fbpx

“ได้กลิ่นความเจริญ..หรือสิ้นหวัง?” คนอินโดนีเซียคิดอย่างไรกับว่าที่ประธานาธิบดีคนใหม่ ‘ปราโบโว ซูเบียนโต’

เสียงดนตรีดังกระหึ่มคลอเคล้าไปกับเสียงไชโยโห่ร้องของคนอินโดนีเซียหลักพันในสนามกีฬา Istora Senayan ใจกลางกรุงจาการ์ตา ในยามเย็นของวันเลือกตั้งทั่วไป 14 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา เมื่อมวลชนตรงนั้นเห็นผลการนับคะแนนเลือกตั้งประธานาธิบดีเบื้องต้นปรากฏบนหน้าจอยักษ์ ตัวเลขนั้นชี้ว่า ปราโบโว ซูเบียนโต (Prabowo Subianto) และ กีบรัน รากาบูมิง รากา (Gibran Rakabuming Raka) ผู้สมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดีและรองประธานาธิบดีอินโดนีเซีย ได้รับคะแนนเสียงนำมาเป็นอันดับหนึ่งที่ราวร้อยละ 58 ทิ้งห่างผู้สมัครคนอื่นหลายช่วงตัว

สำหรับปราโบโว แม้เขาจะลงเลือกตั้งชิงเก้าอี้ผู้นำประเทศมาแล้วหลายครั้ง แต่นี่คือครั้งแรกของเขาที่การเลือกตั้งสิ้นสุดลงด้วยการขึ้นปราศรัยประกาศชัยชนะท่ามกลางการเฉลิมฉลองของเหล่ากองเชียร์ที่ไปร่วมงานกันอย่างอุ่นหนาฝาคั่ง 

ก่อนหน้านี้ ปราโบโวคือผู้ผิดหวังจากการเลือกตั้งมาโดยตลอด ตั้งแต่ครั้งแรกในปี 2009 ที่เขาลงชิงตำแหน่งรองประธานาธิบดี โดยมีผู้สมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดีคือเมกาวาตี ซูการ์โนปุตรี (Megawati Sukarnoputri) ไปจนถึงการเลือกตั้งในปี 2014 และ 2019 ที่เขาลงเลือกตั้งในตำแหน่งประธานาธิบดีแข่งกับ โจโก วีโดโด (Joko Widodo) หรือ โจโกวี (Jokowi) ทั้งสองครั้ง ชัยชนะของปราโบโวในการเลือกตั้งปี 2024 นี้ จึงเป็นเสมือนจุดสิ้นสุดของความพยายามอันยาวนานของเขาเอง แถมยังเป็นชัยชนะที่สง่าผ่าเผยด้วยคะแนนเสียงที่เรียกเต็มปากได้ว่า ‘แลนด์สไลด์’

แต่เพราะอะไร ชายผู้ที่แพ้การเลือกตั้งมาทุกครั้ง ถึงสามารถก้าวขึ้นสู่ชัยชนะอันท่วมท้นได้ในวันนี้? 101 ลงพื้นที่กรุงจาการ์ตา ประเทศอินโดนีเซีย ในช่วงการเลือกตั้ง สัมภาษณ์กองเชียร์ของปราโบโวบางส่วน ว่าทำไมปราโบโวถึงเป็นคำตอบสุดท้ายของพวกเขาในการเลือกตั้งครั้งนี้ รวมทั้งคุยกับคนอินโดนีเซียอีกกลุ่มหนึ่งที่ไม่ได้เลือกปราโบโวว่าเหตุใดเขาถึงคิดสวนกระแสความนิยมของสังคม

"ได้กลิ่นความเจริญ..หรือสิ้นหวัง?" คนอินโดนีเซียคิดอย่างไรกับว่าที่ประธานาธิบดีคนใหม่ 'ปราโบโว ซูเบียนโต'
ปราโบโว ซูเบียนโต (ซ้าย) และ กิบรัน รากาบูมิง รากา (ขวา) ในการปราศรัยประกาศชัยชนะการเลือกตั้ง

“ไม่ต้องการการเปลี่ยนแปลง ทำของเดิมให้ดีขึ้นก็พอ”
อานิสงส์โจโกวี สู่ความนิยมปราโบโว-กีบรัน

ฉันไม่ได้ต้องการการเปลี่ยนแปลง ฉันแค่อยากให้สานต่อการพัฒนาที่ทำมาอยู่แล้ว และทำให้มันดีขึ้นกว่าเดิม แล้วฉันก็เชื่อว่าเขา (ปราโบโว) จะนำนโยบายของโจโกวีมาสานต่อ” ดีนี (Dini) สาวอินโดนีเซียวัย 18 ปี อธิบายให้เราฟังถึงเหตุผลที่เธอตัดสินใจเลือกปราโบโวเป็นประธานาธิบดี

เช่นเดียวกับฟากรุล (Fakrul) ชายวัย 43 ปี ที่มาเป็นอาสาสมัครในทีมหาเสียงของปราโบโว-กีบรัน เขาให้เหตุผลที่ลงคะแนนให้ปราโบโวว่า “นโยบายที่ทีมปราโบโวเสนอดีกว่าทีมอื่นอยู่แล้ว และที่สำคัญเป็นเพราะทีมปราโบโวยังได้รับการสนับสนุนจากโจโกวีด้วย”  

จากการพูดคุยกับกองเชียร์ของปราโบโวหลายคน ความนิยมชมชอบในตัวของประธานาธิบดีโจโกวีถือเป็นเหตุผลสำคัญที่ทำให้พวกเขาเลือกปราโบโวในการเลือกตั้งครั้งนี้

แม้โจโกวีจะไม่เคยพูดว่าให้การสนับสนุนผู้สมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดีคนไหนในการเลือกตั้งครั้งนี้ แต่การที่ปราโบโวเปิดตัวกีบรัน ลูกชายของโจโกวี เป็นคู่หูชิงตำแหน่งรองประธานาธิบดี ก็เป็นเสมือนการส่งสัญญาณกลายๆ ว่าปราโบโวคือคนที่โจโกวีหนุนหลัง โดยไม่จำเป็นต้องเอ่ยปาก ก่อนที่เวลาต่อมาไม่นาน ภาพถ่ายของปราโบโวร่วมโต๊ะอาหารกับโจโกวีสองต่อสอง ที่ถูกเผยแพร่ออกมาผ่านทางบัญชีโซเชียลมีเดียส่วนตัวของปราโบโวเอง ก็ยิ่งตอกย้ำถึงสัญญาณตรงนี้

ประธานาธิบดีโจโกวี

อย่างที่ว่าไปแล้ว ปราโบโวคือคู่แข่งของโจโกวีในการเลือกตั้งประธานาธิบดีมาติดต่อกันสองครั้ง แต่การเมืองอินโดนีเซียไม่มีมิตรแท้และศัตรูที่ถาวร คล้อยหลังจากที่โจโกวีประกาศชัยชนะในศึกเลือกตั้งปี 2019 เหนือปราโบโวได้ไม่นาน โจโกวีก็ชักชวนปราโบโวมาร่วมรัฐบาลในตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ถือเป็นการจีบมือข้ามขั้วที่ฮือฮาทั่วอินโดนีเซียในตอนนั้น และปราโบโวก็อยู่ร่วมในรัฐบาลของโจโกวีมาจนครบเทอมกระทั่งมีการเลือกตั้งปี 2024 ที่ผ่านมา

แม้จะครองอำนาจติดต่อกันมาต่อเนื่องยาวนานถึง 10 ปี แต่คะแนนนิยมของโจโกวีก็ลอยตัวสูงที่ราวร้อยละ 70-80 อย่างแทบไม่มีตก ด้วยภาพลักษณ์ที่ติดดิน เข้าถึงง่าย และมีผลงานเป็นที่เห็นประจักษ์มากมาย

“ในยุคของโจโกวี ประเทศพัฒนาเยอะ โครงสร้างพื้นฐานใหม่ๆ เช่น ทางรถไฟ และทางด่วน เกิดขึ้นเยอะมากกว่ายุคไหนๆ โจโกวีทำอะไรไว้เยอะมาก” ผู้สนับสนุนปราโบโวอย่างฟากรุล เล่าให้เราฟัง

ขณะที่กองเชียร์ปราโบโวอีกคนหนึ่งอย่างโซลีอา (Soleoi) สาววัย 45 ปี ก็ชื่นชมโจโกวีให้ฟังว่า “ในยุคโจโกวี เรามีสวัสดิการสังคมที่ดี มีความช่วยเหลือต่างๆ ให้มากมาย อย่างคนที่มีลูกแล้วอย่างฉัน รัฐบาลก็มีสวัสดิการมาช่วย”

ผลงานในการเดินหน้าพัฒนาประเทศที่เป็นรูปธรรมจับต้องได้ คือเหตุผลสำคัญที่ทำให้ประชาชนอินโดนีเซียจำนวนมากยังคงชื่นชอบและต้องการให้โจโกวีเป็นผู้นำประเทศต่อไป โดยผลสำรวจคะแนนนิยมในตัวโจโกวีล่าสุดชี้ว่าประชาชนสูงถึงเกินกว่าร้อยละ 70 ยังคงนิยมในตัวโจโกวี ซึ่งถือเป็นตัวเลขที่ประคองตัวในระดับสูงมาต่อเนื่องยาวนาน แม้โจโกวีจะปกครองประเทศมาเป็นปีที่ 10 แล้ว

แต่ด้วยข้อกำหนดของรัฐธรรมนูญที่ห้ามประธานาธิบดีดำรงตำแหน่งเกินสองสมัยติดต่อกัน โจโกวีจึงไม่อาจลงเลือกตั้งรักษาตำแหน่งในครั้งนี้ได้ ประชาชนที่ยังนิยมชมชอบในโจโกวีจึงเฝ้ารอว่าโจโกวีจะสนับสนุนผู้สมัครคนใดเป็นประธานาธิบดีต่อจากเขา สื่อมวลชนและนักวิเคราะห์ต่างๆ จึงกล่าวกันว่า โจโกวีเปรียบเสมือน “kingmaker” ของจริงในการเลือกตั้งครั้งนี้ จนกระทั่งสัญญาณจากโจโกวีเริ่มชัดเจนขึ้นว่าคนที่เขาเลือกคือปราโบโว คะแนนในโพลสำรวจนิยมของปราโบโวจึงพุ่งขึ้นอย่างรวดเร็วทันที

เพราะฉะนั้น หากจะกล่าวว่า ปราโบโว “มีวันนี้ เพราะโจโกวีให้” ก็คงไม่อาจปฏิเสธได้ว่าเป็นจริง

ฟากรุล

ให้เครดิตโจโกวีอย่างเดียวก็ไม่ถูก

แต่ถ้าจะว่าความสำเร็จในการเลือกตั้งของปราโบโวเป็นเพราะโจโกวีทั้งหมดก็คงไม่เป็นธรรมกับปราโบโวนัก เพราะความนิยมในตัวปราโบโวเองก็ใช่ว่าจะด้อยไปกว่าโจโกวีเสียทีเดียว เมื่อย้อนดูการเลือกตั้งสองครั้งก่อนหน้าในปี 2014 และ 2019 ที่ปราโบโวแข่งกับโจโกวี จะเห็นว่าแม้ปราโบโวจะแพ้ แต่ก็เป็นการแพ้อย่างฉิวเฉียด เพราะคะแนนเสียงของเขาก็สูงถึงร้อยละ 45-46

“ปราโบโวเป็นคนมีประสบการณ์เยอะและหลากหลายกว่า (ผู้สมัคร) คนอื่นๆ มีทั้งประสบการณ์การเมืองและการทหาร เขาประสบความสำเร็จในตั้งพรรคของตัวเองขึ้นมาได้ด้วย (พรรค Gerindra)” ฟากรุล เล่าถึงเหตุผลอีกข้อหนึ่งที่ทำให้เขาเชื่อมั่นว่าปราโบโวคือคนที่เหมาะสมที่สุดที่จะขึ้นเป็นผู้นำอินโดนีเซียคนต่อไป

ประสบการณ์ชีวิตและการทำงานที่โชกโชนของปราโบโวถือเป็นปัจจัยสำคัญหนึ่งที่ทำให้คนจำนวนมากเชื่อมั่นในตัวปราโบโว ตัวปราโบโวเองเคยหยิบจับงานมาแล้วหลายบทบาท ตั้งแต่การเป็นนักธุรกิจที่ประสบความสำเร็จในหลากหลายอุตสาหกรรม การเป็นทหารในระดับผู้บัญชาการกองกำลังที่ผ่านปฏิบัติการสำคัญระดับชาติมาแล้วหลายปฏิบัติการ ไปจนถึงการเข้ามาโลดแล่นในแวดวงการเมือง โดยสามารถขึ้นสู่จุดสูงสุดที่ตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ประกอบกับภูมิหลังการศึกษาที่เรียนจบมาจากต่างประเทศ ปราโบโวจึงเป็นตัวเลือกที่ครบเครื่องของใครหลายคน

"ได้กลิ่นความเจริญ..หรือสิ้นหวัง?" คนอินโดนีเซียคิดอย่างไรกับว่าที่ประธานาธิบดีคนใหม่ 'ปราโบโว ซูเบียนโต'
ปราโบโว ซูเบียนโต

ขณะเดียวกัน ในการเลือกตั้งครั้งนี้ ปราโบโวยังปรับกลยุทธ์หันมาดึงดูดคะแนนเสียงจากคนรุ่นใหม่กลุ่มเจนซี (Gen Z) และมิลเลนเนียลส์ (Millennials) ซึ่งถือเป็นประชากรผู้มีสิทธิเลือกตั้งกลุ่มใหญ่ที่สุดด้วยสัดส่วนราวร้อยละ 50 ต้นๆ ปราโบโวต้องปรับภาพลักษณ์จากเดิมที่ดูขึงขัง มาเป็นคุณลุงน่ารักใจดี อดีตนายทหารผู้ดุดันแข็งกร้าวอย่างปราโบโวต้องยอมลงทุนมาเต้นโชว์บนเวทีปราศรัยจนกลายเป็นคลิปไวรัล รวมทั้งยังใช้จำลองภาพตัวเองเป็นตัวการ์ตูนบนป้ายหาเสียงและของที่ระลึกต่างๆ นับได้ว่าการปรับบุคลิกท่าทีตรงนี้ก็เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ปราโบโวดึงคะแนนเสียงจากคนรุ่นใหม่ได้สำเร็จ

ขณะที่ผู้สมัครรองประธานาธิบดีอย่างกีบรันนั้น ไม่อาจปฏิเสธได้เลยว่าบารมีของพ่อ ประธานาธิบดีโจโกวี คือส่วนสำคัญที่สุดที่หนุนเสริมความนิยมในตัวเขา แต่อีกส่วนหนึ่ง ผลงานทางการเมืองของเขาในฐานะนายกเทศมนตรีเมืองสุรากาตาร์ หรือโซโล เมืองเอกของจังหวัดชวากลาง ก็ทำให้เขาได้รับความเชื่อมั่นจากคนบางกลุ่ม

หนึ่งในนั้นคือโซฟราน (Sofran) หนุ่มวัย 21 ปี ที่มีบ้านเกิดในเมืองโซโล ในวันที่ 10 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นวัยปราศรัยใหญ่ครั้งสุดท้ายก่อนการเลือกตั้ง โซฟรานเดินทางจากโซโล เข้ามาที่กรุงจาการ์ตาเพื่อมาเชียร์ทีมปราโบโว-กีบรัน ถึงเวทีปราศรัยโดยเฉพาะ

โซฟรานบอกกับเราว่า เหตุผลหนึ่งที่เขาเลือกปราโบโวกับกีบรันนั้นเป็นการเลือกตามครอบครัว เพราะพ่อของเขาเคยเป็นทหาร จึงมีความชื่นชอบปราโบโวเป็นการส่วนตัว แต่ตัวของโซฟรานเองก็ชอบปราโบโว-กีบรันอยู่เช่นกัน โดยเฉพาะกีบรัน

“กีบรันเป็นนายกเทศมนตรีเมืองโซโล ซึ่งเป็นบ้านเกิดของผมเอง เขาเป็นคนที่มีผลงานเยอะ การจัดการเมือง การพัฒนาเศรษฐกิจต่างๆ ก็สามารถทำได้ดี เมืองมีความเป็นระเบียบเรียบร้อยมาก” โซฟรานกล่าว

ก่อนหน้าที่ตำแหน่งนายกเทศมนตรีเมืองโซโลจะเป็นของกีบรันมาตั้งแต่ปี 2021 ตำแหน่งนี้ก็เคยเป็นที่แจ้งเกิดทางการเมืองของโจโกวี โดยโจโกวีบริหารเมืองนี้มายาวนานตั้งแต่ปี 2005 จนถึง 2012 และได้รับการจัดอันดับว่าเป็นนายกเทศมนตรีที่ดีที่สุดเป็นอันดับสามของโลกในช่วงนั้น ความสำเร็จอันลือลั่นในการบริหารเมืองแห่งนี้สร้างความเชื่อมั่นให้ประชาชนเลือกเขาเป็นผู้ว่าราชการกรุงจาการ์ตา และเลือกเป็นประธานาธิบดีในเวลาต่อมา

สำหรับโซฟราน เขาบอกว่าเขายังเด็กเกินกว่าที่จะจำได้ว่าบ้านเกิดของเขาในยุคที่โจโกวีเป็นนายกเทศมนตรีพัฒนาไปขนาดไหน ภาพของนายกเทศมนตรีที่ชื่อกีบรันจึงแจ่มชัดในความทรงจำมากกว่าสำหรับเขา และเขาก็เชื่อว่าผลงานที่ผ่านมาของกีบรันคือบทพิสูจน์ว่าเขาจะสามารถทำงานในฐานะรองประธานาธิบดีได้

"ได้กลิ่นความเจริญ..หรือสิ้นหวัง?" คนอินโดนีเซียคิดอย่างไรกับว่าที่ประธานาธิบดีคนใหม่ 'ปราโบโว ซูเบียนโต'
โซฟราน

“การเลือกตั้งเพื่อยุติการเลือกตั้งทั้งหมด”
แสงประชาธิปไตยใกล้ริบหรี่ใต้ชัยชนะปราโบโว?

แม้จะประสบความสำเร็จอย่างล้นหลามในการเลือกตั้งที่ผ่านมาในฐานะรันนิงเมตของปราโบโว แต่ชัยชนะของกีบรันกลับไม่ได้สง่าผ่าเผยนัก เพราะเขาต้องเผชิญข้อครหาติดตัวจากการที่ตัวเขามีอายุเพียง 36 ปี ซึ่งไม่เข้าตามคุณสมบัติที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญว่าผู้ลงสมัครเลือกตั้งตำแหน่งนี้ต้องมีอายุไม่ต่ำกว่า 40 ปี แต่ศาลรัฐธรรมนูญกลับมีคำวินิจฉัย ที่แม้จะยังคงให้ผู้สมัครต้องมีอายุขั้นต่ำตามเดิม แต่มีข้อยกเว้นว่าหากเป็นบุคคลที่เคยได้รับเลือกตั้งสู่ตำแหน่งทางการเมืองบางตำแหน่ง จะสามารถลงสมัครได้ นั่นจึงเป็นการเปิดทางให้กิบรันที่เคยได้รับเลือกเป็นนายกเทศมนตรีเมืองโซโลมาก่อน เข้าคุณสมบัติที่จะลงชิงตำแหน่ง

ผลการวินิจฉัยที่ออกมาแบบนี้สร้างข้อกังขาแก่คนอินโดนีเซียจำนวนไม่น้อย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อพบว่าหัวหน้าคณะผู้พิพากษาในกรณีนี้ไม่ใช่ใครอื่น แต่เป็นน้องเขยของประธานาธิบดีโจโกวี และน้าเขยของกีบรันเอง สำหรับคนอินโดนีเซียหลายคน พวกเขาจึงทำใจเชื่อได้ยากว่าโจโกวีจะไม่มีส่วนรู้เห็นในการออกคำวินิจฉัยนี้

ขณะที่แฟนคลับโจโกวีและคนที่ตัดสินใจเลือกปราโบโว-กีบรัน เลือกที่จะมองข้ามเรื่องนี้ เช่น ฟากรุล ที่บอกกับเราว่า “เรื่องแบบนี้ต้องมีบ้าง เป็นธรรมดาของการเมือง” แต่สำหรับคนอินโดนีเซียอีกจำนวนไม่น้อย นี่ถือเป็นจุดด่างพร้อยใหญ่ของโจโกวี

"ได้กลิ่นความเจริญ..หรือสิ้นหวัง?" คนอินโดนีเซียคิดอย่างไรกับว่าที่ประธานาธิบดีคนใหม่ 'ปราโบโว ซูเบียนโต'
กิบรัน รากาบูมิง รากา

“ตอนที่โจโกวีเป็นประธานาธิบดีแรกๆ ผมก็ชอบอยู่ แต่หลังๆ เขาพยายามนำลูกมาเล่นการเมือง แล้วก็แก้กฎหมายที่เอื้อให้ลูกเขา ซึ่งผมว่าไม่ใช่เรื่องที่ดี” อันนุส (Annus) ชายอินโดนีเซียคนหนึ่ง เล่าถึงเหตุที่เกิดขึ้นว่าเป็นจุดสำคัญที่ทำให้เขาเสื่อมศรัทธาในโจโกวี จึงทำให้เขาหันไปเลือกผู้สมัครอีกคนหนึ่งคืออานีส บัสเวดัน (Anies Baswedan)

ดียาครัม (Dhiyakram) ชายวัย 19 ก็เป็นอีกคนที่หันไปเลือกอานีสด้วยเหตุผลคล้ายกัน เขาบอกว่า “ส่วนตัวผมก็เคยชอบโจโกวี แต่หลังๆ มานี้ เขากลับแหกกฎรัฐธรรมนูญ แล้วในสมัยของเขา ประชาธิปไตยก็ถอยหลังลงคลองเรื่อยๆ”

อันที่จริง นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่ประธานาธิบดีโจโกวีถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่าทำลายหลักการประชาธิปไตย เพราะในช่วงวาระดำรงตำแหน่งของเขา มีหลายการกระทำที่สร้างข้อวิตกกังวลให้สาธารณชน โดยเฉพาะการแก้ไขกฎหมายต่างๆ ที่เพิ่มอำนาจให้ประธานาธิบดีและฝ่ายบริหาร และลดอำนาจขององค์กรอิสระบางองค์กร ขณะที่ผู้วิพากษ์วิจารณ์รัฐ นักกิจกรรม และสื่อมวลชนต่างๆ ก็ถูกคุกคามเพิ่มขึ้นมาก หลายคนจึงมองว่ายุคสมัยของโจโกวีคือการหักหัวลงของพัฒนาการทางประชาธิปไตยอินโดนีเซียที่เดินหน้ามาตลอดหลังสิ้นสุดยุคเผด็จการพลเอกซูฮาร์โตในปี 1998

แม้วาระของโจโกวีกำลังจะสิ้นสุดลงในปีนี้ แต่คนอินโดนีเซียจำนวนหนึ่งเชื่อว่าประชาธิปไตยของประเทศกำลังดิ่งเหวลงอีก เมื่อผู้คว้าชัยชนะในการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมาคือปราโบโว

“This is the election to end all of elections.” แปลเป็นไทยว่า “นี่คือการเลือกตั้งเพื่อยุติการเลือกตั้งทั้งหมด” คือประโยคแรกที่มิฟฮาตุล โชอีร์ (Miftahul Choir) นักเคลื่อนไหวด้านสิทธิมนุษยชนในอินโดนีเซีย ตอบกับเรา เมื่อเราถามถึงอนาคตของอินโดนีเซียหลังการเลือกตั้ง 2024 ที่ผ่านมา

“ปราโบโวเคยพูดไว้ว่าเขาต้องการแก้รัฐธรรมนูญให้กลับไปสู่รัฐธรรมนูญฉบับดั้งเดิมในปี 1945 ซึ่งรัฐธรรมนูญฉบับนี้ไม่มีการเลือกตั้ง ขณะเดียวกันในช่วงปี 2014-2015 เขาก็เคยพูดว่าการเลือกตั้งคือเครื่องมือของโลกตะวันตกในการเข้ามาแทรกแซงอินโดนีเซีย ผมเชื่อว่าเขายังคงคิดแบบนี้อยู่ไม่เปลี่ยนแปลง เพราะนั้นผมกลัวว่าการเลือกตั้งครั้งนี้จะเป็นครั้งสุดท้าย” มิฟตาฮุลอธิบายให้เราฟัง

"ได้กลิ่นความเจริญ..หรือสิ้นหวัง?" คนอินโดนีเซียคิดอย่างไรกับว่าที่ประธานาธิบดีคนใหม่ 'ปราโบโว ซูเบียนโต'
มิฟตาฮุล โชอีร์

ขณะที่ดัฟฟา บาตูบารา (Daffa Batubara) นักเคลื่อนไหวในขบวนการนักศึกษากลุ่ม Blok Politik Pelajar (BPP) ที่เพิ่งเกิดขึ้นในปี 2021 เพื่อเรียกร้องด้านประชาธิปไตย ก็มองเช่นกันว่าอนาคตประชาธิปไตยในมือปราโบโวกำลังจะน่าเป็นห่วง

“ในยุคซูฮาร์โต เขาเป็นนายทหารระดับสูงที่มีบทบาทมากมายและเคยบัญชาการมาแล้วหลายหน่วย และในช่วงปี 1997-1998 (ช่วงการเคลื่อนไหวของประชาชนขับไล่ซูฮาร์โต) เขาก็คือคนที่มีส่วนสั่งการให้กองทัพลักพาตัวนักเคลื่อนไหวและละเมิดสิทธิมนุษยชนต่อผู้คนจำนวนมาก” ดัฟฟากล่าว

นอกจากในเหตุการณ์ดังกล่าว ปราโบโวยังถูกกล่าวหาว่ามีส่วนร่วมในการละเมิดสิทธิมนุษยชนในหลายพื้นที่ เช่นในระหว่างที่เขาเป็นผู้บัญชาการกองกำลังพิเศษในติมอร์ตะวันออก ช่วงทศวรรษ 1980s ซึ่งขณะนั้นติมอร์ตะวันออกยังคงถูกผนวกเป็นส่วนหนึ่งของอินโดนีเซีย การมีส่วนพัวพันในกรณีที่ยังไม่เคยได้รับการสืบสวนและสะสางอย่างจริงจังเหล่านี้ทำให้หลายคน รวมถึงดัฟฟา มองว่าปราโบโวอาจกำลังทำให้สิทธิมนุษยชนของประเทศกำลังตกอยู่ในอันตราย

“จริงๆ โจโกวีก็เผด็จการ แต่เขาก็ยังสวมหน้ากากบังหน้าให้เห็นว่าเป็นคนดีอยู่ ขณะที่ปราโบโวคือเผด็จการที่เปิดเผยใบหน้าชัดเจน” ดัฟฟากล่าว

"ได้กลิ่นความเจริญ..หรือสิ้นหวัง?" คนอินโดนีเซียคิดอย่างไรกับว่าที่ประธานาธิบดีคนใหม่ 'ปราโบโว ซูเบียนโต'
ดัฟฟา บาตูบารา

ไฉนจึงยังคงลอยนวลพ้นผิด?

บ่ายสามโมงตรงของวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2024 หนึ่งวันหลังผ่านพ้นการเลือกตั้งใหญ่ มวลชนกลุ่มหนึ่งนัดหมายรวมตัวกันในชุดสีดำล้วน พร้อมกางร่มสีดำ ยืนสงบนิ่งท่ามกลางสายฝนบริเวณหน้าทำเนียบประธานาธิบดี ณ ใจกลางกรุงจาการ์ตา

นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่คนกลุ่มนี้มารวมตัวยืนประท้วงอย่างสันติที่บริเวณดังกล่าว แต่พวกเขานัดหมายมารวมตัวกันที่นี่ในทุกวันพฤหัสบดีช่วงบ่าย พร้อมเสื้อและร่มสีดำเหมือนเดิมทุกสัปดาห์ ภายใต้ชื่อ Aksi Kamisan (Thursday Action) หรือปฏิบัติการวันพฤหัสบดี

“ฉันมายืนตรงนี้เพราะต้องการมาช่วยเรียกร้องความยุติธรรมให้กับคนที่ตกเป็นเหยื่อของการละเมิดสิทธิมนุษยชนในเหตุการณ์ความไม่สงบปี 1998 พวกเราต้องการคำตอบจากทางการว่าบรรดาคนที่สูญหายไปนั้นเป็นตายร้ายดีอย่างไร และจะชดเชยแก่ผู้คนที่ตกเป็นเหยื่อได้อย่างไร” สาววัย 19 ปีผู้ไม่ประสงค์ออกนามเล่าถึงเหตุผลในการมาร่วมชุมนุมครั้งนี้

Aksi Kamisan เป็นการรวมตัวของกลุ่มคนที่ต้องการเรียกร้องให้รัฐชำระสะสางกรณีการละเมิดสิทธิมนุษยชนต่างๆ ในอดีต โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเหตุการณ์จลาจลขับไล่เผด็จการซูฮาร์โตในเดือนพฤษภาคม 1998 (May 1998 Riots) ที่รัฐกระทำการสังหาร ลักพาตัว และบังคับสูญหายคนเป็นจำนวนมาก โดยคนจำนวนมากที่เข้าร่วม Aksi Kamisan นั้น ก็คือบรรดาสมาชิกครอบครัวของเหยื่อในเหตุการณ์นั้น

การชุมนุมของ Aksi Kamisan จัดมาต่อเนื่องทุกสัปดาห์ติดต่อกันมาเป็นปีที่ 17 นับจากการชุมนุมครั้งแรกที่จัดขึ้นเมื่อวันที่ 18 มกราคม 2007 และครั้งล่าสุดในวันที่ 15 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมานี้ถือเป็นการจัดชุมนุมครั้งที่ 805 โดยการชุมนุมครั้งนี้จัดว่าเป็นครั้งสำคัญยิ่ง เนื่องจากเกิดขึ้นเพียงวันเดียวหลังการเลือกตั้งที่ผู้ร่วมขบวนการมองว่าไม่ได้เป็นไปอย่างบริสุทธิ์ยุติธรรม และที่สำคัญ คือเป็นการเลือกตั้งที่กำลังนำมาซึ่งความถดถอยของประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชนของประเทศ ทำให้โอกาสที่เหยื่อของการกระทำโดยรัฐในอดีตจะได้รับคืนความเป็นธรรมริบหรี่ลงไปอีก

“ชัยชนะของปราโบโวจะทำให้เหยื่อยิ่งหมดโอกาสได้รับความเป็นธรรม และเราอาจจะไม่มีโอกาสเดินหน้าเรื่องนี้อีกแล้วก็ได้” ฮาร์ดิงกา (Hardingga) หนุ่มวัย 31 ผู้เป็นส่วนหนึ่งของ Aksi Kamisan ให้ความเห็น

ฮาร์ดิงกาไม่ได้เป็นเพียงคนทั่วไปที่เข้าร่วม Aksi Kamisan เพียงเพื่อช่วยเรียกร้องความเป็นธรรมแก่เหยื่อเท่านั้น แต่เป็นเพราะพ่อของเขาก็คือคนหนึ่งที่หายสาบสูญไปอย่างไร้ร่องรอยตั้งแต่ปี 1997 ขณะที่ฮาร์ดิงกายังมีอายุเพียง 5 ขวบ โดยเชื่อกันว่าพ่อของเขาถูกลักพาตัวไปเนื่องจากแสดงตัวเป็นผู้สนับสนุนขั้วการเมืองฝ่ายตรงข้ามรัฐบาลซูฮาร์โตชัดเจนในตอนนั้น

ในการสูญหายไปของพ่อเขานั้น ฮาร์ดิงกาชี้ว่าบุคคลหนึ่งที่ต้องแสดงความรับผิดชอบคือปราโบโว ซึ่งเป็นผู้บัญชาการกองกำลัง Kopassus ที่มีการเปิดเผยว่าได้ลักพาตัวประชาชนฝ่ายต่อต้านมากมาย ขณะที่ปราโบโวก็เคยออกมายอมรับด้วยตัวเองว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ โดยบอกว่าทำไปตามคำสั่งของซูฮาร์โต ซึ่งเป็นพ่อตาของเขาในตอนนั้น

เช่นเดียวกับมาเรีย ซานู (Maria Sanu) ที่ลูกชายอายุ 16 ปีของเธอต้องเสียชีวิตไปท่ามกลางเหตุจลาจลในเดือนพฤษภาคม 1998 ทั้งที่ลูกชายของเธอเป็นแค่เด็กวัยรุ่นที่ไม่ได้ตั้งใจออกไปเคลื่อนไหวทางการเมืองใดๆ ทั้งสิ้น มาเรียชี้ว่าปราโบโวคือผู้มีส่วนในปฏิบัติการ และไม่สมควรที่จะขึ้นเป็นผู้นำประเทศขณะที่ชนักยังติดหลัง

“พวกเราไม่ยอมรับตั้งแต่ที่ปราโบโวประกาศตัวเป็นแคนดิเดตลงชิงตำแหน่งแล้ว เพราะปราโบโวมีส่วนร่วมกับเหตุที่เกิดขึ้น และยังมีเหตุการณ์อื่นๆ อีกหลายเหตุการณ์ที่เขาเข้าไปมีส่วนพัวพันในการละเมิดสิทธิมนุษยชน” มาเรียกล่าว

"ได้กลิ่นความเจริญ..หรือสิ้นหวัง?" คนอินโดนีเซียคิดอย่างไรกับว่าที่ประธานาธิบดีคนใหม่ 'ปราโบโว ซูเบียนโต'
มาเรีย ซานู

ทั้งมาเรียและฮาร์ดิงกาบอกว่า อันที่จริง ก่อนที่ปราโบโวจะมาลงชิงตำแหน่งผู้นำประเทศได้ เขาควรต้องออกมารับผิดชอบในการกระทำของตนเองก่อน ทว่าปราโบโวกลับยังคงลอยนวลพ้นผิด   

“ผมอยากให้ปราโบโวรับผิดชอบในเรื่องนี้ พาตัวเองเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมอย่างถูกต้อง รวมถึงในรัฐสภาเองก็มีกรรมาธิการที่ทำหน้าที่ดูแลเรื่องเหล่านี้โดยเฉพาะ ซึ่งปราโบโวก็สามารถผ่านเข้าสู่กระบวนการทางนี้เพื่อให้นำไปสู่การสอบสวนอย่างจริงจังได้เหมือนกัน แต่ปราโบโวก็ไม่เคยออกมาทำสิ่งเหล่านี้เลย” ฮาร์ดิงกากล่าว

สำหรับฮาร์ดิงกา มาเรีย และสมาชิกครอบครัวของเหยื่อเหตุการณ์พฤษภาคม 1998 การคว้าชัยชนะของปราโบโวในศึกเลือกตั้งที่ผ่านมาจึงเป็นเหมือนฝันร้ายที่พวกเขาไม่อยากให้เกิด แต่พวกเขาก็ไม่มีทางเลือกอื่นนอกจากจะต้องเดินหน้าสู้ต่อไป

“ผมจะต่อสู้ด้วยการเดินหน้าให้ข้อมูลแก่ผู้คนและให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชนต่างๆ เพื่อให้คนได้รู้ว่าปราโบโวได้ทำเรื่องเลวร้ายไว้ขนาดไหน ไม่ว่าใครจะมาขอสัมภาษณ์ผม ผมจะยินดีพูดคุยด้วยหมด และเมื่อปราโบโวรับตำแหน่งประธานาธิบดี ผมจะทำทุกวิถีทางเพื่อล้มปราโบโวให้ได้” ฮาร์ดิงกากล่าว

"ได้กลิ่นความเจริญ..หรือสิ้นหวัง?" คนอินโดนีเซียคิดอย่างไรกับว่าที่ประธานาธิบดีคนใหม่ 'ปราโบโว ซูเบียนโต'
ฮาร์ดิงกา โชว์รูปพ่อของตัวเองที่หายสาบสูญไปในปี 1997

“ประธานาธิบดีของคนอินโดนีเซียทุกคน” คำมั่นสัญญาที่ไม่ง่ายของปราโบโว

การก้าวเข้าสู่สนามเลือกตั้งและการเตรียมขึ้นสู่ตำแหน่งประธานาธิบดีของปราโบโว ถือเป็นประเด็นถกเถียงอย่างกว้างขวางในสังคมอินโดนีเซียตลอดช่วงเวลาที่ผ่านมา แต่จากผลการเลือกตั้งเบื้องต้นก็สะท้อนได้อย่างหนึ่งว่า คนที่ยังค้างคาใจในเรื่องราวอดีตของปราโบโว หรือคนที่ไม่เห็นด้วยกับปราโบโว อาจเป็นเสียงส่วนน้อย เมื่อเทียบกับคนที่ชื่นชอบและเชื่อมั่นว่าปราโบโวจะขึ้นมาบริหารประเทศได้

หลายคนมองว่าการที่ปราโบโวสามารถเดินทางมาถึงเส้นชัยในวันนี้ก็อาจเป็นภาพสะท้อนว่า ‘วัฒนธรรมลอยนวลพ้นผิด’ ยังคงฝังรากในสังคมอินโดนีเซีย ขณะที่การชำระสะสางและถอดบทเรียนจากความผิดพลาดในประวัติศาสตร์ก็อาจยังไม่เข้มแข็งมากพอ นอกจากนี้ การที่โหวตเตอร์จำนวนมากของการเลือกตั้งครั้งนี้เป็นคนรุ่นใหม่ที่ไม่ได้มีความทรงจำในยุคเผด็จการซูฮาร์โต ก็ถูกมองว่าเป็นอีกเหตุผลหนึ่งที่ทำให้คนที่ยังไม่เคยสะสางเรื่องราวดำมืดของตัวเอง เป็นที่นิยมชมชอบ

แต่ไม่ว่าจะเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยกับชัยชนะของปราโบโวก็แล้วแต่ ความจริงที่ต้องยอมรับคือปราโบโวถูกเลือกขึ้นมาด้วยมติของมหาชนผ่านการเลือกตั้งตามระบอบประชาธิปไตย แม้คนอินโดนีเซียบางกลุ่มจะมองว่าการเลือกตั้งครั้งนี้ไม่เป็นไปอย่างชอบธรรม โดยพวกเขากล่าวหาว่ามีการระดมทรัพยากรของรัฐและแก้กฎเกณฑ์เพื่อเอื้อความได้เปรียบให้ปราโบโว-กีบรัน แต่ถึงที่สุดก็คงไม่มีใครปฏิเสธการขึ้นสู่เก้าอี้ผู้นำของปราโบโวได้

"ได้กลิ่นความเจริญ..หรือสิ้นหวัง?" คนอินโดนีเซียคิดอย่างไรกับว่าที่ประธานาธิบดีคนใหม่ 'ปราโบโว ซูเบียนโต'
ปราโบโซ ซูเบียนโต

ส่วนทางฝั่งปราโบโว แม้เขาจะมีเสียงประชาชนส่วนใหญ่ที่หนุนหลัง แต่การพยายามเอาชนะใจคนจำนวนอีกไม่น้อยที่ไม่ชื่นชอบเขาก็เป็นโจทย์หนึ่งที่เขาต้องเผชิญเมื่อรับตำแหน่งผู้นำอย่างเป็นทางการ โดยในงานปราศรัยประกาศชัยชนะที่ผ่านมานั้น เขาได้ให้คำมั่นไว้ว่าเขาจะเป็น “ประธานาธิบดีของคนอินโดนีเซียทุกคน”

“ก่อนหน้านี้ (ในช่วงการเลือกตั้ง) พวกเราต่างคนอาจมีการโต้เถียง มีความแตกแยกทางความคิดความชอบเกิดขึ้น แต่นับจากวันนี้พวกเราต้องหันมารวมตัวกันอีกครั้ง เราต้องลืมเรื่องราวบาดหมางและคำพูดไม่ดีที่พูดใส่กัน ต่อจากนี้จะต้องไม่มีความแตกแยก” ปราโบโวกล่าว

อย่างไรก็ดี บทเรียนที่ผ่านมาจากผู้นำหลายประเทศทั่วโลกพิสูจน์แล้วว่า การบริหารประเทศท่ามกลางการแบ่งขั้วทางความคิดที่หลากหลาย และชนะใจคนเห็นต่างได้นั้น ไม่ใช่เรื่องง่าย

ท้ายที่สุด ว่าที่ประธานาธิบดีอินโดนีเซียคนใหม่ที่ชื่อปราโบโวจะบริหารประเทศได้ดีหรือไม่ จะสานต่อนโยบายของโจโกวีได้ขนาดไหน จะทำให้การเปลี่ยนผ่านสู่ประชาธิปไตยของอินโดนีเซียเดินหน้าต่อหรือถอยหลัง และประวัติศาสตร์อันดำมืดจะได้รับการสะสางหรือไม่ คำตอบของคำถามเหล่านี้ไม่ว่าจะมาจากปากใครก็แล้วแต่ ยังล้วนเป็นเพียงการคาดเดา บทพิสูจน์ของจริงจะเริ่มต้นขึ้นนับจากวันที่ 20 ตุลาคมนี้ที่ปราโบโวจะสาบานตนรับไม้ต่อจากโจโกวีอย่างเป็นทางการ

MOST READ

Spotlights

14 Aug 2018

เปิดตา ‘ตีหม้อ’ – สำรวจตลาดโสเภณีคลองหลอด

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย พาไปสำรวจ ‘คลองหลอด’ แหล่งค้าประเวณีใจกลางย่านเมืองเก่า เปิดปูมหลังชีวิตหญิงค้าบริการ พร้อมตีแผ่แง่มุมเทาๆ ของอาชีพนี้ที่ถูกซุกไว้ใต้พรมมาเนิ่นนาน

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Aug 2018

Spotlights

4 Nov 2020

101 Policy Forum : ประเทศไทยในฝันของคนรุ่นใหม่

101 เปิดวงสนทนาพูดคุยกับตัวแทนวัยรุ่น 4 คน ณัฐนนท์ ดวงสูงเนิน , สิรินทร์ มุ่งเจริญ, ภาณุพงศ์ สุวรรณหงษ์, อัครสร โอปิลันธน์ ว่าด้วยสังคม การเมือง เศรษฐกิจไทยในฝัน ต้นตอที่รั้งประเทศไทยจากการพัฒนา ข้อเสนอเพื่อพาประเทศสู่อนาคต และแนวทางการพัฒนาและสนับสนุนคนรุ่นใหม่

กองบรรณาธิการ

4 Nov 2020

World

1 Oct 2018

แหวกม่านวัฒนธรรม ส่องสถานภาพสตรีในสังคมอินเดีย

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก สำรวจที่มาที่ไปของ ‘สังคมชายเป็นใหญ่’ ในอินเดีย ที่ได้รับอิทธิพลสำคัญมาจากมหากาพย์อันเลื่องชื่อ พร้อมฉายภาพปัจจุบันที่ภาวะดังกล่าวเริ่มสั่นคลอน โดยมีหมุดหมายสำคัญจากการที่ อินทิรา คานธี ได้รับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกในประวัติศาสตร์

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก

1 Oct 2018

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save