fbpx

สายลมแห่งการเปลี่ยนแปลงข้ามลำน้ำโขง: เอฟเฟ็กต์เลือกตั้งไทย พัดความหวังประชาธิปไตยไปลาว

“คนลาวติดตามการเมืองไทยอย่างใกล้ชิด พี่น้อง ใครเป็นไหม ผมว่าหลายคนเป็น ผมเห็นในเฟซบุ๊ก มีเชียร์พรรคที่ตัวเองชอบ ก้าวไกลนี่นะ โอ๊ย อยู่ในหัวใจของหลายๆ คน เอานโยบายมาแข่งกัน ถ้าเราได้เป็นรัฐบาลจะให้ประชาชนอย่างนั้นอย่างนี้… คนเห็นว่านโยบายของพรรคไหนดี ส่งผลดีต่อตัวเองและประเทศชาติ ต่อสังคม พวกเขาก็เลือก ถ้าเลือกแล้ว เป็นรัฐบาลแล้ว ไม่ทำตามที่พูดไว้ พวกเขาก็ทักท้วง สี่ปีก็เลือกตั้งใหม่ เขาก็ไม่เลือกพรรคเก่า เพราะทำไม่ได้ มันมีเรื่องให้ลุ้น เหมือนแข่งกีฬา ม่วน… คนลาวก็ลุ้นเหมือนพวกท่านแหละ เพราะฟังภาษารู้เรื่อง ตามกันอยู่…”

ประโยคข้างต้น คือเสียงจากผู้ใช้ติ๊กต็อกชื่อ adminxieng ที่สื่อสารกับทั้งคนไทยและคนลาวว่าติดตามการเมืองไทยอย่างใกล้ชิด โดยมีผู้ใช้ติ๊กต็อกชาวลาวหลายคนมาร่วมแสดงความเห็นว่าติดตามการเมืองไทยเช่นกัน

กระแสความสนใจการเมืองไทยจากฝั่งลาวเพิ่มสูงขึ้นตั้งแต่ครั้งเลือกตั้งในไทยปี 2562 เมื่อการเกิดขึ้นของพรรคอนาคตใหม่สร้างความตื่นเต้นให้สนามการเมืองไทยหลังรัฐประหารในปี 2557 ซึ่งมีปัจจัยส่งเสริมคือการเข้าถึงโซเชียลมีเดียมากขึ้นและการมีระบบอินเทอร์เน็ตที่เสถียรและครอบคลุมอย่างต่อเนื่องในลาว แน่นอนว่าสำหรับคนที่มองถัดออกไปอีกระยะในประเทศเพื่อนบ้าน นี่เป็นสีสันและความสดใหม่ที่น่าจับตามอง ก่อนที่อนาคตใหม่จะถูกยุบพรรค และประเทศไทยมีกระแสกดดันรัฐบาลประยุทธ์ 2 ด้วยม็อบคนรุ่นใหม่ตลอดปี 2563 จนการระบาดของโควิดเข้ามาทำให้ทุกอย่างเบาบางลง

แต่ถึงอย่างนั้น กระแสคุกรุ่นทางการเมืองยังมีเชื้อไฟไม่จางหาย ยิ่งเมื่อช่วงการเลือกตั้งเมื่อ 14 พฤษภาคม 2566 เกิด ‘ปรากฏการณ์ก้าวไกล’ ในไทย ยิ่งส่งผลให้คนลาวที่ตามการเมืองไทยอยู่แล้วนั้นร่วมติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดและอยู่ในขบวน ‘พิธาฟีเวอร์’ ไปด้วย สิ่งที่น่าสนใจคือพรรคก้าวไกลคือพรรคการเมืองที่ประกาศจุดยืนชัดว่าจะเข้ามาล้างระบบเผด็จการอำนาจนิยมและทุนผูกขาด หลายคนมองว่าการ ‘แหลม’ เกินไปจะทำให้คนไม่เอาด้วย แต่กลายเป็นว่าพรรคก้าวไกลและพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ แคนดิเดตนายกฯ กลับได้รับความนิยมอย่างมากในสังคมไทย ซึ่งคลื่นความเปลี่ยนแปลงนี้ก็อยู่ในสายตาของคนลาวและประเทศเพื่อนบ้านเช่นกัน

ไม่ใช่เรื่องแปลกที่ข่าวสารจากไทยจะไหลไปสู่ลาวอย่างมหาศาล เพราะคนลาวดูช่องโทรทัศน์ของไทยมาเป็นเวลาหลายสิบปี คนลาวหลายคนพูดตรงกันว่าพวกเขาแทบไม่ดูช่องทีวีของลาว จากการลงพื้นที่ในประเทศลาว มีวัยรุ่นลาวคนหนึ่งในหลวงพระบางกล่าวว่า “โทรทัศน์ของลาวไม่มีอะไรให้ดู ทั้งข่าวและละคร ของไทยน่าสนใจกว่า” ยิ่งเมื่อภาษาใกล้เคียงกัน การฟังภาษาไทยของคนลาวกลายเป็นเรื่องที่ทุกคนทำได้เป็นปกติ

เป็นที่รู้กันโดยทั่วไปว่าสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว หรือ สปป.ลาว ปกครองด้วยระบอบสังคมนิยม แม้ทางการลาวจะเรียกระบอบการปกครองของตนเองว่า ‘ระบอบประชาธิปไตยประชาชน’ ก็ตาม และเหตุที่คนลาวมักยกตัวอย่างการมี ‘หลายพรรคการเมือง’ ให้เลือกขึ้นมา เพราะที่ลาวมีเพียงพรรคเดียวคือ ‘พรรคประชาชนปฏิวัติลาว’ ที่เริ่มปกครองประเทศลาวตั้งแต่ปี 1975 (พ.ศ. 2518) โดยปัจจุบันมีทองลุน สีสุลิด ดำรงตำแหน่งประธานประเทศและเลขาธิการพรรคฯ ดังนั้นสำหรับคนลาวแล้ว เมื่อพูดถึง ‘พรรค’ ย่อมหมายถึง ‘รัฐบาล’ ด้วย ซึ่งการปกครองในระบบพรรคเดียวนี้มักอยู่ในประเทศคอมมิวนิสต์ เช่น จีน เกาหลีเหนือ เวียดนาม ฯลฯ

ทั้งนี้รัฐบาลลาวถูกวิจารณ์ว่ามีการปราบปรามคนในประเทศที่ลุกขึ้นมาวิพากษ์รัฐอย่างรุนแรง และไม่เปิดโอกาสให้มีการประท้วงเป็นอันขาด แม้ว่าประเทศลาวกำลังตกอยู่ในภาวะวิกฤตทางเศรษฐกิจ ทั้งเรื่องเงินเฟ้อและการปล่อยให้ทุนจีนเข้ามาทำธุรกิจในประเทศอย่างเอิกเกริกก็ตาม โดยคนที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดคือคนลาวเอง

“ปัญหาหลักที่กำลังเกิดขึ้นในประเทศลาวคือปัญหาเศรษฐกิจ” โจเซฟ อักคะละวง นักเคลื่อนไหวและผู้ลี้ภัยทางการเมืองชาวลาว ให้สัมภาษณ์กับ 101 ถึงประเด็นปัญหาที่กำลังเกิดขึ้นในลาวปัจจุบัน ซึ่งส่งผลอย่างมีนัยสำคัญต่อการสนใจการเมืองไทยของคนลาว

“ลาวติดอันดับต้นๆ ของประเทศที่ค่าเงินเฟ้อมากที่สุดในโลก แต่ลาวเป็นประเทศที่พึ่งการนำเข้า แล้วพอค่าเงินอ่อนยิ่งทำให้เกิดปัญหาใหญ่เลย เพราะสินค้าต่างๆ แพง ทำให้ชีวิตการเป็นอยู่ของประชาชนลาวเดือดร้อน คนหนุ่มคนสาวต้องออกจากระบบการศึกษามาเป็นแรงงานราคาถูกที่ประเทศไทย” โจเซฟกล่าว เขาอธิบายต่อว่าปัญหาเศรษฐกิจส่งผลให้เกิดความไม่พอใจต่อรัฐบาลลาวอย่างกว้างขวางในหมู่ประชาชน

“คนหนุ่มสาวที่เข้าใจเรื่องการเมือง เขาก็เริ่มตั้งคำถาม วิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลเรื่องปัญหาเศรษฐกิจ แต่ก็ถูกข่มขู่ ห้ามไม่ให้วิพากษ์วิจารณ์ นอกจากนี้ยังมีปัญหาเรื่องยาเสพติดระบาดอย่างมากในลาว จับทีหนึ่งได้เป็นคันรถ เมื่อมีปัญหาเศรษฐกิจแล้ว ปัญหาทางสังคมก็สูงตามมา เช่น เรื่องการปล้นจี้เกิดขึ้นเยอะมาก ปัญหาของประเทศลาวมองไปแล้วคล้ายๆ เป็นสังคมที่ล้มเหลว ทางรัฐบาลก็มึนงงเหมือนกัน ไม่รู้จะแก้ไขอย่างไร” โจเซฟอธิบายภาพสังคมลาวในปัจจุบัน

เขาเล่าภาพรวมเศรษฐกิจลาวให้ฟังว่า มีปัญหามาระยะหนึ่งแล้ว แต่เริ่มหนักหนาจริงๆ ตอนช่วงหลังการระบาดของโควิด และยิ่งเมื่อรัฐบาลมีมาตรการคุมเข้ม ยิ่งทำให้เจ้าของกิจการร้านค้าหลายรายต้องปิดตัวไป กู้หนี้ยืมสินมาแต่ไม่สามารถทำธุรกิจต่อได้ บางคนถึงขั้นถูกยึดทรัพย์ และยิ่งเมื่อเผชิญปัญหาเงินเฟ้ออย่างหนักและการเปิดให้ทุนจีนเข้ามาทำธุรกิจยิ่งตอกย้ำความย่ำแย่ของเศรษฐกิจลาว

โจเซฟ อักคะละวง นักเคลื่อนไหวและผู้ลี้ภัยทางการเมืองชาวลาว

ประเทศลาวปฏิรูปเศรษฐกิจขนานใหญ่ โดยเปลี่ยนผ่านจากระบบวางแผนจากส่วนกลาง มาเป็นระบบตลาดในช่วงทศวรรษ 1990 แม้ลาวจะอุดมสมบูรณ์ด้วยทรัพยากรธรรมชาติ แต่การพัฒนาเศรษฐกิจก็มีข้อจำกัดสำคัญคือ การเป็นประเทศปิดไม่ติดทะเล (land-locked economy) ทำให้ต้องพึ่งพิงประเทศเพื่อนบ้าน โดยเฉพาะจีนและไทยในด้านการค้าและการลงทุนค่อนข้างมาก เมื่อสถานการณ์ทางเศรษฐกิจเป็นเช่นนี้ ภาวะเงินเฟ้อของลาวก็ยิ่งทำให้คุณภาพชีวิตของคนลาวแย่ลง

สุภลักษณ์ กาญจนขุนดีฉายภาพสถานการณ์ของลาวกับจีนไว้ในบทความ ‘วิกฤตเศรษฐกิจลาวท่ามกลางการแข่งขันภูมิรัฐศาสตร์โลก’ ว่า “รัฐบาลของพรรคประชาชนปฏิวัติลาวมุ่งหวังจะใช้การคมนาคมทางบกทั้งระบบรางและถนน เพื่อเปลี่ยนสภาพ land-locked ให้เป็น land link ประสานสมทบกับยุทธศาสตร์การเป็นแบตเตอรีแห่งเอเชีย ทำให้ลาวต้องลงทุนทางด้านโครงสร้างพื้นฐานจำนวนมากนับแต่ปลายศตวรรษที่ 20 เป็นต้นมา ส่งผลให้หนี้สินพอกพูนมากขึ้นเป็นลำดับ” บทความนี้อธิบายต่อว่า ลาวเองก็ไม่มีทางเลือกในการพัฒนามากนัก และการเชื่อมโยงการพัฒนาเข้ากับจีนก็ดูเหมือนจะเป็นทางเดียวที่ทำให้ลาวพัฒนาได้รวดเร็ว รวมถึงในแง่การเมืองเองที่พรรคประชาชนปฏิวัติลาวก็ต้องการความชอบธรรมจากผลงานจากการพัฒนาดังกล่าวในการอยู่ในอำนาจได้อย่างต่อเนื่อง

“ทุกวันนี้คนลาวอาจจะพออยู่ได้ แต่ก็อยู่ด้วยความยากลำบากที่สุด บรรดากรรมกรหรือมนุษย์เงินเดือน ถ้าได้กินหมี่กับไข่ก็ถือว่าเป็นอาหารที่เข้าถึงได้ยากแล้ว สวนทางกันกับบรรดาคนรวยที่รวยขึ้นแบบน่าเหลือเชื่อ” โจเซฟฉายภาพในมุมของประชาชน

ด้วยภาวะที่บีบรัดอึดอัดเช่นนี้ ผสมกับการเมืองเพื่อนบ้านที่คึกคักและดู ‘มีความหวัง’ ก็ทำให้คนรุ่นใหม่ในลาวตื่นตัวทางการเมืองมากขึ้น

“ที่จริงคนลาวสนใจการเมืองไทยระยะหนึ่งแล้ว นับตั้งแต่สมัยก่อตั้งพรรคอนาคตใหม่ ตอนนั้นเพื่อนเราหลายคนก็จะพูดถึงแต่ธนาธร (จึงรุ่งเรืองกิจ) ยิ่งเจนฯ วัยรุ่นปัจจุบันนี้ กระแสของพรรคก้าวไกลและคุณทิม (พิธา ลิ้มเจริญรัตน์) ก็แรงมาก คนลาวไม่ได้ชอบพิธาเพราะหล่อนะ แต่เขาดูวิธีคิด วิธีนำเสนอ เรื่องภาพลักษณ์ก็มีส่วน แต่หลักๆ คือเห็นว่าเขาฉลาด ฟังแล้วดูมีอนาคต เข้าใจง่าย ไม่ใช่ว่าคนลาวชอบที่ความหล่อเฉยๆ หรือแม้แต่คนรุ่นใหม่ในไทยก็อาจไม่ได้ชอบแค่ที่ความหล่อ

“คนลาวสนใจ เขาลุ้น เขาตาม บวกกับคนหนุ่มคนสาวทุกวันนี้เล่นติ๊กต็อก เขาดูทุกวัน เขาเข้าใจ แล้วก็ฝันอยากเห็นสังคมลาวแบบอื่น” โจเซฟเล่าถึงความนิยมของกระแสพรรคก้าวไกลในลาว เขาขยายความต่อว่ากระแสเลือกตั้งที่คึกคักในไทย ส่งผลให้คนลาวมีข้อเสนอที่ไม่เคยมีมาก่อน คืออยากประท้วงและอยากมีหลายพรรคการเมือง

“ไม่มียุคสมัยไหนที่ประชาชนลาวจะมีข้อเสนอว่าอยากประท้วงและเสนอถึงขั้นว่าอยากมีหลายพรรคการเมือง ซึ่งข้อเสนอสองข้อนี้เป็นข้อห้ามเด็ดขาดในสังคมลาว ประท้วงไม่ได้เด็ดขาด เสนอให้มีหลายพรรคการเมืองยิ่งไม่ได้เด็ดขาด เพราะรัฐเขาไม่ยอม” โจเซฟย้ำ

เขาเล่าต่อว่านี่เป็นช่วงเวลาที่พอเหมาะพอดีทั้งจากกระแสนอกประเทศ และความนิยมรัฐบาลในประเทศลาวที่ลดลงพร้อมกันด้วย

“ถ้าพูดเรื่องการเมืองในประเทศลาว รัฐบาลอยู่ในภาวะขาลง ไม่มียุคสมัยใดที่ความศรัทธาและความเชื่อมั่นต่อพรรคกับรัฐจะเสื่อมขนาดนี้ อาจเป็นเพราะเทคโนโลยีด้วย ที่สามารถเผยแพร่เรื่องต่างๆ ของรัฐบาลในการบริหารประเทศที่ล้มเหลว เห็นการคอร์รัปชัน หรือการใช้เส้นสาย”

ทั้งนี้แม้จะมีความไม่พอใจในหมู่ผู้คน แต่รัฐบาลลาวก็พยายามอย่างยิ่งที่จะปราบปรามประชาชน “เขาพยายามปราบปรามเต็มที่เพื่อไม่ให้ประชาชนวิพากษ์วิจารณ์ รัฐบาลลาวกลัวมากที่ประชาชนวิพากษ์วิจารณ์เขา เขาคิดว่าเขาเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ประชาชนแตะต้องไม่ได้ นี่เป็นปัญหาการเมืองที่หนัก ยิ่งรัฐบาลบริหารล้มเหลวเท่าไหร่ รัฐบาลก็ยิ่งจำกัดสิทธิและเสรีภาพของประชาชนมากขึ้นเท่านั้น” โจเซฟกล่าว

กระแสความไม่พอใจรัฐบาลบวกกับกระแสชัยชนะของฝ่ายประชาธิปไตยในไทย ส่งผลกระเพื่อมอย่างมากในสังคมลาว เมื่อบุคคลมีชื่อเสียงในลาวที่แต่เดิมแทบไม่เคยพูดเรื่องการเมืองก็ยังออกมาแสดงความคิดเห็นในช่วงนี้

“ปกติพวกเซเลบฯ ไฮโซในลาว เขาจะไม่สนใจเรื่องสังคมการเมือง แต่ก็เริ่มเห็นเหล่าเซเลบฯ คนมีฐานะ เริ่มพูดว่า ‘ดูประเทศเพื่อนบ้านสิ ชอบใครก็เลือกได้ ถ้ามีแบบนี้ที่ประเทศลาวคงดี’ สิ่งนี้สะท้อนว่าพวกเขาเองก็เริ่มโดนผลกระทบทางเศรษฐกิจด้วย แล้วคนก็เริ่มอึดอัด พูดอะไรก็ไม่ได้ แต่ละวันเห็นข่าว รัฐเรียกเอาคนนั้นคนนี้ไปแล้ว เห็นแบบนี้ตลอด”

แน่นอนว่าความคิดในสังคมย่อมไม่ไปในทางเดียวกันทั้งหมด เพราะยังมีคนลาวบางส่วนที่ชื่นชมการทำงานของรัฐบาลอยู่ โจเซฟอธิบายว่าเป็นเพราะการปลูกฝังความคิดมาอย่างยาวนาน

“คนลาวจำนวนหนึ่งก็ยังคิดว่ารัฐบาลบริหารประเทศดีที่สุดแล้ว เมื่อเศรษฐกิจแย่ เขาอาจจะโทษสงครามรัสเซีย-ยูเครน โทษโควิด โทษอเมริกา ทุกเรื่องในลาวโทษอเมริกาหมด คนพวกนี้เขาโตมากับการโฆษณาชวนเชื่อของรัฐบาลลาว ผ่านระบบการศึกษาและสื่อใส่ในสมองมาตลอด แต่คนจำนวนมากที่เป็นคนหนุ่มสาวและคนที่มีความคิดแบบก้าวหน้า เขาก็รู้ปัญหา เขาก็ฝันอยากเห็นการเปลี่ยนแปลงของสังคมลาว”

คำว่า ‘ฝันอยากเห็นการเปลี่ยนแปลง’ นั้น เกิดขึ้นหลายพื้นที่ทั่วโลกตลอดประวัติศาสตร์ต่อสู้ทางการเมืองของประชาชน และยิ่งเป็นกระแสสูงในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมาจากหลายแห่งในเอเชีย เช่น ฮ่องกง ไทย และพม่า เมื่อการเคลื่อนไหวทางการเมืองของคนรุ่นใหม่ลุกฮือขึ้นในช่วงเวลาใกล้เคียงกัน ทำให้ในโซเชียลฯ มีการพูดกันเล่นๆ ว่านี่อาจส่งผลกระทบเป็น ‘อาเซียนสปริง’ ทำให้เกิดประชาธิปไตยในประเทศกลุ่มอาเซียนได้ และคำนี้ถูกนำกลับมาใช้อีกครั้งช่วงหลังเลือกตั้งของไทยที่ชัยชนะเป็นของพรรคก้าวไกลและประเทศไทยมีแคนดิเดตนายกฯ ชื่อพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ แต่สิ่งที่น่าสนใจก็คือในประเทศลาว แม้จะมีปัญหาหลายด้านทั้งเศรษฐกิจและการคุกคามสิทธิเสรีภาพ แต่คนรุ่นใหม่ในลาวก็ยังทำได้เพียง ‘เคลื่อนไหว’ ในอินเทอร์เน็ต หรือคุยกันเองในหมู่เพื่อนเท่านั้น

โจเซฟอธิบายว่า ประเทศลาวถูกกดทับมานาน แม้แต่ในรั้วมหาวิทยาลัยก็ยังไม่มีเสรีภาพเท่าที่ควรจะเป็น “แม้แต่เรื่องรัสเซีย-ยูเครน อาจารย์ยังไม่ให้โพสต์เฟซบุ๊กถึงเลย” และยกตัวอย่างว่าอาจารย์ในมหาวิทยาลัยส่วนมากเป็นคนของพรรคฯ ในลาวแทบไม่มีปัญญาชนในแต่ละสาขาวิชาที่พอจะเป็นผู้นำทางความคิดได้ “แตกต่างจากไทยที่ในสาขาทางนิติศาสตร์ยังมีอาจารย์วรเจตน์ ภาคีรัตน์ หรืออย่างทางรัฐศาสตร์ยังมีอาจารย์เกษียร เตชะพีระ หรืออาจารย์ประจักษ์ ก้องกีรติ ที่ออกมาให้ความเห็น สอนนักศึกษา และผลิตงานวิชาการเป็นแนวทางให้สังคม” โจเซฟกล่าว และเมื่อถูกถามถึงขบวนการเคลื่อนไหวทางการเมืองของคนหนุ่มสาวในลาวว่ามีโอกาสเป็นไปได้ไหม โจเซฟตอบเร็วว่า “ยาก”

เขาขยายความว่า “เราอาจเห็นคนลาวนัดกันตลอดว่าออกไปไหมๆ ประมาณว่าพูดเป็นเชิงสัญลักษณ์ อยากให้มีคนมานำขบวน แต่ก็ยังไม่มีการลงถนนจริงๆ ถ้าจะมีการประท้วงก็เป็นในลักษณะที่เกิดเหตุการณ์เจ้าหน้าที่รัฐใช้อำนาจบางอย่างที่กระทบต่อครอบครัวเขา เขาก็ออกมาไลฟ์ในเฟซบุ๊กประณามการกระทำของเจ้าหน้าที่ แต่ประเทศลาวยังไม่ถึงขั้นที่จะออกมาได้ เพราะไม่มีการจัดตั้งที่เป็นระบบ และไม่มีแกนนำที่มีอิทธิพลพอที่จะพาคนออกมาได้ เราอยู่ในการจำกัดเสรีภาพแบบเข้มงวด ทุกคนก็กลัวหมด” โจเซฟกล่าวสรุป

ภาวะการหวาดกลัวรัฐหรือ ‘ไม่อยากยุ่ง’ กับเรื่องการเมืองของคนลาวนั้นสะท้อนให้เห็นผ่านคำพูดของคนหนุ่มสาวจำนวนหนึ่ง แต่ขณะเดียวกันเมื่อพูดถึงการเมืองไทย พวกเขากลับสนุกและยินดีที่จะพูดถึง ที่หลวงพระบางมีหนุ่มวัย 20 ปีแสดงความคิดเห็นถึงการเมืองไทยว่า “ดูแล้วมีความหวัง ผมเองก็อยากมีหลายพรรคการเมืองให้เลือกแบบนี้บ้าง ผมชอบก้าวไกล ตามดูตลอด แต่ไม่รู้ว่าลุงตู่จะอยู่ต่อไหม” ประโยคนี้ เขาพูดก่อนที่ประยุทธ์จะประกาศวางมือทางการเมือง แต่ก็แสดงให้เห็นว่าคนลาวตามการเมืองไทยอย่างคนรู้จริง

เมื่อถามถึงความเห็นต่อรัฐบาลลาว เขานิ่งไปครู่หนึ่ง ก่อนบอกว่า “การเมืองลาวพูดอะไรไม่ได้ คนเขารู้กันหมดแหละว่าไม่ดี แต่ทำอะไรไม่ได้” และเมื่อถามถึงขบวนการเคลื่อนไหวทางการเมืองในลาวก็ยิ่งเหมือนเดินเข้าสู่ทางตัน “ยากมาก ไม่มีคนนำ เราลงไปต่อสู้ก็อาจตายได้ ตอนนี้คิดแค่ว่าจะเอาชีวิตตัวเองอย่างไรให้รอดกับรายได้แบบนี้”

จากการสอบถาม รายได้ของคนลาวในฐานะลูกจ้างอยู่ในระดับประมาณ 2,000-6,000 บาทต่อเดือน ในขณะที่ราคาข้าวของถีบตัวสูงขึ้นตามอัตราเงินเฟ้อ ทำให้คนหนุ่มสาวจำนวนมากมีความตั้งใจจะมาทำงานที่ประเทศไทยสักระยะหนึ่งเพื่อเก็บเงิน ถึงที่สุดแล้ว การเมืองไทยจึงส่งผลต่อพวกเขาไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง ในฐานะประเทศเพื่อนบ้านที่ใกล้ชิดและเป็นประเทศคู่ค้าอันดับหนึ่ง

ตัดกลับมาที่ปัจจุบัน แม้คนลาวกับคนไทยจะเห็นตรงกันว่าชัยชนะของพรรคก้าวไกล รวมถึงชัยชนะของฝ่ายที่ถูกเรียกว่าประชาธิปไตยถือเป็นความหวังของการเมืองไทยและสะเทือนถึงความหวังของคนลาวด้วย แต่ในความเป็นจริง ประเทศไทยยังติดอยู่ใน ‘รัฐพันลึก’ ที่มีหน่วยงาน องค์กร และเครือข่ายจำนวนมากคอยควบคุมประเทศอยู่ การเลือกตั้งเป็นเพียงหนึ่งด่าน หรือบางคนถึงกับเรียกว่าเป็นละครฉากหนึ่งเท่านั้น

สิ่งเหล่านี้สะท้อนให้เห็นชัด เมื่อ ‘พิธา ลิ้มเจริญรัตน์’ แคนดิเดตนายกรัฐมนตรีที่ชนะการเลือกตั้งถูก ส.ว. ที่แต่งตั้งโดย คสช. ปฏิเสธไม่ให้รับตำแหน่ง ผ่านการโหวต ‘ไม่เห็นชอบ’ และ ‘งดออกเสียง’ ในสภาฯ และถูกปลิดให้ออกจากเส้นทางการเป็นนายกรัฐมนตรี ด้วยการปิดประตูโหวตนายกฯ รอบสอง จากการลงคะแนนในสภาฯ ว่าไม่ให้เสนอญัตติซ้ำ ทั้งที่นักวิชาการเห็นตรงกันว่าการตัดสินเช่นนี้ขัดต่อรัฐธรรมนูญ ยังไม่นับว่าพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ถูกศาลรัฐธรรมนูญสั่งให้หยุดปฏิบัติหน้าที่ ส.ส. ชั่วคราวจากคดีถือหุ้นสื่อไอทีวี จนต้องเดินออกจากสภาฯ ในวันโหวตเลือกนายกฯ ด้วย (19 ก.ค. 2566)

ต่อเหตุการณ์นี้ ไม่ใช่แค่คนไทยที่ ‘รู้สึก’ แต่คนลาวจำนวนมากที่ติดตามข่าวคราวอยู่ก็ ‘รู้สึก’ เช่นกัน หลังมีภาพพิธาเดินออกจากสภาฯ โจเซฟ อักคะละวง โพสต์เฟซบุ๊กเป็นภาษาลาวว่า ‘คนละ 1 กำลังใจจากประชาชนลาวให้อ้ายพิธา’ พร้อมแท็กเพจ Pita Limjaroenrat-พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ด้วย โดยมีคนลาวมาคอมเมนต์จำนวนมาก มีทั้งให้กำลังใจและแสดงความเสียใจ เช่น สู้ต่อไป (ใส่อีโมจิหัวใจสีส้ม), ฮักที่สุด เจ้าเก่งที่สุดแล้วเด้อ, ได้เห็นหน้าอ้ายครั้งเดียวก็ฮักเลย ไม่รู้มีใครบอกอ้ายหรือยัง, ยิ่งฟังการเมืองไทย ยิ่งหัวร้อน, ขนาดไทยเขาสู้ขนาดนั้นยังไม่ได้ อยู่ในใจเป็นหมื่นล้านคำ, พิธาควรมีสองคน คนหนึ่งมาอยู่ลาว, อีก 4 ปีเจอกันใหม่นะคะแด๊ดดี้ ก้าวไกลทั้งใจ, มาบริหารประเทศลาวแทนได้ไหม ถ้าทางนั้นมันเป็นยากน่ะ, เผด็จการไม่ว่าจะอยู่ประเทศไหนก็ขอให้จงพังพินาศ เป็นต้น

แม้การจัดตั้งรัฐบาลและเลือกนายกรัฐมนตรีไทยจะยังมีหนทางต่อในสภาฯ แต่บนท้องถนนและโลกโซเชียลฯ ก็มีผู้คนออกมาส่งเสียงเรียกร้องให้เสียงจากประชาชนมีความหมายและอยากให้ประชาชนเป็นเจ้าของประเทศอย่างแท้จริง – ไม่ควรมีอำนาจใดใหญ่กว่าประชาชน

การพูดเรื่อง ‘อาเซียนสปริง’ อาจถูกดูแคลนว่าจบลงตั้งแต่ยังไม่เริ่มต้น แต่ตราบใดที่ความฝันความหวังของคนยังถูกเหยียบย่ำ ยิ่งโดยเฉพาะคนหนุ่มสาวที่ต้องเติบโตในโลกนี้ต่อไป เสียงแห่งความโกรธเคืองก็จะยังดังก้อง และจะยิ่งดังต่อเรื่อยๆ

เมื่อวันที่ประชาชนเป็นเจ้าของอำนาจอย่างแท้จริงยังมาไม่ถึง สายลมแห่งการเปลี่ยนแปลงจะค่อยๆ พัดต่อเนื่อง รอวันรวมกำลังเพื่อทลายแรงต้านทานของอดีตลง

MOST READ

Thai Politics

3 May 2023

แดง เหลือง ส้ม ฟ้า ชมพู: ว่าด้วยสีในงานออกแบบของพรรคการเมืองไทย  

คอลัมน์ ‘สารกันเบื่อ’ เดือนนี้ เอกศาสตร์ สรรพช่าง เขียนถึง การหยิบ ‘สี’ เข้ามาใช้สื่อสาร (หรืออาจจะไม่สื่อสาร?) ของพรรคการเมืองต่างๆ ในสนามการเมือง

เอกศาสตร์ สรรพช่าง

3 May 2023

Politics

23 Feb 2023

จากสู้บนถนน สู่คนในสภา: 4 ปีชีวิตนักการเมืองของอมรัตน์ โชคปมิตต์กุล

101 ชวนอมรัตน์สนทนาว่าด้วยข้อเรียกร้องจากนอกสภาฯ ถึงการถกเถียงในสภาฯ โจทย์การเมืองของก้าวไกลในการเลือกตั้ง บทเรียนในการทำงานการเมืองกว่า 4 ปี คอขวดของการพัฒนาสังคมไทย และบทบาทในอนาคตของเธอในการเมืองไทย

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

23 Feb 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save