fbpx

ลายเส้นของ ‘เฟื้อ หริพิทักษ์’ สมบัติล้ำค่าที่เพิ่งถูกเปิดเผย

เป็นที่ทราบกันดีว่า ศิลป์ พีระศรี ได้รับยกย่องให้เป็น เป็นบิดาแห่งวงการศิลปะสมัยใหม่ของประเทศไทย เช่นเดียวกับ เฟื้อ หริพิทักษ์ เป็นครูใหญ่ของวงการศิลปะสมัยใหม่ของไทย

เฟื้อ หริพิทักษ์ (พ.ศ. 2453-2536)  ถือเป็นศิษย์รุ่นแรกของ อาจารย์ศิลป์ พีระศรี ตั้งแต่โรงเรียนประณีตศิลปกรรม ในปี 2476  ก่อนจะเติบโตเป็นมหาวิทยาลัยศิลปากร

คนในวงการศิลปะทราบดีว่า งานของอาจารย์เฟื้อมีราคาแพงอันดับต้นๆ ของบรรดาศิลปินไทย หากมีภาพของอาจารย์เฟื้อ หลุดออกมาประมูลอย่างน้อยราคาประมูลต้องมีเลขเจ็ดหลัก หลายคนอาจรู้จักอาจารย์เฟื้อในฐานะครูบาอาจารย์ที่มีผลงานด้านศิลปะไทยมากมายจนได้รับเลือกเป็นศิลปินแห่งชาติในปี 2528 และศิลปินส่วนใหญ่อาจรู้จักอาจารย์เฟื้อในฐานะผู้บุกเบิกงานศิลปะแนวอิมเพรสชันนิสม์ยุคแรกๆ ของเมืองไทย ทั้งยังเป็นเจ้าของรางวัลเหรียญทองจากงานแสดงศิลปกรรมแห่งชาติถึงสามครั้งด้วยกัน

คนในวงการอนุรักษ์อาจรู้จักอาจารย์เฟื้อในฐานะผู้บุกเบิกงานอนุรักษ์จิตรกรรมภาพฝาผนังไทยอย่างจริงจัง การทำงานด้านการอนุรักษ์ของท่านมาตลอดชีวิตนับเป็นรากฐานของศิลปะไทยที่สืบทอดจนมาถึงปัจจุบัน จนได้รับรางวัลแม็กไซไซ สาขาบริการชุมชน ในปี 2526

แต่เหนืออื่นใด ท่านคือผู้ทำงานศิลปะที่มีชีวิตเยี่ยงศิลปินอย่างแท้จริง

ภาพโดย ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน)

ช่วงชีวิตกว่า 80 ปีของอาจารย์เฟื้อยิ่งใหญ่ในสายตาของคนรู้จัก  ชีวิตที่ผ่านโลกมาของอาจารย์เฟื้อโชกโชนเหมือนเรือล่องในทะเลที่ผ่านมรสุมความทุกข์ยากมาตลอดชีวิต มีทุกข์มีสุข หลากหลายอารมณ์คละเคล้าราวกับตัวละครที่โลดแล่นในนิยายเล่มโต เป็นชีวิตที่มีรสชาติมีสีสันราวกับภาพอิมเพรสชันนิสม์ที่ปาดป้ายสีอันหนักแน่นรุนแรงลงบนผืนผ้าใบ

เป็นคนธรรมดาคนหนึ่งที่มีวิญญาณขบถ ที่น้อยคนนักในสังคมไทยยุคก่อนและยุคนี้จะแสดงความกล้าออกมาเฉกเช่นท่าน

วิญญาณขบถที่ต่อมามีคุณูปการแก่สังคมไทยอย่างมหาศาล

ก่อนท่านจะเสียชีวิตไม่กี่ปี ผู้เขียนโชคดีที่มีโอกาสพูดคุยในห้องแถวเก่าๆ แถวซอยโรงเลี้ยงเด็ก แถววัดภูเขาทอง มีเพียงโต๊ะเก่าๆ กองกระดาษวาดภาพ ตู้เอกสารคร่ำครึ และเตียงนอนเล็กๆ สีขาวสะอาดตา

“สันดานของผมมันรุนแรง”

เฟื้อเคยเรียนที่โรงเรียนเพาะช่าง ถึงชั้นปีที่ 5 แต่ก็ไม่จบ แม้ว่าจะสอบวิชาอื่นๆ จนหมดสิ้น เหลือเพียงวิชาวาดรูป นายเฟื้อไม่ยอมวาดรูปตามหลักสูตรของโรงเรียน ด้วยเห็นว่าเป็นภาพที่จืดชืด ไม่มีชีวิตชีวา กลับเขียนภาพตามใจปรารถนา ผลก็คือสอบตก

เมื่ออาจารย์ศิลป์ พีระศรี ก่อตั้งโรงเรียนประณีตศิลปกรรม เฟื้อก็มาสมัครเป็นลูกศิษย์  อาจารย์ศิลป์เข้าใจความรู้สึกอันอ่อนไหวและรุนแรงของลูกศิษย์คนนี้ได้เป็นอย่างดี เพราะอารมณ์ความรู้สึกเหล่านั้นถ่ายสะท้อนออกมาอย่างชัดเจนในผลงานอันน่าทึ่งของหนุ่มเฟื้อ จนอาจารย์ศิลป์ มั่นใจว่าชายหนุ่มผู้นี้เกิดมาเพื่อเป็นศิลปินโดยแท้

ต่อมาอาจารย์ศิลป์ พีระศรีก็สนับสนุนให้ลูกศิษย์ของตนไปค้นหารากเหง้าศิลปวัฒนธรรมตะวันออกที่มหาวิทยาลัยวิศวภารติ ศานตินิเกตัน ประเทศอินเดีย ซึ่งก่อตั้งโดยปราชญ์ผู้ยิ่งใหญ่ของโลก คือ ‘รพินทรนาถ ฐากุร’ และภายหลังเมื่อกลับมาเป็นอาจารย์ที่มหาวิทยาลัยศิลปากรไม่นาน เฟื้อก็ได้รับทุนจากราชบัณฑิตยสถานอิตาลีให้ไปศึกษาต่อที่กรุงโรมในปี 2497 โดยไม่มีประกาศนียบัตรใดๆ ติดตัว นอกจากจดหมายแนะนำชมเชยท่านที่เขียนโดยท่านอาจารย์ศิลป์ พีระศรี ถึงผู้เกี่ยวข้องที่กรุงโรม จดหมายนั้นมีความตอนหนึ่งว่า

“ข้าพเจ้าขอรับรองว่า นายเฟื้อ หริพิทักษ์ เป็นนักเรียนศิลปะของข้าพเจ้าที่มีพรสวรรค์อันหาตัวจับยาก และเป็นศิลปินผู้อุทิศตนเพื่องานทางศิลปะอย่างจริงจัง โดยเฉพาะอย่างยิ่งการศึกษาศิลปะของรากเหง้าทางวัฒนธรรมของตัวเอง

“บางที นายเฟื้อ หริพิทักษ์ อาจจะเป็นศิลปินที่ดีเยี่ยมที่สุดคนหนึ่งของสยามประเทศเวลานี้”

เมื่อกลับมาเมืองไทย เฟื้อ หริพิทักษ์ ถือได้ว่าเป็นศิลปินหนุ่มที่มีประสบการณ์และความรอบรู้ทั้งด้านศิลปะตะวันออกและตะวันตก โดยเฉพาะภาพอิมเพรสชั่นนิสม์ที่โดดเด่นที่สุดในเวลานั้น กลับมาเป็นอาจารย์สอนมหาวิทยาลัยศิลปากร และเป็นศิลปินคนแรกที่ชนะเลิศเหรียญทองภาพเขียนในงานประกวดศิลปกรรมแห่งชาติถึงสามปี

หากเฟื้อ จะหารายได้จากการวาดรูปขายดั่งศิลปินทั่วไป ก็น่าจะสร้างรายได้มหาศาลในเวลาไม่นานนัก

จนกล่าวได้ว่าฝีมือของอาจารย์เฟื้อในเวลานั้นโดดเด่นเป็นที่จับตามอง เชื่อกันว่าหากท่านทำงานศิลปะร่วมสมัยต่อไปเรื่อยๆ  โอกาสที่จะก้าวขึ้นเป็นศิลปินใหญ่ระดับโลกก็ไม่ใช่เรื่องยาก และหากเป็นเช่นนั้น ชื่อเสียง ลาภ ยศ สรรเสริญ ก็จะตามมาในไม่ช้า

แต่แล้วท่านกลับหันหลังให้สิ่งเหล่านี้ แล้วมาจับงานอนุรักษ์จิตรกรรมไทยและศึกษาศิลปะไทยอย่างจริงจัง โดยทุ่มเทอย่างสุดชีวิตเพื่องานนี้  แม้ในระยะแรกอาจารย์ศิลป์จะทัดทานด้วยเสียดายในฝีมือและอนาคตการเป็นศิลปินผู้สร้างสรรค์งานศิลปะ  แต่ในที่สุดท่านก็ยอมรับเมื่อเห็นผลงานค้นคว้าทางด้านการอนุรักษ์ภาพจิตรกรรมฝาผนังของอาจารย์เฟื้อ โดยกล่าวสั้นๆ ว่า “เธอมีสองอย่าง” 

ภาพโดย ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน)

ท่านอุทิศชีวิตที่เหลือให้กับการอนุรักษ์จิตรกรรมภาพฝาผนัง ท่านก็ได้เริ่มออกสำรวจภาพจิตรกรรมฝาผนังตามวัดต่างๆ ทำการคัดลอกภาพที่สำคัญๆ เก็บไว้ ก่อนที่ภาพเหล่านั้นจะสูญสลาย จากวัดสุทัศนเทพวรารามซึ่งท่านฝังใจในความงดงามมาตั้งแต่เด็กๆ จนถึงวัดสุวรรณาราม ทั้งนี้ การคัดลอกภาพดังกล่าวมิใช่การตีตารางหรือใช้กระดาษลอกลาย หากแต่เป็นการวาดขึ้นใหม่ให้เหมือนของเดิมตามที่ตาเห็น ซึ่งต้องอาศัยฝีมือ ความแม่นยำ และทักษะชั้นเยี่ยม

“เราไม่รู้เรื่องตัวของเรา ไม่ได้รู้เกี่ยวกับประวัติศาสตร์ศิลปะของเราอย่างจริงจัง รู้จักแต่ลายไทย  แต่ลักษณะของศิลปะไทย สถาปัตยกรรมไทย ประติมากรรมไทยสมัยสุโขทัย อยุธยา รัตนโกสินทร์ เป็นอย่างไร ต่างกันอย่างไร ไม่มีใครรู้ ไม่มีใครสนใจ”

ย้อนกลับไปเมื่อประมาณ 70 ปีก่อน บริเวณกรุงเก่าอยุธยายังปกคลุมไปด้วยป่าเปลี่ยว เต็มไปด้วยโจรผู้ร้าย รวมถึงหัวขโมยที่ลักลอบเข้ามาขุดสมบัติในกรุเจดีย์ โบราณสถานต่างๆ ไม่จำเป็นคงไม่มีใครอยากผ่านเส้นทางเหล่านี้

ทว่า ในช่วงเวลานั้นเอง หากใครได้ผ่านเข้าไปยังบริเวณที่ตั้งวัดราชบูรณะ วัดเก่าแก่สมัยอยุธยาซึ่งอยู่ลึกเข้าไปในเขตโบราณสถาน จะสังเกตเห็นชายวัยกลางคนผู้หนึ่งกำลังง่วนอยู่กับการเพ่งพิจารณาซากฝาผนังเก่าๆ ที่พร้อมจะร่วงหล่นเป็นเศษอิฐเศษปูนได้ทุกขณะ ในมือของเขาถือดินสอและพู่กัน คัดลอกภาพจิตรกรรมฝาผนังสกุลช่างอยุธยาอันเรืองรองมาแต่ครั้งโบราณกาล

ชายผู้นั้นทำงานคนเดียวอย่างเงียบๆ – งานซึ่งต่อมาได้กลายเป็นตำนานที่กล่าวขานกันมิรู้ลืม

“ที่วัดราชบูรณะ ผมเขียนเสร็จได้เพียงสามเดือน ฝาผนังก็พังลงมาเลย มันน่าสลดใจ…  ในเมืองโบราณเหล่านี้เป็นป่าเป็นดง เราก็ไปพบงานศิลปะที่สำคัญอยู่ในเจดีย์ อยู่ในซุ้ม  ผมเห็นก็อดไม่ได้ เพราะไม่มีใครจะมาเอาเรื่องเอาราวเลย  ภาพเขียนมันอยู่ได้ไม่นาน… อันตรายมาก  รีบไปคัดลอกรูปมาก่อนที่มันจะพังลงไป  เอาไปให้อาจารย์ศิลป์ดู ท่านก็เห็นว่ามีประโยชน์  จริงๆ แล้วท่านไม่อยากให้ผมนั่งคัดลอกอะไรหรอก มันไม่ใช่งานสร้างสรรค์ศิลปะ มันเป็นการค้นคว้าโบราณศิลปะ เพราะท่านอยากให้ผมได้สร้างสรรค์ศิลปะมากกว่า  แต่ผมบอกท่านว่า ถ้าผมไม่ทำไม่วิจัยแล้ว จะมีใครไปรักษา”

การคัดลอกภาพจิตรกรรมฝาผนังนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะจำเป็นต้องแยกแยะฝีมือช่างแต่ละคนให้ออก ดูว่าภาพใดเป็นผลงานของช่างฝีมือเอกจริงๆ  เพราะภาพแต่ละผนังอาจมีผลงานของช่างหลายคนปะปนกันอยู่  ผู้คัดลอกจึงจำต้องกระจ่างในใจว่า สิ่งใดเป็นงานศิลปะจริงๆ

ภาพโดย ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน)

อาจารย์เฟื้อซึ่งเป็นเพียงอาจารย์ธรรมดาคนหนึ่งในคณะจิตรกรรม มหาวิทยาลัยศิลปากร จึงได้กลายเป็นผู้บุกเบิกการอนุรักษ์ภาพจิตรกรรมฝาผนังคนแรกของไทย และเป็นคนสำคัญซึ่งช่วยรั้งไม่ให้มรดกทางวัฒนธรรมเหล่านี้สูญสลายไปตามกาลเวลาจนสายเกินไปที่คนรุ่นหลังจะหันกลับไปแสวงหารากเหง้าทางวัฒนธรรมของตนได้ทันท่วงที

บ่ายวันอังคารที่ 19 ตุลาคม 2536 อาจารย์เฟื้อ หริพิทักษ์ ครูผู้ยิ่งใหญ่และผู้อุทิศตนเพื่อศิลปะทั้งปวง ก็ถึงแก่กรรมด้วยอาการสงบ สิริรวมอายุได้ 83 ปี

31 ปีต่อมา หรือวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2567 ณ ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) มีพิธีเปิดนิทรรศการงาน ‘บันทึกด้วยลายเส้น เฟื้อ หริพิทักษ์’ ซึ่งเป็นนิทรรศการที่รวบรวมผลงานของอาจารย์เฟื้อ หริพิทักษ์ ในชุดร่างลายเส้นบนกระดาษที่สันนิษฐานว่าวาดขึ้นในช่วงปี 2507 – 2510 ที่มีหลายขนาด โดยภาพส่วนใหญ่เป็นภาพวัดและโบราณสถานในประเทศไทย ทั้งสถาปัตยกรรม ประติมากรรม

ภาพจำนวน 54 ภาพเหล่านี้เป็นนิทรรศการถาวรที่ติดตั้งไว้ที่ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร  หลายคนสงสัยว่า ทำไมอยู่ดีๆ ทางศูนย์ฯ จึงมีภาพสำคัญเก็บไว้มากมาย

ภาพโดย ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน)

เป็นเวลานานแล้วที่ เทพศิริ สุขโสภา ศิลปินชื่อดังและลูกศิษย์อาจารย์เฟื้อค่อยๆ สะสมงานเขียนของอาจารย์เฟื้อได้สามร้อยกว่าภาพ จนกระทั่งเมื่อไม่กี่ปีก่อนท่านตกลงมอบภาพเหล่านี้ให้เป็นสมบัติของส่วนรวม โดยมอบให้กับมูลนิธิเด็ก ร่วมกับมูลนิธิเสถียรโกเศศ–นาคะประทีป เป็นผู้ดูแล

ภาพชุดนี้ได้จัดเก็บไว้ที่อาคารริมน้ำของมูลนิธิเด็ก จึงมีสภาพไม่เหมาะสมต่อการจัดเก็บชุดภาพผลงาน ประกอบกับทางมูลนิธิเด็กและมูลนิธิเสถียรโกเศศ-นาคะประทีป สรุปว่า มีข้อจำกัดในการบริหารจัดการชุดภาพผลงานชุดนี้ให้ถูกต้องตามหลักวิชาการ รวมถึงเงื่อนไขทางด้านงบประมาณ จึงได้พิจารณาร่วมกันว่าจะนำส่งภาพชุดนี้ให้อยู่ในความดูแลของศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร โดยได้ปรึกษา ดร.นพ.โกมาตร จึงเสถียรทรัพย์ ผู้อำนวยการศูนย์ฯ

เนื่องจากชุดภาพผลงานของอาจารย์เฟื้อ หริพิทักษ์ ชุดนี้ ค่อนข้างเก่า และมีความชำรุดทรุดโทรมจากความเสื่อมของกระดาษ (ความเปื่อยยุ่ย ฉีกขาด) ความเสื่อมจากการจัดการภาพ (การทากาว ติดเทปใส) ร่วมกับความเสื่อมสภาพจากการจัดเก็บในสภาพแวดล้อมที่ไม่เหมาะสม (คราบสกปรก เชื้อราที่ภาพ เมาท์บอร์ด และกระจกกรอบรูป) ทางศูนย์ฯ จึงได้เชิญผู้เชี่ยวชาญในการอนุรักษ์ภาพศิลปะ คือคุณขวัญจิต เลิศศิริ และคุณสุริยะ เลิศศิริ และพบว่า มีภาพจำนวน 54 ภาพที่ต้องได้รับการอนุรักษ์อย่างเร่งด่วนจากปัญหา  มีเชื้อราขึ้นอยู่ในกระดาษที่เขียนภาพ  มีรอยยึดตรีงด้วยกาวหรือเทปในบริเวณกระดาษที่เขียนภาพ  มีการฉีกขาดของภาพ

คุณขวัญจิต ได้เปิดเผยเบื้องหลังการอนุรักษ์ภาพอย่างคร่าว ๆคือ

“ลำดับแรกของการอนุรักษ์เริ่มต้นด้วยการถ่ายภาพ เพื่อบันทึกหลักฐานก่อนการอนุรักษ์  แล้วจึงจะถอดภาพลายเส้นออกจากกรอบไม้ เพื่อทำความสะอาดเบื้องต้น และทำการทดสอบภาพเพื่อหาสารเคมีที่เหมาะสมในการอนุรักษ์ ทั้งการทดสอบการละลายของหมึกและสี และการทดสอบสารเคมีที่เหมาะสมสำหรับการทำความสะอาด ลำดับถัดมาจึงจะนำชิ้นงานมาให้ความชื้นเพื่อให้เส้นใยกระดาษคลายตัวให้เหมาะสมต่อการดึงคราบสกปรกออก  เมื่อดึงคราบสกปรกออกแล้วจึงจะผนึกเสริมความมั่นคงให้กระดาษเป็นขั้นตอนถัดไป และในลำดับถัดมาจะนำกรอบไม้เดิมของผลงานชิ้นนั้น ๆ มาซ่อมแซมให้แข็งแรง รวมถึงการเปลี่ยนมาใช้กระจกมิวเซียม

กลาสกรองรังสีUV 70% แทนที่กระจกเดิม วิธีการนี้ช่วยปกป้องผลงานจากรังสี UV อันเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้ภาพซีดจางมากขึ้นในอนาคต ขั้นตอนสุดท้าย จะใช้แผ่นโฟมบอร์ดชนิดไร้กรดปิดหลังกรอบภาพให้เรียบร้อย เนื่องจากโฟมบอร์ดมีคุณสมบัติในการช่วยระบายอากาศได้ดี น้ำหนักเบา จึงสามารถใช้แทนแผ่นไม้อัดในการปิดกรอบรูปได้”

ภาพโดย ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน)

 เวลาผ่านไปหลายเดือน หากใครเห็นภาพเดิมที่ชำรุดเสียหายกับภาพที่ได้รับการอนุรักษ์ขึ้นมาใหม่ ในห้องนิทรรศการแห่งนี้  ก็จะพบสิ่งล้ำค่าของลายเส้นอาจารย์เฟื้อ ที่เป็นงานสเก็ตศิลปะไทยหลายอันที่หายไปแล้วในประวัติศาสตร์

ขอบคุณทุกฝ่ายจริงๆ ที่มีส่วนร่วมในการชุบชีวิตสมบัติล้ำค่าชิ้นนี้ ดังคำปณิธานที่ท่านเคยกล่าวไว้ว่า

“ข้าพเจ้าทำศิลปะด้วยใจรัก เลื่อมใส และจริงใจ

มิได้ทำไปเพราะใยแห่งอามิส

ข้าพเจ้าทำศิลปะเพื่อศึกษาค้นหาความจริง

ในความงามอันเร้นลับอยู่ภายใต้สภาวะแห่งธรรม”


ผู้สนใจเข้าชมสอบถามรายละเอียดได้ที่

Facebook : ห้องสมุดศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร – SAC library

Line : @sac-library

E-mail : [email protected]

Website : www.sac.or.th/library/

โทร. 02-880-9429 ต่อ 3101

ขอขอบคุณ  ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) และ ดร.นพ.โกมาตร จึงเสถียรทรัพย์ ผู้อำนวยการศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน)

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save