fbpx

ถึงคราวอวสาน ‘รายการเด็ก’ บนทีวีไทย (?) เมื่อเด็กไทยเป็นแค่ผู้บริโภคที่ไร้สิทธิไร้เสียง : คุยกับ มรรยาท อัครจันทโชติ

“อรุณเบิกฟ้า นกกาโบยบิน ออกหากินร่าเริงแจ่มใส…” เป็นเนื้อเพลงคุ้นหูจากการ์ตูนเด็กที่ดำเนินเรื่องด้วยหุ่นมือหน้าตาน่าจดจำอย่าง ‘เจ้าขุนทอง’ ที่เป็นส่วนหนึ่งในการเติบโตของเด็กหลายคนในอดีต แต่เมื่อปี 2561 เจ้าหุ่นอีกาดำกับผองเพื่อนก็ไม่ได้โลดแล่นบนจอแก้วอีกต่อไป โดยไม่ทันได้โบกมือลาผู้ใหญ่ที่เติบโตมากับพวกเขาเสียด้วยซ้ำ

นอกจากเจ้าขุนทองแล้ว หากเราลองเปิดโทรทัศน์ดูก็จะพบว่ารายการสำหรับเด็กอื่นๆ ก็ทยอยหายไปเช่นกัน โดย กสทช. ได้บันทึกสถิติไว้ว่าในปี 2558 ยังมีรายการสำหรับเด็กอยู่ประมาณ 700 รายการ แต่จนกระทั่งปี 2563 ก็เหลืออยู่ประมาณ 200 รายการเท่านั้น

เรื่องนี้อาจไม่ได้ถูกมองว่าเป็นเรื่องใหญ่อะไรนักต่อสังคมไทย แต่สำหรับ ‘เด็กๆ’ ที่เสียงของพวกเขามักไม่ได้ถูกรับฟังเท่าไหร่นัก การทยอยหายไปของรายการเด็กคุณภาพบนจอโทรทัศน์ถือว่าเป็นปัญหาใหญ่ แม้หลายคนอาจแย้งว่าการมีหรือไม่มีสื่อสำหรับเด็กบนโทรทัศน์นั้นอาจไม่ใช่เรื่องจำเป็นอีกแล้วในยุคสมัยปัจจุบันที่เด็กนิยมเสพสื่อทางออนไลน์ แต่ต้องอย่าลืมว่าไม่ใช่เด็กทุกคนที่จะเข้าถึงสื่อออนไลน์ได้ง่าย และสื่อเด็กบนโลกออนไลน์ก็ไม่อาจยืนยันได้ว่ามีคุณภาพเหมาะสมสำหรับเด็กจริง การมีสื่อเด็กบนช่องทางโทรทัศน์ที่กำกับดูแลได้ง่ายจึงยังถือเป็นเรื่องจำเป็น

เพราะอะไรรายการเด็กบนจอโทรทัศน์ไทยถึงได้ทยอยหายไป การขาดรายการเด็กที่มีคุณภาพจะส่งผลอย่างไรต่อเด็กๆ และจะทำอย่างไรให้ผู้บริโภคที่ไร้สิทธิ์ไร้เสียงอย่างเด็กๆ ได้รับสิทธิในการเข้าถึงสื่อที่มีคุณภาพกลับคืนมา 101 ชวน ผศ.ดร.มรรยาท อัครจันทโชติ หัวหน้าภาควิชาการสื่อสารมวลชน คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มาพูดคุยกันในเรื่องนี้

ผศ.ดร.มรรยาท อัครจันทโชติ

คุณมองภาพสื่อเด็กในประเทศไทยที่ผ่านมาอย่างไรบ้าง

ประเทศไทยไม่มีช่วงไหนเลยที่สื่อเด็กมีความรุ่งเรือง จากที่ครูทำวิจัยเรื่อง ‘60 ปีรายการโทรทัศน์สำหรับเด็ก อุดมการณ์ของผู้ผลิตท่ามกลางกระแสเชี่ยวกราดของธุรกิจสื่อ’ ที่ศึกษาโทรทัศน์ไทยตั้งแต่ยุคเก่าที่มีช่อง 4 บางขุนพรหม จนมาถึงยุคดิจิทัล พบว่ารายการเด็กอยู่ในภาวะที่เรียกว่าวิกฤตมาตลอด แม้เหมือนมีช่วงที่ลืมตาอ้าปากขึ้นมาบ้าง หากเปรียบเทียบเหมือนเราอยู่ในน้ำ ก็เป็นช่วงที่ขึ้นจากน้ำมาเอาลมหายใจเข้าไปได้บ้าง แต่แล้วก็จมลงไปอีก และดิ่งลงไปเรื่อยๆ

ประเทศไทยดูเหมือนมีแนวนโยบายเกี่ยวกับเรื่องของสื่อสำหรับเด็กมายาวนานตั้งแต่ปี 2522 ที่เป็นปีเด็กสากล มีการจัดประชุมเรื่องแนวทางการพัฒนารายการโทรทัศน์สำหรับเด็ก คนทำรายการเด็กในยุคนั้นมารวมตัวกัน ช่วยกันคิด ช่วยกันออกแบบ ว่าจะทำอย่างไรให้โทรทัศน์สำหรับเด็กพัฒนาขึ้นได้ และมีสื่อเด็กที่มีคุณภาพมากขึ้น แต่มันก็เป็นแค่แนวทาง เพราะในความเป็นจริงไม่ได้ถูกนำมาปฏิบัติใช้ให้เกิดผลจริงสักเท่าไร

คุณว่าอะไรเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้รายการสำหรับเด็กค่อยๆ ทยอยหายไปจากหน้าจอโทรทัศน์

เวลาเราคุยกับใคร ก็จะมีคนบอกว่าเติบโตมากับรายการนั้น รายการนี้ อย่างช่วงวัยของเราก็อาจจะเป็นรายการเจ้าขุนทอง เราเลยถามว่า รู้ไหมว่ามันหายไปตอนไหน คำตอบคือไม่มีใครรู้เลย แล้วก็อาจจะเสริมต่อว่า “เราโตขึ้นแล้ว ก็เลยไม่รู้ ไม่ได้สนใจจะดูแล้ว” แต่ที่สำคัญคือตอนที่มันหายไป มันหายไปพร้อมกับความเจ็บปวดของคนทำงาน เพราะก่อนที่จะหายไปจริงๆ รายการโดนย้ายช่วงเวลาออกอากาศไปเรื่อยๆ จนไปอยู่ในช่วงเวลาที่ไม่มีคนดู และถูกบีบให้ตัดสินใจเอารายการออก

ถ้าเป็นต่างประเทศ มันจะกลายเป็นประเด็นสังคมทันที คนจะออกมาเคลื่อนไหวว่าเราโตมากับรายการนี้ โตมากับเจ้าขุนทอง เรารู้ว่ามันเป็นรายการที่ดี เด็กดูแล้วสนุก หุ่นในรายการก็น่าจดจำ ซึ่งครูมีโอกาสได้คุยกับคนที่ทำรายการสำหรับเด็ก รวมถึงเจ้าขุนทอง เขาเจ็บปวดมากๆ ที่รายการหายไปแล้วไม่มีใครสนใจเขาเลย เหมือนต้องสู้กับทุกอย่างมาอย่างโดดเดี่ยว

ถามว่าช่วงไหนที่รายการเด็กหายไปเยอะๆ ต้องย้อนกลับไปช่วงปี 2540 ที่มีวิกฤต IMF (หรือวิกฤตต้มยำกุ้ง)  ตอนนั้นแทบจะเรียกได้ว่าเป็นยุคอวสานของรายการเด็ก เพราะรายการเด็กที่คนไทยผลิตเองหายไปเกือบหมด คนที่ยังทำอยู่ก็ต้องใช้เงินตัวเองในการทำรายการ เช่น ‘พี่ซุป – วิวัฒน์ วงศ์ภัทรฐิติ’ จากรายการซูเปอร์จิ๋ว ที่เดิมทีพี่ซุปเป็นเพียงพิธีกร แต่วิกฤต IMF ทำให้บริษัทผู้ผลิตจะยกเลิกรายการเพราะทำต่อไปไม่ไหว พี่ซุปจึงขอทำต่อและก่อตั้งบริษัทของตัวเอง ต้องทำเองตั้งแต่วิ่งหาสปอนเซอร์ แต่หลายครั้งที่ขอสปอนเซอร์ ผู้ให้ทุนบอกว่า “รู้จักรายการนี้ และเป็นรายการที่ดี แต่ถ้าอยากทำบุญ เดี๋ยวไปที่วัดก็ได้” เพราะเขาเห็นว่ารายการเด็กไม่สร้างรายได้ ถ้าลงทุนไป ก็เหมือนทำบุญ

ตรงนี้เราไม่โทษเขา แต่มันแสดงให้เห็นถึงวิธีคิดของสังคมไทย ในเมื่อเด็กเป็นคนที่ไม่มีกำลังซื้อ ไม่มีปากมีเสียง เวลาพูดถึงปัญหาเรื่องของรายการเด็กจึงต้องถอยออกมาดูภาพใหญ่ จะเห็นว่าเรื่องเด็กในไทยเป็นปัญหาทุกเรื่อง ตั้งแต่การศึกษาซึ่งถือเป็นเรื่องสำคัญ ไปจนถึงเรื่องสื่อ เรื่องสวัสดิการต่างๆ ที่เป็นเรื่องที่ถูกมองข้ามตลอด นี่เป็นจุดหนึ่งที่ทำให้โทรทัศน์ไทยก็ไม่เคยให้ความสำคัญกับรายการเด็กจริงๆ

วงการโทรทัศน์ไทยมาถึงจุดเปลี่ยนสำคัญในช่วงปี 2557 ซึ่งก็คือการเข้าสู่ยุคดิจิทัลทีวี ในตอนนั้นได้เห็นการเปลี่ยนแปลงอะไรบ้างสำหรับรายการเด็กบนโทรทัศน์

ก่อนจะมีดิจิทัลทีวี กสทช. ได้ออกประกาศเรื่อง ‘หลักเกณฑ์การจัดทําผังรายการสําหรับการให้บริการกระจายเสียงหรือโทรทัศน์ พ.ศ. 2556’ ซึ่งระบุว่าในช่วงเวลา 16.00-18.00 น. ของทุกวัน และเพิ่มเติมในวันเสาร์-อาทิตย์ เวลา 7.00-9.00 น. ขอให้มีเวลาอย่างน้อย 60 นาที ให้รายการสำหรับเด็ก ในขณะที่ดิจิทัลทีวีเริ่มออกอากาศปี 2557 ช่องต่างๆ จึงต้องรับรู้เงื่อนไขนี้ก่อนแล้ว

นอกจากนั้นยังมีการเปิดให้ประมูลช่องในหมวดหมู่สำหรับเด็กเยาวชนและครอบครัวโดยเฉพาะ จึงดูเหมือนกับว่ารายการสำหรับเด็กพอจะลืมตาอ้าปากได้อีกครั้งหนึ่ง แต่ปรากฏว่ามันคือการติดกระดุมผิดตั้งแต่เม็ดแรก เพราะแม้ว่าทีวีหมวดหมู่เด็กจะเก็บค่าใบอนุญาตต่ำกว่าช่องอื่นๆ แต่ก็ยังต้องใช้เงินอยู่ดี แล้วพอเป็นการประมูลในประเภทธุรกิจ นั่นแปลว่าเขาก็ต้องคำนึงถึงธุรกิจ แต่พอทำรายการเด็ก ธุรกิจก็ไปไม่รอดและหาสปอนเซอร์ไม่ได้

เงื่อนไขเรื่องการฉายตามเวลาดังกล่าวก็ไม่เคยเป็นจริงตั้งแต่เกิดดิจิทัลทีวีขึ้นมาเช่นกัน ครูทำวิจัยสำรวจเรื่อง ‘การกําหนดช่วงเวลารายการสําหรับเด็กและเยาวชนในประเทศไทย : จากนโยบายของ กสทช. สู่การปฏิบัติจริงของสถานีวิทยุและสถานีโทรทัศน์’  ว่าแต่ละช่องมีการฉายรายการสำหรับเด็กหรือไม่ ในช่วงเวลาที่กำหนด ปรากฏว่าโดยเฉลี่ยมีการออกอากาศรายการสำหรับเด็กแค่ 37 นาที 50 วินาที โดยบางช่องก็อยู่ที่ 0 นาที และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง มีช่องหนึ่งในหมวดเด็กที่ไม่มีรายการเด็กในช่วงเวลานี้เลย เราจึงได้นำผลการวิจัยไปเสนอต่อ กสทช. และมีการเชิญตัวแทนของช่องต่างๆ มาพูดคุยถึงการปรับแก้ จึงพบว่าปัญหาคือธุรกิจในการทำรายการเด็กไปไม่รอด ดังนั้นเด็กก็จะไม่มีรายการที่เป็นรายการเฉพาะของกลุ่มพวกเขาจริงๆ

ถ้ารายการเด็กไปไม่รอดในทางธุรกิจ แล้วจะพอมีแนวทางใดไหมที่ทำให้รายการเด็กพอมีที่ยืนในโทรทัศน์ไทย

ถ้าเป็นต่างประเทศ เรื่องรายการโทรทัศน์หรือเรื่องสื่อถือว่าเป็นพันธกิจของรัฐบาล เพราะเป็นหน้าที่ของรัฐที่จะต้องพัฒนาเด็กในประเทศตัวเอง ช่องโทรทัศน์สำหรับเด็กส่วนใหญ่จึงจะอยู่ในประเภทบริการสาธารณะที่ภาครัฐเป็นผู้ลงทุน สำหรับรัฐบาลไทย ได้มีการลงนามในอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็กในปี 2535 ซึ่งมีข้อที่ระบุว่า “เด็กมีสิทธิได้รับข้อมูลข่าวสารจากอินเทอร์เน็ต วิทยุ โทรทัศน์ หนังสือพิมพ์ หนังสือ และแหล่งข้อมูลอื่นๆ โดยที่ผู้ใหญ่ควรดูแลข้อมูลที่เด็กได้รับไม่ให้เป็นอันตรายต่อเด็ก ขณะที่รัฐควรส่งเสริมให้สื่อเผยแพร่ข้อมูลที่เป็นประโยชน์จากแหล่งที่มาที่หลากหลาย และในภาษาที่เด็กเข้าใจ” เห็นได้ว่าเขาระบุชัดเจนว่ารัฐมีหน้าที่ในการพัฒนาสื่อให้เหมาะสมสำหรับเด็ก และต้องเป็นสื่อที่มีคุณภาพ

ดังนั้นสื่อเด็กจึงควรเป็นการลงทุนของภาครัฐ เพราะถือเป็นหนึ่งในนโยบายในการพัฒนาคน ถ้าเราจะให้แผนพัฒนาประเทศมีคนเป็นศูนย์กลาง เด็กคือคนที่สำคัญที่สุด ถ้าไม่พัฒนาตั้งแต่เด็ก ก็จะไม่สามารถเติบโตไปเป็นทรัพยากรคนที่สำคัญในการพัฒนาประเทศต่อไปได้

จริงๆ แล้วเรามีกองทุนสำหรับทำสื่อเด็กโดยเฉพาะอยู่ นั่นคือกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ซึ่งเกิดขึ้นมาด้วยเจตนารมณ์ของคนทำงานด้านสื่อเด็กที่เห็นปัญหาว่ารายการเด็กไม่มีทุนทำ หากมีกองทุนนี้ก็จะช่วยสนับสนุนการสร้างรายการเด็กที่มีคุณภาพได้ แต่ไปๆ มาๆ กองทุนนี้กลายเป็นหน่วยงานที่อยู่ภายใต้สังกัดกระทรวงวัฒนธรรม

ดังนั้นเมื่อถึงเวลาให้ทุนจริงๆ เรื่องสื่อเด็กแทบไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งในนั้น และมักจะเป็นการให้ทุนในเชิงยุทธศาสตร์ เช่น ปีนี้กระทรวงฯ อยากให้สนับสนุนเรื่องการรักชาติ ก็จะให้ทุนเลย 10 ล้านบาทกับการสร้างสื่อเรื่องรักชาติ และแบ่งมาให้สื่อเด็กแค่เสี้ยวหนึ่งเท่านั้น โดยรายการเด็กที่ได้รับทุนไปกลับกลายเป็นไม่มีคนดู เพราะเราดูแล้วยังบอกว่าน่าเบื่อ เด็กก็คงไม่ดูเช่นกัน นั่นคือทักษะอาจจะยังไม่ถึงแต่ได้ทุน ส่วนคนที่มีทักษะกลับเข้าไม่ถึงแหล่งทุน ซึ่งเป็นปัญหาที่กระทบต่อภูมิทัศน์สื่อโดยรวม

แล้วคุณว่ามันจำเป็นแค่ไหนที่ต้องมีรายการสำหรับเด็กบนจอโทรทัศน์

บางคนก็บอกว่า เพราะฉันไม่ใช่เด็กแล้ว จึงไม่เห็นความสำคัญว่ารายการเด็กจะหายไปไหม หรือจะมีรายการเด็กดีๆ หรือเปล่า หรือบางคนก็ตั้งใจจะไม่มีลูก จึงบอกว่าการจะมีหรือไม่มีรายการเด็กก็ไม่เกี่ยวกับเขา แต่จริงๆ แล้วความสำคัญในเรื่องเด็กนั้นไม่เกี่ยวกับว่าคุณมีลูกหรือเปล่า แต่เด็กทั้งหมดจะเติบโตขึ้นมาในสังคมของเรา

ช่วงเวลาในการพัฒนาเด็กเป็นช่วงระยะเวลาที่จำกัดมาก ถ้าผ่านช่วงนั้นไปแล้ว จะผ่านไปเลย โดยไม่มีทางย้อนกลับ แล้วพอเราไม่สนใจ เรากลับมาบอกว่า ทำไมเด็กสมัยนี้เป็นแบบนี้ ทำไมเด็กเกิดเป็นปัญหาสังคม คุณภาพของคนในสังคมไม่ดี เราต้องย้อนกลับไปดูว่าเราให้ความสำคัญกับการพัฒนาเด็กตั้งแต่เริ่มต้นหรือไม่ ซึ่งนี่ไม่ใช่แค่เรื่องของภาครัฐ คือจริงอยู่ว่าภาครัฐเป็นคนวางนโยบายหลักและเป็นคนที่ควรจะให้ทุนหลัก แต่ในขณะเดียวกันก็ควรจะกระตุ้นการมีส่วนร่วมให้คนในสังคมรู้สึกไปด้วยว่า การมีรายการเด็กหรือสื่อเด็กเป็นสิ่งที่จำเป็นต้องมี เพื่อช่วยในการสร้างสังคมไทย สร้างประเทศ สร้างโลก

ในยุคที่คนบอกว่า “เด็กไม่ดูโทรทัศน์แล้ว” ทำไมเราถึงจำเป็นต้องมีสื่อสำหรับเด็กทางโทรทัศน์อีก

คนชอบบอกว่า “เด็กไม่ดูโทรทัศน์แล้ว แล้วเราจะต้องมีรายการเด็กทางโทรทัศน์ไปทำไม ทำรายการให้คนกลุ่มอื่นที่เขายังดูทีวีอยู่ อย่างกลุ่มผู้สูงวัยดีกว่า” เราต้องกลับมาดูว่า “เด็กไม่ดูโทรทัศน์แล้ว” เป็นแค่ความคิดของเราหรือเป็นความเป็นจริง เพราะยังมีงานวิจัยอีกหลายส่วนที่เข้าไปสำรวจแล้วพบว่ายังมีเด็กอยู่จำนวนหนึ่งที่ยังคงดูโทรทัศน์อยู่ และโทรทัศน์ยังเป็นสื่อที่สามารถรับชมได้ง่าย สะดวก และค่อนข้างครอบคลุมทั่วประเทศ

ในขณะที่สื่อออนไลน์ ดูได้จากปัญหาตอนเรียนออนไลน์ในช่วงโควิด ก็จะเห็นว่ายังมีหลายพื้นที่ที่ยังเข้าไม่ถึงสื่อออนไลน์ ในขณะเดียวกัน เราไปคุยกับเด็กจำนวนมากก็พบว่าหลายคนยังดูรายการโทรทัศน์ เพียงแต่ว่าพฤติกรรมการดูเปลี่ยนไป เช่น ดูย้อนหลังแทนการดูสด เพราะเขาอยากดูตอนนี้บ่อยๆ หรือในเวลาออกอากาศเป็นช่วงเวลาที่เขาอาจจะยังกลับไม่ถึงบ้านหรือต้องทำกิจกรรมอื่น จึงต้องมาดูย้อนหลัง แสดงว่าจริงๆ แล้วเขายังสนใจในเนื้อหาของรายการที่อยู่บนโทรทัศน์อยู่

ในปี 2565 ครูทำงานวิจัยเรื่องความต้องการละครของเด็กวัย 7-10 ปี พบว่าเด็กชอบดูละครมาก และหลายคนดูสด แต่ละครสำหรับเด็กก็แทบจะไม่มี ดังนั้นเขาก็ดูละครผู้ใหญ่ ซึ่งบางเรื่องอยู่ในเรต น13 และบางคนชอบด้วย แสดงว่าการพูดว่าเด็กไม่ดูโทรทัศน์นั้นไม่ถูกต้อง สิ่งที่สำคัญจึงเป็นการตั้งคำถามว่า เขากำลังดูอะไรอยู่

เราถามเด็กอายุ 7-10 ปีว่าชอบละครเรื่องอะไร ละครที่เด็กชอบอันดับหนึ่งคือสุภาพบุรุษสุดซอย ซึ่งเป็นซิตคอม เด็กรู้สึกว่าสนุกเพราะมันมีเนื้อหาที่เกี่ยวกับเขา จากตัวละครน้องอินเตอร์ที่เป็นเด็ก ทำให้เขารู้สึกมีส่วนร่วม โดยปัญหาที่ตัวละครของน้องอินเตอร์ได้เจอ เป็นสิ่งที่เขาได้เจอ

จากการพูดคุยจึงพบว่าเด็กก็อยากให้มีละครของเด็กจริงๆ ที่เป็นเรื่องเกี่ยวกับเด็กๆ มีเด็กเป็นตัวเอก และอยากให้เป็นตัวเอกแบบกลุ่มเพื่อนกัน และถ้ามีตัวร้าย ก็ห้ามเป็นเด็ก ถ้าตัวร้ายไม่ใช่ผู้ใหญ่ก็ต้องเป็นสิ่งมีชีวิตประหลาดไปเลย เช่น สัตว์ประหลาด หรือมนุษย์ต่างดาว เพราะเขาไม่อยากเห็นเด็กด้วยกันเป็นตัวร้าย นอกจากนี้ เด็กหลายคนยังอยากเห็นประเภทละครแนวคอมเมดี้ ข้อมูลเหล่านี้เป็นข้อมูลที่ครูวิจัยให้กับไทยพีบีเอส แต่การนำไปทำจริงจะเป็นอย่างไรต้องไปดูกันต่อ

จากงานวิจัยของคุณ จะเห็นว่ามีหลายรายการเลยที่สอดแทรกเรื่อง ‘คุณธรรม จริยธรรม’ ลงไปในเนื้อหา คุณมองว่าเป็นสิ่งสำคัญที่ควรมีไหม หรือมีเรื่องใดที่สำคัญที่ควรสอดแทรกลงไปให้เด็กอีก

เวลาผู้ใหญ่ผลิตรายการเด็ก มักชอบคิดว่าจะสอนอะไร และเอาการสอนมาเป็นตัวนำ เหมือนกับเรากำลังฟังนิทานแล้วต้องจบด้วย “นิทานเรื่องนี้สอนให้รู้ว่า…” ซึ่งบางทีเด็กสามารถเข้าใจได้เอง หรือค่อยๆ เรียนรู้ไปเองก็ได้ อย่างในต่างประเทศ เรื่องการเล่นของเด็กถือเป็นวาระที่จัดประชุมวิชาการระดับนานาชาติของโลก มีการถกกันเรื่องการเล่นที่เป็นประเด็นใหญ่ จุดมุ่งหมายสำคัญของการเล่นคือให้เด็กสนุก แล้วสิ่งที่ได้มาจะเป็นตัวเสริม ในขณะที่บ้านเรา เวลาจะให้เด็กเล่นอะไร ต้องมาคิดวัตถุประสงค์ ผลที่คาดว่าจะได้รับ แต่ตอนเด็กเล่นเขาคงไม่ได้คิดหรอก มันเป็นสิ่งที่เขาค่อยๆ มาตีความเองมากกว่า

ถ้าผู้ใหญ่อยากจะให้การพัฒนาด้านจริยธรรมเป็นตัวนำก็ได้ แต่คุณต้องคิดว่าจะทำอย่างไรให้เด็กไม่รู้สึกว่ามันคือการพยายามสอนและยัดเยียด เพราะถ้ายัดเยียดมากๆ เด็กก็จะเริ่มไม่สนุก ขนาดผู้ใหญ่ยังวิจารณ์ละครคุณธรรมเลยว่า “ทำไมมันสอนตรงจังเลย เหมือนกลัวเราไม่รู้ว่าจะบอกอะไร”

เด็กทุกวันนี้ที่รับสื่อได้ไว เขาก็จะบอกได้ว่าอันนี้มันเชย อันนี้มันไม่สนุก การทำรายการเด็กจึงทำแบบง่ายๆ ไม่ได้

คนที่ผลิตสื่อเด็ก ตอนได้มาทำจริงก็บอกว่ายาก เพราะถึงแม้เราทุกคนจะเคยผ่านช่วงวัยเด็กมาแล้ว แต่หลายคนก็ลืมไปแล้วว่าตอนนั้นเราเป็นอย่างไร เด็กในวันนั้นกับเด็กในวันนี้ไม่มีอะไรเหมือนกันสักเท่าไรแล้ว เราจึงพยายามใส่ความคิดของเราเข้าไป ซึ่งเด็กอาจจะต่อต้านก็ได้ ถ้าเขารู้สึกว่ามันไม่ได้สอดคล้องกับความคิดของเขา

แล้วต้องทำอย่างไรถึงจะทำสื่อให้โดนใจเด็กได้

ที่ต่างประเทศจะมีการมอบรางวัลที่เปรียบเสมือนกับออสการ์ของรายการเด็ก ชื่อรางวัล Prix Jeunesse ซึ่งมีรายการหลากหลายมาก ในช่วงของเด็กที่โตสักหน่อย ก็มีถึงขั้นรายการสารคดีเข้มๆ แต่เด็กชอบ เพราะเขารู้สึกร่วมไปกับเรื่องนี้ได้ และเด็กแต่ละวัยไม่เหมือนกัน แค่เด็กเข้าอนุบาลกับเด็กกำลังจะจบอนุบาล 3 ก็ต่างกันแล้ว บางทีเราเห็นคนทำรายการเด็กสำหรับเด็กตั้งแต่ 3-12 ปี มันเป็นไปไม่ได้ที่จะให้เด็กที่ช่วงอายุห่างกันขนาดนี้ชอบเหมือนๆ กัน อย่าง BBC จะแยกละเอียดเลยว่าเป็นรายการเด็กสำหรับเด็ก 3 ขวบ 4 ขวบ หรือ 5 ขวบ เพราะเอาหลักสูตรที่เหมาะกับเด็กแต่ละวัยมาออกแบบให้น่าสนใจ

เราจึงต้องเอาเด็กเป็นตัวตั้ง ดูว่าเด็กมีความต้องการและความสนใจอะไร แล้วถึงนำมาออกแบบรายการ แต่ต้องคำนึงด้วยว่า แม้จะมีทฤษฎีว่าเด็กแต่ละช่วงวัยเป็นอย่างไร แต่เด็กก็มีความหลากหลายทางความคิดและความชอบ หากมีสื่อสำหรับเด็กเยอะๆ เด็กก็จะค้นพบตัวตนของเขาได้ อย่างปัจจุบันที่มีปัญหาว่าเด็กค้นหาตัวเองไม่เจอว่าชอบอะไร หากมีสื่อ เขาก็จะค่อยๆ ซึมซับและสำรวจตัวเองว่าอะไรคือสิ่งที่ฉันสนใจ อะไรเป็นสิ่งที่ฉันชอบกันแน่ และช่วยให้เขาค้นหาตัวตนได้

ในยุคปัจจุบันที่สื่อสำหรับเด็กมีให้เข้าถึงทางอินเทอร์เน็ตจำนวนมาก คุณว่าสื่อเหล่านั้นมีเนื้อหาเหมาะสมไหม

อินเทอร์เน็ตสามารถเข้าถึงได้ที่ไหน เมื่อไรก็ได้ เพราะเด็กในทุกวันนี้มีมือถือของตัวเอง และยิ่งในช่วงโควิด-19 ที่ทำให้เด็กคุ้นเคยกับมือถือ และคุ้นเคยกับสื่อออนไลน์เร็วกว่าปกติ มีงานวิจัยโดยสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) ระบุว่า ผู้ปกครองให้เด็กได้มีมือถือใช้ตั้งแต่อายุเพียง 2-3 ขวบ และในช่วงโควิดปี 2563 เด็ก 5 ขวบมีช่วงเวลาในการใช้มือถือแบบไม่รวมเวลาเรียนออนไลน์มากถึงประมาณ 80 นาทีต่อวัน และเพิ่มขึ้นเป็นประมาณ 2 ชั่วโมงต่อวันในปี 2564 ซึ่งถือเป็นตัวเลขที่เยอะมาก

ปัญหาที่เกิดในช่วงโควิดจึงเป็นประเด็นปัญหาหนึ่งที่นักพัฒนาการสำหรับเด็กทั่วโลกค่อนข้างเป็นห่วง เพราะในช่วงนั้นทำให้เด็กเกิดภาวะบกพร่องทางการเรียนรู้ และการถดถอยทางการเรียนรู้ เหมือนว่าใน 3 ปีที่เกิดโควิดเป็นหลุมพัฒนาการ ที่ทำให้เด็กปฐมวัยที่เติบโตในช่วงนี้ อาจกลายเป็นปัญหาใหญ่ของสังคมระดับโลกได้เมื่อโตขึ้นไป ยิ่งประเทศไทยมีปัญหาเรื่องสื่อเด็กอยู่แล้ว ยังมาเจอวิกฤตโควิด-19 ซ้ำเข้าไปอีก ซึ่งก็มีงานวิจัยและประชุมวิชาการจำนวนมากที่นำเสนอผลกระทบต่อเด็กปฐมวัยในช่วงโควิด-19 ที่ถือเป็นวิกฤตหนัก เพราะเด็กเข้าสู่ออนไลน์ได้เร็วขึ้น ในขณะที่ความเท่าทันสื่อ (media literacy) ยังไม่ได้ถูกพัฒนาเท่าไร

โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อผู้ใหญ่ไม่มีเวลาให้กับเด็ก เด็กจึงสามารถเข้าอะไรก็ได้แบบไม่ถูกจำกัด สื่อหนึ่งที่เด็กใช้เยอะมากคือ TikTok ซึ่งบนหน้าฟีดสามารถขึ้นมาได้ทุกอย่าง เด็กอาจได้เห็นอะไรที่ยังไม่เหมาะกับวัยของเขา หรือได้เรียนรู้ค่านิยมว่าทำแบบไหนแล้วจะดัง หรือทำแบบไหนจะได้ยอดวิว ได้เงิน และแม้จะมี YouTube Kids ที่คัดกรองเนื้อหาวิดีโอสำหรับเด็กโดยเฉพาะ แต่ก็ยังมีสื่อไม่เหมาะสมสอดแทรกเข้ามา เช่น การนำตัวการ์ตูนที่เด็กคุ้นเคยมาทำเป็นฉากความรุนแรงหรือฉากทางเพศ เด็กอาจเข้าไปดูโดยไม่รู้ แน่นอนว่าผู้ใหญ่สามารถกดรายงานได้ว่ามีสื่อไม่เหมาะสม แต่หลายครั้งผู้ใหญ่ก็ไม่ได้อยู่ด้วยตลอดเวลา เพราะหลายครั้งจะเป็นการที่ผู้ใหญ่จะทำงาน จึงเอามือถือหรือไอแพดให้ลูกดู โดยไม่รู้เลยว่ากำลังโยนสิ่งที่อาจจะอันตรายสำหรับเด็กให้กับมือ โดยไม่รู้เลยว่าเขากำลังดูอะไรอยู่

มีงานวิจัยโดยศูนย์ประสานงานส่งเสริมการปกป้องคุ้มครองเด็กและเยาวชนในการใช้สื่อออนไลน์ (COPAT) ระบุว่า เด็กถูกล่อลวงทางออนไลน์จำนวนมากในช่วงโควิด เช่น การหลอกเอาเงิน หรือที่พบบ่อยคือการล่อลวงทางเพศ ทั้งให้เด็กถ่ายรูป ถ่ายวิดีโอที่ส่อถึงทางเพศ รวมไปถึงการนัดเจอ สรุปคือเด็กเจอภัยออนไลน์สูงขึ้นมาก ดังนั้นเด็กมีสื่อให้ดูทางออนไลน์จำนวนมากจริง แต่สื่อที่ไม่ดีก็มีมหาศาล สื่อออนไลน์จึงเป็นการเปิดโลกที่อาจจะนำไปสู่สิ่งที่เป็นภัยต่อเด็ก ซึ่งส่งผลต่อพัฒนาการ ความคิด และพฤติกรรมของเด็กในอนาคตไปอย่างต่อเนื่อง ขณะที่สื่อโทรทัศน์อย่างน้อยที่สุดก็ยังมีการกำกับโดย กสทช. แม้จะกำกับได้ไม่เต็มที่ก็ตาม

คุณคิดเห็นอย่างไรกับรายการใน YouTube ที่เด็กเป็น Youtuber หรือ Vlogger เอง สื่อลักษณะนี้เหมาะแก่การเป็นสื่อสำหรับเด็กไหม

ตามหลักปฏิบัติของแพลตฟอร์มต่างๆ เด็กต้องมีอายุตั้งแต่ 13 ปีขึ้นไป จึงจะสามารถเปิดบัญชีผู้ใช้ได้ ดังนั้นถ้าเด็กเปิดขึ้นมาได้ ขั้นแรกเด็กก็ต้องโกงอายุ หรืออาจเป็นผู้ปกครองเปิดให้ อย่าง TikToker กับ Youtuber เป็นอาชีพที่เด็กรู้สึกว่าใครๆ ก็ทำกัน เป็นกระแส และยังสามารถสร้างรายได้ได้ด้วย Youtuber ที่ได้รายได้สูงระดับโลกหลายคนก็เป็นเด็ก ซึ่งเป็นบัญชีที่ผู้ใหญ่เป็นคนเปิดให้ แต่เด็กเป็นคนที่ออกหน้ากล้อง

แต่สิ่งที่เกิดขึ้นคือสิ่งที่นำเสนอออกไปมันอาจจะเป็นดิจิทัลฟุตพรินต์ (Digital Footprint) ที่คงอยู่ถึงอนาคตก็ได้ เด็กอาจจะยังไม่รู้ว่าสิ่งที่พูดหรือทำออกไปอาจจะเกิดผลไม่ดีกับเขา มันสามารถส่งผลถึง self esteem (ความเคารพในตัวเอง) ของเด็กที่จะน้อยลงไปเรื่อยๆ เพราะยิ่งใช้โซเชียลมีเดียเร็วเท่าไรและยิ่งเป็นคนสร้างสื่อเอง แต่สมมติว่าได้รับความสนใจน้อย ก็ทำให้เขารู้สึกด้อยในคุณค่าของตัวเอง และเด็กหลายคนไม่ได้ปิดช่องคอมเมนต์เพื่อความปลอดภัย เพราะอยากได้ยอด engagement ก็อาจทำให้มีคนเข้ามาคอมเมนต์แบบไม่ดี ขนาดเราเป็นผู้ใหญ่เจอแบบนี้ยังรับไม่ไหวเลย

ครูเองก็จะหยิบเหตุการณ์ต่างๆ บนโลกออนไลน์ที่น่ากลัวมาคุยกับลูก เป็นการเรียนรู้ไปด้วย ให้เขาลองช่วยคิดช่วยวิเคราะห์ เพราะถ้าถึงช่วงอายุที่เขาเล่นได้คือ 13 ปี เราก็ไม่สามารถห้ามเขาได้แล้ว จึงต้องทำให้เขามีภูมิคุ้มกันให้ได้มากที่สุด ป้องกันการนำไปสู่ภัยออนไลน์ที่อาจจะถูกล่อลวงหรือการถูกใช้ภาพ ถูกใช้ข้อมูลไปในทางที่ผิด ซึ่งถือเป็นจุดที่น่าห่วงถ้าให้เด็กเข้าถึงเร็วเกินไป โดยเฉพาะถ้าผู้ใหญ่ไม่ได้อยู่ด้วย

ในเมื่อยุคนี้โทรทัศน์ไม่ใช่ช่องทางหลักในการรับสื่อของคนอีกต่อไป คุณว่าสื่อสำหรับเด็กในประเทศไทยควรมีภาพอย่างไร

สื่อสำหรับเด็กเป็นสิ่งที่จำเป็น มันไม่ใช่แค่สิ่งที่ควรมี แต่มันเป็นสิ่งที่จำเป็นในการช่วยพัฒนาการเรียนรู้และพัฒนาคนในชาติ จึงจำเป็นที่ภาครัฐจะต้องวางนโยบายและวางแผนการลงทุนอย่างจริงจัง

รศ.นพ.สุริยเดว ทรีปาตี เล่าว่า การพัฒนาเด็กต้องเป็นการบูรณาการกับการใช้ประสาทสัมผัสทุกด้าน เพราะฉะนั้นถ้ามีสื่อที่พัฒนาเพียงด้านใดด้านหนึ่งก็ยังไม่เพียงพอ จึงต้องมีสื่อทั้งทางโทรทัศน์​ หรือสื่อในรูปแบบวิดีโอ เพราะเด็กสามารถเห็นภาพต่างๆ และเรียนรู้ได้ ส่วนสื่อที่เป็นเสียงอย่างเดียวก็จะช่วยพัฒนาทักษะการฟังและช่วยเสริมการทำงานของสมองให้ดีขึ้น เหมือนกับตอนที่เด็กๆ อยู่ในท้องแม่แล้วคุณแม่เปิดเพลงให้ฟัง ซึ่งมันเป็นเรื่องสำคัญ แต่ปรากฏว่าสื่อเสียงสำหรับเด็กแทบไม่มีเลยในเมืองไทย ขณะที่สื่อสำหรับการอ่านดูเหมือนจะเป็นสื่อรูปแบบเดียวที่ประเทศไทยพอให้ความสำคัญอยู่ นอกจากนี้การมีสื่อในรูปแบบกิจกรรมที่เด็กจับต้องได้ เล่นได้ หรือออกไปข้างนอกได้ ก็เป็นสิ่งสำคัญ

คุณหมอจึงระบุว่า ในการจะมีสื่อสำหรับเด็ก อันดับแรกคือต้องมีสื่อที่หลากหลายให้เด็กได้ใช้ประสาทสัมผัสทุกส่วนในการพัฒนา ไม่ใช่แค่อย่างใดอย่างหนึ่ง อันดับที่สองคือมันเป็นการลงทุน จึงต้องอาศัยความเข้าใจในธรรมชาติของเด็ก และมองเด็กเป็นศูนย์กลางจริงๆ ไม่ใช่มองแค่สิ่งผู้ใหญ่อยากบอก แต่ต้องสมดุลกับสิ่งที่เด็กสนใจและอยากพัฒนาตัวเองด้วย ไม่ใช่ว่ามีสื่อปริมาณมาก แต่เด็กไม่สนใจ เด็กไม่ดูเลย อันดับต่อไปจึงเป็นทักษะการผลิตของคนทำสื่อสำหรับเด็ก เพราะการดึงความสนใจของเด็กนั้นยากมาก ไม่ใช่ว่าทำรายการอะไรก็ได้ จึงต้องเข้าใจเด็ก และมีทักษะในการผลิต

ถามว่าในองค์ประกอบต่างๆ จะเป็นไปได้อย่างไร ก็ต้องประกอบกันจากทุกภาคส่วน อันดับแรกที่สำคัญที่สุดคือภาครัฐต้องวางนโยบายลงมา เช่น จากที่เราเล่าว่าเราเจอปัญหาในการหาสปอนเซอร์ เราเสนอว่าจะเป็นไปได้ไหมถ้าเราลดหย่อนภาษีให้กับคนที่บริจาคเงินสนับสนุนการทำสื่อสำหรับเด็ก เหมือนกับที่ในปัจจุบันมีการให้บริจาคด้านการศึกษา หรือบริจาคให้โรงพยาบาล แล้วสามารถนำไปลดหย่อนภาษีได้ หากมีนโยบายแบบนี้ หน่วยงาน องค์กร ธุรกิจต่างๆ ก็อาจจะเลือกมาบริจาคในส่วนนี้

ขณะที่ กสทช.​ ก็ต้องจัดการให้ชัดเจนในนโยบายว่าจะมีรายการเด็กอยู่ในช่วงเวลาไหน กรมพัฒนาสื่อต้องมีการแบ่งสัดส่วนงบประมาณอย่างชัดเจนไว้ให้การผลิตสื่อเด็ก โดยต้องกระจายในสื่อที่หลากหลายสำหรับเด็กทุกช่วงวัย และกระจายให้ครบทุกภูมิภาค ไม่ใช่เพียงเด็กในเมืองเท่านั้น เช่นอาจมีเด็กชาติพันธุ์ที่ต้องการสื่อเด็กเช่นกัน ขณะเดียวกัน ผู้ปกครองและครูเองก็ต้องเห็นว่าการที่เด็กมีสื่อดีๆ เป็นเรื่องสำคัญ รู้ว่าจะมีวิธีการเลือกสื่ออย่างไรให้เหมาะสมกับลูกหลาน ให้เหมาะสมกับนักเรียน ไม่ใช่ปล่อยเด็กไว้กับมือถือหรือไอแพดตามลำพังแล้วปล่อยให้เขาเลือกดูเอง รวมถึงสังคม ไม่ว่าคุณจะมีลูกหรือไม่มีลูก ก็ควรเห็นความสำคัญในจุดนี้ว่าเราจะสามารถช่วยกันพัฒนาอย่างไรได้บ้าง หากเด็กเติบโตมาแล้วเห็นภาพแบบนี้ เมื่อโตขึ้นไปเป็นผู้ใหญ่ เขาก็จะกลับมาให้ความสำคัญกับเด็กรุ่นต่อไปเรื่อยๆ

เราย้ำเสมอว่าเรื่องการสนับสนุนเด็กเป็นเรื่องเร่งด่วน อย่างอื่นอาจจะรอได้ เช่น ถ้าอาคารนี้ยังไม่สร้าง ก็อาจยังขยับออกไปได้อีกหน่อย แต่สำหรับเด็ก เดือนเดียวก็สายเกินไป เขาโตแล้วโตเลย เรื่องของเด็กเป็นเรื่องที่ไม่ควรรอเพราะว่าเด็กโตขึ้นทุกวัน มีบางคนบอกว่า “เด็กคืออนาคตของชาติ” เราอยากเสนอให้ปรับมาเป็นคำว่า “เด็กคือปัจจุบัน” ดีไหม เพราะเวลาพูดว่าเด็กคืออนาคตของชาติ บางคนก็เห็นว่าเป็นเรื่องในอนาคต เป็นเรื่องที่เอาไว้ก่อนได้

โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเด็กไม่มีโอกาสที่จะลุกขึ้นมาพูดเอง ถ้าภาครัฐมีการตัดงบประมาณเรื่องต่างๆ อาจมีประชาชนออกมาเรียกร้องเพราะเสียผลประโยชน์ แต่เวลาตัดงบประมาณเรื่องเกี่ยวกับเด็ก เด็กพูดออกมาไม่ได้ ประกอบกับวิกฤตช่วง 3 ปีที่เกิดโควิด-19 ถือเป็นวิกฤตหนักทั้งของประเทศและของโลก ถ้าไม่เร่งพัฒนา พัฒนาการจะผ่านแล้วผ่านเลย วันนี้เราอาจจะยังพอซ่อมแซมบางส่วนได้ แต่ถ้าไม่ทำอะไรเลยก็จะหมดโอกาสแล้ว

จากปัญหาต่างๆ คุณได้มีบทบาทในการจัดทำข้อเสนอเพื่อแก้ไขปัญหาต่อภาครัฐอย่างไรบ้าง

ครูมีโอกาสเข้าเป็นคณะทำงานจัดทำข้อเสนอเรื่องการพัฒนาสื่อสำหรับเด็ก โดยไปเสนอต่อวุฒิสภา ในที่ประชุมวุฒิสภาก็มีแต่คนเห็นด้วยว่าเรื่องเด็กเป็นเรื่องสำคัญ นโยบายนี้ดี นโยบายนี้สำคัญ ทุกคนเห็นด้วยหมดว่ามันเป็นสิ่งที่ดีและจำเป็น ต้องให้เป็นวาระเร่งด่วนของชาติที่ต้องร่วมมือพัฒนากันอย่างจริงจัง แต่วุฒิสภาก็ไม่ใช่คนที่วางนโยบาย คนที่วางนโยบายจริงคือรัฐบาล พอส่งเรื่องต่อไปให้กับทางคณะรัฐมนตรีว่าจะนำข้อเสนอนี้ไปทำอะไรได้บ้าง โดยครูได้

เข้าไปพูดอีกครั้งกับตัวแทนของกระทรวงและหน่วยงานต่างๆ ว่ามันมีความสำคัญอย่างไร ปรากฏว่าหลายเดือนต่อมาเขาตอบกลับมาว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีได้รับทราบว่ามีนโยบายข้อเสนอนี้ แต่หลังจากรับทราบก็ไม่มีการทำอะไรต่อ

โดยช่วงที่มีการเลือกตั้งปี 2562 ครูได้จัดเวทีเชิญตัวแทนจากพรรคการเมืองต่างๆ มาพูดคุยกันว่า คุณจะมีนโยบายเรื่องสื่อเด็กอย่างไรบ้าง เพื่อให้มันจะเป็นคำมั่นสัญญาว่าหลังได้รับการเลือกตั้งแล้วคุณจะดูแลเรื่องสื่อเด็ก บนเวทีวันนั้น เมื่อเราเสนอนโยบายอะไรทุกคนก็พูดว่าอันนี้ทำได้ อันนี้ไม่ยาก แต่พอได้รับเลือกตั้งเข้าไปจริงๆ ก็ไม่มีอะไรเกิดขึ้น

วันที่มีดิจิทัลทีวี ก็ถือเป็นส่วนที่ทำให้ว่าเห็นชัดว่าการทำรายการเด็กแข่งขันไม่ได้ เป็นตัวที่บอกว่าถ้าภาครัฐไม่เข้ามาลงทุน มันไม่มีทางที่จะเกิดสื่อเด็กที่มีคุณภาพได้ เพราะการจะหานายทุนที่เอื้อเฟื้อมาบริจาคเงินให้ทำก็ยากไปหน่อยถ้ามันไม่มีอะไรเป็นตัวกระตุ้น

หากเทียบกับในต่างประเทศ ภาครัฐและภาคประชาสังคมเข้ามามีบทบาทในการพัฒนาสื่อสำหรับเด็กอย่างไรบ้าง

ในสหรัฐอเมริกา มีรายการเด็กที่อยู่มานานหลายสิบปีอย่าง Sesame Street ซึ่งรายการนี้เกิดขึ้นจากคุณพ่อคนหนึ่งที่นั่งดูรายการโทรทัศน์แล้วรู้สึกว่ามันมีรายการรูปแบบที่เด็กๆ ชอบดู แต่มีเนื้อหาที่อาจจะไม่เหมาะสำหรับเด็กมากนัก เขาจึงรู้สึกเป็นห่วงลูกของเขาเอง และอยากจะทำรายการเด็กดีๆ สักรายการหนึ่ง จึงระดมคนที่เชี่ยวชาญด้านการศึกษา คนที่เก่งด้านการผลิตสื่อมาระดมสมองในการพัฒนารายการทีวีเด็กต้นแบบขึ้นมา ใช้เวลาพัฒนาอยู่ 2 ปีเต็มๆ โดยที่เขาให้ทุนสนับสนุนเอง จนออกมาเป็นรายการ Sesame Street ที่อยู่จนปัจจุบันนี้ หลังจากนั้นทาง PBS ซึ่งเป็นสถานีโทรทัศน์บริการสาธารณะก็รับเป็นช่องทางออกอากาศและดูแลต่อ โดยให้งบสนับสนุนรายการ

มีหลายช่วงที่สหรัฐอเมริกาประสบวิกฤตเศรษฐกิจแล้วจะมีการตัดงบทีวีสาธารณะอย่าง PBS ซึ่งแน่นอนว่ามันจะกระทบต่อรายการเด็ก เพราะ PBS เป็นช่องที่มีรายการเด็กดีๆ มีคุณภาพอยู่เยอะมาก Mister Rogers ซึ่งเป็นคนหนึ่งที่มีชื่อเสียงในการทำรายการโทรทัศน์ได้เข้าไปพูดในที่ประชุมของวุฒิสภา บอกว่ารายการเด็กมีความสำคัญ ภาครัฐมีส่วนสำคัญในการสร้างเด็กในอนาคต สิ่งที่เกิดขึ้นคือไม่มีการตัดงบ แถมยังเพิ่มงบให้อีกด้วย

หรืออย่างตอนที่โดนัลด์ ทรัมป์ ขึ้นเป็นประธานาธิบดี ก็มีประเด็นที่จะตัดงบ PBS สังคมจึงยกประเด็นมาวิจารณ์ว่าถ้าตัดงบ PBS รายการอย่าง Sesame Street ซึ่งเป็นรายการเด็กที่อยู่มายาวนานที่สุดในโลกและสร้างประโยชน์มากมายอาจหายไปด้วย ทั้งที่รายการมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง มีการเพิ่มหุ่นมือที่มีความหลากหลาย เช่นหุ่น LGBTQ+ หุ่นที่เป็นออทิสติก หุ่นที่มีสีผิวต่างๆ จึงป็นรายการที่พ่อแม่วางใจว่าจะช่วยพัฒนาเด็กได้ เมื่อสังคมเรียกร้องอย่างจริงจัง ทรัมป์จึงจำเป็นต้องชะลอการตัดงบตรงนั้นออกไป ทำให้เห็นว่าเรื่องรายการเด็กต้องช่วยกันสนับสนุนทั้งสังคม

คาดหวังอะไรกับรัฐบาลใหม่ในการผลักดันประเด็นสื่อสำหรับเด็ก

เราคาดหวังมาตลอด อย่างตอนเลือกตั้งปี 2562 เราก็คาดหวังมากเพราะเป็นการเลือกตั้งหลังไม่ได้เลือกตั้งมานาน แต่เราก็พบแล้วว่าในช่วง 4 ปีหลังจากนั้นก็ไม่ค่อยได้ขับเคลื่อนอะไรสักเท่าไร ขนาดเราเข้าไปถึงที่ประชุมวุฒิสภา ส่งให้คณะรัฐมนตรีแล้ว แต่ก็ยังไม่มีอะไรเกิดขึ้น แต่ถามว่าหมดหวังไหม เรายังคงหวังอยู่เสมอ

ไม่ว่าใครจะขึ้นมาเป็นรัฐบาล เราก็รู้สึกว่ามันยังเป็นประเด็นสำคัญที่ควรพูดถึง เพราะเด็กเป็นเสียงที่เงียบมากในสังคม และเป็นเสียงที่ถูกกันออกไปตลอด ถ้าสมมติว่าคุณพิธาได้เป็นนายกรัฐมนตรี เราก็อาจจะมีความหวังขึ้นหน่อย เพราะอย่างน้อยเขาคือคุณพ่อคนหนึ่งที่มีลูกเล็ก การที่เขาเห็นลูกเล็กค่อยๆ เติบโต เขาอาจจะเห็นความสำคัญว่าทำอย่างไรให้เด็กๆ มีโอกาสที่จะเติบโตขึ้นไปแล้วไปเป็นพลเมืองที่มีคุณภาพในสังคมได้

ในช่วงหาเสียงก่อนเลือกตั้งปี 2566 ก็มีหน่วยงานด้านเด็กหลายหน่วยงานพยายามยื่นข้อเสนอกับพรรคต่างๆ ต้องรอดูต่อไปว่าจะออกมาเป็นแบบไหนต่อไป


ผลงานชิ้นนี้เป็นความร่วมมือระหว่างสภาองค์กรของผู้บริโภค และ The101.world

MOST READ

Social Issues

9 Oct 2023

เด็กจุฬาฯ รวยกว่าคนทั้งประเทศจริงไหม?

ร่วมหาคำตอบจากคำพูดที่ว่า “เด็กจุฬาฯ เป็นเด็กบ้านรวย” ผ่านแบบสำรวจฐานะทางเศรษฐกิจ สังคม และความเหลื่อมล้ำ ในนิสิตจุฬาฯ ปี 1 ปีการศึกษา 2566

เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล

9 Oct 2023

Social Issues

5 Jan 2023

คู่มือ ‘ขายวิญญาณ’ เพื่อตำแหน่งวิชาการในมหาวิทยาลัย

สมชาย ปรีชาศิลปกุล เขียนถึง 4 ประเด็นที่พึงตระหนักของผู้ขอตำแหน่งวิชาการ จากประสบการณ์มากกว่าทศวรรษในกระบวนการขอตำแหน่งทางวิชาการในสถาบันการศึกษา

สมชาย ปรีชาศิลปกุล

5 Jan 2023

Social Issues

27 Aug 2018

เส้นทางที่เลือกไม่ได้ ของ ‘ผู้ชายขายตัว’

วรุตม์ พงศ์พิพัฒน์ พาไปสำรวจโลกของ ‘ผู้ชายขายบริการ’ ในย่านสีลมและพื้นที่ใกล้เคียง เปิดปูมหลังชีวิตของพนักงานบริการในร้านนวด ร้านคาราโอเกะ ไปจนถึงบาร์อะโกโก้ พร้อมตีแผ่แง่มุมลับๆ ที่ยากจะเข้าถึง

กองบรรณาธิการ

27 Aug 2018

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save