fbpx

อ่านมาตรการ (กีดกัน) ทางเศรษฐกิจแบบเนียนๆ ของอินเดีย ที่จีนเองก็พูดไม่ออก

เมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมาบริษัทเสี่ยวหมี่ (Xiaomi) ประจำอินเดีย ได้ส่งจดหมายตอบกลับกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศของอินเดีย ที่ต้องการสอบถามถึงข้อเสนอแนะในการวางมาตรการเพื่อยกระดับภาคการผลิตสินค้าและผลิตภัณฑ์ด้านไอทีของอินเดีย เนื้อหาของจดหมายฉบับดังกล่าวมีการพูดถึงการร้องขอให้รัฐบาลอินเดีย ‘ลดหย่อน’ มาตรการในการคุมเข้มการตรวจสอบบริษัทสัญชาติจีน ซึ่งส่งผลให้เกิดปัญหาหลายประการในการผลิตสินค้า โดยเฉพาะการแสวงหา supplier เข้ามาดำเนินธุรกิจในอินเดีย เสี่ยวหมี่ถือเป็นหนึ่งในบริษัทจำนวนมากของจีนที่กำลังเผชิญแรงกดดันอย่างหนักจากรัฐบาลอินเดีย โดยเฉพาะภายหลังปัญหาความขัดแย้งด้านพรมแดนระหว่างอินเดียและจีนในปี 2020 ซึ่งส่งผลให้ทหารทั้งสองฝ่ายเสียชีวิต

ก่อนหน้านี้ เสี่ยวหมี่เคยถูกกล่าวหาว่ามีการนำส่งเงินไปยังหน่วยงานในต่างประเทศอย่างผิดกฎหมาย รัฐบาลอินเดียจึงดำเนินการระงับทรัพย์สินของเสี่ยวหมี่มูลค่ากว่า 670 ล้านเหรียญ นอกจากนี้บริษัทเทคโนโลยีอื่นของจีนเองก็เผชิญมาตรการทางการเงินในลักษณะเช่นนี้ไม่แตกต่างกัน

ความพยายามในการเพิ่มมาตรการเพื่อตรวจสอบบริษัทสัญชาติจีนในอินเดียมีความเข้มข้นขึ้นอย่างมากหลังเหตุการณ์ความขัดแย้งปี 2020 บทความชิ้นนี้จึงอยากวิเคราะห์ให้เห็นถึงปัจจัยเบื้องหลังที่มากกว่าเรื่องข้อพิพาทด้านพรมแดน ซึ่งผลักให้อินเดียงัดมาตรการ (กีดกัน) ทางเศรษฐกิจมากมายมาใช้กับจีน รวมถึงวิเคราะห์มาตรการกีดกันทางการค้าของอินเดียที่ทำอย่างแนบเนียนเพื่อหลีกเลี่ยงการถูกกล่าวหาว่ากีดกันทางการค้า ปิดท้ายด้วยบทสรุปว่าด้วยผลได้-ผลเสียที่อินเดียต้องแลกกับมาตรการดังกล่าว

ถึงไม่มีปัญหาพรมแดน อินเดียก็ต้องกดดันการทำธุรกิจของจีนในประเทศตัวเองอยู่ดี

หลายครั้งผมต้องเผชิญคำถามจากคนรอบข้างและหน่วยงานของรัฐเกี่ยวกับสถานการณ์ความสัมพันธ์ระหว่างจีน-อินเดียภายหลังวิกฤตพรมแดนปี 2020 โดยเฉพาะมิติทางเศรษฐกิจ ซึ่งเข้าใจกันมาโดยตลอดว่าความสัมพันธ์ทางการค้าและเศรษฐกิจระหว่างอินเดียและจีนมีความราบรื่น และทวีการพึ่งพาซึ่งกันและกันมาโดยตลอด ทำให้มูลค่าการค้าระหว่างสองประเทศเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในช่วง 10 กว่าปีที่ผ่านมา แน่นอนว่าปัจจัยทางเศรษฐกิจนี้ถือเป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญที่ช่วยให้สถานการณ์ความขัดแย้งทางพรมแดนของทั้งสองประเทศไม่รุนแรงมากนัก

แต่เมื่อสถานการณ์ความขัดแย้งทางพรมแดนเกิดขึ้น อินเดียได้ยกมาตรการทางเศรษฐกิจและการค้ามากมายขึ้นมาบังคับใช้กับจีน จนทำให้หลายคนมองว่ามาตรการเหล่านี้เป็นผลสืบเนื่องจากความขัดแย้งทางพรมแดน ซึ่งก็ไม่ผิดอะไรนักที่จะมองผ่านมิตินี้ แต่ในอีกทางหนึ่งก็อาจมองได้ว่า มาตรการที่เกิดขึ้นเป็นผลมาจากความต้องการเดิมของรัฐบาลอินเดีย ที่พยายามลดการพึ่งพิงเศรษฐกิจของจีนมากจนเกินพอดี น่าสนใจว่าข้อมูลตัวเลขทางเศรษฐกิจและการค้าของทั้งสองประเทศสะท้อนให้เห็นว่า แม้มูลค่าทางการค้าของสองประเทศจะเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง แต่นัยของตัวเลขเหล่านี้มาพร้อมกับการขาดดุลทางการค้าของอินเดียที่มีต่อจีนซึ่งเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

สินค้าจีนราคาถูกที่ทะลักเข้าสู่ประเทศอินเดียส่งผลให้ผลิตภัณฑ์ของอินเดียไม่สามารถแข่งขันกับจีนได้ ผู้ประกอบการขนาดเล็กและกลางของอินเดียต้องประสบกับปัญหาเลิกกิจการไปเป็นจำนวนมาก แน่นอนว่ารัฐบาลอินเดียตระหนักถึงสิ่งที่เกิดขึ้น และอาจกล่าวได้ว่าตระหนักมาตั้งแต่ตอนที่นายกรัฐมนตรีโมดีขึ้นมามีอำนาจในปี 2014 เสียด้วยซ้ำ รัฐบาลโมดีนับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมาจึงพยายามส่งเสริมและสนับสนุนผู้ประกอบการภายในประเทศ หรือหากบริษัทต่างชาติจะเข้ามาประกอบกิจการในอินเดียก็ต้องมีการร่วมทุนหรือต้องใช้เงินทุนเหล่านั้นหมุนเวียนภายในอินเดียเท่านั้น

สถานการณ์การขาดดุลที่เพิ่มขึ้นกับจีน กลายเป็นแรงผลักดันสำคัญให้อินเดียต้องบังคับใช้มาตรการควบคุมคุณภาพสินค้านำเข้ามากขึ้น ซึ่งเริ่มตั้งแต่ก่อนเกิดปัญหาความขัดแย้งเสียด้วยซ้ำ ฉะนั้นสำหรับผู้เขียนแล้ว อาจกล่าวได้ว่า ถึงแม้จะไม่มีความขัดแย้งทางพรมแดนระหว่างสองประเทศ ความเป็นไปได้ที่อินเดียจะออกมาตรการทางเศรษฐกิจเพื่อกีดกันสินค้าและการลงทุนจากจีนย่อมมีอยู่แล้ว ความขัดแย้งทางพรมแดนจึงเป็นเสมือนตัวแปรเร่งการดำเนินการให้เร็วขึ้น พร้อมมีเหตุผลที่เพียงพอในการดำเนินการดังกล่าว โดยไม่เผชิญกับแรงกดดันของภาคธุรกิจที่ทำการค้ากับบริษัทของจีน ซึ่งมักจะได้รับผลกระทบเป็นวงกว้าง

แน่นอนว่าอินเดียย่อมกังวลต่อท่าทีของจีนอยู่ไม่น้อยเกี่ยวกับมาตรการทางเศรษฐกิจที่จะบังคับใช้ เพราะจีนเองสามารถบังคับใช้มาตรการทางเศรษฐกิจที่รุนแรงกับอินเดียได้เช่นเดียวกัน ซึ่งอินเดียอาจเผชิญปัญหาระบบการผลิตสินค้าอุตสาหกรรมภายในได้ น่าสนใจว่ามาตรการ (กีดกัน) ทางเศรษฐกิจที่อินเดียบังคับใช้กับจีนหลายชิ้น ทำให้จีนพูดไม่ออก เพราะนอกจากไม่ได้ระบุประเทศอย่างตรงไปตรงมาแล้ว ยังเป็นกรอบการดำเนินการกว้างๆ บนอำนาจดุลยพินิจของเจ้าหน้าที่ฝ่ายปฏิบัติ ซึ่งแน่นอนว่าทั้งไม่ขัดต่อหลักการการค้าเสรี และกรอบความร่วมมือที่ทั้งสองประเทศมีร่วมกัน

ออกมาตรการกีดกันการค้ากับจีนอย่างไร ให้จีนพูดไม่ออก

อินเดียถือเป็นหนึ่งในประเทศที่สนับสนุนการค้าเสรี ฉะนั้นการออกมาตรการกีดกันทางการค้าอย่างตรงไปตรงมาย่อมส่งผลอย่างมากต่อภาพลักษณ์ในระดับระหว่างประเทศ แม้อินเดียจะอยากกีดกันทางการค้าต่อจีนมากมายเพียงใด ก็ไม่อาจละเมิดกรอบการค้าเสรีที่ตัวเองยืนกรานเอาไว้ได้ อินเดียจึงจำเป็นต้องออกแบบมาตรการที่แนบเนียน ที่นอกจากไม่ระบุตรงไปตรงมาว่าต้องการกีดกันจีนแล้ว ยังต้องมีเหตุมีผลที่เพียงพอที่จะทำให้จีนยอมรับต่อมาตรการดังกล่าวได้อีกด้วย

หนึ่งในมาตรการ (กีดกัน) ทางเศรษฐกิจสำคัญ ที่อินเดียดำเนินการนับตั้งแต่ก่อนความขัดแย้งทางด้านพรมแดน คือการปรับเปลี่ยนแนวทางการอนุมัติการลงทุนทางตรงจากต่างประเทศ โดยได้ระบุลงไปในรายละเอียดการพิจารณาการอนุมัติว่า “ต้องมีการตรวจสอบและพิจารณาปัจจัยทางด้านความมั่นคงอย่างรอบคอบสำหรับการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) ที่มาจากประเทศที่มีพรมแดนทางบกร่วมกับอินเดีย” ซึ่งหากพิจารณาข้อความ “ประเทศที่มีพรมแดนทางบกร่วมกับอินเดีย” จะประกอบด้วย ปากีสถาน เนปาล ภูฏาน บังคลาเทศ พม่า อัฟกานิสถาน (ตามแผนที่ของอินเดีย) และจีน ซึ่งแน่นอนว่าประเทศที่มีศักยภาพสูงที่สุดในการเข้ามาลงทุนในอินเดียก็คือจีนนั่นเอง

ฉะนั้น สำหรับมาตรการทางด้านการลงทุนที่ยกมาเป็นตัวอย่างเบื้องต้นนี้ หากพิจารณาจากข้อความก็ถือได้ว่าไม่ได้ระบุเฉพาะเจาะจงไปที่ประเทศหนึ่งประเทศใด ในขณะเดียวกันการพิจารณาปัจจัยทางด้านความมั่นคงก็ถือเป็นเรื่องสำคัญสำหรับทุกประเทศ ฉะนั้นเมื่อมององค์ประกอบทั้งสองด้านนี้อย่างผิวเผินก็อาจดูเหมือนว่าอินเดียไม่ได้จะกีดกันจีนโดยตรง เพราะประเทศเพื่อนบ้านทางบกของอินเดียก็มีหลายประเทศ แต่อย่างที่ทราบกันดีว่าประเทศที่มีศักยภาพและเข้ามาลงทุนมากที่สุดก็คงหนีไม่พ้นจีน

มาตรการนี้ของอินเดียเลยทำให้จีนเองก็พูดไม่ออก เพราะไม่ได้กีดกันจีนโดยตรงทีเดียว มีการบังคับใช้กับหลายประเทศ ในขณะเดียวกันก็ไม่ได้สั่งห้าม เพียงให้มีการพิจารณาอย่างเข้มข้นมากขึ้นเท่านั้น แต่ผลที่เกิดขึ้นคือ นับตั้งแต่ปี 2020-2023 บริษัทจีนยื่นข้อเสนอขอเข้ามาลงทุนในอินเดียกว่า 435 ข้อเสนอ แต่รัฐบาลอินเดียอนุมัติข้อเสนอเหล่านั้นน้อยกว่า 1 ใน 4 ของทั้งหมด

นอกจากมาตรการด้านการลงทุนที่ถูกบังคับใช้อย่างเข้มงวดต่อจีนแบบอ้อมๆ แล้ว มาตรการด้านกฎระเบียบเพื่อจัดการกับบรรดาบริษัทจีนที่ลงทุนอยู่ในอินเดียมาก่อนแล้วและมีส่วนแบ่งจำนวนมากในตลาดของอินเดีย ถือเป็นอีกหนึ่งเครื่องมือสำคัญที่รัฐบาลอินเดียหยิบขึ้นมาใช้ในการลดอิทธิพลของจีนเหนือเศรษฐกิจของอินเดีย แน่นอนว่ากลุ่มสมาร์ตโฟนถือเป็นภาคอุตสาหกรรมแรกๆ ที่ถูกมาตรการด้านกฎระเบียบและภาษีของอินเดียบังคับใช้อย่างเข้มงวด นั่นเป็นเพราะแม้คนอินเดียจะป่าวประกาศว่าจะแบนสินค้าจีน แต่น่าสนใจว่าสมาร์ตโฟนแบรนด์จีนกลับครองใจคนอินเดียได้เป็นวงกว้าง โดยหากรวมทั้งแบรนด์เสี่ยวหมี่ (Xiaomi) วีโว่ (Vivo) เรียลมี (Realme) และออปโป้ (Oppo) เข้าด้วยกัน สมาร์ตโฟนแบรนด์จีนเหล่านี้จะมีส่วนแบ่งในตลาดอินเดียมากกว่าครึ่งหนึ่ง (ร้อยละ 56 จากข้อมูลไตรมาสที่ 4 ของ ปี 2023)

ที่มา: Counterpointresearch

ฉะนั้นนับตั้งแต่ปี 2020 เป็นต้นมา บรรดาบริษัทสมาร์ตโฟนเหล่านี้ของจีนต้องเผชิญกับข้อกล่าวหาและการตรวจสอบจากรัฐบาลอินเดียมากมาย เช่น บริษัทเสี่ยวหมี่ต้องเผชิญกับการระงับทรัพย์สินภายในอินเดีย โดยหน่วยปราบปรามอาชญากรรมทางการเงินของอินเดียกล่าวหาว่าเสี่ยวหมี่นำส่งเงินไปยังหน่วยงานต่างประเทศโดยแอบแฝงไปในรูปของค่าลิขสิทธิ์ นอกจากนี้ ตามการกล่าวอ้างของเสี่ยวหมี่มีการระบุว่าผู้บริหารและพนักงานชาวจีนจำนวนมากต้องเผชิญกับความล่าช้าในการยื่นขอวีซ่าเข้ามาทำงานในอินเดีย เช่นเดียวกับบรรดา supplier ที่ต้องการเข้ามาวางฐานการผลิตในอินเดีย ซึ่งเผชิญกับความล่าช้าในการออกเอกสารและอนุมัติการดำเนินการจากรัฐบาลอินเดีย นอกจากเสี่ยวหมี่แล้ว วีโว่เองก็กำลังเผชิญแรงกดดันทางด้านกฎระเบียบและข้อกล่าวหาทางกฎหมายไม่แตกต่างกัน โดยก่อนหน้านี้มีการแจ้งข้อกล่าวหาต่อศูนย์วีโว่บางแห่งว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับการฟอกเงินภายในประเทศอินเดีย รวมถึงการปลอมแปลงเอกสารการระบุตัวตัว

ปัจจัยเหล่านี้ส่งผลให้ภาพลักษณ์ของสมาร์ตโฟนแบรนด์จีนได้รับผลกระทบอย่างหนัก โดยรายงานผลสำรวจความนิยมผลิตภัณฑ์สมาร์ตโฟนในช่วงท้ายปี 2023 ระบุว่าสมาร์ตโฟนแบรนด์ซัมซุง (Samsung) ได้รับการจัดอันดับให้อยู่ในลำดับที่ 1 แทนที่เสี่ยวหมี่ ที่ถือเป็นแบรนด์ยอดนิยมของคนอินเดียติดต่อกันมาหลายปี เห็นได้ชัดว่ามาตรการทางด้านกฎระเบียบและการเงินเหล่านี้ที่ถูกนำมาบังคับใช้อย่างต่อเนื่อง ส่งผลโดยตรงต่อการประกอบกิจการของบริษัทจีนภายในอินเดีย อย่างไรก็ตามมาตรการเหล่านี้ล้วนเป็นมาตรการบังคับใช้กฎหมายภายในประเทศ ส่งผลให้รัฐบาลจีนเองก็ไม่สามารถดำเนินการใดๆ ต่อสิ่งที่เกิดขึ้นได้

ฉะนั้นจะเห็นได้ว่ามาตรการ (กีดกัน) ทางเศรษฐกิจ ที่อินเดียนำมาปรับใช้กับจีนนั้น ล้วนเป็นมาตรการทางตรงแบบอ้อมๆ ที่ถึงแม้จีนจะรับรู้ได้ว่าอินเดียตั้งใจบังคับใช้กับประเทศตน แต่ก็ไม่สามารถวิจารณ์ได้อย่างตรงไปตรงมา หรือมีมาตรการตอบโต้ที่รุนแรง เพราะทุกสิ่งล้วนอยู่ในกรอบการค้าเสรี และที่สำคัญคือใช้มาตรการด้านดุลยพินิจของเจ้าหน้าที่ระดับปฏิบัติการเป็นสำคัญ ซึ่งหลายประเทศที่เข้าไปลงทุนในอินเดียทราบกันดีว่า ขั้นตอนนี้ยุ่งยากและยาวนาน เพียงแค่สำหรับจีนแล้ว มันจะยุ่งยากและยาวนานเป็นพิเศษ แบบที่จีนก็พูดอะไรไม่ได้

ผลได้-ผลเสีย ต่อมาตรการทางเศรษฐกิจของอินเดียที่มีต่อจีน และความเป็นไปในอนาคต

อย่างที่ได้ระบุไว้ในส่วนแรกแล้วว่า ปัจจัยสำคัญที่ผลักดันให้อินเดียต้องเร่งออกมาตรการ (กีดกัน) ทางเศรษฐกิจต่อจีนคือปัญหาการพึ่งพาเศรษฐกิจจีนที่มากจนเกินไป รวมถึงการสูญเสียตลาดภายในให้กับสินค้าจีน ซึ่งนอกจากจะส่งผลให้จีนสามารถครอบงำหรือมีอิทธิพลทางเศรษฐกิจเหนืออินเดียได้แล้ว อีกทางหนึ่งมันอาจขยายกลายเป็นอิทธิพลทางการเมืองด้วยเช่นกัน ฉะนั้นผลลัพธ์ที่อินเดียคาดหวังต่อมาตรการเหล่านี้คือการลดตัวเลขการขาดดุลทางการค้ากับจีน ซึ่งเพิ่มขึ้นอย่างมากในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ในขณะเดียวกันก็ต้องการเพิ่มโอกาสทางการแข่งขันให้กับกลุ่มทุนและบรรดาบริษัทอินเดียให้สามารถดำเนินธุรกิจภายในประเทศต่อไปได้

แน่นอนว่าผลลัพธ์จากบรรดามาตรการทางเศรษฐกิจต่างๆ ที่อินเดียบังคับใช้กับจีน ย่อมยังประโยชน์ต่อภาคธุรกิจภายในประเทศตั้งแต่ขนาดเล็กไปจนถึงขนาดใหญ่ ในขณะเดียวกันรัฐบาลเองก็ได้รับแรงสนับสนุนทางการเมืองที่เพิ่มมากยิ่งขึ้น พร้อมทั้งยังสามารถผลักดันนโยบาย ผลิตภายในประเทศ (Make in India) ที่รัฐบาลได้หาเสียงไว้อีกด้วย ฉะนั้นจึงไม่ต้องแปลกใจอันใดที่รัฐบาลอินเดียจะเดินหน้าอย่างต่อเนื่องที่จะดำเนินนโยบายเหล่านี้ เพราะได้ทั้งประโยชน์ทางเศรษฐกิจและประโยชน์ทางการเมือง

อย่างไรก็ตาม มีได้ก็ต้องมีเสียและมีสิ่งที่ต้องแลกเช่นเดียวกัน เพราะในขณะที่มาตรการเหล่านี้ดำเนินต่อไป นั่นหมายความว่าอินเดียก็อาจเผชิญกับการลดลงของความเชื่อมั่นจากนักลงทุนภายนอก เพราะการบังคับใช้มาตรการบางประการที่เกินพอดีหรือไม่เท่าเทียม ย่อมส่งผลให้เกิดการตั้งคำถามต่อมาตรฐานการลงทุนของอินเดียได้เช่นกัน ยิ่งไปกว่านั้น การออกมาตรการที่ให้อำนาจฝ่ายปฏิบัติใช้ดุลยพินิจมากเกินไป อาจส่งผลให้การดำเนินการลงทุนหลายอย่างล่าช้า เกิดช่องว่างในการทุจริต ซึ่งอาจส่งผลเสียต่อการลงทุนในภาพรวมของอินเดียด้วยเช่นกัน

ในขณะเดียวกันความพยายามชะลอและใช้มาตรการทางด้านความมั่นคง รวมถึงคุณภาพเพื่อลดการนำเข้าสินค้าจากจีนอาจส่งผลโดยตรงต่อห่วงโซ่การผลิตภายในอินเดียเอง เพราะหลายธุรกิจและอุตสาหกรรมในอินเดียพึ่งพาสินค้านำเข้าจากจีนเพื่อนำมาผลิตสินค้าที่มีมูลค่าสูงขึ้น ยิ่งไปกว่านั้นบริษัทด้านเทคโนโลยีจำนวนมากของอินเดียเองกำลังพึ่งพาการลงทุนและองค์ความรู้จากจีนเช่นเดียวกัน ฉะนั้นมาตรการเหล่านี้ย่อมส่งผลต่อผลประกอบการทางธุรกิจของบริษัทเหล่านี้ และอาจส่งผลให้สินค้าหลายประเภทมีการปรับตัวสูงขึ้นตามมาด้วย ที่สำคัญอินเดียอาจสูญเสียโอกาสในการขยายตลาดการจ้างงานจากบรรดาบริษัทจีนที่จะเข้ามาลงทุนในประเทศด้วย

ทั้งนี้และทั้งนั้นหากพิเคราะห์ข้อดีและข้อเสียเปรียบเทียบกัน ก็คงเห็นได้ชัดว่า ข้อดีดูเหมือนจะยังประโยชน์มากกว่าข้อเสียโดยเฉพาะผลลัพธ์ทางการเมืองที่ถือเป็นปัจจัยสำคัญในการขับเคลื่อนนโยบายต่างๆ ของอินเดีย ฉะนั้นหากให้พยากรณ์แนวโน้มความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจระหว่างอินเดียและจีนในอนาคต ผมก็คงตอบว่ามาตรการ (กีดกัน) ทางเศรษฐกิจของอินเดียที่มีต่อจีนจะยังคงดำเนินต่อไป และขยายเพิ่มมากยิ่งขึ้น จนกว่าจีนจะมีดีลที่ดีในการเพิ่มการนำเข้าสินค้าของอินเดียจนอินเดียพึงพอใจ

MOST READ

World

1 Oct 2018

แหวกม่านวัฒนธรรม ส่องสถานภาพสตรีในสังคมอินเดีย

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก สำรวจที่มาที่ไปของ ‘สังคมชายเป็นใหญ่’ ในอินเดีย ที่ได้รับอิทธิพลสำคัญมาจากมหากาพย์อันเลื่องชื่อ พร้อมฉายภาพปัจจุบันที่ภาวะดังกล่าวเริ่มสั่นคลอน โดยมีหมุดหมายสำคัญจากการที่ อินทิรา คานธี ได้รับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกในประวัติศาสตร์

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก

1 Oct 2018

World

16 Oct 2023

ฉากทัศน์ต่อไปของอิสราเอล-ปาเลสไตน์ ความขัดแย้งที่สั่นสะเทือนระเบียบโลกใหม่: ศราวุฒิ อารีย์

7 ตุลาคม กลุ่มฮามาสเปิดฉากขีปนาวุธกว่า 5,000 ลูกใส่อิสราเอล จุดชนวนความขัดแย้งซึ่งเดิมทีก็ไม่เคยดับหายไปอยู่แล้วให้ปะทุกว่าที่เคย จนอาจนับได้ว่านี่เป็นการต่อสู้ระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ที่รุนแรงที่สุดในรอบทศวรรษ

จนถึงนาทีนี้ การสู้รบระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ยังดำเนินต่อไปโดยปราศจากทีท่าของความสงบหรือยุติลง 101 สนทนากับ ดร.ศราวุฒิ อารีย์ ผู้อำนวยการศูนย์มุสลิมศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถึงเงื่อนไขและตัวแปรของความขัดแย้งที่เกิดขึ้น, ความสัมพันธ์ระหว่างอิสราเอลและรัฐอาหรับ, อนาคตของปาเลสไตน์ ตลอดจนระเบียบโลกใหม่ที่ก่อตัวขึ้นมาหลังยุคสงครามเย็น

พิมพ์ชนก พุกสุข

16 Oct 2023

World

9 Sep 2022

46 ปีแห่งการจากไปของเหมาเจ๋อตง: ทำไมเหมาเจ๋อตง(โหด)ร้ายแค่ไหน คนจีนก็ยังรัก

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์ เขียนถึงการสร้าง ‘เหมาเจ๋อตง’ ให้เป็นวีรบุรุษของจีนมาจนถึงปัจจุบัน แม้ว่าเขาจะอยู่เบื้องหลังการทำร้ายผู้คนจำนวนมหาศาลในช่วงปฏิวัติวัฒนธรรม

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

9 Sep 2022

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save