fbpx

“เราตายได้ทุกวัน แต่การรักใครสักคนนั้นไม่ได้เกิดขึ้นได้ทุกวัน” มัตสึนากะ ไดชิ ผู้กำกับจาก Egoist (2022)

มองจากภาพรวม Egoist (2022) หนังยาวลำดับล่าสุดของคนทำหนังสัญชาติญี่ปุ่น มัตสึนากะ ไดชิ คงพูดถึงชายสองคนและความสัมพันธ์ที่ก่อตัวขึ้นมาเงียบๆ

ทว่า นั่นก็เป็นเพียงฉากหน้าเท่านั้น เมื่อตลอดความยาวสองชั่วโมง หนังพาคนดูสำรวจประเด็นอันหนักหน่วงอย่างความรักกับเงิน, ความโดดเดี่ยวอ้างว้างและความเห็นแก่ตัวของมนุษย์ ตลอดจนการพลัดพรากซึ่งจะฉีกทึ้งเราออกเป็นชิ้นๆ

หนังดัดแปลงมาจากนิยายกึ่งประวัติชีวิตชื่อเดียวกันของ ทาคายามะ มาโกโตะ เล่าเรื่องของ ไซโตะ (เรียวเฮ ซูซูกิ) บรรณาธิการนิตยสารแฟชั่นที่ใช้ชีวิตอยู่แต่กับงาน บางครั้งความทรงจำว่าด้วยความตายของแม่ก็จะหวนกลับมาหลอกหลอนเขา วันหนึ่ง ชีวิตเหวี่ยงให้ไซโตะได้เจอกับ เรียวตะ (ฮิโอะ มิยาซาวะ) เทรนเนอร์หนุ่มหน้าตาดีที่เขาจ้างมาให้ดูแลการออกกำลังกายและอาหารการกินเป็นการส่วนตัว ความสัมพันธ์ของทั้งคู่ค่อยๆ งอกงามเมื่อได้ใช้เวลาอยู่ด้วยกันมากขึ้น จนก่อตัวเป็นความรู้สึกลึกล้ำและอ่อนหวาน

ในความเข้มข้นของความรู้สึกรักและความปรารถนา ทั้งคู่กลับพบว่าปัจจัยที่ยากลำบากที่สุดในการจะจับมือเดินไปด้วยกันคือเงิน ยิ่งเมื่อถึงจุดหนึ่งเรียวตะเริ่มแยกไม่ออกระหว่างความรู้สึกที่เขามีต่อไซโตะเป็นความรักชอบหรือด้วยเหตุผลเรื่องเงิน เขาจึงพยายามถอนตัวออกมาจากความสัมพันธ์ บีบให้ไซโตะต้องใช้ ‘เงิน’ ซื้อเวลาและชีวิตของเรียวตะเพื่อให้ความสัมพันธ์นี้ดำรงอยู่ต่อไปได้… หากแต่นี่จะเรียกว่าเป็นความรักได้หรือเปล่า

101 สนทนากับ มัตสึนากะ ไดชิ ผู้กำกับหนังเดินทางมาที่ประเทศไทย บทสนทนาของเราลื่นไหลจากกระบวนการทำหนังไปจนถึงประเด็นอันแหลมคมที่ร่วมยุคสมัยอย่างความรักและทุนนิยม

ชวนสัมผัสบทสนทนานี้ได้ในบรรทัดถัดไป

คุณเคยทำหนังสารคดีที่ว่าด้วยความหลากหลายทางเพศมาก่อนคือ Pyuupiru (2011) พอต้องทำหนังเรื่องแต่งที่พูดเรื่องความหลากหลายทางเพศ มันเหมือนหรือต่างจากการทำสารคดีอย่างไร

ผมรู้สึกว่าการทำหนังทุกเรื่องนั้นยากโดยตัวเองอยู่แล้ว ไม่ใช่แค่เรื่องเจนเดอร์หรือเพศสภาพ

สำหรับเรื่องนี้ ผมดัดแปลงมาจากนิยายซึ่งมีมาตั้งแต่เมื่อสิบปีก่อนแล้ว เมื่อสิบปีก่อนที่ญี่ปุ่นไม่ได้มองเห็นเรื่องเจนเดอร์และความหลากหลายทางเพศอย่างทุกวันนี้ จุดมุ่งหมายของผมในการทำหนังเรื่อง Egoist คือทำอย่างไรให้คนญี่ปุ่นเข้าใจเรื่องเจนเดอร์และความหลากหลายทางเพศได้มากขึ้น 

สิบปีก่อนคนญี่ปุ่นมองเรื่องเจนเดอร์อย่างไร ต่างกับตอนนี้มากน้อยแค่ไหน

มองอย่างคร่าวๆ ผมคิดว่าวิธีมองเรื่องเจนเดอร์ของคนญี่ปุ่นในเวลานี้ก็อาจไม่ได้ต่างจากเมื่อสิบปีก่อนมากนัก แต่เวลานี้มีอินเทอร์เน็ต มีนักแสดง และมีคนดังที่เป็นชาว LGBTQ+ ที่มีชื่อเสียงเข้ามามีพื้นที่มากขึ้น ทำให้คนรู้จักเรื่องเจนเดอร์และความหลากหลายทางเพศมากขึ้น กระนั้น คนหลากเพศส่วนใหญ่ในญี่ปุ่นก็ยังมีจุดที่ใช้ชีวิตได้ไม่เต็มร้อยเมื่อเทียบกับคนตรงเพศทั่วไป ซึ่งผมมองว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องที่คนส่วนใหญ่ยังไม่ค่อยเข้าใจ

การดัดแปลงหนังมาจากนิยาย ยากง่ายอย่างไร

ตัวนิยายเล่าผ่านความคิดของตัวละครหลัก ไม่ได้เป็นการพูดหรือแสดงออก แต่เมื่อถ่ายทำหนัง เราต้องอธิบายให้คนดูเห็นภาพสิ่งที่ตัวละครคิด ผมว่าสิ่งนี้น่าจะเป็นสิ่งที่ยากที่สุด

แน่ล่ะว่าผมก็ต้องเพิ่มฉากที่ไม่มีในนิยายเข้ามาด้วยเยอะมาก เพื่อจะทำให้คนดูเข้าใจสิ่งที่ตัวละครคิดอยู่ในหัวซึ่งอยู่ในหนังสือออกมาเป็นภาพให้ได้ เช่น หนังจะมีฉากที่ตัวละครเขียนคิ้วค่อนข้างบ่อย ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่ได้อยู่ในตัวนิยายเลย ผมอยากให้ตัวละครหลักคือคุณไซโตะคิดเสมอว่าการใส่เสื้อหรือการแต่งหน้าเป็นการ ‘สวมเกราะ’ ให้ตัวเอง และผมคิดว่าการแต่งหน้าหรือเขียนคิ้วจะฉายให้เห็นบุคลิกเด่นๆ ของตัวละครได้มากขึ้น หรือช่วงที่ตัวละครร่วมรักกันก็มีฉากที่พวกเขาเต้นกันด้วย นี่ก็ไม่มีในนิยาย ผมเพิ่มเข้ามาเพื่อให้คนดูเข้าใจตัวละครมากขึ้น

ทราบมาว่าหนังมีผู้เชี่ยวชาญเรื่องความสมจริงของฉากเซ็กซ์ (intimacy choreographer) มาดูแลด้วย

มีจุดที่ผมระวังมากๆ ในการทำหนังเรื่องนี้ เราจึงมีผู้ที่ดูแลเรื่องความสมจริงด้าน LGBTQ+ เป็นทีมงาน รวมทั้งผู้ที่ดูแลเรื่องความสมจริงของฉากเซ็กซ์ด้วย เพื่อจะถ่ายทอดชีวิตของคนในชุมชน LGBTQ+ อย่างสมจริงที่สุดครับ เช่น พวกเขาใช้ชีวิตประจำวันกันอย่างไร 

สิ่งนี้ไม่เคยมีหนังเรื่องไหนในญี่ปุ่นทำแบบนี้มาก่อนเลย

แต่ที่ญี่ปุ่นมีวัฒนยธรรมยาโอย (Yaoi -สื่อที่เล่าเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างผู้ชายกับผู้ชาย) ซึ่งเป็นที่นิยมมากทั้งงานเขียน, มังงะและภาพยนตร์ ทำไมจึงไม่เคยมีกระบวนการทำงานที่ให้ผู้เชี่ยวชาญมาดูแลบ้าง

ผมว่าส่วนมากแล้วยาโอยมักอยู่ในหนังฌ็อง BL (Boy’s Love) นะ ซึ่งเขาไม่ค่อยได้พูดถึงประเด็นนี้กันเท่าไหร่ครับ

ตัวหนังถ่ายทำด้วยเทคนิคแบบสารคดีค่อนข้างเยอะ เป็นอิทธิพลจากการทำหนังเรื่องแรกๆ หรือเปล่า 

ผมได้รับแรงบันดาลใจมาจาก The Son (2002, พี่น้องดาร์แดง) ผมอยากให้คนดูรู้สึกว่าหนังมันไม่ได้ไกลจากตัวพวกเขามาก เพราะถ้าถ่ายด้วยลองช็อตหรือมุมไกลอย่างเดียว คนจะรู้สึกว่าเรื่องราวที่เกิดขึ้นไม่เกี่ยวข้องกับพวกเขา แต่เมื่อเราถ่ายให้เหมือนสารคดี เช่น ถ่ายแคบ จับจ้องตัวละครในมุมใกล้บ้าง คนดูจะรู้สึกว่าเรื่องราวมันใกล้ตัวเขามากขึ้น ตัวละครสื่อสารกับพวกเขา สร้างความรู้สึกไม่ไกลตัวคนดู

สังเกตว่าหนังถ่ายทำแบบแฮนด์เฮลเยอะมากเลย

ยากมากครับ (ยิ้ม) คนถ่ายก็ถ่ายยากมาเหมือนกัน ก่อนหน้าการถ่ายทำ ผมก็วางแผนอย่างละเอียดว่าต้องถ่ายตรงไหนบ้าง แต่ก็ยังเหลือพื้นที่ยืดหยุ่นสำหรับการถ่ายทำจริงด้วย ขณะที่นักแสดงก็วางแผนไว้คร่าวๆ ว่าควรเดินไปตรงไหนและทำอะไร แต่เมื่อถึงเวลาถ่ายจริงก็เปิดพื้นที่ให้พวกเขาได้แสดงในรูปแบบอื่นด้วย 

เรื่องที่ละเอียดจริงๆ คือการทำงานกับตากล้องมากกว่า (หัวเราะ) ผมบอกตากล้องคือคุณ นาโอยะ อิเคดะ ว่าอยากให้เขาถ่ายเหมือนว่าเหตุการณ์ต่างๆ นั้นเกิดขึ้นใกล้ชิดต่อหน้าเขาเลย แล้วผมก็มักไม่ให้ถ่ายซ้ำหลายเทค เพราะรู้สึกว่าส่วนใหญ่แล้วเทคแรกนั้นดีที่สุด สนุกที่สุด ตื่นเต้นที่สุด ทั้งตากล้องและนักแสดงยังสดใหม่อยู่มาก 

ดังนั้น ทั้งผู้กำกับคือผมเอง ตัวผู้กำกับภาพและนักแสดงจึงต้องเชื่อใจกันมากๆ เวลาถ่ายทำหนังเราก็ต้องพยายามสร้างบรรยากาศให้เกิดความไว้เนื้อเชื่อใจ สบายใจกันมากที่สุดด้วย

เพื่อให้บรรยากาศดูเป็นสารคดี เป็นเหตุผลที่คุณไม่ค่อยใช้ดนตรีประกอบในหนังด้วยไหม

(คิด) เพื่อให้เป็นไปตามนิยายด้วย ตัวนิยายเล่าผ่านความคิดของตัวละครเป็นหลัก เมื่อเป็นเช่นนั้น หากผมใส่ดนตรีประกอบเข้าไปก็อาจทำให้ไม่ตรงกับความเป็นนิยายนัก ผมจึงใช้เสียงแอมเบียนต์รอบๆ เช่น เสียงนก เสียงรถยนต์ต่างๆ แทน 

ปกติหนังดราม่าแบบนี้มักใช้ดนตรีประกอบเพื่อเร้าอารมณ์คนดู แต่เมื่อคุณเลือกจะไม่ใส่ดนตรีประกอบ ทั้งยังถ่ายแบบสารคดีเป็นหลัก คุณสร้างอารมณ์คนดูด้วยวิธีไหน

ผมทำหนังสารคดีเป็นหลักและเชื่อว่าถ้าเราถ่ายสิ่งที่เกิดขึ้นจริงๆ เชื่อในสิ่งที่เราถ่ายจริงๆ จะสร้างความรู้สึกร่วมให้คนดูได้ 

อีกข้อที่สังเกตได้คือคุณถ่ายช่วงท้ายทอยตัวละครเยอะมาก มีความหมายอะไรไหม

(หัวเราะ) กล้องเข้าได้แค่นั้นครับ เหตุผลมีแค่นั้นจริงๆ 

หลายๆ สถานที่ที่เราถ่ายทำนั้นแคบมากๆ เช่น ในอพาร์ตเมนต์ซึ่งตัวละครต้องก้มลงถอดรองเท้า โดยปกติเราจะถ่ายจากด้านหน้าเพื่อรับหน้านักแสดงแล้วตัดเพื่อไปถ่ายด้านหลังอีกทีหนึ่ง แต่เราตั้งใจจะถ่ายลองเทค เราจึงอยู่ได้แค่ด้านหลังนักแสดงครับ (หัวเราะ) 

ทำไมเลือกคุณเรียวเฮที่เป็นนักแสดงที่คนจดจำเขาในบทผู้ชายมากๆ อย่าง The Blood of Wolves (2018 -หนังยากูซ่าอาชญากรรม) และ Segodon (2018 -ซีรีส์ออกฉายทางโทรทัศน์ว่าด้วยซามูไรในยุคเมจิ) มารับบทเป็น ไซโตะ เกย์ที่ร่าเริงแต่ก็ดูเหงาตลอดเวลา

ผมเลือกนักแสดงจากเคมีที่เขามีต่อนักแสดงอีกคน ในกรณีนี้คือคุณ ฮิโอะ มิยาซาวะ และพบว่าสองคนนี้เคมีเข้ากันดีมากๆ

อย่างไรก็ดี ผมกับคุณเรียวเฮเคยทำงานพาร์ตไทม์ด้วยกันมาก่อนครับ (ยิ้ม) สมัยก่อนที่ผมจะมาเป็นผู้กำกับและก่อนที่เขาจะมาเป็นนักแสดงอีก ตอนนั้นเราก็คุยๆ กันไว้บ้างแล้วว่า สักวันหนึ่งถ้าได้เป็นผู้กำกับและเป็นนักแสดงกันจริงๆ ก็อยากถ่ายหนังด้วยกัน 

ตัวผมเองรู้จักคุณเรียวเฮมากพอ ผมคิดว่าเขาเป็นคนที่มีบุคลิกนุ่มนวลมาก น่าจะเหมาะกับการมารับบทตัวละครไซโตะ

อย่างนั้นแล้วคุณตีความตัวละครเรียวตะอย่างไร เพราะนี่ถือเป็นตัวละครที่ซับซ้อนมากๆ 

ผมว่าเขาเป็นคนซื่อๆ และมีลักษณะที่ตรงข้ามกับไซโตะอยู่หลายจุด เช่น ไซโตะมีเงิน แต่เรียวตะไม่มีเงิน ทว่า พวกเขาก็มีความรู้สึกแบบเดียวกัน 

สำหรับคุณมิโฮะ มิยาซาวะ อย่างที่ผมกล่าวไปคือเราเลือกนักแสดงจากเคมีระหว่างกัน ผมพบว่าเมื่อเขาอยู่กับคุณเรียวเฮแล้วรู้สึกว่าทั้งสองคนไม่ต่างกันมากนัก หมายความว่า คุณเรียวเฮไม่ได้ทำให้ไซโตะดูรวย และมิโฮะก็ไม่ได้ทำให้ตัวละครเรียวตะดูเป็นคนจน ผมอยากให้คนดูเห็นทั้งสองคนนี้แล้วรู้สึกเองว่ามีบางอย่างที่แตกต่างระหว่างพวกเขา โดยที่ความแตกต่างนั้นไม่ได้มาจากรูปลักษณ์หรืออะไร 

ตัวหนังพูดเรื่องความสัมพันธ์ อำนาจและเงิน คุณคิดว่าสิ่งเหล่านี้อยู่ด้วยกันได้ไหม

ผมไม่ได้อยากให้คนดูรู้สึกว่าสิ่งเหล่านี้ไปด้วยกันไม่ได้นะ คนส่วนใหญ่มักพูดว่า ถ้าเรารักใครสักคน เราจะฝ่าฟันได้ทุกอย่าง แต่จริงๆ แล้วผมคิดว่าเงินเป็นองค์ประกอบสำคัญนะ อย่างในหนังก็จะพบว่าไซโตะใช้เงินเพื่อให้ความสัมพันธ์เดินไปได้ ซึ่งผมว่ามันไปคู่กันได้นะ

ขณะที่ตัวละครเรียวตะซึ่งเป็นเด็กขาย ผมก็ทำการบ้านด้วยการถามและศึกษา ขอความรู้คนที่ทำงานด้านนี้จริงๆ หลายต่อหลายคน ส่วนใหญ่พวกเขาจะตอบว่า เมื่อผ่านไประยะหนึ่ง พวกเขาจะเริ่มแยกไม่ออกว่าอะไรคือความรัก อะไรคือเงิน และตัวเรียวตะก็กลัวความรู้สึกนี้มาก ผมเขียนตัวละครนี้เพื่อจะบอกว่า ถึงที่สุด ระหว่างความรักกับเงิน คุณอาจเลือกอย่างใดอย่างหนึ่งไม่ได้ 

บางคนรู้สึกว่า ความรักที่มีเงินมาเกี่ยวข้องนั้นเป็นความรักที่ไม่จริง คุณมองประเด็นนี้ยังไง

ส่วนตัวผมมองว่า ไม่ว่าความรู้สึกนั้นจะเริ่มจากอะไร ต่อให้เป็นเงินก็ตาม แต่เมื่อเวลาผ่านไปเรื่อยๆ มันก็อาจเป็นความรักจริงๆ ขึ้นมาก็ได้ ผมไม่ได้มองว่าความรู้สึกที่เริ่มขึ้นจากเงินเป็นสิ่งที่หลอกลวงหรือไม่จริง สมมติ คนหนึ่งมองใครสักคนจากความหล่อ ความสวยแล้วพัฒนาไปเป็นความชอบ กับอีกคนหนึ่งที่มองว่าคนคนนี้รวยแล้วพัฒนาไปเป็นความชอบ ผมว่าสองสิ่งนี้ไม่ต่างกันเลย

ถ้าอย่างนั้น ความรักกับทุนนิยม อะไรแข็งแรงกว่ากัน

(คิด) แต่ละคนคงคิดและมองไม่เหมือนกัน ขึ้นอยู่กับว่าคนคนนั้นเติบโตอย่างไร อยู่มาอย่างไร จะมองว่าเงินหรือความรักสำคัญกว่ากัน 

แล้วคุณมองว่าความรักเป็นความเห็นแก่ตัวไหม

ที่ญี่ปุ่น เรามีวัฒนธรรมอย่างหนึ่งที่ให้ของแก่กัน รู้สึกว่าเมื่อให้ของใครแล้วจะทำให้เขามีความสุข แต่ผมรู้สึกว่าการให้เพียงฝ่ายเดียวไม่ให้ทำให้ผู้ให้มีความสุขจากใจจริงๆ หรอก ผมรู้สึกว่าการทำให้ตัวเราเองมีความสุขจากใจนั้นสำคัญที่สุด ถ้าเราสุขจากใจก็จะสร้างความสุขให้คนอื่นได้มากขึ้น 

หนังของคุณพูดเรื่องความตายเยอะมาก และคุณเองก็เคยให้สัมภาษณ์ว่าเคยมีประสบการณ์เฉียดตายเมื่อสมัยยังเด็ก รบกวนเล่าให้เราฟังได้ไหม และมันเกี่ยวข้องกับการทำหนังของคุณอย่างไร

เหตุการณ์นั้นผ่านมานานมากแล้วครับ ผมขับมอเตอร์ไซค์บนถนนทางด่วนที่ญี่ปุ่น เป็นถนนสามเลนโล่งๆ ผมขับอยู่เลนซ้ายตลอด แล้วไม่รู้ทำไม จู่ๆ ผมก็อยากขยับไปเลนกลาง เมื่อขับตรงเลนกลางไปได้ถึงระยะหนึ่งก็พบว่ามีต้นไม้ล้มลงในเลนซ้ายซึ่งผมเพิ่งขับเบี่ยงออกมาเมื่อครู่ ถ้าผมยังขับอยู่เลนซ้ายคงชนต้นไม้นั้นแน่ๆ อันที่จริงก็ไม่ใช่เหตุการณ์ใหญ้โตอะไร ผมมีเรื่องแบบนี้ในชีวิตเยอะเลยล่ะ

ถามว่ามันเกี่ยวกับการทำหนังอย่างไร ผมพบว่าที่ญี่ปุ่น ความตายถือเป็นเรื่องเศร้ามาก แต่ทุกคนเกิดมาแล้วก็ต้องตายอย่างแน่นอน ตายโดยเด็ดขาด ทั้งนี้ ผมไม่ได้มองว่าการที่เราเกิดมาแล้วต้องตายในสักวันหนึ่งนั้นเป็นเรื่องเศร้า อยากให้มองว่าความตายไม่ได้เป็นเรื่องที่แย่ขนาดนั้น และการที่เรารู้อยู่แล้วว่าต้องตายในสักวันหนึ่งก็อยากให้เราใช้ชีวิตแต่ละวันให้มีความสุขมากขึ้น 

ทั้งนี้ ความตายเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้ทุกเมื่อ แต่การรักใครสักคนนั้นไม่ได้เกิดขึ้นได้ในชีวิตประจำวัน ผมคิดว่าการที่เราได้รู้จักความรักโดยที่รู้ว่าสักวันหนึ่งเราต้องตาย ก็ทำให้เราพบแง่งามในชีวิตมากขึ้นนะ

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save