตามอำนาจของเขื่อน โอกาสสัมผัสกับความอุดมสมบูรณ์จึงกลายเป็นเรื่องพิเศษ

บทสนทนาของเราจบลงก่อนฝนจะหยุดตก เสียงในหมู่บ้านเริ่มเงียบลง มีเพียงเสียงฝนกระทบหลังคาเท่านั้นที่ดังกลบทุกสิ่ง เราร่ำลากันในสภาพเปียกโชก

 

 

 

3

 

เช้าของโขง หลังคืนที่ฝนตกไม่ลืมหูลืมตานั้นเย็นและเหงา

หลังอาหารเช้า ฉันเดินไปดูโขงอีกครั้ง แม่น้ำยังคงไหลเอื่อยอย่างที่เคยเป็นมาตลอดนับแต่วันเริ่มต้น ความสว่างและความอบอุ่นของแสงอาทิตย์ยังทรงพลังเสมอ ยิ่งในเวลาที่เราอยู่ในอ้อมกอดของธรรมชาติ

ฉันเข้าไปนั่งคุยกับพี่นุ้ย-คำปิ่น อักษร โดยมีเสียงเด็กๆ วิ่งเล่นเจี๊ยวจ๊าวทั่วชานบ้าน อากาศเย็นพอที่จะสวมเสื้อกันหนาวได้ไม่เคอะเขิน ชาร้อนถูกรินแก้วแล้วแก้วเล่า บทสนทนาที่ว่าด้วยปัญหาและความหวังไหลเวียนตลอดเช้านั้น

และก่อนที่ชาจะหมดกา พี่นุ้ยพูดด้วยเสียงหนักแน่นว่า “เรามีความหวัง เอาจากชุมชนเล็กๆ ของเรานี่แหละที่จะยันสู้ เราใช้วิถีวัฒนธรรมสู้ จุดแข็งที่เหมือนจะไม่แข็งนี่แหละที่เป็นจุดแข็งของเราเรื่อยมา เราเชื่อว่าโลกนี้ไม่มีอะไรตายตัว มันจะเปลี่ยนแปลงไปตามกาลเวลา สิ่งที่เราทำได้คือใส่ความรู้ให้คนรุ่นถัดไป ความคิดในรุ่นนี้ต่างหากคือสิ่งที่เราต้องเตรียมความพร้อม”

ฉันเดินออกมาจากบ้านพี่นุ้ย ตั้งใจว่าจะขึ้นภูตามุยอีกครั้ง วันนั้น ลุงตู๋ออกหาปลาเหมือนอย่างที่เคยทำ แม้ว่าฝนทำท่าจะตกอีกแล้ว

 

 

MOST READ

Social Issues

9 Oct 2023

เด็กจุฬาฯ รวยกว่าคนทั้งประเทศจริงไหม?

ร่วมหาคำตอบจากคำพูดที่ว่า “เด็กจุฬาฯ เป็นเด็กบ้านรวย” ผ่านแบบสำรวจฐานะทางเศรษฐกิจ สังคม และความเหลื่อมล้ำ ในนิสิตจุฬาฯ ปี 1 ปีการศึกษา 2566

เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล

9 Oct 2023

Social Issues

5 Jan 2023

คู่มือ ‘ขายวิญญาณ’ เพื่อตำแหน่งวิชาการในมหาวิทยาลัย

สมชาย ปรีชาศิลปกุล เขียนถึง 4 ประเด็นที่พึงตระหนักของผู้ขอตำแหน่งวิชาการ จากประสบการณ์มากกว่าทศวรรษในกระบวนการขอตำแหน่งทางวิชาการในสถาบันการศึกษา

สมชาย ปรีชาศิลปกุล

5 Jan 2023

Social Issues

27 Aug 2018

เส้นทางที่เลือกไม่ได้ ของ ‘ผู้ชายขายตัว’

วรุตม์ พงศ์พิพัฒน์ พาไปสำรวจโลกของ ‘ผู้ชายขายบริการ’ ในย่านสีลมและพื้นที่ใกล้เคียง เปิดปูมหลังชีวิตของพนักงานบริการในร้านนวด ร้านคาราโอเกะ ไปจนถึงบาร์อะโกโก้ พร้อมตีแผ่แง่มุมลับๆ ที่ยากจะเข้าถึง

กองบรรณาธิการ

27 Aug 2018

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save