fbpx

จากซาอุดรถึงผีน้อย: ‘ความฝันรุ่นพ่อ’ สู่ ‘ความจริงรุ่นลูก’

1

แม้อยู่ในช่วงปิดเทอม แต่รั้วโรงเรียนเพ็ญพิทยาคมยังเปิดอยู่ ช่วงประมาณเก้าโมงเช้า เด็กนักเรียนหลายสิบชีวิตเดินอยู่ลานหน้าเสาธง มีกลุ่มเด็กหญิงนั่งล้อมเขียนเอกสารบนม้าหินอ่อน เด็กหนุ่มคนหนึ่งเพิ่งดับเครื่องมอเตอร์ไซค์หน้าโรงเรียน หนีบแฟ้มเอกสารด้วยข้อศอก ชายเสื้อไม่ใส่ในกางเกง เดินผ่านประตูเข้ามาด้วยท่าทางเอื่อยเฉื่อย คุณครูที่ยืนตรงลานม้าหินอ่อนบอกเราว่า “วันนี้เป็นวันแก้ศูนย์ แก้ ร. วันสุดท้าย”

โรงเรียนเพ็ญพิทยาคม หรือที่เรียกสั้นๆ ว่า ‘เพ็ญพิทย์’ เป็นโรงเรียนประจำอำเภอเพ็ญ จังหวัดอุดรธานี ตัวอำเภออยู่ห่างจากตัวเมืองมาประมาณ 40 กิโลเมตร เป็นอำเภอสุดท้ายก่อนจะข้ามไปเขตจังหวัดหนองคาย หากมองโดยทั่วไป อำเภอเพ็ญมีภาพใกล้เคียงกับอำเภอในต่างจังหวัดที่เราคุ้นชิน แต่เมื่อมองลึกลงไปในลักษณะบ้านเรือนและประชากร เราจะเห็นความพิเศษที่น่าสนใจซ่อนอยู่

ที่โรงเรียนเพ็ญพิทยาคมมีนักเรียนลูกครึ่งอยู่จำนวนมาก ขณะเดียวกันเด็กอีกหลายคนก็อยู่ที่นี่โดยมีพ่อแม่ไปทำงานต่างประเทศ สถานการณ์เช่นนี้เกิดขึ้น เพราะภาวะไหลเวียนเข้าออกของประชากรวัยแรงงานจำนวนมากในพื้นที่

“คนที่นี่เริ่มไปทำงานเมืองนอกกันตั้งนานแล้ว เพราะที่นี่ไม่มีงานให้ทำเพียงพอ” ครูทิว-ทิชานนท์ ชุมแวงวาปี ครูในกลุ่มสาระสังคมโรงเรียนเพ็ญพิทยาคมให้ข้อมูล ครูทิวเล่าว่าคนอำเภอเพ็ญส่วนมากทำอาชีพเกษตรกร ปลูกข้าวเป็นหลัก และมีพืชเศรษฐกิจอื่นๆ บ้าง เช่น อ้อย มันสำปะหลัง ยูคาลิปตัส นอกนั้นก็ออกไปทำงานเขตนิคมอุตสาหกรรมที่ภาคกลางและภาคตะวันออก และออกเดินทางไกลไปทำงานต่างประเทศ

ในพื้นที่ภาคอีสาน มีหลายแห่งที่มีปริมาณน้ำฝนและระบบชลประทานเพียงพอต่อการทำเกษตรตลอดทั้งปี แต่อาจไม่ใช่กับอำเภอเพ็ญ เพราะลักษณะพื้นดินของที่นี่ส่วนใหญ่เป็นดินปนทราย บางแห่งเป็นดินเค็ม ดินปนดินลูกรัง ไม่มีพื้นที่ป่าไม้หรือป่าสงวน หากวัดค่าความอุดมสมบูรณ์ ที่นี่มีค่าปานกลางถึงต่ำ ทำให้สามารถปลูกข้าวได้ในฤดูฝนเท่านั้น แน่นอนว่าหากมีระบบชลประทานที่ดีพอ ก็อาจทำให้ชาวนาทำนาปรังได้ในฤดูแล้ง แต่ความจริงก็คือ แม้จะมีความพยายามทำฝายและพัฒนาแหล่งน้ำแล้ว แต่ก็ยังไม่เพียงพอต่อการใช้งานในพื้นที่

โดยไม่ต้องใช้คำอธิบายทางวิทยาศาสตร์ แค่มองด้วยตาเปล่า เราก็เห็นพื้นที่โรงเรียนที่มีแต่ต้นไม้แห้งแกร็นยืนต้นเรียงราย บนพื้นมีใบไม้แห้งร่วงคลุมเต็มผืนดิน หญ้าขึ้นหรอมแหรมจนแทบไม่เห็นสีเขียว ถ้าจะมีสักสีที่ควบคุมบรรยากาศของที่นี่ ก็คงเป็นสีน้ำตาลจากดินและสีส้มที่โดนแดดสะท้อนขึ้นมาจากดินอีกที

“สมัยก่อน คนเขามักไปทำงานที่ตะวันออกกลาง แถวอิรัก คูเวต ซาอุฯ ก็เหมือนในเพลง ‘ซาอุดร’ นั่นแหละ” ครูสุนันท์ ใจบุญ ครูหัวหน้ากลุ่มสาระการเรียนรู้สังคมศึกษาโรงเรียนเพ็ญพิทยาคม ที่เพิ่งเข้ามาร่วมวงสนทนาด้วยเริ่มย้อนอดีตให้พวกเราฟัง

เพลง ซาอุดร อยู่ในอัลบั้มยุคคลาสสิกของคาราบาวชุด ‘อเมริโกย’ ที่ออกมาในปี 2528 เพลงนี้ถูกใช้ฉายภาพการไปทำงานต่างประเทศของคนไทยในช่วงต้นทศวรรษ 2520 โดยเฉพาะคนในพื้นที่ภาคอีสานอย่างอุดรธานี จนกลายเป็นคำใหม่ที่เชื่อมระหว่าง ‘อุดรธานี’ และ ‘ซาอุดีอาระเบีย’ ประเทศปลายทางยอดนิยมของแรงงานนักสู้ ดังเนื้อเพลงที่ว่า “เขียนป้ายไปปักไว้บอกคนทั้งหลายว่าอยากขายที่นา นำทรัพย์สินเงินตราจากขายที่นา ตีตั๋วเครื่องบินจะไปซาอุ บอกเมียและลูกน้อย คอยพี่หน่อยพ่อหน่อยเถิดหนา อีกไม่นานกลับมา เยี่ยงราชาเงินทองล้นกาย”

คำว่า ‘เยี่ยงราชาเงินทองล้นกาย’ อาจไม่ใช่เรื่องเกินเลย เพราะเงินที่คนทำงานไกลบ้านหาได้นั้น ได้มากกว่าที่หาในไทยกว่าสิบเท่า

“พี่ชายผมก็เคยไปทำงานที่ตะวันออกกลาง” ครูสุนันท์เริ่มเล่าเรื่อง “ถ้าจำไม่ผิด เขาไปประมาณปี 2521-2522 ตอนนั้นต้องเสียค่าเดินทางและค่านายหน้าก่อนไปประมาณ 20,000-30,000 บาท บางทีต้องเอาที่นาไปจำนอง พอทำงานได้เงินมาแล้วค่อยมาไถ่คืน บางคนไปแล้วก็เสียทั้งเงินทั้งที่นาก็มี ไม่ได้ไปง่ายเหมือนปัจจุบันนี้” แน่นอนว่าการที่คนกล้าวัดใจถึงขนาดที่ไปแล้วอาจเสียทั้งเงินทั้งที่นา ก็เป็นเพราะรายได้ต่อเดือนที่คุ้มต่อความเสี่ยง

“พี่ชายผมส่งตังค์มาให้แม่เดือนละประมาณ 8,000 บาท สมัยนู้นถือว่าเยอะนะ ทีนี้ใช้เวลาประมาณ 4-5 เดือนก็ใช้หนี้ค่าเดินทางได้เรียบร้อย หลังจากนั้นก็เซ็นสัญญาทำงานไปประมาณ 2-3 ปี ใครขยันหน่อย รู้จักเก็บออม กลับมาที่ไทย นอกจากไถ่ที่นาคืนแล้ว บางทีก็ได้บ้านและที่นาเพิ่ม สมัยนั้นราคาที่ดินไม่ค่อยสูง” ครูสุนันท์ว่า

สุนันท์ ใจบุญ ครูหัวหน้ากลุ่มสาระการเรียนรู้สังคมศึกษา โรงเรียนเพ็ญพิทยาคม
ทิชานนท์ ชุมแวงวาปี ครูในกลุ่มสาระสังคม โรงเรียนเพ็ญพิทยาคม

ในอีสานมีคำหนึ่งที่มีความหมายเดียวกับการไปตายเอาดาบหน้าว่า ‘โสตาย’ คือลุยให้สุดอย่างไม่กลัวใครหน้าไหน – จะตายตอนนี้หรือจะสู้แล้วค่อยตาย นี่คือชุดความคิดที่ไหลเวียนในหมู่แรงงานไกลบ้าน ซึ่งส่วนมากมักเป็นผู้ชาย ครึ่งหนึ่งในนั้นเป็นผู้ชายที่เป็นพ่อและสามี ผู้มีความหวังว่าจะทำงานหนักเพื่อให้มีเงินเลี้ยงดูครอบครัว

“คนเหล่านี้ ไปโสตายเอาข้างหน้า ภาษาก็พูดไม่ได้ แต่ผมว่าเขาเก่งนะ ไปอยู่ 3-4 เดือนส่งจดหมายกลับมาบอกว่า โอเค อยู่ได้แล้ว พอกลับมาบ้าน บางคนพูดอังกฤษปร๋อเลย พูดภาษาแขกก็ได้ พอเป็นแบบนี้ คนในชุมชน ลูกหลานหรือญาติก็เห็นในลักษณะนี้ก็พยายามที่จะเดินทางตาม” ครูสุนันท์เล่าให้เห็นถึงภาพลักษณ์ของคนไปทำงานต่างประเทศที่คนในชุมชนมอง

ครูทิวที่นั่งฟังอยู่ด้วยกล่าวเสริมว่า “คนในชุมชนไม่ได้มองคนไปทำงานต่างประเทศในแง่ลบนะ เขามองว่า ไปเถอะ ในไทยไม่ได้มีโอกาสที่จะทำเงินได้ขนาดนั้น ไปแล้วสิ่งที่ได้กลับมาก็คือคุณภาพชีวิตที่ดีของทั้งครอบครัว เขามองกันแบบนี้”

แต่สิ่งหนึ่งที่น่าตั้งคำถามคือ เมื่อคนรุ่นพ่อไปทำงานได้เงินมากมายมาส่งเสียลูกเรียนหนังสือ กลับมาสร้างบ้าน ซื้อที่นาได้ แล้วเหตุใด คนรุ่นลูกยังต้องไปทำงานต่างประเทศอยู่อีก – มรดกตกทอดที่ลูกควรได้รับควรเป็นทรัพย์สมบัติและการยกระดับชีวิตมิใช่หรือ แต่เพราะอะไร ทำไมเด็กรุ่นใหม่ๆ ยังต้องเดินทางตามรอยพ่อแม่เพื่อไปทำงานต่างประเทศ คำตอบอาจไม่ใช่เพราะเขาขี้เกียจหรือไม่อดออม

“จนถึงตอนนี้ตำแหน่งงานในพื้นที่ก็เหมือนเดิม ยังไม่ได้ขยายไปไหน มีโรงงานมาตั้งเพิ่มแค่โรงงานเดียว สินค้าเกษตรก็ไม่รู้จะไปขายที่ไหน อย่างมากก็ตลาดคลองถมแถวบ้าน ถ้าอยากมีงานมีเงินก็ต้องไปทำงานนอกพื้นที่” ครูทิวอธิบายถึงประเด็นคำถามนี้

ครูสุนันท์เล่าเสริมว่า เมื่อมีคนรุ่นใหม่เกิดขึ้นมา หากลูกเรียนหนังสือแล้วไปได้ดี สามารถเดินไปถึงจุดที่วางไว้ก็อาจไม่จำเป็นต้องไปทำงานต่างประเทศ แต่ก็ยังมีบางคนที่เห็นว่าการไปทำงานต่างประเทศดีกว่า ยิ่งเมื่อพ่อกับแม่อยู่ที่นั่นอยู่แล้ว แรงผลักดันในการเลือกไปทำงานต่อต่างประเทศหลังเรียนจบ ม.6 ยิ่งมีมากขึ้น จะต่างกับรุ่นก่อนก็แค่เปลี่ยนจากประเทศตะวันออกกลางเป็นเกาหลีใต้ ไต้หวัน หรือสิงคโปร์เท่านั้น

“ผมถามนักเรียนผมคนหนึ่งว่า จบ ม.6 แล้วอยากทำอะไร เขาบอกว่าอยากไปหาญาติที่ต่างประเทศ จุดประสงค์หลักคือไปทำงาน ขณะเดียวกันเขาก็ถือวีซ่านักเรียนเพื่อไปเรียนต่อ แต่เขาไม่ได้มุ่งที่การเรียน เขามุ่งไปทำงาน พอถามว่าทำไมถึงเลือกไป เขาบอกว่า เพราะมีญาติอยู่ต่างประเทศ หลายคนก็เอาลูกเอาหลานไป ได้เงินดี แล้วค่าจ้างทุกวันนี้ได้เยอะมาก ถ้าเทียบแล้ว สมมติทำงานใช้แรงงานที่ไทยได้วันละ 350 บาท ไปทำที่ต่างประเทศอาจได้วันละ 3,500 บาท ถ้าเป็นแบบนั้นเขาก็มองว่าไปทำงานต่างประเทศดีกว่าไหม” ครูสุนันท์กล่าว

เมื่อมองในภาพรวม ไม่ใช่แค่นักเรียน ม.6 คนที่ครูสุนันท์กล่าวถึงเท่านั้น แต่มีตัวเลขชี้ชัดว่า จังหวัดอุดรธานีเป็นจังหวัดที่มีแรงงานย้ายถิ่นไปต่างประเทศมากที่สุด ในปี 2562 มีจำนวนแรงงานทั้งหมดที่ได้รับอนุญาตไปทำงานในต่างประเทศรวมทั้งสิ้น 113,801 คน ที่น่าสนใจคือแรงงานจากจังหวัดอุดรธานีเพียงจังหวัดเดียวคิดเป็นสัดส่วนถึง 10% ของจำนวนแรงงานทั้งหมดที่ได้รับอนุญาตไปทำงานในต่างประเทศ และระหว่างปี 2555-2562 พบว่า จำนวนผู้ที่ได้รับอนุญาตให้เดินทางไปทำงานในต่างประเทศจากจังหวัดอุดรธานีมีจำนวนมากที่สุดมาโดยตลอด ตามด้วยจังหวัดนครราชสีมาและชัยภูมิ และภาคอีสานยังเป็นภูมิภาคที่มีผู้ใช้แรงงานเดินทางไปทำงานต่างประเทศผ่านการลงทะเบียนที่ถูกต้องทั้งหมดคิดเป็น 60% จากทั่วทั้งประเทศ[1]

ตัวเลขเหล่านี้สะท้อนให้เห็นว่า จากปัญหาตั้งต้นเรื่องการทำมาหาทำกินในพื้นที่สู่การ ‘เดินทางไกล’ ไปทำงานต่างประเทศ ไม่เคยถูกแก้ปัญหาให้ถึงราก กลายเป็นความยากจนและการต้องทำงานหนักที่ยังส่งผ่านจากรุ่นสู่รุ่น แม้ว่าคนรุ่นพ่อจะพยายามทำงานอย่างหนักมาตลอดช่วงชีวิตก็ตาม – บ้านที่ไม่เคยได้เป็นบ้าน ที่ดินที่ไม่เคยได้ทำกิน กลายเป็นปัญหาเรื้อรังยาวนานที่ไม่เคยได้รับการแก้ไขของอำเภอเพ็ญ รวมไปถึงอีกหลายพื้นที่ในประเทศไทย

2

หากขับรถลึกเข้าไปในชุมชนของอำเภอเพ็ญ บนผืนดินแห้งแล้งสีน้ำตาล เราจะเห็นบ้านปูนสีสดใสตั้งอยู่อย่างโดดเด่น หลายหลังมีขนาดใหญ่โตแตกต่างจากบ้านไม้หลังอื่นๆ ในชุมชน เป็นที่รู้กันว่า หากที่ดินตรงไหนปรากฏสิ่งปลูกสร้างใหม่อย่างบ้านชั้นเดียวรูปทรงทันสมัย ฉาบปูนเรียบเนียน ทาสีเขียวหรือชมพู บ้านหลังนั้นมักเกิดจากน้ำพักน้ำแรงของแรงงานไกลบ้านที่ส่งเงินมาให้ครอบครัว และคนหาเงินแทบไม่เคยได้กลับมาอยู่อาศัย หรือไม่ก็อาจเป็นบ้านของคนที่มีสามีเป็นชาวต่างชาติ โดยมากคนที่ยังอาศัยอยู่ในชุมชนมักเป็นเด็กและผู้สูงอายุ เป็นครอบครัวแหว่งกลางที่คนวัยทำงานออกจากบ้านไปหาเงินมาดูแลครอบครัว

การไปทำงานไกลบ้านของคนอีสาน ไม่เหมือนการออกจากบ้านไปตอนเช้าแล้วกลับมากินข้าวอย่างพร้อมหน้าในตอนเย็น แต่มันคือการไปด้วยชีวิตทั้งชีวิต ที่ความสัมพันธ์ในครอบครัวเป็นเพียงเยื่อบางๆ เกาะเกี่ยวกันในนามความทรงจำเท่านั้น พ่อบางคนจากบ้านไปตั้งแต่ลูกยังเป็นเด็กหญิงและจนลูกแต่งงานมีครอบครัว พ่อก็ยังไม่ได้กลับมา

การต้องจากกันยาวนานเช่นนี้ ไม่ใช่เรื่องง่ายในการรักษาระดับความสัมพันธ์ ความเป็นพ่อลูกนั่นอีกเรื่อง แต่กับคู่รักอย่างสามี-ภรรยาที่ความสัมพันธ์ต้องอาศัยปัจจัยหลายอย่างในการอยู่รอด การต้องอยู่ห่างกันเป็นสิบปีย่อมเป็นไปไม่ได้ที่ความรักจะยังคงอยู่ตลอดกาล นี่จึงเป็นเหตุผลที่หลายครอบครัวในอำเภอเพ็ญอยู่อย่างคาราคาซัง คือแม้ไม่หย่าร้างอย่างเป็นทางการ แต่ต่างคนก็ต่างมีคนใหม่ในทางปฏิบัติไปแล้ว ผู้ชายหลายคนมีอีกครอบครัวที่ต่างประเทศแต่ก็ยังส่งเงินกลับมาบ้านไม่เคยขาด แม้ไม่ใช่ทุกครอบครัวที่เป็นแบบนี้ แต่หลายครอบครัวก็ดำเนินความสัมพันธ์เช่นนี้มาเป็นสิบปี ยังไม่นับว่าอีกหลายครอบครัวที่ไปทำงานทั้งพ่อและแม่ ปล่อยให้ลูกอยู่กับญาติที่บ้าน เรียนหนังสือและเรียนรู้โลกด้วยตัวเอง

“บางทีเขาอาจคิดว่าไปอยู่ต่างประเทศรายได้ดี ความเป็นอยู่ของลูกจะดีขึ้น อย่างน้อยๆ เขาก็ยังติดต่อสื่อสารกัน แต่ถ้าถามผมในความรู้สึกของคนเป็นครู ถามว่าแบบนี้คุ้มไหม ผมว่าไม่คุ้มกับเด็ก” ครูสุนันท์กล่าว

ครูทิวเสริมว่า “อย่าว่าแต่ไปทำงานต่างประเทศเลย ส่วนใหญ่พ่อแม่ไปทำงานต่างจังหวัด เด็กอยู่กับญาติ บางทีก็มีปัญหากับญาติ เด็กไม่มีที่พึ่งก็มาถามครูว่าจะทำอย่างไรดี ครูในฐานะคนนอกก็แนะนำอะไรไม่ค่อยได้ ได้แต่ซัปพอร์ตความรู้สึกของเขาไป”

ในอีกด้านหนึ่ง เมื่อไม่มีใครคอยกำกับอย่างใกล้ชิด ญาติเองก็เกรงใจพ่อแม่เด็ก เพราะเป็นคนส่งเงินมาให้ ทำให้ไม่กล้าต่อว่าเด็กมากนักหากทำอะไรนอกลู่นอกทาง ตัวพ่อแม่เองก็ไม่อยากดุลูก เพราะคิดว่าเป็นการชดเชยที่ไม่ได้อยู่ดูแล ทำให้เกิดการปล่อยปละละเลยโดยไม่ตั้งใจ เด็กบางคนอาจประคองตัวเองไปได้ในภาวะแบบนี้ แต่เด็กบางคนก็ไม่

“เด็กบางคนเหงา ไม่มีคนดูแล บางทีก็มีพฤติกรรมสุ่มเสี่ยง เช่น เรื่องอบายมุข เรื่องทางเพศ ครูก็ต้องช่วยสอดส่องดูแลด้วย” ครูทิวกล่าว แต่ทั้งนี้ครูทิวยังกล่าวเสริมอีกว่า เรื่องแบบนี้ก็แล้วแต่กรณี บางทีบ้านที่พ่อแม่อยู่ด้วยกันพร้อมหน้า เด็กก็มีความประพฤติไม่ดีได้เช่นกัน ขณะที่บางบ้าน พ่อไปทำงานตั้งแต่ลูกยังเล็ก แต่เด็กก็ยังมีความรับผิดชอบทั้งเรื่องเรียนและดูแลบ้าน ดังนั้นปัจจัยสำคัญจึงอยู่ที่การเลี้ยงดูของคนใกล้ชิดด้วย

ครูสุนันท์เสริมว่า “มันมีเรื่องช่องว่างระหว่างวัยด้วยนะ บางทีผู้เฒ่าผู้แก่ก็ไม่รู้จะสอนอย่างไร เขาก็ใช้วิธีด่า เพราะเขาก็โตมาแบบนั้น แต่เด็กสมัยนี้มีความคิดเป็นของตัวเอง เขาตั้งคำถามว่าทำไมต้องด่า ผมก็ต้องอธิบายให้เด็กฟังว่าทำไมผู้ใหญ่เขาทำอย่างนี้กับเรา แล้วก็ต้องบอกผู้ใหญ่ด้วยว่าไม่ต้องด่าเด็กขนาดนั้น”

ครูสุนันท์กับครูทิวพูดตรงกันว่า เรื่องความสัมพันธ์กับญาติผู้ใหญ่เป็นปัญหาลำดับต้นๆ ที่เด็กมักเข้ามาปรึกษา และเด็กเกินครึ่งอยู่ในครอบครัวที่พ่อแม่แยกทางกัน

ระหว่างพูดคุย มีกลุ่มเด็ก ม.ต้น นั่งเขียนใบงานอยู่โต๊ะใกล้ๆ หลายคนในนั้นพ่อแม่ไปทำงานต่างประเทศ ในพื้นที่แห่งนี้การมีพ่อแม่ไปทำงานต่างประเทศเป็นเรื่องปกติ จะต่างกันก็แค่ประเทศและประเภทงานเท่านั้น ครูสุนันท์กับครูทิวบอกว่า แม้จะมีประเด็นเรื่องครอบครัว แต่ฐานะความเป็นอยู่ของเด็กที่นี่ส่วนมากอยู่ในเกณฑ์ดี เพราะเงินที่ได้จากการทำงานของพ่อแม่

“ผมพูดติดตลกกับเด็กว่าบางทีเรายังอิจฉาเขาเลย ไปเยี่ยมบ้านเด็ก เจอบ้านหลังใหญ่ รถคันใหญ่สองคัน แซวกันอยู่ว่าครูอายที่จะมาแล้วแหละ” ครูสุนันท์ว่า แต่ถึงอย่างนั้นก็ยังมีเด็กที่มีฐานะยากจนอยู่ ซึ่งส่วนมากจะเป็นครอบครัวที่ไม่ได้ไปทำงานต่างประเทศหรือต่างจังหวัด แต่เลือกที่จะอยู่ทำนาหรือรับจ้างรายวันในอำเภอ เมื่อเป็นเช่นนี้ กลายเป็นว่าหลายครอบครัวต้องเลือกที่จะแลกการอยู่กับลูกกับการทำงานหาเงิน

แน่นอนว่าครอบครัวที่ดีไม่ได้ถูกจำกัดไว้เฉพาะพ่อแม่ลูกที่ต้องอยู่พร้อมหน้าพร้อมตา กินข้าวเย็นพร้อมกันทุกวัน และบอกหลับฝันดีลูกทุกครั้งก่อนนอนเท่านั้น แต่การ ‘เอาใจใส่’ ที่ดีและเหมาะสมของคนใกล้ชิดเด็กก็เป็นเรื่องที่ไม่อาจละเลยได้เช่นกัน

ทั้งนี้หากมองให้ลึกลงไปกว่านั้น เราอาจต้องตั้งคำถามว่าทำไมต้องเลือกระหว่างการทำงานกับครอบครัว สังคมแบบไหนที่บีบให้คนต้องเลือกเช่นนี้ และมีทางเป็นไปได้ไหมที่เราจะแก้ปัญหาจากต้นรากได้

ครูสุนันท์กับครูทิวเห็นตรงกันว่าสิ่งสำคัญคือการเพิ่มแหล่งงานในพื้นที่ พัฒนาระบบชลประทาน และรองรับตลาดพืชผลทางการเกษตร

“คนที่นี่ส่วนมากเป็นเจ้าของที่ดิน แต่ทำอะไรไม่ค่อยได้ ทำได้แค่นาปี นาปรังก็ทำไม่ได้ เพราะระบบชลประทานไม่ดี ไม่มีท่อส่งน้ำให้เขาทำ ถ้าเขาอยากทำช่วงหน้าแล้ง เขาต้องลงทุนเจาะเอง แล้วเจาะก็ไม่รู้ว่าจะได้น้ำที่ดีไหม” ครูทิวกล่าว

ครูสุนันท์เสริมว่า “ถ้ามีการพัฒนาพื้นที่ คนไม่อยากไปต่างประเทศหรอก ถึงเงินจะดี หลักๆ เขาอยากอยู่กับครอบครัว อยู่ในประเทศเราโอเคกว่า แต่ที่จำเป็นต้องไปต่างประเทศ เพราะสภาพเศรษฐกิจไม่เอื้อ ถ้าจะแก้ปัญหานี้ต้องพัฒนาเศรษฐกิจของชุมชนให้ดี”

3

ช่วงใกล้เที่ยง นักเรียนเริ่มทยอยออกจากโรงเรียน แต่ก็ยังมีบางกลุ่มขับมอเตอร์ไซค์เข้ามาในโรงเรียนอยู่ ครูทิวบอกว่าวันนี้คงเป็นอย่างนี้ทั้งวัน

เด็กหนุ่มคนหนึ่ง ขับมอเตอร์ไซค์สีชมพูมาจอดหน้าโรงเรียน รองเท้าผ้าใบสีดำไม่มีเชือก ดึงถุงเท้าสูงครึ่งข้อ ปล่อยชายเสื้อออกนอกกางเกง ผมยาวแสกกลางตามสมัยนิยม เป็นทรงผมของเด็กที่กำลังมุ่งสู่อิสรภาพในวัยจบมัธยมฯ แม้หน้าตาจะดูเอาเรื่อง แต่เมื่อเขายิ้มออกมาเพียงเล็กน้อย เขาก็ดูเป็นเด็กหนุ่มเงียบขรึมขี้อายเท่านั้น

“วันนี้มาทำอะไร” ครูสุนันท์ร้องแซวอย่างคนสนิทกัน เด็กหนุ่มตอบเบาในลำคอว่า “มาแก้ ร. ครับ” ไม่มีท่าของการต่อต้าน

“คนนี้ชื่อนีโน่ กำลังจะจบ ม.6 เหลือติด ร. ไม่กี่ตัวหรอก” ครูสุนันท์แนะนำให้เรารู้จัก เขาลงมานั่งคุยบนม้าหินอ่อนโต๊ะเดียวกัน

นีโน่-เนติธร เด็กหนุ่มอายุ 18 ปีที่อยู่กับย่าตั้งแต่เด็ก พ่อแม่แยกทางกันตอนเขาอยู่ชั้น ม.1 ซึ่งเป็นช่วงเดียวกับที่แม่ตัดสินใจไปทำงานต่างประเทศ ความตั้งใจหลังจากแก้ ร. จนหมด เขาจะไปสมัครเรียนต่อด้านช่างยนต์ที่วิทยาลัยเทคโนฯ ที่หนองคาย

“ตอนนี้โน่อยู่บ้านกับน้า เป็นร้านซ่อมรถ อยู่ใกล้ๆ โรงเรียนนี่เอง แต่มาสายกว่าเพื่อน คนอยู่บ้านไกลๆ ไม่ค่อยสาย” ครูสุนันท์แซวนีโน่อีกครั้ง คราวนี้โน่หัวเราะ

เขาเล่าให้ฟังว่าย้ายมาอยู่ที่อำเภอเพ็ญ ซึ่งเป็นบ้านเกิดของแม่ตอน ม.3 ก่อนหน้านี้อยู่บ้านย่าที่หนองบัวลำภู โน่เรียกย่าว่ายาย แม้ว่าจะเป็นแม่ของพ่อก็ตาม

“ครอบครัวผมไม่ค่อยได้อยู่ด้วยกัน เพราะส่วนมากผมจะอยู่กับยายตั้งแต่เล็ก ตอนที่พ่อแม่ยังอยู่ด้วยกัน เขาก็มาทำงานที่อุดรฯ นานๆ ทีพ่อแม่ถึงจะกลับไปหาผม ตั้งแต่เกิดมาจนถึงตอนเด็กๆ ผมก็อยู่กับย่าและน้องชายที่หนองบัวลำภู” โน่เล่า

เขาโตและผูกพันกับย่ามาตั้งแต่เด็กและเป็นคนที่มีอิทธิพลต่อเขามากที่สุด จุดเปลี่ยนหนึ่งที่สำคัญของโน่คือ ตอนที่เขาถูกส่งไปเรียนโรงเรียนประจำที่จังหวัดเลยตอน ม.1 ซึ่งเป็นช่วงเดียวกันกับที่พ่อแม่เริ่มมีปัญหา เขาเรียนได้เพียงหนึ่งเทอมก็ถูกย้ายกลับมาเรียนที่หนองบัวลำภู ก่อนจะย้ายมาเรียนที่เพ็ญพิทยาคมตอน ม.3 จนเรียนจบ ม.6

“ตอนที่แม่ตัดสินใจจะไปทำงานต่างประเทศ แม่ได้มาบอกหรือปรึกษาก่อนไหม” เราถาม

“ไม่ครับ” โน่ตอบ “ตอนนั้นผมเรียนที่โรงเรียนประจำ กลับมาบ้านที่หนองบัวฯ ก็ไม่เห็นแม่แล้ว กลับมาค่อยรู้ว่าเขาแยกทางกัน แล้วแม่ก็ไปทำงานต่างประเทศเลย ตอนนั้นยังเด็ก คิดอะไรไม่ออก เบลอๆ ตอนนี้ก็ไม่น้อยใจแล้วครับ”

“แสดงว่าตอนนั้นก็น้อยใจอยู่?”

“ครับ น้อยใจเรื่องที่ไม่บอกเรานี่แหละ มาถึงบ้านก็ไม่เห็นใครเลย พ่อก็ไม่เห็น แม่ก็ไม่เห็น กลับมาก็มีแต่ยาย ยายเป็นคนบอกว่าพ่อแม่แยกกันแล้ว ผมจำไม่ได้แล้วว่ายายบอกผมยังไง จำได้แค่ว่าผมร้องไห้” โน่เล่าช้าๆ น้ำเสียงไม่แสดงความรู้สึกอะไร เขาบอกอีกว่า “ที่ผมออกจากโรงเรียนประจำก็เพราะอยากออกมาช่วยยาย อยากอยู่เป็นเพื่อนยายกับน้องชาย เพราะตอนนั้นพ่อก็ไม่ได้อยู่บ้านที่หนองบัวฯ แล้ว”

มาถึงตอนนี้ ย่าของเขายังอยู่บ้านที่หนองบัวลำภู พ่อกลับไปอยู่กับย่าพร้อมครอบครัวใหม่ แม่ไปทำงานที่ประเทศเพื่อนบ้าน ส่วนโน่ออกมาอยู่กับน้องชายแม่ที่อำเภอเพ็ญ ฝึกวิชาการซ่อมรถตั้งแต่ ม.4 จนตอนนี้พอจะมีฝีมืออยู่บ้าง

นีโน่เป็นเด็กหนุ่มทั่วไปที่มีเพื่อน มีคนรัก เขาบอกว่าเขาชอบเรียนศิลปะ แม้ว่าเขาจะติดศูนย์วิชาศิลปะก็ตาม นีโน่อธิบายสั้นๆ ว่า “ชอบกับเก่งไม่เหมือนกันครับ”

เขาได้เงินจากแม่เดือนละ 3,000 บาท ใช้จ่ายค่ากินค่าอยู่ ค่าเสื้อผ้า ค่าเข้าค่าย ค่าน้ำมันมอ’ไซค์เบ็ดเสร็จหมดในนั้น “ถ้าอยากได้ของชิ้นใหญ่ๆ ก็เก็บเงินเอาครับ” นีโน่บอก

“ผมคุยกับแม่เดือนละครั้ง ครั้งละห้านาที คุยกันแต่ทางเสียง ไม่ค่อยเปิดกล้อง เพราะแม่ทำงาน ส่วนมากก็คุยกันเรื่องเรียน ถามว่าเป็นไงบ้าง พอบอกแม่ว่าติดศูนย์ ติด ร. แม่ก็บ่นนิดหน่อย แต่ส่วนมากแม่ก็ไม่ได้ว่าอะไรมาก” นีโน่บอกว่าเวลาเจอการบ้านยากๆ เขาแทบไม่ถามใครเลย ส่วนมากใช้วิธีเสิร์ชในอินเทอร์เน็ตหรือรอมาถามเพื่อนที่โรงเรียน

แม้ชีวิตจะจากย่ามาหลายปี แต่ย่าก็ยังเป็นครอบครัวที่โน่อยากกลับไปหา และความฝันของเขามีย่าอยู่ในนั้นเสมอ

“ถ้าเลือกได้ ผมก็อยากกลับไปอยู่กับยายเหมือนเดิมแหละครับ ตอนนี้แกแก่แล้ว ผมตั้งใจว่าถ้าเรียนจบช่างยนต์แล้ว ผมก็จะไปทำงานเกาหลี ไปหาเงินมาใช้หนี้ให้ยาย” โน่เล่า เขาบอกว่าตอนแรกตั้งใจว่าจบ ม.6 แล้วจะไม่เรียนต่อ จะขอเงินก้อนจากแม่เพื่อสมัครไปทำงานที่เกาหลี แต่ติดเรื่องเกณฑ์ทหาร เพราะไม่ได้เรียน รด. จึงตั้งใจว่าจะอยู่เคลียร์เรื่องทหารและเรียนจบช่างยนต์เป็นพื้นก่อน ค่อยเดินทางไปเก็บเงินอย่างเต็มที่

เมื่อถูกถามว่ากลัวไหมกับการไปทำงานต่างประเทศ โน่ตอบเร็วว่า “ไม่กลัวครับ ขอแค่ได้เงิน ทำหมดแหละ และผมตั้งใจจะไปแบบถูกกฎหมาย”

โน่ศึกษาชีวิตของผีน้อยในเกาหลีอย่างละเอียด เขาดูในยูทูบและอ่านรีวิวจากอินเทอร์เน็ต รู้ข้อดี-ข้อเสียของงานแต่ละประเภท และรู้ว่าต้องเตรียมตัวอะไรบ้าง เขาตั้งใจอย่างแน่วแน่ที่จะใช้หนี้ให้ย่าและทำให้ย่าอยู่สบาย เขาสมมติให้เห็นภาพว่า

“ถ้าผมหาเงินได้เดือนละ 10 บาท ผมจะเหลือให้ตัวเอง 3 บาทเอาไว้แค่ค่ากินของตัวเองก็พอ ที่เหลือส่งมาให้ยายใช้หนี้ทั้งหมดเลย เพราะผมเห็นยายทำงานตั้งแต่ผมเป็นเด็ก ตอนนี้ก็ยังทำอยู่ ผมสงสารแก ทั้งทำนา ปลูกมัน ยายแก่มากแล้ว 70 กว่าแล้ว ผมอยากให้พัก” โน่กล่าว และเมื่อทำงานใช้หนี้จนหมด เขาก็ตั้งใจจะกลับมาเปิดร้านซ่อมรถที่หนองบัวลำภู

ทั้งหมดเป็นความคิดความฝันที่เขาคิดด้วยตัวเอง และมุ่งมั่นจะทำให้สำเร็จ แม้เขาต้องย้ายจากครอบครัวนั้นไปครอบครัวนี้มาตลอด เมื่อถูกถามถึงความฝันจริงๆ ในชีวิตว่าอยากทำอะไร โน่ตอบสั้นๆ ว่า “ขอแค่ให้ยายมีความสุขก็ดีแล้วครับ”

4

นอกเหนือจากนีโน่ ยังมีเพื่อนในชั้นเดียวกันที่หากมองเผินๆ เป็นเด็กที่อยู่ในขั้วตรงกันข้าม

วิว-ณัฐสุดา นักเรียนชั้น ม.6 สายสังคม-ไทย เรียนจบ ม.6 ด้วยเกรดเฉลี่ย 3.60 เป็นนางรำโรงเรียน และสอบติดมหาวิทยาลัยมหาสารคามตั้งแต่รอบพอร์ตโฟลิโอ โดยไม่ต้องไปลุ้นการสอบ A-Level ทั่วประเทศ

ทั้งวิวและนีโน่รู้จักกันผ่านๆ ไม่สนิทกันมากนัก แต่พวกเขามีเรื่องหนึ่งที่เหมือนกันคือ อาศัยอยู่กับญาติ โดยพ่อแม่ไปทำงานต่างประเทศ

พ่อของวิวไปทำงานที่เกาหลีกว่า 7 ปีแล้ว ก่อนหน้านั้นก็ไปทำงานที่ไต้หวัน วิวอาศัยอยู่กับย่าและลุง และมีครอบครัวป้าที่วิวเรียกว่าแม่อยู่บ้านในละแวกเดียวกัน กลายเป็นครอบครัวใหญ่ที่ไปมาหาสู่กันตลอด ส่วนแม่จริงๆ ของวิวนั้นแยกทางกับพ่อตั้งแต่เกิด ทำให้วิวเติบโตมากับพี่น้องของพ่อที่เลี้ยงมาอย่างใกล้ชิด

ปัจจุบันวิวอาศัยอยู่ในบ้านปูนสีเขียวหลังใหญ่ ที่พ่อใช้เงินสดสร้างให้จากการไปทำงานต่างประเทศ และด้วยความรับผิดชอบที่วิวมี ทำให้พ่อส่งเงินมาให้วิวจำนวนหลายหมื่นต่อเดือน โดยให้แบ่งเก็บและใช้ร่วมกันกับย่า แม้ตอนนี้วิวจะดูโอเคกับชีวิตความเป็นอยู่ แต่วิวเล่าให้ฟังว่าตอนที่รู้ว่าพ่อจะไปทำงานต่างประเทศ วิวก็ยังเสียใจอยู่ดี

“ตอนนั้นหนูไปรำที่โรงเรียน พ่อก็แอบไปเลย เพราะกลัวหนูร้องไห้ พอถึงสนามบินอุดรฯ พ่อค่อยโทรมาบอกว่าจะไป แต่หนูก็ร้องไห้อยู่ดี”

วิวเล่าเล่าเธอสนิทกับพ่อมาก แม้จะไม่ค่อยได้อยู่ด้วยกัน เพราะพ่อไปทำงานตั้งแต่เด็กๆ แต่วิวก็มีพ่อเป็นเพื่อนที่คอยให้คำปรึกษาตลอด ไม่ว่าจะเรื่องการเรียนหรือความรัก

“หนูโทรคุยกับพ่อทุกวัน วิดีโอคอล มีอะไรก็ปรึกษากัน พ่อมักจะบอกว่า ทำอะไรก็คิดเยอะๆ นะลูก อะไรไม่ดีก็อย่าไปทำ” เพราะประโยคเหล่านี้ของพ่อ ทำให้ทุกครั้งที่วิวจะทำอะไรไม่ดี ก็มักจะฉุกคิดขึ้นมาเสมอ และนั่นทำให้วิวสามารถควบคุมตัวเองและจัดการชีวิตให้อยู่ในร่องในรอยได้ แม้จะไม่มีพ่อแม่มาคอยดูแลอยู่ใกล้ๆ

วิวชอบเรียนวิชาสังคมและภาษา ทำให้วิวมีความฝันว่าอยากเป็นไกด์หรือนักแปล แต่ถึงอย่างนั้นวิวก็มีความตั้งใจว่าเมื่อเรียนจบปริญญาตรีแล้ว จะไปทำงานเกาหลีเพื่อหาเงินก่อน

“เรียนจบแล้วหนูอยากไปหาพ่อก่อน ถ้ามีงานให้ทำ หนูก็จะกลับมาทำเรื่องแล้วก็ไปใหม่ งานที่ไทยหนูคิดว่าเงินเดือนน้อย ถ้าทำงานได้เงินพอแล้ว ก็ค่อยมาทำงานไกด์หรือนักแปล” วิวกล่าว

เมื่อถามถึงความฝัน วิวตอบคล้ายนีโน่ว่า “อยากให้พ่อกับย่า และญาติๆ มีความสุข”

ความฝันของคนรุ่นพ่อในยุคซาอุดรที่ว่าจะกลับมา ‘เยี่ยงราชาเงินทองล้นกาย’ อาจเป็นความจริงเพียงครึ่งเดียว เพราะคนรุ่นลูกในรุ่นผีน้อย ก็ยังมีความฝันจะออกไปทำงานเพื่อให้ได้เป็น ‘เยี่ยงราชาเงินทองล้นกาย’ เช่นกัน

คำถามสำคัญก็คือสังคมแบบไหนที่ผลักให้คนต้องออกจากบ้านตัวเองเกือบตลอดชีวิต

References
1 กรมการจัดหางาน กระทรวงแรงงานและสวัสดิการสังคม

MOST READ

Spotlights

14 Aug 2018

เปิดตา ‘ตีหม้อ’ – สำรวจตลาดโสเภณีคลองหลอด

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย พาไปสำรวจ ‘คลองหลอด’ แหล่งค้าประเวณีใจกลางย่านเมืองเก่า เปิดปูมหลังชีวิตหญิงค้าบริการ พร้อมตีแผ่แง่มุมเทาๆ ของอาชีพนี้ที่ถูกซุกไว้ใต้พรมมาเนิ่นนาน

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Aug 2018

Social Issues

9 Oct 2023

เด็กจุฬาฯ รวยกว่าคนทั้งประเทศจริงไหม?

ร่วมหาคำตอบจากคำพูดที่ว่า “เด็กจุฬาฯ เป็นเด็กบ้านรวย” ผ่านแบบสำรวจฐานะทางเศรษฐกิจ สังคม และความเหลื่อมล้ำ ในนิสิตจุฬาฯ ปี 1 ปีการศึกษา 2566

เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล

9 Oct 2023

Social Issues

5 Jan 2023

คู่มือ ‘ขายวิญญาณ’ เพื่อตำแหน่งวิชาการในมหาวิทยาลัย

สมชาย ปรีชาศิลปกุล เขียนถึง 4 ประเด็นที่พึงตระหนักของผู้ขอตำแหน่งวิชาการ จากประสบการณ์มากกว่าทศวรรษในกระบวนการขอตำแหน่งทางวิชาการในสถาบันการศึกษา

สมชาย ปรีชาศิลปกุล

5 Jan 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save