fbpx

จากหนังนักปฏิวัติมาจนถึงพรรคการเมืองไทย ฌ็อง-ลุก โกดาด์ ในสายตาของ ปิยบุตร แสงกนกกุล

กลางคริสต์ทศวรรษ 1960 ท่ามกลางโมงยามแห่งการปฏิวัติอันร้อนแรง กลุ่มนักศึกษาชาวฝรั่งเศสมารวมตัวกันศึกษาทฤษฎีคอมมิวนิสต์ เวโรนิก (แอนน์ เวียเซมสกี) กับ กีโญม (ฌ็อง-ปีแยร์ เลโอ) มักถกกันเรื่องความรุนแรงและการปฏิวัติเสมอ ขณะที่ อีวอนน์ (ฌูเลียต แบร์โต) เป็นหญิงสาวจากชานเมืองที่ต้องไปเป็นโสเภณีเพื่อหาเงินมาจุนเจือเพื่อนๆ ร่วมอุดมการณ์ ตลอดทั้งเรื่อง เธอมักรับหน้าที่เก็บกวาดและทำงานบ้านโดยไม่ได้พัก ขณะที่เพื่อนคนอื่นๆ นั้นมักใช้เวลาถกกันเรื่องการปฏิวัติในรัสเซียและการเรืองอำนาจของลัทธิเหมา

La Chinoise​ (1967) เป็นหนึ่งในหนังยาวของ ฌ็อง-ลุก โกดาด์ (Jean-Luc Godard) ที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่า ‘การเมือง’ ข้นคลั่ก ทั้งยังสะท้อนวิธีคิดแสนซ้ายทางการเมืองของเขาด้วย สำหรับโกดาด์ เขาแจ้งเกิดในฐานะคนทำหนังจาก Breathless (1960) และได้รับการยกย่องให้เป็นหนึ่งในหนึ่งในหัวขบวน French New Wave หรือหรือกลุ่มคนทำหนังคลื่นลูกใหม่ของฝรั่งเศสที่ส่งอิทธิพลต่อโลกภาพยนตร์มากที่สุดกลุ่มหนึ่ง รวมกันกับคนทำหนังร่วมยุคสมัยในเวลานั้นอย่าง ฟร็องซัวส์ ทรุฟโฟต์ (François Truffaut), อานเญส วาร์ดา (Agnes Varda), คล็อด ชาโบรล (Claude Chabrol), เอริก โรห์แมร์ (Éric Rohmer) ฯลฯ

โดยโกดาด์ทำหนังที่ถือเป็น ‘ตำรา’ ของคนทำหนังในเวลาต่อมาอีกหลายเรื่อง เช่น Le petit soldat (1963), Pierrot the Fool (1965) รวมทั้ง La Chinoise​ ที่ทันทีที่ออกฉาย มันก็ถูกขนานนามว่าเป็นหนัง ‘เสียงแตก’ เพราะถูกวิจารณ์หนักมือทั้งจากคนฝั่งขวาและฝั่งซ้ายในเวลานั้น ทั้งนี้ ตัวหนังได้รับอิทธิพลมาจาก Demons (1872) งานวรรณกรรมเลื่องชื่อของ ฟิโอดอร์ ดอสโตเยฟสกี (Fyodor Dostoevsky) นักเขียนชาวรัสเซีย โดยในหนังสือว่าด้วยคนห้าคนที่มีอุดมการณ์ทางการเมืองคนละแบบ รวมหัวกันคิดหาวิธีโค่นล้มจักรวรรดิรัสเซียและนำมาซึ่งการถกเถียงเชิงปรัชญาการเมืองครั้งใหญ่

ในวาระที่ Doc Club & Pub. นำภาพยนตร์ La Chinoise มาฉาย และมีการจัดกิจกรรมเสวนาว่าด้วยโกดาด์กับการเมืองโดย ปิยบุตร แสงกนกกุล นักวิชาการอิสระ 101 จึงเก็บประเด็นการเสวนาที่ว่าด้วยการเมืองและการเคลื่อนไหวในฝรั่งเศส -ซึ่งดูจะยังร่วมสมัยอยู่ในเวลานี้

หมายเหตุ: เรียบเรียงเนื้อหาจากงานเสวนา จัดขึ้นโดย Doc Club & Pub. เมื่อวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2024

ปิยบุตรเริ่มต้นด้วยการอธิบายถึงบรรยากาศทางการเมืองภาพใหญ่ในฝรั่งเศสยุค 1960s ว่า เต็มไปด้วยกลุ่มเยาวชนผู้หวังเปลี่ยนแปลงสังคม ซึ่งได้รับอิทธิพลมาจาก หลุยส์ อัลธูแซร์ (Louis Althusser -นักปรัชญาชาวฝรั่งเศส เป็นหนึ่งในลัทธิมาร์กซ์คนสำคัญ) ทว่า ก็เป็นช่วงเวลาแห่งความสับสน ภายหลังความล้มเหลวของลัทธิสตาลินในยุโรปหลายๆ ประเทศ คนหนุ่มสาวจากขบวนการคอมมิวนิสต์ในฝรั่งเศสเองก็เริ่มมองหาธงใหม่ๆ ให้ยึด เพราะต่างรู้สึกว่าแนวทางของพรรคคอมมิวนิสต์แบบฝรั่งเศสหรือแม้แต่รัสเซียเองก็ดี ไม่อาจนำพาพวกเขาไปสู่ความสำเร็จได้ ประกอบกับภาวะภายในของตัวพรรคที่ประสบปัญหาอยู่เองไม่น้อย

“ยุคนั้นพรรคคอมมิวนิสต์ถูกมองว่าไม่คิดงานเชิงทฤษฎีและเอาแต่ทำงานรายวัน เหล่านักคิดหลายๆ คนจึงเริ่มถอนตัวออกจากพรรคและรับแนวคิดแบบลัทธิเหมาแทน” ปิยบุตรกล่าว “แน่ล่ะว่าหากเรามองด้วยสายตาปัจจุบัน พวกเราคงมองว่าคนเหล่านี้ ‘เบียวคอมมี่’ เพราะเวลานี้เราเห็นหมดแล้วว่าทุกอย่างมันล้มเหลว ไม่ประสบความสำเร็จ ก่อให้เกิดความรุนแรง แต่ถ้าเรามองกลับเข้าไปในยุคนั้นก็จะพบว่ามันเป็นกระแสจริงๆ การสมาทานลัทธิเหมาคือความเท่อย่างหนึ่ง” โดยเขาขยายความต่อว่า ภายหลังความล้มเหลวของลัทธิสตาลินในยุโรป ทำให้คนหนุ่มสาวเหล่านี้หันไปให้ความหวังกับการปฏิวัติและเคลื่อนไหวในอีกซีกโลกหนึ่ง -อย่างประเทศจีนกับคิวบา- มากกว่า

กล่าวสำหรับตัวโกดาด์ เขาแสดงความสนใจเรื่องการเมืองผ่านภาพยนตร์อยู่เสมอ อันจะเห็นได้จาก The Little Soldier (1963) หนังยาวเรื่องแรกๆ ของเขาที่ว่าด้วยคู่รักหนุ่มสาวในสงครามแอลจีเรีย, Les carabiniers (1963) คนตัวเล็กตัวน้อยที่ถูกทำให้เชื่อว่าพวกเขาจะมีชีวิตที่ดีกว่าได้ด้วยการกระโจนลงสงคราม โกดาด์เริ่มทำหนัง La chinoise ในขวบปีเดียวกับที่เริ่มคบหากับ แอนน์ เวียเซมสกี (Anne Wiazemsky) นักแสดงนำของเรื่องผู้รับบทเป็นเวโรนิก ตัวเวียเซมสกีเป็นนักศึกษาที่มหาวิทยาลัยปารีส นองแตร์ ซึ่งในเวลานั้นเป็นที่ ‘รวมดาว’ ของฝ่ายซ้ายในฝรั่งเศส รวมทั้ง ฌ็อง-ปิแอร์ร โกแรงต์ (Jean-Pierre Gorin) คนทำหนังชาวฝรั่งเศสร่วมรุ่นกับโกดาด์ ตัวโกแรงต์นั้นเป็นหนึ่งในลูกศิษย์ของอัลธูแซร์, มิเชล ฟูโกต์ (Michel Foucault -นักปรัชญาและนักประวัติศาสตร์ชาวฝรั่งเศส) และ ฌาคส์ ลากอง (Jacques Lacan -นักปรัชญาและนักจิตวิเคราะห์ชาวฝรั่งเศส) ทำให้เมื่อโกดาด์ได้รู้จักและสนิทสนมกับโกแรงต์ เขาก็รับเอาแนวคิดฝั่งซ้ายมาด้วย โดยหลังจากนั้น ทั้งคู่และคนทำหนังในยุคต้นคริสต์ทศวรรษ 1970 ร่วมกันก่อตั้งโปรเจ็กต์ Dziga Vertov Group -ซึ่งตั้งตามชื่อของ ซิกา เวอร์ตอฟ (Dziga Vertov) คนทำหนังชาวโซเวียต- ทำหนังที่ว่าด้วยแนวคิดแบบมาร์กซิสม์ เช่น Le Vent d’est (1970) และ Vladimir et Rosa (1971)

ฌ็อง-ลุก โกดาด์ (ที่มาภาพ)

“ช่วงนั้นการทำหนังถูกมองว่าเป็นการเมืองไปหมดเลย คนอยากทำหนังที่ว่าด้วยการเมืองล้วนๆ และกระบวนการทำหนังก็ต้องเป็นการเมืองด้วย คือไม่มีสถานการณ์ที่ผู้กำกับจะมาชี้สิทธิเด็ดขาดว่าอะไรควรเป็นอะไรอีกต่อไป ทุกอย่างต้องผ่านการให้คะแนนเสียงเห็นชอบจากทุกฝ่าย แต่แน่นอนว่าก็ไปไม่รอดหรอก” ปิยบุตรหัวเราะ

ทั้งนี้ ปิยบุตรชี้ให้เห็นหนึ่งในฉากสำคัญของหนัง เมื่อตัวละครกีโญมสวมแว่นตาที่แทนที่เลนส์สายตาด้วยธงของแต่ละประเทศที่มีบทบาทในสงครามเวียดนาม เพื่อเสียดสีท่าทีของเหล่ามหาอำนาจต่อความขัดแย้งและแบ่งขั้วของอุดมการณ์ทางการเมืองโลกในเวลานั้น ที่ไม่ใช่แค่อุดมการณ์เสรีนิยม แต่ยังหมายถึงอุดมการณ์คอมมิวนิสต์ที่แตกแขนงแบ่งแยกไปอีกหลายสาย “ตัวละครบอกว่า คอมมิวนิสต์นั้นมีทั้งคอมมิวนิสต์ที่ดีและคอมมิวนิสต์ที่ไม่ดี แต่ผมคิดว่า หนังพยายามวิพากษ์วิจารณ์ท่าทีของประเทศคอมมิวนิสต์ในเวลานั้นที่ไม่มีใครช่วยเวียดนามเลยมากกว่า” เขากล่าว

สำหรับปิยบุตร เขาพินิจว่า La Chinoise เป็นเสมือน ‘การผจญภัยทางปัญญาของโกดาด์’ ที่วางตัวเป็นคนทำหนังที่มีพันธะผูกพันทางการเมืองและรู้สึกว่าตัวเองมีภารกิจทางการเมืองบางอย่างที่ต้องบรรลุให้ได้ ฉากที่แสดงให้เห็นถึงการผจญภัยแลกเปลี่ยนทางความคิดที่ชัดเจนที่สุด คือฉากที่ตัวละครเวโรนิกสนทนากับอาจารย์มหาวิทยาลัย ฟรองซิส ฌ็องซอง (Francis Jeanson -นักเคลื่อนไหวชาวฝรั่งเศส) ที่มารับเชิญในหนังด้วย โดยเวโรนิกพยายามโน้มน้าวอาจารย์ให้สร้างการเปลี่ยนแปลงด้วยการระเบิดมหาวิทยาลัยทิ้ง (!!) และแลกเปลี่ยนเรื่องการปฏิวัติกันยาวเหยียด

“สมัยนั้น คนดูหลายคนก็แซวกันว่า ประโยคต่างๆ ของเวโรนิกนั้นมาจากโกดาด์นั่นแหละที่เป็นคนป้อนให้เธอพูด ดังนั้น ก็อาจจะมองได้ว่าการถกเถียงบนรถไฟดังกล่าวเป็นการถกเถียงกันระหว่างโกดาด์กับฌ็องซอง และมันอาจชวนคิดต่อไปได้ถึงประเด็นที่ว่า สุดท้ายเราควรสมาทานอุดมการณ์ทางการเมืองแบบไหน แล้วการทำหนังล่ะเป็นการต่อสู้ทางการเมืองไหม” ปิยบุตรกล่าว

ปิยบุตรขยายความว่า ช่วงเวลาท้ายๆ ของชีวิตโกดาด์ มีคนถามเขาว่า “อะไรคือหนังการเมือง” โดยในเวลานั้น หนังสารคดีการเมืองฝรั่งเศสเรื่อง Merci patron! (2016) เพิ่งออกฉายและได้รับคำวิจารณ์ดีเยี่ยมจากสื่อหลายๆ สำนัก หนังกำกับโดย ฟรองซัวส์ รูฟแฟ็ง (François Ruffin -คนทำหนังและนักเคลื่อนไหวทางการเมืองชาวฝรั่งเศส) ว่าด้วยความวายป่วงของนักข่าวที่ประท้วงบริษัทยักษ์ใหญ่ซึ่งไล่คนออกอย่างไม่เป็นธรรมด้วยวิธีการแสบสันสารพัด ทว่า สำหรับโกดาด์ หนังเรื่องเยี่ยมชิ้นนี้ของรูฟแฟ็งก็ยังไม่ใช่หนังการเมืองสำหรับเขา

“เพราะว่าสำหรับโกดาด์ หนังการเมืองคือการได้ลงพื้นที่ ได้ไปเห็นผู้คน ไปถ่ายทำโดยปราศจากการคิดคำนวณล่วงหน้าไว้ก่อน” ปิยบุตรสาธยาย “และสำหรับโกดาด์ หนังของรูฟแฟ็งนั้นเต็มไปด้วยการคาดการณ์สิ่งต่างๆ ก่อนหน้าการถ่ายทำไว้หมดแล้ว มันจึงยังไม่ใช่หนังการเมืองโดยแท้จริง

“โกดาด์ยังอ้างอิงคำพูดของ โคลด์ เลอฟอร์ต (Claude Lefort -นักปรัชญาชาวฝรั่งเศส) ที่บอกว่า ประชาธิปไตยสมัยใหม่คือการทำการเมืองแบบแบ่งแยกเป็นส่วนๆ อันเป็นระยะหนึ่งก่อนจะกลายเป็นเผด็จการแบบเบ็ดเสร็จ ซึ่งมนุษยชาติกำลังเดินหน้าไปทางนั้น”

อย่างไรก็ตาม ภายหลังจากออกฉาย La Chinoise ถูกวิพากษ์วิจารณ์จากทุกสารทิศ ฝั่งขวามองว่ามันเป็นหนังของคนที่ ‘เบียวคอมมิวนิสต์’ ขณะที่ฝั่งซ้ายพินิจว่ามันเป็นหนังของกลุ่ม ‘ลัทธิแก้’ (revisionism -การวิพากษ์วิจารณ์ลัทธิมาร์กซ์ มีนัยยะของการกล่าวหาว่าฝักใฝ่กระฎุมพี) หรือคนหนุ่มสาวที่เป็นฝั่งซ้ายก็มองว่าหนังเรื่องนี้ของโกดาด์ใช้ไม่ได้ กระนั้น หนึ่งปีให้หลังที่หนังออกฉาย ฝรั่งเศสเกิดการชุมนุมใหญ่ที่เรียกกันว่าเหตุการณ์ปฏิวัติพฤษภา 1968 (May 68) เมื่อนักศึกษารวมตัวกันประท้วงรัฐบาลแล้วขยับขยายกลายเป็นการชุมนุมใหญ่ที่มีประชาชนเข้าร่วมนับพันชีวิต ข้อความจาก La Chinoise (ที่ด้านหนึ่งก็ยกอ้างมาจากหนังสือปรัชญา-ทฤษฎีการเมืองอีกทีหนึ่ง) ถูกหยิบมาใช้เป็นข้อความเพื่อประท้วงภาครัฐหรือแม้แต่ใช้เป็นคำขวัญของการชุมนุมอยู่บ่อยครั้ง

“ผมสนใจที่หนังพยายามพูดเรื่องชนชั้น ยกตัวอย่างฉากที่ตัวละครมารวมตัวกันในห้องเรียน หนังตัดต่อด้วยการแบ่งออกเป็นสามฉาก ได้แก่ ผู้บรรยาย, ผู้ฟังและอีวอน ซึ่งเราจะพบว่าเธอยืนขัดรองเท้าอยู่เพียงคนเดียวเสมอ” ปิยบุตรตั้งข้อสังเกต “อีวอนเล่าตั้งแต่ต้นเรื่องว่าเธอเป็นลูกหลานชาวนา เธอไม่ค่อยเข้าใจทฤษฎีต่างๆ ขณะที่พวกลูกคนรวยอย่างกีโญมและเวโรนิกนั่งถกกันเรื่องปรัชญาทางการเมือง หน้าที่ของอีวอนคือการล้างจาน ขัดรองเท้า และถ้าหนังสือปกแดงขายไม่ออกจนไม่มีเงินมาจุนเจือ เธอก็ต้องออกไปเป็นโสเภณี ผมดูจบแล้วก็มานึกว่า เวลาปัญญาชนเสวนา พูดคุยกันก็มักกีดกันคนอื่นออกไปเหมือนกัน

“สิ่งนี้ทำให้ผมนึกถึงองค์กรตัวเองซึ่งมีบางสิ่งที่ผมรู้สึกมานานแล้ว และที่จะกล่าวต่อไปนี้ผมก็ไม่ได้เหยียดหรือยกย่องสถาบันการศึกษาไหน แต่เวลามีงานต่างๆ ผมคิดว่าเด็กที่มาจากมหาวิทยาลัยบางแห่ง เช่น จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยหรือมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มักทำงานที่ไม่ค่อยออกแรง กล่าวคือมีลักษณะเป็นนักคิด ขณะที่งานเก็บโต๊ะเก็บเก้าอี้นั้นดูจะเป็นหน้าที่ของคนที่มาจากสถาบันอื่น หรือวิธีคิดที่ว่า ผู้หญิงต้องไปทำหน้าที่บัญชีหรือทำหน้าที่จัดการ ขณะที่ผู้ชายมีหน้าที่ใช้สมอง ตอนดู La Chinoise จบแล้วผมนึกถึงประเด็นนี้ขึ้นมาทันทีเลย กล่าวคือเป็นการต่อสู้ที่มีเข็มมุ่งทางชนชั้น แต่ในองค์กรตัวเองก็กลับมีปัญหาต่อประเด็นเหล่านี้”

สำหรับปิยบุตร เขากล่าวว่าช่วงที่ตั้งพรรคอนาคตใหม่ เขาคาดหวังให้เป็นพรรคมวลชนที่มีอุดมการณ์ชี้นำ “แต่ผ่านมาแค่หนึ่งสมัย พรรคที่เติบโตขึ้นก็กลับไปหมกมุ่นกับภารกิจรายวันมากกว่าเดิม เช่น ต้องไปประชุมสภา คุยว่าใครควรลงคะแนนเสียงโหวตอย่างไร เลือกตั้งครั้งต่อไปจะทำแคมเปญแบบไหน ผมคิดว่าสิ่งสำคัญคือเราต้องกระตุ้นให้หาเข็มทิศตัวเองให้เจอ” ปิยบุตรกล่าว “ผมนึกถึงรัสเซียหลังยุค วลาดีเมียร์ เลนิน (Vladimir Lenin -นักปฏิวัติและนักการเมืองชาวรัสเซีย) ที่พรรคการเมืองกลายเป็นฟันเฟืองบางอย่าง ทำงานบริหารไปเรื่อยๆ ไม่คิดเรื่องเข็มมุ่งหรืออุดมการณ์พรรคอีกต่อไป”

ช่วงท้ายของหนัง ปิยบุตรชวนตั้งข้อสังเกตว่าตัวละครเวโรนิกพูดเสียงเบาๆ กับกล้องว่า “ช่วงฤดูร้อนของฉันนั้นไม่ใช่การก้าวกระโดดแบบการปฏิวัติ แต่เป็นอีกก้าวสั้นๆ เท่านั้น” โดยเขาพินิจพิเคราะห์ฉากนี้ว่า “ถ้าเรามองด้วยสายตาปัจจุบัน ก็คงคิดว่าเด็กพวกนี้ช่างเบียวคอมมิวนิสต์เหลือเกิน ทั้งยังเละเทะไม่เป็นท่า แต่ถ้ามองอีกแง่หนึ่ง ผมคิดว่านี่ก็เป็นอีกหนึ่งก้าวของการต่อสู้ระยะยาว เป็นก้าวเล็กๆ ของคนรุ่นใหม่ในการต่อสู้ทางการเมืองทั้งปวง” เขาปิดท้าย

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save