fbpx

โรคซึมเศร้าของคนเฒ่าคนแก่: ยิ่งสูงวัย ยิ่งเศร้า ยิ่งเข้าถึงยาก

จำนวนผู้ป่วยโรคซึมเศร้าของไทยในปัจจุบันที่ทะลุหลักล้านคนสะท้อนว่าปัญหาสุขภาพใจกำลังสั่นสะเทือนสังคมไทยและค่อยๆ เพิ่มความรุนแรงขึ้นในคนทุกช่วงวัย

หากมองตัวเลขในปี 2565 พบว่ามีอัตราการฆ่าตัวตายสำเร็จอยู่ที่ 7.97 ต่อประชากรแสนคน หรือใน 66 ล้านคน มีคนฆ่าตัวตายสำเร็จ 5,260 คน เท่ากับว่าในทุกวันจะมีคนฆ่าตัวตายสำเร็จถึงวันละ 14 คน[1] โดยอัตราการฆ่าตัวตายสูงที่สุดอยู่ในช่วงวัย 15 – 34 ปี[2]

ความเลวร้ายของโรคนี้ไม่ได้เกิดแค่กับคนวัยหนุ่มสาวเท่านั้น โรคซึมเศร้ากลายเป็น ‘โรคเงียบ’ ของ ‘คนสูงวัย’ หากสังเกตตามโรงพยาบาลทั่วไปหรือโรงพยาบาลเฉพาะทางจิตเวชในปัจจุบัน ที่นั่งของผู้ที่มารอพบแพทย์กลับเต็มไปด้วยคนเฒ่าคนแก่ที่ไม่ได้มาเพื่อตรวจรักษาโรคทางกายแต่เป็นการตรวจรักษาโรคทางใจ และมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้นทุกปี เห็นได้จากตัวเลขทางสถิติตั้งแต่ปี 2556 พบผู้สูงอายุที่ป่วยเป็นโรคซึมเศร้าร้อยละ 1.75, ปี 2557 ร้อยละ 2.05, ปี 2558 ร้อยละ 2.28, ปี 2559 ร้อยละ 2.60, ปี 2560 ร้อยละ 2.96, ปี 2561 ร้อยละ 3.42 และปี 2562 ร้อยละ 3.49[3]

ผู้สูงอายุเป็นอีกหนึ่งกลุ่มคนที่ไม่ควรถูกมองข้าม เพราะโรคซึมเศร้าของคนสูงอายุนั้นเป็นโรคที่กว่าจะรู้ตัว กว่าจะรักษา และกว่าจะหาย ก็กลายเป็นวัยที่มีสถิติการฆ่าตัวตายสำเร็จมากถึง 10.39 ต่อประชากรแสนคน นับว่าเป็นอัตราการฆ่าตัวตายสำเร็จที่สูงที่สุด เมื่อเทียบกับทุกช่วงวัย[4]

สภาพการณ์ดังกล่าวดำเนินไปพร้อมกับการเข้าสู่ ‘สังคมสูงวัยอย่างสมบูรณ์’ (complete aged society) ของสังคมไทยและคาดว่าในปี 2573 ไทยจะกลายเป็น ‘สังคมสูงวัยระดับสุดยอด’ (super aged society)[5] โรคซึมเศร้าในผู้สูงอายุจึงต้องเป็น ‘โรคไม่เงียบ’ ที่ทุกภาคส่วนต้อง ‘ใส่ใจ’

คุณยายกับชีวิตหนักหนา

และโรคซึมเศร้าที่ทำให้ใจไม่เหมือนเดิม

“รู้สึกนอนไม่หลับ มีเสียงแว่วๆ ในหู ไม่รู้ว่าเสียงอะไรอยู่ในหูเรา เมื่อนอนไม่หลับมากๆ เข้า หมอจึงเอายานอนหลับให้กิน แล้วก็หลับไป แต่วันต่อมาก็นอนไม่หลับอีก เป็นเหมือนเดิมซ้ำแล้วซ้ำเล่า” ยายนง (นามสมมุติ) อายุ 72 ปี ผู้ที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ชนบททางภาคอีสานและรับมือกับโรคซึมเศร้ามาแล้วสิบกว่าปีบอกเล่าเกี่ยวกับโรคที่ตนเองกำลังเผชิญอยู่

เมื่อมีอาการเหล่านี้​แพทย์จึงทดสอบว่ายายนงเป็นโรคซึมเศร้าหรือไม่ สุดท้ายจึงพบว่าเธอเป็นโรคซึมเศร้าและมีอาการค่อนข้างหนักแล้ว

“หมอถามว่าเคยคิดฆ่าตัวตายไหม ยายก็ยอมรับ เพราะความคิดนี้เคยแวบเข้ามาในหัว หรือบางครั้งทะเลาะกับสามีก็จะใช้มีดแทงสามีเพราะยับยั้งอารมณ์ไม่ได้ เมื่อหมอสอบถามเสร็จทำให้ยายคิดได้ว่ามันเป็นแบบนี้เองหรือโรคซึมเศร้า ทำให้เราเข้าใจตัวเองมากขึ้น”

หากถามถึงสาเหตุของอาการซึมเศร้าตามที่ตัวเองเข้าใจ ยายนงว่าคงหนีไม่พ้น ‘ครอบครัว’ และ ‘ความยากจน’ เพราะสามีไม่ได้อยู่กับตน ต้องเดินทางไปทำงานในต่างถิ่น รับจ้างทำทุกอย่างติดสอยห้อยตามผู้เป็นหัวหน้างาน เมื่ออยู่ห่างกันสามีก็นอกใจไปมีคนอื่น เงินก็ไม่ได้ส่งมาให้ ยายนงต้องรับผิดชอบดูแลแม่ ลูก และหลานอีก 4-5 คน ทำให้บางครั้งต้องอยู่อย่างอดๆ อยากๆ และอดทนกับการใช้ชีวิตที่ยากลำบาก

ขณะเดียวกัน แม่ของยายนงป่วยเป็นมะเร็ง ค่าใช้จ่ายในการรักษาสูง ทั้งค่ายาและค่าเดินทางไปโรงพยาบาลในตัวจังหวัด ทำให้เกิดความเครียดและวิตกกังวล ยายนงจึงใช้เหล้าช่วยบรรเทาความทุกข์และกลายเป็นคนติดเหล้าในที่สุด

ทั้งหมดที่เกิดขึ้นนี้สะท้อนว่าภาวะซึมเศร้าของยายนงเกิดจากปัจจัยด้านสังคม ซึ่งสาเหตุที่เด่นชัดที่สุดคือ ‘ปัญหาความยากจน’ เพราะจุดประสงค์แรกของการเดินทางไปทำงานที่อื่นของสามียายนงเป็นไปเพื่อหาเงินมาจุนเจือครอบครัวและนำมาซึ่งปัญหาทับซ้อนหลายอย่างที่กดทับยายนง สอดคล้องกับผลสำรวจของงานวิจัยเรื่องสภาวะเศรษฐกิจและภาวะซึมเศร้า: กรณีศึกษาจากข้อมูลระดับจังหวัดในประเทศไทย ที่ว่า “เมื่อบุคคลมีภาวะความยากจนเพิ่มขึ้น จะส่งผลให้เกิดความเสี่ยงของปัญหาด้านสุขภาพจิตและภาวะซึมเศร้าที่มากขึ้น เพราะความยากจนทำให้บุคคลนั้นไม่สามารถเข้าถึงปัจจัยในการดำรงชีวิตและบริการต่าง ๆ ได้”[6] รวมถึงที่มาร์ค ฟิชเชอร์ (Mark Fisher) นักเขียนและนักวิชาการด้านวัฒนธรรมศึกษาเคยอธิบายเรื่องโรคซึมเศร้าว่าเราไม่สามารถปล่อยผ่านปัจจัยสำคัญอย่างบริบททางสังคมไปได้ ปัญหาส่วนตัวย่อมเกิดจากสภาพแวดล้อมส่วนรวม[7]

สำหรับยายนงเอง เธอก็เข้าใจถึงสาเหตุของอาการป่วยของตัวเองอย่างชัดแจ้ง “การป่วยเป็นโรคซึมเศร้าของยายและสภาพครอบครัวมันเกี่ยวโยงกัน เพราะครอบครัวยายขาดๆ เกินๆ สามีไปในทางที่ไม่ดี แม่ก็ป่วย ยายจึงเป็นคนที่เก็บกด ไม่ได้ระบาย และไม่อยากที่จะระบายให้ครอบครัวฟังด้วย”

ปัจจุบันยายนงไปพบแพทย์ทุกสามเดือนที่โรงพยาบาลชุมชนใกล้บ้าน หาเลี้ยงชีพโดยการขายลูกชิ้น หมึกย่าง และไส้กรอกอีสาน แม้สามีจะกลับมาอยู่ด้วยกันที่บ้าน แต่สามีก็ทำงานได้ไม่เต็มที่นัก เพราะป่วยเป็นมะเร็ง ยายนงเพียงได้แต่ประคับประคองการใช้ชีวิตผ่านยาที่แพทย์จ่ายให้และการใส่บาตรซึ่งเป็นที่พึ่งทางใจ

“อาการของยายดีขึ้นได้เพราะพยายามทำใจ อายุมากขึ้นเลยปล่อยวางได้มากขึ้น และการทำบุญใส่บาตรก็ทำให้สบายใจ แต่โรคนี้มันเผลอไม่ได้เลย ถ้าความเครียดของเรามีมากก็จะลืมตัวทำอะไรที่ไม่คาดคิด แต่ก่อนยายไม่เชื่อเกี่ยวกับโรคนี้เท่าไหร่ที่ว่าคนเป็นซึมเศร้าแล้วจะฆ่าตัวตายแบบนั้นแบบนี้ แต่เดี๋ยวนี้ยายเชื่อแล้ว เพราะว่าจิตใจเรามันไม่เหมือนเดิม” ยายนงว่า

‘สาเหตุ’ ของการซึม และ ‘ผู้ดูแล’ คนเศร้า

จากการทำงานกับผู้สูงอายุที่ป่วยเป็นโรคซึมเศร้ามานานถึง 30 กว่าปี แพทย์หญิงอัญชลี ศิริเทพทวี แพทย์ผู้เชี่ยวชาญ ที่ปรึกษาผู้อำนวยการโรงพยาบาลจิตเวชนครราชสีมาราชนครินทร์และประธานคณะอนุกรรมการพัฒนามาตรฐานการบริการผู้สูงอายุให้ข้อมูลว่า สาเหตุการป่วยเป็นโรคซึมเศร้าในผู้สูงอายุนั้นมีหลายปัจจัย

1. ภาวะซึมเศร้าที่เป็นมาแต่เดิม กล่าวคือมีภาวะซึมเศร้าอยู่แล้วแต่ไม่เคยได้รับการรักษา เมื่ออายุมากขึ้นก็พบว่าภาวะนี้ยังอยู่และมีอาการหนักขึ้น

2. การมีโรคประจำตัว ผู้ป่วยซึมเศร้ามักมีโรคประจำตัวควบคู่ด้วย ซึ่งโรคที่พบบ่อยคือ ภาวะไทรอยด์ทำงานต่ำและหลอดเลือดสมองตีบหรืออุดตัน เนื่องจากซึมเศร้าเป็นเรื่องของการทำงานในสมอง การที่หลอดเลือดสมองบางส่วนเกิดตีบหรืออุดตันจะส่งผลกระทบกับสมองส่วนที่ทำงานและควบคุมเกี่ยวกับอารมณ์ ทำให้มีภาวะซึมเศร้าร่วมด้วย และอาจพบเป็นอาการแรกที่นำมาซึ่งภาวะสมองเสื่อมหรือโรคอัลไซเมอร์

3. ปัจจัยด้านสังคม เช่น การเกษียณอายุจากงาน ทำให้รู้สึกเงียบเหงาเบื่อหน่ายหรือรู้สึกไม่มีคุณค่า เพราะสิ่งที่เคยทำได้กลับไม่ได้ทำหรือทำไม่ได้แล้ว การอยู่ห่างจากคู่ครองหรือคู่ครองเสียชีวิต ความข้นแค้นทางด้านการเงิน ทำให้เข้าถึงปัจจัยในการดำรงชีวิตไม่ได้ จนเกิดความเครียดและมีภาวะซึมเศร้าตามมา

“โรคซึมเศร้าในผู้สูงอายุเกิดจากปัจจัยทั้งสามประการผสมกันไป ไม่ได้มีปัจจัยใดโดดเด่นหรือเป็นสาเหตุหลัก” พญ.อัญชลีกล่าว

ลักษณะอาการของผู้สูงอายุที่มีภาวะซึมเศร้า นอกจากอาการทั่วไปอย่างรู้สึกเบื่อหน่าย เบื่ออาหาร อ่อนเพลีย นอนไม่หลับหรือหลับมากเกินไป ไม่มีสมาธิ เหม่อลอย รู้สึกหมดหวังและคิดลบกับตัวเองแล้วนั้น อาการที่พบบ่อยและแตกต่างจากวัยอื่นคือ ‘ความหงุดหงิด’ หรือ ‘ความกระวนกระวาย’ ซึ่งทำให้ญาติผู้ป่วยบางรายเข้าใจว่าไม่ได้เศร้าเพียงแต่อารมณ์ไม่ดีเท่านั้น

ทั้งนี้ ผู้สูงอายุส่วนใหญ่จะรู้ว่าตัวเองป่วยเมื่อญาติเป็นคนสังเกตและพามารักษา เมื่อมาถึงมือแพทย์มักจะมีอาการในระดับหนึ่งหรืออาการค่อนข้างหนัก ทำให้ผู้ป่วยเข้าใจและยอมรับในสิ่งที่ตัวเองเป็นได้ง่าย เพราะเห็นภาพชัดเจนว่าตนผิดปกติไปจากเมื่อก่อนอย่างไร

ในมุมมองของ พญ.อัญชลี เห็นว่า ‘ผู้ดูแล’ หรือ ‘ผู้ใกล้ชิด’ ผู้ป่วยโรคทางจิตเวช ‘สำคัญทุกคน’ โดยเฉพาะผู้ดูแลผู้สูงอายุที่เป็นโรคซึมเศร้า เพราะประการแรกคือผู้ดูแลต้องเข้าใจขั้นตอนในการรักษาและดูแลเรื่องการรับประทานยา เนื่องจากช่วงเริ่มต้นสมาธิของผู้ป่วยจะยังไม่ค่อยดี ทำให้หลงลืมว่าทานยาแล้วหรือยัง หรือบางครั้งอาจทานแล้วทานอีกก็เป็นได้ ถ้าหากปรับยาจนระยะหนึ่งแล้วยังไม่ดีขึ้น อาจต้องรักษาโดยการกระตุ้นด้วยสนามแม่เหล็กไฟฟ้า หรือท้ายที่สุดคือการรักษาด้วยไฟฟ้า

ประการสอง การสังเกตอาการผู้ป่วย เพื่อไม่ให้เกิดเหตุการณ์ที่ไม่คาดคิด เช่น ผู้ป่วยเริ่มหาอุปกรณ์ที่จะทำร้ายตัวเอง ผู้ดูแลจะต้องเก็บอุปกรณ์เหล่านั้นให้มิดชิด แต่ถ้าสังเกตแล้วเห็นว่ามีอาการหนักก็ต้องพามาพบแพทย์ก่อนเวลานัด

ประการสาม พาผู้ป่วยออกไปทำกิจกรรม เช่น การออกกำลังกาย การออกไปเดินดูสิ่งแวดล้อมข้างนอก ชวนพูดคุย ไม่ควรให้ผู้ป่วยแยกตัวหรือหลบไปอยู่คนเดียว

สำหรับผู้ป่วยที่ไม่มีญาติหรือผู้ดูแล จำเป็นต้องพึ่งการบริการในระดับชุมชนอย่างอาสาสมัครสาธารณสุขประจำ หมู่บ้าน (อสม.) เพื่อช่วยคัดกรองและส่งต่อไปยังโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) หากผู้ป่วยมีอาการในระดับค่อนข้างหนักให้ส่งต่อไปยังโรงพยาบาลศูนย์ หรือโรคพยาบาลเฉพาะทางจิตเวช

‘วิธีการรักษา’ ไม่ได้แตกต่างกันระหว่างผู้ป่วยที่มีผู้ดูแลกับไม่มีผู้ดูแล แต่ ‘วิธีติดตามการรักษา’ จะแตกต่างกัน ในบางรายที่มีผู้ดูแล ผู้ป่วยอาจไม่ต้องมาที่สถานพยาบาลด้วยตัวเอง แต่ให้ญาติมาแจ้งอาการให้แพทย์ฟังหรือมารับยาแทนได้ ส่วนในกรณีที่อยู่คนเดียว ส่วนมากผู้ป่วยจะขอรับยาที่สถานพยาบาลใกล้บ้าน

ส่วนเรื่องยาที่มีทั้งยาในบัญชีและยานอกบัญชี พญ.อัญชลีให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า ผู้สูงอายุที่ป่วยเป็นซึมเศร้าส่วนมากใช้ยาในบัญชีเป็นหลักและถือว่าค่อนข้างครอบคลุม เพราะช่วงวัยนี้ไม่ควรใช้ยาที่มีปริมาณความเข้มข้นสูง อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันมีการผลิตยาสูตรคล้ายๆ กับยานอกบัญชี ทำให้ค่าใช้จ่ายลดลงและผู้ป่วยสามารถเข้าถึงได้มากขึ้น

ยิ่ง ‘สูงวัย’ ยิ่ง ‘เศร้า’ ยิ่ง ‘เข้าถึงยาก’

พญ.อัญชลีอธิบายว่าการรักษานั้นได้รับการพัฒนามาเรื่อยๆ ทั้งในเรื่องของวิธีการรักษาและยา แต่สิ่งสำคัญที่ยังต้องพัฒนาอีกมากคือ ‘การเข้าถึงบริการสาธารณสุข’ โดยเฉพาะผู้สูงอายุที่ป่วยเป็นโรคซึมเศร้าจะเข้าถึงบริการนี้ยากกว่าวัยอื่น ตั้งแต่ด่านคัดกรอง เมื่อผู้ป่วยที่อยู่ในวัยเรียนและวัยทำงานสามารถหาข้อมูลว่าตนอยู่ในภาวะเสี่ยงหรือไม่ผ่านการเล่นโซเชียลมีเดีย รวมถึงการทำแบบประเมินภาวะซึมเศร้าออนไลน์ กล่าวคือกลุ่มวัยเรียนและวัยทำงานจะมีช่องทางในการคัดกรองตัวเอง แต่ผู้สูงอายุไม่ค่อยถนัดในเรื่องโซเชียลมีเดียมากนัก การเข้าถึงบริการจึงยากและน้อยกว่าคนในวัยเรียนและวัยทำงาน

นอกจากนี้ ศูนย์บริการด้านจิตเวชยังถือว่ามีน้อย ในสังกัดกรมสุขภาพจิตนับว่ามีเพียง 19 แห่งทั่วประเทศ โดยแต่ละจังหวัดจะมีจิตแพทย์ประจำอยู่ที่โรงพยาบาลศูนย์และโรงพยาบาลชุมชนบางแห่งก็เริ่มมีจิตแพทย์ไปประจำบ้างแล้ว หากนับเฉพาะโรงพยาบาลเฉพาะทางการรักษาถือว่ายังไม่ครอบคลุม จึงได้มีการทำงานเป็นเครือข่าย เชื่อมโยงกันตั้งแต่โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล โรงพยาบาลชุมชน โรงพยาบาลศูนย์ จนกระทั่งโรงพยาบาลเฉพาะทางจิตเวช

สิ่งสำคัญอีกหนึ่งอย่างคือ ‘การเพิ่มจำนวนจิตแพทย์’ ซึ่งในแต่ละปียังผลิตจิตแพทย์ได้น้อย ปัจจุบันจิตแพทย์ที่อยู่นอกส่วนกลางหรืออยู่ต่างจังหวัดภาระงานค่อนข้างสูง โดยจิตแพทย์หนึ่งคนรับภาระดูแลผู้ป่วยต่อแสนคนในบางพื้นที่ อัตราส่วนจะต่างกันมากระหว่างส่วนกลางและต่างจังหวัด

นอกจากนี้กระบวนการทำงานนั้นต้องทำงานเป็นทีม เพราะจิตแพทย์ไม่สามารถไปบำบัดได้อย่างครอบคลุม จึงต้องมีทั้งทีมสหวิชาชีพ นักจิตวิทยา นักสังคมสงเคราะห์ รวมถึง อสม. ที่สามารถทำให้กระบวนการทั้งหมดดำเนินไปได้อย่างรวดเร็ว เพราะสามารถเข้าถึงตัวผู้ป่วยได้เร็วและง่ายกว่าส่วนอื่น

เรื่องซึมเศร้า เรื่องของส่วนรวม

แม้ว่าการรักษาเป็นเรื่องสำคัญก็จริง แต่สิ่งที่ พญ.อัญชลี แนะนำว่าควรทำมากที่สุดคือ ‘การป้องกัน’

“การสื่อสารและการเข้าสังคมถือเป็นปัจจัยสำคัญในการลดและป้องกันอารมณ์เศร้าที่ดีที่สุด สองสิ่งนี้เป็นการช่วยกระตุ้นการทำงานของสมองและทำให้ผู้สูงอายุรู้สึกว่าตัวเองมีเพื่อน ไม่ไร้ค่า และมีที่ยืนในสังคม”

ปัจจัยต่อมาคือการออกกำลังกาย ผู้สูงอายุไม่จำเป็นต้องออกกำลังหนัก เพียงแต่ออกกำลังกายบ้าง เช่น 3-5 ครั้ง/สัปดาห์ ครั้งละ 20-30 นาที ซึ่งการออกกำลังสามารถช่วยกระตุ้นการทำงานของสมองได้เช่นกัน

ปัจจัยสุดท้าย การรับประทานกลุ่มอาหารเสริมหรือวิตามิน เพราะบางรายอาจขาดวิตามินบางอย่างที่ส่งผลต่อการทำงานของสมอง ทำให้สมองทำงานช้าลงและมีภาวะซึมเศร้าตามมา

ทั้งนี้ ปัจจัยทางด้านสภาพแวดล้อมและการเข้าถึงเทคโนโลยียังทำให้การป้องกันการเกิดโรคซึมเศร้าในผู้สูงอายุมีความแตกต่างกันในแต่ละพื้นที่ โดยผู้สูงอายุที่อาศัยอยู่ในชุมชนเมืองจะอยู่ในสภาวะที่สามารถป้องกันการเป็นโรคซึมเศร้าได้ดีกว่าผู้สูงอายุที่อยู่ในพื้นที่ห่างไกล เพราะมีกิจกรรมที่ทำให้ได้เข้าสังคมอยู่บ่อยครั้ง เช่น งานเลี้ยงต่างๆ และเข้าถึงเทคโนโลยีได้ดีกว่าผู้สูงอายุที่อยู่ในชนบทที่ปกติมักจะอยู่แต่ในบ้าน เข้าไม่ถึงกิจกรรมดังกล่าวและไม่ถนัดการใช้เทคโนโลยี

“กระนั้นการเลี้ยงหลานก็ถือว่าช่วยป้องกันการเกิดโรคซึมเศร้าได้ เพราะผู้สูงอายุได้ใช้สมองและแสดงความรัก แต่เมื่อหลานโตขึ้นทำให้ต้องไปโรงเรียนหรือแยกไปอยู่อีกที่ ช่วงเวลานี้มักเป็นเวลาที่ผู้ป่วยกลับมาพบแพทย์อีกครั้ง” พญ.อัญชลีกล่าวทิ้งท้าย

เมื่อสังคมไทยเปลี่ยนผ่านสู่สภาวะสังคมสูงวัยอย่างสมบูรณ์ แต่สภาวะสุขภาพจิตของคนสูงวัยกลับถอยหลัง นับเป็นสัญญาณถึงปัญหาสุขภาวะโดยรวมของทั้งสังคมและเป็นภาพสะท้อนผลลัพธ์ของปัญหาสังคมนานาที่กลายเป็นปัจจัยการป่วย เรื่องนี้จึงไม่ใช่โรคภัยเฉพาะของปัจเจกบุคคล แต่กลับเป็นเรื่องที่คนทั้งสังคมต้องช่วยกันดูแล ซึ่งการรับมือที่ดีที่สุดคือการป้องกันอย่างถูกต้อง ผ่านการทำหน้าที่ของทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อไม่ให้เรากลายเป็นสังคมแห่งความโดดเดี่ยวและทิ้งใครให้จมบ่อโคลนปัญหาและโรคภัยที่มีความเสี่ยงถึงชีวิต

References
1 กรมสุขภาพจิต. ‘อัตราการฆ่าตัวตายสำเร็จ’, 2566
2 Hfocus. ‘ภาวะสังคมไทย 2565 ป่วยซึมเศร้าพุ่งสูง แนวโน้มวัยรุ่น-วัยทำงานฆ่าตัวตายเพิ่มขึ้น’. Hfocus.org, 2566.
3 ปิติคุณ เสตะปุระ และณัฐธกูล ไชยสงคราม. ‘ความชุกและปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับภาวะซึมเศร้าของผู้สูงอายุในประเทศไทย ปี พ.ศ. 2564’, 2565.
4 The Coverage. ‘ปี 66 คนไทยพยายามฆ่าตัวตาย 2.5 หมื่นคน “วัยรุ่น” มากสุด – สธ. ดัน “หมอพร้อม-แพทย์ AI” ช่วย’, 2567.
5 อธิวัฒน์ อุต้น. ‘เมื่อคนเกิดน้อยกว่าคนแก่ ปี 2030 ไทยจะเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุระดับสุดยอด’, 2566.
6 อรรถสุดา เลิศกุลวัฒน์ และ ฐิติมา พุฒิทานันท์. ‘สภาวะเศรษฐกิจและภาวะซึมเศร้า: กรณีศึกษาจากข้อมูลระดับจังหวัดในประเทศไทย’, 2564.
7 สรวิศ ชัยนาม. ‘เมื่อโลกซึมเศร้า Mark-Fisher, โลกสัจนิยมแบบทุน และลัดดาแลนด์’, 2562.

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save