fbpx

‘หยุดยิง’ คือหนทางที่พาเรากลับออกจากนรก

เมื่อตอนที่ผมให้สัมภาษณ์สำนักข่าวการเงินในกรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 7 ตุลาคม ไม่กี่วันภายหลังการบุกสังหารและลักพาตัวชาวอิสราเอลของกลุ่มฮามาสนั้น มีคำถามถึงอนาคตของการคลี่คลายวิกฤตนี้ว่าจะทำอย่างไร จะมีการเจรจาต่อรองไหม ผมตอบว่าโดยทั่วไปความขัดแย้งระหว่างสองฝ่ายไม่ว่าจะรุนแรงแค่ไหน ในที่สุดจะต้องถึงจุดของการยุติการสู้รบที่รุนแรงหากไม่มีฝ่ายใดสามารถเอาชนะอีกฝ่ายหนึ่งได้อย่างเด็ดขาด

กรณีของวิกฤตรุนแรงระหว่างฮามาสกับอิสราเอลก็พอเห็นภาพจากสถานการณ์จริงว่าไม่มีทางที่ฝ่ายใดจะได้ชัยชนะเหนือคู่ต่อสู้อย่างเด็ดขาดในระยะเวลาอันสั้น แต่ที่จะเป็นปัจจัยชี้ขาดมากขึ้นคือภาพของการทำลายล้างตึกรามบ้านช่องอันแออัดและผู้คนนับล้านที่จะถูกสังหารและบาดเจ็บล้มตายไปทีละน้อย ภาพเหล่านี้ที่เลขาธิการสหประชาชาติเรียกว่าวิกฤตมนุษยธรรม (humanitarian crisis) คือแรงผลักดันให้คนทั้งโลกออกมาแสดงความเห็น ส่วนใหญ่ต่อต้านและคัดค้านพฤติการณ์อันโหดเหี้ยมของกองทหารอิสราเอลทั้งนั้น การชุมนุมของผู้ต่อต้านอิสราเอลนับพันในหลายเมืองใหญ่ของโลกก่อตัวขึ้น ที่ทำในระดับประเทศก็มีหลายประเทศในอดีตอาณานิคมของยุโรป โดยเฉพาะในละตินอเมริกาและแคริบเบียน เช่น เบลีซและโบลิเวียที่ตัดสัมพันธ์ทางการทูต ส่วนที่เหลือเรียกทูตกลับ ได้แก่ แอฟริกาใต้ โคลอมเบีย ชาด ชิลี จอร์แดน ตุรกีและฮอนดูรัส

การต่อสู้ทำนองนี้ที่คนปาเลสไตน์ในฉนวนกาซาและเขตเวสต์แบงก์ได้ทำการ ‘ต่อต้าน’ (resist) การปกครองและควบคุมบงการของอำนาจรัฐอิสราเอลดำเนินมานับทศวรรษ ไม่ใช่เรื่องใหม่ที่เพิ่งเกิดไม่กี่วันมานี้ ทุกครั้งกองกำลังอิสราเอลใช้พลานุภาพของอาวุธที่เหนือกว่าและทำลายได้สูงกว่ามากำราบปราบปราม ร่วมกับการใช้กำลังจับกุมและหนุนชาวบ้านที่เป็นพวก ‘ตั้งรกราก’ (settlers) ในเวสต์แบงก์ให้ใช้อาวุธเข่นฆ่าคนปาเลสไตน์ที่ไม่ยอมแพ้ ทั้งหมดนั้นโดยรวมเหมือนกับเป็นสงครามที่ไม่ประกาศแต่ยังจำกัดพื้นที่และบริเวณที่ถูกทำลายในระดับที่กฎหมายระหว่างประเทศยอมรับได้

ที่ผ่านมามีผู้เชี่ยวชาญให้นิยามสภาพการปกครองโดยรัฐบาลอิสราเอลต่อคนปาเลสไตน์ว่า เป็นระบบ apartheid หรือการปกครองที่เน้นการแบ่งแยกเหยียดหยามอัตลักษณ์ทางเชื้อชาติ ศาสนา สีผิว ภาษา โดยรวมคือการทำลายความเป็นคนของเขาให้หมดสิ้นไปด้วยกฎหมายของรัฐ รัฐที่มีชื่อโด่งดังในการทำเช่นนี้มาก่อนและถูกต่อต้านจากประเทศทั่วโลกจนต้องยอมยกเลิกไปคือแอฟริกาใต้สมัยที่อยู่ภายใต้การปกครองของรัฐบาลคนผิวขาว

ดังนั้นสภาพการณ์ที่เป็นอยู่เห็นได้ชัดว่าฮามาสไม่มีทางต่อสู้ตอบโต้อย่างจริงจังได้ ทางออกของพวกเขาคือการหยุดยิงและเจรจา แต่คำถามคืออิสราเอลอยากจะเข้าสู่การเจรจาไหม ผมตอบว่าอิสราเอลไม่อยากและไม่ต้องการเข้าสู่การเจรจา อย่างน้อยในระยะเฉพาะหน้านี้ที่คนอิสราเอลส่วนใหญ่กำลังมีอารมณ์โกรธแค้นอย่างแสนสาหัสต่อการกระทำของกลุ่มกำลังฮามาส แม้ต่อไปเมื่อเหตุการณ์คลี่คลายไปแล้วก็ตาม ผมก็ยังคิดว่ารัฐบาลอิสราเอลภายใต้นายเนทันยาฮูก็ไม่ต้องการเจรจากับฮามาสที่พวกเขาประณามว่าเป็นแค่กลุ่มก่อการร้ายเท่านั้น ที่สำคัญฐานะและการนำของนายกฯ เนทันยาฮูที่ผ่านมากำลังถูกต่อต้านจากคนอิสราเอลหัวเสรีนิยมจำนวนมหาศาล อนาคตทางการเมืองของนายเนทันยาฮูจึงไม่มีต่อไป ดังนั้นเหตุการณ์ฮามาสครั้งนี้จึงเป็นดังของขวัญจากซาตานที่ให้โอกาสเขาในการทำคะแนนเพื่ออยู่ในตำแหน่งต่อไป

อีกด้านหนึ่งผมคิดว่าฮามาสต้องการเจรจาหรือเข้าสู่การต่อรองอะไรก็ได้ เพราะในระยะยาวฝ่ายที่จะได้ผลลัพธ์จากการเจรจาจะได้แก่กลุ่มฮามาส ไม่ใช่อิสราเอล เพราะ ‘สงคราม’ ครั้งนี้ไม่ใช่การฆ่าสังหารฝ่ายตรงข้าม ซึ่งคือการทหาร หากแต่สำหรับฮามาสมันคือการต่อสู้ทางการเมืองที่มีจุดหมายอยู่ที่การปลดปล่อยชาวปาเลสไตน์จากอำนาจทรราชของอิสราเอล หากทำการต่อสู้ปะทะกันอย่างที่เห็นอยู่นี้ต่อไปทุกวันนับเดือนก็จะไม่ได้บรรลุจุดหมายทางการเมืองของการปลดปล่อย มีแต่ความเสียหายล้มตายของประชาชนเท่านั้น ดังนั้น การเปิดให้มีการเจรจาจึงเป็นสิ่งที่ฮามาสต้องการ ซึ่งจะทำได้ก็ต้องผ่านเงื่อนไขแรกก่อนคือการหยุดยิง ไม่ว่าจะหยุดชั่วคราวหรือถาวรก็ตาม ถึงจะทำให้เกิดการเข้าสู่การเจรจาของสองฝ่ายได้

ในอาทิตย์แรกไม่มีใครนึกออกว่าการหยุดยิงจะเกิดได้ เพราะกองกำลังอิสราเอลโหมกระหน่ำและโจมตีอย่างหนักทุกวัน เพื่อเตรียมสำหรับการรุกภาคพื้นดินเพื่อกำจัดกวาดล้างกำลังฮามาสให้หมดสิ้นไปจากแผ่นดินนี้ นายกรัฐมนตรีเนทันยาฮูออกมาประกาศกร้าวว่าไม่มีการเจรจาใดๆ ทั้งสิ้น กองทัพอิสราเอลมีจุดหมายเดียวคือกำจัดฮามาสให้สิ้นซาก แม้ว่าตั้งแต่วันแรกๆ ประธานาธิบดีโจ ไบเดนแห่งสหรัฐฯ พันธมิตรและผู้หนุนหลังใหญ่ของอิสราเอล จะกล่าวเตือนอย่างเบาๆ ว่าให้ระวังอย่าละเมิดกฎหมายระหว่างประเทศ คนที่แสดงออกมากกว่าคือนายแอนโทนี บลิงเคน รัฐมนตรีต่างประเทศ ที่แม้พูดเอาใจอิสราเอล แต่ก็แสดงให้เห็นว่าเขาก็ห่วงความรุนแรงที่จะมากเกินไป จนเมื่อเขาสามารถเจรจากับกาตาร์ในการหาทางยุติความรุนแรงหรือการยิงทำลายล้างนี้ได้ บลิงเคนจึงเริ่มออกมาพูดว่า การทำลายล้างในกาซา “ทำให้คนปาเลสไตน์ถูกฆ่ามากเกินไปแล้ว” ทั้งหมดเป็นการส่งสัญญาณของการหาทางให้การเริ่มเจรจาหยุดยิง

ไม่ใช่ความลับอะไรที่นักสังเกตการณ์จะมองออกว่า การเจรจาและยุติการรบนี้ต้องอาศัยการผลักดัน (กระทั่งเกลี้ยกล่อมหรือกดดัน) จากสหรัฐฯ นอกจากนี้แล้วไม่มีใครหรือปัจจัยอื่นใดจะทำให้รัฐบาลอิสราเอลยอมเจรจาเพื่อหยุดยิงได้ ในส่วนของทำเนียบขาว การทำให้วิกฤตขั้น ‘ฆ่าล้างเผ่าพันธุ์’ (genocide) ในกาซายุติหรือลดระดับความเลวร้ายไปกว่านี้ ย่อมเป็นผลดีทางการเมืองแก่โจ ไบเดนและพรรคเดโมแครตอย่างแน่นอน เพราะกระแสของคนอเมริกันที่รักความเป็นธรรมออกมาประท้วงรัฐบาลอิสราเอลเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ในขณะที่คะแนนเสียงของไบเดนก็หดหายไปมากขึ้น เพราะไม่มีประเด็นที่ดึงดูดคนระดับกลางที่มีการศึกษาได้มากนัก อเมริกาจึงรับเผือกร้อน ด้านหนึ่งต้องสนับสนุนและรักษายูเครนไม่ให้ตกเป็นฝ่ายแพ้ต่อการรุกเพื่อยึดครองของรัสเซีย และอนาคตของยุโรปทั้งหมด อีกด้านหนึ่งมาเจอปัญหาอิสราเอลกับปาเลสไตน์ที่ระเบิดขึ้นมาอย่างไม่มีปี่มีขลุ่ย เพื่อรักษาสถานการณ์โลกและดุลยภาพของมหาอำนาจโลก อเมริกาต้องรีบหาทางระงับและยุติวิกฤตในกาซาลงให้เร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้

นับจากวันแรกๆ ของการโจมตีกาซาโดยอิสราเอล กาตาร์รีบหาทางเจรจากับผู้แทนของฮามาส อิสราเอล และสหรัฐฯ เพื่อหาทางคลี่คลายความรุนแรงที่กำลังก่อตัวขึ้น กาตาร์เป็นฐานที่มั่นของแกนนำฮามาสและให้ความช่วยเหลือมาตลอด จึงมีน้ำหนักในการเจรจากับแกนนำฮามาส นับแต่แรกรัฐมนตรีต่างประเทศของกาตาร์ออกมาเสนอให้มีการเจรจาหยุดยิงและให้เริ่มการเจรจาเพื่อไปสู่ทางออก ‘สองรัฐ’ ที่ได้เคยทำกันมาก่อนแล้ว นั่นคือจุดยืนต่อปัญหาวิกฤตความรุนแรงในกาซาของแกนนำประเทศอาหรับ ซึ่งปัจจุบันแม้จะไม่สามารถเข้ามาแทรกแซงวิกฤตได้เหมือนก่อนหน้านี้อีกแล้ว แต่โดยพื้นฐานทางประวัติศาสตร์ อุดมการณ์ และอัตลักษณ์ของอาหรับ พวกเขาก็ยังยินดีจะร่วมหนทางการนำไปสู่สันติภาพถาวรในดินแดนนี้ ดังนั้นความพยายามริเริ่มของกาตาร์จึงค่อยๆ นำไปสู่การตอบรับในที่สุด การเจรจาครั้งแรกที่จะให้มีการระงับการหยุดยิงเป็นเวลาสี่วันก็ตกลงกันได้ แต่พอใกล้จะถึงวันระงับการยิง กองกำลังอิสราเอลก็เริ่มปฏิบัติการภาคพื้นดิน ด้วยการรุกคืบเข้าไปในพื้นที่แออัดของกาซาตอนเหนือ ที่คนนับล้านถูกบังคับให้อพยพออกไปยังทางใต้อย่างโกลาหลอลหม่าน ท่ามกลางกระสุนและระเบิดที่ยิงเข้าใส่ไม่หยุด

กองกำลังอิสราเอลวางแผนยุทธศาสตร์ในการกำจัดฮามาสในกาซาให้สิ้นซาก เริ่มจากการทิ้งระเบิดและยิงขีปนาวุธทำลายสิ่งก่อสร้างบนดินให้หมดไปให้มากที่สุด โดยหวังว่าจะไม่ให้กำลังฮามาสสามารถหลบซ่อนตัวในสถานที่เหล่านั้นได้อีกต่อไป หลังจากนั้นจึงใช้กำลังทหารราบเข้าเคลียร์พื้นที่อย่างละเอียดและคาดหวังว่าจะสามารถกำจัดหัวหน้าหรือนักรบฮามาสที่เป็นเป้าได้จำนวนหนึ่ง และจุดหมายอันเป็นความฝันสูงสุดคือการเข้าไปแย่งชิงคนที่ตกเป็นตัวประกันภายในอุโมงค์อันลึกลับภายใต้โรงพยาบาลอัลชิฟา ที่อิสราเอลเชื่อว่าเป็นศูนย์บัญชาการของฮามาส แต่ความฝันนั้นก็ไม่เป็นจริง แม้อิสราเอลยอมถูกประณามจากทั่วโลกในการยิงถล่มหวังทำลายโรงพยาบาลนั้นเพื่อพิชิตฮามาส แต่ก็ไม่พบอะไรที่เป็นหลักฐานตามที่พวกนั้นเชื่อ คิดว่าจุดนี้เองที่ทำให้รัฐบาลอิสราเอลต้องยอมรับให้มีการระงับการโจมตีครั้งแรกในที่สุด ด้วยการแลกตัวประกันคนอิสราเอลหนึ่งคนต่อนักโทษปาเลสไตน์สามคน และการระงับการโจมตีครั้งแรกให้มีระยะเวลาเพียง 4 วันเท่านั้น

คนที่เข้าไปจัดการเจรจาขั้นสุดท้ายคือนายบิล เบิร์นส์ ผู้อำนวยการสำนักข่าวกรองกลางสหรัฐฯ หรือ CIA เขาบินตรงเข้าไปพบกับนายกฯ เนทันยาฮูและเกลี้ยกล่อมให้ยอมรับการแลกเปลี่ยนตัวประกันกับเชลยศึก แล้วบินไปพบกับผู้แทนกาตาร์และผู้นำอาหรับที่เห็นด้วยกับแนวทางนี้ อเมริกายึดเอานายเนทันยาฮูเป็นหลักในการบีบให้รัฐบาลพรรคร่วมต้องยอมในการเจรจา แม้จะทำให้เนทันยาฮูตกอยู่ในสถานการณ์ไม่ดีนักในทางการเมือง แต่อเมริกาก็พร้อมจะให้เนทันยาฮูออกจากตำแหน่งไป และแทนที่ด้วยนายกรัฐมนตรีคนใหม่ นี่เป็นข้อมูลจากแดเนียล เลวี (Daniel Levy) ประธานของโครงการสหรัฐฯ และตะวันออกกลาง (The U.S./Middle East Project)

พอข่าวการระงับการโจมตีออกมา คนก็วิจารณ์ว่านี่จะเป็นการระงับหรือการหยุดยิ่งชั่วคราวที่ไม่น่าจะมั่นคงเท่าไร หมายความว่ามันอาจพังทลายไปในเวลาอันรวดเร็วด้วยเหตุผลร้อยแปดพันประการ เพราะเชื่อว่าการเจรจาของทั้งสองฝ่ายไม่ได้ทำด้วยความต้องการและอำนาจของแต่ละฝ่ายเอง หากเป็นการเจรจาด้วยแรงผลักดันและกดดันจากมหาอำนาจภายนอก ดังเห็นได้ว่าพอถึงวันจะให้มีการแลกเปลี่ยนตัวประกันกับเชลย ทันใดฝ่ายฮามาสก็ระงับการส่งรายชื่อตัวประกันที่จะส่งคืนให้ เป็นสัญญาณว่าการแลกเปลี่ยนจะยังไม่เกิดขึ้นในอีกไม่กี่ชั่วโมงตามกำหนด เพราะฮามาสอ้างว่าฝ่ายอิสราเอลยังไม่ยอมให้มีการขนส่งการช่วยเหลือด้านสิ่งของ อาหาร และเชื้อเพลิงที่จำเป็นเข้าไปในกาซาตามที่ได้ตกลงกัน ช่วงเวลาไม่กี่ชั่วโมงที่ข้อตกลงแรกทำท่าจะล้มลง ไม่ช้าอิสราเอลก็ยอมเปิดทางให้แก่รถบรรทุกความช่วยเหลือจากชายแดนอียิปต์วิ่งผ่านเข้าไปตามสัญญา วิธีการส่งรายชื่อก็ทำด้วยการระบุชื่อและเพศของตัวประกันแล้วส่งให้แก่ผู้แทนกาตาร์ ที่จะเป็นผู้ส่งให้อิสราเอลต่อไป นี่เป็นตัวอย่างของความเปราะบางของการตกลงระงับการโจมตีหรือเรียกว่าการระงับเพื่อมนุษยธรรมก็ตาม

ทั้งหมดนี้ เมื่อกล่าวถึงที่สุดผมมองว่าเป็นชัยชนะเล็กๆ ของฮามาสจากผลของปฏิบัติการวันที่ 7 ตุลาฯ ที่ลงมืออย่างบ้าบิ่นและละเมิดกฎของสงครามที่ต้องไม่ทำร้ายสตรี เด็ก และคนชราที่ไม่ใช่ศัตรูในสนามรบ มองอย่างวิภาษวิธีนี่คือมาตรการสุดท้ายของทาสที่ใช้ตอบโต้นายทาสในประวัติศาสตร์ของการกดขี่ทางชนชั้นและเชื้อชาติ ด้วยการใช้ความรุนแรงสูงสุดกระทำต่อจุดที่อ่อนบางที่สุดของนายทาส แม้ชัยชนะนั้นจะอยู่ไม่เกินวันหรือเดือนก็ตาม แต่การต่อสู้ที่มีลักษณะประวัติศาสตร์อันยืดเยื้อของปาเลสไตน์ต่ออิสราเอลที่ดำเนินมาอย่างยาวนานมาก นานจนทำให้คนทั่วโลกไม่มีความรู้สึกเห็นใจในภาวะของการตกเป็นผู้ถูกกระทำฝ่ายเดียวอย่างซ้ำแล้วซ้ำเล่า ดังนั้นปฏิบัติการวันที่ 7 ตุลาฯ จึงเป็นการปลุกสติสัมปชัญญะและความเป็นมนุษย์ของคนทั่วโลกให้ตื่นขึ้นมาอีกครั้ง พร้อมกับเปิดตามองดูความเป็นจริงที่กำลังเกิดขึ้นว่าจะนำไปสู่อะไร หากผลลัพธ์ของปฏิบัติ ‘กบฏทาส’ ครั้งนี้ไม่นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงทางการเมืองที่ยั่งยืนต่อไป นั่นหมายความว่าอนาคตของการสร้างรัฐอธิปไตยที่เป็นของคนปาเลสไตน์ก็จะถลำลึกลงไปยังก้นเหวที่เป็นนรกที่ลึกที่สุดเท่าที่จินตนาการของมนุษย์จะคิดได้ไปอีกชั่วกัลปาวสาน

ความล้มเหลวของอิสราเอลที่ไม่สามารถเสนอแผนสำหรับจัดการกาซาหลังสงคราม แสดงให้เห็นถึงระดับวิธีคิดของอิสราเอลที่ไม่ปกติ ที่ไม่ยึดโยงกับความจริงทางภววิสัยของความขัดแย้งระหว่างปาเลสไตน์กับอิสราเอล ที่ปฏิเสธการดำรงอยู่จริงของชาวปาเลสไตน์ในฐานะของปัจเจกผู้มีชีวิตจิตใจและมีศักดิ์ศรี รวมถึงความฝันต่ออนาคตที่เป็นหลักเป็นฐานของรัฐปาเลสไตน์ ซึ่งในอนาคตอาจกลายเป็นรัฐเดียวกันที่รวมเอาชาวยิวเข้ามาอยู่ด้วยกันก็ได้ เป็นสหพันธรัฐในพื้นที่ทั้งหมดที่ขัดแย้งแย่งชิงกันมาครึ่งศตวรรษ ตรงกันข้ามผู้นำอิสราเอลตั้งใจแน่วแน่อย่างเดียวนั่นคือการทำลายล้างฮามาสให้จมดินไม่ผุดไม่เกิดต่อไป พวกนั้นมองข้ามความจริงที่อาจรางเลือนไปในระยะหลัง จากการเพิ่มความรุนแรงทางการทหารของอิสราเอลในเขตปกครองเหล่านี้ ทำให้มองเห็นฮามาสว่าเป็นเพียงแค่กลุ่มก่อการร้ายเหมือนกลุ่ม ISIS ตาลีบันของมุสลิมไป

ในความเป็นจริง ฮามาสเป็นทั้งกลุ่มติดอาวุธที่พร้อมใช้วิธีก่อการร้ายและก็เป็นขบวนการทางการเมืองที่ได้รับชัยชนะในการเลือกตั้งและปกครองกาซามามากกว่า 15 ปี ที่สำคัญฮามาสยังมีอุดมการณ์ความคิด นั่นคือการต่อต้านซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการต่อสู้เพื่อปลดปล่อยปาเลสไตน์จากแอกของอิสราเอล ดังนั้น “ฮามาสจึงไม่ใช่และไม่เหมือนกลุ่ม ISIS ที่มีแต่สมาชิกที่มุ่งแต่การสังหารอย่างเดียว หากแต่กลุ่มฮามาสถักทออย่างลึกซึ้งในผืนผ้าใหญ่ของสังคมปาเลสไตน์ ความนิยมและสนับสนุนฮามาสจึงไม่ได้มาจากการกระหายหิวในการหลั่งเลือด หากแต่มาจากความเชื่อว่ามันจะเป็นอีกหนทางหนึ่งของการไปบรรลุการปลดปล่อยปาเลสไตน์ในห้วงเวลาที่หนทางอื่นๆ ถูกปิดหมดแล้ว” (Daniel Levy, “The Road Back from Hell, The New York Times Nov. 8, 2023)

MOST READ

World

1 Oct 2018

แหวกม่านวัฒนธรรม ส่องสถานภาพสตรีในสังคมอินเดีย

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก สำรวจที่มาที่ไปของ ‘สังคมชายเป็นใหญ่’ ในอินเดีย ที่ได้รับอิทธิพลสำคัญมาจากมหากาพย์อันเลื่องชื่อ พร้อมฉายภาพปัจจุบันที่ภาวะดังกล่าวเริ่มสั่นคลอน โดยมีหมุดหมายสำคัญจากการที่ อินทิรา คานธี ได้รับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกในประวัติศาสตร์

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก

1 Oct 2018

World

16 Oct 2023

ฉากทัศน์ต่อไปของอิสราเอล-ปาเลสไตน์ ความขัดแย้งที่สั่นสะเทือนระเบียบโลกใหม่: ศราวุฒิ อารีย์

7 ตุลาคม กลุ่มฮามาสเปิดฉากขีปนาวุธกว่า 5,000 ลูกใส่อิสราเอล จุดชนวนความขัดแย้งซึ่งเดิมทีก็ไม่เคยดับหายไปอยู่แล้วให้ปะทุกว่าที่เคย จนอาจนับได้ว่านี่เป็นการต่อสู้ระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ที่รุนแรงที่สุดในรอบทศวรรษ

จนถึงนาทีนี้ การสู้รบระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ยังดำเนินต่อไปโดยปราศจากทีท่าของความสงบหรือยุติลง 101 สนทนากับ ดร.ศราวุฒิ อารีย์ ผู้อำนวยการศูนย์มุสลิมศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถึงเงื่อนไขและตัวแปรของความขัดแย้งที่เกิดขึ้น, ความสัมพันธ์ระหว่างอิสราเอลและรัฐอาหรับ, อนาคตของปาเลสไตน์ ตลอดจนระเบียบโลกใหม่ที่ก่อตัวขึ้นมาหลังยุคสงครามเย็น

พิมพ์ชนก พุกสุข

16 Oct 2023

World

9 Sep 2022

46 ปีแห่งการจากไปของเหมาเจ๋อตง: ทำไมเหมาเจ๋อตง(โหด)ร้ายแค่ไหน คนจีนก็ยังรัก

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์ เขียนถึงการสร้าง ‘เหมาเจ๋อตง’ ให้เป็นวีรบุรุษของจีนมาจนถึงปัจจุบัน แม้ว่าเขาจะอยู่เบื้องหลังการทำร้ายผู้คนจำนวนมหาศาลในช่วงปฏิวัติวัฒนธรรม

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

9 Sep 2022

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save