fbpx

Pride Month ไพรด์มั้ง? หรือไพรด์ (ดี) ไหม? ว่าด้วยไทยกับการสร้าง Soft Power สีรุ้ง

“อนาคตเราไม่ควรมีควรมีใครต้อง come out อีกแล้ว เป็นเกย์ก็เป็นเกย์ไปเลย”

– เขื่อน K-OTIC

เดือนนี้เป็นเดือนแห่งความหลากหลายทางเพศ ต้องยอมรับว่านี่คือปีที่แสนคึกคัก ทั้งแรงส่งจากบรรยากาศหลังการเลือกตั้ง ซึ่งทำให้เราดูมีความหวังกับแนวทางใหม่ๆ (แม้ว่าเรายังไม่รู้อนาคตจริงๆ ก็ตามที) ผมก็หวังเหมือนหลายคนว่า เราน่าจะเห็นการเปลี่ยนแปลง โดยเฉพาะเรื่องความเท่าเทียมกันทางเพศ ว่าที่นายกฯ ก็ออกมาพูดว่าจะทำเมืองไทยให้กลายเป็น Always Pride หรือประเทศที่โอบรับความหลากหลายของผู้คน เป็นเบ้าหลอมทางวัฒนธรรมแห่งใหม่ เป็นจุดหมายของ LGBTQ+ ที่อยากมาเมืองไทย ฯลฯ 

ว่าแต่ในสายตาชาวโลก เราเป็นประเทศที่ดีสำหรับเกย์ กะเลย สาวสอง น้องเลสฯ อย่างนั้นจริงหรือเปล่า เราลองมาสำรวจกันหน่อย

ไทยแลนด์: แดนเปิดกว้างที่แสนซ่อนเร้น

ข้อมูลจาก LGBT Capital ทำการสำรวจประชากรกลุ่ม LGBTQ+ ไว้เมื่อปี 2014 ประมาณว่า ไทยเราน่าจะมีประชากรกลุ่มนี้ที่มีอายุเกิน 15 ปีอยู่ 5% ของประชากรทั้งหมด นั่นคือคือราว 4 ล้านคน ตัวเลขนี้เป็นการประเมินแบบหยาบๆ เท่านั้น เพราะไม่ได้มีการแยกประเภทของความหลากหลาย และเมื่อย้อนไปเมื่อเกือบสิบปีที่แล้ว ความตื่นตัวเรื่องความหลากหลายทางเพศยังไม่เท่ากับในปัจจุบัน

แต่หากไปเทียบกับข้อมูลของ Ipsos ที่เก็บข้อมูลไว้เมื่อปี 2021 เราจะเห็นความหลากหลายในการแยกแยะเก็บข้อมูลมากขึ้น โดยจากประชากร 27 ประเทศทั่วโลก ผ่านกลุ่มสำรวจ Gen Z, millennial, Gen X และ Baby Boomer พบว่า โดยเฉลี่ยทั่วโลก 80% นิยามตัวเองว่าเป็นคนรักต่างเพศ (hetrosexual) 3% บอกว่าตัวเองเป็นเกย์ เลสเบียนหรือรักร่วมเพศ 4% เป็นไบเซ็กชวล 1% เป็นคนที่ชอบเพศอะไรก็ได้ (pansexual / omnisexual) 1% เป็นพวกไม่ฝักไฝ่เซ็กส์ (asexual) 1% ตอบว่าตัวเองเป็น ‘อื่นๆ’ และ 11% ที่ไม่ต้องการไม่ระบุ หรือรู้แต่ไม่พูด – ศัพท์หลายๆ คำผมก็เพิ่งรู้จักเมื่อไม่นานมานี้เหมือนกัน                   

รัฐไทยไม่ได้ให้ความสำคัญกับฐานประชากรกลุ่มนี้ เนื่องจากความคิดของชนชั้นปกครองยังเป็นไปทางอนุรักษนิยม ไม่มีกฎหมายรองรับคนกลุ่มนี้ ฉะนั้นก็เป็นเรื่องยากที่เราจะเห็นข้อมูลประชากรเชิงลึก แต่ผมคิดว่ารัฐบาลไทย อาจต้องเริ่มเปลี่ยนความคิดนี้ให้เร็วขึ้น เพราะไทยกำลังเข้าสู่เข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ปัจจุบันเรามีคนอายุมากกว่า 65 ปีมากกว่าเด็กอายุต่ำกว่า 5 ขวบ นั่นหมายถึงอนาคตเราจะมีครัวเรือนที่ไม่มีลูกมากขึ้น ซึ่งในจำนวนนั้น จะมีประชากรกลุ่ม LGBT+ แฝงอยูด้วย แต่เราไม่มีข้อมูลของคกลุ่มนี้ว่าเศรษฐกิจของครัวเรือนคนรักเพศเดียวกันเป็นอย่างไร ค่านิยม แนวคิดในการใช้ชีวิตเป็นแบบไหน มีงานทำกันเยอะไหม อยู่คนเดียวหรือแยกกันอยู่ อยู่กันแบบครัอบครัวเดี่ยวหรือว่าครอบครัวขยาย กระจุกตัวอยู่ที่ไหน ฯลฯ ซึ่งล้วนแล้วแต่เกี่ยวข้องกับความมั่นคงทางเศรษฐกิจของประเทศในอนาคต หากเรารู้จริงๆ เราอาจเห็นข้อมูลชุดใหม่ที่เป็นประโยชน์กับการเตรียมความพร้อมรับมือกับโลกที่กำลังเปลี่ยนไป 

และยิ่งถ้ามองว่า ตอนนี้เราเป็นผู้ส่งออกซีรีส์วาย (boy-love series) ที่น่าจะใหญ่ทีสุดในโลกแล้ว อาจเป็นตัวสะท้อนได้ดีว่าเราต้องเร่งเครื่องอีกสักนิดเพื่อให้สังคมเติบโตปรับเปลี่ยนไปได้อย่างสอดคล้องกัน เพราะทุกวันนี้ แม้ดูเหมือนว่าเราเปิดกว้าง แต่ในความเป็นจริงอาจไม่ได้เป็นเช่นนั้น 

World Bank ทำการสำรวจเรื่องโอกาสในการทำงานของคนกลุ่ม LGBT+ ไว้เมื่อปี 2014 ในกลุ่มตัวอย่างกว่า 4,000 คนในไทย พบว่ากว่า 70% ถูกปฏิเสธงาน 3 ใน 4 คนโดนล่วงละเมิดทางเพศในที่ทำงาน ถูกเลือกปฎิบัติเกินครึ่งและกว่า 60% โดนห้ามหรือไม่กล้าเผยตัวเองในที่ทำงาน เพราะกลัวว่าจะกระทบกับความก้าวหน้าในบริษัท ฯลฯ แม้ว่ารายงานนี้จัดทำขึ้นเมื่อเก้าปีที่แล้ว แต่เชื่อว่าภายใต้การบริหารงานโดยรัฐที่ยังไม่ยอมรับความเท่าเทียม  และอาจมองว่าไม่ใช่ปัญหา บรรยากาศของการทำงานเหล่านี้อาจไม่ได้เปลี่ยนไปมาก โดยเฉพาะในหน่วยงานราชการ ตัวแปรสำคัญจึงย้อนกลับไปที่กฎหมาย ถ้าหากปรับกฎหมายได้ ทุกอย่างที่ตามมาก็จะค่อยๆ ปลดล็อคไปทีละขั้น

หากทำได้ เมื่อดูจากทำเลที่ตั้งของไทยและ ลักษณะวัฒนธรรมของเพื่อนบ้าน เราก็มีโอกาสทางเศรษฐกิจในการเจาะกลุ่ม Pink Money ได้ไม่ยาก  

แลเพื่อนบ้านสถานการณ์เป็นอย่างไร

เมื่อปี 2022 สำนักวิจัย Pew Research จัดอันดับประเทศที่เกลียดกลัวชาว LGBTQ+ พบว่า 8 ประเทศแรกที่มีการคุกคามกลุ่ม LGBTQ+ มากที่สุดในโลก 8 อันดับในจำนวนนี้ 5 ใน 8 เป็นประเทศในเอเชีย (อันดับหนึ่งคือประเทศอังกฤษ) นักประวัติศาสตร์หลายต่อหลายคนให้ความเห็นว่า ความกลัวความหลากหลายทางเพศเป็นผลมาจากการเข้ามาของลัทธล่าอาณานิคม ซึ่งนำความคิดเกลียดกลัวคนรักร่วมเพศติดมาด้วย 

เมื่อคราวที่สหราชอาณาจักรเป็นเจ้าอาณานิคมในเอเชีย มีการเขียนกฏหมายเพื่อเอาผิดคนข้ามเพศ คนรักร่วมเพศและการร่วมเพศกับคนเพศเดียวกัน ในประมวลกฎหมายอาญาของอินเดีย ซึ่่งบังคับใช้ในทศวรรษที่ 1860 (ที่อินเดียมีชายแต่งกายข้ามเพศที่เรียกว่า ‘ฮิจรา’) ต่อมากฎหมายนี้ถูกคัดลอกไปทั่วจักรวรรดิ ความตั้งใจก็คือ เพื่อสร้างอารยธรรมการนับถือศาสนาคริสต์และสร้างครรลองแบบยุโรป 

อิทธิพลทางความคิดแบบนี้แผ่ขยายไปทั่วเอเชียและยังส่งผลมาจนถึงทุกวันนี้ เมื่อซ้อนทับเข้ากับความเชื่อของศาสนาอิสลามที่แผ่ขยายอิทธิพลเข้ามาในดินแดนมลายู ยิ่งทำให้ที่ยืนของ LGBTQ+ น้อยลงไปอีก

เหลียวหลังแลหน้าแล้วก็จะพบว่า รอบๆ ตัวเรา ไม่ค่อยมีประเทศไหนเปิดกว้างเรื่องความหลากหลายทางเพศเท่าไทยอีกแล้ว เป็นโอกาสในการสร้าง Soft Power ซึ่งส่วนตัวผมเอง คิดว่าความเป็นเกย์ของเรานี่แหละที่เป็น Soft Power หนึ่งที่แข็งแรงที่สุดของประเทศ 

จีน ฮ่องกง เวียดนามหรือญี่ปุ่นยังไม่เปิดกว้างมากนัก ประเทศที่นับถือศาสนาอิสลาม สิ่งนี้คือเรื่องต้องห้าม สิงคโปร์หรือไต้หวัน เมื่อมองดูค่าครองชีพและปัจจัยหลายๆ อย่างสำหรับการใช้ชีวิตแบบคู่รักเพศเดียวกัน ไทยน่าจะเป็นคำตอบที่น่าสนใจสำหรับการใช้ชีวิตบั้นปลาย 

เรื่องนี้ผมไม่ได้คิดไปเอง

หากเข้าไปดูข้อมูลในแง่มุมต่างๆ เกี่ยวกับความเท่าเทียมกันในเรื่องเพศจากเว็บไซต์ equaldex.com เว็บไซต์ที่รวบรวม เปรียบเทียบข้อมูลเรื่องความเท่าเทียมกันทางเพศในด้านต่างๆ ทั้งเรื่องกฎหมาย ชีวิตความเป็นอยู่ ความเป็นมิตรของผู้คนในประเทศ โดยจัดอันดับให้เข้าใจได้ง่ายและเปรียบเทียบให้เห็นภาพ

ไทยได้คะแนน 52/100 ใกล้เคียงกับสิงคโปร์ (50/100) สิงคโปร์ได้คะแนนเพิ่มในเรื่องให้พลเมืองเปลี่ยนคำนำหน้าได้หากได้รับการผ่าตัดแปลงเพศมาแล้วเพื่อให้ตรงกับอัตลักษณ์ ขณะที่ไทยได้คะแนนจากเรื่องการยอมรับในพื้นที่สาธารณะ การเปิดเผยตัวตนที่ทำได้มากกว่า แต่ไม่มีกฎหมายใดๆ รับรองสิทธิ

ประเทศเพื่อนบ้านอย่างมาเลเซีย (15/100) อินโดนีเซีย (21/100) จีน (41/100) หรือรัสเซีย (16/100) ซึ่งเป็นนักท่องเที่ยวกลุ่มสำคัญของไทย ได้คะแนนต่ำมาก ประเด็นที่น่าสนใจอยู่ที่ประเทศจีน ผมคิดว่าการขยับตัวของจีนในช่วงสามปีที่ผ่านมา ส่งแรงกระเพื่อมต่อ LGBTQ+ อย่างมาก  

จีนยกเลิกว่าการรักร่วมเพศเป็นความผิดปกติทางจิตในปี 2001 ถือเป็นความก้าวหน้าที่สุดของจีน แต่ชาว LGBTQ+ ในจีนต้องเผชิญทั้งการปราบปรามและลิดรอนสิทธิต่างๆ  ตั้งแต่การบุกค้นและทลายย่านเกย์ในเมืองใหญ่ๆ ทั้งปักกิ่ง เซี่ยงไฮ้ กวางโจว หางโจว

ในปี 2022 งาน Shanghai Pride งาน LGBTQ+ ที่ใหญ่ที่สุดของจีนประกาศสิ้นสุดการจัดงานหลังจากดำเนินการมา 11 ปีโดยไม่มีคำอธิบาย เป็นเวลาใกล้เคียงกับกลุ่มผู้สนับสนุน LGBTQ+ ที่ทรงอิทธิพลปิดตัวลงอย่างไม่มีปี่มีขลุ่ยเมื่อเดือนพฤศจิกายนในปีเดียวกัน แอพหาคู่เกย์ Grindr ถูกลบออกจากร้านแอพสโตร์ของจีนเมื่อต้นปี 2023 ตอนนี้หลายคนกำลังเป็นห่วงหลายคนเป็นห่วงว่าความก้าวหน้าเรื่องสิทธิมนุษยชนที่เคยมีอย่างมากในฮ่องกง ก็อาจเริ่มถูกริดรอนหลังจาก่จีนบังคับใช้กฎหมายความมั่นคงแห่งชาติกับฮ่องกง ถึงตอนนี้ ก็คิดว่าคงยากที่ฮ่องกงจะกลับไปเป็นเหมือนเดิม

ชุมชน LGBTQ+ ยังต้องเผชิญกับการปราบปรามและเซ็นเซอร์เนื้อหาที่เกี่ยวข้องกับ LGBTQ+ อย่างหนักหน่วงมากขึ้น โดยเฉพาะเมื่อจีนเริ่มมีปัญหาทางการเมืองกับสหรัฐอเมริกา ซึ่งทำให้รัฐบาลจีนมีท่าทีที่แข็งกร้าวขึ้นกับกลุ่ม LGBTQ+ โดยมองว่าการเป็นเกย์ ไบเซ็กชวล ทรานส์ หรือแม้แต่ผู้ชายที่ดูไม่สมเป็นชายเป็น ‘แนวคิดแบบตะวันตก’ บั่นทอนคุณค่าของความเป็นจีน

เห็นโอกาสในการเปลี่ยนแปลงของจีนไหมครับ?

หากว่าเราปรับตัวเองทันไหวตัวได้ทันกับกระแสโลก มีโอกาสอีกมากมายที่จะทำให้ไทยกลายเป็นศูนย์ทางวัฒนธรรมของ LGBT+ ซึ่งมีตัวอย่างให้เห็น เช่นที่เกิดขึ้นในไต้หวัน

3 ปีก่อนไต้หวันอนุมัติร่างกฎหมายครั้งสำคัญที่รับรองสิทธิของคู่รักเพศเดียวกันในการแต่งงาน ทำให้เกาะแห่งนี้เป็นที่แรกในเอเชียที่ออกกฎหมายให้คู่รักเพศเดียวกันแต่งงานกันได้ ข้อมูลประชากรของไต้หวันช่วงก่อนโควิด มีคู่แต่งงานเพศเดียวกันกว่า 7,200 คู่แต่งงานกันในไต้หวัน คิดเป็นประมาณ 2% ของการแต่งงาน ทำให้ธุรกิจงานแต่งงานและธุรกิจที่เกี่ยวข้องเติบโตอย่างมาก สำนักข่าวรอยเตอร์ยังรายงานอีกว่า การที่ไต้หวันเป็นประเทศแรกในเอเชียที่ประกาศเรื่องนี้อย่างเป็นทางการยังดึงดูดความน่าสนใจจากนักลงทุนต่างชาติ บริษัทหลายแห่งตัดสินใจเข้ามาลงทุนในไต้หวันด้วยประเด็นนี้ก็มี

แม้ไต้หวันจะยังไม่อนุญาตให้คนไต้หวันแต่งงานกับคนต่างชาติได้ก็ตาม แต่หากไทยทำได้ก่อนทำได้จริง นั่นหมายความว่า จะมีคู่รักอีกมากมายที่อยากมาลงทุน มาซื้ออสังหาริมทรัพย์ที่นี่ หรืออยากย้ายมาอยู่เมืองไทยก็น่าจะมีมากขึ้น และจะทำให้ประเทศไทยเป็น Always Pride ได้จริงๆ

ในบรรยากาศทางสังคมที่ยอมรับความหลากหลาย เราก็อาจได้เห็น soft power ใหม่ๆ ที่เข้ามาเปลี่ยนแปลงประเทศของเราได้มากขึ้นก็เป็นไปได้

ก็หวังว่าผมจะได้เห็นทุกอย่างที่ว่ามา ก่อนจะลาโลกไปเสียก่อน

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save