fbpx
“สังคมที่ปลอดภัยจะทำให้คนมีแรงสู้” ร่างกฎหมายคำนำหน้านามและการต่อสู้อีกครั้งในหล่มการเมืองสองเพศ กับ เคท ครั้งพิบูลย์

“สังคมที่ปลอดภัยจะทำให้คนมีแรงสู้” ร่างกฎหมายคำนำหน้านามและการต่อสู้อีกครั้งในหล่มการเมืองสองเพศ กับ เคท ครั้งพิบูลย์

แม้มีคำกล่าวว่าประเทศไทยเป็นมิตรต่อกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศ แต่เมื่อพิจารณาถึงสิทธิตามกฎหมาย กลับพบว่ายังเป็นปัญหาที่กลุ่มคนเหล่านี้จำต้องเผชิญในชีวิตประจำวัน โดยเฉพาะกลุ่มคนข้ามเพศที่ไม่มีสิทธิเปลี่ยนคำนำหน้านามให้สอดคล้องกับเพศสภาพ นำไปสู่การเลือกปฏิบัติและการกีดกันในสังคม

การต่อสู้ในมิติการเมืองเพื่อสิทธิของผู้มีความหลากหลายทางเพศเพื่อให้มีสิทธิเลือกคำนำหน้านามของตนจึงเป็นทางออกของปัญหา โดยมีการร่างกฎหมายจากหลายภาคส่วน และเมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2567 พรรคก้าวไกลก็ได้เสนอร่างกฎหมายคำนำหน้านามตามสมัครใจ ซึ่งผลตอบรับคือเสียงส่วนใหญ่ในสภาไม่เห็นด้วยกับร่างกฎหมายนี้ ด้วยคะแนนเสียง เห็นด้วย 154 เสียง ไม่เห็นด้วย 257 เสียง งดออกเสียง 1 เสียง ไม่ลงคะแนนเสียง 1 เสียง

ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นรวมถึงคำวิจารณ์เรื่องการต่อสู้เพื่อความเท่าเทียมทางเพศสะท้อนให้เห็นแนวคิดและสภาพสังคมของไทยที่ยังคงไม่เปิดรับความเป็นไปได้ใหม่ๆ ในกรอบคิดเรื่องระบบการแบ่งเพศ ทำให้การต่อสู้ของกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศ หรือขบวนการขับเคลื่อนการเมืองเรื่องอัตลักษณ์ต้องพบกับอุปสรรคจากสภาพสังคมดังกล่าว

การผลักดันเชิงนโยบายเพื่อผู้มีความหลากหลายทางเพศเป็นเรื่องที่ท้าทายในสังคมไทย อย่างไรก็ตาม ความต้องการเปลี่ยนแปลงเพื่อให้เกิดความเท่าเทียมทางเพศก็ยังคงไม่หมดไปจากกลุ่มคนทำงานเคลื่อนไหว ซึ่งยังคงปรับตัวและเปลี่ยนแปลงวิธีการให้สอดรับกับการผลักดันประเด็นสู่ภาคการเมือง

101 สนทนากับ ผศ.เคท ครั้งพิบูลย์ อาจารย์ประจำคณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ถึงหลักคิดและที่มาของการร่างกฎหมายคำนำหน้านามทั้งของไทยและต่างประเทศ ปัญหาการเลือกปฏิบัติที่ผู้มีความหลากหลายทางเพศในสังคมไทยต้องเผชิญ ตลอดจนที่ทางของการเมืองเรื่องอัตลักษณ์ และตอบคำถามว่าเราควรผลักดันเรื่องนี้ในทางการเมืองอย่างไรเพื่อนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงที่ครอบคลุมและยั่งยืน

ก่อนจะมาถึงการยื่นร่างกฎหมายคำหน้านามตามสมัครใจ เรื่องคำนำหน้านามของคนข้ามเพศก่อนหน้านี้มีประเด็นปัญหาอย่างไร

มันคือภาวะที่ทำให้อัตลักษณ์ทางเพศไม่สอดคล้องกับเอกสารทางราชการ โดยเฉพาะบัตรประจําตัวประชาชนและหนังสือเดินทาง ปัญหาที่เกิดขึ้นไม่ใช่แค่เรายื่นบัตรประชาชนแล้วคนมองว่าไม่ตรงตามเพศเท่านั้น แต่คือการที่คนเลือกปฏิบัติกับเราจากสิ่งนั้น ยกตัวอย่าง เวลาต้องเปลี่ยนบัตรประจำตัวประชาชน คนข้ามเพศจะต้องหาคนมายืนยันตัวตน ไม่ว่าเราจะเคยพิมพ์ลายนิ้วมือไว้แล้วหรือมีข้อมูลในระบบอยู่แล้วก็ตาม นี่คือปัญหาของกรมการปกครอง สุดท้ายก็มีการเรียกร้องจนการยืนยันตัวตนแบบนี้ยกเลิกไป ส่วนเรื่องหนังสือเดินทาง ก็อาจทำให้มีปัญหากับสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองของต่างประเทศ เช่น สิงคโปร์ ฮ่องกง ในกรณีที่ถูกส่งกลับหรือถูกสอบถามเพิ่มเติม เราเองก็เคยถูกเรียกสอบเพิ่มเช่นกัน 

ต่อมาคือเรื่องการเกณฑ์ทหาร เมื่อก่อนมีคนข้ามเพศผ่านการคัดกรองเข้าไปในกองทัพ มีการต่อสู้ด้วยการฟ้องศาลปกครอง เป็นคดีความระหว่างเครือข่ายความหลากหลายทางเพศกับกระทรวงกลาโหม จนในท้ายที่สุดศาลปกครองก็ตัดสินให้มีการระบุคนข้ามเพศ แต่วิธีที่กระทรวงกลาโหมแก้ปัญหานี้ คือการให้ระบุในใบรับรองผลการตรวจเลือกทหารกองเกินเข้ารับราชการทหารกองประจำการ (ใบ สด.43)  ว่าเป็น ‘โรคจิตถาวร’ หรือโรคจิตประเภทอื่นๆ ตามแต่แพทย์สนามจะประเมิน ซึ่งใบนี้จะต้องนำไปใช้ยื่นประกอบการสมัครงาน นี่คือผลกระทบที่คนข้ามเพศได้รับ

ท้ายที่สุด ศาลปกครองก็ตัดสินให้เปลี่ยนคําระบุบุคคล เป็นที่มาของการเพิ่มเกณฑ์อีกด้านหนึ่งในการเกณฑ์ทหาร คือคําว่า ‘เพศสภาพไม่ตรงกับเพศกําเนิด’ คำนี้ผุดขึ้นมาหลังจากเครือข่ายความหลากหลายทางเพศชนะคดีในศาลปกครองว่าด้วยกรณีใบ สด.43

ทั้งหมดนี้ยังไม่นับการถูกปฏิเสธการเข้าพักหรือการใช้บริการอย่างผับ สปา ห้องน้ำ หรือบริการในโรงแรม เพราะเพศสภาพไม่ตรงกับเพศกําเนิดในบัตรประชาชน 

แล้วประเด็นเหล่านี้ส่งผลต่อแนวคิดเรื่องการร่างกฎหมายคำนำหน้านามตามสมัครใจอย่างไร

ในอดีต สังคมไทยยังไม่มีการใช้คํานําหน้านาม แนวคิดนี้ได้รับการนําเข้ามาเพื่อจำแนกบุคคลโดยการระบุความเป็นเพศ ด้วยระบบวิธีคิดแบบสองเพศคือหญิงและชาย เป็นฐานคิดทางชีววิทยาที่หยั่งรากลึกในการร่างกฎหมาย

นอกจากการจำแนกเพศแล้ว ผู้หญิงยังถูกระบุว่าแต่งงานแล้วหรือไม่จากคำนำหน้า ‘นางสาว’ และ ‘นาง’ ทำให้เมื่อช่วงปี 2548-2549 มีการขับเคลื่อนเรื่องการแก้ไขคํานําหน้านามเพื่อให้ผู้หญิงที่แต่งงานแล้วมีสิทธิเลือกใช้คำนำหน้าว่านางสาวและใช้นามสกุลเดิมของตนได้ 

ในช่วงเวลานั้น กลุ่มขับเคลื่อนเรื่องคนข้ามเพศ รวมถึงนักการเมือง ก็มีความตั้งใจจะผนวกเรื่องการแก้ไขคำนำหน้านามของคนข้ามเพศไปพร้อมกัน แต่มีเสียงคัดค้านโดยเฉพาะจากกลุ่มผู้หญิงว่าควรผลักดันเรื่องคำนำหน้านามของเพศหญิงให้สำเร็จก่อน และจากปี 2549 เป็นต้นมา การแตกแยกทางความคิดในเรื่องคํานําหน้านามก็ยิ่งชัดเจนขึ้น เพราะจนถึงทุกวันนี้ กลุ่มคนข้ามเพศก็ยังไม่มีสิทธิเปลี่ยนคำนำหน้านาม และยังคงต้องเผชิญกับการเลือกปฏิบัติอย่างที่ได้กล่าวไปข้างต้น

ความจําเป็นแบบนี้จึงทําให้เกิดความสุกงอมของสถานการณ์เรื่องการมีสิทธิเลือกคำนำหน้านามที่ตรงกับเพศสภาพ วิธีการเดียวที่จะแก้ปัญหานี้คือการเปลี่ยนแปลงในทางนโยบาย จึงเป็นที่มาของการศึกษา รวบรวมปัญหา และเสนอร่าง ภาคประชาสังคมอย่างเครือข่ายเพื่อนกะเทยไทย เราทําเรื่องเกณฑ์ทหาร เรื่องคู่มือสำหรับครอบครัวที่มีลูกเป็นกะเทย และงานถัดมาก็คือเรื่องของความจําเป็นเรื่องสถานการณ์สังคมและกฎหมาย การผลักดันเรื่องการเปลี่ยนแปลงคํานําหน้านามจึงเกิดขึ้น

สรุปแล้ว ร่างกฎหมายคำนำหน้านามมีที่มาจากการต้องเผชิญปัญหาการถูกตีตราและการเลือกปฏิบัติ และในเมื่อรัฐมีหน้าที่คุ้มครองบุคคล จึงจําเป็นต้องร่างกฎหมายให้มีการคุ้มครองเกิดขึ้น จึงมีความพยายามในการร่างกฎหมายจากหลายภาคส่วนที่ขับเคลื่อนเรื่องนี้

ร่างกฎหมายคำนำหน้านามของพรรคก้าวไกลมีจุดแข็งอะไรบ้าง

จุดแข็งคือทุกร่าง จะจากพรรคการเมืองหรือภาคประชาชน ล้วนมีความเข้มแข็งในทางฐานความคิดสูงมาก ในมุมนักวิชาการ เรามองว่าแนวคิดเรื่องเพศสภาพ (gender) และเพศวิถี (sexuality) มีการอธิบายผ่านตัวอักษรไปเยอะมาก แต่ละร่างมีความรู้ชัดเจนมากเรื่องการใช้คํา จุดแข็งที่สุดคือการให้คํานิยามการระบุเพศที่มีความเป็นรูปเป็นร่างและอธิบายอย่างชัดเจน มีความพยายามทำให้คนเข้าใจเรื่องนี้ได้ง่ายขึ้น วิธีคิดเรื่องกล่องเพศชายหญิงถูกพูดถึงมากยิ่งขึ้น ทุกร่างผ่านการถกเถียงมามากว่าใครบ้างที่จะเป็นประชากรหลักของการร่างกฎหมาย มีการเพิ่มประเด็นเรื่อง non-binary เข้าไปในในร่าง นี่คือข้อที่เด่นมาก เพราะหลายประเทศที่ทําเรื่องกฎหมายรับรองเพศผ่านแล้ว ก็มาเพิ่มเรื่อง non-binary ภายหลังด้วยซ้ำ 

ปัจจุบันมีคำเรียกเพศแบบใหม่ๆ มากขึ้น เช่น คนนิยามตัวเองว่าเป็นเพศผ้าห่ม เพศยูนิคอร์น ฯลฯ ซึ่งในแง่ของสิทธิเสรีภาพส่วนบุคคลนั้นเป็นเรื่องที่ทำได้ แต่ในทางการเมืองหรือในทางกฎหมาย ควรมีขอบเขตไหม อะไรคือเส้นแบ่งการนิยามเพศที่หลากหลายเช่นนี้

มั่นใจว่าคนที่ทํางานฝ่ายนโยบายไม่มีทางเข้าใจคำเรียกเพศที่หลากหลายมากขึ้นในทุกวันได้หรอก แต่สิ่งหนึ่งที่จะช่วยได้คือสมาชิกในกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศต้องมาสร้างข้อตกลงกันว่ามีขอบเขตของการขับเคลื่อนในขบวนการอย่างไร ใครบ้างที่อยู่ในกระบวนการ ในทางกฎหมายมีคำที่ถูกนิยามไว้ ซึ่งเป็นสิ่งที่ยอมรับกันได้แล้ว 

เราต้องยอมรับว่าคงไม่สามารถเขียนลงไปในบัตรประชาชนได้ว่า เพศผ้าห่ม เพศยูนิคอร์น ซึ่งถามว่าครอบคลุมนิยามความเป็นเพศบนโลกนี้ไหม เรายืนยันเลยว่าไม่สามารถครอบคลุมได้ เพราะมิติทางด้านเพศนั้นก้าวหน้าจนกลายเป็นเรื่องของไอเดียไปแล้ว ในอนาคตก็คงมีคำเรียกเพศที่ถูกนำมานิยามอีก

ในต่างประเทศจัดการประเด็นแบบนี้อย่างไร

โมเดลแบบในออสเตรเลีย อาร์เจนตินา ชิลี ก็ให้ intersex และ queer สามารถเลือกใช้เพศ X ได้ในหนังสือเดินทางและบัตรประจำตัวประชาชน เพื่อตามความรู้สึกว่าตนไม่ได้เป็นทั้งหญิงและชาย

โมเดลแบบในเอเชียใต้ เช่น เนปาล ปากีสถาน หรืออินเดีย ใช้วิธีคิดการรับรองเพศอีกแบบหนึ่ง คือการให้แยกออกมาเป็นอีกประเภทหนึ่ง แบ่งเพศเป็นสามเพศ คือ F M และ O ซึ่งเพศ O มาจาก others โดยเนปาลเป็นประเทศของโลกที่ระบุ O ซึ่งในสังคมที่มีทั้งศาสนาฮินดูและอิสลาม การแยกออกมาเป็นเพศ O ก็ทำให้ไม่กระทบกับกล่องเพศเดิม 

โมเดลแบบทั่วไป อย่างเดนมาร์ก เยอรมนี อังกฤษ คนข้ามเพศก็จะเปลี่ยนมาใช้สิทธิของเพศที่มีอยู่แต่เดิม ไม่ได้มีการแยกเพศใหม่

ส่วนกระบวนการในการเปลี่ยนคำนำหน้าชื่อ ถ้าในอเมริกาหรือยุโรป จะต้องไปพบจิตแพทย์ พบนักสังคมสงเคราะห์ หรือประเมินครอบครัว มีขอบเขตของคำเรียกทางเพศว่าใครจะเป็นคนนิยาม แต่บางประเทศ เช่น ชิลี โคลอมเบีย ในอเมริกาใต้ จะยึดถือสิ่งที่เรียกว่า ‘การเลือกนิยามเพศด้วยตนเอง (self-identification)’ คือหากตัดสินใจแล้วว่าจะเปลี่ยนคำเรียกเพศหรือคำนำหน้า ก็สามารถไปเปลี่ยนที่อําเภอได้เลย

เราควรใช้หลักเกณฑ์อะไรในการจัดการเรื่องการเปลี่ยนคำนำหน้าเพศ และเราควรยึดคุณค่าอะไรในการกำหนดเกณฑ์

มีคนกล่าวว่าถ้าให้การรับรองเพศถูกแยกออกไปอีกเป็นเพศหนึ่งเลยจะทําได้ง่ายขึ้น โดยไม่ต้องมีผู้หญิงผู้ชาย หรือไม่ต้องมีคํานําหน้า แนวโน้มในอนาคตอาจกลายเป็นแบบนั้น ถ้ากระแสของคนรุ่นใหม่ในอนาคตเห็นว่าการนิยามเพศไม่สำคัญแล้ว ก็อาจไม่ต้องนิยามเพศหรือมีคำนำหน้านาม แต่ในทางกฎหมาย ก็คงต้องมาตกลงกันว่ามันจะเป็นแบบไหน ซึ่งประเทศไทยไม่มีความจําเป็นที่จะต้องเอาตัวแบบจากที่ไหนมาใช้เลย หากเราอยากเป็นผู้นําในเรื่อง LGBT ในประเทศ เราต้องไปไกลอีกก้าวหนึ่ง

สำหรับเรา อะไรก็ตามที่คนเลือกแล้วเขาสบายใจ นอนหลับได้ ก็คือเกณฑ์แค่นั้น แต่สุดท้ายในทางกฎหมายก็ต้องถูกพิสูจน์ ซึ่งเราไม่อยากให้ใช้อะไรพวกนั้นเลย เรามองว่าเพศสภาพมันเป็นอิสระ ไหลลื่น และเปลี่ยนได้เสมอ แต่ในสังคมไม่ได้เป็นอย่างนั้น ซึ่งพอเราอธิบายกรอบคิดนี้ เราก็จะถูกมองว่าจินตนาการสูง

พูดถึงจุดแข็งในเรื่องคำเรียกเพศในร่างกฎหมายนี้ไปแล้ว ร่างกฎหมายนี้มีจุดอ่อนบ้างไหม

ร่างกฎหมายยังมีจุดอ่อนคือ ยังตีโจทย์ไม่แตกในเรื่องสเปกตรัมของการข้ามเพศ ในร่างยังมีวิธีคิดที่จดจ่อว่า เมื่อเป็นเพศนี้แล้ว คุณต้องเป็นแบบนี้เท่านั้น เราคิดว่ายังเป็นปัญหาอยู่ เช่น คุณจะกลับมาเปลี่ยนไม่ได้ เคยยื่นเรื่องไปแล้ว อยากกลับมายื่นเรื่องใหม่ ก็มีกำหนดระยะเวลา สุดท้ายก็หนีไปไม่พ้นเรื่องการอยู่ภายใต้กล่องเพศอีก แต่เข้าใจว่ามาจากการที่ผู้คนเห็นว่าต้องกำหนดขีดจำกัด 

มีข้อวิจารณ์ว่าน่าจะมีขั้นตอนการเปลี่ยนเอกสารหลายอย่าง ทำให้อาจต้องใช้งบประมาณสูง คุณมองเรื่องนี้อย่างไร

นี่เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่มักถูกยกมาโต้แย้ง ทั้งที่บอกว่าต้องใช้งบจากกระทรวงการคลัง รวมถึงข้าราชการประจําเองที่ก็มักยกเรื่องนี้มาพูดเช่นกัน เราตั้งข้อสังเกตว่า ในปัจจุบัน ประชาชนต้องเสียค่าใช้จ่ายเวลาขอเอกสารจากทางราชการ ฉะนั้นจึงไม่มีทางที่รัฐต้องสูญเสียงบประมาณจำนวนมากจากการเปลี่ยนเอกสาร และอีกเหตุผลสำคัญที่ไม่สามารถยกเรื่องนี้มาอ้างได้ คือถ้ามีการต้องใช้งบประมาณ ก็ถือเป็นการใช้งบประมาณของรัฐในการทํางานให้ประชาชน

เมื่อถอยมามองภาพใหญ่ การผลักดันกฎหมายในแต่ละประเด็น สะท้อนความสอดคล้องระหว่างการผลักดันประเด็นทางสังคมกับบริบทการเมืองไทยอย่างไร

แนวทางการผลักดันประเด็นทางสังคมคือการขับเคลื่อนทั้งองคาพยพ การพิทักษ์สิทธิและการสนับสนุนทางนโยบายจึงพยายามทํางานรอบด้าน หลายคนมองว่าการผลักดันประเด็นทางสังคมมักเป็นเรื่องของการชูป้ายรวมตัวกันชุมนุมเรียกร้อง แต่นั่นเป็นเพียงส่วนหนึ่งเท่านั้น เพราะเป้าหมายปลายทางของการสนับสนุนนโยบายหรือการผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงคือการดึงความสนใจของสังคมมาออกความเห็นในเรื่องเดียวกันจนนําไปสู่การผลักดันได้

ที่ผ่านมามีช่วงเวลาที่ดีที่สุดของการชุมนุม คือการรวมตัวของคนรุ่นใหม่เมื่อปี 2563 ในเวลานั้นสังคมไทยพยายามนําเสนอประเด็นที่ไม่เคยถูกพูดถึง เราพูดถึงเรื่องผู้ค้าบริการทางเพศ ความรุนแรงในครอบครัว ความรุนแรงทางเพศ ความเสมอภาค สวัสดิการผ้าอนามัย สมรสเท่าเทียม รวมไปถึงคํารับรองเพศและคํานําหน้านาม กระแสเหล่านี้อยู่ในบรรยากาศของการแลกเปลี่ยนกันในสังคม มีการถกเถียงกันทางความคิดจนมาถึงปัจจุบัน ประกอบกับเรามีผู้แทนราษฎรที่เป็นตัวแทน LGBT แล้ว

การผลักดันเพื่อการสร้างการเปลี่ยนแปลงก็มีช่องทางของมัน มีการร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญมาแล้วในเรื่องสมรสเท่าเทียม ถือว่าเป็นช่องทางด้านกระบวนการยุติธรรม ตอนนี้เรากําลังใช้วิธีการทางนิติบัญญัติในการเสนอแก้ไขและเปลี่ยนกฎหมาย ซึ่งเราต้องดูว่าบรรยากาศทางการเมืองเป็นอย่างไร

สังเกตได้ว่าในช่วงปีที่รัฐประหาร กลุ่มคนทํางานขับเคลื่อนมักไม่เร่งเร้าผ่านกฎหมายในรัฐบาลเผด็จการ แต่มีการรักษาประเด็นให้ยังอยู่ในสังคม แต่ตอนนี้เรามีพรรคการเมืองที่มาจากการเลือกตั้ง มั่นใจว่าบรรยากาศของการมีรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งนั้นสําคัญมาก ในการจะทำให้เราสามารถเจรจาต่อรอง มันไม่ยากเลยที่จะเสนอร่างกฎหมาย โดยเฉพาะผ่านพรรคการเมืองที่ประกาศตั้งแต่ก่อนเลือกตั้งว่ามีนโยบายเรื่องนี้ แต่ปรากฏว่าเมื่อเสนอกฎหมายจริงแล้วร่างกลับไม่ผ่าน

คุณคิดว่าเพราะอะไรร่างกฎหมายนี้จึงไม่ผ่าน

มีเหตุผลอะไรที่พรรคจากฝ่ายประชาธิปไตยไม่สามารถทําเรื่องนี้ให้ผ่านไปได้โดยง่าย โดยเฉพาะจากร่างแรกที่มีการโหวตไม่รับ และให้เหตุผลว่าจะรอจากร่างของภาคประชาสังคมหรือร่างของรัฐบาล 

เราตั้งข้อสังเกตว่า รัฐบาลปัจจุบันพุ่งเป้าให้ความสนใจเรื่องสมรสเท่าเทียม จึงเป็นไปไม่ได้ที่จะนำเรื่องอื่นเข้ามาแทรก เรื่องคํานําหน้านามจึงไม่ใช่เรื่องหลัก ไม่ใช่ความจําเป็นเร่งด่วน และต่อให้มีการรับหลักการแรกจากพรรคก้าวไกล ก็มั่นใจว่ากฎหมายนี้จะถูกตีกลับไปที่ ครม. เพื่อให้ไปศึกษาต่อ หรือที่เรียกว่ารัฐบาลเอาไปดอง เมื่อดองเกินระยะเวลากำหนด ไม่มีการส่งข้อเสนอมาให้สภา มันก็จะหายไป แล้วก็ต้องเสนอใหม่ มองว่าเรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องหลักที่อยากผลักดันของรัฐบาลปัจจุบัน 

ในประเทศอื่นๆ อะไรคือปัจจัยของการยอมรับร่างกฎหมายคำนำหน้านาม

เมื่อเทียบกับการทํางานของต่างประเทศในการผลักดันเรื่องเดียวกัน จะพบว่ามีการตั้งข้อสังเกตทางด้านปัญหาอาชญากรรม การถูกหลอก การไม่อยู่ในบรรทัดฐานหญิงชาย ทุกประเทศทั่วโลกที่มีการผ่านกฎหมายนี้ก็เผชิญมาแบบเดียวกัน แต่กฎหมายก็ผ่านมาได้แล้ว

ปัจจัยเรื่องแรกคือธรรมชาติของความเข้าใจเรื่องสิทธิมนุษยชนของสังคมนั้นๆ ประเทศที่มีความก้าวหน้าทางด้านสิทธิมนุษยชนนั้นก้าวหน้าจนการเปลี่ยนคำนำหน้าไม่สําคัญเท่ากับว่าบุคคลจะได้รับการดูแลอย่างไร ในลาตินอเมริกา แม้สภาพเศรษฐกิจสังคมจะแย่ แต่การเปลี่ยนก็ไม่มีผลอะไร ในเอเชียใต้ แม้มีอิทธิพลทางด้านศาสนา ชนชั้นวรรณะ และจํานวนประชากรที่มาก แต่ก็เปลี่ยนคำนำหน้านามได้ เพราะการแยกออกมาอีกเพศหนึ่งก็อาจทำให้ไม่ต้องไปวุ่นวายกับระบบเดิมมาก

จะเห็นได้ว่ามีปัจจัยหลายอย่างมาก ทั้งปัจจัยปัจจัยทางด้านเศรษฐกิจ สังคมวัฒนธรรม แต่เมื่อมองกลับมาที่ไทย อุปสรรคเดียวคือภาคการเมือง ที่ยังไปไม่ถึง โดยเฉพาะในเรื่องความคิดของนักการเมือง

มีคำกล่าวว่าร่างนี้ไม่ใช่เรื่องเร่งด่วน มีปัญหาอื่นๆ ให้รัฐบาลต้องแก้ไข เช่น ปัญหาปากท้อง คุณคิดอย่างไร

ประเทศเรามีปัญหาอีกมาก ใครหยิบเรื่องไหนมาก็พูดได้ทั้งหมด ในเมื่อทุกปัญหาจำเป็นหมด ฉะนั้นการที่ยกปัญหาต่างๆ เพื่อบอกว่าร่างกฎหมายนี้ยังไม่ควรผ่าน คือข้ออ้าง เทียบตัวอย่างเช่นเรื่องกัญชาที่ถือเป็นเรื่องท้าทายในสังคม แต่ก็ผ่านกฎหมายไปได้ เห็นได้ว่าภาคการเมืองมีอิทธิพลต่อการเปลี่ยนแปลงทางด้านกฎหมาย เป็นเรื่องการถูกล็อบบี้ และสะท้อนคุณภาพของรัฐสภาไทยที่ยังไปไม่ถึงประเทศที่พัฒนาแล้ว 

จากการที่ร่างกฎหมายคำนำหน้านามของพรรคก้าวไกลถูกปัดตก คำวิจารณ์ต่อเรื่องนี้ของผู้แทนราษฎรในสภาสะท้อนอะไรในสังคมไทย

สิ่งที่น่าสนใจคือประเทศไทยไม่เคยพูดเรื่องนี้ในสภา การเสนอร่างกฎหมายจากพรรคก้าวไกลทำให้เรามั่นใจว่าผู้แทนราษฎรหลายคนยังมีมายาคติเรื่องเพศที่แฝงฝังอยู่ในความคิดอยู่ โดยเฉพาะวิธีคิดแบบระบบสองเพศ และยังไม่มีข้อมูลหรือความเข้าใจที่มากพอ น่าเสียดายมากที่พรรคการเมืองซึ่งเราเชื่อว่ายึดมั่นในหลักประชาธิปไตยหรือศักดิ์ศรีความเท่าเทียมของมนุษย์กลับติดหล่มความคิดเรื่องเพศ ทั้งที่สังคมหรือประชาชนมีความเข้าใจเรื่องนี้จนทําให้เกิดการเปลี่ยนแปลงมากมาย ทั้งเรื่องการเเต่งกายทั่วไป การเลือกสวมชุดรับปริญญาตามเพศสภาพ การใช้ห้องน้ำ ฯลฯ วิถีชีวิตเหล่านี้เปลี่ยนไปมากแล้ว นี่คือสิ่งที่พิสูจน์ได้

ปัจจุบันทิศทางการต่อสู้เรื่องความเท่าเทียมมักเกี่ยวกับประเด็นเชื้อชาติ ชนชั้น และเพศ จึงเป็นการเขย่าบรรทัดฐานความคิดความเชื่อของคน ที่เชื่อว่าทุกอย่างต้องเป็นแบบใดแบบหนึ่งเท่านั้น โดยเฉพาะเรื่องเพศ เป็นคิดความเชื่อที่แข็งมาก คนมองว่ามันเปลี่ยนไม่ได้ นี่จึงเป็นเหตุผลที่มีกระแสโต้แย้ง หากเป็นในประเทศอื่นๆ ความคิดเห็นที่มีแนวคิดเหยียดเพศของผู้แทนคงถูกวิพากษ์วิจารณ์ในระดับกว้างแล้ว แต่ในไทยกลับไม่มีการวิพากษ์วิจารณ์ต่อ สะท้อนว่าสังคมไทยอดทนอดกลั้นต่อการถูกเหยียดหรือเลือกปฏิบัติอยู่มาก จึงนําไปสู่การเปลี่ยนผ่านที่ช้า และไม่สามารถเปลี่ยนแปลงได้อย่างจริงจัง

มีคําวิจารณ์ไหนบ้างไหมที่คุณคิดว่ามีเหตุผล น่าถกเถียงต่อ

คำวิจารณ์เรื่องนี้ในการอภิปรายในสภาไม่ใช่เรื่องของการใช้ความรู้หรือหลักการ แต่เป็นความคิดเห็นลอยๆ ไม่มีคำวิจารณ์ไหนบอกว่าตัวเลขเศรษฐกิจของเราจะตกต่ำลงเพราะจะมีการรับรองเพศหลากหลาย หรือหากรับรองเพศได้แล้วจะเป็นการสร้างศักยภาพให้กลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศสามารถขับเคลื่อนเศรษฐกิจหรือสร้าง GDP มากขึ้น ถ้าเป็นแบบนี้คือคำวิจารณ์ที่น่าสนใจ น่าถกเถียง แต่เมื่อไม่มี จึงกลายเป็นหน้าที่ของนักวิชาการหรือคนทํางานทางด้านสังคมแทน แต่เสียงก็ยังไม่ดังเพราะไม่ได้อยู่ในสภา น่ากังวลว่าจะทําอย่างไรให้ข้อมูลที่มาจากการถกเถียงเข้าไปในสภาให้ได้

ถ้ามองไปยังอนาคต มีข้อกังวลอย่างไรไหม หากมีการนำร่างกฎหมายไปใช้จริง

การนำกฎหมายไปใช้จริง อาจยังมองไม่เห็นว่ากะเทยหรือคนข้ามเพศจะไปอยู่ตรงไหนบ้าง หากต้องทาบวางกับหน่วยงานต่างๆ ในสังคม ยังมีหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชนอื่นๆ อีกที่ยังไม่เคยถูกพูดถึง เป็นสิ่งที่ทําให้เราเห็นว่าการนำกฎหมายไปใช้อาจจะยังไม่ครอบคลุมทุกหน่วยงานมากนัก แน่นอนกฎหมายที่ถูกตราเป็นพระราชบัญญัติ ย่อมมีผลพัวพันกับทุกหน่วยงานของรัฐ แต่ยังไม่มีใครรู้ได้ว่าแต่ละหน่วยงานจะใช้กฎหมายนี้อย่างไร

นอกจากนั้น หากกฎหมายผ่านได้ในสภาแล้ว แต่ในชีวิตจริง ถ้าไปติดต่อเจ้าหน้าที่เพื่อขอเปลี่ยนเพศและคำนำหน้า เจ้าหน้าที่ก็อาจบอกว่า ฉันทําไม่ได้หรอกนะ ฉันเป็นคริสเตียน ถ้าเผชิญการเลือกปฏิบัติลักษณะนี้ในชีวิตประจำวัน จะจัดการอย่างไร พวกเรายังไม่ได้คิดถึงเหตุการณ์เช่นนี้ เพราะเราจดจ่ออยู่ว่าร่างกฎหมายจะผ่านหรือไม่ ดังนั้นเรื่องพื้นฐานอย่างทะเบียนราษฎร์ในท้องถิ่น เราจะมั่นใจได้อย่างไรว่า อบต. แต่ละที่จะสามารถทําเรื่องการรับรองเพศหรือสมรสเท่าเทียมได้ ถ้าจะมีการกระจายอํานาจ ต้องมีคู่มือ แผนการ และขั้นตอนที่ชัดเจน

เมื่อปี 2558 มีพระราชบัญญัติความเท่าเทียมระหว่างเพศ ซึ่งมีจุดเริ่มต้นจากการที่เรารับปฏิญญาสากลว่าด้วยการขจัดการเลือกปฏิบัติต่อสตรีทุกรูปแบบ แล้วนำมาแปลงเป็นกฎหมายในประเทศ เพราะอยากยกระดับเพื่อให้ถูกยอมรับว่าเราเป็นประเทศตอบรับเรื่องความเท่าเทียมทางเพศ และเป็นที่แรกในแถบเอเชีย

แต่เมื่อตรากฎหมายมาแล้ว การใช้ช่องทางนี้ของประชาชนทั่วไปก็มีน้อยมาก ผู้คนยังไม่รู้ว่าจะใช้กฎหมายนี้อย่างไร และมีความเข้าใจว่ากฎหมายการเลือกปฏิบัติทางเพศใช้ได้กับผู้มีความหลากหลายทางเพศเท่านั้น เมื่อตีโจทย์ไม่ชัด ทําให้เวลานำไปใช้จึงไม่สามารถคุ้มครองหรือสร้างความเสมอภาคได้จริง ดังนั้นจำเป็นต้องมีความเข้าใจกลไกของทั้งรัฐและของเอกชน

เรื่องกฎหมายคำนำหน้านามก็เช่นกัน หากกฎหมายผ่านแล้ว ก็อาจยังต้องสร้างความรู้ความเข้าใจเรื่องนี้อยู่ คนชายขอบถูกผลักออกไปอยู่แล้ว กว่าจะดึงให้เขาเข้ามาสู่การเข้าถึงทรัพยากร คนเหล่านั้นอาจทั้งกดขี่ตัวเอง หรือมองว่าตัวเองต่างไปจากคนอื่น จะให้มาประกาศวันนี้เลยว่าพรุ่งนี้รับรองคํานําหน้านาม ก็อาจยากที่คนจะใช้กฎหมายทันที เพราะบางคนแทบไม่รู้เลยว่าเขามีสิทธิอะไรบ้าง เรื่องนี้สะท้อนว่าระยะทางก่อนกฎหมายผ่านควรจะมีการสร้างความรู้ความเข้าใจทั้งระหว่างการผ่านกฎหมาย และหลังจากนั้นก็ยิ่งต้องทำ เพราะถ้าเราไม่สื่อสารเพื่อการเปลี่ยนแปลงและสร้างความรู้ คนก็จะนำกฎหมายไปใช้ไม่ได้ 

ภาคส่วนใดหรือใครบ้างที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการสร้างความรู้ความเข้าใจในเรื่องนี้

กลไกของรัฐยังเป็นกลไกที่แข็งแรงมาก เมื่อก่อนเรารู้สึกว่าภาคการศึกษาสําคัญมาก จริงอยู่ที่ทุกอย่างต้องเริ่มต้นที่การศึกษา แต่กลไกของรัฐเป็นกลไกที่เข้าถึงประชาชนได้มากที่สุด ดังนั้นถ้ากลไกของรัฐเข้มแข็ง มีความเข้าใจที่ดีว่าจะบริการประชาชนอย่างไรได้บ้าง และเห็นว่าสิ่งนี้เป็นกฎหมายเพื่อที่จะคุ้มครองสิทธิของประชาชน ก็จะสร้างความเข้าใจและการเปลี่ยนแปลงในสังคมได้มาก การลงทุนกับกลไกภาครัฐจึงเป็นเรื่องสำคัญเพื่อเตรียมการก่อนไปสู่การเปลี่ยนแปลง

มีตัวอย่างหนึ่ง รัฐบาลบอกว่าจะฟรีวีซ่าให้คนไทยไปจีนด้วยความร่วมมือไทย-จีน สิ่งที่เราตั้งคําถามมาตลอดคือ คนไทยทุกคนในราชอาณาจักรได้วีซ่า 30 วัน แต่คนที่เพศสภาพไม่ตรงกับหนังสือเดินทาง จะได้วีซ่าแค่เจ็ดวัน และถูกเรียกไปสัมภาษณ์ที่สถานทูตเพื่อยืนยันตัวตน และจะถูกบอกห้ามไปโชว์ตัว ไม่เช่นนั้นจะถูกส่งกลับ คําถามของเราคือ ภาครัฐและกระทรวงต่างประเทศรู้เรื่องนี้หรือไม่ มุมมองหรือมิติทางเพศแบบนี้ที่เราอยากให้รัฐรู้และเข้าใจว่าสถานการณ์แบบไหนที่จะเกิดขึ้น

สิ่งหนึ่งที่เราเห็นเรื่องของการเปลี่ยนแปลงด้านการทําความเข้าใจจากกลไกภาครัฐ ตัวอย่างจากในต่างประเทศ เช่น ในอเมริกา มีคู่มือว่าด้วยการเลือกปฏิบัติด้วยสีผิวเชื้อชาติศาสนาภาษาวัฒนธรรมให้คนทํางานภาครัฐ โดยเฉพาะภาคส่วนด้านสิทธิ รัฐบาลออสเตรเลียและนิวซีแลนด์มีคู่มือการใช้คําเรียกเพศให้สำหรับนักการเมือง แต่ในไทย ส.ส. ยังพูดผิดมั่วซั่วกันไปหมด เพราะฉะนั้น เรามีความรู้สึกว่าการเตรียมพร้อมของภาครัฐคือกลไกที่สําคัญ เรื่องนี้เอ็นจีโออาจช่วยขับเคลื่อนได้ แต่ก็ไม่สามารถจดทะเบียนรับรองเพศหรือเปลี่ยนคำนำหน้านามประชากรในเขตนั้นได้ ไม่มีทาง

จากทั้งหมดที่กล่าวมา เราจะพอเห็นประเด็นว่าการเมืองเรื่องอัตลักษณ์กำลังมีกระแสต่อต้านว่าเป็นการทำเฉพาะเรื่องให้คนเฉพาะกลุ่ม อะไรคือหลักในการผลักดันเรื่องนี้ในฐานะการขับเคลื่อนที่ครอบคลุมทุกคน

ต้องยอมรับว่ามีกระแสต่อต้านจริงๆ แต่ในแง่มุมของการผลักดันกฎหมาย การทำให้กลุ่มคนที่ไม่เคยได้รับการปกป้องคุ้มครอง ได้รับการรับรองและปกป้องคุ้มครอง คือหลักการของการทํางานขับเคลื่อนให้มีการสนับสนุนและครอบคลุมคนได้มากที่สุด นี่คือสิ่งที่ต้องทําให้เกิดขึ้นให้ได้ 

เราไม่อยากให้สังคมคิดว่าเป็นการทําเฉพาะสิ่งให้กับคนเฉพาะกลุ่ม เพราะยังมีคนที่ไม่สามารถเข้าถึงทรัพยากรบางอย่างหรือไปสู่บางแห่งได้ แค่ทางจะไปยังไม่มีด้วยซ้ำ ท้ายที่สุด การผลักดันประเด็นเหล่านี้จะทําให้พวกเขาเข้าถึงทรัพยากรได้ เรื่องกฎหมายคํานําหน้านามก็เช่นกัน กฎหมายเป็นสิ่งสำคัญที่จะทำให้คนเหล่านั้นมีแนวทางในการได้รับความคุ้มครองและเข้าถึงทรัพยากรบางอย่าง

ขณะที่กฎหมายเกี่ยวกับความหลากหลายทางเพศยังติดขัดอยู่หลายเรื่อง แต่ก็มักมีคำกล่าวว่าไทยเป็นประเทศที่เป็นมิตรกับผู้มีความหลากหลายทางเพศ คุณมองประเด็นนี้อย่างไร

จากประสบการณ์ของเราในการทํางานภาคประชาสังคม มี LGBT ต่างชาติมากมายต้องการมาเมืองไทย มาใช้ชีวิต ทํางาน ตั้งรกราก เราก็จะอธิบายพวกเขาเสมอว่าตอนนี้ที่นี่ไม่ได้มีกฎหมายรองรับเลยนะ อาจจะดีมากถ้าเธอมีเงิน แต่ถ้าเธอไม่มีอะไรเลย มันก็จะแย่มาก 

มายาคติที่ว่าประเทศไทยดีกับ LGBT นั้นไม่ใช่เลย แม้จะยังไม่เคยมีข่าวการดักตีหัวหรืออาชญากรรมที่เกิดจากความเกลียดชังเหมือนในต่างประเทศ แต่เรื่องในระบบยังมีการเลือกปฏิบัติอยู่ เช่น ไม่รับเข้าเป็นข้าราชการหรือเป็นผู้พิพากษา เป็นต้น ซึ่งการที่สังคมไทยมองกะเทยเฉพาะในมุมของการเป็นผู้สร้างสรรค์ หรือแนวคิดเรื่อง ‘เป็นอะไรก็ได้ แต่ขอให้เป็นคนดี’ อาจช่วยอนุโลมให้ LGBT ที่อยู่ในสังคมนี้ไม่ถูกเลือกปฏิบัติอย่างรุนแรงนัก แต่ในระบบยังมีการเลือกปฏิบัติอย่างชัดเจน

นอกจากการต่อสู้เรื่องความหลากหลายทางเพศในช่องทางนิติบัญญัติ ก็มีการแสดงออกเชิงสัญลักษณ์อย่างขบวนไพรด์ด้วย ท่ามกลางความหลากหลายทางเพศที่มากมาย ในขบวนการต่อสู้มีลำดับชั้นทางเพศบ้างไหม และควรจัดการอย่างไรให้เป็นขบวนการที่ครอบคลุมทุกคน

ในอดีต งานไพรด์ของตะวันตกกลายเป็นธุรกิจที่เกย์ผิวขาวได้ประโยชน์ เกย์กล้ามใหญ่เป็นที่สนใจ ส่วนเกย์ผิวดําเหมือนพร็อพเสริม เห็นได้ว่ามีกลุ่มที่มีอิทธิพลใหญ่มากและถูกมองเห็นอยู่ตลอด ทำให้การทํางานขับเคลื่อนโดยเฉพาะเรื่องไพรด์ในช่วงหลังต้องมองเห็นประเด็นอัตลักษณ์ทับซ้อนให้ได้มากที่สุด ต้องให้ความสำคัญกับกลุ่มอื่นๆ และต้องสร้างพื้นที่ที่ทุกคนได้รับการยอมรับและนับรวม

อย่างเรื่องการเอา L ขึ้นก่อน ในคำย่อ LGBT ก็เพื่อให้เลสเบียนถูกมองเห็น เวทีสัมมนาหรือเวทีการเคลื่อนไหวเรื่องความหลากหลายทางเพศบางครั้งก็ให้พื้นที่เลสเบียน ไบเซ็กชวล และทรานส์เจนเดอร์เท่านั้น โดยที่ไม่ได้ตั้งใจจะกีดกันเกย์ แต่เมื่อเทียบกันแล้ว กลุ่มเกย์เข้าถึงทรัพยากรได้มากกว่าอยู่แล้ว จึงต้องเปิดพื้นที่ให้อัตลักษณ์อื่นๆ ด้วย

นอกจากนั้น ตอนนี้ก็มีการพูดถึง LGBT ที่เป็นกลุ่มชาติพันธุ์ คนพื้นเมือง ผู้คนอพยพ ว่าต้องได้รับการดูแลอย่างไร เนื่องด้วยขบวนการต่อสู้ที่ขับเคลื่อนเรื่องความหลากหลายก็มีการเรียนรู้ในตัวเองว่าต้องระวังมากเรื่องการจัดลําดับชั้นในขบวนการ

ลำดับชั้นในขบวนการต่อสู้เรื่องความหลากหลายทางเพศของไทยเป็นอย่างไร

ในไทยมักเป็นเรื่องของเกย์ชนชั้นกลางกับเกย์ที่ไม่ใช่ชนชั้นกลาง เรื่องนี้กําลังถูกพูดถึงมากขึ้นในเรื่องของมาตรฐานหรือวิถีชีวิตที่เน้นชนชั้นกลางมาก การสื่อสารบางเรื่องอาจไม่สามารถครอบคลุมทุกคนได้ เพราะ ณ วันนี้ เราคุยเรื่องคํานําหน้านาม แต่กะเทยที่ชนบทในต่างจังหวัดอาจบอกว่าฉันไม่เห็นอยากได้เลย สิ่งที่ฉันอยากได้คือการรับประกันว่าหลังเรียนจบ ฉันจะมีงานทำ 

ความจําเป็นบางอย่างของเราก็ไม่ได้ตอบโจทย์คนทั้งหมด เมื่อสิบกว่าปีที่แล้ว เราทําวิจัยกับเครือข่ายเพื่อนกะเทยไทย ให้กะเทยจากกลุ่มตัวอย่างเลือกสิ่งที่ต้องการทํามากที่สุด ผลอันดับแรกคือการจ้างงาน อันดับสองคือการรับรองเพศ และอันดับสามคือการเข้าถึงบริการทางด้านสุขภาพ เช่น ฮอร์โมน 

มองในมุมหนึ่ง อาจารย์เคทเข้าถึงการศึกษา อยู่ในกรุงเทพฯ มีตําแหน่งแห่งที่ในสังคม การต่อสู้เรียกร้องเรื่องคำนำหน้านาม ก็อาจใช่มากสำหรับเรา แต่สำหรับคนอื่น เรื่องพื้นฐานของเขายังไม่ได้รับการการตอบสนองเลย ในขบวนการจึงต้องดูแลความต้องการให้ตอบสนองแต่ละกลุ่ม เป็นเรื่องท้าทาย แต่ก็จําเป็นมากที่ต้องทำให้ครอบคลุมและขับเคลื่อนไปพร้อมกัน

การขับเคลื่อนเรื่องนี้ให้ครอบคลุมในระยะยาว มีอุปสรรคอะไรบ้าง

อุปสรรคคือวิธีการคิดที่ติดหล่มกล่องเพศ ฝังตัวเองในความคิดแบบสองเพศตายตัว บางคนก็ยังมีวิธีคิดแบบปิตาธิปไตย จึงเป็นภาระของผู้มีความหลากหลายทางเพศหลายคนที่ต้องมานั่งเล่าประสบการณ์เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลง เช่น “ธนาคารไม่ให้ฉันเปลี่ยนคํานำหน้า” “ตํารวจไม่รับแจ้งความฉัน เพราะฉันเป็นสาวประเภทสองที่อยู่ในพัทยา ฉันบอกว่าฉันโดนปล้น แต่ตํารวจบอกว่าไม่มีใครปล้นมึงหรอก มีแต่มึงไปปล้นเขา” การมีโอกาสได้ฟังเรื่องเรื่องราวแบบนี้ในสภาแทบเป็นไปไม่ได้เลย ดังนั้นจินตนาการของการสร้างกฎหมายไม่ใช่เรื่องแค่เจ็ดวันหลังประกาศใช้ แต่เป็นเรื่องระยะยาว ความสําเร็จของกฎหมายคือไม่ได้แค่ผ่านเท่านั้น แต่เมื่อนำมาใช้ คุณภาพชีวิตของคนจะเป็นอย่างไร ควรมีแผนการ ดังนั้น ตัวเราจึงสนใจเรื่องกลไกภาครัฐมาก เพราะกลไกภาครัฐคืออุปสรรคสำคัญ

คนในสังคมยังมีความคิดยึดติดกับระบบสองเพศอยู่ เราเคยไปบรรยายในต่างจังหวัด ทันทีที่เราพูดแนะนำตัว สายตาคนกว่าห้าร้อยคนมองเราพร้อมกันด้วยความสงสัย พอบรรยายจบ ทุกคนเดินมาบอกว่าไม่อยากเชื่อเลยว่าอย่างเราจะมาเป็นอาจารย์อยู่ในมหาวิทยาลัยได้ แต่พวกเขาเป็นคนทั่วไปที่ยังไม่มีความเข้าใจ ซึ่งเราก็เข้าใจเขา ส่วนครั้งที่สอง สํานักอัยการสูงสุดเชิญเราไปบรรยายให้อัยการระดับสูง หนักกว่าชาวบ้านอีก ทุกคนเข้ามารุมถาม มาถกเถียงกับเราเยอะมาก เรื่องการให้เกียรติเราคือตัดไปได้เลย ไม่มี

อะไรบ้างที่ควรปรับปรุงในการต่อสู้ทางการเมืองในเรื่องนี้

พรรคการเมืองขายความเป็น LGBT ในเชิงโฆษณาชวนเชื่อ (propaganda) มากเกินไป เราว่าความทุกข์ยากของ LGBT ถูกพิสูจน์มาหมดแล้วจากประสบการณ์ชีวิตของคน ข้างบ้านพูดถึงอย่างไร ลูกเป็นกะเทยโตไปจะมีงานทําหรือไม่ เรื่องราวเหล่านี้อยู่ในสภาพสังคมอยู่แล้ว ดังนั้นจึงไม่จำเป็นที่นักการเมืองจะต้องร้องไห้หรือโฆษณาชวนเชื่อ แน่นอนว่าน้ำตาเป็นเรื่องอารมณ์ความรู้สึก แต่ ณ ตอนนี้มันคือการแข่งขันกันในทางประเด็นว่าจะนำเรื่องนี้เข้าไปอยู่ในการเปลี่ยนแปลงทางด้านนโยบายอย่างไร

ณ จุดนี้ ยังไม่มีเกย์หรือการเปิดเผยว่าตนเป็นเกย์ในหมู่นักการเมือง และการพูดถึงเรื่องมิติความหลากหลายทางเพศสภาพในกลุ่มการเมืองจะถูกพูดอย่างกว้างขวาง ทุกวันนี้ ส.ส. หญิง ยังถูกอภิปรายเหยียดเพศอยู่เลย 

แสดงว่ายังมีข้อจํากัดในการใช้การเมืองเรื่องอัตลักษณ์ในฐานะการต่อสู้ในระบบ

การเมืองเรื่องอัตลักษณ์มีข้อจำกัดในตัวมันคือด้านความคิดของคน โดยเฉพาะเรื่องเพศ เป็นการต่อสู้ที่คนนอกขบวนการมักรู้สึกว่าเมื่อการเลือกปฏิบัติไม่ได้เกิดขึ้นกับตัวเอง ก็แสดงว่าไม่มีการเลือกปฏิบัติ นำไปสู่ประเด็นว่าเราจะทําอย่างไรให้ให้คนเห็นว่ามีการเลือกปฏิบัติจริงๆ ซึ่งในไทยก็มีการแสดงออกแล้วเช่นในงานไพรด์ แต่อย่างในต่างประเทศจะมีวันสำคัญต่างๆ เพื่อสร้างความตระหนักในความหลากหลายทางเพศ เมื่อกลับมามองที่ไทย เราอาจกำหนดสัปดาห์แห่งการตระหนักในความหลายทางเพศกันไหม เป็นต้น

แล้วทิศทางของชุมชนกลุ่ม LGBT ในไทยมีแนวโน้มอย่างไร ถ้าไม่พึ่งพาระบบทางการ

LGBT ในช่วงหลังมักไม่ยึดโยงตัวเองกับสิ่งใดในระบบ เพราะเมื่อใดก็ตามที่ยุ่งกับระบบ ชีวิตจะเผชิญอุปสรรค คนเหล่านี้อาจหาทางสร้างชุมชนของตัวเองโดยเน้นระบบการพึ่งพาคนเฉพาะกลุ่ม ภาพรวมแนวโน้มของเราคือจะมีการรวมกลุ่มกันที่ใหญ่จนคาดไม่ถึง ในประเทศไทยอาจมีบางพื้นที่สำหรับเฉพาะกลุ่ม อย่างสีลม ก็อาจจะยิ่งโตไปอีก อาจมีแพลตฟอร์มที่ขายของเฉพาะ LGBT ซึ่งตอนนี้มีอยู่แล้ว แต่เราคิดว่ามันจะใหญ่จนไม่ต้องออกมาเดินตลาดให้คนแซว

นอกจากนั้น องคาพยพในเรื่อง LGBT ของเราไปไกลมากแล้ว เรามีแพทย์ผู้เชี่ยวชาญในการเปลี่ยนเพศที่มีชื่อเสียงมาก ทุกบริการทางด้านภาคอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวก็ดีมาก คนไทยไม่ปฏิเสธความเป็น LGBT ของนักท่องเที่ยวเลย ไม่ว่าคุณจะมาเป็นหญิงรักหญิงหรือชายรักชาย หรืออะไรก็ตาม ขอให้คุณเป็นต่างชาติ คุณจะได้รับการปฏิบัติอย่างดีมาก

แน่นอนว่า LGBT ต่างชาติอพยพมาเกษียณ ใช้ชีวิตบั้นปลาย หรือข้ามเพศตอนแก่เยอะมาก ด้วยทั้งราคา ค่าครองชีพ และสถานที่ตั้ง กระทั่งงานเกย์คอมมูนิตี้ ก็มีชาวต่างชาติมาไทยเพื่อซื้อบัตรเข้างาน นี่คือสิ่งพิสูจน์ว่าการตลาดด้านเกย์ใหญ่มากในไทย สุดท้ายก็นำไปสู่คำถามว่ารัฐบาลคิดอย่างไรกับเรื่องการอพยพเข้ามาของชาวต่างชาติ

มีสิ่งใดบ้างที่ควรปรับปรุงในการต่อสู้ประเด็นนี้

เราไม่มีทางสู้ได้ด้วยตัวคนเดียว ทุกการเคลื่อนไหว ทุกการเปลี่ยนแปลงเรื่องใหญ่ๆ ในประเทศ ต้องใช้เครือข่ายในการทํางาน ภาคประชาสังคมต้องผนึกกําลังผลักดันเรื่องเหล่านี้ต่อไป เป็นปากเป็นเสียงแทนชาวบ้าน สื่อสารสังคมเพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลง หรือที่เรียกว่าต้องกัดไม่ปล่อย

อย่างไรก็ตาม อุปสรรคคือภาคประชาสังคมไทยมักมองการเมืองในสภาเป็นเรื่องไกลตัว ซึ่งเวลานี้น่าจะทําให้ภาคประชาสังคมมองเห็นภาคการเมืองในฐานะกลไกหนึ่งของการขับเคลื่อนได้มากกว่าเดิม เพราะก่อนหน้านี้แค่พูดคําว่าล็อบบี้ ทุกคนก็บอกไม่ทํา ซึ่งอาจต้องทําความเข้าใจกันมากขึ้นว่าภาคการเมืองเป็นส่วนหนึ่งของการขับเคลื่อน ซึ่งต้องทลายการรวมศูนย์ทางอำนาจและนิยามความหมายใหม่ว่านักการเมืองไม่ใช่คนที่ใหญ่กว่า แต่คือคนที่เป็นปากเป็นเสียงพูดเรื่องที่เราอยากให้พูด

ในท้ายที่สุด นี่คือสิ่งที่ทําให้เห็นชัดเจนว่าการสร้างการเปลี่ยนแปลงในทางนโยบาย ไม่ใช่แค่การขับเคลื่อนจากภาคประชาสังคมอย่างเดียว แต่การทํางานกับภาคการเมืองคือสิ่งสำคัญ อย่างการดําเนินการเรื่องการผลักดันกฎหมายการรับรองเพศในประเทศอาร์เจนตินา แม้ว่าในสภาของอาร์เจนตินาจะไม่มี ส.ส. ที่เป็นกะเทย แต่กฎหมายก็ผ่านมาได้จากการที่ภาคประชาสังคมทํางานอย่างเข้มแข็ง ด้วยบรรยากาศของลาตินอเมริกา วิธีคิดทางด้านประชาธิปไตยพุ่งสูง ทุกคนเสียงดัง ทําให้รัฐบาลเห็นว่าเรื่องนี้มีความจําเป็น

แต่ ณ ตอนนี้ การต่อสู้ในประเด็นนี้จะลงไม่ได้แล้ว ซึ่งเรามองเห็นข้อดี เพราะไทยได้รับความสนใจและเป็นที่จับจ้องจากหลายประเทศ เช่น จีน อเมริกา ทั้งในทางเศรษฐกิจด้วย ธรรมชาติของการต่อสู้ในเชิงนี้ทําให้แย่ลงไม่ได้ แต่ถามว่าจะเข้มข้นขึ้นไหม เราก็หวังให้เข้มข้นขึ้น ซึ่งต้องมาพูดกันในเรื่องความคิดและการวางแผนระยะยาว

ท้ายที่สุด การเมืองเรื่องอัตลักษณ์อาจนำไปสู่ความเป็นตํารวจทางการเมือง ส่งผลต่อเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น (free speech) คุณมองสมดุลเรื่องนี้อย่างไร

เรื่องความเป็นตำรวจทางการเมือง (political correctness : PC) ในการใช้คำเกี่ยวกับเรื่องเพศ จะไม่มีใครตามทัน เพราะความเปลี่ยนแปลงในเรื่องเพศไปเร็วมาก จึงอาจเกิดความ non-PC ในการใช้คำ แต่เส้นแบ่งคือจะต้องไม่นำไปสู่การตีตราและการเลือกปฏิบัติ การลงมือทําร้ายกัน กีดกันการเข้าสังคม ไม่ว่าจะด้วยคําพูด ความคิด หรือการกระทํา ถ้ากีดกันคน ตีตรา เลือกปฏิบัติ จุดนั้นจะเป็นจุดพิสูจน์ว่า non-PC แล้วได้อะไร และ PC แล้วได้อะไร

อย่างกลุ่ม LGBT อาจถูกมองว่า PC กับการใช้คำ แต่มีอีกตัวอย่างหนึ่งในทางกลับกัน คือเมื่อตอนจดจัดตั้งมูลนิธิเครือข่ายเพื่อนกะเทยไทย กรมการปกครองไม่ให้เราจดทะเบียน เพราะมองว่าคําว่ากะเทยไม่เหมาะสม ทั้งที่ก่อนจะยื่นคนในเครือข่ายคุยกันและตกผลึกกันมาแล้ว แต่เจ้าหน้าที่หนึ่งคนที่มีอํานาจในการถือกฎหมายมาใช้ดุลพินิจว่าไม่ให้จด นี่คือการที่ผู้ใช้กฎหมายของรัฐกําลังล้ำเส้น ดังนั้นจะ PC หรือไม่ คือแค่ไม่นำไปสู่การเลือกปฏิบัติ นี่คือเส้นแบ่งที่สมดุล

คุณวาดหวังสังคมที่มีความเท่าเทียมทางเพศไว้อย่างไร

จากประสบการณ์ในการทำงานด้านการเสริมพลัง LGBT เราพบว่า LGBT หลายคนกดขี่ตัวเองและตีตราตัวเอง ทําให้เขาไม่อาจใช้ศักยภาพในการเปลี่ยนแปลงได้อย่างเต็มที่ มีคนร้องเรียนกับเราหลายเรื่องจากหลายที่ ดังนั้นต้องใช้พลังมากกับการทํางานในด้านนี้ เพราะไม่ใช่แค่ว่าเราจะไปสู้กับระบบหรือว่ากลไกอย่างไร แต่คนคนนั้นต้องมีความพร้อมทั้งสภาพจิตใจและการรับมือ เพราะอาจสู้แล้วต้องเผชิญกับความโดดเดี่ยวจากสังคม การต่อสู้เรื่องนี้ใช้พลังสูงมาก คนที่กดขี่ตีตราตัวเอง อาจมองว่าตัวเองทำอะไรไม่ได้ ซึ่งเข้าใจว่าความรู้สึกแบบนี้อาจเป็นผลจากสภาพสังคม

การเปลี่ยนแปลงที่เราอยากให้เกิดขึ้นคือการทำให้คนเหล่านั้นมั่นใจ ลุกขึ้นมาต่อสู้ ซึ่งการจะทำได้ สังคมก็ต้องปลอดภัยในระดับหนึ่ง ไม่รู้เหมือนกันว่าสิ่งไหนจะมาก่อน ระหว่างสังคมปลอดภัยจนทําให้เกิดการเปลี่ยนแปลง หรือการเปลี่ยนแปลงนําไปสู่สังคมที่ปลอดภัย ก็ต้องลองดู แต่เราเชื่อว่าสังคมที่ปลอดภัยจะทำให้คนมีแรงสู้

MOST READ

Social Issues

9 Oct 2023

เด็กจุฬาฯ รวยกว่าคนทั้งประเทศจริงไหม?

ร่วมหาคำตอบจากคำพูดที่ว่า “เด็กจุฬาฯ เป็นเด็กบ้านรวย” ผ่านแบบสำรวจฐานะทางเศรษฐกิจ สังคม และความเหลื่อมล้ำ ในนิสิตจุฬาฯ ปี 1 ปีการศึกษา 2566

เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล

9 Oct 2023

Social Issues

5 Jan 2023

คู่มือ ‘ขายวิญญาณ’ เพื่อตำแหน่งวิชาการในมหาวิทยาลัย

สมชาย ปรีชาศิลปกุล เขียนถึง 4 ประเด็นที่พึงตระหนักของผู้ขอตำแหน่งวิชาการ จากประสบการณ์มากกว่าทศวรรษในกระบวนการขอตำแหน่งทางวิชาการในสถาบันการศึกษา

สมชาย ปรีชาศิลปกุล

5 Jan 2023

Social Issues

27 Aug 2018

เส้นทางที่เลือกไม่ได้ ของ ‘ผู้ชายขายตัว’

วรุตม์ พงศ์พิพัฒน์ พาไปสำรวจโลกของ ‘ผู้ชายขายบริการ’ ในย่านสีลมและพื้นที่ใกล้เคียง เปิดปูมหลังชีวิตของพนักงานบริการในร้านนวด ร้านคาราโอเกะ ไปจนถึงบาร์อะโกโก้ พร้อมตีแผ่แง่มุมลับๆ ที่ยากจะเข้าถึง

กองบรรณาธิการ

27 Aug 2018

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save