fbpx

‘Make in India’ ภาพฝันของนักลงทุนต่างประเทศ กับความเป็นจริงที่นักลงทุนไทยต้องรู้

เป็นเวลาเกือบ 10 ปีเต็มแล้ว ที่รัฐบาลอินเดียภายใต้การนำของนายกรัฐมนตรีนเรนทรา โมดี จากพรรคบีเจพี (Bharatiya Janata Party: BJP) เป็นหัวเรือในการขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศ หนึ่งในนโยบายแรกๆ ที่ถูกประกาศใช้และเรียกเสียงฮือฮาไปทั้งโลกในปี 2014 คือ ‘Make in India’ นโยบายสำคัญของพรรคบีเจพีที่ตั้งเป้าหมายเพื่อเปลี่ยนแปลงประเทศให้เป็นศูนย์กลางการผลิตระดับโลก นโยบายนี้ถูกออกแบบมาเพื่อดึงดูดการลงทุน มุ่งเน้นส่งเสริมการผลิตภาคอุตสาหกรรม และสร้างโอกาสการจ้างงานภายในประเทศ

วัตถุประสงค์หลักของนโยบายนี้ไม่เพียงแต่สร้างความแข็งแกร่งให้กับเศรษฐกิจอินเดียเท่านั้น แต่ยังวางตำแหน่งให้อินเดียเป็นผู้เล่นที่แข่งขันได้ในอุตสาหกรรมการผลิตระดับโลกอีกด้วย นี่จึงถือเป็นนโยบายที่ค่อนข้างท้าทายรัฐบาลชุดใหม่ในเวลานั้น เนื่องจากประเทศอินเดียพึ่งฟื้นตัวจากสภาพเศรษฐกิจซบเซาอันเป็นผลพวงจากวิกฤตการเงินที่เริ่มขึ้นตั้งแต่ปี 2008 ในสหรัฐอเมริกา ก่อนที่จะลุกลามไปทั่วโลก

นับจากวันนั้นจนถึงวันนี้ นโยบาย ‘Make in India’ ก็ผ่านมาเกือบ 10 ปีเต็มแล้ว จึงอยากถือโอกาสนี้มาทบทวนให้เห็นถึงผลลัพธ์ของนโยบายเศรษฐกิจชุดนี้ของอินเดีย ที่บางส่วนก็ประสบความสำเร็จ ขณะที่อีกมุมก็ยังมีความท้าทายมากมายที่จำเป็นต้องได้รับการปรับปรุง พร้อมทั้งสะท้อนให้เห็นถึงข้อสังเกตสำหรับภาคธุรกิจไทยที่มุ่งหมายจะเข้าไปลงทุนในอินเดียควรทราบ

เกือบ 10 ปี กับการปฏิรูปโครงสร้างทางเศรษฐกิจเพื่อดึงดูดการลงทุน

ก่อนที่จะสะท้อนภาพความคืบหน้าและความสำเร็จในการปฏิรูปโครงสร้างทางเศรษฐกิจที่เป็นผลสำคัญมาจากการผลักดันนโยบาย ‘Make in India’ เราอาจจำเป็นต้องทำความเข้าใจเป้าหมายหลักของนโยบายนี้

Make in India เกิดขึ้นจากวิสัยทัศน์ของนายกรัฐมนตรีโมดี ที่ต้องการฟื้นฟูภาคการผลิตของอินเดีย รวมถึงกระตุ้นการเติบโตทางเศรษฐกิจภายหลังจากอินเดียเผชิญกับการเสียดุลทางการค้าจากการนำเข้าสินค้าเป็นจำนวนมากจากต่างประเทศ และเผชิญกับปัญหาเศรษฐกิจตกต่ำมาอย่างต่อเนื่อง

นโยบายนี้มีเสาหลักสำคัญด้วยกัน 4 เสาหลักที่รัฐบาลอินเดียต้องการส่งเสริมไปพร้อมๆ กัน เพื่อให้นโยบาย “Make in India” ประสบความสำเร็จ ประกอบไปด้วย 1. ความง่ายในการทำธุรกิจ 2. การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานสมัยใหม่ 3. การพัฒนาฝีมือแรงงาน และ 4. การวิจัยและพัฒนา โดยทั้ง 4 เสาหลักนี้ถือเป็นจุดอ่อนที่สำคัญของภาคเศรษฐกิจอินเดียในเวลานั้น ที่สร้างความกังวลให้กับนักลงทุน รัฐบาลอินเดียจึงมีความมุ่งมั่นอย่างยิ่งที่จะแก้ไขจุดอ่อนเหล่านี้

แน่นอนว่าภายในระยะเวลาเกือบ 10 ปีที่ผ่านมา เราได้เห็นการปฏิรูปโครงสร้างทางเศรษฐกิจครั้งใหญ่ของอินเดียเพื่อตอบสนองนโยบายดังกล่าว หนึ่งในเรื่องที่ถือได้ว่าประสบความสำเร็จอย่างมากคือการปฏิรูประบบภาษีสินค้าและบริการ (Good and Service Tax: GST) ซึ่งในอดีตถือว่าเป็นปัญหาใหญ่มากสำหรับอินเดีย เนื่องจากระบบภาษีสินค้าและบริการของแต่ละรัฐนั้นไม่เท่ากัน ส่งผลให้ราคาของสินค้าในแต่ละพื้นที่มีความแตกต่างกัน ในปี 2017 รัฐบาลอินเดียประสบความสำเร็จในการริเริ่มปรับระบบภาษีมาตรฐานกับสินค้าบางประเภทให้เป็นระบบเดียวกันทั้งประเทศ ซึ่งมีส่วนอย่างมากต่อภาพรวมการลงทุนภายในประเทศ

อีกหนึ่งความสำเร็จสำคัญภายใต้การผลักดันนโยบาย Make in India คงหนีไม่พ้นการลงทุนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานจำนวนมหาศาลทั่วประเทศ เพื่อเชื่อมโยงเมืองใหญ่เข้าด้วยกัน ทั้งทางบก ทางทะเล และทางอากาศ โดยเฉพาะการพัฒนาถนนและรถไฟ ซึ่งมีความสำคัญอย่างมากต่อระบบโลจิสติกส์ของประเทศ อินเดียประสบความสำเร็จในการบรรลุข้อตกลงกับญี่ปุ่นเพื่อพัฒนารถไฟฟ้าความเร็วสูง ในขณะเดียวกันอินเดียยังมีการลงทุนจำนวนมากในภาคพลังงานสะอาดเพื่อนำมาเสริมการเติบโตของความต้องการใช้ไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้นจากภาคอุตสาหกรรมและครัวเรือนที่เติบโต

ประเด็นความสำเร็จข้างต้นนี้ยังอาจสะท้อนผ่านตัวเลขการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (Foreign Direct Investment: FDI) ที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง นับตั้งแต่รัฐบาลอินเดียส่งสัญญาณใหม่สู่โลกภายนอก และปรับมาตรการภายในมากมาย แม้ตัวเลขที่เพิ่มขึ้นนี้บางส่วนอาจเป็นผลมาจากปัญหาสงครามการค้าระหว่างสหรัฐอเมริกาและจีน แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่าส่วนหนึ่งเป็นผลจากการยกเครื่องทางเศรษฐกิจใหม่ของอินเดียตลอดเกือบ 10 ปีที่ผ่านมา

อย่างไรก็ตามใช่ว่าความพยายามในการผลักดันนโยบาย Make in India จะราบรื่นและประสบความสำเร็จเสียหมด เพราะช่วงเวลาเพียง 10 ปี กับการปฏิรูปโครงสร้างเศรษฐกิจของประเทศนั้นยังถือว่าเป็นช่วงเวลาที่น้อยมาก ฉะนั้นจึงเป็นเรื่องปกติที่ยังคงมีอุปสรรคและความท้าทายอีกมากที่ Make in India ต้องก้าวข้าม

อุปสรรคมากมายที่ ‘Make in India’ ต้องก้าวข้าม

แม้ว่า Make in India จะประสบความสำเร็จในการดึงดูดนักลงทุนจากต่างประเทศ และช่วยส่งเสริมให้เกิดการยกเครื่องระบบภาษีภายในประเทศ อย่างไรก็ตาม นโยบายนี้ยังคงเผชิญกับความท้าทายหลายด้านเพื่อให้บรรลุเป้าประสงค์ในการเป็นผู้เล่นที่แข่งขันได้ในอุตสาหกรรมการผลิตระดับโลก ยิ่งเมื่อทบทวนย้อนไปที่ 4 เสาหลักที่อินเดียต้องการพัฒนาแบบรอบด้านด้วยแล้ว เรายิ่งพบว่าอินเดียยังมีอุปสรรคอีกมากที่ต้องก้าวข้ามไปให้ได้

หนึ่งในประเด็นสำคัญที่ยังคงเป็นปัญหาใหญ่และสร้างความยุ่งยากให้กับนักลงทุนจากภายนอก คือ “ความง่ายในการดำเนินธุรกิจ” แม้อินเดียจะพยายามกำหนดให้เป็นเป้าหมายแรกๆ ในการแก้ไขปัญหา แต่ปัจจุบันนักลงทุนยังต้องดำเนินการและเดินเรื่องทางเอกสารมากมายในหลากหลายหน่วยงาน ที่หลายครั้งไม่มีแนวปฏิบัติที่ชัดเจน และขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของหน่วยงานราชการต่างๆ ในการดำเนินงาน

ยิ่งไปกว่านั้น การทำงานของหน่วยงานรัฐบาลสหภาพและรัฐบาลระดับรัฐยังไม่มีความสอดคล้องกัน เพราะบางครั้งรัฐบาลระดับประเทศกับระดับรัฐอยู่คนละพรรคกัน และมีนโยบายทางเศรษฐกิจที่แตกต่างกัน นี่จึงกลายเป็นอุปสรรคและความยุ่งยากในการเข้ามาลงทุนในอินเดีย

เช่นเดียวกันกับการพัฒนาทักษะฝีมือแรงงาน และการลงทุนวิจัยและพัฒนา ที่อินเดียยังคงทำได้ไม่ดีนักเมื่อเปรียบเทียบกับหลายประเทศที่เป็นคู่แข่งสำคัญ โดยเฉพาะประเทศจีนที่อินเดียหมายมั่นจะเข้าไปแทนที่การเป็นโรงงานของโลก ในปัจจุบันจีนสามารถผลิตแรงงานทักษะสูงที่จบการศึกษาด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีได้เกือบสองเท่าของอินเดีย ในขณะเดียวกันการลงทุนด้านวิจัยและพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของจีนคิดเป็นร้อยละ 2 ของจีดีพี ในขณะที่อินเดียอยู่ที่ร้อยละ 0.7 เท่านั้น ปัจจัยเหล่านี้ส่งผลให้ธุรกิจและอุตสาหกรรมที่ต้องการแรงงานทักษะสูงยังคงตัดสินใจไม่เข้าไปลงทุนในอินเดีย และยังเลือกที่จะคงฐานการผลิตไว้ในประเทศจีน ซึ่งถือเป็นอีกหนึ่งความท้าทายสำคัญของอินเดียในอนาคต

อีกหนึ่งความท้าทายใหญ่ของอินเดียในการผลักดัน Make in India คือการสร้างสมดุลระหว่างการพัฒนาเศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อม ซึ่งกำลังเป็นปัจจัยใหม่ที่เข้ามากดดันให้ประเทศพัฒนาแล้วต้องยกเครื่องระบบการผลิตให้เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากยิ่งขึ้น ในขณะเดียวกันรัฐบาลก็ต้องวางมาตรการมากมายเพื่อลดการปลดปล่อยก๊าซคาร์บอน สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นปัจจัยที่ส่งผลเชิงบวก (โอกาสในการเป็นฐานอุตสาหกรรมสีเขียว) และเชิงลบ (ต้นทุนจำนวนมากในการยกเครื่องระบบอุตสาหกรรมให้เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม) ต่อการส่งเสริมการลงทุนของอินเดีย ปัจจุบันอินเดียยังทำได้ไม่ดีเท่าที่ควรเพราะระบบพลังงานจำนวนมากยังคงพึ่งพาเชื้อเพลิงฟอสซิลอยู่

ดังนั้น เมื่อมองในภาพรวมของความพยายามเพื่อผลักดัน Make in India ตลอดเกือบ 10 ปีที่ผ่านมา ข้อมูลสะท้อนให้เห็นว่าอินเดียไม่ได้กลายเป็นฐานการผลิตที่สำคัญของโลกอย่างมีนัยสำคัญนัก เพราะส่วนแบ่งการผลิตทั่วโลก (Share of Global Manufacturing) ของอินเดียยังอยู่ที่ระดับร้อยละ 2-3 เช่นเดียวกับช่วงก่อนมีนโยบายนี้ ฉะนั้นความฝันของอินเดียที่จะเป็นแหล่งผลิตสินค้าที่สำคัญของโลกนั้นยังคงมีเส้นทางอีกยาวไกลในการก้าวเดิน

ลงทุนในอินเดียต้องไม่ถูกหลอกด้วยคำว่า “เศรษฐกิจขนาดใหญ่ การเติบโตสูง และประชากรมาก”

ที่เขียนมาทั้งหมดข้างต้นนี้ต้องการสะท้อนให้เห็นว่า แม้หลายปีที่ผ่านมาอินเดียภายใต้การส่งเสริมนโยบาย Make in India จะสามารถสร้างตัวเลขบ่งชี้ทางเศรษฐกิจบางส่วนที่ค่อนข้างสวยงามและมีความต่อเนื่อง จนเป็นที่หมายปองของของนักธุรกิจจากภายนอกประเทศ เพราะนอกจากอินเดียจะมีเศรษฐกิจที่เติบโตอย่างร้อนแรงและต่อเนื่องแล้ว ต้องยอมรับว่าอินเดียมีขนาดเศรษฐกิจที่ค่อนข้างใหญ่ และมีประชากรมาก ซึ่งนั่นหมายถึงกำลังซื้อที่มีมหาศาล

ปัจจัยเหล่านี้ล้วนกลายเป็นคำชี้ชวนสำคัญของรัฐบาลอินเดียที่โฆษณาให้บรรษัทข้ามชาติทั้งหลายเข้ามาลงทุนภายในประเทศ ก่อนที่บรรษัทเหล่านั้นจะต้องเผชิญกับความเป็นจริงมากมายที่ว่าการดำเนินธุรกิจในอินเดียไม่ได้ง่าย และในบางครั้งอาจไม่คุ้มค่าด้วยซ้ำที่จะแลกกับคำโปรยสวยหรูอย่าง “เศรษฐกิจขนาดใหญ่ การเติบโตสูง และประชากรมาก” เพราะรัฐบาลอินเดียคงไม่มานั่งบอกว่าก่อนเข้ามาลงทุนคุณต้องเผชิญกับระบบราชการที่แสนวุ่นวายและซับซ้อนในการเดินเอกสาร นี่ยังไม่นับรวมการทุจริตมากมายที่ยังคงเป็นปัญหาอยู่ในอินเดีย

ยิ่งไปกว่านั้นรัฐบาลอินเดียเองก็คงไม่มาอธิบายว่า เมื่อเข้ามาในตลาดของอินเดียแล้ว คุณต้องเผชิญกับเจ้าตลาดยักษ์ใหญ่มากมาย ที่ครองสัดส่วนอย่างมั่นคงภายในประเทศ ที่สำคัญยังมีสายสัมพันธ์ทั้งทางการเมืองและเศรษฐกิจที่ดีกับชนชั้นนำและนักการเมืองคนสำคัญของอินเดีย จนบริษัทสัญชาติอินเดียเหล่านี้ได้รับความช่วยเหลือทั้งทางตรงและทางอ้อมจากรัฐบาลผ่านนโยบายต่างๆ อยู่เนืองๆ นั่นทำให้การแข่งขันไม่ได้เท่าเทียมตั้งแต่ต้น ความอยู่รอดของบรรษัทข้ามชาติที่หลงเข้ามาในอินเดีย บางครั้งก็ต้องร่วมทุนกับบริษัทเจ้าถิ่นเหล่านี้ ไม่ก็ต้องขายกิจการให้ไปเลย

ฉะนั้นการเข้ามาลงทุนในประเทศอินเดียแม้จะมีนโยบายมากมายที่เอื้ออำนวยความสะดวกกับนักลงทุนภายนอก แต่สิ่งสำคัญคือผู้ลงทุนจำเป็นต้องศึกษาตลาดอินเดียอย่างลึกซึ้งโดยเฉพาะแนวนโยบายเศรษฐกิจและมาตรการต่างๆ โดยเฉพาะในระดับรัฐ ซึ่งถือเป็นตัวแปรสำคัญต่อการลงทุนภายในอินเดีย

ที่สำคัญผู้ลงทุนต้องรู้จักเจ้าตลาดของอินเดีย เพื่อแสวงหาความต่างของธุรกิจตัวเองในการเจาะตลาดสินค้าเฉพาะเหล่านั้น นอกจากนี้ผู้ลงทุนควรเข้าใจพฤติกรรมการบริโภคของคนอินเดียด้วย โดยต้องตั้งสมมติฐานไว้เสมอว่าแม้จะอยู่ในประเทศอินเดียเหมือนกัน แต่พฤติกรรมของผู้คนแต่ละพื้นที่นั้นไม่เหมือนกัน การวิเคราะห์ตลาดจึงยิ่งสำคัญเป็นอย่างยิ่ง

สุดท้ายนี้ แม้ว่านโยบาย Make in India จะเปิดโอกาสให้นักลงทุนภายนอกประเทศรวมถึงนักลงทุนชาวไทยในการเข้าไปเจาะตลาดอินเดีย แต่นโยบายนี้ยังมีอีกหลายประเด็นที่ยังจำเป็นต้องแก้ไข และในทางกลับกันก็กลายเป็นอุปสรรคใหญ่ของนักลงทุนภายนอก เพราะมีบรรษัทข้ามชาติจำนวนไม่น้อยเลยที่ต้องไปถูกฝังกลบอยู่ในตลาดอินเดีย ทั้งถอนทุนกลับมาไม่ได้ ถูกกลืนบริษัท หรือแม้กระทั่งขาดทุนสะสมเป็นจำนวนมาก ฉะนั้นวลีที่ว่า “การลงทุนมีความเสี่ยง ผู้ลงทุนควรศึกษาข้อมูลก่อนการตัดสินใจลงทุน” ยังคงใช้ได้ดีเยี่ยมกับอินเดีย


อ้างอิง

Allison, G. (2023, June 24). Will India Surpass China to Become the Next Superpower? https://foreignpolicy.com/2023/06/24/india-china-biden-modi-summit-great-power-competition-economic-growth/

Chaudhary, M., Sodani, P. R., & Das, S. (2020). Effect of COVID-19 on Economy in India: Some Reflections for Policy and Programme. Journal of Health Management, 22(2), 169–180. https://doi.org/10.1177/0972063420935541

Chenoy, D., Ghosh, S. M., & Shukla, S. K. (2019). Skill development for accelerating the manufacturing sector: the role of ‘new-age’ skills for ‘Make in India.’ International Journal of Training Research, 17(sup1), 112–130. https://doi.org/10.1080/14480220.2019.1639294

Goswami, M., & Daultani, Y. (2022). Make-in-India and Industry 4.0: technology readiness of select firms, barriers and socio-technical implications. The TQM Journal, 34(6), 1485–1505. https://doi.org/10.1108/TQM-06-2021-0179

MOST READ

World

1 Oct 2018

แหวกม่านวัฒนธรรม ส่องสถานภาพสตรีในสังคมอินเดีย

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก สำรวจที่มาที่ไปของ ‘สังคมชายเป็นใหญ่’ ในอินเดีย ที่ได้รับอิทธิพลสำคัญมาจากมหากาพย์อันเลื่องชื่อ พร้อมฉายภาพปัจจุบันที่ภาวะดังกล่าวเริ่มสั่นคลอน โดยมีหมุดหมายสำคัญจากการที่ อินทิรา คานธี ได้รับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกในประวัติศาสตร์

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก

1 Oct 2018

World

16 Oct 2023

ฉากทัศน์ต่อไปของอิสราเอล-ปาเลสไตน์ ความขัดแย้งที่สั่นสะเทือนระเบียบโลกใหม่: ศราวุฒิ อารีย์

7 ตุลาคม กลุ่มฮามาสเปิดฉากขีปนาวุธกว่า 5,000 ลูกใส่อิสราเอล จุดชนวนความขัดแย้งซึ่งเดิมทีก็ไม่เคยดับหายไปอยู่แล้วให้ปะทุกว่าที่เคย จนอาจนับได้ว่านี่เป็นการต่อสู้ระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ที่รุนแรงที่สุดในรอบทศวรรษ

จนถึงนาทีนี้ การสู้รบระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ยังดำเนินต่อไปโดยปราศจากทีท่าของความสงบหรือยุติลง 101 สนทนากับ ดร.ศราวุฒิ อารีย์ ผู้อำนวยการศูนย์มุสลิมศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถึงเงื่อนไขและตัวแปรของความขัดแย้งที่เกิดขึ้น, ความสัมพันธ์ระหว่างอิสราเอลและรัฐอาหรับ, อนาคตของปาเลสไตน์ ตลอดจนระเบียบโลกใหม่ที่ก่อตัวขึ้นมาหลังยุคสงครามเย็น

พิมพ์ชนก พุกสุข

16 Oct 2023

World

9 Sep 2022

46 ปีแห่งการจากไปของเหมาเจ๋อตง: ทำไมเหมาเจ๋อตง(โหด)ร้ายแค่ไหน คนจีนก็ยังรัก

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์ เขียนถึงการสร้าง ‘เหมาเจ๋อตง’ ให้เป็นวีรบุรุษของจีนมาจนถึงปัจจุบัน แม้ว่าเขาจะอยู่เบื้องหลังการทำร้ายผู้คนจำนวนมหาศาลในช่วงปฏิวัติวัฒนธรรม

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

9 Sep 2022

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save