fbpx

Never Again: ‘เปลี่ยนผ่าน’ ให้พ้นความรุนแรงและความยุติธรรมแบบไทยๆ – ว่าด้วยความยุติธรรมในระยะเปลี่ยนผ่านการเมือง กับ ประจักษ์ ก้องกีรติ

หากจะนิยามการเมืองไทย คงหนีไม่พ้นที่ต้องใช้คำว่า ‘วนลูป’

เกือบสองทศวรรษที่ผ่านมา การเมืองไทยติดหล่มอยู่ในวังวนความขัดแย้งบาดหมางอย่างไม่มีทางออกและไม่มีวี่แววที่จะคลี่คลาย จนตกอยู่ในสภาวะไร้เสถียรภาพและก้าวไปสู่การเป็นสังคมประชาธิปไตยไม่ได้เสียที

ที่ผ่านมา เหตุการณ์การล้อมปราบสังหารคนเสื้อแดงในปี 53 การชุมนุมประท้วงของกลุ่มกปปส. ในปี 57 หรือการใช้ทั้งความรุนแรงและกฎหมายกดปราบขบวนการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ ได้ประจักษ์ให้เห็นชัดเจนว่า ความขัดแย้งในการเมืองไทยมักจบลงด้วยความรุนแรงจากน้ำมือรัฐ ไม่ก็การก่อรัฐประหาร

แน่นอนว่านั่นไม่ใช่การยุติความขัดแย้งที่แท้จริง แต่เป็นเพียงแค่การต่อวงจรให้สังคมไทยยังอยู่ท่ามกลางความขัดแย้งที่รอวันกลับมาปะทุอีกครั้งเท่านั้น – และวนเป็นวงจรอีกครั้ง

หากจะก้าวให้พ้นวงจรอุบาทว์ ทางหนึ่งคือสังคมไทยต้องเผชิญหน้าสะสางอดีตอันเลวร้าย คืนความยุติธรรมให้แก่ผู้ที่ถูกละเมิดสิทธิ และทำให้ไม่มีอำนาจใดอยู่เหนือกฎหมายอย่างที่ ประจักษ์ ก้องกีรติ กล่าวไว้ว่า

ความยุติธรรมในระยะเปลี่ยนผ่านมันเตือนเราว่า สังคมที่ผ่านอดีตอันเลวร้ายยังเหลือมรดกหลายอย่างที่ระบอบเผด็จการทิ้งเอาไว้ เช่น หลักนิติรัฐที่ถูกทำลาย สิทธิมนุษยชนของประชาชนที่ถูกละเมิดอย่างกว้างขวาง มีเหยื่อความรุนแรงที่ถูกพรากความเป็นพลเมือง ถูกพรากศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ […] ต้องสะสางมรดกที่ระบอบเผด็จการทิ้งไว้ ถ้าไม่สะสาง สังคมมันเดินหน้าต่อไม่ได้”

ในเมื่อการเลือกตั้ง 2566 กำลังจะตัดสินชะตากรรมการเมืองไทยในอีกไม่ช้า นี่คือจังหวะสำคัญที่จะผลักดันให้ ‘ความยุติธรรมในระยะเปลี่ยนผ่าน’ เป็นหนทางในการพาการเมืองไทยไปให้พ้นวงจรความรุนแรงและความยุติธรรมแบบไทยๆ และเปลี่ยนผ่านการเมืองไปสู่ประชาธิปไตยอย่างเต็มตัว

ทำไมความยุติธรรมในระยะเปลี่ยนผ่านจึงเป็นจิ๊กซอว์ชิ้นสำคัญในช่วงเวลาหัวเลี่ยวหัวต่อของสังคมไทย 101 ชวน ประจักษ์ ก้องกีรติ อาจารย์ประจำสาขาวิชาการเมืองการปกครอง มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ สนทนาว่าด้วย การก่อร่างสร้างความยุติธรรมในช่วงเปลี่ยนผ่านทางการเมือง และโจทย์ที่สังคมไทยต้องแก้เพื่อให้ก้าวไปข้างหน้าได้อย่างแท้จริง

‘ความยุติธรรมในระยะเปลี่ยนผ่าน’ (transitional justice) ถือเป็นแนวคิดที่หลายประเทศเริ่มนำมาใช้ช่วงหลังสิ้นสุดสงครามเย็น เพราะอะไรความยุติธรรมในระยะเปลี่ยนผ่านจึงกลายเป็นแนวคิดสำคัญที่หลายสังคมนำมาใช้

จริงๆ การปฏิบัติที่เข้าข่ายความยุติธรรมในระยะเปลี่ยนผ่านเริ่มมีตั้งแต่หลังสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่สองแล้ว คือศาลพิเศษ ซึ่งเป็นกลไกตัดสินโทษผู้ที่ก่ออาชญากรรมร้ายแรงต่อพลเมือง ฆ่าพลเมืองในประเทศตนเองไปมหาศาล ไม่ว่าจะเป็นศาลทหารระหว่างประเทศที่พิจารณาคดีกลุ่มผู้นำนาซี หรือที่รู้จักกันในชื่อชุดการพิจารณาคดีที่นูเร็มเบิร์ก (Nuremberg trials) หรือศาลอาชญากรรมสงครามกรุงโตเกียว (Tokyo War Crimes Tribunal) ที่พิจารณาอาชญากรรมของผู้นำจักรวรรดิญี่ปุ่นก็ตาม แต่ตอนนั้นแนวคิดว่าด้วยความยุติธรรมในระยะเปลี่ยนผ่านยังไม่เป็นที่แพร่หลาย จนกระทั่งกลายมาเป็นแนวคิดสำคัญในระดับโลกช่วงสิ้นสุดสงครามเย็น

ที่เป็นอย่างนั้นเพราะหลังสงครามเย็นสิ้นสุด ฝ่ายเสรีนิยมประชาธิปไตยชนะในการต่อสู้ระหว่างอุดมการณ์ทางการเมืองและระบอบการเมือง ฉะนั้นอย่างหนึ่งที่ตามมาด้วยคือคุณค่าสิทธิมนุษยชน สิทธิมนุษยชนกลายเป็นคุณค่าสากลที่เผยแพร่ไปทั่วโลก ความยุติธรรมในระยะเปลี่ยนผ่านก็พยายามสถาปนาหลักความยุติธรรมที่เคารพสิทธิมนุษยชน วิธีคิดที่ว่าจะทำอย่างไรให้เหยื่อที่เคยถูกรัฐละเมิดสิทธิได้รับความยุติธรรม ได้รับการชดเชยเยียวยาก็เกี่ยวข้องกับสิทธิมนุษยชนทั้งสิ้น

อีกอย่างหนึ่งที่สำคัญคือ หลังสงครามเย็นสิ้นสุดช่วงปี 1989-1990 ตอนนั้นเราคิดว่าโลกจะเดินไปในทางบวกแล้ว เศรษฐกิจก็เจริญ ประชาธิปไตยก็แผ่ขยาย แต่ปรากฏว่าไม่เป็นแบบนั้น หลังจากนั้นกว่า 3-4 ปีเกิดการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ในรวันดา เกิดสงครามที่ใจกลางยุโรปเลย คือสงครามยูโกสลาเวีย เกิดการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวบอสเนียมุสลิมอย่างโหดเหี้ยม ซึ่งจริงๆ ยุโรปควรเป็นที่ที่หลักสิทธิมนุษยชนมั่นคงแล้ว มีคนเป็นล้านตายจากการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์สองครั้งนี้ แต่โลกได้แต่นั่งดูเฉยๆ เลยเกิดคำถามขึ้นมาว่า เราปล่อยให้ความยุติธรรม ความรุนแรงและการละเมิดสิทธิมนุษยชนระดับนี้เกิดขึ้นได้อย่างไร แล้วสังคมรวันดา สังคมบอสเนียจะเดินหน้าไปอย่างไรต่อ สังคมจะอยู่ร่วมกันอย่างไรหลังจากที่เกิดการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ เลยทำให้โจทย์ความยุติธรรมในระยะเปลี่ยนผ่านยิ่งสำคัญขึ้น

คนมักจะมองว่าเรื่องเหล่านี้เป็นเรื่องในอดีต จบไปแล้ว อาชญากรรมของระบอบนาซี สิ่งที่ฮิตเลอร์หรือสตาลินเคยก่อไว้เป็นเรื่องของอดีต คนที่ยกเรื่องพวกนี้มาพูดคือหมกมุ่นกับอดีต แต่เหตุการณ์ฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ในรวันดากับบอสเนียทำให้รู้ว่านี่คือโจทย์ของปัจจุบัน ในหลายๆ ประเทศ หรือขนาดประเทศที่เจริญแล้วในยุโรปก็ยังเกิดความรุนแรง เกิดปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชนขนานใหญ่อยู่ ฉะนั้นความยุติธรรมระยะเปลี่ยนผ่านไม่ได้เป็นไปเพื่อแก้อดีตเท่านั้น แต่เพื่อแก้ไขปัจจุบันด้วย

นั่นหมายความว่าในการสร้างความยุติธรรมในระยะเปลี่ยนผ่านต้องมีกลไกเฉพาะ ทำไมการดำเนินกระบวนการทางอาญาที่มีอยู่แล้วจึงไม่เพียงพอ

ปกติกฎหมายอาญาไม่ได้ออกแบบมาเพื่อให้รองรับอาชญากรรมทางการเมือง ไม่ว่าจะเป็นกฎหมายอาญาของประเทศไหนก็ตาม ต้องเข้าใจว่าอาชญากรรมทางการเมืองมีลักษณะพิเศษ คือความรุนแรงที่เกิดขึ้นเกี่ยวข้องกับความขัดแย้งทางการเมืองและนโยบายรัฐ อย่างนโยบายชาติพันธุ์ของนาซีเยอรมนีก็พรากความเป็นพลเมืองของคนยิว ในที่สุดก็จับคนยิวเข้าค่ายกักกันแล้วสังหารในห้องรมแก๊ส ฆ่าคนยิวไปกว่า 6 ล้านคน แต่กฎหมายอาญาไม่สามารถตัดสินให้ความยุติธรรมกับอาชญากรรมลักษณะพิเศษที่เกี่ยวพันกับการทำผิดของรัฐหรือผู้มีอำนาจทั้งระบบได้ บางทีก็เป็นกระบวนการยุติธรรมเองที่เอื้อให้รัฐใช้อำนาจได้ อย่าลืมว่าการที่รัฐฆ่าคน 6 ล้านคนได้ แสดงว่าผู้พิพากษา คนในกระบวนการยุติธรรมก็สมรู้ร่วมคิดกับรัฐ ทำให้สิ่งที่ควรผิดกฎหมายกลายเป็นถูกกฎหมายและออกมาเป็นนโยบายได้ใช่ไหม ฉะนั้น พอกระบวนการยุติธรรมมีปัญหา จะใช้กฎหมายที่มีอยู่แก้ไขปัญหาก็คงไม่เพียงพอ อีกทั้งกฎหมายอาญาส่วนใหญ่จะดำเนินคดีเป็นรายบุคคล อย่างมากก็ดำเนินคดีกับเจ้าหน้าที่รัฐไม่กี่คน ไม่สามารถจัดการอาชญากรรมที่ก่อโดยรัฐหรือเป็นผลจากนโยบายของรัฐ ถ้าทั้งระบบเป็นต้นเหตุของความรุนแรง ลำพังกฎหมายอาญาที่มีอยู่ไม่เพียงพอนะครับ

เวลาเราพูดถึงความยุติธรรมในระยะเปลี่ยนผ่าน มันไม่ใช่แค่ความยุติธรรมในแง่ที่ว่าจับคนกระทำผิดมาดำเนินคดีเท่านั้น แต่ยังหมายถึงความยุติธรรมในความหมายกว้างด้วยคือ จะฟื้นคืนศักดิ์ศรีให้เหยื่ออย่างไร หรือจะชดเชยสิ่งที่เหยื่อเสียไปอย่างไร การคืนความยุติธรรมจะเกี่ยวพันกับกระบวนการหลายส่วน เช่น การขอโทษต่อสาธารณะจากฝ่ายรัฐที่กระทำผิด (public apology) การชดเชยเยียวยา ไม่ว่าจะด้วยเงินหรือในรูปแบบอื่นๆ เช่น การคืนความจริงให้กับครอบครัวเหยื่อ อย่างสมมติว่าในช่วงที่รัฐปกครองด้วยระบอบเผด็จการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างรุนแรง ครอบครัวเหยื่อถูกลักพาตัวไป อย่างน้อยเหยื่อควรได้รู้ความจริงว่าครอบครัวถูกลักพาตัวไปไหน นี่ก็เป็นการคืนความยุติธรรมแบบหนึ่ง

ต้องมีกลไกอะไรบ้างเพื่อคืนความยุติธรรมให้แก่ผู้ที่เป็นเหยื่อของรัฐและสร้างความยุติธรรมในระยะเปลี่ยนผ่านให้เกิดขึ้นจริง

หลักๆ ที่ทั่วโลกใช้มีอยู่ 5 กลไก ว่าง่ายๆ คือ กลไกเหล่านี้พยายามคืนความยุติธรรมในกรอบที่กว้างและหลากหลายกว่าเดิม

อย่างแรกคือ การสืบสวนสอบสวน ดำเนินคดี และลงโทษผู้ที่มีส่วนกระทำผิด จะใช้ศาลภายในประเทศก็ได้ หรือบางทีถ้าศาลภายในประเทศไม่เพียงพอจะดำเนินคดีได้ ก็อาจจะต้องตั้งศาลระหว่างประเทศเป็นกรณีพิเศษขึ้นมาช่วย อย่างกรณีรวันดา ยูโกสลาเวีย หรือเพื่อนบ้านเราอย่างกัมพูชายุคเขมรแดง ผ่านไปหลายทศวรรษเขาถึงมาคืนความยุติธรรมให้ ก็ตั้งศาลเฉพาะขึ้นมา ซึ่งเป็นศาลที่หน่วยงานระหว่างประเทศเข้ามามีส่วนเกี่ยวข้องด้วย

อย่างที่สอง การแสวงหาความจริง ส่วนใหญ่จะทำผ่านกลไกอย่าง ‘คณะกรรมการค้นหาความจริง’ (truth commission) บางประเทศอาจไม่หยุดแค่การค้นหาข้อเท็จจริง บางประเทศอยากทำมากกว่านั้น คือต้องการหาแนวทางการปรองดองภายในชาติด้วย ก็จะเรียกว่า ‘คณะกรรมการค้นหาความจริงเพื่อการปรองดอง’ (truth and reconciliation commission) ขึ้นอยู่กับแต่ละประเทศว่าจะวางอำนาจและภารกิจของคณะกรรมการอย่างไร แต่ละประเทศก็มีโจทย์ไม่เหมือนกัน โมเดลคลาสสิกที่เรามักได้ยินบ่อยๆ คือโมเดลแอฟริกาใต้ที่ให้น้ำหนักกับกลไกแสวงหาความจริงมาก ให้อำนาจคณะกรรมการฯ เยอะมาก สามารถเรียกพยาน เจ้าหน้าที่รัฐ คู่ขัดแย้งเพื่อสืบค้นข้อเท็จจริงให้ได้ว่า เกิดอะไรขึ้น อะไรคือสาเหตุของความรุนแรง ใครมีส่วนร่วมต่อการกระทำผิด ฯลฯ

อย่างที่สาม การชดเชยเยียวยา โดยอาจชดเชยเยียวยาผ่านกฎหมายหรือคำสั่งของรัฐบาล เพราะพอสังคมปกครองด้วยระบอบเผด็จการและเกิดอาชญากรรมแห่งรัฐ เหยื่อจำนวนมากถูกละเมิดสิทธิ มีคนเสียชีวิต มีคนต้องโทษจำคุกอย่างไม่เป็นธรรม เช่น ต้องโทษจำคุก 30 ปี โดยมีแค่ฐานความผิดเดียวคือแสดงความเห็นต่างจากรัฐ พอระบอบการเมืองเปลี่ยนผ่านไปสู่ประชาธิปไตย คำถามคือรัฐจะคืนความยุติธรรมให้คนเหล่านี้อย่างไร แน่นอนว่ามันไม่ใช่แค่การแสวงหาความจริง แต่เราจะชดเชยเวลาที่เหยื่อเสียไป 30 ปีอย่างไร เสียทั้งรายได้ บางคนเสียครอบครัวไปเลย พอพ้นโทษออกมาก็ถูกสังคมตีตรา หางานทำก็ยาก เพราะฉะนั้น รัฐต้องช่วยเหลือเยียวยาเพื่อให้เหยื่อกลับมาใช้ชีวิตในสังคมได้อีกครั้ง โดยการชดเชยเป็นได้ทั้งสิ่งของเงินทองหรือที่ไม่ใช่สิ่งของเงินทอง เช่น แค่รัฐออกมายอมรับและขอโทษที่มีส่วนรับผิดชอบอาชญากรรม หรือพอรัฐบาลใหม่ขึ้นมามีอำนาจก็ออกมายอมรับและขอโทษแทนผู้นำในอดีต แม้จะไม่ได้มีส่วนก่อความรุนแรงก็ตาม จะเห็นว่าหลายประเทศก็ทำแล้วประสบความสำเร็จ อย่างเกาหลีใต้ หลังจากเหตุการณ์สังหารหมู่กวางจูที่รัฐเผด็จการทหารยุคนั้นฆ่าประชาชน ผู้นำรัฐบาลประชาธิปไตยที่มาจากการเลือกตั้งก็ไปร่วมพิธีกรรมรำลึกและกล่าวคำขอโทษทุกปี

อีกกลไกที่มักไม่ค่อยนึกถึงกัน แต่ว่าเป็นกลไกสำคัญคือ การปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมและหน่วยงานความมั่นคง แน่นอนว่าผู้นำเผด็จการปกครองคนเดียวไม่ได้ ต่อให้เป็นผู้นำเผด็จการบ้าอำนาจขนาดไหน ไม่ว่าจะเป็นฮิตเลอร์ กัดดาฟี สตาลินก็ต้องมีแขนขาในการปกครอง อย่างหนึ่งคือศาลที่ตีความกฎหมายรองรับการใช้อำนาจรัฐอย่างบิดเบือน มีส่วนให้นโยบายหรือกฎหมายที่ละเมิดสิทธิผ่านออกมาได้ อีกแขนขาหนึ่งคือ หน่วยงานรัฐด้านความมั่นคง เพราะเป็นกลไกหลักในการใช้กำลังและความรุนแรงในการปราบปราม พอประชาชนออกมาชุมนุมประท้วงก็สั่งให้ตำรวจหรือทหารปราบ ละเมิดสิทธิมนุษยชน หลายครั้งก็เกินเลยไปถึงขั้นสังหาร ฉะนั้น โจทย์สำคัญที่ไม่คิดไม่ได้เลยคือ การปฏิรูปหน่วยงานความมั่นคง ต้องทำให้กลไกทหารตำรวจเข้าใจหลักสิทธิมนุษยชนมากขึ้น เพื่อที่จะได้เป็นส่วนหนึ่งของสังคมประชาธิปไตย ไม่ใช่กลไกที่ยังคงรับใช้อำนาจเผด็จการอยู่

อีกอย่างหนึ่งที่เคยได้ยินคือนิรโทษกรรม ซึ่งเป็นกลไกที่ต้องระมัดระวังอย่างมากถ้าจะนำมาใช้

นิรโทษกรรมเป็นกลไกที่มีปัญหาที่สุดในบรรดากลไกทั้งหมด ไม่มีใครปฏิเสธว่าทุกคนต้องการรู้ความจริง ไม่มีใครปฏิเสธการเยียวยาชดเชยความเสียหายให้เหยื่อ ผมว่าสังคมส่วนใหญ่ยอมรับร่วมกัน แต่กลไกการนิรโทษกรรม ถ้าไม่คิดออกแบบกระบวนการให้รอบคอบถี่ถ้วน ทำไม่ดี บางครั้งก็อาจจะนำไปสู่ความขัดแย้งครั้งใหม่ พูดง่ายๆ ปัญหารูปธรรมของกลไกนิรโทษกรรมคือ ควรนิรโทษกรรมให้ใครบ้าง

นิรโทษกรรมคือการยกเว้นความผิด แนวคิดคือมองว่าความขัดแย้งรุนแรงที่เพิ่งเกิดขึ้นในสังคมเกิดจากความขัดแย้งทางการเมือง ส่วนผู้ที่มีส่วนร่วมก่อความรุนแรงไม่ได้เป็นอาชญากร ไม่ได้ใช้ความรุนแรงเพื่อความสะใจ เพื่อความสนุก หรือเพื่อปล้นชิงทรัพย์เท่านั้น แต่เป็นเพราะความขัดแย้งทางการเมือง เพราะฉะนั้น ถ้าจะดำเนินคดีต่อ คำถามคือจะดำเนินคดีอย่างไรและกับใครบ้าง เพราะถ้าสืบสวนเพื่อหาคนผิดมาลงโทษให้ได้ทั้งหมด ก็อาจจะไม่จบสิ้น อย่างในระบอบนาซี คนที่มีส่วนในการก่ออาชญากรรมจริงๆ ไม่ได้มีแค่ฮิตเลอร์หรือผู้นำระดับสูง จริงๆ ยังมีเจ้าหน้าที่ระดับปฏิบัติการจำนวนมากที่เข้าไปมีส่วนร่วม รวันดาก็เช่นกัน แต่ถ้าจะดำเนินคดีทั้งหมด อาจต้องดำเนินคดีเป็นหลักหมื่น หรือฝ่ายต่อต้านรัฐ บางคนที่โดนคดีจากการเคลื่อนไหวประท้วง แล้วข้อหาก็ยังติดตัวหลังรัฐบาลเปลี่ยนผ่านสู่ประชาธิปไตย คำถามคือควรจะดำเนินคดีคนเหล่านี้ต่อไปหรือไม่ ทั้งๆ ที่ข้อหาที่ถูกตั้งคือการกลั่นแกล้งทางการเมือง เพราะฉะนั้น สุดท้ายก็ต้องมีการนิรโทษกรรม ยกเว้นความผิดให้กับคนจำนวนหนึ่ง แต่ใครบ้างที่จะเข้าข่ายได้รับการนิรโทษกรรม

ต้องบอกว่ารูปแบบการนิรโทษกรรมที่มีปัญหาที่สุดก็คือ การนิรโทษกรรมแบบเหมาเข่ง (blanket amnesty) หมายความว่าไม่ต้องมีการพิจารณาความผิดเลย พูดง่ายๆ คือยกโทษให้กับทุกคน เหมือนว่าไม่เคยมีอะไรเกิดขึ้น ที่การนิรโทษกรรมแบบเหมาเข่งไม่ใช่ทางเลือกที่ดีเพราะสังคมไม่ได้เรียนรู้อะไร ไม่มีการสรุปบทเรียน ปล่อยเบลอๆ เหมือนว่าที่ผ่านมาที่มีคนต้องเสียชีวิต มีคนโดนโทษจำคุกไม่เป็นธรรม ไม่ต้องมีใครรับผิดรับชอบ พอทุกอย่างเบลอๆ ไม่ชัด ความจริงกับความเท็จแยกไม่ออก เราไม่อาจแยกเหยื่อกับผู้กระทำผิดได้ ถ้าอย่างนั้นก็ไม่มีประโยชน์อะไร แล้วประวัติศาสตร์ก็อาจซ้ำรอยได้อีก เพราะเหมือนเราหลงลืม ไม่ได้ผ่านกระบวนการสร้างความทรงจำร่วมใหม่ สุดท้ายก็กลายเป็นการผลิตซ้ำวัฒนธรรมลอยนวลพ้นผิด

ฉะนั้น จะต้องแยกแยะว่าจะนิรโทษกรรมหรือไม่นิรโทษกรรมใครบ้าง อย่างน้อยต้องมีเกณฑ์ที่ใช้แยก เกณฑ์หนึ่งที่ใช้กันคือ ให้ระดับผู้นำที่มีส่วนในการออกคำสั่งหรือวางนโยบายที่นำไปสู่การใช้ความรุนแรงและการละเมิดสิทธิของประชาชนอย่างกว้างขวางไม่เข้าข่ายที่ได้รับนิรโทษกรรม เราคงไม่อยากนิรโทษให้ฮิตเลอร์ พอลพต ผู้นำเขมรแดง หรือผู้นำฮูตูที่รู้ว่าคำสั่งที่ตัวเองสั่งจะนำไปสู่อะไร แต่ก็ยังสั่งเพราะต้องการรักษาอำนาจ เราคงไม่ต้องการให้ผู้นำเหล่านี้อยู่ดีๆ สามารถลอยนวลพ้นผิดไปได้

หลังจากที่เกิดความยุติธรรมในระยะเปลี่ยนผ่านในสังคม การชำระประวัติศาสตร์และรื้อสร้างความทรงจำร่วมของสังคมใหม่ก็น่าจะเป็นอีกอย่างที่สำคัญและต้องทำ

แต่ก็ไม่ง่ายนะ เพราะส่วนใหญ่ในยุคเผด็จการ ความทรงจำมันถูกบิดเบือนบ้าง ถูกดัดแปลงบ้าง รัฐพยายามเข้าไปครอบงำความเข้าใจอดีตของคนในสังคม ก็เหมือนกับที่จอร์จ ออร์เวลกล่าวว่า ใครมีอำนาจ ก็สามารถควบคุมอดีตได้ และยิ่งควบคุมอดีตได้ ก็ยิ่งรักษาอำนาจได้ 

พอสังคมเปลี่ยนผ่านไปสู่ประชาธิปไตย การรื้อฟื้นความทรงจำหรือการสร้างความเข้าใจต่อสังคมว่าประวัติศาสตร์ที่แท้จริงคือแบบไหน อะไรคือความจริงของสังคมจะเป็นกระบวนการที่เจ็บปวดพอสมควร ยิ่งหลายเรื่องเป็นประวัติศาสตร์บาดแผล ไปขุดขึ้นมาก็อาจจะทำให้เกิดความขัดแย้งในสังคมได้ เพราะคนจำนวนหนึ่งในสังคมถูกปลูกฝังให้เชื่อไปแล้วว่าประวัติศาสตร์ที่เชื่อมาตลอดเป็นความจริง ทั้งที่อาจจะไม่จริง

การรื้อสร้างประวัติศาสตร์เป็นเรื่องที่ไม่ง่าย แต่ก็ต้องทำ จริงๆ ก็เป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการแสวงหาความจริง แม้แต่สังคมที่ยังไม่ได้มีกระบวนการเหล่านี้ก็มีการเรียกร้อง อย่างเช่นในสหรัฐอเมริกา มีการถกเถียงกันจนถึงขั้นว่าต้องเขียนประวัติศาสตร์ชาติอเมริกาใหม่หมด เพราะจริงๆ แล้วชาติอเมริกามีประวัติศาสตร์ที่ขมขื่น คือเกิดจากการยึดดินแดนจากชนพื้นเมือง ไม่ใช่ดินแดนว่างเปล่า เกิดจากการกดขี่ชนพื้นเมืองและทาสผิวดำ นี่คือความจริงที่สังคมต้องเผชิญหน้าแม้ว่าจะเจ็บปวด แล้วต้องนำไปสู่การสร้างความทรงจำร่วมใหม่ที่ไม่ได้อยู่บนมายาคติหรือประวัติศาสตร์เท็จๆ และเขียนถึงความเป็นจริงของสังคมทั้งหมดจะทำให้สังคมเดินหน้าต่อไปได้

ในช่วงต้น กระบวนการสร้างความทรงจำร่วมใหม่เป็นเรื่องที่เจ็บปวด แต่ถ้าประวัติศาสตร์ที่ประกอบสร้างขึ้นมาใหม่กลายเป็นความทรงจำร่วมใหม่ที่ทุกฝ่ายยอมรับได้จริงก็จะดีกับสังคมในระยะยาว หลายสังคมในโลกเคยผ่านช่วงเวลาแบบนี้มาในอดีต จนถึงทุกวันนี้ที่รอยร้าวในสังคมสมานดีขึ้น อย่างออสเตรเลียที่มีประวัติศาสตร์อันขมขื่นต่อชนพื้นเมือง ก็ผ่านกระบวนการคืนความยุติธรรมให้แก่ชนพื้นเมือง ผ่านกระบวนการเขียนประวัติศาสตร์ใหม่ให้ชนพื้นเมืองมีตัวตน ยอมรับว่าอำนาจรัฐเคยละเมิดชนพื้นเมืองอย่างไรบ้าง เร็วๆ นี้ก็มีข่าวว่าจะให้มีการลงประชามติเพื่อรับรองสิทธิชนพื้นเมือง

เราจำเป็นต้องหยิบมาใช้ให้ครบทุกกลไกหรือไม่

สุดท้ายก็ขึ้นอยู่กับความพร้อมของแต่ละสังคมและความมุ่งมั่นของรัฐบาลใหม่หรือผู้นำทางการเมืองในระบบประชาธิปไตยว่า มีเจตจำนงทางการเมือง (political will) หรือไม่ ต่อให้เปลี่ยนผ่านระบอบการเมืองไปสู่ประชาธิปไตยแล้ว แต่รัฐบาลประชาธิปไตยไม่ได้มุ่งมั่น ไม่เห็นความสำคัญในการสร้างความยุติธรรมในระยะเปลี่ยนผ่าน กระบวนการก็ไม่เกิด

อีกอย่างก็คือสังคมตื่นตัวมากน้อยแค่ไหน ภาคประชาสังคม สื่อ สาธารณชนพยายามเรียกร้องให้เกิดการสถาปนาความยุติธรรมในระยะเปลี่ยนผ่านมากน้อยแค่ไหน ถ้าสังคมเงียบและเพิกเฉย กลไกเหล่านี้ก็ไม่เกิด

ถ้าอย่างนั้น กลไกไหนคือกลไกที่สำคัญที่สุด ขาดไม่ได้ หากขาดไป กระบวนการสร้างความยุติธรรมในระยะเปลี่ยนผ่านก็จะไม่สำเร็จ

อย่างน้อยที่สุดต้องมีการแสวงหาความจริง สังคมควรได้รับรู้ความจริงเพื่อสรุปบทเรียนให้ได้ ฉะนั้นกลไกการแสวงหาความจริงคือเกณฑ์ขั้นต่ำ หลังจากนั้นเมื่อได้ความจริงมาแล้ว กลไกอื่นๆ จะตามมา เช่นจะนิรโทษกรรมให้ใครหรือไม่ให้ใครบ้าง ก็ต้องสืบสวนสอบสวน แยกให้ได้ก่อนว่าใครมีส่วนหรือไม่มีส่วนเกี่ยวข้องในการก่อความรุนแรง สมมติว่าถ้าเป็นแค่ผู้ประท้วงธรรมดาก็นิรโทษได้ หรือการดำเนินคดีพิพากษาก็ต้องมีข้อมูลก่อนจึงจะดำเนินคดีต่อผู้กระทำผิดและชดเชยเยียวยาเหยื่อได้ หรือจะพิจารณาได้ว่าใครบ้างที่เข้าข่ายได้รับการชดเชย ฉะนั้น ความจริงจึงเป็นพื้นฐานสำคัญของกลไกอื่นๆ เลย

คณะกรรมการแสวงหาความจริงส่วนมากมีที่มาจากไหน หรือต้องมีคุณสมบัติเฉพาะอะไรไหม

การสรรหานี่ยากมาก ถ้าเลือกไม่ดีตั้งแต่ต้น แต่งตั้งคนที่สังคมไม่เชื่อถือ ไม่ให้ความเคารพนับถือ กระบวนการก็ล้มเหลว หรือถ้าเป็นคู่ขัดแย้งโดยตรงนี่ยิ่งไม่ได้เลย ในหลายประเทศ จริงๆ คณะกรรมการแสวงหาความจริงก็ล้มเหลว เพราะไปตั้งคู่ขัดแย้งที่มีอคติ หรือบางทีก็ไปตั้งเจ้าหน้าที่รัฐ กลายเป็นว่าไปเหมือนกลไกราชการ ฉะนั้น โจทย์การตั้งคนในคณะกรรมการแสวงหาความจริงนั้นสำคัญมาก หลักๆ คือต้องตั้งบุคคลที่ทั้งสองฝ่ายยอมรับ สาธารณชนทั่วไปยอมรับ ต้องเป็นคนที่มีประวัติทำงานด้านสิทธิมนุษยชนมายาวนาน ชัดเจนว่าอุทิศตนเพื่อสิทธิมนุษยชน สังคมยอมรับรวมกันว่าเป็นคนที่มั่นคงในหลักสิทธิมนุษยชนและต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชน หรือบางที่ก็เป็นผู้ที่มีบารมีในทางศีลธรรมและจิตวิญญาณ อย่างกรณีแอฟริกาใต้ ก็ได้สาธุคุณ เดสมอนด์ ตูตู บางประเทศอาจจะเป็นทนายความที่ต่อสู้เรื่องสิทธิมนุษยชนมาอย่างยาวนาน บางประเทศอาจจะเป็นนักวิชาการก็ได้ องค์ประกอบของคณะกรรมการฯ ในแง่วิชาชีพมีได้หลากหลาย แต่ต้องมีประวัติที่ดี ไม่ด่างพร้อย ทำงานด้านสิทธิมนุษยชนมาอย่างยาวนาน และไม่ใช่คู่ขัดแย้ง

ในเมื่อในกระบวนการการสร้างความยุติธรรมในระยะเปลี่ยนผ่านต้องมีคนรับผิด จะสร้างสมดุลระหว่าง ‘ความปรองดองในสังคมที่ผ่านความแตกแยกมานาน’ กับ ‘การคืนความยุติธรรมให้แก่ผู้ที่ยังไม่ได้รับความยุติธรรม’ ได้อย่างไร

ไม่ง่าย ไม่มีคำตอบสำเร็จรูป จริงๆ แทบไม่มีประเทศไหนที่สามารถสถาปนาทุกกลไกได้ สุดท้ายแต่ละประเทศจะเลือกให้ความสำคัญกับกลไกใดกลไกหนึ่ง เพราะการสร้างสมดุลที่ว่าเป็นโจทย์ที่ยาก บางทีทำสิ่งหนึ่งก็อาจจะนำไปสู่ความขัดแย้งหรือความตึงเครียดในอีกกลไกหนึ่งก็ได้ ความจริงที่ได้มาทั้งหมดอาจจะยิ่งทำให้ปรองดองยากเพราะรู้ความจริงทั้งหมดแล้วยิ่งรับไม่ได้ หรือพอดำเนินคดีกับผู้นำเผด็จการที่กระทำผิด ปรากฏว่าก็ยังมีฐานเสียง มีคนนิยมชมชอบอยู่จำนวนหนึ่ง ก็อาจจะไม่พอใจลุกขึ้นมาประท้วง หรือกองทัพเอง พออดีตผู้นำเผด็จการทหารถูกดำเนินคดีตัดสินจำคุกก็อาจจะพยายามก่อรัฐประหาร สั่นคลอนประชาธิปไตยที่กำลังอยู่ในช่วงเปลี่ยนผ่านอีกครั้ง ที่ใกล้เคียงที่สุดก็น่าจะเป็นอาร์เจนตินาที่พยายามใช้เกือบทุกกลไก ไม่ว่าจะเป็นการดำเนินคดี ตั้งคณะกรรมการแสวงหาความจริง ชดเชยเยียวยา ปฏิรูปกองทัพและหน่วยงานความมั่นคง ถึงจะสำเร็จบ้างไม่สำเร็จบ้างก็ตาม ฉะนั้นในโลกแห่งความเป็นจริง พอไปถึงการปฏิบัติ โจทย์มันไม่ง่ายนัก ยังไม่ต้องพูดถึงว่ารัฐบาลประชาธิปไตยที่ขึ้นมามีอำนาจต่อจากนั้นมีฐานสนับสนุนทางสังคมแข็งแรงพอไหม ภาคประชาสังคมแข็งขันพอไหมที่จะปกป้องรัฐบาลประชาธิปไตย ไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้นก็ตาม

อย่างเช่นแอฟริกาใต้ สุดท้ายเลือกตั้งคณะกรรมการแสวงหาความจริงอย่างเดียว ไม่เน้นการดำเนินคดีหรือการนำผู้กระทำผิดมาลงโทษเท่าไหร่ มองว่าการแสวงหาความจริงสำคัญที่สุดเพื่อพยายามให้สังคมกลับมาปรองดองสมานฉันท์ ให้ทุกอย่างจบตรงนี้ อย่างน้อยก็ได้ความจริง เหยื่อได้มีส่วนร่วมในกระบวนการรับฟัง ผู้นำออกมาขอโทษเหยื่อ เพราะรู้ว่าถ้าพยายามผลักดันกลไกอื่นมาก สังคมอาจจะแตกแยก เพราะแต่ละประเทศมีเงื่อนไขทางการเมืองเฉพาะ แอฟริกาใต้ทั้งประเทศรู้  เนลสัน แมนเดลาก็รู้ว่าประเทศยังเปราะบาง ความขัดแย้งระหว่างคนผิวสีกับคนขาวฝังรากลึกมาก ไม่ใช่สังคมจะกลับมาสมานฉันท์ได้ในชั่วข้ามคืน ก็ระมัดระวังที่จะไม่ผลักดันกลไกทั้งหมด แต่ในอีกแง่หนึ่งก็เกิดคำถาม เพราะแม้ว่าสังคมส่วนใหญ่จะพอใจกับกระบวนการ แต่ในมุมเหยื่อก็รู้สึกว่ายังไม่ได้รับความยุติธรรมเพียงพอ

มีข้อโต้แย้งอีกว่า ต้องระมัดระวังในการนำกลไกความยุติธรรมในระยะเปลี่ยนผ่านไปใช้จริงด้วย เพราะมีโอกาสที่บางกลไกอาจทำลายหลักนิติรัฐ เช่น การนับอายุความ การฟ้องซ้ำ หรือลงโทษซ้ำ จะจัดสมดุลระหว่างการคืนความยุติธรรมและการรักษาหลักนิติรัฐอย่างไร

นี่เป็นโจทย์ที่สังคมต้องช่วยกันคิดออกแบบกลไกอย่างรอบคอบ เพราะแน่นอนว่าเราไม่ต้องการให้ความยุติธรรมระยะเปลี่ยนผ่านไปทำลายหลักนิติรัฐ จริงๆ หลักนิติรัฐคือเป้าหมายที่ความยุติธรรมระยะเปลี่ยนผ่านต้องรักษาไว้ เพราะส่วนใหญ่ที่อาชญากรรมร้ายแรงเกิดขึ้นได้เพราะหลักนิติรัฐถูกทำลาย ในสังคมเผด็จการทุกสังคม ไม่ว่าจะเป็นเผด็จการสตาลิน ฮิตเลอร์ เขมรแดง หรือในอาร์เจนตินา ที่ความรุนแรงโดยรัฐเกิดขึ้นได้ก็เพราะหลักนิติรัฐโดนทำลาย ไม่มีการตรวจสอบถ่วงดุลอำนาจรัฐ ผู้มีอำนาจอยู่เหนือกฎหมายได้  

หลังจากระบอบการเมืองเปลี่ยนผ่านไปสู่ประชาธิปไตย เราไม่ต้องการให้นิติรัฐถูกทำลาย ในการสร้างความยุติธรรมในระยะเปลี่ยนผ่านจึงต้องระวังไม่ให้มันกลายเป็นความยุติธรรมของผู้ชนะ (victor’s justice) เพราะถ้าดำเนินคดี เอาอดีตผู้นำเผด็จการมาลงโทษอย่างไม่รัดกุม หลักฐานอ่อน กระบวนการอ่อน เน้นไปที่ผลลัพธ์ ก็ทำลายความศักดิ์สิทธิ์ของกระบวนการยุติธรรมเองเหมือนกัน

จำเป็นไหมที่ฝ่ายที่ไม่ได้รับความยุติธรรมต้องได้รับชัยชนะทางการเมืองและเข้าถึงอำนาจรัฐก่อน กระบวนการสร้างความยุติธรรมในระยะเปลี่ยนผ่านจึงจะเริ่มได้ หรือถ้าวันหนึ่ง จู่ๆ ผู้นำเผด็จการเกิดอยากให้มีกระบวนการยุติธรรมในระยะเปลี่ยนผ่าน มันก็เกิดขึ้นได้เหมือนกัน

อย่างไรก็ต้องเปลี่ยนผ่านทางการเมืองก่อน แบบที่ผู้นำในระบบเดิมเกิดปัญญาญาณ บรรลุธรรมขึ้นมาว่า ที่ทำลงไปคือผิดไปแล้ว สำนึกผิดแล้ว จะให้มีกระบวนการคืนความยุติธรรมแล้วกัน หรือยอมเดินเข้าคุกไปเองก็ได้ มันยังไม่เคยเกิดขึ้นจริงในทางปฏิบัติ หรือถ้าผู้นำเผด็จการยอมให้มีความยุติธรรมในระยะเปลี่ยนผ่านเพื่อฟอกขาวตัวเอง ถ้าอย่างนั้นก็กลายเป็นความยุติธรรมที่ไม่มีความหมาย ตั้งกรรมการสอบสวนก็ตั้งคนที่ตัวเองสนิทไว้ใจ ผลการสอบสวนออกมา สุดท้ายก็ไม่ได้ผิดอะไร  

มันเป็นความจริงพื้นฐานว่า ถ้าไม่มีการเปลี่ยนผ่านการเมืองไปสู่ประชาธิปไตย ก็ยากที่ผู้นำเผด็จการ หรือผู้นำที่เป็นคนออกคำสั่ง ออกนโยบายที่ละเมิดสิทธิหรือทำให้คนเสียชีวิตจำนวนมาก อยู่ดีๆ จะลุกขึ้นมาทำอะไรที่ทำให้ตัวเองเสียอำนาจ เสียผลประโยชน์ หรือทำให้ตัวเองต้องติดคุกในท้ายที่สุด ไม่มีหรอก

อาจารย์ย้ำตลอดว่าประชาธิปไตยเป็นเงื่อนไขสำคัญในการสร้างความยุติธรรมในระยะเปลี่ยนผ่าน ทำไมทั้งสองโจทย์นี้ถึงแยกออกจากกันไม่ได้

จริงๆ แนวคิดก็บอกชัดแล้วว่าเป็นความยุติธรรมที่เกิดขึ้นเมื่อมี ‘ระยะเปลี่ยนผ่าน’ เพราะว่ามี ‘การเปลี่ยนผ่าน’ จากระบอบเผด็จการไปสู่ระบอบประชาธิปไตย

ความยุติธรรมในระยะเปลี่ยนผ่านเตือนเราว่า สังคมที่ผ่านอดีตอันเลวร้ายยังเหลือมรดกหลายอย่างที่ระบอบเผด็จการทิ้งเอาไว้ เช่น หลักนิติรัฐที่ถูกทำลาย สิทธิมนุษยชนของประชาชนที่ถูกละเมิดอย่างกว้างขวาง มีเหยื่อความรุนแรงที่ถูกพรากความเป็นพลเมือง ถูกพรากศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ เพราะฉะนั้น เมื่อเปลี่ยนผ่านไปสู่ประชาธิปไตยแล้ว รัฐบาลใหม่ที่ขึ้นมามีอำนาจ ไม่ว่าจะรัฐบาลไหนก็ตาม ไม่ควรคิดแค่ว่าพอเป็นประชาธิปไตยแล้ว มีเลือกตั้งแล้ว เข้าสู่อำนาจ ได้บริหารประเทศแล้ว ทุกอย่างจะจบ

โจทย์ของรัฐบาลประชาธิปไตยไม่ใช่แค่เลือกตั้งอย่างเดียว แต่คุณยังต้องสะสางมรดกที่ระบอบเผด็จการทิ้งไว้ ถ้าไม่สะสาง สังคมเดินหน้าต่อไม่ได้ เพราะประชาชนบอบช้ำมาก่อน บางคนก็บอบช้ำเพราะต่อสู้เพื่อให้ได้มาซึ่งประชาธิปไตยนี่แหละ ประชาธิปไตยไม่ได้ได้มาลำพังด้วยนักการเมืองหรือพรรคการเมืองเท่านั้น แต่ยังมีประชาชนที่ต่อสู้ บาดเจ็บ หรือกระทั่งสูญเสียจนล้มเผด็จการไปได้ รัฐบาลประชาธิปไตยต้องถามตัวเองด้วยว่าจะคืนความยุติธรรมให้แก่ประชาชนอย่างไร

ตลอดระยะเวลาหลายทศวรรษที่ผ่านมา ไทยต้องเผชิญต่อความขัดแย้งแตกแยกแบ่งขั้วในสังคมอย่างมาก เราเริ่มเห็นความพยายามในการปักหมุดให้การสร้างความยุติธรรมในระยะเปลี่ยนผ่านเป็นวาระในสังคมแล้วหรือยัง

เท่าที่ผมเห็น ความยุติธรรมในระยะเปลี่ยนผ่านเพิ่งเริ่มเป็นวาระในสังคมไทยหลังเหตุการณ์การล้อมปราบสังหารคนเสื้อแดง ก็ประมาณ 10 ปีที่ผ่านมา ถือว่าเป็นแนวคิดที่ค่อนข้างใหม่ในสังคมไทย สังคมส่วนใหญ่ยังไม่เข้าใจว่ามันคืออะไร ยังต้องมีกระบวนการเรียนรู้ แลกเปลี่ยน เผยแพร่แนวคิดอีกพักใหญ่เลย แต่ว่าเหตุการณ์ที่กระตุ้นให้ความยุติธรรมในระยะเปลี่ยนผ่านกลายเป็นวาระถกเถียงในสังคมคือเหตุการณ์ความขัดแย้งทางการเมืองเสื้อสี ซึ่งในที่สุดก็นำไปสู่การปราบปรามผู้ชุมนุมจนเสียชีวิต หลังปี 2553 ความยุติธรรมในระยะเปลี่ยนผ่านจึงยิ่งเป็นที่พูดถึงมากขึ้น เพราะสังคมเพิ่งผ่านอดีตอันเลวร้ายมา เกิดความรุนแรงและการบาดเจ็บสูญเสีย

ตอนนั้นประเด็นที่ถกเถียงก็มีหลายเรื่องพัวพันกัน อย่างมีการกล่าวหาว่าการชดเชยเยียวยาของรัฐบาลเป็นการซื้อเสียงรูปแบบหนึ่ง หรือทำไมต้องชดเชยให้คนเหล่านี้ แล้วยังเอาเงินภาษีจากประชาชนไปชดเชยอีก เพราะคนไม่เข้าใจหลักคิดในการชดเชยเยียวยา การนิรโทษกรรมก็เป็นที่ถกเถียงกันอย่างมาก อย่างที่เรารู้ว่าสุดท้ายการนิรโทษกรรมกลายเป็นชนวนที่นำไปสู่ข้ออ้างในการก่อรัฐประหารเลยด้วยซ้ำ นอกจากนี้ก็มีเรื่องการดำเนินคดี เถียงกันว่าควรจะดำเนินคดีไม่ให้คนลอยนวลพ้นผิดได้แล้วเพื่อให้เกิดความยุติธรรมในระยะเปลี่ยนผ่าน แต่ประเด็นคือทหารและรัฐบาลยุคนั้นนิรโทษกรรมตัวเองไว้ แล้วจะหาทางดำเนินคดีได้อย่างไร ไปจนถึงว่า แล้วไทยควรจะให้สัตยาบันต่อศาลอาญาระหว่างประเทศ (International Criminal Court: ICC) ไหม หลังจากไปลงนามไว้แล้ว เพื่อให้หลักความยุติธรรมในระยะเปลี่ยนผ่านเกิดขึ้นได้จริง

ตอนนั้นมีการตั้งคณะกรรมการไต่สวนความจริงเพื่อความปรองดองและสมานฉันท์ (คอป.) ขึ้นมาเพื่อแสวงหาความจริงในเหตุการณ์การล้อมปรามคนเสื้อแดง อาจารย์ประเมินความพยายามในการจัดการความขัดแย้งช่วงปี 2553 อย่างไร

ก็ยังทำได้ไม่ดีเท่าไหร่ คิดว่าเราน่าจะไปรับโมเดลจากแอฟริกาใต้มา คือพยายามตั้ง คอป. ขึ้นมาเพื่อเป็นคณะกรรมการแสวงหาความจริง สุดท้ายปรากฏว่าองค์ประกอบกรรมการไม่เหมาะสม คือไม่ได้รับการยอมรับนับถือจากทุกฝ่าย พูดง่ายๆ คือเป็นส่วนหนึ่งของความขัดแย้งหรือไม่เป็นกลางอย่างแท้จริง รายงานที่ออกมาจึงไม่ค่อยได้รับการยอมรับ เนื้อหาในรายงานก็ค่อนข้างไม่ได้เสนอความจริง สืบค้นความจริงอย่างถี่ถ้วนและรอบด้าน ที่สำคัญคือพอทำรายงานสรุปแล้วก็ไม่ได้มีความพยายามผลักดันให้เกิดกลไกอะไรต่อหรือกระทั่งว่าไม่ได้แสวงหาความจริงที่แท้จริงด้วยซ้ำ

มีข้อสรุปจากรายงานบางตอนที่บอกว่า ความขัดแย้งในสังคมไทยเหมือนเรื่องผัวเมียทะเลาะกัน พอไปสรุปอย่างนี้ก็ผิด เหมือนติดกระดุมผิดเม็ด แล้วพอเข้าใจว่าความขัดแย้งเหมือนผัวเมียทะเลาะกัน ก็เลิกแล้วต่อกันไป หันมาคืนดีกันเถอะ อย่าทะเลาะกันเลย ผิดด้วยกันทั้งสองฝ่าย การสรุปแบบนี้มันลงไปไม่ถึงต้นตอความขัดแย้ง ไม่นำไปสู่อะไร ที่บอกว่าผิดทั้งสองฝ่าย ให้น้ำหนักความผิดทั้งสองฝ่ายเท่ากันมันทำไม่ได้ ในหลายๆ เหตุการณ์ คุณต้องชี้ชัดลงไปให้ได้ว่าความจริงคืออะไร ใครเป็นฝ่ายเริ่มใช้ความรุนแรงก่อน แน่นอนไม่มีใครผิดหรือถูกอยู่ฝ่ายเดียว แต่จะสรุปเหมารวมง่ายๆ ว่าผิดทั้งสองฝ่าย ให้ทั้งคู่เลิกแล้วต่อกันเถอะ ก็เป็นความยุติธรรมแบบไทยๆ ซึ่งจริงๆ มันไม่ใช่ความยุติธรรมด้วยซ้ำ สุดท้ายก็ไม่ได้มีข้อสรุปอะไร สังคมไม่ได้บทเรียนอะไร และก็ยังอยู่ในภาวะที่ไร้เสถียรภาพทางการเมือง แม้ว่าตอนนั้นจะเป็นประชาธิปไตยอยู่ระดับหนึ่ง ถึงจะยังไม่ได้เปลี่ยนผ่านไปสู่ประชาธิปไตยอย่างสมบูรณ์ก็ตาม สุดท้ายพอการเมืองเปลี่ยน เกิดรัฐประหารก็ไม่นำไปสู่อะไรต่อ การเมืองกลับไปเป็นระบอบเผด็จการอำนาจนิยมอีก กลไกที่จะสร้างความยุติธรรมในระยะเปลี่ยนผ่านยิ่งหายไปหมด ไม่มีการสานต่อ

ถ้ามองความขัดแย้งทางการเมืองในช่วงเกือบ 2 ทศวรรษที่ผ่านมา มีโจทย์อะไรที่เราต้องจัดการบ้างหากจะให้เกิดความยุติธรรมในระยะเปลี่ยนผ่านในสังคม

เราต้องตั้งโจทย์ใหม่เลยคือ หนึ่ง ทำให้สิทธิมนุษยชนเป็นหลักการสำคัญที่ทุกฝ่ายให้ความสำคัญ มองชีวิตมนุษย์ทุกคนมีคุณค่า รัฐไม่ควรสามารถใช้อำนาจตามอำเภอใจในการละเมิดสิทธิในร่างกายและชีวิตของพลเมืองของตนเองได้

เราต้องตั้งหลักจากตรงนี้ก่อน เพราะจริงๆ ถ้าสังคมไทยยังไม่คุณค่ากับสิทธิมนุษยชน สิทธิมนุษยชนยังไม่ได้เป็นหลักการพื้นฐานของสังคม เราลืมความยุติธรรมในระยะเปลี่ยนผ่านไปได้เลย แนวคิดนี้จะผลักดันไม่ได้ เพราะคนจะไม่เห็นความสำคัญว่าเหยื่อก็มีสิทธิ มีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ก็จะย้อนกลับไปจุดที่ว่า เหยื่อก็ให้อภัยสิ แล้วก็เลิกแล้วต่อกัน หรือพอจะสืบค้นหาความจริง ก็จะไปติดกับดักวิธีคิดแบบไทยๆ ว่า อย่าฟื้นฝอยหาตะเข็บเลย เพราะเราไม่ได้มองว่าสิทธิในการรับรู้และเข้าถึงความจริงคือสิทธิมนุษยชนอย่างหนึ่งเช่นกัน แต่ปัจจุบันก็มีแนวโน้มที่คนเข้าใจมากขึ้น อย่างสื่อ นักกฎหมาย หรือครูรุ่นใหม่ๆ แต่ว่าในสังคมภาพรวมทั้งหมด สิทธิมนุษยชนก็ยังไม่ได้เป็นคุณค่าที่ทุกคนให้ความสำคัญ

สองคืออย่ามองความขัดแย้งว่าเป็นปัญหา เราไม่จำเป็นต้องก้าวข้ามความขัดแย้ง เพราะมันคือการบอกว่า ลืมๆ ไปเถอะ เลิกทะเลาะแล้วมาปรองดองกันเถอะ มารักกัน สามัคคีกัน ประเด็นคือความขัดแย้งคือเรื่องปกติของสังคม ทุกประเทศในโลกต้องมีความขัดแย้งในสังคมอยู่แล้ว ไม่มีสังคมไหนไม่มีความขัดแย้ง เวลามีคนจำนวนมากอยู่ร่วมกันในสังคม เป็นปกติที่คนจะคิดไม่ตรงกัน เชื่อไม่ตรงกัน ชอบนโยบายที่ต่างกัน อย่างไรความขัดแย้งก็เกิดขึ้นตลอดเวลาอยู่แล้ว ไม่มีทางที่ทั้งสังคมจะรักกัน สามัคคีกัน มันเป็นไปไม่ได้

แต่สังคมจะคลี่คลายความขัดแย้งโดยที่ไม่ให้บานปลายไปสู่ความรุนแรงได้อย่างไร นี่คือมาตรวัดว่าสังคมนั้นเป็นสังคมอารยะหรือเปล่า สังคมต้องมีกลไกในการแก้ไขปัญหาความขัดแย้ง ต้องมีพื้นที่ในการเจรจา มีพื้นที่ให้คนที่เห็นต่างออกมาแสดงความเห็นโดยไม่ต้องกลัวว่าจะถูกจับ มีกลไกให้คนที่ไม่พอใจหรือผิดหวังกับระบอบการเมืองแสดงออกได้ ข้อเรียกร้องที่เสนอถูกนำไปพิจารณาเป็นนโยบายรัฐ โดยที่ไม่ถูกปราบปรามอย่างรุนแรงบนท้องถนน ไม่ถูกดำเนินคดีอย่างไม่เป็นธรรม ถ้ามีกลไกเหล่านี้ ความขัดแย้งจะมีอยู่ในสังคมได้ และจะดำรงอยู่ต่อไป เหตุที่เราต้องตั้งหลักอย่างนี้ก่อนก็เพื่อที่เราจะได้ไปพ้นจากวาทกรรมก้าวข้ามความขัดแย้งสักที

สิ่งที่เป็นปัญหาจริงๆ คือการแก้ไขความขัดแย้งด้วยความรุนแรง การที่รัฐมองคนเห็นต่าง คนที่มาประท้วงเป็นศัตรูแล้วใช้ความรุนแรงปราบปราม หรือใช้กลไกทางกฎหมายที่ไม่เป็นธรรมดำเนินคดีกับผู้เห็นต่างทางการเมืองยิ่งทำให้สังคมตึงเครียด อยู่ร่วมกันยาก เพราะเกิดความบาดหมางแล้ว ซึ่งส่วนใหญ่ก็คือรัฐนั่นแหละที่จัดการความขัดแย้งไม่ถูกทาง เพราะฉะนั้นเราต้องหาทางป้องกันไม่ให้เกิดขึ้นซ้ำสองอีก

เมื่อไม่นานมานี้ก็มีกระแสว่าพรรคพลังประชารัฐก็ใช้วาทกรรม ‘ก้าวข้ามความขัดแย้ง’ ในการหาเสียงเลือกตั้ง บนป้ายหาเสียงก็เขียนว่า ‘ยุติความขัดแย้ง เดินหน้าประเทศไทยใหม่’

สิ่งที่ต้องก้าวข้ามคือการใช้ความรุนแรงแก้ไขปัญหาความขัดแย้ง พลเอกประวิตร (วงษ์สุวรรณ) นี่แหละที่เป็นส่วนหนึ่งของรัฐบาลที่ใช้ความรุนแรงในการแก้ไขความขัดแย้ง แต่ตอนนี้กลับพูดราวกับว่าลอยตัวอยู่เหนือปัญหา ไม่ได้มีส่วนร่วมอะไร แล้วมาบอกว่าจะก้าวข้ามความขัดแย้ง ทั้งๆ ที่ตัวเองเป็นส่วนหนึ่งของปัญหาความขัดแย้ง จะพูดแบบนั้นไม่ได้ ป้ายหาเสียงมันเลยตลกไง เหมือนที่พลเอกประยุทธ์ (จันทร์โอชา) หาเสียงด้วยนโยบายยกเลิกปรับปรุงกฎหมายที่ไม่เป็นธรรมและรังแกประชาชน ซึ่งจริงๆ คำนี้ดีนะ กฎหมายที่มีปัญหามีเยอะจริงและควรต้องเอามาสะสาง แต่พลเอกประยุทธ์พูดเหมือนตัวเองไม่ได้เป็นผู้ใช้กฎหมายเหล่านั้นเลยตลอด 8 ปีที่ผ่านมา

กระบวนการสร้างความยุติธรรมในระยะเปลี่ยนผ่านไม่ได้มีสูตรสำเร็จตายตัว เราควรออกแบบกลไกการสร้างความยุติธรรมในระยะเปลี่ยนผ่านในไทยอย่างไร จึงจะสะสางความขัดแย้งที่สะสมมาเป็นเวลานานได้ ความยุติธรรมในระยะเปลี่ยนผ่านเกิดขึ้นได้จริง และไม่เกิด ‘ความยุติธรรมแบบไทยๆ’ หรือที่เราไม่ต้องมา never again ซ้ำไปซ้ำมาอีก

ผมคิดว่าอย่าไรก็ต้องมีคณะกรรมการแสวงหาความจริง แล้วกลับไปสืบค้นหาความจริง อย่างน้อยย้อนกลับไปถึงแค่เหตุการณ์ร่วมสมัยก็ได้ ยังไม่ต้องย้อนกลับไปไกลมาก คือย้อนกลับไปแค่ช่วงความขัดแย้งเสื้อสีปี 2548 จนถึงช่วงม็อบราษฎร ม็อบเยาวชนช่วงปี 2563-2565

คณะกรรมการฯ ต้องทำหน้าที่สรุปค้นหาความจริงทั้งหมดรอบด้าน ทั้งสาเหตุเชิงโครงสร้าง สาเหตุระยะสั้น บุคคลที่มีส่วนเกี่ยวข้องในความขัดแย้ง แล้วตั้งกรรมการฯ ให้เป็นที่ยอมรับนับถือของสังคม ให้อำนาจและทรัพยากรแก่คณะกรรมการฯ อย่างเต็มที่ ผมว่าเราเริ่มจากตรงนี้ แล้วมันจะเป็นฐานไปสู่กลไกอื่น

แต่ในบริบทสังคมไทยตอนนี้ การปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมเป็นวาระที่สำคัญเร่งด่วน หลังจากที่ดำเนินกระบวนการแสวงหาความจริงแล้ว สิ่งที่ต้องทำควบคู่กันไปคือการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม

แล้วปฏิรูปกองทัพกับปฏิรูปตำรวจเป็นเรื่องที่ต้องทำด่วนไหม

มันด่วนจนไม่ด่วนแล้ว หมายความว่าข้อเสนอปฏิรูปกองทัพมีมาตั้งแต่สมัย 14 ตุลา 16 แล้วนะ เพราะก็มีการปราบปรามประชาชนเหมือนกัน คิดดูว่าปีนี้ครบรอบ 50 ปี 14 ตุลา ผ่านมา 50 ปีแล้วที่เราคิดว่าต้องมีการปฏิรูปกองทัพ แต่คิดดู 50 ปีก็ยังไปไม่ถึงไหน เลยพูดไม่ได้ว่าด่วนไหม

ปฏิรูปกองทัพเป็นเรื่องที่ต้องทำ เพียงแต่ว่าต้องอาศัยเจตจำนงทางการเมืองของรัฐบาลและแรงกดดันที่แรงกล้าจากสังคม ไม่อย่างนั้นกองทัพหรือองค์กรตำรวจจะไม่มีวันลุกขึ้นมาปฏิรูปองค์กรตัวเอง โดยเฉพาะกองทัพ ตำรวจยังใกล้ชิดประชาชนกว่าหน่อย องค์กรก็เปิดกว่า อย่างที่เราเห็นว่าเวลามีข่าวตำรวจถูกวิพากษ์วิจารณ์อะไรก็ต้องเปิดโต๊ะแถลงข่าว ตอบคำถามสังคม แต่โจทย์ปฏิรูปกองทัพยากกว่ามาก เพราะกองทัพมีอำนาจมาก และใช้อำนาจแทรกแซงการเมืองได้โดยตรง แต่จะไม่ทำก็ไม่ได้ ปฏิรูปกองทัพเป็นโจทย์ที่ค้างมานานแล้ว ต้องทำในอีก 4-5 ปีข้างหน้า อินโดนีเซีย อาร์เจนตินาปฏิรูปสำเร็จ หรือเกาหลีใต้ที่เราชอบยกย่องว่าเป็นโมเดลประชาธิปไตย ซึ่งนำมาสู่สารพัดความรุ่งเรืองในปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็นอุตสาหกรรมสร้างสรรค์หรืออะไรก็ตามแต่ ทั้งหมดนี้จะไม่เกิดขึ้นเลย ถ้าเกาหลีใต้เปลี่ยนผ่านจากระบอบเผด็จการอำนาจนิยมไม่สำเร็จช่วงปี 1987-1988 และไม่ปฏิรูปกองทัพ อดีตผู้นำทหารต้องโทษจำคุกด้วยซ้ำ

ส่วนบ้านเราช้ามามากแล้ว แต่ก็ต้องปฏิรูปให้ได้

แค่เราเริ่มกระบวนการและกลไกต่างๆ กับมีเจตจำนงในการสร้างความยุติธรรมในระยะเปลี่ยนผ่านนั้นเพียงพอหรือไม่ เพราะต้องยอมรับว่ายังมีวัฒนธรรมลอยนวลพ้นผิดหรืออุดมการณ์ที่อิงอยู่กับโครงสร้างอำนาจรัฐแฝงฝังอยู่ในสังคมไทย

ถูกต้อง ผมเลยคิดว่ารูปธรรมอย่างหนึ่งที่จะช่วยเป็นจุดตั้งต้นในการทำลายวัฒนธรรมลอยนวลพ้นผิด และจะสร้างแรงกระเพื่อมไปผลักให้การปฏิรูปอื่นๆ อีกคือการยกเลิกการนิรโทษกรรมให้แก่คนที่ก่อรัฐประหาร และนำคนที่ก่อรัฐประหารเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม

วิธีนี้ตอบโจทย์หลายอย่าง มันจะช่วยทำลายวัฒนธรรมลอยนวลพ้นผิดและลดแรงจูงใจของผู้นำทหารที่จะทำรัฐประหารในอนาคต เหมือนเป็นการสร้างต้นทุนในการทำรัฐประหารให้สูงที่สุด ถ้าตัดสินใจทำรัฐประหาร ก็จะถูกดำเนินคดีแบบอดีตผู้นำทหารเกาหลีใต้ หรือในประเทศอื่นๆ

นี่เองก็เป็นส่วนหนึ่งของการปฏิรูปกองทัพให้เป็นประชาธิปไตย ไม่แทรกแซงการเมือง และเป็นส่วนหนึ่งของการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมด้วย เพราะที่ผ่านมา ปัญหาอย่างหนึ่งของกระบวนการยุติธรรมไทยก็คือ ผู้พิพากษาจะรับรองการรัฐประหารว่ามีความชอบธรรมทางกฎหมายมาโดยตลอด คือรับรองว่าเป็นรัฏฐาธิปัตย์จนกลายเป็นแนวคำพิพากษาและธรรมเนียมในทางกฎหมายมาโดยตลอด เพราะฉะนั้น ต้องมีการทำลายธรรมเนียมที่ศาลให้ความชอบธรรมกับการรัฐประหารและไปยอมรับให้การใช้กำลังอำนาจดิบกลายเป็นความชอบธรรม ถ้าสร้างต้นทุนให้กองทัพในการทำรัฐประหารและยกเลิกธรรมเนียมการรับรองคณะรัฐประหารได้ มันจะช่วยปลดล็อกไปสู่การปฏิรูปอื่นๆ ต่อ

ข้อเสนอนี้น่าจะสร้างแนวร่วมทางสังคมได้ค่อนข้างกว้างขวาง โดยเฉพาะช่วงนี้ที่ดูจะเป็นจังหวะที่ดี เพราะผมว่าสังคมไทยเริ่มมีฉันทมติก่อตัวขึ้นมาแล้วว่า ไม่มีใครต้องการให้เกิดการรัฐประหารขึ้นอีกแล้วไม่ว่าจะขัดแย้งทางการเมืองแค่ไหน เพราะฉะนั้น เราต้องทำให้การรัฐประหารกลายเป็นอดีตของสังคมไทยให้ได้ แล้วนี่อาจจะเป็นจุดนับหนึ่งในการสร้างความยุติธรรมในระยะเปลี่ยนผ่าน

ควรระบุลงไปในรัฐธรรมนูญให้เกิดธรรมเนียมไม่รับรองความชอบธรรมในการทำรัฐประหารไหม หรือว่าการปรับธรรมเนียมปฏิบัติอย่างที่อาจารย์บอกน่าจะได้ผลมากกว่า

จริงๆ ต้องเปลี่ยนวัฒนธรรมทางการเมืองนะ เปลี่ยนรัฐธรรมนูญไม่ค่อยมีความหมายเท่าไหร่ เพราะรัฐธรรมนูญก็ถูกฉีกได้ จริงๆ รัฐธรรมนูญไทยทุกฉบับ รวมถึงฉบับปี 2560 ด้วย ก็ระบุไว้แล้วว่าการทำรัฐประหารเป็นความผิดร้ายแรง ถือเป็นการล้มล้างการปกครอง เพียงแต่ว่าพอคณะรัฐประหารลงมือทำรัฐประหาร สิ่งแรกที่ทำคือฉีกรัฐธรรมนูญ แล้วศาลก็ไปรับรองให้การรัฐประหารถูกกฎหมายอีก

แต่นอกจากเปลี่ยนวัฒนธรรม เปลี่ยนค่านิยมแล้ว คนที่อยู่ในจุดที่จะสร้างความเปลี่ยนแปลงได้คือผู้พิพากษา อย่างชิลีและในบางประเทศลาตินอเมริกา กลุ่มผู้พิพากษาก้าวหน้าที่ขึ้นมาดำรงตำแหน่งในช่วงเปลี่ยนผ่านก็ตีความกฎหมายว่า การรัฐประหารเป็นสิ่งผิดกฎหมาย ฉะนั้น คณะรัฐประหารจะนิรโทษกรรมให้ตัวเองไม่ได้ กลายเป็นโมฆะ พอการนิรโทษกรรมเป็นโมฆะก็สามารถนำอดีตผู้นำรัฐประหารมาดำเนินคดีได้และสร้างบรรทัดฐานใหม่ในวงการตุลาการ ให้ถือว่าการรัฐประหารเป็นความผิดที่มีอายุความ ไม่ว่าจะผ่านไป 30 ปีก็ดำเนินคดีได้ แต่การเปลี่ยนแปลงต้องเกิดขึ้นในแวดวงกฎหมายก่อน ต้องมีกลุ่มผู้พิพากษาที่ก้าวหน้า มีหลักคิด และพยายามจะทำลายแบบแผนเดิมๆ ที่ทำให้เกิดวงจรอุบาทว์ซ้ำไปซ้ำมา ร่วมกับการผลักดันจากสังคมและสื่อ

การเลือกตั้งที่จะถึงนี้พอจะเป็นความหวังในการสร้างความยุติธรรมในระยะเปลี่ยนผ่านได้ไหม เพราะในแง่หนึ่ง การเลือกตั้งครั้งนี้อาจนำไปสู่การเปลี่ยนผ่านประชาธิปไตยได้ ซึ่งเป็นเงื่อนไขสำคัญอย่างที่เราคุยกันมา

ผมยังมองโลกในแง่ดีหน่อยว่า การเลือกตั้งครั้งนี้อาจเป็นจุดตั้งต้นได้ ถ้าเราประคับประคองให้การเปลี่ยนผ่านอำนาจดำเนินไปอย่างราบรื่นก่อน แล้วไม่ว่าใครชนะเลือกตั้ง ทุกฝ่ายยอมรับผลการเลือกตั้ง และไม่มีการก่อรัฐประหาร ไม่มีการแทรกแซงทางการเมือง พอประชาธิปไตยกลับมาสู่ภาวะปกติระดับหนึ่ง แล้วเราใช้จังหวะที่มีรัฐบาลประชาธิปไตยที่มาจากการเลือกตั้งและมีความชอบธรรมผลักดันให้เกิดความยุติธรรมในระยะเปลี่ยนผ่าน

รัฐธรรมนูญพอจะเป็นกลไกที่ช่วยให้ความยุติธรรมในระยะเปลี่ยนผ่านกลายเป็นหลักในการจัดการความขัดแย้งในสังคมได้ไหม

จริงๆ ก็ได้ แต่ว่าผมไม่คาดหวังกับรัฐธรรมนูญเท่าไหร่ เพราะว่ารัฐธรรมนูญควรจะสั้น วางหลักการแค่กว้างๆ เอาไว้ ส่วนที่เหลือควรออกเป็นกฎหมายลูก รัฐธรรมนูญเขียนให้ยืดยาวแทบตายไปก็ไม่เกิดผลอะไร ถ้าหลักการที่เขียนในรัฐธรรมนูญไม่ได้มาจากเจตจำนงและความเข้าใจร่วมกันของสังคม ในแง่นี้รัฐธรรมนูญไม่ได้เป็นตัวกำหนดผล แต่เป็นเหมือนผลบั้นปลายมากกว่า ลำพังรัฐธรรมนูญแก้ปัญหาทางการเมืองไม่ได้ทั้งหมดหรอก ก็เหมือนกับวาทกรรม ‘รัฐธรรมนูญปราบโกง’ ที่คนเข้าใจผิดไปว่ารัฐธรรมนูญสามารถยุติคอร์รัปชันได้ ซึ่งจริงๆ ลำพังรัฐธรรมนูญไม่สามารถต้านโกงได้ การปราบคอร์รัปชันจริงๆ ขึ้นอยู่กับกลไกทางกฎหมายหลายอย่างและวัฒนธรรมทางการเมือง

จริงๆ รัฐธรรมนูญเป็นแค่การวางกรอบความสัมพันธ์เชิงสถาบันไว้กว้างๆ เท่านั้นเองว่า แต่ละสถาบันของรัฐควรสัมพันธ์กันอย่างไร แค่วางไว้ให้สมดุลแค่นั้นก็พอ แต่เราไม่สามารถเขียนรัฐธรรมนูญเพื่อบีบให้เกิดความยุติธรรมในระยะเปลี่ยนผ่านได้

หากสังคมที่กำลังเผชิญปัญหาความขัดแย้งสูงไม่ใช้กลไกความยุติธรรมในระยะเปลี่ยนผ่านในการคลี่คลายความขัดแย้ง อะไรคือผลที่จะเกิดขึ้น

ความขัดแย้งก็เรื้อรัง บานปลาย ในหลายสังคมมีโอกาสบานปลายจนกลายเป็นสงครามกลางเมืองหรือรัฐล้มเหลว อย่างที่เห็นในประเทศแอฟริกาบางประเทศ แม้ความขัดแย้งจะจบลง เกิดการเปลี่ยนผ่านอำนาจก็จริง แต่ถ้าไม่มีกระบวนการอะไรทั้งสิ้น ไม่แก้ปัญหาความขัดแย้ง ไม่ปฏิรูปกองทัพ ปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม สุดท้ายก็รอความขัดแย้งปะทุขึ้นใหม่อีกรอบ หรือไม่อย่างนั้นกองทัพก็กลับมายึดอำนาจใหม่ ก็ไม่เกิด สุดท้ายกองทัพก็ยังมีอำนาจเหมือนเดิม แค่เสียอำนาจชั่วคราว แล้วก็กลับมารัฐประหารใหม่

ถ้าสังคมไทยไม่สามารถสถาปนากระบวนการยุติธรรมในระยะเปลี่ยนผ่านให้เกิดขึ้นได้ ก็มีโอกาสที่เราจะวนลูปอีกครั้ง จริงๆ ไทยเป็นประเทศที่การเมืองวนลูปมากที่สุดประเทศหนึ่งในโลก เกิดเหตุการณ์ 14 ตุลา 16 แล้วก็เกิด 6 ตุลา 19 ซ้ำ ต่อจากนั้นทำไมเรายังมีพฤษภา 35 อีก หลังจากนั้นคนรุ่นพฤษภา 35 ก็คิดว่าจะเป็นเหตุการณ์สุดท้ายแล้วที่รัฐปราบปรามประชาชน แต่ก็ยังมีการล้อมปราบคนเสื้อแดง สังหารหมู่กลางเมืองตอนพฤษภา 53 จากนั้นในรอบ 2-3 ปีที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่ตำรวจก็ยังใช้ความรุนแรงปราบปรามเยาวชนที่ออกมาประท้วง วนลูปมาตั้ง 5 ครั้ง จนศตวรรษที่ 21 แล้วเราก็ยังไม่ move on จากวงจรความรุนแรงและการใช้อำนาจรัฐละเมิดสิทธิประชาชนโดยที่ไม่มีใครต้องรับผิดชอบ ไม่เคยมีใครถูกดำเนินคดี ไม่เคยต้องเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม ความมหัศจรรย์มันอยู่ตรงนี้ แล้วมันก็จะวนลูปอย่างนี้ไปเรื่อยๆ ถ้าเราไม่พยายามเริ่มนับหนึ่งสักทีที่จะวางหลักใหม่ในการที่จะอยู่ร่วมกันในสังคม แล้วบอกว่าไม่เอาแบบเดิมอีกแล้ว

ถ้าเราไม่ใช้จังหวะทางการเมืองตอนนี้ทำอะไรเลย ผมว่าเป็นไปได้สูงมากที่เราจะย้อนรอยกลับไปเหมือนเดิม หนีไม่พ้นจากวงจรที่เกิดขึ้นในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา ต่อให้กำลังจะมีการเลือกตั้งก็ตาม ถามแบบไม่ naive เลยนะ คิดว่าโอกาสในการเกิดรัฐประหารอีกครั้งเป็นศูนย์แล้วจริงๆ เหรอ ไม่มีใครเชื่ออย่างนั้นหรอก แต่ยิ่งไม่ทำอะไรเลย เราจะรู้ได้อย่างไรว่าเราจะป้องกันไม่ให้เกิดการรัฐประหารขึ้นได้อีก มันมีโอกาสอยู่แล้ว ฉะนั้น ผมถึงบอกว่าการเลือกตั้งไม่ใช่จุดสุดท้ายที่จะทำให้ได้ประชาธิปไตยมาอย่างสมบูรณ์ มันเป็นแค่จุดเริ่มต้นเท่านั้น ถ้าเราใช้จังหวะนี้เริ่มต้นให้ดี สังคมก็เริ่มนับหนึ่งได้ แต่หลังจากนั้นต้องมีสอง-สาม-สี่ตามมา การสร้างประชาธิปไตยไม่ได้จบที่การเลือกตั้งนะครับ ถ้าเข้าใจว่าเลือกตั้งแล้วจบ ทุกคนกลับบ้านได้ แฮปปี้ ได้รัฐบาลใหม่ที่เป็นประชาธิปไตย แต่เราก็เลือกตั้งได้รัฐบาลใหม่มาหลายครั้งแล้ว แล้วเป็นยังไง ตอนหลังรัฐประหารปี 2549 มีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ แล้วเลือกตั้งปี 2550 รัฐบาลใหม่ก็อยู่ได้ไม่นาน มีเลือกตั้งอีกรอบตอนปี 2554 ก็ได้รัฐบาลใหม่ที่เป็นประชาธิปไตยมากกว่าเดิม ก็อยู่ได้ไม่นานเหมือนกัน

ลองดูข้อเท็จจริง นับตั้งแต่สงครามเย็นสิ้นสุดลง ประเทศไทยเป็นประเทศเดียวในโลกที่มีการรัฐประหารซ้ำสองครั้งในรอบไม่ถึงทศวรรษ คือปี 2549 กับปี 2557 ไม่มีประเทศที่มีการพัฒนาระดับกลางที่ไหนเกิดปรากฏการณ์แบบนี้ ซึ่งในแง่หนึ่งก็ unique มาก ถ้าดูระดับการพัฒนาเศรษฐกิจหรือระดับการพัฒนาทางสังคมที่มีความเป็นสมัยใหม่ (modernized) มาก มันไม่ควรจะเกิดรัฐประหารแล้ว แต่ทำไมเรายังวนเวียนกับการทำรัฐประหารอยู่ ปัจจัยอย่างหนึ่งก็เพราะว่าเราไม่เคยสะสางอดีต ไม่เคยผลักดันกลไกในการสร้างความยุติธรรมในระยะเปลี่ยนผ่านให้ได้ผลจริง

ในขณะที่ประเทศเพื่อนบ้านเราอย่างอินโดนีเซียก็เลือกทำบางกลไกที่เป็นหัวใจสำคัญ แล้วไม่กลับไปวนลูปอีก อินโดนีเซียเริ่มเปลี่ยนผ่านสู่ประชาธิปไตยหลังไทยนานมาก คือช่วงปี 2540-41 หลังระบอบซูฮาร์โตล่ม แล้วก็เลือกที่จะปฏิรูปกองทัพ วางหลักให้ถูกทีเดียวจบ หรือเกาหลีใต้หลัง ค.ศ. 1987 ก็จัดการรอบเดียวจบ หลังจากนั้นประเทศก็เดินหน้ามาตลอด ส่วนเราเปลี่ยนผ่านตั้งแต่ 14 ตุลา 16 และจริงๆ ก็เปลี่ยนผ่านมาหลายรอบแล้วด้วย แต่พอไม่อาศัยจังหวะการเปลี่ยนผ่านไปสู่ประชาธิปไตยในการวางหลักให้ถูกต้อง มันก็วนลูปเหมือนเดิม ทั้งๆ ที่เราเริ่มต้นได้เร็วกว่าหลายประเทศ การเปลี่ยนผ่านไปสู่ประชาธิปไตยในไทยเกิดก่อนเกาหลีใต้เป็น 10 กว่าปีด้วยซ้ำ จนตอนนี้เรามองเกาหลีใต้เป็นไอดอลเราแล้ว ประเด็นคือเราไม่เข้าใจว่าเกาหลีไม่ได้พัฒนาอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ หรือ tech-driven economy ได้โดยบังเอิญ ส่วนหนึ่งมันมาจากเสรีภาพในการคิด ถ้าถามว่าเสรีภาพมาจากไหน ก็เพราะว่าสังคมมันเปลี่ยน หลุดออกจากกับดักเผด็จการได้

หรือพูดอีกแบบคือ การไม่วางกลไกเพื่อสร้างหลักความยุติธรรมในระยะเปลี่ยนผ่านและหลักสิทธิมนุษยชนทำให้ประเทศเราป่าเถื่อน ยังวนอยู่ในวงจรป่าเถื่อนล้าหลัง พอถึงจุดหนึ่ง กลุ่มผู้นำที่สูญเสียอำนาจไปแล้วคิดอยากจะได้อำนาจกลับคืนมา ก็เอารถถังออกมายึดอำนาจ แล้วก็ไม่มีใครทำอะไรได้ ทั่วโลกประณามอยู่พักหนึ่ง แต่สุดท้ายศาลก็รองรับว่าเป็นรัฏฐาธิปัตย์ ผู้นำคณะรัฐประหารทุกคนที่ไม่มีใครถูกดำเนินคดี ก็เป็นบทเรียนที่ดีให้ผู้นำกองทัพรุ่นต่อไปอีก ในประเทศที่หลักนิติรัฐอ่อนแอ ถ้าคุณเป็นผู้นำกองทัพ คุณจะกลัวการรัฐประหารทำไม รัฐประหารยึดอำนาจสำเร็จ ได้อำนาจ มีคนยกย่อง ลงเลือกตั้งต่อก็ได้อีก ไม่มีใครมาเอาผิดอะไรเลย แล้วประเทศไทยจะไม่วนลูปได้อย่างไร

หลายครั้งที่ความยุติธรรมในระยะเปลี่ยนผ่านถูกมองว่าเป็นเพียงแค่หลักการหรืออุดมคติ แต่สำหรับอาจารย์ อาจารย์นิยามความยุติธรรมในระยะเปลี่ยนผ่านอย่างไร

ความยุติธรรมในระยะเปลี่ยนผ่านคือการสร้างหลักการในการอยู่ร่วมกันของทุกคนในสังคมอย่างมีศักดิ์ศรี สำหรับผมนี่คือหัวใจสำคัญที่ต้องให้ความสำคัญ เพราะเราอยากให้คนในสังคมอยู่ร่วมกันได้ โดยไม่ต้องคิดเห็นตรงกันหมด สามารถเคารพศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของกันและกันท่ามกลางความแตกต่างหลากหลาย นั่นหมายความว่าเราจะไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง เราจะไม่ทอดทิ้งเหยื่อ แล้วบอกเหยื่อว่าลืมๆ ไปเถอะ ถ้าเขาสูญเสียศักดิ์ศรีไป เราก็พยายามฟื้นคืนศักดิ์ศรีให้ ส่วนพวกบรรดาผู้นำที่ใช้อำนาจตามอำเภอใจ อยู่เหนือกฎหมายที่มีส่วนทำลายศักดิ์ศรีของผู้อื่นก็ต้องรับผิดชอบอะไรบ้าง สังคมต้องเป็นสังคมที่ไม่มีใครอยู่เหนือกฎหมายและใช้อำนาจละเมิดคนอื่นได้ตามใจชอบ

จริงอยู่ว่าที่เราคุยกันมาทั้งหมดฟังดูเหมือนเป็นเรื่องนามธรรม แต่รูปธรรมง่ายๆ ของความยุติธรรมในระยะเปลี่ยนผ่านก็คือว่า แล้วเราอยากได้สังคมที่อยู่ร่วมกันได้ ทุกคนอยู่ภายใต้กฎหมายเดียวกัน และทุกคนยอมรับกฎหมายนั้นไหม ทุกคนสามารถคิด แสดงความเห็นเรื่องต่างๆ ได้โดยไม่ต้องหวาดกลัว สามารถขัดแย้งทะเลาะกันได้ แต่ก็อยู่ร่วมกันได้โดยไม่มีใครถูกกลั่นแกล้งอย่างไม่เป็นธรรม

ฟังดูเหมือนว่านี่คือสังคมอุดมคติ แต่มันก็ควรเป็นสังคมในฝันที่เราอยากได้ บางทีเรายอมรับความจริงอันโหดร้ายมานานเกินไป แล้วถูกทำให้ยอมจำนนว่านี่คือสภาพสังคมที่ดีที่สุดที่เป็นไปได้แล้ว ลืมๆ มันไปเถอะ อย่าไปคิดอะไรเยอะ แต่ก็เพราะวิธีคิดแบบไทยๆ เราก็เลยวนลูปอยู่ตลอด

MOST READ

Spotlights

14 Aug 2018

เปิดตา ‘ตีหม้อ’ – สำรวจตลาดโสเภณีคลองหลอด

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย พาไปสำรวจ ‘คลองหลอด’ แหล่งค้าประเวณีใจกลางย่านเมืองเก่า เปิดปูมหลังชีวิตหญิงค้าบริการ พร้อมตีแผ่แง่มุมเทาๆ ของอาชีพนี้ที่ถูกซุกไว้ใต้พรมมาเนิ่นนาน

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Aug 2018

Thai Politics

3 May 2023

แดง เหลือง ส้ม ฟ้า ชมพู: ว่าด้วยสีในงานออกแบบของพรรคการเมืองไทย  

คอลัมน์ ‘สารกันเบื่อ’ เดือนนี้ เอกศาสตร์ สรรพช่าง เขียนถึง การหยิบ ‘สี’ เข้ามาใช้สื่อสาร (หรืออาจจะไม่สื่อสาร?) ของพรรคการเมืองต่างๆ ในสนามการเมือง

เอกศาสตร์ สรรพช่าง

3 May 2023

Politics

23 Feb 2023

จากสู้บนถนน สู่คนในสภา: 4 ปีชีวิตนักการเมืองของอมรัตน์ โชคปมิตต์กุล

101 ชวนอมรัตน์สนทนาว่าด้วยข้อเรียกร้องจากนอกสภาฯ ถึงการถกเถียงในสภาฯ โจทย์การเมืองของก้าวไกลในการเลือกตั้ง บทเรียนในการทำงานการเมืองกว่า 4 ปี คอขวดของการพัฒนาสังคมไทย และบทบาทในอนาคตของเธอในการเมืองไทย

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

23 Feb 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save