fbpx
ขยะสร้างชาติ - เมื่อญี่ปุ่นเปลี่ยน 'ของเสีย' ไปสู่ 'ของสวย' เพื่อโอลิมปิก

ขยะสร้างชาติ – เมื่อญี่ปุ่นเปลี่ยน ‘ของเสีย’ ไปสู่ ‘ของสวย’ เพื่อโอลิมปิก 

เอกศาสตร์ สรรพช่าง เรื่อง

Shin Egkantrong ภาพประกอบ

 

“อยากรู้จังว่าคนญี่ปุ่นเขาตื่นเต้นกับโอลิมปิกกันมากแค่ไหนฮะ” ผมถามพนักงานขับแท็กซี่ระหว่างนั่งกลับโรงแรมย่านอูเนโนะ เขาพูดภาษาอังกฤษได้ดีพอตัว เลยมีโอกาสได้คุยกันเป็นเรื่องเป็นราว

“พวกเราตื่นเต้นกันมากครับ รัฐบาลก็ทำงานก่อสร้างกันหามรุ่งหามค่ำ”

…คิดในใจว่านี่ขนาดหามรุ่งหามค่ำนะ ภาพของบรรยากาศแบบ ‘หามรุ่งหามค่ำ’ ของญี่ปุ่นนั้นน่าจะแตกต่างจากประเทศอื่นมาก เพราะแม้แต่ไซต์ก่อสร้างในตอนที่ผมไป ยังดูเรียบร้อยสะอาดสะอ้านเกินกว่าจะใช้คำนั้น อย่างไรก็ดี น้ำเสียงและสายตาของพี่คนขับแท็กซี่ก็ดูตื่นเต้นและภูมิใจกับการเป็นเจ้าภาพโอลิมปิกหนนี้จริงๆ

ผมเกิดไม่ทันช่วงโอลิมปิกครั้งแรกของญี่ปุ่นปี 1964 แต่อาศัยซึมซับจากหนังสือการ์ตูนหลายๆ เรื่องที่มีฉากหลังเป็นสวนโอลิมปิกที่โอซาก้า สัมผัสได้เลยว่าคนญี่ปุ่นภูมิใจกับการเป็นเจ้าภาพครั้งนั้นมาก (จริงๆ โตเกียวจะได้เป็นเจ้าภาพโอลิมปิกตั้งแต่ปี 1940 แต่มีปัญหาเรื่องสงครามจนต้องประกาศยกเลิกการจัดการแข่งขัน) จากอดีตประเทศแพ้สงคราม ผ่านมรสุมภัยธรรมชาติหนักๆ มามากมาย แต่ญี่ปุ่นใช้เวลาไม่กี่ทศวรรษในการสร้างประเทศขึ้นมาใหม่และใช้เวทีแห่งกีฬาประกาศศักยภาพของตัวเอง โอลิมปิกที่ปักกิ่งเมื่อปี 2008 ก็ใช้กลยุทธคล้ายๆ กับที่ญี่ปุ่นเป็นเจ้าภาพโอลิมปิก

สมัยโน้นญี่ปุ่นอยากให้ทุกคนเห็นว่าตัวเองมีความเป็นตะวันตก เป็นประเทศที่มีความก้าวหน้าทางวิทยาการไม่น้อยหน้าใคร มีการเปิดสนามบินฮาเนดะที่ทันสมัยสุดๆ มีการใช้การถ่ายทอดสดเป็นครั้งแรกแบบเรียลไทม์ และไฮไลท์สุดๆ เลยคือการเปิดใช้บริการรถไฟหัวกระสุนความเร็วสูง ‘ชินคันเซ็น’ เป็นครั้งแรกของโลกเพื่อเชื่อมสามเมือง โตเกียว นาโกย่าและโอซาก้า เมืองหลักที่ใช้ในการแข่งขัน (ญี่ปุ่นถูกห้ามพัฒนาอากาศยานเนื่องจากข้อตกลงเรื่องการเป็นผู้แพ้ในสงครามโลกครั้งที่ 2 ซึ่งทำให้ญี่ปุ่นหันมาเอาดีในเรื่องการพัฒนาเครื่องยนต์สำหรับรถยนต์และระบบรางแทน) โลกตะวันตกได้อ้าปากค้างไปกับความสามารถในการสร้างวิศวกรรมระดับสูง และเป็นการแสดงแสนยานุภาพเพื่อง้างค้านกับประเทศมหาอำนาจอื่นๆ

แต่โอลิมปิกฤดูร้อนในปีหน้า มีทั้งความเหมือนและความแตกต่าง ปัจจัยด้านสังคมที่ญี่ปุ่นกำลังเผชิญ โดยเฉพาะการก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างเป็นทางการประเทศแรกของโลก การถดถอยของเศรษฐกิจที่ต่อเนื่องมาเป็นสิบๆ ปี ทำให้ภาพลักษณ์ของญี่ปุ่นที่เคยร้ายกาจ น่าเกรงขามลดลงอย่างมาก  ญี่ปุ่นอาจกำลังต้องการเรื่องเล่าใหม่ๆ เพื่อให้ตัวเองยังอยู่ในสปอตไลท์และคานอำนาจกับประเทศยักษ์ใหญ่อื่นๆ แม้จะแย่และยากลำบากไปหมด แต่สิ่งที่ดีที่สุดของญี่ปุ่น อยู่ที่คนในประเทศพยายามรักษาความเป็นชาติของตนไว้ให้ได้มากที่สุด พอเป็นเรื่องนี้แล้ว ญี่ปุ่นไม่เคยน้อยหน้าใครไม่ว่าจะเป็นเรื่องจริงจังหรือเรื่องเล็กๆ น้อยๆ ก็ตาม

ญี่ปุ่นยุคนี้อาจไม่ได้หวือหวาเรื่องนวัตกรรมเชิงวิศวกรรมหรือประกาศศักดาใหญ่โต แต่หันมานำเสนอตัวเองเรื่องวัฒนธรรมและนวัตกรรมทางสังคมมากกว่านวัตกรรมทางทหาร หันมาชูประเด็นเรื่องคุณค่าของความเป็นญี่ปุ่น โครงการหนึ่งที่เริ่มไปแล้วสำหรับโอลิมปิกและผมคิดว่าสะท้อนความเป็นญี่ปุ่นได้ดีมาก ริเริ่มโดยภาคเอกชน ทำงานร่วมกับรัฐและคณะกรรมการจัดการแข่งขันโอลิมปิก โครงการนี้ชื่อว่า ‘เหรียญทองของทุกคน’ หรือ ‘Everyone’s Medal’

โครงการนี้ริเริ่มโดยเอ็นทีที โดโคโม (NTT docomo) บริษัทด้านการสื่อสารโทรคมนาคมของญี่ปุ่น เปิดรับบริจาคโทรศัพท์มือถือและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ขนาดเล็กที่ไม่ได้ใช้งานแล้ว เพื่อนำไปแยกชิ้นส่วนเอาแร่ที่สำคัญๆ อย่าง ทอง เงิน บรอนซ์ นำมาทำเป็นเหรียญรางวัลสำหรับนักกีฬาโอลิมปิกและพาราลิมปิก

Everyone’s Medal เริ่มต้นมาตั้งแต่เมษายนปี 2017 รณรงค์ผ่านทั้งทางออนไลน์ ห้างสรรพสินค้า ร้านสะดวกซื้อ ร้านของเอ็นทีที โดโคโมเอง และสถานศึกษา โดยตั้งเป้าว่าแร่ธาตุที่ได้จะต้องเพียงพอกับการผลิตเหรียญรางวัลจำนวน 5,000 เหรียญ เพื่อมอบเป็นรางวัลให้นักกีฬาทั้งในโอลิมปิกและพาราลิมปิกในปีหน้า

มีการสำรวจความเป็นไปได้ก่อนที่จะเริ่มต้นว่า ขยะอิเล็กทรอนิกส์ โดยเฉพาะโทรศัพท์มือถือ น่าจะมีมากพอที่จะใช้ทำเหรียญรางวัลได้ ข้อมูลจากเอ็นทีที โดโคโมพบว่า แม้ญี่ปุ่นเป็นประเทศที่ขึ้นชื่อเรื่องการใช้ทรัพยากรคุ้มค่าที่สุด และแยกขยะได้ดีที่สุดประเทศหนึ่งของโลก แต่โทรศัพท์มือถือในญี่ปุ่น ถูกนำกลับมารีไซเคิลไม่ถึงร้อยละสิบ โทรศัพท์โดยมากจะถูก ‘เก็บ’ มากกว่า ‘ทิ้ง’ แต่ในโทรศัพท์เคลื่อนที่มีแร่ธาตุสำคัญอยู่มากที่สามารถนำมาใช้งานได้ใหม่มากมาย ไม่ใช่แค่เงิน ทองหรือบรอนซ์ ยังมี พัลลาเดียม อลูมิเนียม สแตนเลส สตีล  ฯลฯ อีกเยอะ

จริงๆ แล้วเหรียญโอลิมปิกไม่ได้ทำจากทองจริงๆ เหรียญทองในโอลิมปิกที่ริโอ เดอ จาเนโร เมื่อสี่ปีก่อนมีทองผสมอยู่แค่ 1.2 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น ส่วนประกอบหลักๆ ที่ใช้คือแร่เงิน ซึ่งรีไซเคิลมาจากกระจกและแผ่นเอ็กซเรย์เก่าแต่ไร้กลยุทธใดๆ โดยเฉพาะการสร้างความภาคภูมิใจแก่คนในชาติ คนที่นั่นต่อต้านการจัดโอลิมปิกกันสุดฤทธิ์ ตรงข้ามกับในโตเกียว 2020 วาทกรรมเรื่องความเป็นชาติถูกทำอย่างต่อเนื่อง และปลูกฝังกันตั้งแต่ยังเด็ก เช่นการรณรงค์ครั้งนี้ก็เช่นกัน ตัวแปรสำคัญในการเคลื่อนไหวครั้งนี้ก็คือเด็กในโรงเรียน ทั้งๆ ที่เด็กไม่ได้เป็นผู้ใช้โทรศัพท์ด้วยซ้ำ แต่กลับสามารถระดมโทรศัพท์เก่ามาได้อย่างรวดเร็วและมากมายด้วยการบังคับผู้ใหญ่ในบ้านของเขานั่นแหละ

โฆษกของการจัดโตเกียว 2020 คุณมาซา ทากายา ออกมาแถลงข่าวเมื่อปลายปีที่ผ่านมาว่า ตอนนี้พวกเขาได้แร่ทองคำมาทั้งสิ้น 16.5 กิโลกรัม คิดเป็น 54.5 เปอร์เซ็นต์ของความต้องการใช้งาน (ที่ต้องการคือ 30.3 กิโลกรัม) แร่เงินได้มาแล้ว 1,800 กิโลกรัมจากเป้าหมายที่ตั้งไว้ 4.1 ตัน ส่วนแร่บรอนซ์ได้มาครบตามจำนวนที่ต้องการแล้วคือ 2,700 กิโลกรัม ฟังดูอาจเป็นจำนวนที่ดูมาก แต่เอ็นทีที โดโคโมเปิดเผยว่ากว่าจะได้เท่านี้ พวกเขาต้อง ‘ขุดเหมืองทอง’ จากซากกองขยะมือถือที่มีน้ำหนักมากกว่า 34,000 ตันจากโทรศัพท์ 4.32 ล้านเครื่อง และกว่าจะได้ทองสักกรัมหนึ่ง ต้องควานหาจากโทรศัพท์มือถืออย่างน้อยๆ ก็ 35-40 เครื่อง โครงการนี้ได้ผลสองต่อ คือหนึ่ง พวกเขาได้แร่สำคัญๆ ไปใช้ในการทำงานแบบไม่ต้องซื้อใหม่ และสอง เป็นหนทางในการจัดการขยะที่กำจัดได้ยากที่สุดอย่างหนึ่งของโลก

ไม่ได้มีแต่ญี่ปุ่นที่มีปัญหาเรื่องโทรศัพท์ สหประชาชาติประเมินว่าขยะอิเล็กทรอนิกส์ในช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมาเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว เนื่องจากความต้องการและราคาของสมาร์ทโฟนถูกลงมาก หากตัวเลขการเติบโตของผู้ใช้โทรศัพท์มือถือยังคงที่อยู่ที่ราว 3-4 เปอร์เซ็นต์ต่อปี คาดการณ์ว่าเมื่อถึงปี 2021 เราจะมีขยะอิเล็กทรอนิกส์ประมาณ 52 ล้านตัน แต่ถูกนำกลับไปรีไซเคิลไม่ถึง 20 เปอร์เซ็นต์

ญี่ปุ่นเองก็มีตัวเลขของการนำเอาขยะอิเล็กทรอนิกส์มาแยกชิ้นส่วนเพื่อทำ ‘เหมืองในเมือง’ (Urban Mining)  ที่น้อยมาก การริเริ่มโครงการนี้จึงเป็นสิ่งที่ญี่ปุ่นหวังจะสร้างผลกระทบระยะยาว ให้ทุกคนหันมาให้ความสำคัญกับการนำขยะเหล่านี้กลับมาใช้ใหม่ ข้อมูลของสหประชาชาติยังบอกด้วยว่าแค่ขยะอิเล็กทรอนิกส์หนึ่งตัน หากเราสามารถเอามาเข้าระบบเพื่อทำ Urban Mining ทั่วทั้งโลก จะสามารถลดการทำเหมืองแร่ที่เราต้องขุดแร่ทองจริงๆ ได้ถึง 30 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งนั่นหมายความว่าเราสามารถช่วยโลกใบนี้ได้อีกมาก เพียงแค่เราแยกขยะและนำไปใช้ให้ถูกที่ถูกทาง และไม่ควรใช้คำว่า ‘ทิ้ง’ เพราะของเหล่านี้มีค่าเกินกว่าจะทิ้ง

แลดูเหมือนเป็นเรื่องเล็กๆ ที่เราคาดไม่ถึงและญี่ปุ่นมักทำเรื่องแบบนี้ได้ดี กระทบความรู้สึกของผมมาก และเชื่อว่าความคิดแบบนี้แหละที่จะเป็นทางรอดของโลกที่ทุกวันนี้เราเอาแต่ซื้อของใหม่ แต่ลืมไปว่าของเก่าเหล่านี้เราจะจัดการอย่างไร หากกระบวนการที่ญี่ปุ่นกำลังเริ่มทำนี้มีพลังมากพอ อาจสร้างการเปลี่ยนแปลงกับที่อื่นๆ ของโลกได้เช่นกัน ถึงเวลาแล้วที่เราต้องแสวงหาหนทางใหม่ๆ ในการนำทรัพยากรที่ใช้แล้วให้นำกลับมาหมุนเวียนใหม่อย่างมีประสิทธิภาพกว่านี้

ผมเชื่อของผมคนเดียวว่ากว่าจะถึงโอลิมปิก ญี่ปุ่นน่าจะมีโครงการตื่นตาตื่นใจที่ปลุกความเป็นชาติอีก ให้เราได้อิจฉากันอีกเยอะ

บ้านเราอย่าเพิ่งถามถึงการเป็นเจ้าภาพโอลิมปิกเนอะ เอาแค่เลือกตั้งให้ได้ก่อน

ถือคติว่าหวังน้อยๆ จะได้ไม่เจ็บมาก

MOST READ

Social Issues

9 Oct 2023

เด็กจุฬาฯ รวยกว่าคนทั้งประเทศจริงไหม?

ร่วมหาคำตอบจากคำพูดที่ว่า “เด็กจุฬาฯ เป็นเด็กบ้านรวย” ผ่านแบบสำรวจฐานะทางเศรษฐกิจ สังคม และความเหลื่อมล้ำ ในนิสิตจุฬาฯ ปี 1 ปีการศึกษา 2566

เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล

9 Oct 2023

Social Issues

5 Jan 2023

คู่มือ ‘ขายวิญญาณ’ เพื่อตำแหน่งวิชาการในมหาวิทยาลัย

สมชาย ปรีชาศิลปกุล เขียนถึง 4 ประเด็นที่พึงตระหนักของผู้ขอตำแหน่งวิชาการ จากประสบการณ์มากกว่าทศวรรษในกระบวนการขอตำแหน่งทางวิชาการในสถาบันการศึกษา

สมชาย ปรีชาศิลปกุล

5 Jan 2023

Social Issues

27 Aug 2018

เส้นทางที่เลือกไม่ได้ ของ ‘ผู้ชายขายตัว’

วรุตม์ พงศ์พิพัฒน์ พาไปสำรวจโลกของ ‘ผู้ชายขายบริการ’ ในย่านสีลมและพื้นที่ใกล้เคียง เปิดปูมหลังชีวิตของพนักงานบริการในร้านนวด ร้านคาราโอเกะ ไปจนถึงบาร์อะโกโก้ พร้อมตีแผ่แง่มุมลับๆ ที่ยากจะเข้าถึง

กองบรรณาธิการ

27 Aug 2018

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save