fbpx

ไต้หวันกับสองการเดินทาง

สัปดาห์ที่ผ่านมา สองพาดหัวข่าวเกี่ยวกับไต้หวันต่างกันสิ้นเชิง ข่าวแรกบอกว่าหม่าอิงจิ่ว ผู้นำคนก่อนของไต้หวันเดินทางเยือนจีนแผ่นดินใหญ่ พร้อมกล่าวว่าประชาชนทั้งสองฝั่งคาบสมุทรต่างก็เป็นคนจีน ส่วนอีกข่าวบอกว่าช่ายอิงเหวิน ผู้นำคนปัจจุบันของไต้หวันเยือนสหรัฐฯ พร้อมประกาศกร้าวว่า ไต้หวันไม่ใช่ดินแดนส่วนหนึ่งของใครที่ไหน

ท่านผู้อ่านสงสัยไหมว่า คนไต้หวันส่วนใหญ่อยู่ข้างไหนของสองการเดินทางนี้

หม่าอิงจิ่ว ผู้นำคนก่อนของไต้หวัน เดินทางไปไหว้เชงเม้งที่เมืองจีน นับเป็นครั้งแรกในชีวิตของเขาที่บัดนี้อายุย่างเข้า 70 แล้ว กว่าจะได้เหยียบแผ่นดินใหญ่กลับไปไหว้บรรพบุรุษที่หูหนาน นอกจากนั้นเขายังไปไหว้สุสานของซุนยัดเซ็นที่นานกิงอีกด้วย เรียกว่าไหว้ทั้งบรรพบุรุษส่วนตัว และบรรพบุรุษของประเทศ

นั่นก็เพราะไต้หวันปัจจุบันยังใช้ชื่อว่า ‘สาธารณรัฐจีน’ และบิดาของชาติก็ยังคงเป็นซุนยัดเซ็น ตั้งแต่ที่รัฐบาลพรรคก๊กมินตั๋งของสาธารณรัฐจีนแพ้สงครามกลางเมืองแก่พรรคคอมมิวนิสต์ แล้วหนีมาตั้งรัฐบาลพลัดถิ่นที่เกาะไต้หวัน ก็เอารัฐธรรมนูญ ‘จีนเก่า’ มาปกครองต่อที่เกาะไต้หวันด้วย

หม่าอิงจิ่วจึงกล่าวที่สุสานของซุนยัดเซ็นว่า ‘สาธารณรัฐจีน’ ของท่าน ซึ่งเป็นสาธารณรัฐแห่งแรกของเอเชียยังคงอยู่จนถึงทุกวันนี้ และที่หม่าอิงจิ่วพูดว่าคนไต้หวันก็เป็นคนจีน เขาหมายความถึงจีนเก่าคือจีนของซุนยัดเซ็น ไม่ใช่จีนคอมมิวนิสต์

ที่สุสานของปู่ที่ชนบทในหูหนาน หม่าอิงจิ่วร้องไห้ต่อหน้าหลุมฝังศพปู่ หลายคนงงว่าหม่าอิงจิ่วซึ่งไม่ได้เกิดที่จีนแผ่นดินใหญ่และปู่เขาตายตั้งแต่พ่อของหม่าอิงจิ่วอายุเพียง 7 ขวบ จะผูกพันอะไรได้กับบ้านเกิดของครอบครัว หม่าอิงจิ่วกล่าวต่อหน้าหลุมศพว่าคำสอนของปู่ทำให้เขามีวันนี้และเขาไม่เคยทำให้บรรพชนมัวหมอง เขาผูกพันกับรากเหง้าและยังคงพูดภาษาถิ่นหูหนานได้ดี เพราะนั่นคือภาษาถิ่นที่ใช้พูดกันในบ้านตั้งแต่เขายังเล็ก คำสอนประโยคเดียว1ของปู่ที่พ่อจำมาสอนเขาจากรุ่นสู่รุ่นว่า “เงินทองไม่ใช่ของมีค่า หนังสือต่างหากที่มีค่า สรรพสิ่งล้วนว่างเปล่า มีเพียงความดีที่ไม่ว่างเปล่า” ก็เป็นคติพจน์ที่เขายึดเป็นสรณะในชีวิต ติดไว้ที่ห้องทำงานตราบจนปัจจุบันและมักกล่าวถึงบ่อยครั้งในวาระต่างๆ

หากเราติดตามทริปการเดินทางครั้งนี้ ย่อมสัมผัสอารมณ์ความรู้สึกผูกพันกับจีน คำพูดจากใจของหม่าอิงจิ่ว รวมทั้งการต้อนรับขับสู้อย่างดีจากผู้นำทุกพื้นที่ในจีนแผ่นดินใหญ่ที่หม่าอิงจิ่วไปเยือน เราอาจจะเข้าใจว่าจีนกับไต้หวันผูกพันแน่นแฟ้น แต่ปัญหาคือ หม่าอิงจิ่วกลับเป็นเหมือนตัวแทนยุคสมัยที่กำลังใกล้สิ้นสุด คนรุ่นใหม่ไม่น้อยในไต้หวันมองการเดินทางของหม่าอิงจิ่วไปจีนแผ่นดินใหญ่ว่าเป็นเสมือนตัวแทนของอารมณ์ความรู้สึกที่หมดสมัยไปนานแล้ว

คนรุ่นใหม่ไต้หวันเกิดและเติบโตที่ไต้หวัน และไม่ได้มีความผูกพันกับจีนแผ่นดินใหญ่เหมือนคนรุ่นก่อนที่หนีสงครามกลางเมืองมาจากแผ่นดินใหญ่หรือคนรุ่นหม่าอิงจิ่ว (ย่างเข้าวัย 70) ที่พ่อแม่หนีสงครามกลางเมืองมา นี่ยังไม่นับคนท้องถิ่นไต้หวันส่วนใหญ่ที่บรรพชนอยู่ที่ไต้หวันยาวนานมาก่อนสงครามกลางเมือง ความรู้สึกห่างเหินระหว่างคนทั้งสองฝั่งของคาบสมุทรในยุคปัจจุบันเป็นเหตุผลหนึ่งที่มีเสียงกดดันในบางกลุ่มในจีนที่เริ่มมองว่า หากไม่จบ (รวมชาติ) ที่รุ่นเรา (สีจิ้นผิง) ปล่อยไปข้างหน้าจะยิ่งห่างและสายเกินไป

หม่าอิงจิ่วพยายามเน้นประวัติศาสตร์ของ ‘สาธารณรัฐจีน’ (ซึ่งวันนี้ปกครองเฉพาะเกาะไต้หวัน) ที่ยึดโยงกลับไปที่จีนแผ่นดินใหญ่ ในขณะที่ช่ายอิงเหวินผู้นำคนปัจจุบันมักย้ำเพียงประวัติศาสตร์ของ ‘สาธาณรัฐจีนบนเกาะไต้หวัน’ ซึ่งเริ่มต้นหลังปี 1949 เท่านั้น

หม่าอิงจิ่วย้ำระหว่างทริปครั้งนี้ว่า ‘รัฐธรรมนูญสาธารณรัฐจีน’ ที่ใช้บนเกาะไต้หวัน ยังคงยืนยันว่าไต้หวันกับจีนเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันแบ่งแยกไม่ได้ เพียงแต่ตอนนี้รัฐบาลของสาธารณรัฐจีนปกครองเฉพาะเกาะไต้หวัน ส่วนรัฐบาลของ ‘สาธาณรัฐประชาชนจีน’ (จีนใหม่ของพรรคคอมมิวนิสต์) ปกครองจีนแผ่นดินใหญ่ แต่ในทางกฎหมาย สองฝ่ายยังสามารถพูดคุยและมีความสัมพันธ์กันได้ บนพื้นฐานว่าทั้งสองฝ่ายเชื่อเหมือนกันว่ามี ‘จีนเดียว’ ไม่ใช่มี ‘สองจีน’ และไม่ใช่มี ‘หนึ่งจีน หนึ่งไต้หวัน’ ซึ่งในยุครัฐบาลของเขาก็ได้มีความร่วมมือที่ใกล้ชิดกับจีนบนพื้นฐานนี้ ถึงขนาดมีข้อตกลงทางการค้าระหว่างกันได้ จนอาจเรียกว่าเป็นช่วงฮันนีมูนกับจีนแผ่นดินใหญ่

แต่ช่วงฮันนีมูนรอบนั้นจบลงด้วยการประท้วงใหญ่ของคนรุ่นใหม่ไต้หวันต่อรัฐบาลของหม่าอิงจิ่ว โดยมองว่ารัฐบาลยุคนั้นได้พาให้ไต้หวันพึ่งพาจีนในทางเศรษฐกิจมากจนเกินไป คะแนนนิยมตอนท้ายของเขาก็ต่ำเตี้ยเรี่ยดิน พรรคก๊กมินตั๋งแพ้การเลือกตั้งอย่างราบคาบ จนบัดนี้จุดยืนใกล้ชิดจีนของหม่าอิงจิ่วนั้น แม้กระทั่งพรรคก๊กมินตั๋งเองก็ยังไม่กล้าเอาด้วย เพราะมองว่าเป็นการฆ่าตัวตายทางการเมือง

การเดินทางของผู้นำคนปัจจุบันอย่างช่ายอิงเหวินจึงตรงข้ามกับหม่าอิงจิ่วโดยสิ้นเชิง ช่ายอิงเหวินนั้นโดยทางการไม่ได้ไป ‘เยือน’ (visit) สหรัฐฯ แต่ไป ‘พักเปลี่ยนเครื่อง’ (transit) ที่สหรัฐฯ เพื่อไปเยือนมิตรประเทศที่เหลือไม่กี่แห่งในลาตินอเมริกาที่ยังรับรองรัฐบาลสาธารณรัฐจีนบนเกาะไต้หวันอยู่ แม้ว่าสหรัฐฯ และไต้หวันเองจะยังคงไม่มีความสัมพันธ์ทางการทูตที่เป็นทางการระหว่างกัน แต่ช่ายอิงเหวินก็ได้พบประธานสภาคอนเกรสคนใหม่ แมคคาร์ธีและจับมือกันยืนยันว่าสหรัฐฯ จะอยู่ข้างไต้หวัน และขายอาวุธให้ไต้หวันปกป้องตนเองจากการคุกคามจากจีน

ยังจำได้ไหมครับว่าเมื่อปีที่แล้วที่ผู้นำไต้หวันพบกับแนนซี เพโลซี ประธานสภาคอนเกรสสหรัฐฯ นั่นนับเป็นครั้งแรกในรอบ 25 ปี ที่ผู้นำไต้หวันได้พบกับประธานสภาคอนเกรส เพราะผู้นำทางการเมืองระดับสูงของสหรัฐฯ ล้วนระมัดระวังมาตลอดกับการยั่วยุจีน แต่ในขณะนี้ที่ความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐฯ กับจีนตกต่ำลงที่สุดตั้งแต่มีความสัมพันธ์กันมา ความปกติใหม่ (New Normal) กลับกลายเป็นว่าหากประธานสภาคอนเกรสต่อจากนี้คนใดไม่กล้าพบผู้นำไต้หวัน ย่อมถือว่ากลัวและหัวหดต่อจีน ซึ่งก็เท่ากับเป็นการฆ่าตัวตายทางการเมืองในสหรัฐฯ เช่นกัน

มีคำถามว่าการเดินทางเยือนแผ่นดินใหญ่ของหม่าอิงจิ่วยังคงมีความหมายเพียงใดในการลดความขัดแย้งระหว่างสองฝั่งของคาบสมุทร ท่ามกลางกระแสการเมืองในหมู่คนไต้หวันรุ่นใหม่ที่เปลี่ยนแปลงจากคนรุ่นก่อนอย่างมาก แต่แม้การเดินทางของช่ายอิงเหวินเอง ก็มีชาวไต้หวันจำนวนไม่น้อยที่มองว่ายิ่งวันยิ่งไปในทิศทางที่ประกาศกร้าวว่า ‘ไต้หวันกับจีนเป็นคนละประเทศกัน’ ซึ่งก็คือการกำลังพาไต้หวันเดินไปสู่สงครามในวันข้างหน้าในที่สุด

การเลือกตั้งที่จะมีผลกว้างไกลมหาศาลต่อความมั่นคงและสันติภาพของภูมิภาคและของโลกจึงเป็นการเลือกตั้งใหญ่ไต้หวันในเดือนมกราคมของปีหน้า ที่จะชี้ชะตาว่าคนไต้หวันจะเลือกการเดินทางใด เพราะทั้งสองทิศทางพาไปยังคนละจุดหมายปลายทางเกี่ยวกับตัวตนและอนาคตของเกาะแห่งนี้

       

MOST READ

World

1 Oct 2018

แหวกม่านวัฒนธรรม ส่องสถานภาพสตรีในสังคมอินเดีย

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก สำรวจที่มาที่ไปของ ‘สังคมชายเป็นใหญ่’ ในอินเดีย ที่ได้รับอิทธิพลสำคัญมาจากมหากาพย์อันเลื่องชื่อ พร้อมฉายภาพปัจจุบันที่ภาวะดังกล่าวเริ่มสั่นคลอน โดยมีหมุดหมายสำคัญจากการที่ อินทิรา คานธี ได้รับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกในประวัติศาสตร์

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก

1 Oct 2018

World

16 Oct 2023

ฉากทัศน์ต่อไปของอิสราเอล-ปาเลสไตน์ ความขัดแย้งที่สั่นสะเทือนระเบียบโลกใหม่: ศราวุฒิ อารีย์

7 ตุลาคม กลุ่มฮามาสเปิดฉากขีปนาวุธกว่า 5,000 ลูกใส่อิสราเอล จุดชนวนความขัดแย้งซึ่งเดิมทีก็ไม่เคยดับหายไปอยู่แล้วให้ปะทุกว่าที่เคย จนอาจนับได้ว่านี่เป็นการต่อสู้ระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ที่รุนแรงที่สุดในรอบทศวรรษ

จนถึงนาทีนี้ การสู้รบระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ยังดำเนินต่อไปโดยปราศจากทีท่าของความสงบหรือยุติลง 101 สนทนากับ ดร.ศราวุฒิ อารีย์ ผู้อำนวยการศูนย์มุสลิมศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถึงเงื่อนไขและตัวแปรของความขัดแย้งที่เกิดขึ้น, ความสัมพันธ์ระหว่างอิสราเอลและรัฐอาหรับ, อนาคตของปาเลสไตน์ ตลอดจนระเบียบโลกใหม่ที่ก่อตัวขึ้นมาหลังยุคสงครามเย็น

พิมพ์ชนก พุกสุข

16 Oct 2023

World

9 Sep 2022

46 ปีแห่งการจากไปของเหมาเจ๋อตง: ทำไมเหมาเจ๋อตง(โหด)ร้ายแค่ไหน คนจีนก็ยังรัก

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์ เขียนถึงการสร้าง ‘เหมาเจ๋อตง’ ให้เป็นวีรบุรุษของจีนมาจนถึงปัจจุบัน แม้ว่าเขาจะอยู่เบื้องหลังการทำร้ายผู้คนจำนวนมหาศาลในช่วงปฏิวัติวัฒนธรรม

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

9 Sep 2022

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save