fbpx

ชีวิตและบทเพลงว่าด้วยกาแฟของโยฮัน เซบาสเตียน บาค

ตอนที่แล้วผมเกริ่นไว้ถึงเรื่องโยฮัน เซบาสเตียน บาค (Johann Sebastian Bach) กับกาแฟและบทเพลงของเขา ดังนั้นบทความนี้จะขอเล่าให้จบเรื่องเกร็ดประวัติศาสตร์การดื่มกาแฟในสมัยศตวรรษที่ 18 เมื่อคนยุโรปเริ่มรู้จักกาแฟ โดยเฉพาะในเยอรมันของบาคว่าเป็นอย่างไร ทำไมเขาถึงกับแต่งเพลงเกี่ยวกับกาแฟไว้ด้วย

แต่ก่อนจะไปถึงตรงนั้น ขอเล่าย้อนนิดหน่อยว่าว่าบาคมีความสำคัญอย่างไรในยุคสมัยที่เขามีชีวิตอยู่

โยฮัน เซบาสเตียน บาค เป็นที่รู้จักในฐานะนักดนตรีและนักประพันธ์เพลงยุคบาโรกที่ยิ่งใหญ่คนหนึ่ง ชีวิตของเขาผูกพันกับดนตรีมาตั้งแต่เด็กๆ เล่นเครื่องดนตรีได้หลากหลายทั้งออร์แกน เปียโน ไวโอลิน และยังเขียนเพลงอีกมากมาย ทั้งเพลงร้องแบบโอเปร่า เพลงร้องประสานเสียง ฯลฯ เรียกว่ามีเกือบทุกประเภท เขาสนใจเรื่องการคำนวน เป็นศาสนิกชนที่ค่อนข้างเคร่งครัดของนิกายลูเธอรัน (ที่ว่ากันว่าร้องเพลงประสานเสียงเก่งที่สุดแล้วในยุโรปในสมัยนั้น) ช่วง 20 ปีสุดท้ายของชีวิตเขาได้ทำงานรับใช้ศาสนา โดยเป็นทั้งหัวหน้าคณะนักร้องประสานเสียงและนักออร์แกนคีย์บอร์ดของโบสถ์นักบุญโทมัส (Thomaskirche) โบสถ์สำคัญที่เปรียบเสมือนกรุงวาติกันของของผู้นับถือนิกายลูเธอรัน ในเมืองไลพ์ซิช (Leipzig) ส่วนหนึ่งของประเทศเยอรมนี 

เพลงส่วนใหญ่ของบาคเกี่ยวข้องกับศาสนา แต่ไม่น่าเบื่อเพราะเป็นที่รู้กันว่าเอกลักษณ์ของบาคคือเพลงอันเต็มไปด้วยรายละเอียด มีความซับซ้อน ให้ความรู้สึกอลังการ สมัยที่บาคยังมีชีวิต คณะประสานเสียงที่เขาดูแลก็ได้รับความนิยมมาก และถูกพูดถึงเสมอว่าเป็นคณะประสานเสียงที่ร้องเพลงได้ไพเราะและเรียบเรียงดนตรีได้ดีที่สุดของยุโรป งานของบาคกลายเป็นแรงบันดาลใจให้กับนักแต่งเพลงรุ่นหลังๆ อย่างบีโธเฟนและโมสาร์ท อีกด้วย 

นอกจากผลงาน ชีวิตส่วนตัวของบาคก็น่าสนใจนะครับ เขาเป็นนักดนตรีที่มีสีสัน มีลูกมาก มากแบบ 20 คน!

บาคแต่งงานสองครั้ง คนแรกคือมาเรีย บาบารา บาค (Maria Barbara Bach) เสียชีวิตหลังคลอดลูกคนที่ 7 ในปี 1720 ปีถัดมา บาคแต่งงานใหม่กับหญิงหม้ายที่มีลูกติดมาสองคน ชื่อ แอนนา แมกดาลีนา วิลค์เคน (Anna Magdalena Wilcken) และมีลูกด้วยกัน 13 คน

น่าสนใจตรงที่ภรรยาของบาคทั้งคู่ต่างมีพื้นเพที่เกี่ยวกับดนตรีทั้งสิ้น มาเรียเป็นลูกสาวของนักแต่งเพลงและนักออร์แกน โยฮัน คริสตอฟ อาเพล (Johann Christoph Apel) ส่วนแอนนา เธอเป็นนักร้องประสานเสียง ซึ่งต่อมาได้มีบทบาทในชีวิตของบาคมากๆ เพราะนอกจากเลี้ยงลูก ช่วยเขาจัดการเรื่องเงินๆ ทองๆ ที่บาคทำงานหนักเพื่อหาเลี้ยงครอบครัวขนาดใหญ่ (มาก) เธอยังทำงานร่วมกับบาคในฐานะนักร้องประสานเสียงด้วย

ขณะเดียวกัน บาคเองก็ได้สอนลูกๆ ของเขาทุกคนเล่นดนตรี หลายคนประสบความสำเร็จในอาชีพนี้และทำงานร่วมกับพ่อเขาผูกพันกับลูกไม่น้อยไปกว่าดนตรีและเป็นที่มาของเพลงเกี่ยวกับกาแฟ ที่ว่ากันว่าอาจแต่งมาจากประสบการณ์ส่วนตัวที่มีต่อลูกสาวคนหนึ่ง

เพลงนั้นมีชื่อว่า ‘คอฟฟี่ คันตาต้า’ (Coffee Cantata หรือในภาษาเยอรมันคือ ‘Schweigt stille, plaudert nicht-BWV 211’)

เพลงคันตาต้าคือเพลงแบบไหน?

เพลงแบบคันตาต้าเป็นเพลงขับร้องรูปแบบหนึ่งที่นิยมกันมากในยุโรปช่วงศตวรรษที่ 17-18 เนื้อหาส่วนมากมักเล่าเรื่องชีวิตประจำวันหรือเรื่องราวคำสอนในศาสนา เปรียบไปก็อาจเหมือนเพลงฉ่อยในบ้านเรา บางครั้งคันตาต้าก็มีเนื้อหาตลกๆ หรือเสียดสีสังคม อย่างเพลงคอฟฟี่ คันตาต้าก็จัดอยู่ในประเภทนั้น

บาคน่าจะแต่งเพลงนี้ในช่วง ค.ศ.1732-1735 เป็นช่วงที่เขาเริ่ม ‘รับจ๊อบ’ เข้าไปดูแลวงดนตรีเอกชน Collegium Musicum ตั้งแต่ปี 1729 ในสมัยนั้นการจะเป็นเจ้าของวงดนตรีเอกชนแล้วรับงานแสดงต่างๆ ไม่ง่ายนัก แต่สังคมยุโรปกำลังขยับสู่การเปลี่ยนแปลง เนื่องจากการเติบโตขึ้นของชนชั้นกลางและพ่อค้าวานิช ทำให้ธุรกิจวงดนตรีที่เปิดแสดงตามผับ คลับและร้านกาแฟ เริ่มได้รับความสนใจมากขึ้น โดยเฉพาะในหมู่คนชั้นสูง อย่างวงที่บาคดูแลก็จะเล่นประจำที่ร้านกาแฟซิมเมอร์มันน์ (Zimmermann’s coffee house) ร้านกาแฟสำหรับชนชั้นกลางและคนรวยในเมืองไลพ์ซิช ซึ่งตั้งอยู่บริเวณจตุรัสของเมือง บาคเข้าไปเป็นผู้กำกับเพลงและเล่นออร์แกนเพื่อหาเงินมาจุนเจือครอบครัว เพราะลำพังเงินที่ได้จากการทำงานที่โบสถ์ (ร้องเพลงวันอาทิตย์ ร้องเพลงในงานแต่งและงานศพ และในโอกาสเฉลิมฉลองอื่นๆ) อาจไม่พอกับครอบครัวขนาดใหญ่ (มาก) ของเขา 

เนื้อหาของเพลงคอฟฟี่ คันตาต้าเล่าเรื่องราวของ ชเลนเดรียน (Schlendrian) พ่อที่ไม่พอใจกับพฤติกรรมของลูกสาวนาม ลีเชน (Lieschen) ที่หลงใหลในการดื่มกาแฟมากเกินไป

เพลงเริ่มต้นด้วยลีเชนร้องเพลงบ่นเกี่ยวกับพ่อของเธอที่ห้ามเธอไม่ให้ดื่มกาแฟ เธอจึงแอบดื่ม รู้สึกมีความสุขทุกครั้งที่ได้ดื่มและสาบานว่าเธอจะดื่มกาแฟทุกเช้า

เมื่อพ่อของเธอรู้เข้าก็โกรธมาก ขู่ว่าจะตัดเธอออกจากกองมรดกและไม่ให้แต่งงานกับชายคนรัก 

ลีเชนร้องไห้ขอโทษและสัญญาว่าจะดื่มกาแฟให้น้อยลง พ่อของเธอใจอ่อนและอนุญาตให้เธอแต่งงานกับชายคนรักในที่สุด เธอดีใจมาก และโชว์นี้ก็ปิดท้ายด้วยลีเชนที่ร้องเพลงสรรเสริญกาแฟ (ฮา)

ดูจากเนื้อหาแล้ว เพลงคอฟฟี่คันตาต้านี้คงไม่อนุญาตให้เล่นในโบสถ์นักบุญโทมัสที่เขาทำงานอยู่แน่ๆ ว่ากันว่านักบวชนิกายลูเธอรันค่อนข้างเคร่ง และมองว่ากาแฟเป็นเครื่องดื่มมอมเมาผู้คนไม่แตกต่างจากเครื่องดื่มแอลกอฮอลล์ ฉะนั้นเป็นไปได้สูงว่ามันถูกแต่งขึ้นเอาไว้เปิดแสดงที่ร้านกาแฟซิมเมอร์มันน์นั่นแล บาคจะเปิดแสดงร่วมกับวงดนตรีในทุกคืนวันอาทิตย์เป็นเวลาสองชั่วโมง และเป็นแนวกึ่งๆ โอเปรา จะมีนักร้องโซโลสามคน ทั้งตัวเอกและนักเล่าเรื่อง และใช้เครื่องดนตรีสามสี่ชิ้นเล่นประกอบ

สิ่งที่พิเศษอีกอย่างหนึ่งของร้านกาแฟซิมเมอร์มันน์ก็คือที่นี่เปิดโอกาสให้ผู้หญิงสามารถเข้าไปฟังดนตรีได้ ซึ่งถือว่าเป็นสิ่งพิเศษในสมัยก่อนที่ร้านแบบนี้ส่วนมากจะจำกัดไว้เฉพาะผู้ชาย นั่นยิ่งทำให้ที่นี่ได้รับความนิยม เพราะเป็นที่พบปะของชายหนุ่มหญิงสาว และการแสดงของบาคนั้นก็ได้รับความสนใจมาก โดยร้านไม่ได้เก็บค่าเข้าชม แต่ได้รายได้จากการขายเครื่องดื่มในร้าน โดยเฉพาะกาแฟ ซึ่งสมัยนั้นเป็นเครื่องดื่มมีราคา

นักประวัติศาสตร์สันนิษฐานว่าบาคอาจหยิบเอาเรื่องราวของลูกสาวคนหนึ่งของเขาชื่ออลิซาเบธ (Elisabeth Juliana Friederica Bach) กับลูกเขยโยฮัน (Johann Christoph Altnickol) มาเป็นแรงบันดาลใจในการแต่งเพลง แต่บางคนก็ออกมาแย้งว่าช่วงเวลาของการแต่งเพลงกับช่วงเวลาที่ลูกสาวของบาคคนนี้แต่งงานค่อนข้างห่างกันหลายปี บาคน่าจะแต่งเพลงนี้จากจินตนาการของเขาเองมากกว่า

คำถามหนึ่งที่คนอยากรู้ไม่แพ้กันคือแล้วบาคดื่มกาแฟหรือไม่? 

มีหลักฐานที่สร้างการถกเถียงกันอยู่ไม่น้อยนะครับ เพราะมีบันทึกเรื่องการใช้จ่ายเงินซื้อกาแฟของบาค แต่ขณะเดียวกันก็มีคนอ้างว่าบาคอาจดื่มบ้างแต่ไม่น่าบ่อย เพราะกาแฟเป็นเครื่องดื่มมีราคา เขาอาจดื่มเพื่อเข้าสังคม และด้วยความที่เขาทำงานให้กับโบสถ์ การดื่มกาแฟมากๆ น่าจะขัดกับความรู้สึกและหน้าที่การงานของเขาเอง รวมถึงสุขภาพที่ไม่ค่อยดีนักของเขาอาจทำให้เขาเป็นกังวลต่อการดื่มกาแฟในปริมาณมาก      

อย่างไรก็ตาม เพลงคอฟฟี่คันตาต้าของบาคได้รับความนิยมและถูกนำกลับมาแสดงเรื่อยๆ นะครับ โดยเฉพาะในช่วงงานรื่นเริงของปี เช่น คริสมาสต์ ปีใหม่ ทุกวันนี้โรงละครต่างๆ ในยุโรปก็มีการดัดแปลงเอาเพลงนี้มาเล่น โดยแปลงเป็นภาษาอังกฤษเพื่อให้เข้าใจง่ายก็มี แต่ยังคงเนื้อหาดั้งเดิมไว้ ใครอยากดูลองคลิกตามลิงก์ที่ผมแปะไว้ได้เลย

เปิดเพลงนี้ตอนดื่มกาแฟตอนเช้าวันหยุด ก็บันเทิงดีอีกแบบนะครับ


YouTube video


Dumbo Coffee



Dumbo Coffee เป็นกาแฟที่ได้จากร้านยอดฮิตของของเหล่ายูทูบเบอร์เมืองไทยที่ไปเดินในถนนชิเฟิง เขตจงซาน เมืองไทเป ประเทศไต้หวัน เป็นร้านเล็กๆ ขนาดหนึ่งห้องแถว เพิ่งเปิดเมื่อปี 2021 นี้เอง เหตุที่ได้รับความนิยม ถูกพูดถึงในหมู่คนรุ่นใหม่และนักท่องเที่ยว เนื่องจากความเก๋ของเพลย์ลิสต์ในร้านที่เน้นเปิดเพลงยุค 1980s และมีพนักงานเป็นหญิงสาววัยรุ่นสองคน ทั้งเก็บเงิน อุ่นขนม เป็นบาริสต้า และรับออเดอร์ ฉะนั้นมาร้านนี้ต้องใจเย็นนิดหน่อยนะครับ

ผมสั่งกาแฟที่ร้านเป็นกาแฟร้อนปกติ กับอีกแก้วเป็นกาแฟเย็นผสมโซดาและน้ำส้ม และพบว่าร้านไม่ได้มีดีแค่แต่งสวยนี่นา กาแฟก็อร่อยไม่เบา ในร้านมีเมล็ดกาแฟให้เลือกซื้อกลับหลากหลายแล้วแต่ฤดูกาล มีเมล็ดพิเศษจากแหล่งปลูกทั่วโลก เช่น กัวเตมาลา โคลอมเบีย แต่คิดว่าไม่ได้เป็น Single Origin (มาจากไร่เดียวกันหมด) ส่วนราคาก็กลางๆ ครับ ซื้อหาได้

ถุงนี้เป็น House Blend เป็นถุงที่ใช้ชงเครื่องดื่มที่ร้าน เป็นเมล็ดกาแฟคั่วกลาง ไม่ได้บอกแหล่งที่มา แต่ผมคิดว่าน่าจะมาจากบราซิลหรืออาจเป็นแหล่งปลูกแถวๆ บ้านเรานี่แหละครับ เพราะกลิ่นออก earthy มีความหอมของสมุนไพร

จะว่าไปรสชาติไม่แย่แต่ไม่โดดเด่น แต่ผมชอบความใจสู้ของผู้ประกอบการรุ่นใหม่ของไทเป ผ่านไปผ่านมาไปอุดหนุนกันได้ครับ 

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save