ฮัลทัวะ ลักซ์เนสส์ ชาวเกาะนอร์ดิค

ผมสันนิษฐานว่า ความหมายของคำว่าชาวเกาะ หรือความเป็นเกาะ มีความแตกต่างกันอยู่มากในจินตนาการระหว่างฝรั่งและคนไทย 

ในภาษาอังกฤษ การที่คนๆ หนึ่งเป็นเกาะ (island) หรือมีพฤติกรรมแบบเกาะ หมายความว่าเขาหรือเธอมีปัญหาในการอยู่ร่วมกับคนอื่นในสังคม มีปัญหาในการเข้าใจสังคม มีทัศนคติที่แปลกแยกไปจากสังคมนั้นๆ อยู่อย่างสันโดษโดยไม่สนใจอะไรกับใคร เผลอๆ อาจต่อต้านการเข้าสังคมด้วย

แทบจะตรงข้ามกับความสันโดษที่ชาวพุทธเถรวาทถือว่าเป็นวิถีที่ดีงาม ปลีกวิเวกออกมาจากสังคมเพื่อพิจารณาตนเองให้เห็นถึงพระธรรม ที่สังคมส่วนใหญ่นั้นถูกอุปสรรคขัดขวาง บดบังไม่ให้เข้าถึง ไม่ให้มองเห็น

วันนี้ ผมถือโอกาสเล่าถึงชาวเกาะในนอร์ดิค ฮัลทัวะ ลักซ์เนสส์ (Halldór Laxness, 1992-1998) นักเขียนที่เมื่องานของเขาถูกแปลเป็นภาษาอังกฤษ นักอ่านและนักวิจารณ์มักมีจุดเน้นและจุดอ้างอิงอยู่ที่ประเทศและภาษาของเขาในการพิจารณาบ่อยครั้ง นั่นคือ ไอซ์แลนด์ ประเทศเกาะในภูมิภาคนอร์ดิค

อย่าว่าแต่ในภาษาไทยเลย โลกภาษาอังกฤษเองก็ไม่รู้จักไอซ์แลนด์เท่าใดนัก ในบทนำของนิยาย Iceland’s Bell (1943) ที่เพิ่งถูกแปลเป็นภาษาอังกฤษเมื่อปี 2003 โดยสำนักพิมพ์ Vintage เต็มไปด้วยความพิศวงและความตื่นตาตื่นใจว่า “นักอ่านอเมริกันอาจจะตั้งคำถามว่า…นี่ฉันจะต้องนั่งอ่านนิยายยาวๆ เกี่ยวกับไอซ์แลนด์เนี่ยนะ ฉันอ่านเรื่องจากที่อื่นไม่ดีกว่าเหรอ”

กระทั่งในช่วงไม่ถึงสิบปีที่ผ่านมา ดูเหมือนว่ามีการให้ความสนใจงานเขียนของลักซ์เนสส์มากขึ้นในโลกภาษาอังกฤษ ซึ่งอาจมาจากหลายปัจจัย ทางหนึ่งคือมีการตีพิมพ์งาน Salka Valka (1931) ฉบับแปลใหม่ในภาษาอังกฤษในปี 2022 อันทำให้นิยายหลักทุกเล่มของเขาถูกตีพิมพ์ในภาษาอังกฤษครบทั้งหมด ส่วนอีกทางหนึ่งคือเขาได้รับรางวัลโนเบลสาขาวรรณกรรมในปี 1955 ทำให้งานของเขาถูกขายในฐานะ ‘วรรณกรรมโลก’ สำหรับนักอ่านในโลกภาษาอังกฤษ 

ภาพลักซ์เนสส์ โดย Einar Hákonarson (1984)

ชีวิตชาวเกาะ 


เราต้องพิจารณาลักซ์เนสส์ในบริบทประเทศไอซ์แลนด์ ช่วงเปลี่ยนผ่านจากศตวรรษที่ 19 สู่ศตวรรษที่ 20 

พ่อของเขามาจากครอบครัวยากจนและถูกส่งให้ไปอยู่ในวัด แน่นอนว่าสิ่งที่เด็กผู้ชายยากจนในศตวรรษที่ 19 ต้องทำ คืองานในไร่นาและเรียนรู้พระคัมภีร์ไบเบิล สังคมไอซ์แลนด์ทั้งหมดเป็นสังคมประมงและเกษตรกรรม ซึ่งในช่วงเวลานั้นประชากรมีราว 7,000 คนเท่านั้น

พออายุ 20 ปี พ่อของลักซ์เนสส์กลายเป็นแรงงานอิสระ ทำงานแรงงานทุกชนิดเพื่อแลกกับเงินเล็กๆ น้อยๆ วันหนึ่งขณะกำลังรับจ้างทำถนน เขาได้พบกับผู้หญิงคนหนึ่งซึ่งทำงานรับจ้างอยู่ในไร่นา ซึ่งพ่อของนางตายลงเมื่อนางอายุได้สิบขวบ และนางเป็นเด็กคนเดียวที่มีชีวิตรอดจากพี่น้องทั้งหมดหกคน 

ทั้งสองคนแต่งงานกันอยู่ในเมืองเรยาวิก (Reykjavík) ต่อมาในปี 1902 นางก็ให้กำเนิดเด็กชายลักซ์เนสส์ และทั้งครอบครัวก็ย้ายออกไปอยู่ที่ชานเมืองหลวง

เมื่ออายุได้สามขวบ เด็กชายลักซ์เนสส์เป็นโรคโปลิโอแต่รอดตายมาได้ ซึ่งเด็กชายผู้นี้ต่างจากลูกชาวนา ชาวไร่ ชาวประมงคนอื่นๆ เพราะเขาหลงใหลการเขียนหนังสือ และไม่มีความสนใจในไร่นาหรือประมงแม้แต่น้อย 

เขาเขียนหนังสือทั้งวัน วันละเป็นสิบชั่วโมง ซึ่งแปลกมากในสังคมเช่นนี้

เราจะเห็นความหมกมุ่นได้ผ่านชีวิตของเขา พออายุ 13 ปี เขาเขียนนิยายหนา 600 หน้าแล้วเก็บต้นฉบับเอาไว้ ต่อมาเมื่ออายุ 16 ปี เขาถูกส่งไปเรียนวิทยาลัยอาชีวะของเรยาวิก แต่เรียนได้ปีเดียวก็ออก

เมื่อเขาอายุได้ 17 ปี มีสองสิ่งเกิดขึ้นจนทำให้ชีวิตของเขาหักเห เขาเริ่มตีพิมพ์นิยายเรื่องแรกของตนเองในปีนั้น ซึ่งเป็นปีเดียวกันกับที่พ่อของเขาเสียชีวิตจากโรคปอดบวม

เรยาวิกปลายศตวรรษที่ 19

ออกเดินทาง


เดือนหนึ่งหลังจากพ่อเสียชีวิต เด็กหนุ่มชาวเกาะอย่างลักซ์เนสส์ตัดสินใจลงเรือกลไฟมุ่งตรงไปโคเปนเฮเกนเพื่อค้นหาชีวิต ชีวิตในฐานะนักเขียนที่เขามุ่งหมายจะเป็น 

เขามีรายได้เล็กๆ น้อยๆ จากการเขียนเรื่องส่งหนังสือพิมพ์ อีกส่วนหนึ่งเป็นเงินค่าขนมที่แม่เขาส่งมาให้จากอาชีพรับจ้างถักผ้า

จากนั้นโลกของเด็กหนุ่มชาวเกาะก็ขยายออกอย่างแทบไม่มีที่สิ้นสุด เขาเดินทางไปสวีเดนเพื่ออ่านงานของออกุส สตรินเบิร์ก (August Strindberg, 1849-1912) เดินทางข้ามไปเยอรมนีและออสเตรีย จนกระทั่งข้ามมหาสมุทรแอตแลนติกไปนิวยอร์กด้วยความทะเยอทะยานอย่างคนหนุ่มสาวในรุ่นของเขา แต่ก็ไม่ได้เข้านิวยอร์กเพราะเอกสารตรวจคนเข้าเมืองไม่ครบ 

เวลานั้นเขาอายุ 25 ปี ตีพิมพ์นิยายไปแล้วสี่เล่ม เขาเดินทางและใช้ชีวิตอยู่ช่วงสั้นๆ ที่นอร์เวย์ อังกฤษ ลักเซมเบิร์ก ฝรั่งเศส ซิซิลี โรม เขาเรียนภาษาเดนิช อิงลิช เยอรมัน รัสเซียน เฟรนช์ และละตินด้วยตนเอง

ในที่สุด ฮัลทัวะ ลักซ์เนสส์ ก็เดินทางไปสหรัฐอเมริกาอีกครั้ง มุ่งมั่นจะเป็นนักเขียนบทภาพยนตร์และหวังว่าจะร่ำรวยจากอาชีพนี้ทีเดียว แต่ดูเหมือนว่าทุกอย่างจะไม่เป็นไปตามแผน 

กระนั้นเขาก็ได้เขียนบทภาพยนตร์ Salka Valka ที่กลายเป็นภาพยนตร์ในที่สุด

หนังสือ Salka Valka ที่แปลโดย ฟิลิป ลอฟตัน (Philip Roughton)

หันเข้าสู่สังคมนิยม


ลักซ์เนสส์เดินทางไปสหรัฐฯ​ ในช่วงเวลาที่ภาวะเศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่ (Great Depression) นั่นเป็นจุดหักเหที่ทำให้คนหนุ่มสาวจำนวนมากหันมาสนับสนุนสังคมนิยม เพราะเห็นความเลวร้ายของระบอบทุนนิยม

นั่นเป็นช่วงเวลาเดียวกับที่เขาเขียนนิยายที่สำคัญที่สุดในอาชีพนักเขียนของเขา Independent People (1934-1935) ซึ่งเดินเรื่องภายใต้ฉากสภาวะสังคมอันยากจนอย่างถึงที่สุด

หนังสือ Independent People (1934-1935)

ลักซ์เนสส์ติดตามความเคลื่อนไหวของการเมืองโซเวียตอย่างใกล้ชิด เขาถึงกับไปร่วมรับฟังการพิพากษา (ซึ่งต่อมาถูกเรียกว่า ‘การกวาดล้าง’) ในมอสโกเมื่อปี 1938 จากนั้นกลับไอซ์แลนด์และเขียน The Russian Adventure (1938) ซึ่งส่งผลให้โลกนอกสังคมนิยมเกิด ‘มุมมอง’ ต่อเขาอย่างแก้ไขได้ยาก

การเป็นผู้ที่ถูกมองว่าสนับสนุนสหภาพโซเวียต แน่นอนว่าไปด้วยกันไม่ได้กับการเป็นที่ยอมรับในตลาดภาษาอังกฤษอย่างสหรัฐอเมริกา

เราต้องไม่ลืมว่า ปีก่อนหน้าที่ลักซ์เนสส์ได้รับรางวัลโนเบลสาขาวรรณกรรม ผู้ที่ได้รับรางวัลคือ เออร์เนสต์ เฮมมิงเวย์ (Ernest Hemingway, 1899-1961) ซึ่งทั้งคู่อยู่ในโผที่จะได้รับเลือกในปีนั้น แต่สุดท้ายเป็นเฮมมิงเวย์ที่ได้ ซึ่งเขาเป็นที่ยอมรับของปัญญาชนอเมริกันมากกว่า ขณะที่สื่อมวลชนก็ช่วยจัดให้ลักซ์เนสส์เป็นฝ่ายสังคมนิยมเรียบร้อย สรุปโดยรวมว่าเป็นสาเหตุที่เขาไม่ถูกเลือกในปีนั้น 

สิ่งเหล่านี้สะท้อนว่าสหรัฐอเมริกาเป็นผู้ต่อต้านคอมมิวนิสต์หัวชนฝา มากกว่าที่จะแสดงให้เห็นว่า ฮัลทัวะ ลักซ์เนสส์ มีความเห็นอย่างไร 

เมื่อลักซ์เนสส์ได้รับรางวัลในปีถัดมา หนังสือพิมพ์พาดหัวข่าวว่า ‘ผู้ต่อต้านอเมริกัน’ คนนี้ได้รับรางวัลโนเบลเสียแล้ว ทั้งหมดทั้งมวลนี้อาจเป็นคำอธิบายว่าทำไมงานของเขาถูกลืมไปในสหรัฐอเมริกาแทบตลอดช่วงสงครามเย็น 

นี่ยังมิพักต้องกล่าวว่า นอกจากสหรัฐอเมริกาแล้ว ระบอบนาซีก็เคยสั่งให้หนังสือ Salka Valka เป็นหนังสือต้องห้าม เมื่อแปลเป็นภาษาเยอรมันด้วย

อีกครั้ง นั่นสะท้อนมุมมองต่อต้านคอมมิวนิสต์มากกว่าจะสะท้อนมุมมองของลักซ์เนสส์ เพราะเขาเองก็ไม่เคยเป็นสมาชิกพรรคฯ​ และเมื่อถึงทศวรรษที่ 1960 เขาเองก็เลิกสนับสนุนลัทธิสตาลิน และหันไปสนใจลัทธิเต๋า 


ส่งท้าย


ฮัลทัวะ ลักซ์เนสส์ เป็นนักเขียนอาชีพโดยแท้จริง เขาอุทิศทั้งชีวิตให้แก่อาชีพนี้ ทั้งยังหมกมุ่นอยู่กับสิ่งเดียวเท่านั้น นอกจากนี้เขายังมีชีวิตที่ยืนยาว อยู่เป็นพยานตลอดทั้งศตวรรษที่ 20 ก่อนจะตายในปี 1998 สิริรวมอายุ 95 ปี โดยที่ตายอย่างชาวไอซ์แลนด์ คือตายในบ้านพักคนชรา

เขาเป็นทั้งชาวเกาะ และไม่ใช่ชาวเกาะในเวลาเดียวกัน 

ปล. สำหรับนักอ่านไทยที่อยากจะลองลิ้มชิมงานเขียนของเขา มีเรื่องสั้น “โลกใบใหม่นิวไอซ์แลนด์” ที่ตีพิมพ์อยู่ใน คนบ้าผู้อยากเป็นพระราชา (2556) นะครับ


อ้างอิง 

Salvatore Scibona, “A Rower on the Open Sea”, The New Yorker, July 2022. 

Michael Hofmann, “Double-Time Seabird”, LRB, April 2024. 

MOST READ

World

1 Oct 2018

แหวกม่านวัฒนธรรม ส่องสถานภาพสตรีในสังคมอินเดีย

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก สำรวจที่มาที่ไปของ ‘สังคมชายเป็นใหญ่’ ในอินเดีย ที่ได้รับอิทธิพลสำคัญมาจากมหากาพย์อันเลื่องชื่อ พร้อมฉายภาพปัจจุบันที่ภาวะดังกล่าวเริ่มสั่นคลอน โดยมีหมุดหมายสำคัญจากการที่ อินทิรา คานธี ได้รับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกในประวัติศาสตร์

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก

1 Oct 2018

World

16 Oct 2023

ฉากทัศน์ต่อไปของอิสราเอล-ปาเลสไตน์ ความขัดแย้งที่สั่นสะเทือนระเบียบโลกใหม่: ศราวุฒิ อารีย์

7 ตุลาคม กลุ่มฮามาสเปิดฉากขีปนาวุธกว่า 5,000 ลูกใส่อิสราเอล จุดชนวนความขัดแย้งซึ่งเดิมทีก็ไม่เคยดับหายไปอยู่แล้วให้ปะทุกว่าที่เคย จนอาจนับได้ว่านี่เป็นการต่อสู้ระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ที่รุนแรงที่สุดในรอบทศวรรษ

จนถึงนาทีนี้ การสู้รบระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ยังดำเนินต่อไปโดยปราศจากทีท่าของความสงบหรือยุติลง 101 สนทนากับ ดร.ศราวุฒิ อารีย์ ผู้อำนวยการศูนย์มุสลิมศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถึงเงื่อนไขและตัวแปรของความขัดแย้งที่เกิดขึ้น, ความสัมพันธ์ระหว่างอิสราเอลและรัฐอาหรับ, อนาคตของปาเลสไตน์ ตลอดจนระเบียบโลกใหม่ที่ก่อตัวขึ้นมาหลังยุคสงครามเย็น

พิมพ์ชนก พุกสุข

16 Oct 2023

World

9 Sep 2022

46 ปีแห่งการจากไปของเหมาเจ๋อตง: ทำไมเหมาเจ๋อตง(โหด)ร้ายแค่ไหน คนจีนก็ยังรัก

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์ เขียนถึงการสร้าง ‘เหมาเจ๋อตง’ ให้เป็นวีรบุรุษของจีนมาจนถึงปัจจุบัน แม้ว่าเขาจะอยู่เบื้องหลังการทำร้ายผู้คนจำนวนมหาศาลในช่วงปฏิวัติวัฒนธรรม

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

9 Sep 2022

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save