fbpx

“ภาคอีสานถูกกระทำจากนโยบาย” สันติภาพ ศิริวัฒนไพบูลย์: ทรัพย์ในดิน สินในน้ำที่คนอีสานไม่เคยเป็นเจ้าของ

ถ้าจะมีสักชุดคำที่ถูกใช้อธิบายคนอีสานบ่อยที่สุด หนึ่งในนั้นคือคำว่า ‘โง่ จน เจ็บ’ คนบนแผ่นดินที่ราบสูงถูกมองว่าเข้าไม่ถึงการศึกษาที่มีคุณภาพ เข้าไม่ถึงโอกาสทางเศรษฐกิจ และเจ็บป่วยออดๆ แอดๆ เพราะวิถีความเป็นอยู่ไม่ดี

คำถามสำคัญก็คือ คนอีสาน ‘โง่ จน เจ็บ’ จริงหรือ? หรือเพราะคนอีสานถูกกระทำจากคนอื่น – คนอื่นในนามของรัฐที่มาพร้อมความหวังดีที่เรียกว่า ‘การพัฒนา’

หนึ่งในโครงการพัฒนาที่ใหญ่และยาวนานที่สุดคือโครงการผันน้ำโขง-ชี-มูล ที่เริ่มต้นตั้งแต่ปี 2534 โดยรัฐให้เหตุผลว่าเพราะอีสานแล้ง จึงจำเป็นต้องมีการจัดการน้ำให้ไหลไปทั่วภูมิภาค โดยการทำ ‘ก๊อก’ เชื่อมแม่น้ำสามสายหลัก ผ่านการสร้างเขื่อน ฝาย ประตูน้ำ ฯลฯ ทั่วแผ่นดินที่ราบสูง

คำถามสำคัญก็คือ พื้นที่อีสาน ‘แล้ง’ จริงหรือ? หรือเพราะโครงการขนาดใหญ่มีผลประโยชน์หอมหวานสำหรับนายทุนมากกว่าชาวบ้าน กาลเวลากว่า 30 ปีพิสูจน์แล้วว่าโครงการนี้ทำให้เกิดผลเสียมากกว่าผลดี ภาคอีสานยังถูกตรึงไว้กับคำว่า ‘พัฒนา’ ที่ไม่มีผู้คนอยู่ในนั้น เห็นเพียงอิฐ หิน ดิน ทราย – สิ่งก่อสร้างขนาดใหญ่แต่แห้งแล้งน้ำใจ และยังทำลายระบบนิเวศดั้งเดิมไปจนไม่เหลือเค้า

ยังไม่นับว่าอีสานมีทรัพยากรหลากหลาย ทั้งป่าไม้ พืชผล ลุ่มน้ำ และเนื้อดิน แต่คนอีสานไม่ได้เป็นเจ้าของ ‘ทรัพย์ในดิน สินในน้ำ’ ของตัวเองอย่างที่ควรจะเป็น เพราะหลายต่อหลายครั้งมี ‘ผู้มีอำนาจ’ เข้ามาจัดแจงเนื้อนาดินของพวกเขาโดยไม่เข้าใจพื้นที่อย่างแท้จริง

ภาคอีสานเป็นภาคที่มีพื้นที่และประชากรมากที่สุดในประเทศไทย และในความแห้งแล้งที่อีสานถูกตีตรากลับเต็มไปด้วยความรุ่มรวยทางวัฒนธรรมที่ยากจะลอกเลียนแบบ หลายคนมองว่าภาคอีสานมีศักยภาพจะไปได้ไกลกว่านี้ทั้งในแง่วัฒนธรรมและเศรษฐกิจ แต่ดูเหมือนว่ายังมีหลายอย่างติดล็อกอยู่ เพราะการพัฒนาที่ผิดรูปผิดร่างมาตลอดหลายสิบปี

ในวันที่การเลือกตั้งกำลังจะมาถึง นโยบายพัฒนาประเทศหลายอย่างถูกเสนอต่อประชาชน และหนึ่งในสิ่งที่คนอีสานอยากฟังคือนโยบายที่ว่าด้วยภาคอีสาน 101 ชวน สันติภาพ ศิริวัฒนไพบูลย์ อาจารย์ประจำสาขาวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏอุดรธานี ผู้ทำวิจัย ‘การพัฒนาระบบเศรษฐกิจฐานรากเพื่อลดความเหลื่อมล้ำในชุมชนชนบทอีสาน’ มาพูดคุยว่าด้วยรากปัญหาของแผ่นดินที่ราบสูงผ่านโครงการผันน้ำโขง-ชี-มูล และเจาะลึกไปถึงผิวดินและแก่นแกนของภูมิภาคนี้ ซึ่งไม่ใช่แค่เรื่องน้ำ

บางทีคำตอบของหลายเรื่องอาจอยู่ในวลีที่ว่า “ไผว่าอิสานแล้ง สิจูงแขนเพิ่นไปเบิ่ง”

ตอนนี้โครงการผันน้ำโขง-ชี-มูลมีอายุ 30 ปีแล้ว ที่ผ่านมาคุณมองเห็น ‘ปัญหา’ และ ‘ประโยชน์’ อะไรของโครงการโขงชีมูลในอีสานบ้าง

โครงการผันน้ำโขง-ชี-มูลฝืนธรรมชาติทั้งหมด นี่คือปัญหาใหญ่ บางจุดใช้วิธีสูบน้ำจากที่ต่ำขึ้นมาที่สูงโดยการกั้นฝาย แล้วสูบทอยเป็นช่วงๆ นี่ก็ฝืนแรงโน้มถ่วง แล้วคุณต้องปิดปากแม่น้ำ ปิดกั้นเส้นทางอพยพของปลา หรือคุณไปทำอ่างเก็บน้ำโดยถมคันดินขึ้นมารอบหนอง บึง หรือรอบพื้นที่ป่าที่ลุ่มต่ำ บริเวณนั้นกลายเป็นอ่างเก็บน้ำทั้งที่ก่อนหน้านั้นเป็นป่าบุ่งป่าทามมาก่อน เช่น ที่ราษีไศล สูญเสียป่าบุ่งป่าทามไปสองแสนกว่าไร่ จึงตามมาด้วยปัญหามากมาย ทำให้ระบบนิเวศสูญเสียตามที่ราบริมน้ำ

เราอาจได้น้ำมา แต่ได้มาช่วงที่คนไม่ต้องการน้ำ เช่น หน้าฝน น้ำเยอะอยู่แล้วก็ไหลไปขังนอกคันดิน แล้วไปท่วมนาชาวบ้าน ชาวบ้านก็ทำนาปีไม่ได้ ต้องมาทำนาปรัง พอทำนาปรังก็ต้องไปหาพื้นที่ที่เอาน้ำมาได้ใกล้ๆ ก็คือต้องบุกรุกป่าบุ่งป่าทาม เราจะเห็นได้เยอะในแม่น้ำสงคราม ลำห้วยหลวง โครงการโขง-ชี-มูลส่งผลกระทบค่อนข้างเยอะ

ทีนี้ถามว่ามีประโยชน์ไหม ก็มีบ้าง เช่น บางพื้นที่ก็สูบน้ำใช้ในฤดูแล้งได้ บางพื้นที่ก็เป็นแหล่งเก็บน้ำถาวร เพราะบางทีน้ำในอีสานมาหน้าฝน พอหน้าแล้งก็แห้งไปเลย แหล่งเก็บน้ำพวกนี้ก็พอเก็บได้บ้าง แต่การจะสูบปั๊มส่งไปไกลๆ เราก็ไม่ได้พัฒนาถึงขนาดนั้น ปัญหาสำคัญคือความไม่คุ้มค่า ทำมาแล้วมีค่าใช้จ่ายในการดูแลเยอะ เช่นที่หนองหานกุมภวาปี กรมพัฒนาพลังงานทดแทนฯ สมัยนั้นทำโครงการสิบลำห้วยลงมาจ่อที่หนองหานเสร็จ แต่ก็ต้องปั๊มน้ำเข้าแล้วเก็บน้ำในคันดิน ปรากฏว่าปั๊มพัง ไม่มีเงินซ่อม ไม่รู้ว่าใครต้องจ่าย นี่คือปัญหาใหญ่

มีพื้นที่ไหนบ้างที่สะท้อนปัญหาเรื่องการผันน้ำโขง-ชี-มูลให้เห็นผลกระทบอย่างชัดเจน

ผมอธิบายอย่างนี้ว่า ระบบผันน้ำมีสองระบบ ระบบแรกคือการผันน้ำโดยแรงโน้มถ่วง นั่นคือโครงการผันน้ำโขง-(เลย)-ชี-มูล คุณไม่ต้องทำอะไรเยอะ แค่ไปขุดลอกแม่น้ำเลยที่เชื่อมต่อกับแม่น้ำโขงในระดับท้องน้ำโขงหรือต่ำกว่า แม่น้ำโขงก็ไหลเข้ามา มีแม่น้ำเลยรออยู่แล้ว ก็ทำให้แม่น้ำเลยกว้างขึ้น ลึกขึ้น เพื่อล่อน้ำโขงเข้ามา ถ้าน้ำเลยไหลลงมาจากต้นน้ำก็ดักน้ำไว้ก่อนโดยการปิดประตูกั้นไว้ ไม่ให้น้ำเลยกระโจนลงมาในคลองนี้ จะเอาแต่น้ำโขง ไม่อย่างนั้นแม่น้ำเลยจะแห้งเกินไป จึงเกิดเป็นโครงการประตูน้ำศรีสองรัก พอน้ำมาออกันอยู่ตรงนี้ ขั้นตอนต่อไปคือจะเอาน้ำจากจังหวัดเลยเข้ามาถึงตอนในของภาคอีสานได้อย่างไร คำตอบคือก็เจาะอุโมงค์ทะลุภูเขา ต่อท่อมาลงที่สุวรรณคูหา ส่งต่อไปลำห้วยโมง บ้านผือ ลำพะเนียง เขื่อนอุบลรัตน์ เขื่อนลำปาว

ปัญหาแรก ผมไม่แน่ใจว่าคนลุ่มแม่น้ำเลยเจอประตูน้ำแบบนี้จะทำให้น้ำท่วมหนักขึ้นหรือเปล่า ปัญหาที่สอง น้ำโขงไหลผ่านท่อมา แต่คนที่อยู่แนวเส้นท่อไม่ได้ใช้น้ำนะ เขาเอาท่อฝังผ่านบ้าน ผ่านที่นาเฉยๆ แต่คนที่ได้ใช้น้ำอยู่ขอนแก่น กาฬสินธุ์นู่น คนที่ท่อผ่านบ้านก็นั่งเฝ้าท่อไป เป็นความเหลื่อมล้ำซ้อนความเหลื่อมล้ำ คุณต้องเสียสละ ถึงจะได้ค่าชดเชยไร่ละ 4-5 หมื่นก็ตาม แต่ถ้าเป็นพื้นที่ที่ไม่มีเอกสารสิทธิ์ก็วุ่นวายอีก จะได้เงินหรือเปล่าก็ไม่รู้

ประเด็นที่ผมอยากจะชี้คือ คนที่ได้ประโยชน์คือใคร และใครคือคนที่ต้องจ่ายในราคานี้ล่ะ คุณใช้น้ำคุณต้องจ่ายไหม คุณต้องซื้อน้ำผ่านมิเตอร์ก่อนมีน้ำไหลเข้านารึเปล่า เพราะค่าสูบน้ำก็เป็นพันล้านแล้ว ค่าโครงการเป็นแสนล้าน ผมว่าน้ำไม่ฟรีแน่นอน นี่คือต้นทุนที่เกษตรกรต้องจ่าย แล้วงบประมาณที่ต้องทำเยอะขนาดนั้นก็จะไปเบียดงบประมาณด้านอื่นที่ควรจะทำควบคู่กันไปหรือไม่ เช่น การฟื้นฟูต้นน้ำ การจัดการชลประทานขนาดเล็ก การจัดการน้ำในระดับไร่นา ซึ่งน่าจะถึงชาวบ้านมากกว่า

ระบบที่สอง คือผันน้ำจากที่ต่ำขึ้นมาที่สูง อันนี้หนักเลย เช่น โครงการผันน้ำแม่น้ำโขง ห้วยหลวง-หนองหานกุมภวาปี ตามธรรมชาติน้ำจะไหลจากที่สูงลงที่ต่ำ แต่หนองหานกุมภวาปีอยู่ที่สูง เป็นสันปันน้ำของลุ่มน้ำชี เขาขุดคลองที่บ้านหนองแดนเมือง คลองใหญ่มาก ใหญ่พอๆ กับแม่น้ำโขงเลย ปากคลองก็มีประตูต่อกับน้ำโขง ล่อน้ำโขงเข้ามา แล้วขุดมาชนกับห้วยหลวง เอาน้ำจากน้ำโขงมาเก็บไว้ในห้วยหลวง แล้วก็ปิดปากประตูห้วยหลวงเพื่อขังน้ำไว้ คำถามคือน้ำพวกนี้จะขึ้นไปที่หนองหานกุมภวาปีได้อย่างไร ระยะทางตั้งร้อยกว่ากิโลเมตร เพราะระดับต่างกัน 40-50 เมตร สุดท้ายก็ต้องสูบทอยข้ามฝายแล้วขังไว้ เหมือนเอาน้ำขึ้นบันไดไปเรื่อยๆ จึงต้องมีฝายอย่างนี้ประมาณ 10 กว่าตัว จนไปถึงห้วยดาน ก็ต้องทำคลองใหม่ส่งไปหนองหานกุมภวาปีต่อ อีกส่วนหนึ่งก็กันน้ำมาที่ประตูน้ำสามพร้าว เพื่อเก็บน้ำสำหรับรองรับเมือง

ต.สามพร้าว อ.เมือง จ.อุดรธานี มีป่าบุ่งป่าทามผืนสุดท้ายที่กว้างใหญ่ใกล้เมือง กินบริเวณบ้านนาหยาด ดอนหาด สามพร้าว ตรงนี้อาจจะต้องถูกขุดลอก ทำคันดินเก็บน้ำ เหมือนราษีไศล ส่วนเส้นที่แยกจากห้วยดาน ก็คงขุดคลองหรือทำท่อส่งไปที่หนองหานกุมภวาปี แล้วก็ไหลลงเขื่อนลำปาวที่กาฬสินธุ์ ถามว่าใครต้องจ่ายค่าไฟในการปั๊มน้ำ ถ้าเกษตรกรจะใช้น้ำ ต้องจ่ายไหม คราวนี้ถ้าหน้าฝนล่ะ น้ำจะไหลได้สะดวกไหม มีฝาย มีคันดิน มีอาคารชลประทานเยอะแยะไปหมด น้ำจะท่วมหนักกว่าเดิมหรือเปล่า

มีการศึกษาความเป็นไปได้ในโครงการผันน้ำห้วยหลวง-หนองหานกุมภวาปี ตั้งแต่ประมาณปี 2540 ถึงช่วงปี 2550 น่าจะเป็นช่วงรัฐบาลทักษิณ ประมาณปี 2547-2548 พยายามบูมเรื่องนี้มาก เขาเรียกว่า water grid เอาน้ำเข้าท่อแล้วส่งไปเหมือนไฟฟ้า มีท่อส่งทุกที่ เขาบอกว่าต้นทุนที่สูงที่สุดสำหรับการได้น้ำมาคือค่าไฟฟ้าในการปั๊มน้ำ ทำให้ต้นทุนการได้น้ำมาประมาณลูกบาศก์เมตรละ 5.60 บาท แพงกว่าค่าน้ำประปาแถวบ้านนอกอีก น้ำประปาบ้านผมหน่วยละ 5 บาท อันนี้หน่วยละ 5.60 บาท แล้วยังจะขอกู้เงิน JICA (Japan International Cooperation Agency) ตอนนั้น JICA เลยทำรายงานว่าไม่คุ้ม มีผลกระทบต่อระบบนิเวศมากเกินไปและต้นทุนสูงเกินไป โครงการนี้ไม่ผ่านให้ประเทศไทยกู้ แต่สุดท้ายโครงการนี้ก็ยังได้ทำ อนุมัติในรัฐบาลประยุทธ์ จันทร์โอชา สมัยที่ยังเป็นรัฐบาลรัฐประหารอยู่ในปี 2558 อนุมัติเงิน 4 หมื่นล้านในรูปแบบโครงการเดิมเหมือนตอนที่ JICA ไม่ให้กู้นั่นแหละ

เรื่องอนุมัติเป็นของรัฐบาล เรื่องหาเงินเป็นของกระทรวงการคลัง ก็ต้องไปรีดภาษีมาจากประชาชน แต่ผมเชื่อว่าชาวบ้านต้องจ่ายค่าน้ำแน่นอน

ถ้าย้อนกลับไปจุดเริ่มต้นของพัฒนาโครงการในปี 2534 ภาครัฐบอกว่าทำโครงการผันน้ำโขงชีมูลเพื่อแก้ไขปัญหาอีสานแล้ง แต่ถ้าเรามองที่ความจริง อีสานแล้งจริงๆ ไหม แล้วที่ผ่านมาคนอยู่กันอย่างไรโดยที่ไม่มีโครงการผันน้ำ โดยเฉพาะในยุคเก่าแก่หลายพันปี ทำไมเขาอยู่ได้

แอฟริกา อิสราเอลแล้งกว่าเรา อิสราเอลมีปริมาณเฉลี่ยน้ำฝน 500 มิลลิเมตรต่อปี ของภาคอีสานประมาณ 1,300 มิลลิเมตรต่อปี มากกว่าเขาเท่าหนึ่ง เพราะฉะนั้นจะบอกว่าอีสานแล้งไม่จริงหรอก เราจมอยู่กับคำว่าแล้งนานเกินไป

ภาคอีสานมีพื้นที่ที่แล้งจริงๆ คือช่วงตอนกลางของประเทศ หรือตอนล่างของภาค เช่น ชัยภูมิ ขอนแก่น มหาสารคาม นครราชสีมา แต่ก็ไม่ได้แล้งขนาดฝนไม่ตกเลย ถ้าเอาประเทศไทยมากางดู พื้นที่นี้คือตรงกลางของประเทศไทย เพราะฉะนั้นพายุที่จะมาจากอ่าวไทย มหาสมุทรอินเดีย ทะเลจีนใต้ ไปไม่ถึง ปริมาณน้ำฝนเลยน้อย จังหวัดพวกนี้จึงแล้ง รวมทั้งภาคกลางบางส่วนที่ติดๆ กันด้วย เช่น ลพบุรี สระบุรี

ส่วนพื้นที่ที่ฝนดีหน่อยในอีสานคือ อุดรธานี หนองบัวลำภู เลย ไล่ลงไปกาฬสินธุ์ สกลนคร ศรีสะเกษ แต่ถ้าดีมากๆ เลยคือหนองคาย บึงกาฬ นครพนม อุบลราชธานี อำนาจเจริญ มุกดาหาร บางจังหวัดฝนดีกว่าภาคใต้อีก อย่างสุราษฎร์ธานีมีปริมาณน้ำฝน 1,800 มิลลิเมตรต่อปี แต่นครพนมมีปริมาณน้ำฝน 2,500 มิลลิเมตรต่อปี เพราะฉะนั้นจะบอกว่าอีสานแล้งทั้งหมด อันนี้ไม่ใช่

พื้นที่แล้งของอีสาน ปริมาณฝนเฉลี่ยยังเยอะกว่าภาคกลางตอนล่างด้วยซ้ำ ที่สำคัญคือพื้นที่ที่ฝนดีมากก็ดีจริงๆ เราไม่ได้แล้งขนาดนั้น เพียงแต่ลักษณะภูมิประเทศของอีสานลาดเทมาจากทางเทือกเขาเพชรบูรณ์ เทือกเขาใหญ่ขวางระหว่างภาคกลางกับภาคอีสาน ลาดจากทางนั้นลงมาถึงแม่น้ำมูล แม่น้ำชี แต่พื้นที่แถบนั้นฝนไม่เยอะ พอสร้างเขื่อนข้างบนเลยไม่ค่อยมีน้ำ พอปริมาณฝนมาเยอะตอนล่างก็ไม่มีพื้นที่เหมาะกับการสร้างเขื่อนอีกเพราะเป็นที่ราบ เลยกลายเป็นว่าเราไปทำเขื่อนเยอะแยะบนต้นน้ำที่ฝนน้อยแต่ไม่มีน้ำ ตรงกลางที่พอจะมีน้ำหน่อยก็ไม่ค่อยมีพื้นที่เหมาะสมที่จะสร้างเขื่อนเพราะพื้นแบนราบ เวลาสร้างเขื่อนจึงเหมือนอ่างกระทะ กว้างแต่ไม่ลึก อย่างเขื่อนอุบลรัตน์มีพื้นที่เท่าเขื่อนภูมิพล แต่เก็บน้ำได้น้อยกว่าเขื่อนภูมิพลประมาณสามเท่า คือความกว้างเท่ากันแต่ความลึกไม่เท่า เพราะฉะนั้นลักษณะการจัดการน้ำของอีสานจึงยากหน่อย จะขุดสระ ขุดบ่อ ดินอีสานก็เป็นดินทรายอีก ขุดลึกก็เจอดินเค็ม น้ำเค็มอีก ตรงนี้จึงเป็นโจทย์ยาก แต่เรื่องปริมาณน้ำฝนไม่ใช่ประเด็นหลัก

ตอนก่อนจะทำโครงการ ต้องมีการศึกษาพื้นที่ก่อนแล้วค่อยออกแบบการก่อสร้าง แล้วอะไรที่ทำให้โครงการจัดการน้ำในอีสานยังมีข้อผิดพลาดอยู่ในหลายพื้นที่

เป็นการทำงานแบบใช้ความรู้เฉพาะสาขาแล้วมองเฉพาะความเชี่ยวชาญของตัวเอง เช่น เขามีความรู้ว่าถ้าเก็บน้ำไว้แล้วขุดลึกๆ จะไปเจอชั้นน้ำเค็ม เพราะอีสานเคยเป็นทะเลมาก่อน เขาเลยใช้วิธีทำคันดินขึ้นมาแทน เพื่อป้องกันปัญหาขุดไปเจอน้ำเค็ม แต่พอแก้ปัญหาน้ำเค็มได้ก็ตามมาด้วยปัญหาอื่น เช่น พอน้ำจะไหลลงอ่าง ก็มาเจอคันดินอีก น้ำก็ลงหนองไม่ได้ ต้องใช้ปั๊มน้ำช่วย จึงตามมาด้วยต้นทุนโครงการค่าสูบน้ำ สูบไม่ทัน น้ำก็ท่วมรอบอ่างอีก ขณะเดียวกันเขาก็ลืมไปว่าระบบนิเวศเขตร้อนมีพืชน้ำเยอะ เมื่อมีสารอาหาร พวกวัชพืช ผักตบชวา จอกแหนก็เจริญเติบโตรวดเร็ว ทีนี้พืชโดนคันดินกั้นอยู่ ออกไม่ได้ ก็ตาย จมลงไปน้ำก็เน่า คุณภาพน้ำก็ไม่ดี แล้วยังตื้นเขินอีก ไม่ว่าอ่างเก็บน้ำที่ไหนของภาคอีสานเป็นแบบนี้หมด จนสุดท้ายแทบไม่ได้เก็บน้ำเลย กลายเป็นพื้นที่ชุ่มน้ำที่เหมาะกับการเที่ยวชมบัว ดูนกมากกว่า ทีนี้ถ้าคุณหวังจะเก็บน้ำ เอาวัตถุประสงค์การชลประทานเป็นหลัก คุณจะต้องขุดลอก เอาวัชพืชออกไป ปีหนึ่งใช้งบประมาณมากมายมหาศาล

การแก้ปัญหาถ้าติดกระดุมเม็ดแรกผิดก็ผิดไปตลอด ปัญหาคือความรู้ที่ไม่ครอบคลุมทุกด้าน เลยออกแบบอย่างไม่สมบูรณ์ตั้งแต่แรก

หากอธิบายธรรมชาติของแม่น้ำโขง ชี มูล ว่าถ้าแม่น้ำอยู่ด้วยตัวเอง โดยที่ไม่มีการสร้างก๊อกให้ สภาพจะเป็นอย่างไร

ที่จริงเรามีปริมาณน้ำท่าเยอะนะ คือน้ำที่ไหลในแม่น้ำ ปริมาณการไหลในแม่น้ำสายหลักมีประมาณ 7-8 หมื่นล้านลูกบาศก์เมตรต่อปี กรมชลประทานก็พยายามคิดจากตรงนั้นแหละว่าจะเอาน้ำพวกนี้มาใช้อย่างไร

หรืออย่างน้ำฝนที่ตกลงไปในพื้นที่อีสานทั้งหมดก็เยอะมากเลยนะ ภาคอีสานมีประมาณ 105 ล้านไร่ ถ้าฝนที่ตกลงมาไม่ระเหยไปไหน ไม่ซึมลงดิน ในปีหนึ่งน้ำจะสูงขึ้นมาจากพื้นถึง 1.30 เมตร ถือว่าเยอะนะครับ แต่ความจริงของพื้นที่อีสานคือเป็นดินทราย ฝนตกก็ซึมลงไปโดยเร็ว แต่ก็ไม่ไร้ประโยชน์หรอก เพราะก็จะกลายเป็นน้ำใต้ดิน น้ำบาดาล หรือบางส่วนก็เอ่อล้นไหลไปกับน้ำท่า บางส่วนก็ขังตามหนอง

ภาคอีสานต้องมองเรื่องชลประทานระดับเล็ก แล้วเอาขีดความสามารถของน้ำฝนมาใช้น่าจะเหมาะกว่า ส่วนการใช้น้ำท่าที่ทำอยู่ก็เหลือเฟือแล้ว เกินกว่าที่จะทำใหม่แล้วล่ะ แต่ไปทำให้ดีเถอะ ของเดิมที่ทำแย่ๆ ไว้ไปแก้ก่อน แล้วมาพัฒนาระบบบริหารจัดการน้ำขนาดเล็กอย่างจริงจัง

ลองคิดดูนะครับ พื้นที่สูงพื้นที่ดอนที่ชื่อบ้านโนน บ้านโคกเต็มไปหมด พวกนี้ระบบชลประทานไปไม่ถึงหรอก ต้องเอาฝนในพื้นที่ไปใช้ เมื่อก่อนเราก็ใช้เทคโนโลยีแบบขอมโบราณ มีบาราย มีพื้นที่เก็บน้ำเป็นสระหนอง แต่ละหมู่บ้านมีสระประจำหมู่บ้าน แล้วตอนหลังก็พัฒนาเป็นระบบบาดาลหมู่บ้าน ประปาหมู่บ้าน เป็นต้น ทีนี้เราก็ต้องพยายามพัฒนาตรงนั้นมาก่อน แล้วดูว่าในระบบไร่นาที่อยู่ในพื้นที่เดียวกัน ระบบนิเวศใกล้เคียงกัน ดูสิว่าจะจัดการน้ำอย่างไรให้พอจากน้ำฝนที่ตกลงมา แล้วไปฟื้นฟูป่าต้นน้ำที่เป็นพื้นที่เก็บน้ำโดยธรรมชาติ คือถ้าไม่พอจริงๆ ค่อยว่ากันกับโครงการใหญ่ๆ แต่ส่วนเล็กๆ นี่ทำเต็มที่หรือยัง ผมคิดว่ายังไม่ทำ

สมมติผมมีพื้นที่ที่อยากปลูกสวนอยู่อำเภอสร้างคอม จังหวัดอุดรธานี เป็นพื้นที่สูง เป็นโคกหน่อย ผมรอโครงการชลประทานทั้งชาติ น้ำก็ไม่มาหรอกครับ ผมก็ต้องอาศัยน้ำใต้ดิน น้ำฝน อาศัยวิธีการบริหารจัดการขนาดเล็กในเครือญาติของผม ในกลุ่มเพื่อนบ้านของผมแทน ผมจึงอยากให้รัฐสนับสนุนเรื่องแบบนี้มากกว่า

อะไรทำให้ภาคอีสานดูเหมือนจะไปไม่ได้กับการพัฒนา ทำอย่างหนึ่งก็ติดอย่างหนึ่ง เกิดปัญหาใหม่เรื่อยๆ

ผมว่าภาคอีสานโชคร้ายนิดหนึ่งนะ ไม่นิดหรอก เยอะเลย เราปล่อยให้มีการสัมปทานไม้และบุกรุกทำลายป่ามากเกินไป ตั้งแต่สมัยยุทธศาสตร์การถางป่าปราบคอมมิวนิสต์ สมัยนั้นเขาก็บอกว่ามีผู้ก่อการร้าย ผู้ไม่หวังดีต่อชาติบ้านเมือง ให้เหตุผลว่าการจะทำให้คนไม่สามารถใช้ป่าเป็นโล่กำบังได้ก็ต้องส่งคนเข้าไปอยู่ ตัดถนนผ่าเข้าไป ให้สัมปทานไม้ ป่าในอีสานจึงหายไปเยอะ

พอตัดถนนที่ทำให้ความเจริญเข้ามา ตัดทางรถไฟมา เราก็ต้องตัดไม้มากมายเพื่อทำไม้หมอนรองรางรถไฟ แล้วก็ตามมาด้วยผู้สัมปทานไม้ ซึ่งมาจากกรุงเทพฯ ทั้งนั้นแหละ ต่อมาก็เติบโตเป็นนักการเมืองกันเยอะแยะ พอป่าในอีสานหายไปเยอะ ความสามารถในการเป็นพื้นที่ซับน้ำตามธรรมชาติก็ลดลง จะเห็นว่าน้ำในอีสานท่วมไว มาไว ไปไว เพราะไม่มีป่าต้นน้ำ

หลังจากนั้นก็มีโครงการตามมาจากการที่พื้นที่ป่าถูกทำลายไปคือการปลูกพืชเศรษฐกิจเพื่อการส่งออก จึงเกิดการปลูกปอ ปลูกมันสำปะหลัง ต่อมามีโรงงานน้ำตาลมาตั้ง ก็ปลูกอ้อยกัน เราเลยวนอยู่กับพืชไร่ที่ไม่ยั่งยืนพวกนี้เป็นหลัก แล้วก็ไม่ทำให้เกิดความสามารถในการดูดซับน้ำหรือเก็บน้ำไว้ในลุ่มน้ำที่มีพืชพวกนี้อยู่ ดีหน่อยที่ช่วงหลังมียางพารา ก็ยังช่วยได้บ้าง แต่ยางพาราก็เป็นพืชเชิงเดี่ยวที่มีปัญหาเรื่องความหลากหลายทางชีวภาพ เพราะเป็นพืชชนิดเดียวในพื้นที่ขนาดใหญ่ แทนป่าได้บ้างแต่ไม่ร้อยเปอร์เซ็นต์ อาจจะสัก 30-40 เปอร์เซ็นต์เท่านั้นเอง

ภาคอีสานถูกกระทำจากนโยบายจนทำให้ลักษณะทางอุทกวิทยาเปลี่ยน น้ำที่เคยมี แห้งเร็วขึ้น ไหลไปไวขึ้น นักการเมืองบอกว่าอีสานแล้ง ปล่อยให้น้ำไหลไปโดยเปล่าประโยชน์ ต้องกั้น ต้องทำเขื่อน จึงตามมาด้วยโครงการพวกนี้ ถ้าย้อนกลับไป จะเห็นว่าเราผิดพลาดมาเยอะนะกับภาคอีสาน

เราจะแก้ไขอย่างไรได้บ้าง พอเดินมาถึงจุดนี้แล้ว

สมมติว่าเรามีมูลค่าโครงการผันน้ำโขง-เลย-ชี-มูล เฟสแรกประมาณ 1.5 แสนล้านบาท แต่งบที่เอามาฟื้นฟูต้นน้ำน้อยมากเลยนะ เมื่อเทียบกับงบพัฒนาแหล่งน้ำที่เอาน้ำมาจากหลายแหล่ง ถ้าทำครบโครงการทั้งหมดต้องใช้เงินประมาณ 2.2 ล้านล้านบาท ประมาณภาษีที่เราเก็บได้ทั้งปี งบประมาณรายจ่ายประจำปีประมาณ 3-4 ล้านล้านบาท อันนี้ 2 ล้านล้านบาท เยอะมาก แล้วถ้าเยอะขนาดนั้น ทำไมเราไม่พูดถึงเรื่องการฟื้นฟูต้นน้ำ การเพิ่มประสิทธิภาพการใช้น้ำ การใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัยนำน้ำกลับมาใช้ใหม่ เราไม่ไปทางนี้เลย เราไปหาน้ำใหม่มาอย่างเดียว นี่คือความผิดพลาด

เราไปมุ่งเน้นเรื่อง water supply มากกว่าเน้นเรื่อง demand เช่น น้ำที่เราใช้ทุกวัน 80 เปอร์เซ็นต์เป็นน้ำเสีย ทำลายระบบนิเวศ ทำไมเราไม่ทำน้ำให้สะอาดแล้วเอากลับมาใช้ใหม่ แล้วค่อยไปมุ่งเรื่องการปกป้องพื้นที่สีเขียว เพิ่มพื้นที่เก็บน้ำธรรมชาติโดยต้นไม้ แล้วยังได้คาร์บอนเครดิต ผมอยากให้เรามองภาพแบบนี้มากกว่า ถ้าเรามองว่าอะไรก็น้ำอย่างเดียว จะทำให้ขาดสมดุลในการพัฒนาทุกด้าน งบประมาณก็เทไปเรื่องเดียว ทั้งที่น่าจะกระจายไปสู่เรื่องอื่นที่มีความยั่งยืนมากกว่า

คนที่มีอำนาจในการทำงานเขารับรู้เรื่องนี้ไหม เราต้องเรียกร้องกันขนาดไหนถึงจะช่วยให้เกิดการเปลี่ยนแปลงได้

ตัวงบประมาณหลักนั่นแหละที่ทำให้เขาอยากมีโครงการขนาดใหญ่ ด้วยเหตุผลอะไร เราคงรู้ดี 10 เปอร์เซ็นต์ของ 2 ล้านล้านเท่าไหร่ล่ะ อาจจะเป็นตั้งแต่ค่าออกแบบโครงการแล้ว สมมติคิดแค่ 10 เปอร์เซ็นต์ของค่าใช้จ่ายทั้งหมด ค่าทำ EIA อีกสัก 2 เปอร์เซ็นต์ เงินไม่ใช่น้อยนะ แล้วมีคนเข้ามาเกี่ยวเยอะ งบก่อสร้าง บริษัทขายปูน เหล็ก วัสดุต่างๆ ที่มาใช้เพื่อการนี้ บริษัทที่ต้องมาขุดดิน ถมดิน มากมายมหาศาลเลย

เชื่อไหม โครงการราคา 1.5 แสนล้าน คิดเป็นค่าชดเชยที่ดินเฟสแรกของโครงการโขง-เลย-ชี-มูล ประมาณพันกว่าล้านบาทเอง เงินถึงชาวบ้านเท่านี้ แล้วเป็นที่ดิน ส.ป.ก. ด้วย ได้เงินก็ไม่เยอะ เฉลี่ยแล้วได้ไร่ละประมาณ 4 หมื่นกว่าบาท เลยกลายเป็นความเหลื่อมล้ำซ้อนความเหลื่อมล้ำไปอีก ซึ่งเป็นผลมาจากโครงการขนาดใหญ่

นอกจากตัวเงินที่เห็นความสูญเสียเป็นรูปธรรมแล้ว แล้วความสูญเสียที่ประเมินค่าเป็นตัวเลขไม่ได้คืออะไรบ้าง

มากมาย ก็อย่างที่ผมพูดไปเรื่องการสูญเสียของระบบนิเวศริมน้ำ อีกหนึ่งประเด็นที่สำคัญคือเราไม่แน่ใจว่าจะได้อะไรกลับมาจากที่ลงทุนไปไหม ถ้าแม่น้ำโขงไม่มีน้ำ ปีหน้า (2567) เราจะเข้าปรากฏการณ์เอลนินโญ่แล้ว ลมและกระแสน้ำในทะเลเปลี่ยนทิศ ฝนที่เคยตกชุกในบ้านเราจะไปตกชุกที่อเมริกาใต้ ส่วนออสเตรเลียกับเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จะแล้งไปอีก 5-6 ปี จำนวนวันฝนตกและความหนักของฝนจะลดลง ถ้าอย่างนี้เราจะมีน้ำในแม่น้ำสายหลักไหม นี่ต่างหากที่เป็นโจทย์ใหญ่ว่าเราจะหาวิธีรับมืออย่างไร

คำถามคือถ้าเกิดเหตุการณ์การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่ซ้อนทับลงไปในปัญหาเหล่านี้ เราจะใช้เหตุการณ์นี้เป็นตัวกำหนดการออกแบบโครงการหรือเปล่า หรืออาจดีไซน์แค่ว่า เฮ้ย เดี๋ยวน้ำก็ไหลมา ไปตามที่ควรจะไป แต่ถ้าไม่มีน้ำไหลมาจะทำอย่างไร ส่งลมไปเหรอ หรืออย่างไร

ผมก็ถามทางสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาตินะว่า เอาเข้าจริงๆ ประชาชนควรเตรียมการอย่างไรเพื่อรองรับโครงการผันน้ำ เขาบอกว่าประชาชนควรจะไปหาที่รับน้ำ ขุดสระไว้ พอมีโครงการมา เราจะได้เอาน้ำมาเก็บไว้ในสระของตัวเองเพื่อใช้งาน ถ้าแบบนั้นก็เอาเงินมาช่วยชาวบ้านขุดสระตั้งแต่แรกไหม ถ้าเก็บน้ำแล้วใช้พอก็ไม่ต้องไปทำโครงการใหญ่ ทำไมไม่คิดแบบย้อนกลับ ซึ่งราคาถูกกว่า

ถ้าพื้นที่ชลประทานเท่ากัน ลงทุนไป 1.5 แสนล้าน แล้วได้น้ำมาเท่ากัน ถ้ากระจายสระเก็บน้ำในไร่นาด้วยวิธีแบบผสมผสาน ขุดตรงนี้บ้าง เอาไปทำปลูกป่าตรงนี้บ้าง ใช้โซลาร์เซลล์ไปปั๊มน้ำเพิ่ม ปลูกพืชที่ให้ผลผลิตดี มีมูลค่าเยอะๆ รัฐบาลเร่งส่งเสริมพวกนี้ ใช้เงินแค่ 3-4 หมื่นล้านเอง ไม่ถึง 1.5 แสนล้าน แล้วประโยชน์ถึงชาวบ้านเลย

แล้วสำหรับโครงการใหญ่ที่ทำไปแล้ว จะแก้ไขปัญหาอย่างไร

ที่ทำไปแล้วก็ต้องทำให้ดี เช่น น้ำที่รั่วจากระบบท่อ ระบบคลองส่ง น้ำปล่อยจากเขื่อนออกมาไปถึงนาแค่ 40 เปอร์เซ็นต์ ที่เหลือหายไปไหนไม่รู้ ก็ต้องปรับใหม่ หรือจากแผนเดิมที่บอกว่าจะไปทำคลองไส้ไก่ให้ถึงตรงนั้นตรงนี้ ป่านนี้ก็ยังไม่ทำเลย ก็ไปทำให้เสร็จ ส่วนที่ทำให้เกิดปัญหา เช่น มีการระเหยหรือรั่วซึมเยอะ มีความจำเป็นที่ต้องรักษาเก็บกักน้ำในระบบนิเวศไว้ ก็ต้องทำ หรือตะกอนที่ไหลลงมามากจนทำให้อ่างเก็บน้ำตื้นเขิน ก็ต้องหาวิธีไปดักตะกอน ปลูกป่าดักไว้ มีเรื่องที่ต้องทำเยอะนะ

อีกเรื่องหนึ่งที่สำคัญคือเรามี พ.ร.บ.จัดรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม ซึ่งกรมชลประทานก็เป็นคนรับผิดชอบสำนักงานจัดรูปที่ดินและจัดระบบน้ำเพื่อเกษตรกรรม หน่วยงานนี้งบประมาณน้อยมากเมื่อเทียบกับสำนักโครงการขนาดใหญ่ของกรมชลประทาน แล้วทำได้จำกัด แต่ละจังหวัดไม่รู้ว่าสำนักงานอยู่ที่ไหนด้วยซ้ำไป ทำไมไม่มุ่งเรื่องนี้ แล้วเขาจะมีวิศวกรออกแบบระบบน้ำในไร่นาช่วยชาวบ้านด้วยนะ หรือยังมีกรมพัฒนาที่ดินอีก ทำโครงการสระที่ให้ชาวบ้านออกเงิน 2,500 บาท แล้วได้สระลูกหนึ่งขนาดสองงาน ชาวบ้านรอคิวกันเพียบเลย ทำไมไม่ทำเยอะๆ ให้เงินเขามาทำมากๆ

คุณกำลังจะเสนอว่า จริงๆ เราไม่ต้องทำโครงการขนาดใหญ่ แต่เราไปทำโครงการย่อยๆ ให้ชุมชน custom แต่ละพื้นที่ไปเลย

ครับ หลายที่ได้ผลนะ บางที่อยู่บนโคกที่นาสูงๆ รอระบบชลประทานหลักไม่ได้เลย เช่น ที่บ้านลิ่มทอง อ.นางรอง จ.บุรีรัมย์ เขาก็ช่วยทำให้เกิดการบริหารจัดการน้ำ วิธีคือถ้าน้ำหลากมาทางนี้ ขุดคลองเบนน้ำ แล้วขุดสระ มีสระแม่ สระลูก แล้วก็เอาน้ำมาเก็บไว้ใช้ในนาของตัวเอง พื้นที่แบบนี้ไปรอระบบชลประทานไม่ได้ เขาขยายผลเป็นเครือข่ายในระดับตำบล ระดับอำเภอ ไม่เห็นต้องทำใหญ่เลย เล็กๆ ก็ทำได้

การแก้ปัญหาเชิงโครงสร้างจะเกิดขึ้นได้จริง ต้องผ่านด่านระบบการทำงานแบบเดิมหรือผลประโยชน์ทางการเมืองไปก่อนไหม

ใช่ครับ ในต่างประเทศเขาบูรณาการหลายศาสตร์ในการทำงานร่วมกัน เช่น ระบบชลประทาน ระบบนิเวศ เรื่องความหลากหลายชีวภาพ ฯลฯ เขาจะไม่ให้ใครคนใดคนหนึ่งเป็นพระเอกโดยมองว่าศาสตร์อื่นเป็นเรื่องปลีกย่อย แม้แต่การออกแบบระบบกังหันที่หมุนแล้วทำให้เกิดการผลิตกระแสพลังงานในแม่น้ำ เขาก็ยังดูว่ารอบความเร็วจะหมุนอย่างไรที่ทำให้ปลาว่ายลอดไปได้ โดยไม่เกิดปัญหาเมื่อปลาอพยพ และไม่ส่งผลต่อท้ายน้ำ เขาคิดเยอะ แต่ของเราพอจะทำเรื่องน้ำปุ๊บ รัฐก็มองไปที่ชลประทานเลย ชลประทานมีอะไรจะเสนอ สำนักงานทรัพยากรน้ำมีอะไรจะเสนอ ดูแต่ตรงนั้น ตรงไหนอยากจะทำก็จิ้มเอา ในเชิงนโยบายเป็นแบบนั้น

แต่ถ้าเราเปลี่ยนมุมมองจากล่างขึ้นบน จะเห็นว่ามีทางเลือกในการบริหารจัดการน้ำมากมายไปหมด แต่เป็นทางที่ไม่ถูกเลือกในเชิงนโยบาย เพราะฉะนั้นนักการเมืองก็มีส่วน การเลือกตั้งที่จะถึงนี้ ผมก็ยังไม่เห็นนักการเมืองไหนพูดถึงเรื่องการบริหารจัดการน้ำที่ชัดเจนในทุกมิตินะ พรรคการเมืองเก่าๆ หรือรัฐบาลที่เป็นอยู่ก็พูดแต่เรื่องโครงการใหญ่ เช่น โขง-เลย-ชี-มูล สร้างประตูน้ำ ก็มาเปิดงานกัน แต่ไม่ได้มีความรู้อะไร ไม่ได้มองว่าความผิดพลาดในอดีต 30 ปีที่ผ่านมาเกิดอะไรขึ้นกับภาคอีสานบ้าง เขาไม่ได้มาสนใจ นี่ปัญหาใหญ่ นักการเมืองในภาคอีสานควรจะมีความคิดมากกว่านี้ในการมองเรื่องน้ำบูรณาการกับทุกอย่าง

เราต้องเตรียมตัวเผชิญอนาคต หนึ่ง–อุณหภูมิโลกที่สูงขึ้น สอง–ไม่แน่ว่าต่อไปที่ราบภาคกลาง กรุงเทพฯ หรือพื้นที่ติดชายฝั่งทะเล อาจจะถูกน้ำท่วมก็ได้ใน 30 ปีข้างหน้า อีสานอาจเป็นพื้นที่รองรับคนอพยพหนีภัยธรรมชาติ แต่เราไม่ค่อยมองเรื่องพวกนี้เลย หรือบอกแต่ว่าอีสานแล้ง ต้องเอาน้ำมา แต่น้ำไม่ใช่คำตอบทุกอย่าง การบริหารจัดการต่างหาก รวมทั้งชนิดพืชที่ปลูก กิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ใช้น้ำไม่มากแต่สร้างมูลค่ามากมายมหาศาลก็มี แต่เราไม่ไปมุ่งกันตรงนั้น มุ่งจะเอาน้ำมาอย่างเดียว

แม้ว่าเราจะเห็นปัญหาได้ชัดเจน ไปจนถึงว่าชาวบ้านแต่ละพื้นที่ก็ออกมาบอกถึงความเดือดร้อนของตัวเอง แต่ดูเหมือนว่าปัญหาก็ยังไม่ถูกแก้ไขอย่างเป็นรูปธรรม ถือเป็นปัญหาไหมว่าพอแต่ละพื้นที่ส่งเสียงเรียกร้องเล็กๆ ออกมา แต่ก็ไม่ได้ทรงพลังถึงขนาดสะท้อนปัญหาในภาพใหญ่ได้

อันดับแรกผมอยากให้ไปดูประวัติศาสตร์การเรียกร้องของชาวบ้าน เราเปลี่ยนนายกฯ เปลี่ยนรัฐมนตรีไปไม่รู้กี่คน มีกรรมการแก้ปัญหาเรื่องโขง-ชี-มูลไม่รู้กี่ชุด ชาวบ้านเดินทางไปกรุงเทพฯ ก็บ่อย รอประเมินค่าชดเชย ให้ภาควิชาการศึกษาผลกระทบ แต่หน่วยงานก็ไม่อยากจะทำตามผลการศึกษา ก็วนอยู่อย่างนี้

ตอนนี้เลยกลายเป็นต้องขอว่า ถ้าโครงการไหนจะสร้างใหม่ คิดให้ดีก่อนได้ไหม ผมก็พยายามคัดค้าน ไม่อยากให้เกิด แต่ปัญหาบ้านเราก็คือพื้นที่ที่เกิดปัญหาอยู่แล้ว ถ้าจะไปทำซ้ำรอยเดิม ก็จะมีปัญหาขัดแย้งกับชาวบ้าน พอไปทำที่ใหม่ มวลชนก็รู้ข้อมูลทีหลัง ถูกเบี่ยงเบนประเด็นว่าจะได้ประโยชน์อย่างนั้นอย่างนี้ จนกลายเป็นว่าสุดท้ายไม่รู้ว่าข้อมูลข้อเท็จจริงคืออะไร แต่พอสร้างเสร็จแล้วเป็นปัญหา ค่อยลุกฮือมาต้านกันใหม่

เรื่องสำคัญที่สุดคือผมอยากเห็นนักการเมืองรุ่นใหม่ๆ ศึกษาเรื่องนี้อย่างจริงจัง เมื่อได้เป็น ส.ส. เข้าไปพูดในสภา ก็เอาข้อมูลจากชาวบ้านไปพูด เสนอแนวนโยบายเรื่องนี้ ถ้ามีโอกาสร่วมรัฐบาลก็เอาข้อมูลพวกนี้ไปสะท้อนปัญหาว่าแนวทางที่ยั่งยืนควรเป็นแบบไหน แต่ก็ไม่รู้ว่าพรรคการเมืองไหนที่จะพูดเรื่องนี้ พรรคการเมืองในอีสานที่ได้เสียงเยอะๆ ก็ยังพูดสนับสนุนโครงการผันน้ำนะ เราเลยไม่มีพลังในทางนโยบายมากพอที่จะเปลี่ยนวิธีบริหารจัดการน้ำใหม่

ภาควิชาการเอง ส่วนใหญ่ก็ไปทำรายงาน EIA ไปศึกษาความเหมาะสมมากกว่าเสนอทางเลือกที่ยั่งยืน แล้วเวลามีเงินวิจัย เงินกองทุนสักอย่างที่ให้ส่วนราชการไปวิจัยเรื่องนั้น ก็เป็นวิจัยที่มีธงอยู่แล้วว่าจะทำตามยุทธศาสตร์นี้อย่างไรเพื่อให้โครงการทำได้ เลยกลายเป็นว่าประชาชนถูกโดดเดี่ยวพอสมควรกับการเข้าถึงข้อมูล ต้องหาภาคีไปช่วยชาวบ้าน เพื่อให้เกิดการต่อรองกับอำนาจรัฐอย่างจริงจัง

ถ้าฝากโจทย์ที่เป็นรูปธรรมให้นักการเมืองที่อาจได้เป็นรัฐบาลในการเลือกตั้งครั้งนี้ ประเด็นไหนที่ควรมองเป็นลำดับต้นๆ ประเด็นไหนที่จับต้องได้แล้วไปลุยต่อได้เลย

อันดับแรก หาวิธีประหยัดน้ำจากการชลประทานในปัจจุบันนี้ก่อน วิธีการปลูกข้าวแบบเปลืองน้ำ ที่ผันน้ำเข้านาให้ท่วมทั้งแปลง แล้วก็ขังอยู่อย่างนั้น ซึ่งทำให้เกิดปัญหาสองอย่าง หนึ่ง–เปลืองน้ำ สอง–เกิดการหมักหมมของอินทรียวัตถุ เนื่องจากน้ำท่วมขังทำให้เกิดแก๊สมีเทน อาจโดนโจมตีเรื่องทำให้โลกร้อนอีก ซึ่งมีการวิจัยแล้วว่าการทำนาแบบน้ำขังบ้านเราเป็นสาเหตุหลักที่ทำให้เกิดการปล่อยก๊าซมีเทนขึ้นไปในชั้นบรรยากาศ ซึ่งทำให้เกิดอุณหภูมิของโลกสูงขึ้นมากกว่าคาร์บอนไดออกไซด์ถึง 18 เท่า

เรื่องนี้สามารถแก้ได้เลย คือการปลูกข้าวแบบแห้งสลับเปียก น้ำที่เพียงพอสำหรับการทำนาก็คือน้ำที่เรี่ยๆ ดิน แค่นั้นพอแล้ว ไม่ต้องขังทั้งแปลง ไปทำวิธีนี้แล้วส่งเสริมให้กรมส่งเสริมการเกษตรเปลี่ยนวิธีการปลูกข้าวใหม่เพื่อลดโลกร้อน ประหยัดน้ำได้ 30-40%

อันดับสอง แก้ปัญหาในพื้นที่ที่ไม่เหมาะแก่การทำนาแล้ว เช่น การทำนาที่ได้ผลผลิตไม่เต็มที่ ไม่สามารถมีความมั่นคงจากการทำนา สมมติคุณทำนาในภาคอีสาน คุณมีนา 10 ไร่ ได้ข้าวไร่ละ 500 กิโลกรัมต่อปี รวมทั้งหมดคุณจะได้ข้าว 5 ตัน คุณขายได้ตันละหมื่นบาท ทั้งปีคุณจะมีเงินอยู่ 50,000 บาท เฉลี่ยมีรายได้เดือนละ 4,000 กว่าบาท ลูกคุณเรียนปริญญาตรี คุณต้องผ่อนรถ คุณต้องมีค่าใช้จ่ายในบ้าน แล้วคุณจะกินอะไร นี่คือเหตุผลว่าทำไมเด็กรุ่นใหม่ทุกวันนี้ จบ ม.6 แล้วถึงไปเกาหลีกันหมด เพราะทำงานที่นั่นได้เงินเดือนละ 7-8 หมื่นแล้วส่งมาบ้าน เป็นความฝันของเด็กเลยนะ เด็กไม่มาเรียนปริญญาตรีกับผมนะทุกวันนี้ จบ ม.6 จบ ปวช. ตั้งท่าจะไปเกาหลี ญี่ปุ่นอย่างเดียวเลย

ที่พูดเรื่องทำนาไปเมื่อกี้ยังไม่รวมต้นทุนนะ ค่าไถ ค่าเกี่ยว แล้วยังต้องมาซื้อน้ำอีก สุดท้ายเจ๊ง เพราะฉะนั้นคุณต้องเลือกวิธีที่จะทำเกษตรแบบใหม่ ถ้าทำนาได้ข้าว 5 ตัน คุณควรจะปลูกแค่ 2 ไร่ ที่ญี่ปุ่นปลูกไร่หนึ่งได้ข้าวประมาณ 4 ตัน เขาทำอย่างไร ที่ไทยสามารถทำได้นะ ไร่เดียวได้ 4 ตันเหมือนกัน ประณีตหน่อย และประหยัดน้ำกว่าเดิมประมาณ 30% ส่วนพื้นที่ที่เหลือเอาไปปลูกไม้ยืนต้นเพื่อเป็นบำนาญสำหรับเกษียณ เป็นเงินออม เป็นเงินก้อนใหญ่เผื่อลูกเผื่อหลาน มีทั้งไม้ใช้สอยกับไม้ผลไม้ พื้นที่ที่เหลือก็พัฒนาเป็นแหล่งเก็บน้ำ ส่วนรัฐก็มาช่วยเรื่องซื้อผลผลิต ชนิดพืชที่ปลูกประณีตแล้วราคาดี ทำออร์แกนิกส่งออก แปรรูป เราต้องเปลี่ยนใหม่ ไม่ใช่แค่เรื่องน้ำ แต่ต้องคิดให้ครบ

อันดับสาม ไปพัฒนาประสิทธิภาพระบบชลประทานที่เป็นอยู่ในปัจจุบันให้ดี ไม่ต้องสร้างใหม่ ทำได้เลย

อันดับสี่  ไปหาวิธีนำน้ำกลับมาใช้ใหม่ น้ำเสียชุมชน น้ำเสียโรงงาน ทำเป็นน้ำดีๆ เอามากินยังได้ เทคโนโลยี นวัตกรรม มีหมดแล้ว

เรื่องการส่งต่อผลผลิตทางการเกษตรก็เป็นปัญหาที่ชาวบ้านพูดถึงเยอะเหมือนกัน หลายคนปลูกข้าว ปลูกมะนาวมาแล้ว แต่ไม่รู้จะไปขายที่ไหน มากที่สุดก็ขายตามตลาดนัดในชุมชน ซึ่งไม่ก่อให้เกิดรายได้ที่เลี้ยงชีพได้จริง ปัญหาของระบบนี้คืออะไร

เรามีผลผลิตล้นเกินเยอะ แต่ผลผลิตล้นเกินนั้นไม่สามารถกลับเข้ากระบวนการแปรรูป การเก็บไว้ได้นาน หรือการส่งออกไปในตลาดใหม่ๆ ก็เลยมีปัญหา เช่น เรามีแต่มะนาวขายเป็นลูกๆ ที่ตลาดสด ขายตามถนน แต่เรายังไม่ไปถึงน้ำมะนาวเข้มข้น น้ำมะนาวพร้อมดื่ม มะนาวผง มะนาวแคปซูล ฯลฯ

เรื่องการแปรรูปผลิตภัณฑ์การเกษตรเป็นหน้าที่ของรัฐและภาควิชาการ ที่จะต้องทำให้ผลผลิตล้นเกินในส่วนของกินสดไปสู่การเพิ่มมูลค่า การเก็บไว้ได้นานขึ้น และการส่งไปยังตลาดที่ขาดแคลนหรือเป็นที่ต้องการ ซึ่งจริงๆ ก็มีงบของ อว. หรือหลายหน่วยงานที่ส่งเสริมเรื่องนี้ เช่น นวัตกรรมอาหารแห่งอนาคต ทำอย่างไรให้อาหารมีคุณค่า มีมูลค่าสูงขึ้น มีความสามารถในการประยุกต์ใช้อย่างอื่นได้มากขึ้น และการผลิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม คาร์บอนต่ำ

อย่างกล้วยนี่ไปได้เยอะมากเลย แต่ที่เห็นๆ ก็มีแต่กล้วยตากกับกล้วยฉาบ กล้วยทอด บางทีเราปลูกกล้วยแล้วตัดมาวางขายข้างถนน ก็จบแค่นั้นไง เรื่องนี้ต่างหากที่ต้องลงไปทำวิสาหกิจชุมชนร่วมกับสตาร์ตอัปในท้องถิ่น เพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์พวกนี้ แล้วทำให้สินค้าพวกนี้ไปได้ไกลกว่าเดิม คุณไม่ต้องทำให้เกษตรกรทุกคนเป็นเจ้าของกิจการหรอก เอาคนที่เจ๋งๆ สักตำบลละ 2-5 กิจการ พอแล้ว แล้วก็ส่งวัตถุดิบเข้าไป เป็นหุ้นส่วนกัน ทำอะไรใหม่ๆ ภาควิชาการก็ไปแก้ปัญหาช่วย ทำให้เกิดโปรดักส์ใหม่ๆ

หรือแม้แต่เลี้ยงไก่ ชาวบ้านจะเอาไปขายที่ไหน แล้วทำไมไม่มีโรงฆ่าสัตว์ดีๆ ในท้องถิ่น ที่มีมาตรฐานได้รับการรับรอง เกษตรไก่ที่เลี้ยงด้วยระบบอร์แกนิกมาผ่านโรงเชือด แล้วก็เป็นผลิตภัณฑ์ที่ส่งออกไป ต้องคิดแบบนี้ไง ซึ่งเกินเรื่องน้ำไปแล้วนะ เรื่องน้ำเป็นแค่เรื่องเดียว แล้วเรื่องนี้สำคัญด้วย

ประเด็นที่ถูกพูดถึงมากในสังคมคือเรื่องที่ว่าทุนใหญ่เข้ามาทำให้ระบบพวกนี้เสีย ทุนใหญ่คุมตั้งแต่ต้นน้ำยันปลายน้ำ ตั้งแต่เลี้ยงไก่ไปจนถึงวางขายที่ร้านสะดวกซื้อได้เลย ปัญหานี้เชื่อมโยงไหมกับเรื่องที่ชาวบ้านไม่สามารถขายผลผลิตของตัวเองได้

ต้องแยกเป็นสองส่วน ถ้าเป็นเรื่องของแมสโปรดักชันในการผลิตเพื่อส่งออก แล้วนำรายได้เข้ามาประเทศมากๆ ก็จำเป็นต้องมีทุนใหญ่แบบนี้ จะได้สู้ต่างประเทศได้ แต่ต้องมีช่องให้ทุนเล็กๆ มีช่องทางทำมาหากินบ้าง ต้องรู้ว่าอะไรที่ทุนใหญ่ไม่ควรทำ ไม่ใช่ไข่ต้ม ข้าวหุงสุกก็ยังขายในร้านสะดวกซื้อ แล้วไม่น่าเชื่อว่ายังมีคนซื้อกิน ทุนใหญ่จะไปทำเองทุกอย่างขนาดนั้นไม่ได้ คุณไปทำเรื่องอื่น ไปหาเอาเงินจากต่างประเทศมา ส่วนเรื่องแบบนี้ให้ชาวบ้านมีช่องทางหากินบ้าง

อย่างแรก ต้องจัดการเรื่องการผูกขาดที่เขียนไว้ในรัฐธรรมนูญ เรื่องอะไรที่คุณไม่ควรทำ ไม่อย่างนั้นคุณก็ทำหมด อย่างที่สอง ถ้าชาวบ้านจะทำก็ต้องมีวิธีการทำให้ผลผลิตจากชาวบ้านตอบสนองขีดความสามารถและพฤติกรรมในการบริโภคของคนรุ่นใหม่ด้วยนะ เช่น เราไปซื้อไก่ในตลาด ไก่บ้านยังขายเป็นตัวอยู่เลย แต่ลูกที่บ้านกินเป็นขา หนึ่งตัวได้สองขา แต่ทุนใหญ่เขาทำได้ไง คุณจะซื้อขาไก่เป็นร้อยก็ได้ ซื้อปีกไก่เป็นร้อยก็ได้ ซึ่งชาวบ้านต้องทำแบบนั้นได้ เพราะฉะนั้นถึงต้องมีโรงเชือดที่ดี โรงแปรรูปที่ดี มีสตาร์ตอัปที่ดี เพื่อรับซื้อสิ่งนี้แล้วกระจายไปในตลาดท้องถิ่นกลับเข้ามาในพฤติกรรมบริโภคของคนรุ่นใหม่ ไม่อย่างนั้นเราก็วนกับการขายไก่เป็นตัวๆ ในตลาดไม่ไปไหน ต้องพัฒนาวิธีการให้มากกว่านั้น

การเลือกตั้งที่จะมาถึง คุณคิดว่าเป็นความหวังได้แค่ไหน เราจะไปสู่ประเทศไทยที่ดีกว่านี้ได้ไหม จะมีประเทศไทยที่เห็นปัญหาของประชาชนแล้วแก้ไขได้อย่างตรงจุดไหม

ปัญหาของนักการเมืองและพรรคการเมืองคือไม่ได้ลงมาดูสิ่งที่ผมพูด บอกว่าเป็น ส.ส. ติดดินอยู่ในท้องถิ่น ก็คิดภายใต้กรอบวิสัยทัศน์การพัฒนาแบบเดิมที่ต้องมีโครงการใหญ่ๆ มา เอางบประมาณมาทำนู่นนี่ แล้วก็กระจายเป็นเบี้ยหัวแตก สุดท้ายไม่ได้อะไร ผมก็หวังว่าพรรคการเมืองจะมีนักการเมืองที่คิดใหม่ หรือมีทีมทำนโยบายพรรค ทีมในระดับเขตที่จะมาทำเรื่องพวกนี้ รวมทั้งทีมที่ไปช่วยท้องถิ่นให้มีความเข้มแข็ง แล้วมาสนับสนุนสิ่งเหล่านี้ให้ชาวบ้าน

ท้องถิ่นที่เข้มแข็งสามารถทำเรื่องบริหารจัดการน้ำได้ ทำเรื่องวิสาหกิจชุมชนที่เป็นประโยชน์กับประชาชนได้ สามารถทำโรงเรียนศูนย์พัฒนาเด็กเล็กให้ดีได้ ทำน้ำประปา จัดการขยะ น้ำเสีย ทำให้ดีได้ แต่ทั้งนี้ งบประมาณต้องจัดสรรมาด้วยนะ เราก็จะเห็นภาพแบบนี้ในบางพรรค แต่ต้องใส่ใจในรายละเอียดจริงๆ

ผมเชื่อว่าพรรคที่ดีควรจะมีนโยบายที่ต่อเนื่อง และศึกษาวิจัยเรื่องพวกนี้มาจนกลายเป็นนโยบาย ไม่อย่างนั้นเมื่อเราเผชิญปัญหาในอนาคต เราจะลำบาก ผมยกตัวอย่างเช่นในอีก 20 ปีข้างหน้า เรื่องลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก พื้นที่สีเขียว และพลังงานทางเลือก จะเป็นเรื่องสำคัญ ตอนนี้คุณยังพูดถึงระบบชลประทานขนาดใหญ่ ต้องสร้างโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่เพื่อปั๊มน้ำเข้านากันอยู่เลย ทั้งที่ล้าสมัยมากแล้ว เรายังคิดจะเอาเงินไปลงทุนเรื่องใหญ่ๆ โดยที่ยังไม่รู้ว่าในอนาคตจะคุ้มค่าหรือเปล่า

ภาคอีสานมีป่าอยู่ 18% นโยบายหลักต้องเพิ่มพื้นที่ป่าสิ ส่งเสริมเอกชนปลูกป่า ส่งเสริมชาวบ้านปลูกไม้มีค่า ส่งเสริมให้ที่ สปก. ที่แต่ก่อนเคยเป็นป่า ให้กลับมาเป็นป่าที่ชาวบ้านปลูกและมีรัฐเป็นหลักประกันจ่ายหนี้ได้ รับซื้อ สร้างแรงจูงใจให้การอุดหนุน ขายคาร์บอนเครดิตได้ ถ้าเพิ่มพื้นที่ป่าได้ อย่างน้อยภาคอีสานต้องมีป่าไม้ที่เป็นป่าเศรษฐกิจและป่าอนุรักษ์ไม่น้อยกว่า 40% มาประเมินว่าใช้เงินเท่าไหร่ แต่ละปีป่าเพิ่มขึ้นเท่าไหร่ ป่าบุ่งป่าทามจะต้องเพิ่มขึ้นเท่าไหร่จากที่เคยมีในลุ่มน้ำสายหลัก นี่คือเรื่องที่ควรทำ

ถ้าจะขมวดด้วยการพูดถึงแก่นของปัญหาเรื่องการใช้ทรัพยากร คุณภาพชีวิตของคน เอาเฉพาะในอีสาน แก่นของปัญหานี้คืออะไร

หนึ่ง–ภาคอีสานไม่มีนโยบายของตัวเอง มีแต่เรื่อง Bio Hub กับเรื่องน้ำ

เรื่อง Bio Hub คือการต่อยอดมันสำปะหลัง ต่อยอดอ้อย ให้นายทุนรวยขึ้น ทำนิคมอุตสาหกรรมชีวภาพ เอาอ้อยและมันสำปะหลังมาทำ Bio Plastic ทำแป้ง ทำผลิตภัณฑ์เยอะแยะไปหมด แต่ชาวบ้านยังขายได้ตันละ 700-800 บาทเหมือนเดิมนะ คนที่รวยขึ้นคืออยู่หลังจากอ้อยผ่านมือเกษตรกรไปแล้ว

ส่วนเรื่องน้ำก็อย่างที่เราคุยกัน ชอบบอกว่าน้ำมาอีสานรวยแน่นอน แต่เอาเข้าจริงๆ ก็เอาน้ำเข้านิคมอุตสาหกรรมส่วนหนึ่ง ใช้ในการเติบโตของเมืองส่วนหนึ่ง เราไม่เคยพูดถึงการประหยัดน้ำ ไม่เคยพูดถึงการพึ่งตนเองของนิคมอุตสาหกรรมที่ถ้าจะเกิดขึ้นต้องมีความสามารถในการจัดการน้ำด้วยตัวเองเท่าไหร่ ไม่เคยมีข้อมูลพวกนี้ มีแต่ทำตามกฎหมายว่าต้องบำบัดน้ำเสีย เช่น ถ้าจะมีนิคมอุตสาหกรรมเกิดขึ้น 1,000 ไร่ คุณควรจะมีแหล่งน้ำอยู่ 200 ไร่ แล้วควรจะตอบสนองการใช้น้ำของนิคมอุตสาหกรรมอย่างน้อย 50% ส่วนอีก 50% ค่อยเอามาจากระบบชลประทาน แต่ทีชาวบ้านคือบอกให้ขุดสระไว้รอนะ แล้วคุณต้องออกตังค์เอง นี่คือความเหลื่อมล้ำ

สอง–นอกจากเราไม่มีนโยบายของระบบนิเวศหรือฐานทรัพยากรอีสานทั้งหมดแล้ว เรายังไม่มีบุคลากรทางการเมืองของคนอีสานที่สมาร์ตพอที่จะคิดอ่านเรื่องพวกนี้ กลายเป็นแค่จำนวนหัวให้นับเวลายกมือเฉยๆ ที่อุดรธานีมี ส.ส. พรรคเดียวอยู่ 8-9 คน ก็ไม่เห็นมีความเจริญก้าวหน้าด้วยนโยบายทางการเมืองสักเท่าไหร่เลย หรือแม้แต่พรรคไหนต่อพรรคไหนมา โครงการโขง-ชี-มูลมีมาตั้ง 30 ปีก็แก้ไขไม่ได้ ไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลรัฐประหารหรือมาจากการเลือกตั้ง

ลูกหลานก็ต้องไปทำงานเกาหลี ส่งเงินมาให้ที่บ้าน สถานศึกษาระดับอุดมศึกษาก็ไม่มีคนเรียน แต่ในขณะเดียวกันวัยแรงงานพวกนี้ก็ไปเก็บเกี่ยวประสบการณ์จากข้างนอก ชุมชนก็ถูกทิ้งร้างกับการพัฒนา เพราะไม่มีทรัพยากรบุคคลที่จะไปตอบสนองการพัฒนาที่ยั่งยืนในทุกมิติของชุมชน นโยบายแบบนี้มีไหม เขากลับมาบ้านเขาจะทำอะไร เพราะบ้านก็เหมือนเดิม เขาอาจจะเห็นอะไรดีๆ จากญี่ปุ่น เกาหลีมานะ อยากจะทำฟาร์มแบบนั้น แต่ถามว่าเขาต้องลงทุนเท่าไหร่ รัฐจะสนับสนุนเขาไหม แล้วหลังจากนั้นจะช่วยเขาเรื่องอะไรบ้าง ก็ยังไม่มี

และเรื่องการกระจายความเจริญ ไม่ใช่การจับเมืองหนึ่งมาสู่อีกเมืองหนึ่งนะ เช่น ทำให้โคราช ขอนแก่น อุดรฯ ใหญ่ขึ้น ผมอยากเห็นความเจริญลงไปที่ระดับตำบล หมู่บ้านเลย ด้วยวิธีอย่างที่ผมว่า เช่น ควรจะมีสตาร์ตอัปเกิดขึ้นใหม่ที่ทำธุรกิจใหม่ๆ กับการสร้างโปรดักส์ใหม่ๆ ที่สอดคล้องกับวิถีชีวิตของคนที่เปลี่ยนไป แล้วต้องดูทั้งเรื่องระบบนิเวศ เรื่องสิ่งแวดล้อม เรื่องทางเลือกที่ยั่งยืน มูลค่าไปพร้อมๆ กันด้วย ถ้าไม่อย่างนั้นก็เป็นแค่การย้ายจากที่หนึ่งมาซ่อมแก้การลงทุนที่ค่าแรงและต้นทุนถูกลงในอีกที่หนึ่ง แล้วคนที่เก็บเกี่ยวผลประโยชน์ก็ยังเป็นคนที่สร้างความเหลื่อมล้ำให้กับสังคมเหมือนเดิม ซึ่งไม่ควรจะเป็นอย่างนั้น

อีกเรื่องที่สำคัญคือคนรุ่นใหม่ที่อยากผันตัวเองไปทำงานอิสระ ไม่ติดกับระบบ รัฐต้องเอาจริงเอาจังช่วยเขานะ ในการทำให้เขาเป็นผู้ประกอบการใหม่ที่สมาร์ตจริงๆ แล้วไปอยู่ในชุมชน คือคุณจะพัฒนาเศรษฐกิจได้ คุณต้องพัฒนา volume ของการบริโภคมากขึ้น เพราะปัจจุบัน volume พวกนี้ถูกสร้างจากอุตสาหกรรมใหญ่ๆ ลงไปผ่านร้านสะดวกซื้อ ระบบขนส่งจากที่อื่น แต่ไม่ได้เกิดจากพื้นที่จริงๆ

ต้องทำให้เรื่องเหล่านี้เกิดขึ้นในชุมชนท้องถิ่น ผ่านโครงการของรัฐ ผลผลิตพวกนี้จะกลายเป็นสิ่งที่สร้างคุณภาพของมนุษย์ มีอาหารที่ดี เศรษฐกิจในท้องถิ่นก็ดีขึ้น แล้วก็ไปบล็อกธุรกิจใหญ่ๆ ว่าเรื่องพวกนี้อย่ามาทำนะ ให้คนในท้องถิ่นได้พัฒนาเศรษฐกิจ ให้คนอื่นได้เกิดบ้าง ไม่ใช่ไปแย่งขายแม้กระทั่งไข่ต้ม ข้าวสุก 

MOST READ

Spotlights

14 Aug 2018

เปิดตา ‘ตีหม้อ’ – สำรวจตลาดโสเภณีคลองหลอด

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย พาไปสำรวจ ‘คลองหลอด’ แหล่งค้าประเวณีใจกลางย่านเมืองเก่า เปิดปูมหลังชีวิตหญิงค้าบริการ พร้อมตีแผ่แง่มุมเทาๆ ของอาชีพนี้ที่ถูกซุกไว้ใต้พรมมาเนิ่นนาน

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Aug 2018

Social Issues

9 Oct 2023

เด็กจุฬาฯ รวยกว่าคนทั้งประเทศจริงไหม?

ร่วมหาคำตอบจากคำพูดที่ว่า “เด็กจุฬาฯ เป็นเด็กบ้านรวย” ผ่านแบบสำรวจฐานะทางเศรษฐกิจ สังคม และความเหลื่อมล้ำ ในนิสิตจุฬาฯ ปี 1 ปีการศึกษา 2566

เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล

9 Oct 2023

Social Issues

5 Jan 2023

คู่มือ ‘ขายวิญญาณ’ เพื่อตำแหน่งวิชาการในมหาวิทยาลัย

สมชาย ปรีชาศิลปกุล เขียนถึง 4 ประเด็นที่พึงตระหนักของผู้ขอตำแหน่งวิชาการ จากประสบการณ์มากกว่าทศวรรษในกระบวนการขอตำแหน่งทางวิชาการในสถาบันการศึกษา

สมชาย ปรีชาศิลปกุล

5 Jan 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save