fbpx
เมื่อเรามีเพื่อนน้อยลง ปรากฏการณ์ ‘ไม่มีเพื่อน’ ในสังคมยุคใหม่

เมื่อเรามีเพื่อนน้อยลง : ปรากฏการณ์ ‘ไม่มีเพื่อน’ ในสังคมยุคใหม่

เพื่อนรุ่นน้องที่อยู่ในวัยยี่สิบต้นๆ บอกผมว่าทุกวันนี้เขามี ‘เพื่อน’ น้อยมาก เพื่อนสนิทที่สุดก็คือแฟน และนอกเหนือจากนั้นแล้วก็แทบไม่มีใครที่เขาเปิดปากปรึกษาหารือได้อีกเลย

แล้วเขาก็ถามผมว่า – คิดว่าทุกวันนี้ผู้คนมีเพื่อนน้อยกว่าสมัยก่อนหรือเปล่า?

นี่เป็นคำถามที่น่าคิดมาก เพราะสังคมยุคใหม่ซึ่งบีบคั้นมนุษย์มากขึ้นเรื่อยๆ จะเค้นเราจนเหลือสิ่งที่เรียกว่า ‘มิตรภาพ’ อยู่มากน้อยแค่ไหนกัน

ในไทย อาจไม่มีงานวิจัยเกี่ยวกับเรื่องมิตรภาพให้ดูกันชัดๆ แต่ในอเมริกา (ซึ่งเป็น ‘สังคมต้นแบบ’ สังคมหนึ่งของสังคมไทย) มีบทความและสถิติมากมายเลยนะครับ ที่บอกว่าตอนนี้คนอเมริกันกำลังมีเพื่อนน้อยลงมาก เช่น บทความชื่อ Friendships: Less Is Now More ของ World Economic Forum บอกว่าคนอเมริกันที่มี ‘เพื่อนสนิท’ 10 คนขึ้นไป มีจำนวนลดลงอย่างมาก คือจาก 33% ในปี 1990 เหลือแค่ 13% ในปี 2021

ที่ร้ายไปกว่านั้นก็คือ เว็บ Statista อ้างการสำรวจของ Gallup โดยบอกว่านอกจากจะมีเพื่อนสนิทน้อยลงแล้ว ยังมีคนอีกจำนวนมากที่ ‘ไม่มีเพื่อนสนิท’ เลยแม้แต่คนเดียว โดยการสำรวจนี้บอกว่า จำนวนคนที่ ‘ไร้เพื่อนสนิท’ นั้นเพิ่มจาก 3% ในปี 1990 มาเป็น 12% ในปี 2021

ในกลุ่มผู้ชายยิ่งแล้วใหญ่ เพราะมีรายงานของ American Survey Center ที่บอกว่าผู้ชายที่ไร้เพื่อนสนิทเพิ่มจาก 3% ในปี 1990 มาเป็น 15% ในปี 2021 ส่วนในอังกฤษก็ไม่แพ้กัน เพราะมีการสำรวจที่เรียกว่า Men’s Health Survey เป็นการสำรวจโดยมูลนิธิ Movember Foundation โดยได้ผลสำรวจออกมาว่า ผู้ชายเกือบครึ่งหนึ่ง (คือ 47%) ไม่เคยพูดจาเปิดอกกับเพื่อนว่าตัวเองกำลังมีปัญหาอะไร และเกือบหนึ่งในสาม (27%) บอกว่าตัวเองไม่มีเพื่อนสนิท หรือถึงขั้นบอกว่าไม่มีเพื่อนเลย

ไม่-มี-เพื่อน-เลย!

นี่มันเกิดอะไรขึ้นกับมนุษย์เรากันแน่?

ถ้าดูจากกระบวนการวิวัฒนาการ เราจะพบว่ามนุษย์มีวิวัฒนาการกันมาเป็น ‘สัตว์ฝูง’ โดยแต่ละฝูงจะมีขนาดเล็ก และสัตว์ฝูงต้นแบบมนุษย์นี้ ไม่ได้สัมพันธ์กันเฉพาะทางสายเลือดเท่านั้น แต่ยังมีลักษณะ ‘ต่างตอบแทน’ (reciprocity) กับ ‘เพื่อน’ ในฝูงเดียวกันด้วย โดยเพื่อนจะทำงานร่วมกันเพื่อช่วยกันรักษาทรัพยากรของฝูงหรือกลุ่ม ช่วยจัดการให้เกิดความชอบธรรมในฝูงหรือกลุ่ม และคอยปกป้องกันในฝูงหรือกลุ่มที่มีความร่วมมือ (cooperation) ไปถึงเพื่อน คือไม่ใช่แค่พ่อแม่พี่น้องของตัวเอง จะเป็นฝูงที่มีแนวโน้มประสบความสำเร็จหรืออยู่รอดได้มากกว่า ปัจจัยเหล่านี้ถ่ายทอดส่งต่อมาทางพันธุกรรม ทำให้เราเป็นสัตว์ที่ต้องการความสัมพันธ์แบบ ‘เพื่อน’ นอกเหนือไปจากความสัมพันธ์แบบครอบครัวและคู่ครองเพื่อการสืบพันธุ์

สัตว์ที่มีลักษณะเช่นนี้มีอีกหลายสปีชีส์ เช่น ม้า ช้าง ไฮยีนา โลมา ลิง และชิมแปนซี โดยงานวิจัยใน Animal Reviews บอกว่า สปีชีส์ไหนที่ตัวผู้ต้องกระจายตัวกันไปหาอาหาร จะเกิดมิตรภาพในหมู่ตัวเมียมากกว่า และกลับกัน ถ้าสปีชีส์ไหนตัวเมียกระจายตัวไปหาอาหาร ก็จะเกิดมิตรภาพในหมู่ตัวผู้มากกว่า โดยสัตว์ที่มีลักษณะเป็น ‘เพื่อน’ กัน ไม่จำเป็นต้องเป็นญาติ (kinship) กัน แต่ก็ต้องระลึกไว้ด้วยว่า คำว่า ‘เพื่อน’ ในสัตว์นั้น อาจจะมีความหมายไม่เหมือนในมนุษย์ยุคปัจจุบันเสียทีเดียว เพราะเราได้วิวัฒนาการมาไกลมาก ทำให้คำว่าเพื่อนหรือมิตรภาพนั้นซับซ้อน และขึ้นอยู่กับ ‘วัฒนธรรม’ ของแต่ละสังคมมากขึ้น ในบางสังคม ‘เพื่อน’ จำกัดอยู่แค่คนที่มีความสัมพันธ์ลึกซึ้งระหว่างกันเท่านั้น จึงมีจำนวนไม่มากนัก มักพบได้ในสังคมตะวันออก ในขณะที่สังคมตะวันตก เช่นในสหรัฐอเมริกาและแคนาดา พบว่าคนแต่ละคนสามารถมี ‘เพื่อน’ ได้เป็นจำนวนมากกว่า เป็นต้น

ด้วยความที่มิตรภาพฝังอยู่ในกลไกทางวิวัฒนาการ มนุษย์ส่วนใหญ่จึงมีแนวโน้มจะผูก ‘สัมพันธ์ทางเพื่อน’ กันตั้งแต่วัยเด็ก The Oxford Handbook of Developmental Psychology บันทึกรายงานของบรรดาครูและแม่เอาไว้ว่า เด็กก่อนวัยเรียน (preschool) 75% จะมีเพื่อนอย่างน้อยหนึ่งคน พอถึงประถมห้า ตัวเลขจะเพิ่มเป็น 78% โดย 55% จะมี ‘เพื่อนซี้’ แบบ mutual best friend คือต่างฝ่ายต่างเห็นว่าอีกคนเป็นเพื่อนซี้เหมือนกัน โดยมีเด็กที่ ‘ไร้เพื่อน’ อยู่ราว 15% โดยนิยามอาการ ‘ไร้เพื่อน’ ว่าจะต้องไม่มีเพื่อนอย่างน้อยหกเดือนขึ้นไป

พอถึงวัยรุ่น มิตรภาพกลายเป็นเรื่องสำคัญมากขึ้นไปอีก มันไม่ได้แค่ ‘เกิดขึ้นเอง’ โดยบังเอิญ (เช่น นั่งโต๊ะเรียนใกล้กันหรือเจอกันในสนามเด็กเล่น) แล้ว แต่จะเกิดการ ‘แสวงหา’ เพื่อนที่สามารถ ‘ตอบสนอง’ ความต้องการของกันและกันได้ เรียกว่า reciprocal friends คือเป็นเพื่อนที่มีคุณลักษณะบางอย่างสอดคล้องต้องกัน เช่น เพื่อนที่ฟังเพลงแบบเดียวกัน เลยสามารถพูดคุยกันเรื่องเพลงได้ โดยเพื่อนในวัยรุ่นจะวางอยู่บนฐานทางจริยธรรมแบบเพื่อนบางอย่าง เช่น เพื่อนต้องซื่อสัตย์ต่อกัน ไม่หักหลังกัน ไว้วางใจกันได้ หรือมี ‘ผลประโยชน์’ ที่แลกเปลี่ยนกันได้ (อย่างเบาะๆ เช่น แลกเปลี่ยนความรู้เรื่องเพลงใหม่ๆ ไปจนถึงการแลกเปลี่ยนความลับ และการลักลอบทำเรื่องสุ่มเสี่ยงต่างๆ ไปจนถึงเรื่องผิดกฎหมายและอื่นๆ)

พอถึงวัยผู้ใหญ่หรือวัยทำงาน ความหมายของคำว่าเพื่อนก็เปลี่ยนแปลงไปอีก มีสถิติบอกว่า โดยเฉลี่ยแล้ว มนุษย์เราจะมีเพื่อนมากที่สุดเมื่ออายุราว 25 ปี แล้วจำนวนเพื่อนก็จะค่อยๆ ลดลงเมื่ออายุได้ราว 30 ปี โดย ‘เพื่อน’ ในวัยผู้ใหญ่จะมีความหมายรวมไปถึงสถานภาพในชีวิตด้วย เพื่อนที่คบกันได้ต่อเนื่องยาวนาน มักจะมีฐานะทางเศรษฐกิจพอๆ กัน หรือมีผลประโยชน์ต่างตอบแทนในทางเศรษฐกิจที่มากขึ้นกว่าในวัยรุ่น (ในนามของ ‘คอนเน็คชั่น’) แต่ ‘เพื่อนสนิท’ มักจะลดจำนวนลง บทความของ Amy Willis ใน The Telegraph สำรวจผู้ใหญ่ราว 2,000 คน และตั้งชื่อบทความเอาไว้ตรงเผงว่า Most Adults have Only Two Close Friends หรือ ‘ผู้ใหญ่ส่วนใหญ่มีเพื่อนสนิทแค่สองคน’ ซึ่งว่ากันว่าตัวเลขนี้มีแนวโน้มลดลงไปเรื่อยๆ

มีผู้วิเคราะห์เอาไว้ว่า วิถีชีวิตยุคใหม่ของ ‘คนเมือง’ นั้น ‘โหด’ ต่อมิตรภาพเป็นอันมาก เพราะลักษณะสำคัญอย่างหนึ่งของคนเมือง ก็คือการ ‘ไม่รู้จักกัน’ (anonymity) คือไม่รู้ว่าใครเป็นใคร แม้จะอยู่คอนโดฯ ห้องติดกันหรือเดินสวนกันตามรถไฟฟ้าทุกวันก็ตาม

ทุกวันนี้ มนุษย์เรานิยามตัวเองด้วย ‘งาน’ ตามเทรนด์ ‘บ้างาน’ หรือ workism ดังนั้น สิ่งที่เราให้ความสำคัญมากกว่า ‘เพื่อน’ ก็คือการทำงานเพื่อเลื่อนชั้นทางสังคม (social mobility) ดังนั้นเราจะทำงาน ‘นาน’ ขึ้น ยิ่งมีตำแหน่งสูงขึ้น ก็ยิ่งทุ่มเทเวลาให้กับงานมากขึ้น เวลาว่างที่จะใช้สังสันทน์กับเพื่อนจึงน้อยลงกว่าเดิมมาก นั่นคือชีวิตของเรา ‘เปลี่ยน’ แบบหน้ามือเป็นหลังมือ ตรงข้ามกับสังคมในอดีตที่คนรวยมีเวลาว่างมากกว่าคนจน ผลลัพธ์ก็คือเรามีเวลาให้ ‘เพื่อนที่ไม่มีประโยชน์’ น้อยลง แต่มี ‘เพื่อนร่วมงาน’ มากขึ้น ซึ่งโดยส่วนใหญ่แล้ว เพื่อนร่วมงานไม่ใช่คนที่เราจะ ‘เปิดอก’ คุยได้ทุกเรื่อง ยิ่งเพื่อนที่มีผลประโยชน์ต่างตอบแทนด้วยแล้ว เราสามารถพูดคุยได้เพียงบางเรื่องเท่านั้น ไม่อย่างนั้นอาจส่งผลลบต่อผลประโยชน์ระหว่างกันได้ เช่น การเปิดเผยความลับทางการค้า ฯลฯ

นอกจากนี้ ความอยาก ‘เลื่อนชั้นทางสังคม’ ยังทำให้คนจำนวนมากเลือก ‘ย้ายที่อยู่’ ตามงานที่ได้รับด้วย ปัจจุบันนี้ การย้ายประเทศไปทำงานที่อื่นพบเห็นได้เป็นเรื่องปกติ แต่การย้ายประเทศไม่ได้หมายถึงการย้ายที่อยู่เท่านั้น มันกินความไปถึงการย้ายสังคม ย้ายวัฒนธรรม และย้ายแวดวงเพื่อนฝูงด้วย หรือถ้าไม่ถึงขั้นย้ายประเทศหรือย้ายจังหวัด แค่ต้องเปลี่ยนที่ทำงานในกรุงเทพฯ หลายคนก็เลือกไปเช่าที่พักที่อยู่ใกล้ที่ทำงานแทนเพื่อลดเวลาการเดินทาง แต่ก็อาจทำให้ต้องห่างจากวงเพื่อนสนิทเดิมๆ ในละแวกบ้านไป

ต่อให้เราอยากรักษามิตรภาพกับเพื่อนเก่าเอาไว้ เราก็ทำได้ยากเย็นขึ้นเรื่อยๆ เพราะสภาพแวดล้อมและวิถีชีวิตที่เปลี่ยนแปลงไป เราจึง ‘ให้เวลา’ กับเพื่อนได้น้อยลง มีการสำรวจของ American Time Use Survey ที่สำรวจการใช้เวลาของคนอเมริกัน พบว่าก่อนปี 2013 คนอเมริกันใช้เวลากับเพื่อนไม่ถึง 7 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ แล้วพอมาถึงปี 2021 ตัวเลขนี้น้อยลงไปเกือบครึ่ง คือให้เวลากับเพื่อนสนิทแค่สัปดาห์ละไม่ถึง 3 ชั่วโมง และให้เวลากับเพื่อนทั้งหมดไม่ว่าจะสนิทหรือไม่สนิทราว 10 ชั่วโมงต่อสัปดาห์เท่านั้น

สำหรับคนที่เติบโตและมีเพื่อนมาก่อนการระบาดของโควิด-19 อาจไม่รู้สึกว่าการมีเพื่อนของตัวเองเปลี่ยนแปลงไปมากเท่าไหร่ แต่คนที่เติบโตและมี ‘ช่วงสำคัญ’ ของการผูกมิตรพ้องกับโควิด-19 พอดี (เช่น อยู่ในช่วงเรียนมหาวิทยาลัยหรือเริ่มทำงานใหม่ๆ) แล้วต้องเผชิญกับการปิดเมืองหรือ work from home นานเป็นปีๆ จะส่งผลขัดขวางสายสัมพันธ์ทางสังคมในช่วงสำคัญของชีวิต จนไม่อาจสร้างเพื่อนใหม่ขึ้นได้ในช่วงชีวิตนั้น มีการสำรวจ (ที่ไม่น่าแปลกใจเลย) พบว่า ช่วงโควิด-19 ความเหงา (loneliness) ของมนุษย์เพิ่มสูงขึ้น

อีกเรื่องหนึ่งที่หลายคนวิเคราะห์ว่าส่งผลต่อสภาวะเพื่อนน้อย ก็คือโลกออนไลน์ หลายคนคิดว่า โลกออนไลน์ทำให้เราได้พูดคุยกับเพื่อนฝูงมากขึ้น เพราะจะคุยเมื่อไหร่ก็เพียงคลิกเท่านั้น แต่ก็อย่างที่ทุกคนรู้และมีงานวิจัยมากมายรองรับ การพบกันทางออนไลน์ไม่อาจทดแทนการพบหน้าค่าตากันจริงๆ ได้ ที่สำคัญไปกว่านั้นก็คือ การเสพติดโซเชียลมีเดีย อาจเพิ่มความเหงาด้วย และนอกจากนั้น โซเชียลมีเดียยังอาจ ‘ขยาย’ สิ่งที่เรียกว่า ‘มิตรริษยา’ (friendship jealousy) ได้ด้วย เพราะเรามักโพสต์แต่เรื่องดีๆ หรือการประสบความสำเร็จลงในโซเชียลมีเดียให้เพื่อนเห็น เพื่อนจึงอาจเกิดความรู้สึกหมั่นไส้แกมอิจฉา ซึ่งไปบั่นทอนมิตรภาพได้ และในอีกแง่หนึ่ง โซเชียลมีเดียเปิดเผยแง่มุมในชีวิตที่หลากหลาย ทำให้คนที่เคยคบเป็นเพื่อนเพราะบางแง่มุม เมื่อได้เห็นมุมที่ตนไม่พิสมัย ก็อาจอยากลดละเลิกสานสัมพันธ์ความเพื่อนต่อก็ได้อีกเช่นกัน โลกออนไลน์จึงมีผลต่อมิตรภาพในหลายระดับอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติ

จากสถิติและการสำรวจต่างๆ จึงดูคล้ายกับว่ามนุษย์เรากำลังมีเพื่อนน้อยลงจริงๆ การมีเพื่อนที่ไว้วางใจกันได้ สนิทสนมมากพอจะเปิดอกระเบิดระบายเรื่องต่างๆ ระหว่างกันได้ ดูเหมือนจะเป็นเรื่องยากมากขึ้นเรื่อยๆ แม้มีคำแนะนำถึงวิธีสร้างเพื่อนมากมายจากกูรูด้านความสัมพันธ์ (เช่น งานเขียนของเอลิซาเบธ กิลเบิร์ต) ที่บอกว่าเราไม่จำเป็นต้องมีเพื่อนมากนักหรอก มีสักสามถึงห้าคนก็เหลือแหล่แล้ว รวมทั้งต้องหาวิธีสร้างและรักษามิตรภาพเหล่านั้นเอาไว้ด้วยวิธีการที่มีคุณค่า (เช่น ไปทำงานอาสาสมัครร่วมกัน) หรือใช้เวลาร่วมกัน แต่ด้วยสภาพชีวิตที่บีบคั้นและแรงขับในการเลื่อนชั้นทางสังคมที่ไม่ไว้หน้าใคร ก็ดูเหมือนจะทำให้ ‘เพื่อน’ หลุดหล่นไปจากชีวิตของผู้คนมากขึ้นเรื่อยๆ จนกลายเป็นปรากฏการณ์ที่น่าเป็นห่วง เพราะจะยิ่งกระหน่ำซ้ำเติมการระบาดของความเหงาให้มากขึ้นไปอีก

คุณล่ะครับ – มีเพื่อนหรือความสัมพันธ์ที่ ‘มีความหมาย’ กับตัวเองมากน้อยแค่ไหน และตั้งใจจะรักษาความสัมพันธ์เหล่านั้นอย่างไรบ้าง?

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save