fbpx

เฮบบรอนกับสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ความเหมือนที่แตกต่าง

บทความนี้ต้องการนำเสนอให้ผู้อ่านพินิจเรื่องความขัดแย้งระหว่าง ‘อิสราเอล’ และ ‘ปาเลสไตน์’ จากอีกมุมหนึ่ง ความขัดแย้งระหว่างทั้งสองฝ่ายนี้เกิดขึ้นเพียงเพราะต่างฝ่ายต่างต้องการที่จะใช้ชีวิตอย่างที่อยากใช้ อยากดำเนินชีวิตให้ปกติเหมือนประเทศอื่นๆ แต่เพราะความขัดแย้งเรื่องดินแดนและเชื้อชาติ นับตั้งแต่เหตุการณ์ Arab Revolt (1936–1939) ในปาเลสไตน์ และสงครามระหว่างอาหรับและอิสราเอลอีกถึงหกครั้ง บวกกับเหตุการณ์อินติฟาดา (Intifada) หรือการลุกฮือประท้วงของคนปาเลสไตน์ต่อรัฐอิสราเอลจนนองเลือด อีกถึงสองครั้ง (1987–1993 และ 2000–2005) ทำให้ความขัดแย้งที่สืบเนื่องมายาวนานจากรุ่นสู่รุ่น ก่อเกิดเป็นความเกลียดชัง ความเคียดแค้น ที่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งยากจะให้อภัยกันและกันได้

สงครามความขัดแย้งที่ปะทุขึ้นมาอีกครั้งระหว่างอิสราเอลและขบวนการฮามาสเมื่อวันที่ 7 ตุลาคมที่ผ่านมา นับได้ว่าเป็นความรุนแรงที่ทำให้เกิดความสูญเสียครั้งใหญ่สุดในรอบ 50 ปี กลุ่มขบวนการฮามาส ซึ่งมีฐานที่ตั้งในฉนวนกาซา ถูกมองว่าเป็นกลุ่มก่อการร้ายในสายตาจากทางฝ่ายตะวันตก แต่เป็นผู้ปลดปล่อยในสายตาของคนปาเลสไตน์ ขณะนี้ยอดผู้เสียชีวิตจากทั้งสองฝ่ายคาดว่าแตะที่ 1,600 คน และตัวเลขผู้เสียชีวิตยังไม่น่าที่จะหยุดแค่จุดนี้

ก่อนการบุกอิสราเอลของกลุ่มฮามาส เหตุการณ์ทางการเมืองภายในประเทศของอิสราเอลเต็มไปด้วยการประท้วงและความขัดแย้งตั้งแต่ปลายปี 2022 การประท้วงที่เทลอาวีฟ (Tel Aviv) ซึ่งเป็นเมืองหลวง มีมาอย่างต่อเนื่อง เป็นการประท้วงที่ใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์อิสราเอล คนอิสราเอลประท้วงรัฐบาลขวาจัดของนายกรัฐมนตรีหกสมัยอย่างนายเบนจามิน เนทันยาฮู (Benjamin Netanyahu) เนื่องจากตัวเขาและพรรคพวกฝ่ายขวาจัดพยายามที่จะแก้ไข Basic Law (อิสราเอล ไม่มีรัฐธรรมนูญ แต่เรียกว่า Basic Law) โดยพยายามผ่านร่าง the new Basic Law เพื่อลดอำนาจของศาลยุติธรรมสูงสุดของอิสราเอลที่โดยปกติมีอำนาจในการยุติหรือสั่งการหากเห็นว่าฝ่ายบริหารบริหารนโยบายอย่างไม่เป็นธรรม จุดนี้จึงถือเป็นฟางเส้นสุดท้ายของความเป็นประชาธิปไตยของอิสราเอลที่กำลังจะขาดผึง

เมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา ฉันตัดสินใจไปเมืองเฮบบรอน (Hebron) เหตุการณ์ที่เฮบบรอนคุกรุ่นรุนแรงพอๆ กับเมืองเจนิน (Jenin) และนาบลิส (Nablis) แม้ว่าจะมีการเตือนถึงเรื่องความปลอดภัยจากทั้งกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ กับออสเตรเลีย แต่ฉันก็ยังอยากลองไป เฮบบรอนถือเป็นเมืองที่สำคัญเป็นอันดับสี่ในศาสนาอิสลาม รองจากมักกะห์ (Mecca) มะดีนะห์ (Medina) อัลอักซา (Al-Aqsa) เฮบบรอนเป็นที่ตั้งของมัสยิดอิบราฮีม (Ibrahim Mosque) ซึ่งว่ากันว่านบีมูฮัมหมัด (ซล.) แวะเยี่ยมหลุมฝังศพของอับราฮัมหรืออิบราฮีมระหว่างเดินทาง ส่วนทางฝ่ายยิวก็มองว่าที่นี่สำคัญเป็นอันดับสอง รองจากเยรูซาเล็ม

เฮบบรอน อิสราเอล กับสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ความเหมือนที่แตกต่าง
ภาพ 1: อาคารมัสยิดอิบราฮีมจากภายนอก ซึ่งตั้งอยู่ในเมืองเฮบบรอน อิสราเอล

ทัวร์ที่ฉันไปนี้เป็นทัวร์แบบ Dual Narrative คือไปเยี่ยมทั้งสองฝั่ง นั่นคือฝั่งที่คนปาเลสไตน์อาศัยอยู่ กับอีกฝั่งที่ชาวยิวผู้มาตั้งรกรากใหม่อาศัยอยู่ ไกด์ที่เป็นคนยิวของพวกเราจริงๆ เป็นคนอเมริกัน เรียนจบจากมหาวิทยาลัยเบิร์กลีย์ (Berkeley) พูดสำเนียงอเมริกันแบบแคลิฟอร์เนียนจ๋า แต่เขาเป็น Hasidic Jews ซึ่งมีหลายสำนัก เขาเล่าให้ฟังว่าสำนักของเขาคือสำนักที่เน้นสันติภาพ เน้นการพูดคุยและทำความเข้าใจระหว่างศาสนา (interfaith) ฉันมาเรียนรู้ทีหลังว่ายิวในอิสราเอลมีการแบ่งชนชั้นกันพอดู ยิวที่มาจากสหรัฐอเมริกาหรืออังกฤษถูกมองว่าอยู่ชั้นเหนือสุด ถัดมาคือกลุ่ม Sephardic Jews ซึ่งอพยพมาจากยุโรปตะวันออก นอกจากนี้ยังมีคนยิวจากเอเชียกลาง โดยเฉพาะจากอุซเบกิสถาน และชั้นที่ถูกกดขี่ที่สุด คือ Ethiopian Jews นอกจากนี้ยังมีชนชาติพม่าเชื้อสายธิเบตที่เข้าใจกันว่าเป็นหนึ่งในเผ่าพันธุ์ที่สาบสูญของชนชาติอิสราเอลตามคัมภีร์ เป็นยิวที่อพยพมาจากแนวเขตชายแดนพม่ากับอินเดีย เป็นที่รู้จักกันในนามว่ากลุ่มชินลุง (Shinlung)

จุดเด่นของทัวร์นี้คือการไปชมเมืองเก่าแก่ เยี่ยมชมสุสานที่ฝังศพของอับราฮัม (หรืออิบรอฮีมในอิสลาม) โดยทางยิวเรียกศาสนสถานแห่งนี้ว่า Tomb of the Patriarchs ขณะที่ทางศาสนาอิสลามเรียกว่า Ibrahim Mosque นอกจากอับราฮัม ที่นี่ยังเป็นที่ฝังศพของภรรยาคนแรกของอับราฮัม (ซาร่า) รวมทั้งลูกๆ และหลานๆ ได้แก่ ไอแซ็ค ยาค็อบ

มัสยิดอิบราฮีมมีความน่าสนใจอีกประเด็นคือ มีการแบ่งส่วนด้านซ้ายของสถานที่ให้มุสลิมได้ใช้เป็นพื้นที่ในการละหมาด ส่วนขวามือของตึกเป็นที่ประกอบศาสนกิจของคนยิว มีผนังกั้นชัดเจน โดยมีจุดที่พอจะเห็นทะลุถึงกันได้ลอดผ่านลูกกรงคือจุดที่ตั้งของสุสานของอับราฮัม

เฮบบรอน อิสราเอล กับสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ความเหมือนที่แตกต่าง
ภาพ 2: ที่ตั้งที่ฝังศพของอับราฮัม (แต่ข้างในไม่มีศพ คาดว่าศพจริงอยู่ใต้อาคารของมัสยิดอิบราฮีม) หากมองทะลุลอดช่องกรงไปอีกด้าน จะเป็นที่ทำศาสนากิจของมุสลิม โดยทางฟากที่เห็นนี้ถ่ายจากที่ทำศาสนกิจของชาวยิว

ถ้าว่าไป กระทั่งพื้นที่ศาสนสถานแห่งนี้ก็มีการทะเลาะกัน เพราะฝ่ายยิวหาว่าทางมุสลิมได้พื้นที่ประกอบศาสนกิจมากกว่า ขณะที่ฝ่ายมุสลิมกล่าวหาว่าทางยิวได้พื้นที่ที่เป็นสวนหย่อมข้างตัวตึก โดยต่างฝ่ายไม่มีสิทธิ์ข้ามเข้าไปอีกฟากของอีกฝ่าย มีแนวทางกั้นชัดเจน ถ้าคุณเป็นมุสลิม คุณห้ามเข้าทางฝ่ายยิว และถ้าคุณเป็นยิว คุณก็ไม่มีสิทธิ์เข้าไปทางด้านของอิสลาม ไกด์หันมาขอร้องให้ฉันไม่พูดอะไร เพื่อที่ฉันจะได้เข้าไปดูทางฝ่ายของยิวได้ เพราะในทริปมีฉันคนเดียวที่เป็นมุสลิม นอกนั้นเป็นคริสเตียนกันหมด โดยสาเหตุที่มีการกีดกันเป็นเพราะเหตุการณ์กราดยิงมัสยิดอิบราฮีมในปี 1994 (Cave of the Patriarchs massacre) รัฐอิสราเอลจึงประกาศแยกพื้นที่แห่งนี้เป็นโซน H1 (Hebron 1) ซึ่งอยู่ภายใต้การกำกับดูแลโดยทางการของปาเลสไตน์ และ H2 (Hebron 2) ให้อยู่ภายใต้การดูแลของฝ่ายทหารอิสราเอล เหตุการณ์กราดยิงคราวนั้นมีผลให้ฝ่ายอิสราเอลประกาศเคอร์ฟิวต่อคนปาเลสไตน์ที่อาศัยอยู่ใกล้ๆ กับมัสยิดอิบราฮีมนานนับหกเดือน ทางอิสราเอลอ้างว่าเพื่อความปลอดภัย แต่ทางฝ่ายปาเลสไตน์ที่ถูกเคอร์ฟิวบอกว่าชีวิตอัตคัดมาก มีการจำกัดพื้นที่ เช่นถนนสายนี้หรือสายนั้น ห้ามคนปาเลสไตน์เดิน ทำให้การใช้ชีวิตยากลำบากขึ้นไปอีก

ทัวร์นี้เป็นการไปเพื่อเปิดใจฟังมุมมองจากทั้งสองฝ่าย นั่นคือทั้งจากฟากปาเลสไตน์ และจากฟากคนยิวที่ย้ายมาจากอังกฤษ และสหรัฐอเมริกา มาตั้งรกรากกันที่อิสราเอล ต้องสารภาพว่าการมาที่นี่เป็นอะไรที่ทำใจยากมาก เพราะฉันเข้าข้างอีกฝ่ายหนึ่งไปแล้วอย่างฝังจิตฝังใจ พร้อมมองว่าอีกฝ่ายคือฝ่ายผิดเต็มๆ แต่พอมากับทัวร์กรุ๊ปนี้ ฉันได้เปิดใจฟังฝ่ายที่ฉันไม่เห็นด้วยมากขึ้น ทำให้หันมามองตัวเองว่าการต้องรื้อถอนสิ่งที่ตัวเองฝังใจเชื่อไปแล้วแบบปักจิตปักใจนั้นไม่ง่ายเลย พอตระหนักได้แบบนี้ ฉันเลยนิ่งลง ตั้งใจฟัง บางครั้งที่ไกด์แสดงความคิดเห็น เขาก็คอยหันมามองฉัน เพราะเขาน่าจะเก็ตว่าฉันไม่ค่อยรับ

เฮบบรอน อิสราเอล กับสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ความเหมือนที่แตกต่าง
ภาพ 3:ภายในมัสยิดอิบราฮีม เป็นจุดที่เกิดเหตุการคนยิวบุกยิงคนที่กำลังละหมาดเมื่อปี 1994 ไกด์คนปาเลสไตน์เล่าให้ฟังว่าภาพที่เพื่อนเขาถูกยิงตายต่อหน้าต่อตายังตรึงตาเขาอยู่จนบัดนี้ 

แต่ในท้ายที่สุดฉันก็ยังยืนยันว่าเขาผิดอยู่ดี ถึงจะอ้างว่าเป็นคำที่ว่าไว้ในพระคัมภีร์ของพวกเขาว่านี่คือดินแดนของเขานะ เพราะบรรพบุรุษของเขาถือกำเนิดที่นี่ แล้วเขาก็เปิดโอกาสให้ถาม ฉันคันปากมาก แต่พยายามนับหนึ่งถึงร้อย ไม่ใช่หนึ่งถึงสิบนะ แต่หนึ่งถึงร้อย สะกดใจ เพราะดูจากรูปการณ์ ไกด์เราดูเหมือนจะอ่อนโยน แต่ก็พร้อมบวกได้ตลอดเวลา แถมมีปืนพกข้างตัว บวกกับกลัวว่าเขาจะโกรธแล้วทิ้งฉันไว้ที่เฮบบรอน คิดว่าถามคำถามแบบกระตุ้นความเคืองโกรธเป็นเรื่องป่วยการเปล่าๆ

ที่ฉันอยากถามคือ ทำไมดินแดนถึงสำคัญกว่าชีวิตเด็กๆ ที่วิ่งเล่นกันตรงหน้าเรา (เด็กจากทั้งสองฝั่ง) อีกคำถามคือ คนเรามีดีเอ็นเอผนวกกันมาหลายพันปีจนผสมกันมาเป็นเรา อย่างฉันก็มีทั้งจีน มาเลย์ เวียดนาม/เขมร เมลาโพนีเชียน (เผอิญว่าใช้บริการเช็กดีเอ็นเอ เลยรู้ว่าตัวเองมีเชื้อสายอะไรบ้าง) แบบนี้ฉันก็อ้างได้สิว่า มีเชื้อบรรพบุรุษจากชาตินี้ ฉันจะกลับไปดินแดนปู่ทวดฉัน ใครอยู่ตอนนี้จะเตะเขาออก แล้วย้ายเข้าแทน มีตั้งสี่เชื้อชาติในตัว อะไรคือตัวตัดสินว่าเชื้อชาตินี้ของฉันใช่ที่สุด คิดได้ดังนี้ ฉันมั่นใจว่าคนที่พากันกลับมาดินแดนแห่งพันธสัญญาก็ไม่ได้มีเชื้อชาติชาติเดียวเพียวๆ น่าจะมีทั้งรัสเซียน ไอริช สก็อตทิช อาหรับ ชนอเมริกันพื้นเมือง ผสมผสานกันจนออกมาเป็นคนยิวหลายๆ คนตอนนี้ ไม่มีใครเชื้อชาติเดียวเพียวๆ หรอก เหมือนที่อมาตยา เซน (Armatya Sen) ตั้งข้อถกเถียงไว้ว่า ปัญหาความรุนแรงและความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในโลกนี้มักเป็นเพราะการเคี่ยวงวดอัตลักษณ์ ที่จริงๆ ทุกคนต่างมีกันอยู่หลากหลายอัตลักษณ์ในตัว จนเหลือเพียงแค่อัตลักษณ์เดียว

แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ฉันก็ไม่ได้ถาม เพราะไม่อยากทะเลาะ ยังอยากกลับบ้าน และขณะที่คิดๆ อยู่ ก็มีคนโพล่งถามขึ้นมาว่า การกลับเข้ามาแบบนี้ผิดต่อสนธิสัญญาของยูเอ็นนะ เท่านั้นแหละ คนถูกถามอารมณ์ขึ้น ขึ้นเสียง รัวตอบแบบโกรธมากเป็นชุด คนถามนั่งเงียบแบบใจเย็นมาก ฉันเดินไปตบหลังลุงเขาเบาๆ ทีหลัง ชมเขาว่ายูกล้าหาญมาก ขอบคุณที่ถามแทน มารู้ทีหลังว่าแกเป็นอดีตนักข่าวจากเดนมาร์ก ฉันเลยบางอ้อ ก็ว่าทำไมถึงหาญกล้ามาก

ระหว่างที่นั่งฟัง ก็อดคิดไม่ได้ว่าทำไมถึงคิดว่าเฮบบรอนเหมือนสามจังหวัดชายแดนภาคใต้บ้านเรา เพราะมีอะไรหลายๆ อย่างที่ทำให้ฉุกคิดแล้วพบว่ามันเหมือนกันมาก เรื่องแรกคือด่านตรวจที่มีเต็มไปหมด บางด่านมีทหารนั่งในป้อม ตั้งปืนกลเตรียมไว้ เพราะมีเหตุการณ์ผู้ก่อการฝ่ายปาเลสไตน์ขับรถพุ่งชนป้อมทหาร บางทีใช้รถบรรทุกขับพุ่งชน ดังนั้นทหารจะตั้งท่าจ่อยิงเฉพาะป้ายทะเบียนปาเลสไตน์ที่มีพื้นขาว ตัวหนังสือเขียว ขณะที่ป้ายทะเบียนของอิสราเอลมีสีเหลือง ฉันนั่งฟังเงียบๆ พลางคิดในใจว่า ถ้าเป็นบ้านเรา เขาไม่เอารถตัวเองหรือป้ายทะเบียนตัวเองชนทหารหรอก เขาคงขโมยรถป้ายทะเบียนอิสราเอลไปทำ เรื่องอะไรจะใช้รถตัวเอง นอกจากนี้สิ่งที่เหมือนกันก็มีเรื่องการปิดล้อม ตรวจค้น จับกุม ข่มขู่ ต่อให้มีคนอิสราเอลทำร้ายคนปาเลสไตน์ ตำรวจทหารก็ไม่สนใจ แต่ถ้าคนอิสราเอลที่เป็นพวก new settler ถูกทำร้าย ทหารอิสราเอลจะจัดการคนปาเลสไตน์ทันที

ภาพ 4:แถบร้านค้าในย่านเมืองเก่าของเขตพื้นที่ในปาเลสไตน์ หลายร้านปิดตัวเองลงไปเพราะเศรษฐกิจที่ย่ำแย่ ทหารอิสราเอลสั่งปิดก็มี แต่ก็มีบางร้านที่ปิดเพราะเป็นช่วงเดือนรอมฏอน

รถถัง รถทหารตรวจการณ์ ขับกันแถวนั้นดาษดื่น เมื่อฉันเห็นแล้ว มันเหมือนว่าฉันได้ทะลุมิติไปสามจังหวัดภาคใต้ แล้วฉันก็เจอคนทะเลาะกับทหารตรงด่านตรวจ มีช่วงหนึ่งที่เห็นทหารเข้าตรวจบ้านคน เด็กวัยรุ่นทะเลาะกับทหาร แล้วผลักอกกัน คนรุมยืนดูกันเต็ม ซึ่งเป็นเด็กผู้ชายวัยรุ่นทั้งนั้นที่ยืนรุม เราก็เดินไม่ทันกรุ๊ปทัวร์เพราะมัวแต่เป็นไทยมุง ตรงจุดปั๊มน้ำมันก็มีการยิงปะทะ อย่างกับบ้านเราจริงๆ เขาคอยวนทหารที่มาประจำการที่เฮบบรอนต่อเดือน โดยกลุ่มที่พวกเราได้เจอพอดีเป็นกองทหารพลร่มงูบิน มีป้ายธงเป็นรูปงูมีปีก ธงสีขาวแดงปักพร้อมธงชาติอิสราเอลทั่วเมือง

นี่เป็นทริปที่ต้องฟังการเล่าจากทั้งสองฝ่าย แต่ช่วงที่ไปเป็นช่วงเดือนรอมฎอน ร้านรวงปิดเยอะมาก เป็นเพราะในบางแถบ ทหารอิสราเอลสั่งให้ปิดโดยอ้างว่าเพื่อความปลอดภัย บางช่วงของร้านค้าต้องมีกรงเหล็กกับผ้าขึงบังคนที่อยู่อาศัยจากข้างบน ข้างล่างเป็นร้านขายของของคนปาเลสไตน์ ข้างบนเป็นคนยิวที่ย้ายมาอยู่ตึกเก่าแก่ของคนปาเลสไตน์ เขาอ้างว่าเขาซื้ออย่างถูกต้อง แต่ถ้าดูข่าวจะเห็นว่าสัญญาการซื้อขายลิขสิทธิ์ลักลั่นมาก เพราะเจ้าของบ้านยังไม่รู้เลยว่าบ้านตัวเองถูกขาย ส่วนที่ต้องขึงกรงก็เพราะคนยิวข้างบนโยนก้อนหินลงมา กะทำร้ายคนข้างล่าง บางทีสาดน้ำกรดลงมา ชาวบ้านที่ขายของข้างล่างถึงต้องตรึงผ้ากันสาดกันไว้ พอมาฟังทางฝั่งยิว เขาบอกว่าเป็นไปไม่ได้ หินพวกนั้นน่าจะเป็นการหลุดกร่อนเอง เพราะตึกเก่าแล้ว ฉันก็ได้แต่ถอนหายใจ ขี้เกียจเถียง ถ้าหินหล่นเองจากตึก หินพวกนี้คงมีพลังเหนือกฎแรงโน้มถ่วงของโลกมาก เพราะเล่นตกลงมาแบบมีวงโค้งเป็น trajectory

นอกจากนี้ ระหว่างที่เราเดินดูต้นมะกอกที่อายุหลายร้อยปี ทหารอิสราเอลก็เดินเรียงหน้ากันมาเป็นแถว ถามไกด์พวกเราว่าเห็นเด็กวัยรุ่นสองคนมั้ย มันหนีมาทางนี้ เด็กมันโยนก้อนหินใส่ทหาร ทหารแต่ละนายหิ้วปืนส่องกล้อง ฉันเกิดคำถามว่า แค่คนโยนหินใส่ ต้องตอบโต้ด้วยการยิงเขาให้ตายเลยหรือ? โยนหินใส่ก็ไม่ใช่ว่าจะโดน มันเกินไป มีเคสหนึ่งที่ผู้หญิงปาเลสไตน์โยนหินใส่ทหาร จนถูกจับขังคุกหลายปีเพียงเพราะโยนก้อนหินใส่ทหาร

ทางไกด์ฝั่งอิสราเอลเล่าว่านักบวชแรบไบของเขาถูกคนทำร้ายคาบ้าน บุกเข้ากลางคืนเอามีดปักอก เด็กในรถเข็นถูกยิงพร้อมกับพ่อเด็กจนตายคาที่ เขาสร้างเป็นอนุสรณ์ให้กับเด็ก ทั้งสองฝ่ายต่างมีทั้งฝ่ายที่กระทำและถูกกระทำ แต่ฝ่ายหนึ่งมีอำนาจมากกว่า มีสิทธิ์มากกว่า มีความอยุติธรรมมากกว่า คนที่ไร้สิทธิ์ ไร้อำนาจต้องสู้แบบจนตรอกมากกว่า ฝ่ายหนึ่งถูกยิงตายเสียสามคน อีกฝ่ายก็โต้ตอบโดยการเผาบ้านจนตายเสีย 14 คน

ภาพ 5: หนึ่งในต้นมะกอกที่ว่ากันว่าเก่าแก่ที่สุดของเมืองเฮบรอน อายุย้อนไปถึงสมัยยุคโรมัน ตั้งแต่อิสราเอลเข้ายึดครอง การเก็บผลมะกอกจะต้องขอใบอนุญาตจากทางการอิสราเอล ในหลายๆ ครั้งที่คนปาเลสไตน์เก็บผลมะกอก คนอิสราเอลที่มาอยู่ใหม่จะขว้างก้อนหิน ไล่คนที่มาเก็บผลมะกอก

อย่างไรก็ตาม ข้อแตกต่างระหว่างสามจังหวัดภาคใต้กับปาเลสไตน์คือ ในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ คนทั้งสองศาสนาไม่ได้เกลียดชังกันขนาดนี้ มันเป็นเรื่องระหว่างฝ่ายรัฐกับฝ่ายขบวนการ โดยพลเรือนอยู่ตรงกลาง ขณะที่ฝั่งปาเลสไตน์เป็นการสู้กันระหว่างพลเรือนทั้งสองฝ่าย และเป็นการสู้กันระหว่างพลเรือนปาเลสไตน์กับทหารอิสราเอล แล้วต้องเข้าใจว่าไม่ใช่เรื่องศาสนาที่เป็นตัวต้นเหตุของความขัดแย้ง คนปาเลสไตน์เองมีทั้งคริสเตียนและอิสลาม โดยปาเลสติเนียนคริสเตียนก็ถูกกระทำแบบเลวร้ายพอกัน ล่าสุดก็ถูกกีดกันสิทธิ์ในการข้ามฟาก (wall) เพื่อไปร่วมพิธีอีสเตอร์ (Easter) ทางฟากเยรูซาเล็ม คนที่เป็นยิวหลายคนก็ไม่ได้สนับสนุนการขยายเขตการครอบครองดินแดน เช่นอาจารย์ที่ชวนฉันไปสอนที่มหาวิทยาลัยเขา ลูกสาวของเขาถูกจับติดคุกหลายปีเพราะไม่ยอมเข้าร่วมการเกณฑ์ทหาร และแอนตี้การรุกรานคนปาเลสไตน์ ฉะนั้นเราไม่ควรเหมารวม

เหตุที่ฉันได้มาที่นี่เพราะได้มีโอกาสมาเลกเชอร์เรื่องความขัดแย้งในสามจังหวัดภาคใต้ที่มหาวิทยาลัยที่เยรูซาเล็ม ตอนแรกฉันก็ตั้งใจแบ่งปันส่วนที่ฉันไปเจอมาที่เฮบบรอนแล้วเปรียบเทียบกับสามจังหวัดให้เด็กเห็น แต่อาจารย์เจ้าของวิชาบอกว่าอย่างไรก็ต้องระวัง พยายามอย่ากระตุ้นหรือเร้าให้เด็กทะเลาะกัน เพราะในห้องมีทั้งสองฝ่าย จึงเป็นเรื่องยากมากๆ

ฉันพูดถึงเรื่องจุดตรวจ การเดินตรวจตราของทหาร และอื่น ๆ จนเด็กคนนึงถามขึ้นมาว่าทำไมสยามต้องรวมปาตานีเข้ามาด้วย ฉันได้โอกาสเลยตอบว่า มีใครบ้างในโลกนี้ที่มีอำนาจและมีความเป็นเจ้าอาณานิคมแล้ว จะไม่อยากขยายดินแดน?

ที่สังเกตเห็นอีกอย่างในห้องเรียนคือเด็กนั่งแยกกันสองฝ่าย ส่วนฝ่ายที่ไม่เกี่ยวก็นั่งคละเคล้ากันไป เด็กฝ่ายหนึ่งจะอินมาก ยิ่งตอนฟังเรื่องตากใบ เพราะดูตาแดงๆ กัน ส่วนอีกฝ่ายก็นั่งฟังแบบจ้องตาเขม็ง

ใครว่าสอนหนังสือในพื้นที่ที่แตกแยกเป็นเรื่องง่าย…

ในวันที่ว่างจากการทำงาน ฉันเดินเข้าไปเยี่ยมชมในย่าน Muslim Quarter กับ Jewish Quarter และ Christian Quarter มันวนเวียนติดกันไปหมด เดินๆ ไปก็เจอร้านของลุงคนหนึ่งที่ไม่มีคน ฉันเลยตัดสินใจเข้าไป สั่ง Falafel กลับบ้าน ลุงแกแก่มาก จากนั้นแกก็มานั่งปิดฝากล่องพลาสติกที่ใส่ฮุมมุส (Hummus) พอแกเพิ่งกวนเสร็จ มือแกสั่นมาก ปิดฝาก็ไม่สนิท น่าจะไม่มีแรงกด ฉันสงสารเลยนั่งกับแก ช่วยไล่ปิดฝากล่องพลาสติกให้แกเตรียมขายรอการเปิดบวช ระหว่างนั้นฉันเลยชวนคุยเป็นภาษาอังกฤษ ซึ่งแกก็พอได้ภาษาอังกฤษแบบกล้อมแกล้ม แกชื่อซาการียา อายุ 85 ปี อยู่คนเดียว เปิดร้านตรงนั้นมา 60 ปี เป็นชาวปาเลสไตน์ที่เกิดและโตในเยรูซาเล็ม แกเอารูปมานั่งอวด รูปแต่ละใบเก่าแก่มาก ขึ้นรา มีจุดดำๆ เต็มไปหมด ฟังแกเล่าไปเรื่อยๆ เรื่องการเดินทางของแก จนฉันนึกอย่างไรไม่รู้ ถามแกว่าอัลอักซาไปทางไหน แกบอกทาง เลยร่ำลาออกมา

ก่อนเข้ามัสยิด เราเจอทหารอิสราเอลกันทาง ฉันเลยไปหาซื้อฮิญาบ พอเจอร้านนึง ฉันก็เดินเข้าไป ฉันบอกว่าขอซื้อฮิญาบ คนจ้องฉันกันทั้งร้าน ถามว่ายูเป็นมุสลิมหรือ ฉันบอกว่าใช่ เขาจ้องจนเขาคงปักใจเชื่อ เขาเลยบอกให้ซื้อแบบนี้ คลุมทั้งตัว เป็นต้นตำรับปาเลสไตน์ พอคลุมเสร็จ ชมฉันกันทั้งร้านว่าสวยจริงๆ (สาบาน เขาชมจริงๆ) จากนั้นคนขายก็หยิบพรมละหมาดลายปาเลสไตน์แบบ kefayyah มาให้ ฉันถามว่าเท่าไหร่ คนขายยิ้ม บอกว่านู่นน่ะ ชี้ไปทางคนแก่สองคน มายบอส เขายกให้ยูฟรี ฉันกล่าวขอบคุณพร้อมโน้มตัวเบาๆ เห็นคนอาหรับชอบขอบคุณกันแบบนี้ คนแก่สองคนนั้นบอกให้ดึงกระโปรงขึ้นเพราะมันลากถนน ก่อนจะยิ้มให้ฉันแล้วบอกว่า May God Bless You…

ฉันอิ่มเอิบใจมาก นานๆ จะได้ยินคนอำนวยพรให้แบบจริงใจและหนักแน่นจากคนแปลกหน้าแบบนี้

วันถัดมา ฉันเข้าไปเยี่ยมชม Church of the Holy Sepulchre โบสถ์นี้คือจุดที่พระเยซูถูกตรึงไม้กางเขน เห็นคนต่อแถวเพื่อก้มลงจุมพิตพื้นที่เคยเป็นที่ตั้งไม้กางเขนที่ตรึงพระเยซู ฉันยืนมองสังเกตการณ์เงียบๆ มีกรุ๊ปทัวร์จากเอธิโอเปียต่อแถวกันยาว แต่ละคนร่ำไห้แบบสะอึกสะอื้น มีผู้หญิงคนหนึ่ง ซึ่งคงถูกชะตาเรากระมัง ชวนเราคุย แต่นางแทบไม่ได้ภาษาอังกฤษเลย เขาพูดภาษาของเขา สอนให้ฉันพูดคำว่าขอบคุณในภาษาของเขา ซึ่งฉันลืมไปแล้ว แต่ที่ประทับใจมากที่สุดคือรอยยิ้มของเขา ทั้งกลุ่มเลย ยิ้มแย้มให้ฉันอย่างจริงใจและเมตตา พูดไม่ถูก มันอิ่มใจ นางชี้ไปยังจุดที่ร่างพระเยซูถูกวางบนแผ่นหินหลังจากสอยลงมาจากไม้กางเขน จุดที่ผู้หญิงสามคนร้องไห้ให้กับพระเยซู และจุดที่พระเยซูถูกฝังและฟื้นคืนชีพ

มารอบนี้ ทำให้เห็นภาพของศาสนาที่อิ่มเอม ซาบซึ้ง อ่อนน้อม สวยงาม และสงบ แต่อีกด้านของศาสนาที่เห็นคือความรุนแรง คับแค้น กราดเกรี้ยว และจงเกลียดจงชัง ศาสนา ชาตินิยม กับชาติพันธุ์ เป็นอัตลักษณ์ที่แยกจากกันไม่ออก ถ้าผู้คนรู้จักที่จะแยกแยะให้ออกจากกัน คงจะดีไม่น้อย ขณะนี้ได้เพียงแต่หวังว่าเหตุการณ์ความขัดแย้งและสงครามที่เกิดขึ้นระหว่างอิสราเอลกับฝ่ายฮามาสจะยุติโดยพลันในเร็ววันนี้

ภาพ 6: กำแพงที่ทางรัฐอิสราเอลสร้างตัดเข้าไปในดินแดนปาเลสไตน์ ในส่วนของเขตเวสต์แบงก์ (West Bank) ความยาวของกำแพงนี้ยาวถึง 700 กิโลเมตร ความสูง 8 เมตร 

MOST READ

World

1 Oct 2018

แหวกม่านวัฒนธรรม ส่องสถานภาพสตรีในสังคมอินเดีย

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก สำรวจที่มาที่ไปของ ‘สังคมชายเป็นใหญ่’ ในอินเดีย ที่ได้รับอิทธิพลสำคัญมาจากมหากาพย์อันเลื่องชื่อ พร้อมฉายภาพปัจจุบันที่ภาวะดังกล่าวเริ่มสั่นคลอน โดยมีหมุดหมายสำคัญจากการที่ อินทิรา คานธี ได้รับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกในประวัติศาสตร์

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก

1 Oct 2018

World

16 Oct 2023

ฉากทัศน์ต่อไปของอิสราเอล-ปาเลสไตน์ ความขัดแย้งที่สั่นสะเทือนระเบียบโลกใหม่: ศราวุฒิ อารีย์

7 ตุลาคม กลุ่มฮามาสเปิดฉากขีปนาวุธกว่า 5,000 ลูกใส่อิสราเอล จุดชนวนความขัดแย้งซึ่งเดิมทีก็ไม่เคยดับหายไปอยู่แล้วให้ปะทุกว่าที่เคย จนอาจนับได้ว่านี่เป็นการต่อสู้ระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ที่รุนแรงที่สุดในรอบทศวรรษ

จนถึงนาทีนี้ การสู้รบระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ยังดำเนินต่อไปโดยปราศจากทีท่าของความสงบหรือยุติลง 101 สนทนากับ ดร.ศราวุฒิ อารีย์ ผู้อำนวยการศูนย์มุสลิมศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถึงเงื่อนไขและตัวแปรของความขัดแย้งที่เกิดขึ้น, ความสัมพันธ์ระหว่างอิสราเอลและรัฐอาหรับ, อนาคตของปาเลสไตน์ ตลอดจนระเบียบโลกใหม่ที่ก่อตัวขึ้นมาหลังยุคสงครามเย็น

พิมพ์ชนก พุกสุข

16 Oct 2023

World

9 Sep 2022

46 ปีแห่งการจากไปของเหมาเจ๋อตง: ทำไมเหมาเจ๋อตง(โหด)ร้ายแค่ไหน คนจีนก็ยังรัก

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์ เขียนถึงการสร้าง ‘เหมาเจ๋อตง’ ให้เป็นวีรบุรุษของจีนมาจนถึงปัจจุบัน แม้ว่าเขาจะอยู่เบื้องหลังการทำร้ายผู้คนจำนวนมหาศาลในช่วงปฏิวัติวัฒนธรรม

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

9 Sep 2022

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save