fbpx

รัฐธรรมนูญวิกฤตที่อิสราเอล

AHMAD GHARABLI/AFP ภาพ

พลันที่ห่าจรวดของขบวนการฮามาสโปรยถล่มอิสราเอล อิสราเอลก็กลายเป็นจุดสนใจของคนทั้งโลก ขณะนี้ คนไทยก็คงจับตาติดตามปฏิบัติการทางทหารและผลการเจรจาปลดปล่อยตัวประกันชาวไทยอย่างใกล้ชิด      

การโจมตีจากฮามาสนั้นเป็นภัยคุกคามความอยู่รอดของอิสราเอลอย่างร้ายแรง แต่ที่หลายคนอาจไม่ทราบคือ ก่อนการโจมตีของฮามาสจะเริ่มนั้น อิสราเอลก็กำลังอยู่ภายใต้เงาวิกฤตร้ายแรงที่อาจเปลี่ยนโฉมหน้าของรัฐแห่งนี้อยู่แล้ว ตั้งแต่ต้นปี 2023 เป็นต้นมา รัฐบาลอิสราเอลของเบนจามิน เนทันยาฮูต้องเผชิญกับคลื่นการประท้วงที่ใหญ่ที่สุดในประเทศด้วยคนหนุ่มสาวนับแสนต่างลงถนนเพื่อต่อต้านนโยบายรัฐบาล

หากอยากจะเข้าใจวิกฤตฮามาส การเข้าใจวิกฤตรัฐธรรมนูญอิสราเอลก็อาจเป็นเรื่องจำเป็น

วิกฤตรัฐธรรมนูญอิสราเอลเริ่มตั้งแต่การจัดตั้งรัฐบาลใหม่ปลายเดือนธันวาคม 2022 เมื่อเบนจามิน เนทันยาฮูสามารถจับมือกับพรรคการเมืองฝ่ายขวาจัดตั้งรัฐบาลผสมได้สำเร็จ หลังจากปีใหม่ 2023 ไม่กี่วัน พรรค Likud ก็เสนอร่างกฎหมายหลายฉบับเพื่อปฏิรูปตุลาการ ใจความหลักคือจำกัดอำนาจตุลาการในการตรวจสอบฝ่ายการเมือง ไม่ว่าจะให้อำนาจรัฐสภาในการลบล้างคำพิพากษาศาลที่สั่งให้กฎหมายขัดรัฐธรรมนูญนั้นสิ้นผลไป การเปลี่ยนแปลงวิธีการแต่งตั้งตุลาการ และห้ามศาลใช้หลักความสมเหตุสมผลในการเข้ามาตรวจสอบการกระทำของรัฐบาล แผนการของเนทันยาฮูถูกประณามอย่างรุนแรง ไม่ใช่เฉพาะจากสภาวิชาชีพและตุลาการเท่านั้น แต่หนุ่มสาวจำนวนมากในเมืองใหญ่ๆ ต่างพากันลงถนนประท้วงแผนการดังกล่าว

การประท้วงดำเนินไปยาวนานหลายเดือนและขยายวงออกไป นอกจากแรงงานภาคธุรกิจหรืออาจารย์มหาวิทยาลัยแล้ว ยังลามไปถึงเจ้าหน้าที่ของรัฐ แม้กระทั่งกองกำลังป้องกันตัวเองหรือหน่วยข่าวกรองก็มีข่าวร่วมประท้วงด้วยแม้จะไม่เปิดเผยก็ตาม ด้วยเหตุนี้เอง หลายคนสันนิษฐานว่าเป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้ฝ่ายความมั่นคงของอิสราเอลหละหลวมจนเกิดโศกนาฏกรรมฮามาสได้ในที่สุด

ทำไมถึงต้องประท้วง

อิสราเอลนั้นมีภาพที่ขัดแย้งกันสุดขั้วหลายประการ ในด้านหนึ่ง อิสราเอลเป็นรัฐเสรีประชาธิปไตยในภูมิภาคที่เกือบทั้งหมดปกครองด้วยเผด็จการในรูปแบบต่างๆ กัน ในทางเศรษฐกิจมีความก้าวหน้าด้านเทคโนโลยีสูง ด้านกฎหมายรัฐธรรมนูญ มีศาลสูงสุดที่ก้าวหน้า มีนักกฎหมายระดับโลกจำนวนมาก ในขณะเดียวกันก็เป็นรัฐที่มีภาพการกดขี่ข่มเหงประชากรปาเลสไตน์ การใช้ความรุนแรงเกินสัดส่วน มีประชากรเคร่งศาสนาสุดโต่งไม่น้อย ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีนั้นอิสราเอลได้ขายเทคโนโลยีสอดแนมเพกาซัสให้แก่เผด็จการทั่วโลกไว้เจาะข้อมูลโทรศัพท์ของนักกิจกรรมเพื่อประชาธิปไตย ความแตกต่างทั้งหมดนี้ สะท้อนหลักการพื้นฐานของรัฐอิสราเอลที่ยึดถือไว้ตั้งแต่ประกาศเอกราช คือ อิสราเอลเป็นรัฐประชาธิปไตยและรัฐยิว (democratic and Jewish state) ซึ่งคุณสมบัติทั้งสองประการนี้ดูจะไม่อาจเข้ากันได้ จึงปรากฏเป็นภาพสองขั้วในสังคม

ในทางการเมือง พรรคการเมืองฝ่ายขวาโหนกระแสประชานิยม อิงพวกสุดโต่งทางศาสนา ต่อต้านคุณค่าเสรีนิยม อิงพวกสุดโต่งคลั่งชาติ เหยียดประชากรอาหรับ ในขณะที่ศาลกลายมาเป็นตัวแทนของฝ่ายเสรีนิยมโดยไม่ตั้งใจ ตีความกฎหมายอย่างก้าวหน้า ส่งเสริมหลักการสิทธิมนุษยชน ขัดขืนความพยายามของพรรคการเมืองฝ่ายขวาที่จะยึดกุมอำนาจการเมืองให้เบ็ดเสร็จหรือทำลายหลักการพื้นฐานด้านสิทธิเสรีภาพ

ความพยายามจะปฏิรูปศาลของเนทันยาฮูจึงถูกมองว่าเป็นจุดเริ่มต้นของการทำลายรัฐอิสราเอล ที่ร้ายกาจคือภัยคุกคามนี้ไม่ได้มาจากภายนอก ไม่ได้มาจากสงคราม แต่มาจากภายในเองที่สังคมแตกแยก ประชากรจำนวนไม่น้อยเห็นว่าศาลเป็นพวกชนชั้นสูงที่ต่อต้านเสียงข้างมากของประชาชน จึงเป็นต้องรื้อถอนให้หมดอำนาจลงไป รัฐบาลเองเตรียมกฎหมายอีกจำนวนมากเพื่อลดอำนาจศาลลงไปอีก หากกฎหมายชุดแรกผ่านรัฐสภาสำเร็จ ประชากรอีกส่วนต้านทานสุดความสามารถ นานนับเดือนที่พวกเขาเช้าไปทำงาน เย็นเจอกันบนถนน เคราะห์ดีของอิสราเอลคือตำรวจอิสราเอลไม่ใช่ตำรวจไทย ระดับความรุนแรงที่พวกเขาเจอต่างจากเยาวชนไทยลิบลับ

ขณะนี้ วิกฤตฮามาสเข้ามายุติกระแสต่อต้านเนทันยาฮูชั่วคราว ขณะที่นายกรัฐมนตรีอิสราเอลกำลัง ‘เล่นใหญ่’ เพื่อกลบเกลื่อนความไม่พอใจรัฐบาลเนื่องจากความพยายามปฏิรูปศาล โดยผลักต้นทุนให้ชาวปาเลสไตน์รับไป

การปฏิรูปศาลนั้นบางครั้งก็จำเป็น ฝ่ายการเมืองควรมีอำนาจและเครื่องมือเพื่อต่อกรกับศาลที่ลุแก่อำนาจ หรือต่อต้านหลักการเสียงข้างมาก แต่ในหลายกรณี การปฏิรูปศาลเป็นข้ออ้างของนักการเมืองเพื่อสร้างเกราะคุ้มกันความรับผิดของตน ความเข้าใจว่าอะไรคือการปฏิรูปศาลที่ดีหรือไม่ดีจึงสำคัญอย่างยิ่ง ไม่ใช่ทำไม่ได้เสียเลย มิเช่นนั้นก็อาจกลายเป็นรัฐบาลโดยศาล แต่หากทำได้หมดทุกอย่าง ก็สิ้นประชาธิปไตย สิ้นนิติธรรมเช่นกัน ในกรณีอิสราเอลนี้ ที่น่าสนใจคือความขัดแย้งระหว่างศาลกับรัฐบาลต่างจากของไทยเป็นคนละขั้ว

MOST READ

World

1 Oct 2018

แหวกม่านวัฒนธรรม ส่องสถานภาพสตรีในสังคมอินเดีย

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก สำรวจที่มาที่ไปของ ‘สังคมชายเป็นใหญ่’ ในอินเดีย ที่ได้รับอิทธิพลสำคัญมาจากมหากาพย์อันเลื่องชื่อ พร้อมฉายภาพปัจจุบันที่ภาวะดังกล่าวเริ่มสั่นคลอน โดยมีหมุดหมายสำคัญจากการที่ อินทิรา คานธี ได้รับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกในประวัติศาสตร์

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก

1 Oct 2018

World

16 Oct 2023

ฉากทัศน์ต่อไปของอิสราเอล-ปาเลสไตน์ ความขัดแย้งที่สั่นสะเทือนระเบียบโลกใหม่: ศราวุฒิ อารีย์

7 ตุลาคม กลุ่มฮามาสเปิดฉากขีปนาวุธกว่า 5,000 ลูกใส่อิสราเอล จุดชนวนความขัดแย้งซึ่งเดิมทีก็ไม่เคยดับหายไปอยู่แล้วให้ปะทุกว่าที่เคย จนอาจนับได้ว่านี่เป็นการต่อสู้ระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ที่รุนแรงที่สุดในรอบทศวรรษ

จนถึงนาทีนี้ การสู้รบระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ยังดำเนินต่อไปโดยปราศจากทีท่าของความสงบหรือยุติลง 101 สนทนากับ ดร.ศราวุฒิ อารีย์ ผู้อำนวยการศูนย์มุสลิมศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถึงเงื่อนไขและตัวแปรของความขัดแย้งที่เกิดขึ้น, ความสัมพันธ์ระหว่างอิสราเอลและรัฐอาหรับ, อนาคตของปาเลสไตน์ ตลอดจนระเบียบโลกใหม่ที่ก่อตัวขึ้นมาหลังยุคสงครามเย็น

พิมพ์ชนก พุกสุข

16 Oct 2023

World

9 Sep 2022

46 ปีแห่งการจากไปของเหมาเจ๋อตง: ทำไมเหมาเจ๋อตง(โหด)ร้ายแค่ไหน คนจีนก็ยังรัก

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์ เขียนถึงการสร้าง ‘เหมาเจ๋อตง’ ให้เป็นวีรบุรุษของจีนมาจนถึงปัจจุบัน แม้ว่าเขาจะอยู่เบื้องหลังการทำร้ายผู้คนจำนวนมหาศาลในช่วงปฏิวัติวัฒนธรรม

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

9 Sep 2022

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save