fbpx

“ญี่ปุ่นเป็นมากกว่าซูชิ มีมากกว่าอนิเมะ” เอมะ ไรอัน ยามาซากิ คนทำหนังผู้สำรวจสังคมญี่ปุ่นผ่านสารคดีว่าด้วย ‘โรงเรียนประถม’

กล้องไล่เลื้อย จับจ้องไปยังเหล่าเด็กประถมในญี่ปุ่น พวกเขาวิ่งข้ามถนน รับผิดชอบดูแลกันและกัน ซักซ้อมรับมือเหตุการณ์แผ่นดินไหวในโรงเรียน เดินเรียงไปเข้าแถว เก็บกวาดข้าวของ ฯลฯ

เอมะ ไรอัน ยามาซากิ เป็นคนทำหนังสัญชาติญี่ปุ่น-อังกฤษ The Making of a Japanese (2023) คือสารคดีลำดับล่าสุดของเธอ ที่พาคนดูสำรวจระบบและโครงสร้างของโรงเรียนประถมศึกษาในญี่ปุ่น ที่สำหรับยามาซากิแล้ว เป็นเสมือนรากฐานสำคัญของสังคมญี่ปุ่นทั้งองคาพยพ

ก่อนนี้ ยามาซากิแจ้งเกิดจาก Koshien: Japan’s Field of Dreams (2019) หนังสารคดีว่าด้วยเหล่านักกีฬาเบสบอลวัยมัธยมปลาย กับความมุ่งมั่นทำทุกวิถีทางเพื่อให้ได้ลงแข่งในโคชิเอ็ง -สนามเบสบอลอันเป็นเสมือนดินแดนศักดิ์สิทธิ์ของเหล่านักกีฬา 

มองในภาพรวม ก็อาจจะพบว่ายามาซากิสนใจสำรวจสังคมญี่ปุ่นผ่านระบบการศึกษาทั้งในระดับประถมและมัธยม ทว่า สิ่งที่น่าสนใจไปกว่านั้นคือสายตาที่เธอพินิจพิเคราะห์ประเด็นเหล่านี้ต่างหาก ในงานเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติโตเกียว 101 มีโอกาสได้สนทนากับยามาซากิ ถึงสายตาของเธอในฐานะ ‘คนทำหนัง’ และ ‘ลูกครึ่ง’ ผู้เฝ้ามองสังคมญี่ปุ่นทั้งจากระยะใกล้และระยะไกล

ก่อนหน้านี้คุณทำหนังว่าด้วยเบสบอลของเด็กมัธยมปลาย อะไรทำให้คุณขยับมาสำรวจระบบการศึกษาชั้นประถมในเรื่องนี้

ตัวฉันเองก็โตมากับระบบการศึกษาของญี่ปุ่นค่ะ สมัยเด็กๆ ฉันอยู่ที่โอซากา เข้าเรียนในโรงเรียนญี่ปุ่นธรรมดานี่แหละ แล้วพออายุได้ 12 ปีก็ย้ายไปเข้าเรียนที่โรงเรียนพูดภาษาอังกฤษ หลังจากนั้นก็ได้ย้ายไปนิวยอร์ก ดังนั้น ฉันจึงอยู่ในแวดล้อมความเป็นญี่ปุ่นจ๋าจนถึงอายุ 12 เลย พอมองย้อนกลับไป ความเป็นญี่ปุ่นที่อยู่ในเนื้อตัวฉัน ล้วนแล้วแต่ได้มาจากโรงเรียนประถมทั้งนั้น

หนังเรื่องล่าสุดของฉันว่าด้วยโรงเรียนมัธยม เกี่ยวกับการเล่นเบสบอล แต่มันก็เป็นเรื่องเบสบอลชั้นมัธยมที่สะท้อนภาพสังคมญี่ปุ่นด้วย เหมือนหน้าประวัติศาสตร์ที่ทำให้เห็นว่าอะไรทำให้เราเป็นเราเช่นทุกวันนี้ อะไรที่มีส่วนในการหล่อหลอมเราขึ้นมานับจากยุคหลังสงครามจนถึงปัจจุบันและต่อไปในอนาคต สำหรับฉันเอง ฉันสนใจบอกเล่าเรื่องราวของมนุษย์ที่เราแต่ละคนรู้สึกว่าไม่ได้ห่างไกลจากตัวเรานัก เพราะด้านหนึ่ง หนังของฉันก็แสนจะญี่ปุ่น กระนั้น มันก็พูดเรื่องที่แสนจะเป็นสากลอย่างการที่เด็กๆ เติบโตขึ้นมากับความเยาว์วัยอันแสนมหัศจรรย์

ยกตัวอย่างเช่น ตอนอยู่ที่นิวยอร์ก คนมักจะบอกว่าฉันเป็นคนทำงานหนัก ให้ความร่วมมือกับคนอื่นๆ ได้ดี ซึ่งฉันรู้สึกว่ามันก็เป็นเรื่องปกตินี่นา แต่มันก็คือความเป็นญี่ปุ่นน่ะ ว่าไปตอนอยู่ที่นิวยอร์ก ฉันก็มีข้อได้เปรียบคนอื่นเขาตรงที่มีความเป็นญี่ปุ่นนี่แหละ เรื่องที่แสนจะสามัญสำหรับฉันก็ดูจะทำคนอื่นประทับใจเอาได้เรื่อยๆ ซึ่งก็เป็นเรื่องที่ฉันได้เรียนรู้จากโรงเรียนประถมทั้งนั้นเลย มานึกดูแล้ว ฉันคิดว่าโรงเรียนประถมศึกษาในญี่ปุ่นนั้นมีลักษณะเฉพาะมาก คุณนึกออกใช่ไหมคะ ที่เด็กๆ จะทำความสะอาดข้าวของของตัวเอง ทำความสะอาดชั้นเรียน รับผิดชอบสิ่งต่างๆ 

พอนึกออกอยู่นะคะ คุณครูในโรงเรียนไทยก็ชื่นชมโรงเรียนญี่ปุ่นมากเลย

(ยิ้ม) แล้วไม่ใช่ว่าคุณครูสั่งหรอกนะ แต่พวกเขาทำด้วยตัวเอง ทำเพราะมีระบบบางอย่างในโรงเรียน ซึ่งฉันไม่คิดว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องพิเศษอะไรเลยจนกระทั่งย้ายไปอยู่ประเทศอื่น

และฉันว่าคนญี่ปุ่นเองก็ไม่ได้ตระหนักถึงความเฉพาะตัวตรงนี้หรอกค่ะ อีกด้านหนึ่ง ฉันคิดว่าคนต่างประเทศเองก็ไม่รู้รายละเอียดต่างๆ มากนักด้วย ดังนั้น ฉันจึงพยายามถ่ายสารคดีในโรงเรียนประถมในญี่ปุ่นอยู่หนึ่งปี เพื่อแสดงให้เห็นถึงระบบที่อยู่ในโรงเรียน กับเหล่าซับเจ็กต์ที่ฉันเจอระหว่างถ่ายทำด้วย

คุณคิดว่าระบบการศึกษามีส่วนสร้างสังคมญี่ปุ่นในแง่ไหน หรือในทางกลับกัน สังคมมีส่วนในการสร้างระบบการศึกษาอย่างไร

ฉันว่าการศึกษามีส่วนก่อร่างสร้างสังคมในอนาคตของเรา เราจึงต้องมีประเด็นนี้ไว้ในใจตลอดเวลาและดูว่าคุณครูสอนเด็กๆ อย่างไร เพราะเด็กรุ่นต่อไปก็จะต้องกลายเป็นผู้ใหญ่ในที่สุด

เหตุผลที่ฉันเลือกถ่ายทำโรงเรียนประถมก็เพราะว่า หากคุณเห็นเด็กวัยห้าขวบสักคน ไม่ว่าจะเป็นเด็กญี่ปุ่น เด็กไทย หรือเด็กอเมริกัน บางทีพวกเขาคงไม่ต่างกันเท่าไหร่เพราะพวกเขาเป็นแค่เด็ก พวกเขาเปี่ยมสุข เต็มไปด้วยอิสระ แต่ฉันว่าเมื่อพวกเขาอายุสัก 12 ปี เด็กญี่ปุ่นก็อาจมีลักษณะบางอย่าง เช่น พวกเขาดูแลตัวเองได้ดีระดับหนึ่ง อันเป็นผลมาจากระบบการศึกษาที่หล่อหลอมพวกเขา 

คนญี่ปุ่นไม่ได้เกิดมาเป็นอย่างที่เราเห็นกันในเวลานี้ แต่พวกเราถูกการศึกษาหล่อหลอมต่างหาก และนี่เป็นเหตุผลว่าทำไมฉันจึงเลือกถ่ายทำในโรงเรียนประถม เพื่อที่บางทีแล้วฉันอาจจะตอบคำถามบางอย่างได้ว่าทำไมคนญี่ปุ่นจึงเป็นเช่นนั้นหรือเป็นเช่นนี้ อาจเพราะพวกเราทำเรื่องทั้งหมดที่ว่าในโรงเรียนมั้ง ฉันเองไม่มีคำตอบที่แน่ชัดหรอก แต่ก็อยากทำหนังที่จับจ้องไปยังประเด็นเหล่านี้ เพราะญี่ปุ่นนั้นเป็นมากกว่าซูชิ เป็นมากกว่าอนิเมะ (หัวเราะ) เรื่องพวกนี้โด่งดังอยู่ใช่ไหมคะ แต่ก็ยังมีอีกหลายเรื่องราวของญี่ปุ่นที่น่าสนใจ และฉันก็อยากนำเสนอประเด็นเหล่านี้ให้คนอื่นๆ ที่ไม่ใช่ชาวญี่ปุ่นได้เห็นค่ะ

ทั้งนี้ การจะเข้าใจถึงตัวตนใครสักคนว่าเหตุใดเราจึงเป็นอย่างที่เราเป็นทุกวันนี้นั้น ก็เป็นประเด็นที่ฉันอยากสำรวจอยู่เสมอ ฉันว่าคนทำหนังเกี่ยวกับซูชิ ซามูไร อะไรต่อมิอะไรของญี่ปุ่นเยอะแล้ว แต่ก็ยังมีอีกหลายแง่มุมของญี่ปุ่นที่ถูกมองว่าลึกลับอยู่ เช่น ประเด็นที่ว่าด้วยมนุษย์เงินเดือนกับการขึ้นรถไฟไปทำงาน หรือภาพลักษณ์ต่างๆ ที่โลกมีต่อญี่ปุ่น ทำนองนั้น แต่คำถามคืออะไรที่หล่อหลอมสิ่งเหล่านี้ขึ้นมาล่ะ และฉันว่าฉันสนใจจะสำรวจประเด็นนี้ผ่านโรงเรียนชั้นประถมศึกษานี่แหละ

The Making of a Japanese (ที่มาภาพ)

คุณเองเป็นลูกครึ่ง การเป็นลูกครึ่งมีส่วนกำหนดสายตาที่คุณมองสังคมญี่ปุ่นไหม

แน่นอนเลยค่ะ คุณพ่อฉันเป็นคนอังกฤษ ฉันโตที่ญี่ปุ่นและเท่าที่จำได้ ตั้งแต่ยังเด็ก คนก็ไม่ค่อยมองว่าฉันเป็นคนญี่ปุ่นนัก แม้ฉันจะพูดภาษาญี่ปุ่นได้คล่องแคล่วมาก หรือจะเรียนในโรงเรียนญี่ปุ่น ใช้ชีวิตในญี่ปุ่นเองก็ตามที แต่คนก็มักประหลาดใจทุกครั้งไปที่เห็นฉันพูดญี่ปุ่น เมื่อก่อนฉันออกจะหัวเสียอยู่ไม่น้อยนะเวลาเห็นคนมีปฏิกิริยาแบบนี้ (ยิ้ม) และอาจเป็นแรงผลักสำคัญอีกเรื่องที่ทำให้ฉันอยากออกไปใช้ชีวิตที่อื่นนอกเหนือจากญี่ปุ่นก็ได้ เหมือนกับว่า เอาล่ะ โลกนี้มันช่างกว้างเหลือเกิน ฉันจะออกไปที่อื่นเพื่อจะได้รู้สึกดีต่อตัวเอง จากนั้นแล้วจึงกลับมา

ฉันคิดว่าพอฉันกลับมาแล้ว ประสบการณ์กับมุมมองฉันนับเป็นจุดแข็งในการทำหนังเลยล่ะ เพราะมีคนตั้งมากตั้งมายที่ทำหนังเกี่ยวกับญี่ปุ่นให้คนญี่ปุ่นดูได้ หรือบางครั้งก็คนต่างชาตินี่แหละที่เดินทางมายังญี่ปุ่นแล้วถ่ายทำหนังเกี่ยวกับญี่ปุ่นก่อนจะกลับประเทศตัวเอง ขณะที่ฉันนั้นอยู่ตรงกลางระหว่างสองประเภทที่ว่า ฉันเข้าใจความเป็นญี่ปุ่นอย่างลึกซึ้ง แต่ก็เข้าใจสายตาที่โลกมองญี่ปุ่นด้วยเหมือนกัน เพราะฉะนั้นฉันก็อาจจะทำงานที่ว่าด้วยการสื่อสารประเด็นเหล่านี้ออกมาได้ดีก็ได้นะ โดยเฉพาะสิ่งที่คนนอกเกาะญี่ปุ่นอยากเข้าใจ ฉันจึงรักษาความสัมพันธ์ของตัวเองกับญี่ปุ่นและนอกญี่ปุ่นไว้ และคิดว่าเป็นสิ่งที่ค่อนข้างเฉพาะตัวทีเดียวเพราะการทำหนังของฉันมันมีฐานมาจากตัวตนและวิธีที่ฉันเติบโตขึ้นมา

นี่เป็นเหตุผลให้คุณทำ Neither Here Nor There (2011) หนังสั้นเรื่องแรกของคุณที่ว่าด้วยเด็กๆ ที่เติบโตในวัฒนธรรมที่สาม (Third Culture Kids -หมายถึงคนที่โตมาในแวดล้อมต่างจากพ่อแม่หรือครอบครัวตัวเอง) ด้วยหรือเปล่า

(ยิ้ม) คุณทำการบ้านมาเยอะนะเนี่ย 

Neither Here Nor There เป็นงานธีสิสตอนฉันเรียนทำหนังค่ะ ตอนที่ทำน่าจะอายุสัก 20-21 ปีนี่แหละ เป็นช่วงเผชิญวิกฤตตัวตนน่ะ ได้แต่สงสัยว่านี่ฉันเป็นคนญี่ปุ่นหรือเป็นคนอังกฤษหรือคนอเมริกันแน่นะ เลยไปสัมภาษณ์ผู้คนมากมายที่เติบโตในวัฒนธรรมต่างๆ หรือมีพื้นฐานการเติบโตหลากหลาย ซึ่งช่วยให้ฉันเข้าใจตัวเองได้ว่าฉันคือกลุ่มคนแบบเดียวกับพวกเขานั่นแหละ และไม่จำเป็นเลยที่ฉันจะต้องเป็นแบบใดแบบหนึ่งเท่านั้น การตระหนักเรื่องนี้ทำให้ฉันสบายใจต่อตัวเองขึ้นมาก

ด้านหนึ่ง ก็เหมือนว่าฉันใช้ภาพยนตร์เพื่อทำความเข้าใจตัวเอง การเป็นเด็กที่เติบโตในวัฒนธรรมที่สามมันย่อมหมายถึงคุณไม่ได้โตมาในวัฒนธรรมเดี่ยว 

กล่าวได้ไหมว่า ในภาพรวมแล้วการทำหนังเป็นหนึ่งในวิธีที่ทำให้คุณเข้าใจตัวเองมากขึ้น

ใช่เลย ไม่ใช่ว่าฉันทำหนังเกี่ยวกับตัวเองหรอกนะ เมื่อก่อนก็เคยบันทึกเรื่องของตัวเองไว้นิดหน่อย แต่นั่นก็ไม่ใช่สไตล์การทำหนังของฉันเลย เวลาทำหนัง ฉันไม่ปรากฏตัวในหนังตัวเอง เหมือนเร้นตัวเองอยู่ในนั้นมากกว่า 

อย่างหนังเรื่องนี้ ฉันก็สำรวจระบบการศึกษาญี่ปุ่น มีซับเจ็กต์ในหนังสิบกว่าคนได้ ซึ่งซับเจ็กต์หลักที่ฉันจับจ้องและองค์ประกอบต่างๆ ที่รายล้อมนั้นก็เป็นเสมือนภาพแทนตัวฉันเอง 

บางครั้งคนก็มักคิดไปว่าการทำหนังสารคดีคือการตั้งกล้องบันทึกสิ่งที่เกิดขึ้นตรงหน้าไปเรื่อยๆ ขณะที่หนังซึ่งเป็นเรื่องแต่งนั้น คนจะเข้าใจว่ามีบทหนัง มีผู้กำกับ มีการตัดต่อ แต่เอาเข้าจริง สารคดีก็เป็นแบบนั้นแหละ และฉันก็ต้องการทำให้คนดูเห็นด้วยว่าฉันเองก็เป็นนักเล่าเรื่องนะ และการทำสารคดีคือการบอกเล่าเรื่องในแบบของฉัน มันไม่ได้เป็นกล้องวงจรปิด CCTV หรืออะไรแบบนั้น (หัวเราะ) ฉันถ่ายทำหนังเรื่องนี้อยู่หนึ่งปี ได้ฟุตเทจมา 700 กว่าชั่วโมงแล้วต้องตัดย่อยออกมาให้เป็นหนังหนึ่งเรื่อง สารคดีมันจึงมีรายละเอียดมากมายไปหมด 

ขอถามเกี่ยวกับตัวคุณอีกนิด คุณโตมากับการดูหนังแบบไหน ดูหนังของใครบ้าง

ฉันไม่ใช่เด็กที่รักการดูหนังหรือโตมากับการดูหนังเลยค่ะ แต่ฉันก็อยากทำหนังนะคะ (ยิ้ม) แต่ฉันก็เหมือนคนญี่ปุ่นทั่วๆ ไปที่ไปดูหนังบ้าง รู้จัก ทอม แฮงค์ส (Tom Hanks -นักแสดงชาวอเมริกัน), ทอม ครูซ (Tom Cruise -นักแสดงชาวอเมริกัน) อะไรทำนองนั้น 

จำได้เลยว่าตอนเรียนฟิล์ม เพื่อนๆ ทุกคนดูรักภาพยนตร์กันมาก ขณะที่ฉันดูไม่รู้เรื่องอะไรเลย เขาพูดถึงหนังเรื่องไหนกัน ฉันก็ไม่รู้จักกับพวกเขา สมมติคุณมีเวลาให้ฉันสักสองชั่วโมง ฉันก็คงไม่เลือกใช้เวลาไปกับการดูหนังแต่เลือกไปเจอผู้คนมากกว่า แต่แน่ล่ะ ว่าเมื่อตัดสินใจว่าจะเป็นคนทำหนังแล้ว ฉันก็ดูหนังมากขึ้นทันทีเลย เช่น หนังสารคดี แต่ฉันก็ไม่ใช่คนประเภทที่โตมากับการดูหนัง รักการดูหนังโดยธรรมชาติหรืออะไรทำนองนั้นหรอกค่ะ 

แต่แน่นอนว่าฉันเคยดูหนังของผู้กำกับดังๆ ชาวญี่ปุ่นอย่าง อากิระ คุโรซาวะ (Akira Kurosawa -คนทำหนังชาวญี่ปุ่น) หรือ ฮิโรคาสุ โครีเอดะ (Hirokazu Kore-eda -คนทำหนังชาวญี่ปุ่น) จำได้เลยว่าตอนเด็กๆ ดูเรื่อง Nobody Knows (2004 -หนังดัดแปลงจากเหตุการณ์จริง ว่าด้วยแม่ที่ทอดทิ้งลูกๆ ของตัวเองในอพาร์ตเมนต์ กำกับโดยโครีเอดะ) แล้วสับสนมากว่าในหนังนั้นเป็นเรื่องจริงหรือเรื่องแต่งแน่ และสนใจวิธีการทำหนังของเขาขึ้นมาทันที เพราะมันช่างดูสมจริงเหลือเกิน อาจจะกล่าวได้ว่าคุณโครีเอดะนี่แหละที่เป็นคนทำหนังที่ส่งอิทธิพลต่อฉัน กระนั้น ตอนนี้ฉันก็ยังไม่สนใจจะทำหนังฟิกชันอยู่ดีนะ แค่อยากทำสารคดี เล่าเรื่องราวที่ตัวเองสนใจก่อนค่ะ แต่ในอนาคตก็ไม่แน่เหมือนกัน ถ้าฉันเจอเรื่องราวทางประวัติศาสตร์หรือบุคคลที่น่าสนใจ และคิดว่าการบอกเล่ามันผ่านนักแสดงหรือทำมันออกมาเป็นภาพยนตร์ขนาดยาวแล้วเหมาะกว่าก็คงได้ทำหนังที่ไม่ใช่หนังสารคดีเข้าสักวัน 

อีกอย่างคือ ฉันไม่ใช่คนที่มีจินตนาการอะไรมากมายด้วยค่ะ อาจจะสร้างเรื่องแต่งได้ไม่ดีนัก ฉันออกจะสนใจสิ่งที่เกิดขึ้นอยู่แล้วมากกว่า และอยากบอกเล่ามันผ่านมุมมองของตัวเอง และนี่แหละว่าทำไมฉันจึงสนใจทำหนังสารคดี

คุณเริ่มต้นอาชีพด้วยการทำสารคดีให้ช่องข่าว เช่น อัล จาซีรา ภาษาอังกฤษ (Al Jazeera English) และ CNN มันส่งผลต่อการทำหนังของคุณในเวลาต่อมาอย่างไร

ฉันโตที่ญี่ปุ่นและย้ายไปนิวยอร์กตอนอายุ 19 ปีเพื่อเรียนภาพยนตร์ มองย้อนกลับไปแล้วก็พบว่า การใช้ชีวิตอยู่ในนิวยอร์กอาจจะส่งผลให้ฉันมีสไตล์ทำหนังแบบอเมริกันนิวยอร์กก็ได้นะ ซึ่งฉันว่าดีเลยล่ะ เพราะนิวยอร์กเป็นหนึ่งในสถานที่ที่ดีที่สุดในการที่คุณจะได้เรียนรู้เรื่องการทำหนัง

ในฐานะคนทำหนังรุ่นใหม่ การทำงานในนิวยอร์กทำให้ฉันรู้ว่าตัวเองอยากและไม่อยากทำอะไรในฐานะผู้กำกับหรือแม้แต่ในฐานะคนตัดต่อ ช่วงที่ฉันอายุ 20 ต้นๆ เป็นช่วงที่ฉันลองมาเริ่มทำงานสารคดีให้สำนักข่าวอย่างอัล จาซีราหรือ CNN และได้เห็นว่าสารคดีส่งผลต่อสังคมอย่างไรบ้าง รู้เลยว่าสารคดีสักชิ้นสามารถต่อยอดบทสนทนาหรือสร้างความเปลี่ยนแปลงบางอย่างได้จริง และนี่แหละที่เป็นแรงบันดาลใจสำคัญให้ฉันในฐานะคนทำหนังหน้าใหม่ เพราะก่อนหน้านี้ ฉันได้แต่สงสัยอยู่เสมอว่า ฉันจะทำหนังดีไหมนะ หรือไปหาทางเปลี่ยนแปลงสังคมโดยวิธีการอื่นๆ ดี และการได้ทำงานกับอัล จาซีราหรือ CNN ก็ทำให้ฉันรู้ว่า เอาล่ะ ฉันจะทำหนังเพราะรู้แล้วว่าภาพยนตร์มันสร้างความเปลี่ยนแปลงได้จริง อาจจะกล่าวได้ว่านี่แหละคือสิ่งที่การทำงานกับสำนักข่าวเหล่านี้ส่งผลต่อฉัน

ที่บอกว่าการทำงานในนิวยอร์กทำให้รู้ว่าตัวเองอยากทำและไม่อยากทำอะไรนั้น มีสิ่งไหนบ้างที่คุณพบว่าไม่อยากทำ

คำถามนี้น่าสนใจนะคะ เพราะเอาเข้าจริง ฉันมักคิดเสมอว่าฉันเป็นพวกอยากทำทุกอย่าง แต่ที่แน่ๆ คือฉันชอบเล่าเรื่องอะไรสักอย่างเสมอ ตั้งแต่ยังเด็กแล้ว ฉันเป็นเด็กที่เที่ยวบอกแม่ว่า อยากทำนั่นทำนี่ อยากเต้น อยากแสดงความคิดและความรู้สึก และตลอดมา ฉันก็มักสนใจหาประเด็นเล็กๆ น้อยๆ จากสิ่งต่างๆ รอบตัวเสมอ เหมือนอยากเล่าเรื่องผ่านสายตาและมุมมองของตัวเองให้คนอื่นได้รับรู้ค่ะ 

แต่ภายหลัง ฉันก็ได้ตระหนักว่า ในฐานะคนทำงาน เราสามารถเล่าเรื่องที่ไม่ได้มาจากตัวเราด้วยก็ได้ อย่างฉันเคยทำสารคดีว่าด้วยแก๊งในชิคาโกผ่านมุมมองของตัวเองน่ะ ดังนั้นแล้ว สิ่งที่ฉันอยากทำจริงๆ คือการทุ่มเทเรี่ยวแรงและเวลาในชีวิตเพื่อบอกเล่าเรื่องที่อยากเล่า เพราะการจะทำสารคดีนั้น ก็จำเป็นอย่างยิ่งที่ฉันจะต้องเชื่อมต่อตัวเองกับเรื่องราวเหล่านั้นให้ได้

อีกอย่างหนึ่งนะ ฉันคิดว่าในสหรัฐอเมริกา สารคดีมักถูกมองว่าคล้ายๆ กับเป็นรายการเรียลลิตีออกฉายทางโทรทัศน์ อันที่จริงมันก็มีเส้นบางๆ ที่คั่นกลางเรื่องนี้อยู่ อย่างไรก็ตาม ฉันเคยทำงานเรียลลีตีที่ว่านี้และมันทำเงินได้มหาศาลด้วย แต่ฉันตัดสินใจแล้วว่ามันช่างไม่คุ้มเอาเสียเลย และพบว่าแท้จริงแล้วเราอยากทำสิ่งที่มีความหมายมากกว่านั้น แม้ว่าจะยากกว่าก็ตาม และนี่แหละค่ะคือสิ่งที่ฉันตอบตัวเองได้ว่า เราไม่อยากทำอะไร

สุดท้ายแล้ว ทราบมาว่าคุณเคยทำสารคดีเกี่ยวกับ มาร์ติน สกอร์เซซี (Martin Scorsese -คนทำหนังชาวอเมริกัน) สมัยที่เขามาทำหนังเรื่อง Silence (2016) พอบอกได้ไหมคะว่าบรรยากาศเป็นยังไงบ้าง

(ยิ้ม) ใช่แล้วค่ะ ฉันได้สัมภาษณ์เขาด้วย น่าจะเป็นหนึ่งในงานสัมภาษณ์ชิ้นใหญ่ที่สุดที่ฉันเคยทำมาเลยมั้ง และเป็นงานใหญ่ชิ้นแรกๆ ด้วย ตอนนั้นฉันยังเด็กมากและออกจะประหม่าอยู่ไม่น้อย ก็มีโอกาสได้สัมภาษณ์คุณสกอร์เซซีซึ่งเขาเพิ่งตัดต่อหนังเรื่อง Silence เสร็จ และพอได้คุยกับเขา ฉันก็สัมผัสได้ว่า เวลาที่คนทำหนังพูดถึงหนังและกระบวนการต่างๆ มันเจ๋งมากเลย จำได้ว่าคุณสกอร์เซซีตื้นตันกับงานชิ้นนั้นหน่อยๆ เวลาพูดถึง ทั้งยังเห็นได้ชัดเลยว่าเขาหลงใหลงานภาพยนตร์เหลือเกิน 

หลังจากสัมภาษณ์เขาเสร็จ ฉันสั่นเทาด้วยความประหม่า แต่คุณสกอร์เซซีใจดีมาก ฉันมาคิดดูนะ งานสัมภาษณ์คน -อย่างที่คุณกำลังสัมภาษณ์ฉันอยู่ตอนนี้- ก็ถือเป็นงานศิลปะรูปแบบหนึ่งเหมือนกัน และการได้สัมภาษณ์คุณสกอร์เซซีก็ทำให้ฉันได้เรียนรู้อะไรหลายต่อหลายอย่าง รู้ว่าการสัมภาษณ์ที่ดีเป็นแบบไหน ทำอย่างไรให้คนที่เราคุยด้วยวางใจและอยากสนทนากับเราต่อ

กลับมาที่คุณสกอร์เซซี เขาเป็นอย่างที่ฉันนึกภาพไว้เลยค่ะ อ่อนโยนและใจดีมาก เปี่ยมไปด้วยพลังในการจะทำหนังเหลือเกินค่ะ

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save