fbpx

Egoist หัวใจทรนง

บทความนี้เปิดเผยเนื้อหาส่วนสำคัญของภาพยนตร์

สำหรับ โคสุเกะ เสื้อผ้าแบรนด์เนมเป็นเกราะที่ป้องกันเขาจากโลกที่ไม่เคยต้อนรับเขา 

ทุกครั้งที่กลับบ้าน เขาจะสวมเสื้อผ้าพวกนี้และเมินใส่เพื่อนๆ ที่สวมยูนิฟอร์มต๊อกต๋อยของบริษัท แม่เขาตายตอนเขาอายุได้ 14 ปี ไม่นานหลังจากนั้น เขาออกจากบ้านไปโตเกียว แต่ในวันครบรอบวันตายทุกปี เขาจะกลับบ้านมาไหว้แม่ พ่ออาศัยอยู่ในบ้านลำพังหลังจากแม่ตาย พวกเขาไม่ค่อยได้คุยกันนัก แต่พ่อก็อยู่ที่นั่นทุกครั้งที่โคสุเกะกลับไป

โคสุเกะทำงานเป็นบรรณาธิการนิตยสารแฟชั่น เช่าห้องใหญ่หรูหราและใช้ชีวิตโดยลำพัง รายล้อมด้วยแก๊งเพื่อนเกย์ที่นัดกินข้าวพูดคุยสัพเพเหระอยู่ตลอด กระทั่งเพื่อนคนหนึ่งแนะนำให้เขาหาเทรนเนอร์ส่วนตัวเพื่อควบคุมน้ำหนักและการออกกำลังกาย ด้วยเหตุนี้เขาจึงได้พบ ริวตะ

ริวตะหนุ่มแน่นหล่อเหลา อาศัยอยู่กับแม่ที่เลี้ยงเขามาโดยลำพังตั้งแต่เขายังเล็ก พอริวตะขึ้นชั้ยมัธยมศึกษาได้ไม่นาน แม่ก็เริ่มล้มป่วย เขาจึงตัดสินใจลาออกจากโรงเรียนมาหางานทำเลี้ยงแม่ ซึ่งแม้แต่ไอ้การเป็นเทรนเนอร์นี้เขาก็เรียนด้วยตนเอง โคสุเกะประทับใจเด็กหนุ่ม ขณะเดียวกันก็ดูเหมือนริวตะจะชอบเขาด้วย และเป็นไปตามคาด ไม่นานหลังจากนั้นพวกเขาก็กลายเป็น trainer/trainee with benefits หลังการออกกำลังกายจบลง ก็ตามด้วยการร่วมรักอันเผ็ดร้อนทุกครั้งไป 

วันหนึ่ง จู่ๆ ริวตะก็บอกเลิกเขา บอกเลิกเพราะเกิดชอบโคสุเกะขึ้นมาจริงๆ ริวตะเปิดเผยความลับว่าเขาไม่ได้ขายเทรนอย่างเดียว แต่ขายตัวด้วย การที่เขาเกิดชอบโคสุเกะขึ้นมาทำให้ชีวิตเขาปั่นป่วนและเจ็บปวด เขาจึงต้องการจบกันแค่นี้ แต่โคสุเกะกลับดื้อดึงที่จะรักเขา ที่จะดูแลเขา ถึงขนาดจะขอซื้อเขาไว้แต่เพียงผู้เดียว ความรักที่ผลประโยชน์อยู่ข้างหน้าและชีวิตอยู่ข้างหลังของพวกเขาจึงเริ่มขึ้น 

แต่ไม่มีอะไรในความสัมพันธ์ของชายสองคนและแม่ชราของหนึ่งในนั้นที่เราคาดเดาได้ ความ ‘เห็นแก่ตัวเอง’ ของพวกเขาไม่ได้มอบบทเรียนสอนใจแบบที่เราคิดว่าจะได้รับ หากแต่นำไปสู่สิ่งที่อยู่ตรงข้ามกับตัวมันเอง ความอบอุ่นของการมีอีกคนอยู่ในชีวิต ไม่ว่าจะอยู่ในสถานะที่อธิบายได้หรือไม่ก็ตาม 

มองอย่างผิวเผิน Egoist (2022) หนังโดย มัตสึนากะ ไดชิ นั้น ครึ่งแรกของหนังยืนอยู่บนโครงสร้างของเรื่องรักที่เป็นไปไม่ได้ เรื่องราวอาจข้ามพ้นไปยังประเด็นพื้นๆ อย่างการยอมรับว่าตัวเองรักเพศเดียวกัน หรือเราจะรักเพศเดียวกันได้หรือไม่ แต่ข้ามไปสู่โครงสร้างที่เก่าแก่กว่านั้นของขนบรักต่างเพศ นั่นคือการเป็นรักข้ามชนชั้นของคนที่มีสถานะแตกต่างกัน หนังทำตัวคล้ายนิยายพาฝันที่ว่าด้วยพระเอกหล่อ ร่ำรวย ตกหลุมรักนายเอกยากจน รักที่เริ่มต้นขึ้นอย่างเป็นไปไม่ได้และตัวละครทั้งคู่ร่วมมือกันพิสูจน์ว่าความรักชนะทุกอย่าง

รักข้ามชนชั้นมีกรอบทางเพศกำหนดเอาไว้อยู่กลายๆ เช่นว่า ถ้าเป็นกรณีชายรวย หญิงจน การฝ่าฟันของหญิงคือการทำหน้าที่เมียและแม่ที่ดีโดยไม่ต้องกังวลว่าจะต้องหารายได้ให้ทัดเทียมชาย ในกรณีชายจนหญิงรวย ทางออกของเรื่องเล่า กลายเป็นบทบาทสั่งสอนให้ผู้ชายขยันทำงานจนขยับฐานะมาเข้าหากันได้ (แต่ทั้งสองกรณีแก้ไขได้ด้วยการมีสายเลือดผู้ดีที่ถูกปิดบังไว้) ความเป็นไปได้ของความเป็นไปไม่ได้คือการทำให้บทบาทของชายหญิงที่สังคมต้องการได้รับการเติมเต็ม แม้จะมีบางครั้งที่ทั้งสองฝ่ายตัดสินใจกัดฟันผ่าทุกข์ไปด้วยกันอย่างยากจน มันก็ยังเป็นเรื่องของการแบ่งงานกันทำตามกรอบเพศกำเนิดอยู่ดี

หากกับโลกทุนนิยม -ยิ่งกับของคนรักเพศเดียวกัน- ทุกอย่างจะซับซ้อนและยากเย็นขึ้น เมื่อเรื่องโรแมนติกพาฝันถูกเปลี่ยนมุมมองเป็นฝันร้าย กลายเป็นเรื่องน่าสงสัยของการหลอกลวงกัน เราอาจไม่รู้ตัว แต่การตอบสนองแรกต่อเรื่องราวจำพวก ‘เมื่อผมหลงรักผู้ชายขายตัว’ นั้นคือความเป็นไปไม่ได้  เราจึงเริ่มตั้งแต่อคติต่อการเข้าหาโคสุเกะของริวตะ จนเมื่อเราเห็นว่าพวกเขาอาจจะชอบกันจริงๆ ทั้งเมื่อริวตะเปิดเผยว่าไม่ได้เป็นแค่เทรนเนอร์ และขอยุติความสัมพันธ์ เราจึงเริ่มเชื่อว่ามันเป็นไปได้ก็ได้ จนต่อมาเมื่อโคสุกะออกปากขอซื้อริวตะรายเดือนด้วยเงินที่ไม่ได้มากมายนัก และหากรับข้อเสนอนั้น ริวตะต้องหางานทำเพิ่ม ความเคลือบแคลงของเราก็เคลื่อนเข้าสู่เรื่องที่ว่า ความรักที่ยืนอยู่บนการซื้อขายนี้จะยั่งยืนไปได้นานเท่าไรกันเชียว ก่อนที่หนังจะแสดงให้เห็นความเป็นไปได้ของความเป็นไปไม่ได้นี้อีกครั้ง เมื่อคนทั้งคู่เติบโตไปพร้อมกัน 

ครั้งแล้วครั้งเล่าที่สายตาของผู้ชมที่มีต่อขนบเรื่องเล่าความรักแบบเกย์และแบบเปย์ ว่าจะต้องลงเอยอย่างไม่สมหวัง หรือหากสมหวังก็ต้องไม่ยั่งยืน ถูก Egoist ท้าทายและทำลายล้าง มันทั้งชวนให้พาฝันและกระอักกระอ่วนว่าคงเป็นจริงได้แค่ในหนัง หากความหนักแน่นของตัวหนังเองและตัวละครที่จริงจังกับความสัมพันธ์ ปูมหลังของเด็กลูกแหง่สองคน ในทางหนึ่ง โคสุเกะมองเห็นริวตะเป็นภาพฝันของตัวเองที่ยังอยู่กับแม่ ขณะที่ริวตะมองเห็นโคสุเกะเป็นทั้งคนรัก และอาจจะเป็นภาพทดแทนของพ่อที่ขาดหาย  ความรักของคนทั้งคู่ที่ยืนอยู่บนการโอบกอดภาพแทนนี้ เป็นอีกรูปแบบของความรักตัวเองเพราะอีกฝ่ายคือสิ่งที่ตัวขาดพร่อง ซึ่งนั่นไม่ได้ทำให้ความรักไม่ใช่เรื่องจริง เพราะการรักคนอื่นล้วนเป็นภาพสะท้อนของการรักตัวเอง

แต่ครึ่งแรกของหนังเป็นเพียงการปูพื้นไปสู่ครึ่งหลังที่สำคัญกว่า เพราะสิ่งที่หนังต้องการเล่าไม่ใช่เรื่องรักของเกย์ แต่คือความเป็นไปได้ของความสัมพันธ์แบบอื่นๆ ที่ไม่ใช่แค่นอกกรอบของความรักต่างเพศ แต่นอกกรอบคิดเกี่ยวกับครอบครัวทางสายเลือด ไปสู่การมอบความรักให้แก่กันและกันในฐานะมนุษย์  ในฐานะครอบครัวโดยสมัครใจไม่ใช่จากชะตากรรม เพราะในช่วงเวลาที่ความสัมพันธ์สุกงอม หลังจากริวตะพาโคสุเกะไปพบแม่ของเขา แม้จะไม่พูดออกมาตรงๆ แต่แม่ก็รู้ว่านี่คือคนรัก แต่แล้ว จู่ๆ ริวตะก็จากไปในเช้าวันหนึ่ง -อย่างฉับพลันไม่บอกกล่าว- ทิ้งคนแตกสลายสองคนคือโคสุเกะและแม่ของเขาไว้ด้วยกัน จากนั้น หนังเริ่มเล่าเรื่องความสัมพันธ์อีกคู่หนึ่ง เมื่อโคสุเกะยังคงแวะมาเยี่ยมแม่ที่โดดเดี่ยวของริวตะพยายามจะดูแลเหมือนที่ดูแลริวตะ ด้วยการให้เงินใช้จ่าย

หากลองเปิดพจนานุกรม ดูเหมือนคำว่า Egoist อาจจะแปลได้ทั้งความหมายว่า ‘เห็นแก่ตัว’ และ ‘ทะนงตน’ หรือ ‘ทรนง’[1] ความหมายแรกเป็นความหมายเชิงลบที่พูดถึงเรื่อง ‘ภายนอก’ ความสัมพันธ์กับคนอื่นๆ แบบเอาเปรียบ ความสัมพันธ์ที่มีตัวเองเป็นศูนย์กลาง ขณะที่ความหมายหลังพูดถึงการจัดการความรู้สึก ‘ภายใน’ ที่จะถือตัว หยิ่งในเกียรติของตัว คำไทยสองคำที่ให้ความหมายสองแบบนี้ดูจะเอามาใช้อธิบายหนังได้อย่างน่าสนใจทั้งคู่ และอันที่จริงมันแสดงให้เห็นว่าความหมายทั้งสองไม่สามารถแยกขาดจากกันได้ เช่นเดียวกับการที่ความรักไม่ใช่เรื่องของการให้แต่คือการรับด้วย ความรักคือการเสียสละเพื่อตัวเอง และการเห็นแก่ตัวโดยเห็นแก่ผู้อื่น

ในฟากหนึ่ง รักคือข้ออ้างของการหาเงิน เพราะเราบอกได้ว่าความสัมพันธ์หมิ่นเหม่ของโคสุเกะกับริวตะ เป็นความสัมพันธ์ที่ยืนอยู่บนผลประโยชน์ เช่นเดียวกันเมื่อโคสุเกะเข้ามาดูแลแม่ของริวตะ หลังจากริวตะตาย การที่ความห่วงใยถูกถ่ายทอดผ่านการให้เงินเดือนที่เขาเคยให้ริวตะ ความสัมพันธ์ถูกลดรูปไปสู่เรื่องของการเห็นแก่เงิน ครอบครัวเห็นแก่ตัวที่เกาะแฟนลูกชายกิน ราวกับว่าการซื้อขายความสัมพันธ์เป็นรูปแบบของความเห็นแก่ตัวที่ตัวละครทั้งสามใช้ยึดโยงกัน ในทางตรงกันข้าม เงินกลับกลายเป็นเครื่องมือเดียวที่ความรักมี เงินเป็นทั้งหนทางให้โคสุเกะกับริวตะสานสัมพันธ์กันได้โดยต่างไม่ต้องทรมานกันและกันจนเกินไป ขณะเดียวกัน เงินก็เป็นหนทางเดียวที่โคสุเกะจะใช้ทั้งเพื่อไถ่ถอนบาปที่ตัวเองมีต่อริวตะ และใช้สร้าง ‘ครอบครัว’ นอกสายเลือดกับแม่ของเขา เงินและเซ็กซ์ที่เป็นศัตรูของรักแท้ จึงกลับกลายเป็นอาวุธที่พวกเขาพอจะมีในการต่อสู้กับบรรทัดฐานของสังคมในสายตาของผู้ชมทั้งที่มองไม่เห็น ในเมื่อหนังแทบถ่ายเจาะแต่พวกเขาสามคนจนราวกับว่าพวกเขาอยู่ในโลกเฉพาะ และผู้ชมที่มองเห็นในฐานะผู้ชมของหนังเรื่องนี้ 

ในอีกทางหนึ่ง หนังก็ฉายภาพความทรนงของตัวละครหลักที่มีต่อเซ็กส์และเงินเช่นกัน ริวตะเลือกหยุดความสัมพันธ์แทนจะหลอกลวงต่อไป และเมื่อรับเงินเขาก็เลิกขายตัวจริงๆ ออกไปทำงานแรงงานจริงๆ  และอาจจะเพราะการทำงานหนักเหล่านั้นทำให้เขาต้องจากไป 

เช่นเดียวกับแม่ของริวตะ ฉากที่สำคัญที่สุดฉากหนึ่งคือฉากที่โคสุเกะพยายามมอบเงินรายเดือนให้แม่ของริวตะ การปฏิเสธซ้ำแล้วซ้ำเล่า สีหน้า ท่าทาง และร่างกายของคุณแม่ และการที่ตัวละครบอกว่าได้โปรดรับไป เพราะทั้งการให้และรับ ไม่ได้เป็นการทำเพื่อคนอื่น แต่เป็นการทำ ‘เพื่อตัวเอง’ ในทุกการทำเพื่อคนอื่น มันเป็นเพียงรูปแบบหนึ่งของการทำเพื่อตัวเอง เป็นรูปแบบของความเห็นแก่ตัวและความทรนง ที่ตัวละครทั้งสองแสดงออกต่อกัน และในที่สุดก็ต่างยอมถอยให้แก่กันและกัน แต่ถึงแม้แม่จะรับเงิน เธอก็ยังคงใช้ชีวิตโดยลำพัง และไม่ว่าตั้งใจหรือไม่ก็ต้องยอมรับว่าอาจจะตายไปโดยลำพัง การยอมของเธอทำเพื่อโคสุเกะมากพอๆ กับการทำเพื่อตัวเอง  เพราะการมีใครสักคนแวะเวียนมากินข้าวด้วย หรือช่วยย้อมผมให้ ก็ทำให้ชีวิตเงียบเหงาของเธอมีชีวิตชีวาขึ้นมาบ้าง  เธออาจยอมรับเงินของโคสุเกะ ยอมให้โคสุเกะมาคอยดูแลนั่นนี่แม้แต่นอนในห้องของลูกชาย แต่สุดท้ายเมื่อถูกออกปากให้ไปอยู่ด้วยกัน เธอก็ยืนกรานอย่างนุ่มนวลที่จะขีดเส้นขอบเขตบางอย่างไว้ และเมื่อเธอป่วยไข้ เธอก็แค่หายไปเฉยๆ โดยไม่บอกกล่าว 

หากแต่ความทรนงของโคสุเกะนั้นหนักหน่วงและเจ็บปวดที่สุด ในฉากแรกของหนังและเป็นฉากเดียวที่มี วอยซ์โอเวอร์ เขากำลังกลับบ้าน และเขาบอกกับผู้ชมว่าสำหรับเขา เสื้อผ้าอาภรณ์เป็นเหมือนเกราะที่เขาสวมใส่เพื่อป้องกันตัวเองออกจากอดีตอันขื่นขม ตลอดทั้งเรื่อง เขาสวมเสื้อผ้าแบรนด์เนม กีดกันผู้คนที่เคยทำร้ายเขาออกไป แต่ภายในของเขาเปราะบางด้วยความโดดเดี่ยว ผลของการสูญเสียแม่ไปแต่อายุน้อย และห่างเหินกับพ่อที่เหมือนจะไม่รู้ว่าเขาเป็นเกย์ หรือหากรู้ก็ไม่พูดออกมา เพราะการพูดออกมาคือการยอมรับ

นอกจากเสื้อผ้า เขาใช้เงินในการปกปิดความอ่อนแอของตนเอง เขาใช้เงินทดแทนความรู้สึกห่วงหาอาวรณ์ในฐานะมนุษย์ที่เขามี เพราะมันเป็นหนทางเดียวที่เขาจะแสดงความรู้สึกออกมาได้ ตลอดทั้งเรื่องหนังไม่ได้ฉายให้เราเห็นเขาได้แสดงความรู้สึกมากนัก ในฉากสำคัญ กล้องมักจับใบหน้าเขาเพียงเสี้ยวเดียวมากกว่าจะโคลสอัพ จนในที่สุด ในฉากเล็กๆ ที่ไม่สำคัญ หลังจากเขารู้ว่าแม่ของริวตะเป็นมะเร็ง และกำลังจะตาย เขาสะกดกั้นความรู้สึกไว้ ออกจากโรงพยาบาลไปกดน้ำในตู้หยอดเหรียญ เหรียญร่วงหลุดมือ (ซึ่งในครั้งแรกที่พบกับริวตะ ริวตะก็ทำเหรียญหล่นเหมือนกัน) ระหว่างก้มเก็บเหรียญเขาก็ร้องไห้ออกมา ไม่ใช่ครั้งแรกที่เขาร้องให้บนจอ แต่เป็นครั้งแรกที่กล้องจ้องจับใบหน้าของเขา เกราะพังทลาย เหลือเพียงเด็กชายคนหนึ่งที่ถวิลหาแม่ และสูญเสียคนที่ตัวเองรักไปทีละคน

หลังจากนั้นเวลาไปเยี่ยมแม่ของริวตะ สิ่งที่เขาพกไปด้วยคือดินสอเขียนคิ้ว ราวกับจะซ่อมแซมเกราะที่แตกหักเสียหาย ซึ่งเขาพบในเวลาต่อมาว่ามันไม่จำเป็นอีกแล้ว ไม่มีความเห็นแก่ตัว ความทรนง หรือการปิดกั้นใดที่สำคัญที่มีความหมาย เขาไม่ต้องแข็งแกร่งอยู่ในเปลือกของเสื้อผ้าหรือเงินทอง เขาสามารถแตกสลายได้ รักและผูกพันได้ในผักเคียงค้างตู้เย็นและในมือที่จับกันไว้ ไม่ทิ้งกันไป

ความสัมพันธ์ของโคสุเกะกับแม่ของริวตะจึงกลายเป็นแกนกลางของเรื่องที่แท้ และเมื่อพิจารณาให้ถี่ถ้วน หนังกลายเป็นการต่อต้านกรอบสังคมอันเคร่งครัดของญี่ปุ่นได้อย่างน่าสนใจยิ่ง เอาเข้าจริง มีหนังญี่ปุ่นไม่มากนัก (โดยเฉพาะหนังกระแสหลัก) ที่พูดถึงชีวิตยากลำบากของชนชั้นแรงงาน ในหนังญี่ปุ่นนั้นดูราวกับว่าในทางเศรษฐกิจแล้วผู้คนไม่แตกต่างกันมาก ไม่มากพอจะทำให้ประเด็นความเหลื่อมล้ำเป็นปัจจัยกำหนดชีวิต แต่ในหนังเรื่องนี้กลับเป็นทางตรงกันข้าม ไม่พักต้องพูดถึงการทำหนังว่าด้วยรักของเกย์ แต่ที่ไปไกลกว่านั้นคือหนังตั้งคำถามกับความเห็นแก่คนอื่นของสังคมญี่ปุ่นที่กลายเป็นธรรมเนียมจอมปลอมที่เอาไว้กล่าวโทษผู้อื่นที่ทำอะไรตามใจตัวเองว่าเป็นคนไม่เห็นแก่คนอื่น หากหนังแสดงให้เห็นว่าการทำตามใจตนเองก็เป็นหนึ่งในเครื่องมืออันซื่อสัตย์ที่ของการเห็นแก่คนอื่น เงินหรือเซ็กซ์  หรือการไม่มีครอบครัว ไม่ใช่เรื่องเลวร้าย ทุกอย่างมีสองความหมายเสมอ และการสะท้อนไปมาของความหมายทั้งทางลบและบวกต่างหากที่เป็นความหมายที่แท้จริงของคำ ของชีวิต 

ฉากสุดท้ายของหนังจึงมีความหมายมากๆ เพราะตัวละครปลดวางตัวตนที่ปกป้องตัวเองจากความเจ็บปวดภายนอกออกและใช้จ่ายเวลาร่วมกัน แม่ที่เพิ่งบอกว่าเขาคือลูกชายคนหนึ่ง ที่มาแทนที่ลูกชายของเธอ แม่ที่เขาได้ดูแลต่อมาโดยไม่ตายจากไปก่อน แม่กำลังตาย และเมื่อโคสุเกะจะกลับ เธอคว้ามือเขาไว้ และบอกว่า ‘อย่าทิ้งฉันไป’ คำพูดของแม่ชวนให้นึกถึงฉาหนึ่งใน Plan 75 (2022)[2] หนังที่พูดถึงโครงการที่รับสมัครผู้ที่มีอายุ 75 ปีเพื่อไปตาย ผู้สมัครเข้าโครงการจะได้เงินพิเศษหนึ่งแสนเยนสำหรับการใช้จ่ายฟรีๆ และเปลี่ยนใจได้ตลอดโครงการ หลังจากเข้าร่วม ทางโครงการจะนัดวันตาย เมื่อพร้อมก็เดินทางมายังสถานที่ตามเวลาที่กำหนด เข้านอนบนเตียงพร้อมกับสูดดมแก๊สและจากไปอย่างสงบ หนังติดตามหญิงชราโดดเดี่ยวที่สมัครเข้าโครงการนี้  ในฉากหนึ่งของหนัง เธอไปนอนบ้านเพื่อนสนิทที่อยู่ในวัยใกล้ๆ กัน คุณยายสองคนกินข้าวเย็นแล้วเข้านอน เพื่อนของเธอบอกว่า อย่างนั้นแล้วคืนนี้ก็ปิดทีวีนอนได้ เพราะมีคนมาอยู่บ้านด้วย ไม่ต้องกังวลเรื่องโจรอีก หลังปิดไฟเธอเอื้อมมือไปจับมือเพื่อนสาวไว้ ถ่ายทอดความอบอุ่นให้แก่กันในวันที่ยังทำได้  ในเมื่ออย่างไรเสีย การสูญเสียย่อมต้องมาถึง การเจ็บปวดสูญเสียไปด้วยกันทำให้เจ็บปวดและสูญเสียน้อยกว่าเสมอ การรั้งคนไว้อาจจะเป็นความเห็นแก่ตัว แต่ความเห็นแก่ตัวในทางหนึ่งก็คือการทำเพื่อคนอื่นเช่นกัน


[1] ไอเดียของความทรนงผู้เขียนได้มาจากการอ่านบทสนทนาของมิตรสหายสองท่าน แล้วนำมาขยายต่อในที่นี้ 

[2] อ่านเพิ่มเติมเกี่ยวกับ Plan 75 ที่นี่

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save