fbpx

“เราให้เกียรติเขา เขาให้เกียรติเรา” จิรายุ ห่วงทรัพย์เปิดแนวทาง ‘พัฒนาร่วมกัน’ กับกองทัพ สไตล์เพื่อไทย

ในเดือนเมษายนของทุกปี กิจกรรมหนึ่งที่ชายไทยอายุครบ 20 ปีบริบูรณ์ต้องเวียนมาเข้าร่วมกันทุกปีคือการเกณฑ์ทหาร ทำให้นอกจากอากาศที่ร้อนแรงแล้ว การตั้งคำถามต่อรัฐบาลเพื่อไทยก็ดุเดือดไม่แพ้กัน เมื่อในช่วงก่อนเลือกตั้ง 2566 พรรคเพื่อไทยหาเสียงในประเด็นการยกเลิกการเกณฑ์ทหารและนโยบายปฏิรูปกองทัพไว้

เมื่อพรรคเพื่อไทยจัดตั้งรัฐบาล โดยมี สุทิน คลังแสง จากเพื่อไทยนั่งเก้าอี้รัฐมนตรีกระทรวงกลาโหม ทั้งยังเสริมด้วยโฆษกกระทรวงกลาโหมจากพลเรือนคนล่าสุดอย่าง จิรายุ ห่วงทรัพย์ ทำให้เกิดคำถามว่าท่ามกลางท่าทีประนอมของพรรคเพื่อไทยที่มุ่ง ‘พัฒนาร่วมกัน’ กับฝ่ายทหารจนไม่กล้าแตะปัญหา จะทำให้การปฏิรูปกองทัพไปไม่ถึงฝัน

101 จึงสนทนากับ จิรายุ ห่วงทรัพย์ อดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรพรรคเพื่อไทย โฆษกกระทรวงกลาโหม ฝ่ายการเมือง ที่ปรึกษารัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย​และ​ที่ปรึกษารัฐมนตรีประจำ​สำนักนายกรัฐมนตรี​ ถึงความความคืบหน้าของการปฏิรูปกองทัพในแบบฉบับพรรคเพื่อไทยในฐานะโฆษกพลเรือนคนแรกของกระทรวงกลาโหม

หมายเหตุ : เรียบเรียงจากรายการ 101 One-on-One Ep.323 ‘ปรับกองทัพ ฉบับเพื่อไทย’ กับ จิรายุ ห่วงทรัพย์ ออกอากาศเมื่อวันพุธที่ 3 เมษายน 2567 ดำเนินรายการโดย วิสุทธิ์ คมวัชรพงศ์

YouTube video

เรื่องใต้พรมการเกณฑ์ทหารและการจัดการฉบับเพื่อไทย

จากมุมมองของจิรายุ ห่วงทรัพย์ ในช่วงเวลาที่ผ่านมานับตั้งแต่พรรคเพื่อไทยก้าวเข้ามาทำหน้าที่รัฐบาลก็มีเหตุการณ์และข่าวด้านลบเกี่ยวกับวงการทหารเพิ่มมากขึ้น ทั้งการติดสินบนเพื่อเลี่ยงการเกณฑ์ทหาร หรือทหารชั้นผู้น้อยถูกใช้งานเกินหน้าที่ จิรายุเชื่อว่าในช่วงเวลาที่สื่อมวลชนถูกปกครองโดยรัฐบาลทหาร คสช. มาตลอดหลายปีที่ผ่านมา ทำให้ทุกสิ่งที่ดำมืดเกี่ยวกับวงการทหารถูกฝังกลบซุกไว้ใต้พรม ไม่มีใครกล้าทำข่าวถึงประเด็นเหล่านี้มากเท่าไหร่นัก แต่พอเป็นยุครัฐบาลพลเรือนอย่างเพื่อไทยก็เป็นธรรมดาที่เรื่องเหล่านี้จะเริ่มเผยออกมา ซึ่งเขามองว่าเป็นเรื่องปกติที่มีทุกอาชีพทุกวงการ

“การอยู่ในประเทศนี้ มีคนให้ย่อมมีคนรับ แต่สำหรับคนที่ไม่อยากให้ลูกเกณฑ์ทหาร อยู่ๆ สัสดีจะบอกว่าใครไม่อยากเกณฑ์ทหารให้มาหาผม จ่าย 3 หมื่น 5 หมื่นแล้วผมทำให้…แบบนี้ไม่มีนะ ส่วนใหญ่พ่อแม่เป็นคนเดินเข้าไปเสนอ มีการทำอย่างเป็นกระบวนการ แต่ปัจจุบันลดน้อยลง เพราะมีการคาดโทษสัสดี ถ้าจับได้ไล่ออกติดคุกเลย”

เรื่องการติดสินบนเพื่อไม่ต้องไปเกณฑ์ทหารเขามองว่าก็พบว่ามีอยู่จริง แต่ ณ ตอนนี้เท่าที่รายงานเข้ามาทางกระทรวงก็ยังไม่พบการติดสินบนเกิดขึ้น และคาดว่าจะเริ่มลดน้อยลง เนื่องจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม สุทิน คลังแสง ก็ได้ออกกฎเข้มในการประชุมที่ผ่านมาก่อนการเกณฑ์ทหารในวันที่ 1 เมษายน 2567 นี้ว่า หากพบจะคาดโทษไล่ออกทันที

ส่วนประเด็นเรื่องการใช้งานทหารชั้นผู้น้อยเกินกว่าหน้าที่ จิรายุกล่าวว่า “ที่จริงแล้วตำรวจไปถือกระเป๋าให้นายก็มี ลูกน้องปลัดกระทรวง-อธิบดีก็เยอะที่ทำแบบนี้ อยู่ที่ว่าหัวหน้าดูแลเขาดีไหม ไปใช้ให้เขาซักกางเกงในแล้วเคยดูแลเขาบ้างไหม บางคนอาจจะอยากซักกางเกงในอยู่บ้านนายก็ได้ ทหารฝึกหนักสามเดือนแล้วต้องไปประจำตามกรมกองต่างๆ โชคร้ายหน่อยก็ไปถือปืนตบยุงตามชายแดน ถามว่าถ้าเขาเลือกได้ เขาก็ไปอยู่บ้านนายนะ กฎหมายก็ไม่ได้เขียนว่าไปอยู่บ้านนายแล้วให้ไปซักกางเกงในหรือถือกระเป๋าให้คุณนาย แต่ถ้าเจ้านายใช้ ลูกน้องก็ทำ แล้วเจ้านายดูแลลูกน้องดีหรือเปล่า ทหารอเมริกันยังต้องตัดหญ้าเลย ถ้าผมเป็นทหารเกณฑ์ผมเลือกไปอยู่บ้านนาย ขับรถให้นายนะ จะให้ไปยืนเฝ้าชายแดนเหรอ ปัญหาอยู่ที่นาย ไม่ได้อยู่ที่ลูกน้อง”

เพื่อไทยกับนโยบายเปลี่ยนระบบเกณฑ์ทหารเป็นระบบสมัครใจ

จิรายุมองว่า การยกเลิกระบบเกณฑ์ทหารนั้นไม่สามารถทำได้ในทันที จะต้องค่อยๆ ลดจำนวนลงไปควบคู่กับการจูงใจให้คนอยากสมัครทหารอาชีพมากขึ้นไปพร้อมกัน เนื่องจากในแต่ละปีจะมีเพดานจำนวนทหารเกณฑ์ที่สามารถรับได้ปีละประมาณ 2 แสนคน แต่ว่าจำนวนตัวเลขจริงขึ้นอยู่กับความต้องการในแต่ละปีที่ไม่เท่ากันขึ้นอยู่กับสถานการณ์ความมั่นคง อย่างในปีนี้มีความต้องการเพียง 8.5 หมื่นคนเท่านั้น และหลังจากเปิดรับสมัครผ่านทางออนไลน์ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม – 31 มีนาคม 2567 มีผู้มาสมัครทหารจำนวนกว่า 3 หมื่นกว่าคน แต่ทั้งนี้ยังต้องคัดเลือกผู้ที่มีคุณสมบัติผ่านเกณฑ์อีกทีซึ่งอาจทำให้จำนวนลดลงไปอีกได้

อย่างไรก็ตาม จำนวนผู้สมัครใจเป็นทหารก็ยังไม่ได้มากพอกับความต้องการ ส่งผลให้ต้องพึ่งพาการเกณฑ์ทหารอยู่ จิรายุมองว่าสาเหตุที่ส่งผลให้คนไม่ค่อยเข้าสมัครกัน อาจเป็นเพราะเรื่องของความไว้วางใจจากปัญหาอื้อฉาวที่เกิดขึ้นในวงการทหารมาโดยตลอด โดยเขากล่าวว่าการแก้ไขปัญหา ประการแรก ต้องเน้นการสร้างความเชื่อมั่นให้กับคนที่เข้าไปเกณฑ์ทหาร และประการที่สอง ต้องเน้นการสร้างสวัสดิการเพิ่มเติม

ในการสร้างความเชื่อมั่นนั้น จิรายุเน้นว่าทำได้โดยวิธีการบอกปากต่อปากกันไปถึงสิ่งที่กองทัพมีการปรับปรุงในยุคนี้

“เราจะต้องทำให้คนกลุ่มที่เข้าไปเกณฑ์ทหารมั่นใจว่าจะได้รับสิทธิประโยชน์ต่างๆ และออกมาบอกต่อๆ กันไป แค่ปีแรกที่พรรคเพื่อไทยเข้ามาทำนี้มีคนสมัครใจเป็นทหารเกือบ 4 หมื่นคนแล้ว ถ้าเรายิ่งทำดีขึ้น ปีต่อๆ ไป อาจจะไม่ต้องเกณฑ์ทหารอีกเลยก็ได้”

นอกจากนี้ประเด็นเรื่องความปลอดภัยในการฝึก จิรายุก็เน้นไปที่การสร้างความเข้าใจว่า การฝึกต้องอยู่ในจุดที่สมดุล หมายถึงฝึกหนักเพียงพอต่อการเป็นทหารปกป้องประเทศได้ แต่ก็ยังอยู่ภายใต้บรรทัดฐานการฝึกเช่นเดียวกันกับทั่วโลกอย่าง UN และ NATO ว่ามีการฝึกซ้อมอย่างไร เขาเชื่อว่าสำหรับไทย ข้อผิดพลาดอาจจะเกิดขึ้นบ้างในการฝึก แต่ก็ไม่น่าเกิน 0.02 เปอร์เซ็นต์ ที่จะเกิดเหตุการณ์เหล่านั้น

หากมาดูในส่วนของการสร้างสวัสดิการเพิ่มเติม จิรายุได้กล่าวถึงสวัสดิการที่จะได้รับเมื่อเข้ามาเป็นทหารเกณฑ์ว่า “ถ้าเข้ามาแล้วมีสวัสดิการมากมายที่จะได้รับที่เพิ่งจะเกิดขึ้นในรัฐบาลนี้” ประการแรก เมื่อเข้าไปแล้วก็สามารถเรียน กศน. สารพัดช่าง หรือมหาวิทยาลัยได้ ประการที่สอง เมื่อจบมามีสิทธิสอบนายสิบของทั้งทางทหารและตำรวจต่อได้ ประการที่สาม เมื่อปลดประจำการแล้วควรได้รับการเชิดชูเกียรติ เช่น มีสวัสดิการให้บิดามารดา มีเครื่องราชอิสริยาภรณ์หรือธงชัยเฉลิมพลได้ไหม เพื่อเชิดชูที่ได้ทำงานรับใช้ชาติ

ซึ่งดูเหมือนว่าการจะยกเลิกการเกณฑ์ทหารในอนาคตได้หรือไม่นั้นขึ้นอยู่กับว่ากระทรวงกลาโหมภายใต้การบริหารของยุคพรรคเพื่อไทยจะสร้างสวัสดิการและประโยชน์ที่ตอบโจทย์เพียงพอจูงใจให้เหล่าชายไทยต้องการมาเป็นทหารโดยสมัครใจได้มากน้อยเพียงใด เพื่อที่ในอนาคตจะสามารถดึงดูดให้คนสมัครมาเป็นทหารเพียงพอต่อความต้องการของกองทัพและไม่จำเป็นต้องพึ่งพาการเกณฑ์ทหารอีกต่อไป

เพื่อไทยปฏิรูปอะไรไปแล้วบ้าง?

ส่วนประเด็นเรื่องการปฏิรูปกองทัพ แม้จะถูกตั้งคำถามอย่างมากว่ายังไม่เห็นการเปลี่ยนแปลงอย่างเป็นรูปธรรมเท่าไหร่นัก ในนโยบายที่ทางพรรคเพื่อไทยได้หาเสียงเอาไว้อย่างหนักแน่น ทั้งเรื่องการยกเลิกเกณฑ์ทหารที่ก็ดูเหมือนว่าจะยังไม่สามารถยกเลิกได้จริง และยังต้องค่อยๆ ลดจำนวนลงอย่างเป็นขั้นตอนไป รวมถึงนโยบายการปฏิรูปกองทัพที่ก็ยังไม่เห็นภาพชัดเจนเท่าไหร่นัก แต่จิรายุมีมุมมองต่อประเด็นนี้ว่า “ตอนนี้เพื่อไทยทำมากกว่าคำว่าปฏิรูปไปแล้ว” โดยโครงการที่เริ่มทำไปแล้วได้แก่

ประการแรก โครงการลดนายพล ได้ตั้งเป้าหมายปรับลดจำนวนนายพลจาก 2 พันกว่าคนให้เหลือ 1,300 คนตามความต้องการของแต่ละสังกัดที่แท้จริง ภายในปี 2570 – 2571 โดยแบ่งเป็นสองกลุ่ม กลุ่มแรกคือกลุ่มนายพลที่เกินความต้องการจะทำเป็นโครงการเกษียณก่อนกำหนด และกลุ่มที่สองคือพันเอกก็จะปรับย้ายเป็นพันเอกพิเศษแทน

ประการที่สอง โครงการหนองวัวซอ นำที่ดินของกองทัพบกให้กับพี่น้องประชาชนเพื่อใช้ทำประโยชน์หาเลี้ยงชีพได้

ประการที่สาม สร้างสวัสดิการต่างๆ ให้กับทหาร เช่น การสร้างสนามกอล์ฟ สนามมวย

ประการที่สี่ ถ่ายโอนธุรกิจกองทัพคืน โดยหนึ่งในนั้นได้แก่ การให้กองทัพเรือคืนสัมปทานการไฟฟ้ากลับคืนสู่การไฟฟ้า แต่อย่างไรก็ตาม กรณีโทรทัศน์และวิทยุช่อง 5 ของกองทัพ แม้อาจจะไม่ได้เรียกคืน แต่ก็ปรับเปลี่ยนรูปแบบรายการให้เน้นเป็นช่องทางประกาศข่าวสารสำคัญของประเทศเกี่ยวกับภัยพิบัติ นอกจากนี้ยังปรับรายการให้มีประโยชน์ต่อประชาชนมากขึ้น เพื่อให้คล้ายกันกับกรณีของ Thai PBS ที่ก็ได้รับเงินจากทางส่วนกลางเหมือนกัน

ประการที่ห้า การลดงบการจัดซื้อยุทโธปกรณ์ ลดสเป็กอุปกรณ์ลง เน้นการใช้วัสดุจากภายในประเทศทดแทนเพื่อลดต้นทุนของสินค้า

นอกจากนี้กองทัพยังปรับตัวให้ทันต่อโลกมากยิ่งขึ้น จิรายุกล่าวว่ากองทัพมีการก่อตั้งแผนกอวกาศเพิ่มเติมขึ้นมาโดยขึ้นตรงกับกองทัพไทยและกองทัพอากาศไทยร่วมกัน เขากล่าวว่ากองทัพนั้นก็ยังมีความสำคัญอยู่ไม่สามารถยกเลิกหมดไปเลยได้ เพราะในแง่ของความปลอดภัยและมั่นคงในระดับประเทศก็ยังคงต้องพึ่งพาทหารและกองทัพอยู่เช่นกัน อย่างที่ทั่วโลกมีกองกำลังความมั่นคงแห่งชาติอยู่ เพียงแต่ว่าในกรณีของไทยก็อาจจะต้องปรับให้กระฉับกระเฉงตามทันโลกให้มากขึ้น และปรับตัวให้เป็นงานบริการเพื่อให้เป็นประโยชน์กับประชาชนมากยิ่งขึ้น เช่น การช่วยเหลือในส่วนของอุปกรณ์เพื่อการกู้ภัยหรือเมื่อเกิดภัยพิบัติต่างๆ

ทั้งหมดนี้เป็นเพียงแค่ส่วนหนึ่งที่จิรายุยกตัวอย่างขึ้นมาถึงผลงานของการปฏิรูปกองทัพของรัฐบาลเพื่อไทยในช่วงเวลาทำงานกว่า 6-7 เดือนที่ผ่านมา

“ปฏิรูปคือทำให้ดีขึ้น พัฒนาก็คือการทำให้ดีขึ้น ไม่ว่าจะคำไหนขอให้ดูที่เนื้องานดีกว่า ที่ผ่านมาเราทำงานกับกองทัพแบบเราให้เกียรติเขา เขาให้เกียรติเรา จะมาติดใจอะไรกับคำว่าปฏิรูป”

จิรายุมองว่าช่วงนี้เป็นการทำงานปีแรกของรัฐบาลพลเรือนหลังจาก คสช. ซึ่งสิ่งที่เกิดขึ้นถือว่าทำงานพัฒนากองทัพได้เยอะมากแล้ว ขอให้ทุกคนมองอย่างเป็นกลางและเปิดใจว่าบางเรื่องอาจจะต้องค่อยๆ ปรับเปลี่ยนกันไป เพราะพรรคเพื่อไทยก็เน้นการทำงานอย่างให้เกียรติกองทัพและประชาชน โดยจะเน้นพัฒนาแนวทางร่วมกันตรงกลาง เช่นที่มีการแต่งตั้งให้เขาซึ่งเป็นพลเรือนมาเป็นโฆษกกระทรวงกลาโหมอีกหนึ่งคนควบคู่กับโฆษกของเหล่าทัพอย่างเดิม ก็เป็นไปเพื่อประสานงานให้เกิดความเข้าใจที่ตรงกันระหว่างภาคประชาชนและทหารให้มากยิ่งขึ้นและพัฒนาได้อย่างตรงจุดไปพร้อมกัน

MOST READ

Thai Politics

3 May 2023

แดง เหลือง ส้ม ฟ้า ชมพู: ว่าด้วยสีในงานออกแบบของพรรคการเมืองไทย  

คอลัมน์ ‘สารกันเบื่อ’ เดือนนี้ เอกศาสตร์ สรรพช่าง เขียนถึง การหยิบ ‘สี’ เข้ามาใช้สื่อสาร (หรืออาจจะไม่สื่อสาร?) ของพรรคการเมืองต่างๆ ในสนามการเมือง

เอกศาสตร์ สรรพช่าง

3 May 2023

Politics

23 Feb 2023

จากสู้บนถนน สู่คนในสภา: 4 ปีชีวิตนักการเมืองของอมรัตน์ โชคปมิตต์กุล

101 ชวนอมรัตน์สนทนาว่าด้วยข้อเรียกร้องจากนอกสภาฯ ถึงการถกเถียงในสภาฯ โจทย์การเมืองของก้าวไกลในการเลือกตั้ง บทเรียนในการทำงานการเมืองกว่า 4 ปี คอขวดของการพัฒนาสังคมไทย และบทบาทในอนาคตของเธอในการเมืองไทย

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

23 Feb 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save