ชัยชนะจากการเลือกตั้งของพรรคก้าวไกลเป็นเรื่องไม่คาดฝันของสังคมไทย ด้วยความที่เป็นพรรคน้องใหม่ ไม่เล่นการเมืองบ้านใหญ่ และเสนอเรื่องที่สังคมมองว่าเป็นไปได้ยาก แต่หลังจากวันที่ 14 พฤษภาคม 2566 สังคมไทยก็ได้เห็นพร้อมกันว่า พรรคที่ถูกกล่าวหาว่า ‘เพ้อฝัน’ นั้นสามารถครองใจคนส่วนใหญ่ในการเลือกตั้งได้
ท่ามกลางหลากนโยบายเปลี่ยนแปลงโครงสร้างที่ก้าวไกลเสนอขึ้นมานั้น ทำให้เห็นว่าในวันนี้สังคมไทยส่งเสียงพร้อมกันว่าต้องการโอบรับความเปลี่ยนแปลง โดยเฉพาะหลังจากที่ถูกปกครองโดยคณะรัฐประหารและพรรคพวกมาเกือบทศวรรษ
แน่นอนว่าการเปลี่ยนแปลงในสังคมไทยนั้นไม่เคยง่าย ปมเงื่อนในวันนี้คือรัฐธรรมนูญ 2560 ที่มอบสิทธิการร่วมโหวตเลือกนายกฯ แก่สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ดังเช่นที่เกิดขึ้นในการเลือกตั้ง 2562 ที่ทำให้พรรคที่ครองเสียงอันดับหนึ่งอย่างเพื่อไทยไม่สามารถจัดตั้งรัฐบาลได้ แต่ที่ต่างออกไปในการเลือกตั้งครั้งนี้คือเสียงสะท้อนถึงความต้องการเปลี่ยนแปลงของประชาชนดังขึ้นและชัดเจนขึ้น จนยากจะจินตนาการถึงฉากต่อไปหาก ส.ว. เลือกที่จะฉุดรั้งสังคมไทยไว้กับอดีต
101 จึงชวนสามนักวิชาการคือ อรรถจักร์ สัตยานุรักษ์ ภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ สิริพรรณ นกสวน สวัสดี ภาควิชาการปกครอง คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และณัฐกร วิทิตานนท์ สำนักวิชาการเมืองการปกครอง คณะรัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ร่วมวิเคราะห์ ‘ปรากฏการณ์ก้าวไกล’ ผ่านผลการเลือกตั้งและมองก้าวต่อไปของสังคมไทยท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงนี้
เมื่อ ‘ความเท่าเทียม’ เป็นคุณค่าใหม่ที่สังคมใฝ่หา – อรรถจักร์ สัตยานุรักษ์
แน่นอนว่าผลการเลือกตั้งที่ออกมานี้สะท้อนความเปลี่ยนแปลงของสังคมอย่างชัดเจน
ถ้าเรามองที่ ส.ส.เขต จะพบว่า อิทธิพลของคนในท้องถิ่นจำนวนหนึ่งยังมีอยู่ เช่น ทางภาคใต้ ตัวบุคคลจะมีผลต่อคะแนน แต่ขณะเดียวกันในพื้นที่นั้นเอง คะแนนที่เลือกปาร์ตี้ลิสต์กลายเป็นของก้าวไกลกับเพื่อไทยเป็นส่วนใหญ่ ยกเว้นนครศรีธรรมราช ซึ่งเป็นกรณียกเว้นต้องอธิบายด้วยอารมณ์ของ กปปส.
การเลือกตั้งที่คนลงคะแนนให้ปาร์ตี้ลิสต์ก้าวไกลและเพื่อไทย 20 กว่าล้านเสียงสะท้อนว่าสังคมไทยต้องการความเปลี่ยนแปลงที่สำคัญ คือต้องการทำให้ทุกอย่างเป็นระบบมากขึ้น ที่ผ่านมาสังคมไทยรู้สึกถึงความเละเทะของระบบทั้งหมดที่เราเผชิญและคิดว่าก้าวไกลน่าจะเป็นผู้ที่ทำให้ระบบทุกอย่างเดินได้อย่างถูกต้อง โดยที่ทุกคนหมายรู้ได้ว่าอะไรควรทำ อะไรทำได้ อะไรทำไม่ได้ ส่วนที่ใช้อำนาจเกินเลยมาก็จะต้องถูกตบให้เข้าระบบ ผมคิดว่านี่คือความเปลี่ยนแปลงของระบอบอารมณ์ความรู้สึกของสังคมไทยที่แสดงผ่านผลการเลือกตั้งครั้งนี้
ระบอบอารมณ์ความรู้สึกที่สำคัญมากๆ ของสังคมไทยตอนนี้ก็คือเรื่องความเท่าเทียมกัน ซึ่งความเท่าเทียมกันนี้จะต้องแสดงออกในทุกๆ อย่าง ทั้งระบบยุติธรรรม ระบบความสัมพันธ์เชิงอำนาจและอื่นๆ ระบอบอารมณ์ความรู้สึกว่าเราทั้งหมดเท่าเทียมกันนั้นคือฐานที่สำคัญที่สุดของสังคมไทยวันนี้
ถ้าใช้ศัพท์แบบฝ่ายซ้ายเดิม Raymond Williams มันคือ ‘structures of feeling’ โครงสร้างอารมณ์ความรู้สึกชุดใหม่ที่เกิดขึ้นในโลกของขนบแบบใหม่ และตอนนี้โครงสร้างความรู้สึกอันนี้เริ่มปะทุขึ้นมาและขยาย มีโอกาสที่จะสถาปนาเป็นระบอบความรู้สึกที่กำกับสังคมไทยได้มากขึ้น ผมคิดว่าเรื่องความเท่าเทียมสำคัญมากในวันนี้
หากจะมองว่าการเมืองเชิงคุณค่าถูกใช้เป็นปัจจัยการตัดสินใจลงคะแนน คุณค่าที่หมายถึงนี้คือการตัดสินว่าอะไรมีความหมายที่ดี อะไรมีความหมายที่ไม่ดี ผู้ที่ไปลงคะแนนทั้งหมดเริ่มให้ความหมายกับสิ่งที่ถูกต้องอีกแบบหนึ่ง
การลงคะแนนทั้งหมดของผู้คนจำนวนมากมายมหาศาลในสังคมไทยชี้ให้เห็นถึงการตัดสินใจให้คุณค่าแก่ความเท่าเทียม การตัดสินใจให้คุณค่าแก่อนาคตที่ทุกคนสามารถเดินไปพร้อมๆ กันได้ ทั้งหมดนี้คือคุณค่าชุดใหม่ที่เกิดขึ้น เวลาผมพูดถึงความเท่าเทียมกันนี้หมายถึงความเท่าเทียมในโอกาส ความเท่าเทียมในความเป็นมนุษย์ หรือความเท่าเทียมในเรื่องอื่นๆ นี่คือการเมืองเชิงคุณค่าปรากฏชัดขึ้นและเป็นคุณค่าใหม่ที่สังคมไทยกำลังใฝ่ฝันหาและปรารถนาที่จะไปถึง
ส่วนจะมองผลการเลือกตั้งครั้งนี้ด้วยโจทย์เรื่องคนเมือง-คนชนบทนั้น ผมคิดว่าสามารถประยุกต์ใช้ได้ เช่น ในเขตพื้นที่ภาคใต้ผู้คนจำนวนหนึ่งยังผูกพันกันในลักษณะเดิมแบบพี่น้องชนบท แม้ว่าเขาขยับเข้ามาสู่ทุนนิยมแล้ว ยังมีจังหวัดภาคใต้ที่โหวตให้เครือข่ายแบบเดิมอยู่ ยกเว้นจังหวัดภูเก็ตซึ่งเปลี่ยนไปแล้ว ไม่ใช่เครือข่ายแบบเดิม ภูเก็ตเป็นพื้นที่ที่มีคนย้ายเข้าออกมาก ส่วนจังหวัดนครศรีธรรมราชแม้ว่าเป็นพื้นที่ที่มีความเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจมาก แต่เขายังยึดโยงกันแบบสังคมชนบท เรื่องนี้จึงยังมีอยู่
การเคลื่อนย้าย (mobility) ของคนในสังคมไทยทวีขึ้นในช่วง10-20 ปีที่ผ่านมา การเคลื่อนย้ายของผู้คนทำให้บ้านใหญ่หรือระบบอุปถัมภ์ในชนบทพังทลายไปแล้ว ตัวอย่างคือระยอง ชลบุรี สมุทรปราการ ทั้งหมดนี้ชี้ให้เห็นว่าระบบแบบเดิมที่เคยตรึงผู้คนในชนบทให้อยู่ภายใต้บ้านใหญ่นั้นมันใช้ไม่ได้ เพราะว่าชนชั้นกลางขยายตัวทั่วไป ดังนั้นเรื่องเมืองกับชนบทต้องคิดกันใหม่ เพราะเมืองขยายตัวเข้าไปกินวิธีคิดวิธีรู้สึกของผู้คนในพื้นที่ชนบทหมดแล้ว
ส่วนกรณีที่ชนชั้นกลางที่เคยสนับสนุน กปปส. หันมาโหวตให้ก้าวไกลนั้น ผมคิดว่าเรื่องนี้น่าสนใจ คนรุ่นผมจำนวนหนึ่งที่เคยไปเป่านกหวีดก็เปลี่ยนใจ จริงๆ แล้วในระยะหลังนี้เขารู้สึกผิดอยู่ในใจว่า ‘ทำไมกูไปเป่านกหวีดวะ’ เพียงแต่ว่าเขาอายเกินกว่าที่จะออกมาสารภาพบาป ดังนั้น เขาพบว่าแปดปีนี้แย่มากๆ เขาจึงเปลี่ยนมาสู่การโหวตให้ก้าวไกล และปัจจัยอีกอย่างหนึ่งคือผลจากการที่อำนาจทางวัฒนธรรมถูกตั้งคำถามและสูญเสียพลังในการชักจูงจิตใจคน
ตอนนี้ประเด็นที่คนจับตาคือการโหวตเลือกนายกฯ ถ้าหาก ส.ว. มาขวาง เขาคิดผิด เขากำลังก่อให้เกิดปัญหาที่ลึกมากๆ แรงมากๆ และผมไม่มั่นใจว่าอะไรจะเกิดขึ้น หากใครจุดชนวนขึ้นมาจะเป็นเรื่องน่ากลัว
การลุกขึ้นมาประท้วงหรือแสดงความไม่พอใจต่อ ส.ว. จะแรงมากขึ้นและจะเกิดขึ้นในทุกรูปแบบ อาจจะหมายถึงการบอยคอตส่วนตัว เอาประวัติ ส.ว. แต่ละคนรวมถึงลูกหลานมาแฉ ทุกแง่มุมของ ส.ว. จะถูกนำออกมา ท้ายสุดแล้วจะพังกันไปหมดเลย ความไม่พอใจจะทำให้ผู้คนอิสระที่โหวตให้พรรคสีส้มนี้เขาจะคิดวิธีได้สารพัดที่จะเล่นงานคนเหล่านี้ ทั้งในเชิงบุคคลและตัวสถาบัน แล้วจะลามไปถึงคนที่ตั้ง ส.ว. มา ผมประเมินไม่ออกแต่พลังอิสระของคนสีส้มนี้มีความครีเอทีฟมาก
ดังนั้น ส.ว. ควรจะตั้งหลักและคิดแล้วว่าถ้ายังขวางอยู่มีแต่ตายแน่
ทอร์นาโดแห่งการเปลี่ยนแปลง ตีแผ่ชัยชนะของพรรคก้าวไกล – สิริพรรณ นกสวน สวัสดี
ชัยชนะของพรรคก้าวไกลในการเลือกตั้งเป็นปรากฏการณ์ที่เซอร์ไพรส์มาก ก่อนหน้านี้เราคิดไว้ว่าขั้วเพื่อไทย-ก้าวไกลรวมกันจะได้คะแนนเหยียบ 300 ที่นั่งแน่นอน แต่เซอร์ไพรส์ที่สุดคือก้าวไกลพลิกกลับมาชนะและได้คะแนนบัญชีรายชื่อสูงมาก บางคนบอกว่านี่ไม่ใช่สายลมแห่งการเปลี่ยนแปลงอย่างเดียว เรียกว่าเป็นทอร์นาโดแห่งการเปลี่ยนแปลง บ้านใหญ่แต่ละพื้นที่กลายเป็นบ้านแตกสาแหรกขาด มีเพียงจังหวัดบุรีรัมย์ สุพรรณบุรี พะเยา เพชรบูรณ์ และกำแพงเพชร เท่านั้นที่บ้านยังแข็งแรง นอกนั้นโดนทอร์นาโดพัดหมด เราต้องกลับมาทำความเข้าใจกับการโหวตก้าวไกลของประชาชนครั้งนี้เยอะเลย
สิ่งที่เปลี่ยนแปลงไปมากในการเลือกตั้งครั้งนี้คือความคาดหวังที่ประชาชนมีต่อประเทศ ความกระหายอยากเปลี่ยนแปลง และสำคัญที่สุดคือมุมมองต่อการเลือกตัวแทนเข้าสภานั้นเปลี่ยนไป หลังจากไปทำการบ้านมา พบว่าก้าวไกลเป็นพรรคที่ส่งผู้สมัครหน้าใหม่มากที่สุด มีผู้สมัครที่ไม่ได้มีพื้นเพเป็นครอบครัวนักการเมือง 204 คน หากรวมผู้สมัครที่มีครอบครัวเป็น ส.ท. อบต. บวกเข้าไปอีก 107 คน จะมีจำนวนทั้งหมด 311 คน
ภาพสะท้อนผลการโหวตของประชาชน ประการแรกคือการปฏิเสธการเมืองแบบเดิม การเมืองแบบอุปถัมภ์ที่ดูแลพื้นที่มายาวนาน มองในแง่หนึ่งก็สงสารนักการเมืองเดิมที่ทำงานในพื้นที่แล้วไม่ได้รับเลือกตั้ง เพราะแพ้กระแส แพ้กลไกใหม่ทางการเมือง แต่อีกแง่หนึ่ง นี่คือการลงโทษพรรคการเมืองฝ่ายรัฐบาล แต่พรรคที่ได้รับความเสียหายพ่วงไปด้วยอย่างชัดเจนคือเพื่อไทย นี่เป็นความพ่ายแพ้อย่างมากของเพื่อไทยที่ยังเน้นการเมืองแบบบ้านเก่า
ประการที่สอง มันสะท้อนว่าไม่ใช่แค่คนรุ่นใหม่เท่านั้นที่ทำให้ก้าวไกลชนะ ตอนนี้กลุ่มคนที่เลือกก้าวไกลก้าวข้ามวัยไปไกลมาก เกิดสิ่งที่ก้าวไกลเรียกเองว่าหัวคะแนนธรรมชาติ โดยจุดพลิกผันสำคัญคือสองอาทิตย์สุดท้ายก่อนการเลือกตั้ง คะแนนก้าวไกลเพิ่มขึ้นแบบพุ่งทะยาน หากย้อนดูผลโพล ในช่วงแรกคะแนนเพื่อไทยยังนำอยู่ แม้สองอาทิตย์สุดท้ายเราอาจไม่เห็นโพลเท่าไหร่นัก แต่ก็มีรายงานออกมาว่าคะแนนก้าวไกลนำ
ในด้านหนึ่ง นี่เป็นความสำเร็จจากการเข้าร่วมเวทีดีเบตของก้าวไกล ขณะที่คุณอิ๊งค์ (แพทองธาร ชินวัตร) คุณเศรษฐา (เศรษฐา ทวีสิน) ซึ่งเป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของเพื่อไทยไม่ยอมเข้าร่วมการดีเบต รายการเหล่านี้กลับมีผู้ฟังที่ย้อนกลับมาฟังเรื่อยๆ มีผู้ฟังตัดคลิปบางส่วนมาสร้าง user-generated content กระจายเป็นไวรัล ทำให้คนเข้าถึงแคนดิเดตนายกฯ และผู้สมัครของพรรคก้าวไกลจากข่าวสารที่กระจายไปเองตลอดเวลา ย้อนดูเพื่อไทย อย่างมากเราก็เห็นแค่หมอมิ้ง (พรหมินทร์ เลิศสุริย์เดช) หมอเลี้ยบ (สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี) คุณเต้น (ณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ) คุณหมอชลน่าน (ชลน่าน ศรีแก้ว) แต่ไม่เห็นผู้สมัครที่เป็นตัวดูดคะแนนได้จริง ย่อมส่งผลต่อความคาดหวังที่คนมีต่อพรรค
ปฏิเสธไม่ได้ว่าสงคราม on ground ไม่แข็งแรงพอจะสร้างคะแนนเสียงได้เท่า air war (สงครามในโลกอินเทอร์เน็ต) และในสนาม air war ก้าวไกลทำได้ดีที่สุด หัวคะแนนธรรมชาติของเขาเป็นตัวช่วยสำคัญ ซึ่งโมเดลนี้คล้ายกับคุณชัชชาติ (ชัชชาติ สิทธิพันธุ์) ที่มีแฟนคลับเป็นตัวขยายผล ทำให้ก้าวไกลได้รับชัยชนะ
สำหรับการจัดตั้งรัฐบาลในอนาคต เนื่องจากเรามี ส.ว. 250 เสียงมาร่วมโหวตนายกรัฐมนตรี ถ้า 310 เสียง (รวมกัน 6 พรรค ได้แก่ พรรคก้าวไกล พรรคเพื่อไทย พรรคประชาชาติ พรรคไทยสร้างไทย พรรคเสรีรวมไทยและพรรคเป็นธรรม) ที่คุณพิธาพูดถึง ไม่มากพอ ทางเลือกที่สองของพรรคก้าวไกลคือต้องไปดึงพรรคอื่นมาร่วมเพื่อปิดสวิตช์ ส.ว. ด้วยเสียงของ ส.ส. ตอนนี้ก็มีการเชิญชวนพรรคภูมิใจไทย-ประชาธิปัตย์ให้แสดงสปิริตทางการเมือง โหวตนายกฯ ให้โดยไม่ได้เป็นพรรคร่วมรัฐบาล แต่ถามจริงๆ เถอะว่าเรามีสปิริตนี้ในพรรคการเมืองแบบภูมิใจไทยหรือประชาธิปัตย์หรือเปล่า
ถ้าสมมติว่าไม่ได้คะแนนโหวตจากพรรคเหล่านี้ เป็นไปได้ว่าพรรคก้าวไกลอาจต้องดึงภูมิใจไทยที่มี 70 ที่นั่งเข้ามาบวกกันเป็น 380 เสียงเพื่อปิดสวิตช์ ส.ว. เพราะภูมิใจไทยคงไม่โหวตให้ฟรี คงโหวตให้ในฐานะพรรคร่วมรัฐบาล แต่กรณีนี้จะทำให้พรรคร่วมรัฐบาลมีขนาดใหญ่กว่าฝ่ายค้านมากเกินไป ซึ่งไม่แน่ใจว่า scenario นี้จะเกิดขึ้นจริงได้หรือเปล่า
ส่วนตัวยังคิดว่า scenario ที่ ส.ว. จะงดออกเสียงเป็นไปได้อยู่ สำหรับ ส.ว.ที่ ออกมาส่งสัญญาณว่าจะปิดสวิตช์ ส.ว.ต้องใช้จำนวนเสียง ส.ส. ปิด ก็อยากจะเรียนทุกท่านตรงนี้ว่าถ้าท่านไม่ได้ถูกนับรวมเป็นองค์ประชุมของรัฐสภาตามเงื่อนไขของรัฐธรรมนูญปี 2560 ที่คุณมีชัย ฤชุพันธุ์กำหนดไว้ ลำพังเสียงของ ส.ส. ก็จัดตั้งรัฐบาลได้อยู่แล้ว ถ้าท่านไม่โหวตเลือกนายกฯ ตามเสียงข้างมากของ ส.ส. ในวงวิชาการเราจะเรียกกันว่าเป็น ‘ปฏิปักษ์เสียงข้างมาก’ หรือพลังที่เป็นปฏิปักษ์ต่อเสียงข้างมาก ไม่เคารพเสียงของประชาชนที่เขาเลือกแล้ว หวังว่าเราจะได้เห็น ส.ว. มาโหวตนายกฯ ให้ ตอนนี้ต้องการแค่ 66 เสียงเท่านั้น
หมายเหตุ: เรียบเรียงความเห็นของสิริพรรณจากเนื้อหาบางส่วนในรายการ ‘101 Postscript คุยข่าวนอกสคริปต์ Ep.73 : ชัยชนะของก้าวไกล ประเทศไทยเปลี่ยน(?)’ บันทึกเทปเมื่อวันที่ 16 พฤษภาคม 2566
“จุดเปลี่ยนคือคะแนนชนบท ไม่ใช่เมือง” ล้มบ้านใหญ่ ก้าวไกลมาเหนือ – ณัฐกร วิทิตานนท์
ถ้ามองเฉพาะพื้นที่ 8 จังหวัดภาคเหนือตอนบน ก่อนหน้านี้เป็นพื้นที่ของพรรคไทยรักไทย (เพื่อไทย) มาตลอด ด้วยคุณทักษิณเป็นคนสันกำแพง ก็จะใช้ความเป็นภูมิภาคนิยมบวกกับการทำนโยบาย สร้างอัตลักษณ์ว่าพรรคไทยรักไทยเป็นพรรคของคนเหนือ จนทำให้การเลือกตั้งในปี 2544, 2548, 2550 และ 2554 เพื่อไทยยึดเกือบทุกที่นั่ง แต่พอมาถึงปี 2562 เพื่อไทยก็เริ่มเสียพื้นที่ เช่น เสียพะเยาให้พลังประชารัฐ เสียเชียงรายให้อนาคตใหม่ ฯลฯ ซึ่งผมคิดว่ามีปัจจัยสำคัญคือ หนึ่ง-คนในพื้นที่เบื่อตัวผู้สมัครหน้าเดิม สอง-มีการตัดคะแนนกันเองในพื้นที่ที่มีการแข่งขันสูง สาม-กลไกอำนาจรัฐหลังรัฐประหารที่ส่งผลต่อเพื่อไทย
มารอบเลือกตั้ง 2566 ภาคเหนือตอนบนมีอยู่ 34 ที่นั่ง เพื่อไทยได้มาแค่ 14 ที่นั่ง หายไป 10 ที่นั่งจากปี 2562 และพรรคที่ทะลุขึ้นมาคือก้าวไกลที่ได้ไป 14 ที่นั่งเท่ากัน เรื่องที่ผมคิดว่าน่าสนใจมากคือ จังหวัดที่เพื่อไทยเคยผูกขาดชนิดที่ไม่เคยมีพรรคอื่นแทรกขึ้นมาได้ เช่น ลำปาง เชียงใหม่ มารอบนี้ลำปางแพ้ให้ก้าวไกลไป 3 เขต (จากทั้งหมด 4 เขต) หรืออย่างเชียงใหม่ที่ตลอดการเลือกตั้งมา 5 ครั้ง เพื่อไทยเคยเสียไปแค่ 3 ที่นั่ง แต่รอบนี้รอบเดียวเสียไป 8 ที่นั่งจากทั้งหมด 10 ที่นั่ง คือเสียให้ก้าวไกล 7 ที่นั่ง และพลังประชารัฐ 1 ที่นั่ง
ถ้าวิเคราะห์เฉพาะพื้นที่เชียงใหม่ มีหลายปัจจัยต่างกัน ในกรณีที่เพื่อไทยแพ้ให้พลังประชารัฐในเชียงใหม่ เขต 9 เพราะเป็นเขตแข่งขันสูง มีทั้งนเรศ ธำรงค์ทิพยคุณ (พลังประชารัฐ) สุรพล เกียรติไชยากร (เพื่อไทย) สมเกียรติ มีธรรม (ก้าวไกล) และศรีนวล บุญลือ (ภูมิใจไทย) พอคนมีตัวเลือกมากขึ้นคะแนนจึงกระจาย หรืออย่างในบางพื้นที่ที่มีการยุบเขตจาก 11 เหลือ 10 เขต จึงทำให้เกิดความปั่นป่วนต้องสลับสับเปลี่ยนเขต ส่งผลให้การวางตัวผู้สมัคร ส.ส. ของเพื่อไทยไม่ตรงกับฐานเสียง ไปลงพื้นที่ที่ตัวเองไม่ถนัด จนทำให้สุดท้ายแพ้ก้าวไกลที่เป็นนักการเมืองท้องถิ่นไปในเชียงใหม่ เขต 6
อีกประเด็นสำคัญก็คือ การเลือกตั้งครั้งนี้ทำให้เห็นว่าคนปฏิเสธการสืบทอดอำนาจทางการเมืองผ่านนามสกุล เพื่อไทยมีความเชื่อว่าอดีต ส.ส. มีฐานของเขา แล้วฐานนี้สามารถถ่ายโอนจากรุ่นพ่อไปรุ่นลูกได้ ซึ่งที่ผ่านมาใช้ได้ผล แต่รอบนี้ไม่ใช่ กลายเป็นว่ากลุ่มที่เป็นลูกนักการเมืองหายไปเยอะ ผมแจกแจงผ่านตัวเลขอย่างนี้ว่า เพื่อไทยส่งลูกของ ส.ส. เดิมมาทั้งหมด 11 คน แบ่งเป็น (1) ลูกเป็นคนหน้าใหม่ ลงสมัครครั้งแรก 5 คน ผลคือแพ้ให้ก้าวไกลไป 4 คน มีชนะคนเดียวคือศรีโสภา โกฏิคำลือ และ (2) ลูก ส.ส. ที่เคยเป็น ส.ส. มาแล้ว เพื่อไทยส่งมา 6 คน แพ้ไป 2 คน รวมทั้งหมดจาก 11 คน เพื่อไทยแพ้ไป 6 คน
นอกจากสาเหตุเหล่านี้ ปรากฏการณ์ก้าวไกลในระดับประเทศก็ส่งผลต่อระดับพื้นที่ด้วย ก้าวไกลมีฐานกระแสที่แรงมาก จนมีพลังพอที่จะชนะได้แล้ว แต่ก้าวไกลที่เลือกผู้สมัครระดับเขตได้ดี มีแบ็กกราวน์ ทำงานหนักในพื้นที่ มีหัวคะแนนของตัวเอง ก็จะยิ่งได้คะแนนโบนัส จากที่ได้คะแนนยืนพื้นจากกระแส 3-4 หมื่น ก็อาจได้ถึง 5-6 หมื่นคะแนน ผมยกตัวอย่างเช่น พุธิตา ชัยอนันต์ จากเชียงใหม่ เขต 4 ที่ได้คะแนนติดท็อปของประเทศ ได้ไป 6 หมื่นกว่าคะแนน เพราะเป็นส่วนผสมระหว่างบุคลิกที่ดี มีแบ็กกราวน์จากการเป็นนักเคลื่อนไหว ทำงานเข้มข้นในพื้นที่ และได้กระแสจากพรรคมาเสริมกันด้วย
ถามว่ากระแสของพรรคก้าวไกลมาจากไหน ผมคิดว่าคนไม่ได้ตัดสินใจกันวันสองวัน หรือไม่ได้เพิ่งเกิดช่วงหลังสงกรานต์ตอนคนแห่แหนไปฟังพิธาจนเต็มพื้นที่ แต่ผมว่าเกิดขึ้นก่อนหน้านั้น ถ้าเราดูตั้งแต่ปรากฏการณ์สามนิ้วหลังการยุบพรรคอนาคตใหม่ คนอาจสั่งสมความแค้นมาจากตอนนั้น แล้วถ้าดูการทำงานในสภาของก้าวไกลและการเสนอนโยบายที่มีท่าทีแรงกว่าเพื่อไทย คือถ้านโยบายของก้าวไกลกับเพื่อไทยไปในทางเดียวกัน ก้าวไกลจะไปทางที่สุดขั้วกว่าหนึ่งสเต็ปเสมอ เช่น แก้ไข 112 หรือเลือกตั้งผู้ว่าฯ เพื่อไทยประนีประนอมกว่าเพราะกลัวกระแสต่อต้าน จึงทำนโยบายที่ลดดีกรีความแรงลงมา รวมถึงตอนที่เพื่อไทยไม่ชัดเจนเรื่องไปจับมือกับลุง ซึ่งคนที่เชียร์เพื่อไทยส่วนมากเป็นเสื้อแดง จึงอาจส่งผลให้เขาเปลี่ยนใจไปเลือกก้าวไกลที่จุดยืนชัดกว่า
สิ่งที่ผมคิดว่าน่าสนใจที่สุดคือการใช้โซเชียลมีเดีย ก่อนหน้านี้เรามักมองว่าโซเชียลมีเดียเป็นแค่เครื่องมือสร้างภาพลักษณ์ที่ไม่ได้ส่งผลต่อการโหวต มองว่าโลกโซเชียลฯ กับโลกจริงเป็นคนละโลก แต่ผลเลือกตั้งบอกเราว่าโลกโซเชียลฯ กับโลกจริงขยับเข้าใกล้กันจนแทบจะเป็นโลกเดียวกันแล้ว ก่อนหน้านี้ผมคิดว่าก้าวไกลจะชนะเฉพาะในเขตเมือง ไม่มีทางเจาะชนบทได้ แต่ปรากฏว่าไม่ใช่ เพราะพื้นที่ไกลๆ บนดอย คะแนนรายหน่วยย่อย ก้าวไกลชนะ
มีสองแอปพลิเคชันที่สำคัญคือคือติ๊กต็อกกับไลน์ ในกลุ่มผู้สูงอายุอาจเป็นไลน์ ในขณะที่กลุ่มวัยรุ่นในชนบทจะเป็นติ๊กต็อก ซึ่งสองแอปพลิเคชันนี้มาพลิกโฉมหน้าที่เชื่อมความคิดแบบเมืองกับชนบทเข้าด้วยกัน และหลายคนมองว่าการรณรงค์เรื่องหัวคะแนนธรรมชาติได้ผล ที่ลูกๆ กลับบ้านไปบอกพ่อแม่ กดติดตามช่องติ๊กต็อกให้ ส่งข่าวในไลน์ให้ จนทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงในผู้เลือกตั้งชนบทด้วย
ส่วนพื้นที่เขตเมืองและพื้นที่อุตสาหกรรมที่ก้าวไกลได้มาทั้งจังหวัด เช่น กรุงเทพฯ และปริมณฑล ระยอง จันทบุรี ตราด ภูเก็ต หรือเขตเมืองของนครราชสีมา อุดรธานี ขอนแก่น ฯลฯ ผมคิดว่าเป็นเพราะพื้นที่เหล่านี้มีความเป็นเมืองสูง จนคนหลุดจากระบบเครือข่ายบ้านใหญ่ รวมถึงเกิดความคิดแบบเดียวกันทั้งประเทศในกลุ่มชนชั้นกลางเมืองจากการเสพสื่อ ที่อาจมองเรื่องสิทธิเสรีภาพหรือสิ่งที่ไปไกลกว่าเรื่องปากท้อง แต่สุดท้ายผมคิดว่าสิ่งที่น่าสนใจจริงๆ ไม่ใช่ก้าวไกลได้ที่นั่งในเขตเมือง เพราะนั่นเป็นสิ่งที่หลายคนรวมถึงพรรคคาดคิดอยู่แล้ว แต่จุดเปลี่ยนสำคัญคือการที่ก้าวไกลสามารถตีพื้นที่ชนบทได้
อีกหนึ่งประเด็นที่น่าสนใจคือก้าวไกลได้ ส.ส. ปาร์ตี้ลิสต์ในหลายพื้นที่ที่บ้านใหญ่แข็งแรง เช่น พะเยา บุรีรัมย์ สุพรรณบุรี แม้ว่าจะไม่ได้ ส.ส. เขตก็ตาม สิ่งนี้สะท้อนว่าคนเลือกแบบอุดมคติ คือเลือกคนที่รัก เลือกพรรคที่ชอบ ตัวบุคคลเลือกเพราะเรื่องปากท้อง ส่วนพรรคเลือกเพราะอุดมการณ์ ซึ่งส่วนมากจังหวัดที่บ้านใหญ่แข็งแรงมากๆ มักเป็นจังหวัดรอง ถูกมองข้าม วิธีเดียวที่จะทำให้จังหวัดมีศักยภาพขึ้นมาคือ ส.ส. ของคุณต้องเป็นตัวละครสำคัญในรัฐบาล เพราะรัฐบาลจะเกรงใจ งบประมาณโครงการต่างๆ ก็จะมาลงที่จังหวัดคุณ เช่น ธรรมนัส พรหมเผ่า เอาโครงการเมกะโปรเจ็กต์มาพัฒนาพะเยาเยอะมากในช่วง 4 ปีที่ผ่านมา ในเมื่อระบบยังรวมศูนย์อำนาจ อำนาจเงินอยู่ส่วนกลาง ใครได้เข้าไปอยู่ส่วนกลางก็ต้องมือใครยาวสาวได้สาวเอา ดังนั้นคนอย่างธรรมนัสจึงตอบโจทย์
ถ้าถามว่าก้าวไกลจะได้จัดตั้งรัฐบาลและพิธาจะได้เป็นนายกฯ ไหม ผมมองโลกในแง่ดี คิดว่าเป็นได้ ในหลายพรรคจะมี ส.ส. แหกออกมา คนที่มีจริยธรรมทางการเมืองที่อยากฝืนยกให้ เราอาจหวังจากพลังประชารัฐหรือรวมไทยสร้างชาติไม่ได้ แต่เราหวังจากประชาธิปัตย์และภูมิใจไทยได้ แต่ถ้าสเต็ปนี้ไม่ได้ ก็อาจต้องไปลุ้น ส.ว. ซึ่งขึ้นอยู่กับกระแสกดดันจากสังคมด้วย ส.ว. เหลือเวลาปีเดียว เขาก็ต้องคิดให้ดีว่าอยากให้คนจดจำแบบไหน นี่คือโอกาสแก้ตัวครั้งสำคัญ คนอาจลืมสิ่งที่เขาเคยทำมาก็ได้ถ้าเลือกเส้นทางเป็นฮีโร่ แต่ผมมั่นใจว่า ส.ว. ไม่เป็นเอกภาพ มีจำนวนไม่น้อยที่มาทางนี้ แต่ไม่รู้จะถึงจำนวนไหม ต้องลุ้น