fbpx
จาก ‘หลานม่า’ ถึงปรากฏการณ์ผู้สูงวัยใน TikTok : caregiver และการออกแบบ ‘วาระสุดท้าย’ ในทางสังคม

จาก ‘หลานม่า’ ถึงปรากฏการณ์ผู้สูงวัยใน TikTok : caregiver และการออกแบบ ‘วาระสุดท้าย’ ในทางสังคม

ภาพยนตร์เรื่อง ‘หลานม่า’ เรียกน้ำตาจากคนดูและนักวิจารณ์แทบจะเรียกได้ว่าร้อยละร้อย

ที่จริงแล้ว พล็อตเรื่อง ‘หลานม่า’ ไม่ได้มีอะไรมาก ชื่อเรื่องก็บอกอยู่แล้วว่าเป็นเรื่องของ ‘หลาน’ กับ ‘ม่า’ ที่อายุห่างกันมากกว่า 50 ปี ต้องมาอยู่ด้วยกัน ฝ่าย ‘ม่า’ (หรืออาม่า) เป็นมะเร็งและน่าจะมีชีวิตอยู่ได้อีกไม่นานนัก ในขณะที่ฝ่ายหลานเข้ามารับหน้าที่เป็นผู้ดูแล ‘ม่า’ ในวาระสุดท้าย ไม่ว่าเป้าหมายแรกเริ่มจะเป็นอะไรก็ตาม

ผู้คนต่างพูดถึงภาพยนตร์เรื่อง ‘หลานม่า’ ในประเด็นต่างๆ ทั้งเรื่องความสัมพันธ์ของคนต่างเจเนอเรชัน การแสดง บทหนัง หรือโปรดักชันที่ยอดเยี่ยม แต่เรื่องหนึ่งที่ผมคิดว่า ‘ควร’ ต้องพูดถึงอย่างยิ่ง แต่กลับไม่ค่อยเห็นประเด็นนี้สื่อสารออกมา คือเรื่องของ ‘caregiver’

คำว่า caregiver แปลตรงตัวได้ว่าเป็นผู้ ‘มอบ’ สิ่งที่อาจเรียกได้ว่าเป็น ‘ความแคร์’ หรือความใส่ใจดูแลให้ผู้อื่น โดยคำนี้มีความหมายเฉพาะ หมายถึงผู้ดูแลผู้ป่วยในช่วงสุดท้ายของชีวิตนั่นเอง

ที่น่าสนใจก็คือ ปรากฏการณ์ ‘ดูแลม่า’ หรือดูแลผู้สูงวัยในระยะสุดท้ายของชีวิตนั้น ไม่ได้เกิดขึ้นแค่กับหนังเรื่อง ‘หลานม่า’ เท่านั้นนะครับ แต่เกิดขึ้นในแอปพลิเคชันยอดนิยมอย่าง TikTok ด้วย!

หลายคนคิดว่า TikTok เป็นโซเชียลมีเดียสำหรับคนรุ่นใหม่ จึงมีเนื้อหาแต่เรื่องหวือหวา ชวนช็อปปิ้ง เต้นรำ กินดื่มเที่ยว แต่ที่จริงแล้ว TikTok มีความหลากหลายสูงมาก และเนื้อหาแบบหนึ่งที่ผมพบว่ามีให้เห็นบ่อยครั้งขึ้นมาก แถมยังมีผลตอบรับเป็นยอดไลก์ยอดชมสูงมาก (ในระดับที่บางบัญชีมีคนกดไลก์เป็นหมื่นๆ อย่างสม่ำเสมอ) ก็คือคลิปที่ว่าด้วยการ ‘ดูแลคนแก่’ หรือการเป็น caregiver นี่แหละครับ

แล้วไม่ใช่ผู้สูงวัยธรรมดาทั่วไปนะครับ แต่เป็นผู้สูงวัยที่มีอาการสมองเสื่อม (Dementia) ไม่ว่าจะจากอัลไซม์เมอร์ หรือสมองเสื่อมจากสาเหตุอื่นๆ ก็ตาม

คลิปเหล่านี้ บางคลิปดูขำขัน เพราะจะว่าไปผู้ป่วยที่มีอาการสมองเสื่อมจะมีลักษณะถดถอยลงจนบางครั้งดูเหมือนเป็นเด็กๆ ที่ต้องการการดูแล ลุกนั่งก็ร้องโอดโอย หรือบ่อยครั้งกินข้าวไปแล้วก็ลืมว่ากิน บางทีก็ร้องด่าลูกหลานผู้ดูแลว่าไม่ให้กินข้าว หิวจะตายอยู่แล้ว และบ่อยครั้งก็ ‘หลุด’ คำหยาบคายออกมา ไม่ว่าจะยามด่า ยามอุทาน หรือเวลาตกใจ

มีอยู่คลิปหนึ่ง ผู้สูงวัยที่กำลังได้รับการดูแลป้อนข้าวป้อนน้ำ เอามือ ‘ฟาด’ หน้าของผู้ดูแล (ที่เป็นลูกหลาน) อย่างแรงแทบน้ำตาเล็ด แต่ก็ต้องหันมาพูดคุยกับกล้องและคนดูในทำนอง ‘เม้าท์’ ย่ายายที่ตบเขา ประมาณว่าเดี๋ยวเถอะ เดี๋ยวเอาไปทิ้งเสียเลย ด้วยอารมณ์คล้ายๆ คน ‘เม้าท์’ แมวของตัวเองที่ลุกขึ้นมา ‘สวบ’ ว่าจะเอาไปปล่อยวัดหรืออะไรทำนองนั้นนั่นแหละ ทำให้คนดูรู้สึกขบขันบันเทิง แต่เป็นความบันเทิงที่แลกมาด้วยความหนักหนาสาหัสที่ซ่อนอยู่เบื้องหลัง

ที่จริงแล้ว ถ้าย้อนกลับไปในสมัยโบราณที่สังคมยังไม่เจริญก้าวหน้าทางการแพทย์ อาหารการกินไม่อุดมสมบูรณ์นั้น ‘เทคโนโลยีจัดการกับคนแก่’ ในสังคมโบราณถือว่าโหดร้ายมากนะครับ มีผู้วิเคราะห์ว่า ยุคที่มนุษย์ยังล่าหาอาหารและต้องเดินทางไกลตามแหล่งอาหารในแต่ละฤดูกาลนั้น คนแก่จะเดินตามเผ่าไม่ทัน สุดท้ายก็พลัดหลงหรือถูกสลัดหลุดจากเผ่าไปโดยอัตโนมัติ แต่เมื่อเรากลายมาเป็นสังคมเกษตรที่อยู่กับที่ คนแก่กลับกลายเป็นภาระที่เผ่าต้องเลี้ยงดู ทั้งที่ไม่ได้เป็นประโยชน์ต่อการสร้างอาหารหรือสร้าง productivity ให้กับเผ่าหรือสังคมอีกต่อไป

นักมานุษยวิทยาบางคนอธิบายว่า สำหรับเผ่าหนึ่งๆ ผู้สูงวัยที่หลงเหลืออยู่จึงเป็น useless eater หรือคนที่จะมากินส่วนแบ่งอาหาร แต่ไม่สร้างประโยชน์อะไรให้เผ่าเลย เพราะฉะนั้นหลายสังคมมีวัตรปฏิบัติที่แลดูโหดร้ายด้วยการ ‘กำจัด’ ผู้สูงวัยด้วยวิธีต่างๆ รวมทั้งการฆาตกรรมด้วย

วิธีการที่ว่านี้มีศัพท์เรียกเป็นทางการว่า senicide แม้จะไม่ได้มีหลักฐานปรากฏชัดเจนมากนัก เพราะมักเป็นเรื่องที่ถูกเก็บงำลี้ลับในเผ่าต่างๆ แต่นักมานุษยวิทยาและนักประวัติศาสตร์หลายคนเชื่อว่ามีการปฏิบัติจริงโดยมีร่องรอยหลงเหลืออยู่ในเรื่องเล่า ตำนาน หรือภาษา วิธีการปฏิบัตินั้นแตกต่างกันไป มีตั้งแต่โหดร้ายที่สุดอย่างการรัดคอ กดน้ำ เอาไม้กระบองตี ยิงทิ้ง ผลักตกหน้าผา ให้ยาพิษ ไปจนถึงวิธีการที่โหดร้ายพอกันแต่ไม่ฉับพลันทันทีเท่า เช่น การเอาไปทิ้งในป่า ในทะเลทราย หรือขังไว้ในถ้ำ ซึ่งบางส่วนจะเสียชีวิตเพราะขาดน้ำขาดอาหาร แต่เชื่อว่าจำนวนมากเสียชีวิตเพราะ ‘ช็อก’ ที่ถูกทิ้ง ทำให้เสียชีวิตเพราะบาดแผลทางใจหรือเหตุผลทางจิตวิทยามากกว่าอาการทางกาย (psychogenic death) อันเป็นเรื่องโหดร้ายเอามากๆ

ที่น่าสนใจก็คือในสังคมญี่ปุ่นโบราณ มีประเพณีที่เรียกว่า ‘อูบาสุเตะ’ (Ubasute) แปลว่าการนำเอาหญิงชราที่ป่วยหนักไปทิ้งไว้บนภูเขาหรือในป่า โดยสันนิษฐานว่ามีมาตั้งแต่สมัยเฮอัน (ค.ศ. 794-1185) จนถึงสมัยเอโดะ (ค.ศ. 1603-1868) ที่น่าสนใจก็คือเป็นการกำจัดเฉพาะเพศหญิงเท่านั้น มีผู้วิเคราะห์ว่า น่าจะสะท้อนให้เห็นความไม่เท่าเทียมทางเพศและการเลือกปฏิบัติต่อผู้หญิงในสังคมญี่ปุ่นโบราณ อีกอย่างหนึ่งก็เพราะสังคมสมัยก่อนเป็นสังคมเกษตรกรรมที่ต้องอาศัยแรงงานจำนวนมาก จึงเป็นไปได้ที่จะเลือก ‘เก็บ’ ผู้ชายเอาไว้ก่อน แต่ยังมีข้อถกเถียงกันอยู่นะครับว่าประเพณีอูบาสุเตะนี้เป็นเรื่องจริงมากน้อยแค่ไหน เพราะว่าไม่มีหลักฐานที่ชัดเจน ส่วนใหญ่อยู่ในเรื่องเล่าหรือตำนานต่างๆ เท่านั้น

มีผู้วิเคราะห์ว่า แม้กระทั่งหลักการ ‘อาศรม 4’ ของฮินดู ก็อาจถือได้ว่าเป็น ‘เทคโนโลยีการจัดการสังคม’ ในอันที่จะ ‘กำจัด’ ผู้สูงวัยออกไปจากสังคมด้วยเหมือนกัน แต่ใช้วิธีที่ละมุนละม่อมกว่า เพราะทำให้ผู้สูงวัยออกจากสังคมไปเอง โดยในวัฒนธรรมฮินดูนั้น จะแบ่งชีวิตคนออกเป็น 4 ช่วง เรียกว่าอาศรม 4 คือช่วง ‘พรหมจารยาศรม’ หรือช่วงยังเป็นพรหมจรรย์อยู่ คือช่วงเด็กจนถึงอายุราว 25 ปี เป็นช่วงศึกษาเล่าเรียน ถัดมาคือช่วง ‘คฤหัสถาศรม’ (หรือคฤหัสถ์) เป็นช่วงครองเรือนแต่งงานสร้างครอบครัว คือยาวไปจนถึงอายุ 50 ปี หลังจากนั้นแล้วก็จะเข้าสู่ช่วง ‘เตรียมถือสันโดษ’ คือ ‘วานปรัสถาศรม’ ตรงนี้จะว่าไปก็คือวัยเกษียณนั่นแหละครับ โดยจะ ‘ค่อยๆ’ ถอยห่างออกจากกิจการทางโลกเพื่อไปเตรียมตัวใช้ชีวิตอย่างสงบ ช่วงนี้ส่วนใหญ่อยู่ในราวอายุ 50-75 ปี

และสุดท้ายคือช่วง ‘สันยาสาศรม’ หรือที่เราเรียกว่า ‘สันยาสี’ ถือเป็นวัยสุดท้ายของชีวิต คืออายุ 75 ปีขึ้นไป ซึ่งเหล่าสันยาสีจะ ‘ออกจากสังคม’ ไปด้วยตัวเอง ไม่ต้องรอให้ใครมาพาตัวไป ‘ทิ้ง’ ตามป่าตามเขา โดยสังคมฮินดูจะถือว่าเป็นวัยสำหรับ ‘บรรลุธรรม’ คือมีนัยยกย่องว่าคนเหล่านี้ออกเดินทางจากบ้านเพื่อไปแสวงบุญแสวงหาการหลุดพ้น ตัดขาดจากโลกียวิสัยทั้งปวง เอาเวลาไปปฏิบัติธรรมอย่างเต็มที่ ถือเป็นการ ‘สิ้นสุดวงจรชีวิต’ ตามนัยแบบฮินดู ซึ่งถ้ามองอีกมุมหนึ่ง นี่คือ ‘เทคโนโลยีทางสังคม’ ที่ใช้ ‘จัดการ’ กับผู้สูงวัยได้อย่างแยบยลมาก เพราะผู้สูงวัยเองได้ชื่อว่าออกไปแสวงหาการหลุดพ้น แต่ในอีกมุมหนึ่ง สังคมก็ ‘ลดภาระ’ การดูแลผู้สูงวัยไปในตัวด้วย

ในภาพยนตร์ญี่ปุ่นเรื่อง ‘The Ballad of Narayama’ ซึ่งมีเนื้อหาว่าด้วยการ ‘ทิ้งคนแก่’ (แบบอูบาสุเตะ) ในญี่ปุ่น ได้นำเสนอมุมมองอีกแบบหนึ่งที่ลึกๆ แล้วมีปรัชญาคล้ายๆ สันยาสี นั่นคือแทนที่ผู้สูงวัยจะ ‘ถูกทิ้ง’ อย่างไร้ความหมาย หนังกลับพูดถึงการตายบนภูเขาของหญิงชราว่าเป็นทางเลือกสุดท้ายที่ต้องการจะ ‘ตายอย่างมีศักดิ์ศรี’ ไม่ต้องเป็นภาระของลูกหลาน ซึ่งก็คลับคล้ายการออกจากบ้านไปปฏิบัติธรรมในป่าของสันยาสีเช่นเดียวกัน

อย่างไรก็ตาม ในปัจจุบัน คอนเซ็ปต์เรื่องการ ‘ทิ้งคนแก่’ ไม่ได้รับการยอมรับอีกต่อไปแล้ว ทุกสังคมวัฒนธรรมทั่วโลก ต่างหันมาใช้วิธี ‘ดูแล’ ผู้สูงวัยไปจนถึงวาระสุดท้ายของชีวิตแทน

ถ้าย้อนกลับไปดูประวัติศาสตร์ เราจะพบว่าการดูแลผู้สูงวัยไม่ได้เกิดขึ้นในฉับพลันทันทีนะครับ แต่มนุษย์ค่อยๆ สั่งสมองค์ความรู้เกี่ยวกับการดูแลผู้ป่วยมาทีละเล็กละน้อย เริ่มตั้งแต่ยุคของ ฟลอเรนซ์ ไนติงเกล (Florence Nightingale) ซึ่งหลายคนคิดว่าเธอเป็น ‘แค่’ พยาบาลชาวอังกฤษ แต่ที่จริงเธอเป็น ‘นักสถิติ’ ยุคบุกเบิกด้วย และด้วยการเก็บสถิติต่างๆ นีี่เอง เธอจึงนำ ‘ข้อมูล’ ที่เก็บได้มาวิเคราะห์ แล้วไม่ได้วิเคราะห์เปล่าๆ นะครับ เธอยังทำ ‘อินโฟกราฟิก’ ออกมาแบบที่เราเรียกกันในปัจจุบันว่า Data Visualization ด้วย (ลองคลิกไปดูไดอะแกรมของเธอได้) ฟลอเรนซ์ ไนติงเกล ได้วางหลักการดูแลผู้ป่วยแบบองค์รวม โดยเน้นการสร้างสภาพแวดล้อมที่ส่งเสริมการฟื้นฟูสุขภาพทั้งทางกายและใจ ซึ่งในเวลาต่อมากลายเป็นหลักการที่เหมาะสมกับการดูแลผู้สูงวัยที่มีอาการป่วยอย่างมาก

ในต้นศตวรรษที่ 20 คนสำคัญที่เริ่มลุกขึ้นมาดูแลผู้สูงวัยอย่างจริงจังและทำเป็นเรื่องเป็นราว ก็คือ เจน แอดดัมส์ (Jane Addams) และ ลิเลียน วอลด์ (Lilian Wald) เจนเป็นนักสังคมสงเคราะห์ ส่วนลิเลียนเป็นพยาบาล ทั้งคู่ริเริ่มให้มีระบบบริการดูแลคนชราและผู้ด้อยโอกาสในชุมชน โดยเจน แอดดัมส์ ได้ก่อตั้งตั้งบ้านพักฉุกเฉิน (Settlement House) ที่มีชื่อเสียงที่สุดของสหรัฐอเมริกา เรียกว่า ฮัลเฮาส์ (Hull House) ในเมืองที่ถือได้ว่าสกปรกและมีสุขอนามัยย่ำแย่ที่สุดในยุคนั้นอย่างชิคาโก

งานที่ว่ามาข้างต้นเป็นงานที่ออกไปในเชิงสังคมสงเคราะห์ แต่อีกด้านหนึ่งที่เติบโตไม่แพ้กันก็คือ ‘องค์ความรู้’ เกี่ยวกับผู้สูงอายุ ต้นศตวรรษที่ 20 เกิดศาสตร์ที่เรียกว่า ‘พฤฒาวิทยา’ (Gerontology) เป็นศาสตร์ที่ศึกษาเกี่ยวกับความแก่ชราหรือ aging ทั้งในด้านสังคม วัฒนธรรม จิตวิทยา การรับรู้ และชีววิทยา โดยนักจิตวิทยาชาวอเมริกาอย่าง จี. แสตนลีย์ ฮอลล์ (G. Stanley Hall) เป็นผู้บุกเบิก

หลังสงครามโลกครั้งที่สอง ศาสตร์นี้ก้าวหน้าขึ้นมากเพราะแทนที่จะมองว่าเรื่องของผู้สูงวัยเป็นเรื่อง ‘เฉพาะตัว’ หรือเป็นเรื่องเชิงปัจเจกแบบ ‘ตัวใครตัวมัน’ หลายประเทศกลับมองว่า caregiving คือส่วนหนึ่งของระบบรัฐสวัสดิการ และเป็นหนึ่งใน ’หลักสิทธิมนุษยชน’ ด้วย เพราะมนุษย์เราแต่ละคน ควรได้รับการดูแลตั้งแต่ต้นจนอวสานของชีวิต ไม่ใช่ถูกปล่อยทิ้งปล่อยขว้างให้อยู่ในมือของลูกหลานไปตามยถากรรม ใครมีมรดกหรือมีลูกหลานมากหน่อยก็ได้รับการดูแล ใครไม่มีก็ปล่อยตายไปเงียบๆ

ในประเทศอังกฤษ มีการออกกฎหมาย National Assistance Act ในปี 1948 ซึ่งส่วนหนึ่งกำหนดให้รัฐบาลท้องถิ่นมีหน้าที่จัดบริการดูแลผู้สูงอายุด้วย หลายคนจึงนับเป็น ‘จุดเริ่มต้น’ ของระบบ caregiving อย่างเป็นทางการ

ถ้าหันมามองดูสังคมไทย ไม่ว่าจะเป็นปรากฏการณ์ของภาพยนตร์อย่าง ‘หลานม่า’ หรือปรากฏการณ์ลูกหลานดูแลผู้สูงวัยใน TikTok เราจะเห็นได้เลยนะครับว่าทั้งสองปรากฏการณ์นี้ โดยอุดมการณ์ใหญ่แล้วยังตกอยู่ใน ‘กรอบ’ ของการที่ ‘ลูกหลาน’ ต้องมาดูแลผู้สูงวัยกันเอาเอง คือเป็นกรอบคิดแบบปัจเจก ส่วนใหญ่แล้วเมื่อพูดถึงการดูแล ‘อาม่า’ หรือผู้หลักผู้ใหญ่ของเรา – คำว่า ‘รัฐ’ แทบไม่ปรากฏขึ้นในความคิดเลย

ที่เป็นอย่างนั้นก็เพราะในสังคมและวัฒนธรรมไทย (โดยเฉพาะไทยเชื้อสายจีน) สิ่งหนึ่งที่มาควบคู่กับคำว่า caregiving (ไม่ว่าจะโดยรู้ตัวหรือไม่ก็ตาม) คือคำว่า ‘กตัญญู’ นั่นแปลว่าถ้าผู้สูงวัยอยู่ในภาวะช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ ถือกันว่าเป็นหน้าที่ของลูกหลานที่ ‘ต้อง’ ดูแลพ่อแม่ปู่ย่าตายายยามแก่เฒ่า ถือเป็นคุณธรรมอันดับต้นๆ ที่คนไทยยึดถือ ซึ่งน่าจะได้รับอิทธิพลจากคำสอนในพุทธศาสนาเรื่องทิศ 6

มีผู้วิเคราะห์เอาไว้อีกเช่นกันว่า การสร้างความกตัญญูให้เป็นคุณธรรมสำคัญนั้น อาจเป็น ‘เทคโนโลยีทางสังคม’ อีกแบบหนึ่งที่ช่วยยึดครอบครัวให้อยู่ด้วยกัน ถ้ามองเฉพาะในแง่ของ caregiving เราจะพบว่าลูกหลานที่ยึดมั่นในคุณธรรมเรื่องความกตัญญู จะมี ‘ความอดทดอดกลั้น’ (toleration) ต่อผู้สูงวัยสูงมาก แม้ผู้ดูแลจำนวนไม่น้อยอาจเกิดความเครียด ท้อแท้ หรือสูญเสียอิสรภาพ แต่คุณธรรมที่เรียกว่าความกตัญญู จะเป็น ‘เครื่องมือ’ ที่เราใช้บอกตัวเองว่าสิ่งที่กำลังทำอยู่นั้นมีคุณค่า เพราะคือการตอบแทนผู้มีพระคุณที่เคยดูแลเรามาก่อน จึงเกิดกำลังใจ และอดทนดูแลต่อไม่ย่อท้อ เมื่อมองในมุมนี้ caregiving จึงไม่ใช่แค่ ‘หน้าที่’ แต่คือการฝึกฝนขัดเกลาตัวเองด้วยการตอบแทนพระคุณ ทำให้ได้เรียนรู้คุณธรรมเรื่องความกตัญญูอย่างลึกซึ้ง และพร้อมจะถ่ายทอดคุณธรรมนี้ต่อไปยังคนรุ่นถัดๆ ไป

แต่กระนั้นก็ไม่ได้แปลว่าความกตัญญูจะปัดเป่าทุกอย่างได้เสมอไป เพราะการดูแลผู้สูงวัยที่ป่วยด้วยภาวะสมองเสื่อม เป็นอัมพาต หรือนอนติดเตียงนั้น ถือเป็นงานหนักหนาสาหัสมาก คนมีฐานะอาจว่าจ้างพยาบาลส่วนตัวมาดูแลให้ แต่พยาบาลก็ไม่เหมือนลูกหลาน เพราะผู้ป่วยเหล่านี้ไม่ใช่จะรับรู้อะไรไม่ได้ แม้หลายคนพูดไม่ได้ กินอาหารไม่ได้ แต่อารมณ์ความรู้สึก และการรับรู้ถึงความรักจากคนใกล้ชิดยังมีอยู่เต็มเปี่ยม เพราะฉะนั้น แม้จะมีพยาบาลพิเศษมาดูแล หลายคนก็ยังอยากได้ลูกหลานใกล้ชิดมาดูแลอยู่ดี หลายครอบครัวมักตัดปัญหาการดูแลผู้สูงวัยด้วยการ ‘มอบหมาย’ ให้ลูกหลานคนใดคนหนึ่งดูแลผู้สูงวัยเพียงคนเดียวไปเลย เราจะได้ยินประโยคที่บอกว่า ‘ลาออกจากงานมาดูแลพ่อแม่’ อะไรแบบนี้อยู่บ่อยๆ โดยพี่น้องคนอื่นอาจทำงานส่งเงินมาเลี้ยงดู แต่การ ‘ผลักภาระ’ ไปไว้ที่คนคนเดียว กลับก่อให้เกิดปัญหาที่เรียกว่า caregiver burnout ขึ้นมา

เนื่องจากงานของผู้ดูแลนั้นหลากหลายด้านมากนะครับ นอกจากต้องคอยตอบสนองความต้องการทางกายต่างๆ ของผู้ป่วยแล้ว ผู้สูงวัยยังมักมีความรู้สึกโดดเดี่ยว ถูกทอดทิ้ง ตามสังคมไม่ทัน ไม่มีคุณค่า จึงอาจแสดงปฏิกิริยาหลายอย่างออกมาจนทำให้ผู้ดูแลต้องเหน็ดเหนื่อยทางใจด้วย นอกจากนี้ ผู้ดูแลยังต้อง ‘เรียนรู้’ ทักษะใหม่ๆ ทางการแพทย์ เช่น การเช็ดตัว การพลิกตัวไม่ให้เกิดแผลกดทับ การปฐมพยาบาลเบื้องต้น การ ‘เช็ดขี้เช็ดเยี่ยว’ อย่างถูกหลัก และต้องสังเกตอาการสำคัญๆ อยู่ตลอดเวลา หากมีอะไรกำเริบจะได้ตามแพทย์พยาบาลมาดูแลต่อ ดังนั้นผู้ดูแลจึงมักทำงานตลอด 24 ชั่วโมงโดยไม่ได้พัก และต้องละทิ้งชีวิตส่วนตัวทั้งหมด ตั้งแต่หน้าที่การงานไปจนถึงความสัมพันธ์อื่นๆ ไม่ว่าจะกับเพื่อนหรือคนรัก ความเหนื่อยล้าต่อเนื่องยาวนานของผู้ดูแล จึงทำให้เกิดอาการ caregiver burnout

ที่แย่กว่านั้นก็คือ เนื่องจากผู้ดูแลต้องใช้เวลาเกือบทั้งหมดไปกับการดูแลผู้ป่วย ในที่สุดก็ละเลยการดูแลตัวเอง มีตั้งแต่นอนไม่พอ ขาดการออกกำลังกาย ขาดการพักผ่อน จำนวนมากมีอาการของโรคซึมเศร้า เนื่องจากมักต้องคลุกคลีอยู่ในโรงพยาบาลหรือในบ้านจนไม่ได้พบปะเพื่อนฝูง เมื่อเกิดอาการ burnout ขึ้น ก็ทำให้การดูแลแย่ลง จนเกิดความรู้สึกผิด แล้วก็วนกลับมาสู่อาการ burnout ที่ดิ่งลึกลงไปอีก กลายเป็นวงจรอุบาทว์

ในสังคมที่เริ่มเป็นสังคมสูงวัยมากขึ้น มีสถิติบอกว่า ยิ่งมนุษย์เรามีอายุเฉลี่ยมากขึ้นเท่าไหร่ ปรากฏการณ์ที่เราจะป่วยด้วยโรคที่เกี่ยวกับสมอง เช่น เส้นเลือดในสมองแตก (ทำให้เป็นอัมพาต) หรืออาการสมองเสื่อม จะยิ่งเพิ่มมากขึ้นเท่านั้น ถ้าเป็นสมัยก่อน ผู้ป่วยเหล่านี้อาจมีชีวิตอยู่ไม่นาน อย่างมากไม่เกินปีสองปีก็เสียชีวิต ทำให้คนที่เป็น caregiver ไม่ต้องรับภาระนานนัก แต่ในปัจจุบัน วิทยาการทางการแพทย์ช่วยให้ผู้ป่วยด้วยโรคเรื้อรังต่างๆ มีชีวิตอยู่ยาวนานขึ้น หลายคนอาจมีอาการสมองเสื่อม แต่มีสุขภาพด้านอื่นๆ ดี ร่างกายยังแข็งแรงอยู่ คนที่เป็น caregiver จึงต้องทำงานเป็นเวลานานขึ้น บางคนอาจดูแลพ่อแม่ของตัวเองนานเป็นสิบปีก็มี

ข้อมูลจากมูลนิธิสถาบันวิจัยและพัฒนาผู้สูงอายุไทย ระบุว่าในปี 2019 ประเทศไทยมีประชากรผู้สูงอายุ (อายุ 60 ปีขึ้นไป) ราว 12 ล้านคน โดยในจำนวนนี้ 1.3 ล้านคน ต้องการผู้ดูแล ส่วนในปี 2021 มีอีกงานวิจัยหนึ่งพบว่าปัจจุบันครอบครัวไทยราว 8 ล้านครอบครัวมีผู้สูงอายุที่ต้องดูแล ในจำนวนนี้ 2 ล้านครอบครัวมีผู้สูงอายุที่ป่วยติดเตียงหรือเป็นโรคเรื้อรัง นั่นแสดงให้เห็นว่ามีความต้องการ caregiver จำนวนมาก แต่ข้อมูลจากสำนักงานสถิติแห่งชาติปี 2017 บอกว่าผู้ประกอบอาชีพ ‘ผู้ช่วยดูแลและพยาบาลในสถาบันและที่บ้าน’ ในไทย มีอยู่แค่ราวๆ หกหมื่นกว่าคนเท่านั้นเอง เห็นได้เลยว่าตัวเลขของ ‘ผู้ต้องการการดูแล’ สูงกว่าตัวเลขของ ‘ผู้ดูแล’ มากๆ จึงคาดกันว่าน่าจะมีจำนวนผู้ดูแลแบบ unpaid caregiver หรือเป็นลูกเป็นหลาน มากกว่าผู้ดูแลที่รับค่าจ้างหลายเท่า แปลความอีกชั้นหนึ่งว่า – รับประกันไม่ได้ว่าจะดูแลอย่างได้มาตรฐานจริงๆ

โดยทั่วไป ผู้ดูแลแบบ unpaid caregiver ที่เป็นลูกหลานหรือญาติสนิท จะเกิดความผูกพันกับผู้สูงวัยที่ตนดูแลอย่างมาก เพราะทุกนาทีต้องทุ่มให้ผู้ป่วย จน ‘อัตลักษณ์’ ของตัวเองกลายไปมีความหมายผูกอยู่กับผู้ป่วยด้วย คือ นาย A ไม่ได้เป็นแค่นาย A แต่คือ caregiver A ไปเลย ดังนั้น เมื่อผู้ป่วยจากไป ผู้ดูแลจำนวนมากเลยเกิดปัญหาใหม่อีกอย่างที่เรียกว่า caregiver grief หรือความเศร้าแบบผู้ดูแลที่ ‘ลึก’ มากกว่าสูญเสียคนที่ตัวเองรัก เพราะมันคือการ ‘สูญเสียตัวตน’ ในฐานะ caregiver ไปด้วย เหมือนตื่นขึ้นมาพบโลกอีกใบที่ตัวเองไม่รู้จักอีกต่อไป เพราะอุทิศชีวิตให้ผู้ป่วยไปหมดแล้วโดยไม่ได้เตรียมการอะไรไว้เลย

caregiver grief อาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพจิตต่อเนื่องไปได้อีกยาวนาน อาจนานกว่าช่วงที่ใช้ดูแลผู้สูงวัยด้วยซ้ำ ผู้ดูแลบางส่วนโทษตัวเองว่าเป็นสาเหตุทำให้ผู้สูงวัยเสียชีวิต หรือบางคนก็มีอาการหวาดผวา หวาดระแวง กลัวความตาย หรือเป็นโรคเครียดหลังเหตุการณ์สะเทือนใจ (PTSD) ไปเลยก็มี หลายคนรู้สึกว่าตัวเองไม่เหลือ ‘คุณค่า’ อะไรอีกต่อไปแล้ว เพราะคล้ายกับสิ่งที่ยึดโยงตัวเองเอาไว้กับคุณค่าทั้งปวงได้จบสิ้นไปแล้ว กว่าจะตั้งหลักฟื้นตัวกลับมาใช้ชีวิตปกติได้ ก็ต้องใช้เวลายาวนาน

ปรากฏการณ์ ‘หลานม่า’ และปรากฏการณ์ผู้สูงวัยใน TikTok ทำให้เราเห็นว่าสังคมจำเป็นต้องออกแบบสิ่งที่เรียกว่า caregiving ecosystem หรือระบบนิเวศการดูแลผู้ป่วยสูงวัยให้เป็นระบบโดยรัฐ เพื่อไม่ให้ต้องผลักภาระไปที่ ‘ปัจเจก’ ภายใต้เครื่องมือที่เรียกว่า ‘ความกตัญญู’ เพียงอย่างเดียว

ในอดีต สังคมโบราณเคย ‘ออกแบบวาระสุดท้าย’ ของมนุษย์ไว้หลายอย่าง ตั้งแต่การเอาคนแก่ไปทิ้ง จนถึงการสร้าง ‘ระบบคิด’ เกี่ยวกับวัฏจักรหรือวงจรชีวิตที่พึงเป็น ตั้งแต่สันยาสีถึงความกตัญญู คำถามก็คือ – แล้วในโลกปัจจุบันเล่า เมื่อสังคมผู้สูงวัยในแบบที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในประวัติศาสตร์มนุษย์มาถึง ได้เวลาแล้วหรือยังที่เราจะต้อง ‘คิด’ ถึงการ ‘ออกแบบ’ วาระสุดท้ายของผู้คนเสียใหม่ให้สอดคล้องกับความเปลี่ยนแปลงนี้ ทั้งการออกแบบเมืองสำหรับผู้สูงวัย การออกแบบระบบบริการสุขภาพที่ครอบคลุม และอาจต้องร่วมกัน ‘คิดใหม่’ (rethink) ถึงการ ‘ออกแบบวาระสุดท้าย’ ร่วมกันด้วย

เพราะผู้สูงวัยยุคใหม่ไม่ใช่ใครอื่นเลย แต่คือตัวเราทุกคนในอนาคตทั้งสิ้น ถ้าไม่ตายเสียก่อน – เราทุกคนจะเดินหน้าไปสู่สภาวะผู้สูงวัยที่มีอาการป่วยระยะสุดท้ายสั้นยาวแตกต่างกันไปทุกคนนั่นแหละครับ!

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save