fbpx
โซเชียลเน็ตเวิร์ก : เชื่อมต่อคนห่างไกลหรือมหันตภัยแห่งยุค

โซเชียลเน็ตเวิร์ก : เชื่อมต่อคนห่างไกลหรือมหันตภัยแห่งยุค

โตมร ศุขปรีชา เรื่อง

ปทิตตา วาสนาส่งชูสกุล ภาพประกอบ

 

เป็นคำถามที่ถามกันตลอดมา นับตั้งแต่เกิดโซเชียลมีเดียขึ้นบนโลกใบนี้ว่า ไม่ว่าจะเป็นเฟซบุ๊ก อินสตาแกรม ทวิตเตอร์ หรือสื่อสังคมอื่นๆ คือสิ่งที่ ‘ดี’ ต่อมนุษย์เพราะคอยเชื่อมต่อคนห่างไกล หรือแท้จริงแล้วคือมหันตภัยต่อมวลมนุษยชาติกันแน่

เวลาพูดคำว่า ‘มหันตภัย’ ที่เกิดขึ้นจากโซเชียลมีเดียไม่ได้แปลว่าเป็นภัยที่เกิดขึ้นจากความ ‘จงใจ’ หรือ ‘ไม่จงใจ’ อย่างใดอย่างหนึ่งเท่านั้น แต่ภัยอาจเกิดขึ้นกับมนุษย์ได้ทั้งสองแบบ ที่สำคัญ ยังอาจมีลักษณะเป็นปฏิกิริยาลูกโซ่ หรือมีลักษณะ ‘น้ำผึ้งหยดเดียว’ ได้ด้วย

แน่นอน ในโลกอุดมคติ โซเชียลมีเดียควรทำหน้าที่เหมือนอย่างที่มาร์ก ซัคเคอร์เบิร์ก เคยฝันไว้ โซเชียลควรเชื่อมต่อผู้คนไม่ว่าจะอยู่ห่างไกลกันแค่ไหน ทั้งในมิติของระยะทางและมิติของเวลาให้เข้ามา ‘ต่อติด’ กันได้ โซเชียลมีเดียในอุดมคติ (หรือในทุ่งลาเวนเดอร์) จึงควรเป็นสื่อที่เป็นคล้ายสวนสวรรค์ หรือเป็นหมู่บ้านแห่งคนดี มีแต่คนรักกัน ปรารถนาดีต่อกัน ส่งคำอวยพรให้แก่กันและกัน ราวกับเป็นโลกแห่งการเล่นบัดดี้ใบใหญ่

แต่ในความเป็นจริง เราพบเห็นตำตาอยู่ทุกเมื่อเชื่อวันว่าโซเชียลมีเดียคือโลกแห่งความสุดขั้ว ทั้งผลักคนอื่นๆ ออกไปอีกฟากข้าง ก่อร่างสร้างกลุ่มของตัวเองขึ้นมาเพื่อภักดีต่ออุดมการณ์ในฝันของตัวเอง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการเมือง ศาสนา ศิลปินดารานักร้อง แม้กระทั่งเรื่องน้ำปลาพริกหรือสูตรผัดกะเพรา ก็ยังมีการถกเถียงกันอย่างเผ็ดร้อน

ในที่สุด โซเชียลมีเดียก็เต็มไปด้วยเรื่องท็อกสิก ความสุดขั้ว ข่าวปลอม Hate speech และอื่นๆ อีกสารพัดที่ไม่มีทางเป็นทุ่งลาเวนเดอร์ไปได้ หากจะเป็นทุ่งอะไรสักอย่าง คงเป็นได้เพียงทุ่งสังหารที่ต่างฝ่ายต่างพาตัวเองออกรบจนโชกไปด้วยเลือดและเจ็บปวดไปด้วยการถูกเหยียดและเหยียดคนอื่น ถูกบูลลี่และบูลลี่คนอื่น กระบวนการเหล่านี้เกิดขึ้นอย่างซับซ้อน มีทั้งคนที่ตกเป็นเหยื่อจริงๆ ทำให้ตัวเองตกเป็นเหยื่อ พยายามเป็นผู้ล่า พยายามเป็นเหยื่อ ถูกล่าแม่มด อยากเป็นแม่มดที่ถูกล่า อยากถูกล่าแม่มด หรืออยากถูกล่าโดยแม่มด ซึ่งทั้งหมดนั้นไม่ใช่อะไรอื่นเลย นอกจากการ ‘จารึก’ จิตใต้สำนึกร่วมของมนุษยชาติลงไปว่า ในราวหนึ่งทศวรรษกว่าๆ ที่เกิดโซเชียลมีเดียขึ้น โซเชียลมีเดียได้เปลี่ยนแปลงและเปิดเปลือยในสำนึกร่วมของมนุษย์ออกมาอย่างไรบ้าง

แนวคิดแรกๆ ของโซเชียลมีเดียสำคัญของโลกอย่างเฟซบุ๊กคือ ทำให้ผู้คนมีอำนาจที่จะแบ่งปัน และทำให้โลกนั้น ‘เปิด’ และ ‘เชื่อมต่อ’ (connected) กันมากขึ้น แต่คำถามก็คือ เมื่อผ่านมาสิบกว่าปี มนุษย์แบ่งปัน เปิด และเชื่อมต่อกันมากขึ้นจริงหรือ

อัตราส่วนของการแบ่งปัน-เปิด-เชื่อมต่อ กับการกีดกัน-ปกปิด-แบ่งแยกนั้น อะไรมีมากกว่ากันกันแน่

บทความของ The Verge เล่าถึงคนที่ทำงานเป็นผู้ดูแลเฟซบุ๊ก (Facebook Moderator) ทั่วโลกนับหมื่นคน ซึ่งจริงๆ แล้วไม่ได้ทำงานขึ้นอยู่กับเฟซบุ๊กโดยตรง แต่ขึ้นอยู่กับบริษัทอื่น การที่คนเหล่านี้ต้องทำหน้าที่การมอนิเตอร์เนื้อหาต่างๆ ในเฟซบุ๊ก ทำให้พวกเขาต้องเผชิญกับภาพความโหดร้ายต่างๆ เต็มไปหมด โดยเฉพาะภาพอาชญากรรมที่เลวร้ายถึงระดับฆ่ากันตายแล้วส่งคลิปหรือไลฟ์ออกมา ส่งผลให้สุขภาพจิตของพนักงานเหล่านี้ย่ำแย่ลง กรณีนี้แสดงให้เห็นว่า โซเชียลมีเดีย (โดยเฉพาะเฟซบุ๊ก) ไม่ได้บรรลุถึงโลกที่ผู้คนแบ่งปัน เปิด และเชื่อมต่อกันอันเป็นภาพฝันแรกเริ่มเลย

ที่แย่ไปกว่านั้นคือ มันอาจตรงข้ามกับภาพฝันเลยก็ได้ เพราะโซเชียลมีเดียช่วยให้คนที่คิดเหมือนกันมารวมตัวกันได้ โดยเฉพาะกลุ่มที่มีแนวคิดสุดขั้วต่างๆ ตัวอย่างหนึ่งที่หลายคนน่าจะรู้กันดีอยู่แล้วก็คือ การสร้างอิทธิพลทางการเมืองในการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ปี 2016 ซึ่งถึงขั้นมีรายงานออกมาจากหน่วยงานสอบสวนของสหรัฐอเมริกาที่ระบุว่า โซเชียลมีเดียเป็นแหล่งที่ทำให้เกิดการแพร่กระจายของลัทธิสุดขั้ว (Extremism) การใช้ Hate speech โฆษณาชวนเชื่อ การให้ข้อมูลผิดๆ รวมถึงการแพร่กระจายทฤษฎีสมคบคิดด้วย

ในบทความเรื่อง Facebook is a Doomsday Machine ของ Adrienne LaFrance ใน The Atlantic แสดงความกังวลอย่างมากต่อกลุ่มนีโอนาซีที่ใช้เฟซบุ๊กในการติดต่อสื่อสาร หรือกลุ่มขวาจัดอย่าง QAnon ซึ่งกลายเป็นว่า โซเชียลมีเดียกลับไปสร้างอิทธิพลคนละแบบกับที่ผู้สร้างสรรค์เคยวาดหวังเอาไว้

แต่นอกเหนือไปจากนี้ เคยมีบทความเก่าในปี 2014 ที่ชื่อ Everything We Know About Facebook’s Secret Mood Manipulation Experiment ใน The Atlantic เช่นกันที่เล่าถึง ‘การทดลอง’ ในปี 2012 สิ่งที่เกิดขึ้นคือ หน้าฟีดของผู้ใช้เฟซบุ๊กราว 700,000 ถูกปรับให้เห็นโพสที่มีโทนอารมณ์ความรู้สึกในทิศทางที่เอนไปทางใดทางหนึ่งต่างกันไป บางคนจะเจอสเตตัสที่เปี่ยมไปด้วยความสุขหรือเรื่องราวแง่บวก แต่บางคนจะเจอเรื่องเศร้ากว่าสเตตัสอื่นๆ โดยเฉลี่ย ซึ่งเรื่องพวกนี้มีการวิเคราะห์มาเรียบร้อยแล้วว่ามีลักษณะอย่างที่ว่าจริง จะส่งให้คนกลุ่มไหนอย่างไรบ้าง และผู้ทดลองจะไม่รู้เลยว่าใครเป็นใคร เพราะมีการปกปิดชื่อของผู้ใช้เฟซบุ๊กเหล่านี้

ถ้าถามว่าทำอย่างนี้ไปทำไม การศึกษานี้ระบุว่า นี่คือการทดลองเพื่อดูว่า เราสามารถ ‘เหนี่ยวนำ’ ให้มนุษย์เกิดความรู้สึกแง่บวกหรือลบขึ้นได้หรือเปล่า ผ่านการอ่านข้อความที่มีลักษณะต่างๆ ดังกล่าว ผู้ใช้เฟซบุ๊กจะได้รับข้อความเหล่านั้นนานราวหนึ่งสัปดาห์ และเมื่อเวลาผ่านไปหนึ่งสัปดาห์ พบว่าคนเหล่านี้มีแนวโน้มที่จะโพสต์ข้อความที่มีลักษณะบวกหรือลบตามที่ได้อ่านมาตลอดหนึ่งสัปดาห์

การทดลองนี้มีนัยบ่งชี้ว่า เราอาจสามารถ ‘โน้มนำ’ อารมณ์ของมนุษย์ได้ และสามารถสร้าง ‘สภาวะติดต่อทางอารมณ์’ (emotional contagion) ขึ้นมาได้ ซึ่งหากมองในสเกลใหญ่ แปลว่าในเวลาเพียงหนึ่งสัปดาห์ เราอาจทำให้คนจำนวนมากรู้สึกในแง่บวกหรือลบ อารมณ์ดีหรืออารมณ์เสียขึ้นมาได้ไม่ยากนัก เนื่องจากโซเชียลมีเดียเหล่านี้มีสเกลระดับ Megascale เข้าถึงคนได้เป็นจำนวนมหาศาล

การทดลองนี้ไม่ผิดกฎหมาย เพราะก่อนเข้าใช้งาน ผู้ใช้งานต้องลงนามยินยอมเสียก่อนว่าให้นำข้อมูลไปใช้วิเคราะห์ ทดสอบ และวิจัยได้ สำหรับกรณีนี้ โฆษกของเฟซบุ๊กออกมาแจ้งว่า การทดลองเกิดขึ้นจริง แต่เป็นการทดลองครั้งเดียวที่เกิดขึ้นเพียงหนึ่งสัปดาห์ในปี 2012 และไม่มีการใช้ข้อมูลจำเพาะเจาะจงกับใครเป็นพิเศษ เป็นการทำวิจัยเพื่อปรับปรุงการให้บริการ ฯลฯ แต่กระนั้น ก็นำไปสู่การตั้งคำถามเป็นวงกว้าง ว่าสิ่งที่เฟซบุ๊กทำเป็นเรื่องที่ถูกจริยธรรมหรือเปล่า

นอกจากนี้ ยังเพิ่งเกิดการรื้อฟื้นสิ่งที่เรียกว่า ‘แมสเสจบอร์ด’ (Message Boards) ที่แต่เดิมเรียกว่า 8chan ขึ้นมาใหม่ในนามของ 8kun ซึ่งเป็นแมสเสจบอร์ดที่แทบจะไร้การกำกับดูแลจากแอดมินใดๆ พบว่าแมสเสจบอร์ดเหล่านี้เชื่อมโยงกับกลุ่ม White supremacists กลุ่มนีโอนาซี กลุ่มขวาจัดที่เรียกว่า Alt-Right หรือเกี่ยวข้องกับการใช้ความรุนแรงอย่างการกราดยิงและอาชญากรรมที่เกิดจากความเกลียดชัง (Hate crimes) จำนวนมาก หลายคนก็นับว่าแมสเสจบอร์ดเหล่านี้เป็นโซเชียลมีเดียอย่างหนึ่งด้วยเช่นกัน แต่ที่ทำให้หลายคนยังไม่กังวลมาก ก็เพราะมันเป็นโซเชียลมีเดียที่ไม่ได้อยู่ในระดับ Megascale เหมือนโซเชียลมีเดียยักษ์ใหญ่ยอดนิยม

มีผู้วิเคราะห์โดยใช้ฐานจาก ‘ตัวเลขดันบาร์’ (Dunbar Number) ซึ่งเป็นแนวคิดของนักมานุษยวิทยาอย่าง โรบิน ดันบาร์ (Robin Dunbar) ที่บอกว่า 148 คือตัวเลขสูงสุดของสายสัมพันธ์ทางสังคมที่มนุษย์เราจะรักษาไว้ได้ คือถ้ามีคนมากไปกว่านี้ เราจะรักษาสายสัมพันธ์ไว้ไม่ได้แล้ว แต่ในโซเชียลมีเดีย อีธาน ซุคเคอร์แมน (Ethan Zuckerman) บอกว่า ตัวเลขน่าจะอยู่ที่ไม่เกิน 20,000 รายชื่อ (เช่น ในเพจต่างๆ) ถ้าเกินไปกว่านั้น แปลว่าเราอาจไม่รู้จักคนที่อยู่ในแวดวงหรือเพจนั้นๆ ก็ได้ ในขณะที่ตัวเฟซบุ๊กเองมีผู้ใช้หลายพันล้านคนจนอาจใหญ่กว่าประเทศส่วนใหญ่ในโลกไปแล้ว

ทั้งหมดที่ว่ามา อาจทำให้หลายคนตื่นตระหนก และรู้สึกว่าเราต้องรีบ ‘ควบคุม’ หรือแม้กระทั่ง ‘สั่งห้าม’ โซเชียลมีเดียต่างๆ แต่การควบคุมเข้มงวดหรือสั่งห้ามไม่ใช่คำตอบ

โดยเนื้อแท้แล้ว โซเชียลมีเดียคือการ ‘เปิดเปลือย’ ให้เราเห็นลึกลงไปถึงจิตใต้สำนึกร่วมของเราอย่างที่เราไม่อาจเห็นได้หากได้พบปะกันตัวเป็นๆ ช่วงเวลากว่าทศวรรษที่ผ่านมาและอีกหลายๆ ทศวรรษที่กำลังจะมาถึง จึงเป็นช่วงเวลาที่น่าสนใจมาก เพราะโซเชียลมีเดียทำหน้าที่ ‘เปิดโปง’ ความเป็นมนุษย์ของเราออกมาพร้อมทั้ง ‘บันทึก’ มันเอาไว้ด้วย ว่าเราเคยกราดเกรี้ยว เคยด่าทอ เคยเกลียดชังกันมากมายขนาดไหน

มนุษย์เรียนรู้ถูกผิดเสมอมาตลอดประวัติศาสตร์ มีเรื่องใหม่ๆ ท้าทายเราตลอดมา คลื่นแห่งการเปิดโปงจิตใต้สำนึกร่วมคราวนี้ก็เช่นกัน มันคือความท้าทายที่ ‘ใหม่’ มาก เพราะเพิ่งเกิดขึ้นได้เพียงสิบกว่าปี จึงเป็นหน้าที่ที่เราจะต้องเรียนรู้มันต่อไป และน่าจะยิ่งทำให้เรารู้จักตัวเองลึกซึ้งขึ้นในแบบที่ไม่เคยเป็นมาก่อน

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save